ท่ามกลางการทำธุรกิจในยุคสมัยที่ ‘คู่แข่ง’ ไม่ใช่ปัจจัยที่น่ากลัวเพียงอย่างเดียว แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เทคโนโลยี โรคระบาด กระทั่งความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ล้วนส่งผลกระทบมาถึงแทบทั้งสิ้น และสร้างความท้าทายในทุกอณูบทบาทแก่ผู้นำองค์กร
สำหรับกลุ่มทิสโก้ ภารกิจสำคัญนี้ตกเป็นหน้าที่ของ คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ หรือ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งสูงสุด ซึ่งจะนำพา ‘TISCO’ ฝ่าวิกฤตที่ยังคุกรุ่นในครั้งนี้ไปให้ได้ ด้วยการนำประสบการณ์ด้านการเงินที่สั่งสมมาเกือบ 30 ปี จากหลากหลาย Role เข้ามาสานต่อภารกิจของสถาบันการเงินที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 53 ปีแห่งนี้ ให้เติบใหญ่อย่างมั่นคงและแข็งแรงต่อไป
คุณศักดิ์ชัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (โยธา) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทจาก University of Hawaii, Manoa ในหลักสูตร Executive MBA สหรัฐอเมริกา หลักการบริหารจึงถูกคำนวณและรังสรรค์ออกมาได้อย่างเฉียบขาดตามแนวคิดแบบ ‘วิศวกรรมการเงิน’
เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ทิสโก้ในตำแหน่ง Executive Trainee ตั้งแต่ปี 2536 ด้วยความสามารถอันโดดเด่น ดูแลบริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ และการเข้าซื้อกิจการต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้บริษัท ทั้ง Primus Leasing , GMAC, Retail Banking ของ Standard Chartered Bank (Thailand) จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเรื่อยมา ทั้งในสายธุรกิจสินเชื่อและสายทรัพยากรบุคคล ในปี 2553 คุณศักดิ์ชัยได้รับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกลุ่มทิสโก้และธนาคารทิสโก้ จากนั้นในปี 2560 ได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ ควบคู่ตำแหน่ง กรรมการอำนวยการ (COO) ของกลุ่มทิสโก้ ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในฐานะ ‘ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้’ ตั้งแต่เมษายน 2564 เป็นต้นมา
“ผมโชคดีที่เข้ามาทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรแข็งแรง มีทีมบริหารและพนักงานที่มีส่วนร่วมกันอย่างดีเยี่ยม การมีองค์กรที่มีรากฐานมั่นคงและโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน รู้จักจุดแข็งหลัก (Core Strengths) ในธุรกิจของตัวเอง ตลอดจนกำหนดทิศทางขององค์กรที่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ การลงมือทำได้ตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ มีกระบวนการทำงานที่ผสมผสานทั้ง People Process Technology และ Data โดย DNA สำคัญของคนทิสโก้ ได้แก่ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ มีความพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง และมีความผูกพันกับองค์กร เสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัท (Sense of Entrepreneurship) สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญและเราก็ทำได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง” คุณศักดิ์ชัยเล่า
แนวคิดในการบริหารงานจากการหล่อหลอมผ่านวัฒนธรรมองค์กรของทิสโก้ ความสำเร็จบนเส้นทางของซีอีโอมือหนึ่งท่านนี้ ยังมาจากการหล่อหลอมของบุคคลสำคัญที่เป็นแบบอย่าง ซึ่งก็คือเหล่าผู้บริหารของทิสโก้ในรุ่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น คุณศิวะพร ทรรทรานนท์ คุณปลิว มังกรกนก คุณอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล และ คุณสุทัศน์ เรืองมานะมงคล
“CEO ทุกคนของ TISCO เป็น Role Model ในชีวิตการทำงานของผม” คุณศักดิ์ชัยกล่าวถึงบุคคลผู้เป็นไอดอลในการทำงานด้วยรอยยิ้ม
จุดแข็งด้านวัฒนธรรมองค์กรของทิสโก้ที่ว่านั้น ประกอบด้วย วัฒนธรรมในการรักษาความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Strong Risk Management Culture) วัฒนธรรมการให้ความสำคัญกับจรรยาบรรณในการทำธุรกิจและธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร (Good Corporate Governance Culture) และวัฒนธรรมการเอาใจไปใส่ไว้ในใจลูกค้าเสมอ (Put Ourselves in Customers’ Shoes) นอกจากการสืบทอดและสานต่อวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นจุดแข็งของกลุ่มทิสโก้แล้ว เขายังสนับสนุนการบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ นั่นคือวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรม (Culture of Innovation) ที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่มทิสโก้สามารถรองรับการแข่งขันในยุคดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้น
“โจทย์คือ เราอยากรู้ว่า ลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการอะไรบ้าง ดูพฤติกรรมการใช้งาน การใช้บริการ Touch Point ต่างๆ จะไปที่ไหน แล้วเราจะนำความชำนาญของทิสโก้หรือพัฒนานวัตกรรมมาตอบโจทย์หรือปิดช่องว่างนั้นได้อย่างไร เราอยากจะเข้าใจเพื่อที่จะสามารถหาโซลูชันมาตอบโจทย์ลูกค้าได้ตลอดทุกช่วงชีวิต (Lifetime Partner) ของเขา”
ด้วยแนวทางนี้ คุณศักดิ์ชัย จึงเริ่มให้พนักงานทำกระบวนการ Design Thinking เพื่อวาด Customer Journey คือการหาความต้องการของลูกค้าให้เจอ โดยนำข้อมูลภายในและภายนอกองค์กรมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจความต้องการนั้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Data Thinking นอกจากนี้ ยังปรับรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรใหม่ ภายใต้แนวคิด Virtual Spin Off หรือการแยกแต่ละหน่วยธุรกิจในกลุ่มทิสโก้ออกมาเสมือนเป็น “บริษัทจำลอง” แล้วปั้น Head ของแต่ละหน่วยงานขึ้นเป็น “ซีอีโอย่อย” ซึ่งปัจจุบันมี 22 หน่วยธุรกิจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Business Unit: SBU) ดังนั้นจึงเรียกได้ว่ามี 22 ซีอีโอย่อย โดยจะดูแลรับผิดชอบบริษัทของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ และมี Virtual CTO (Chief Technology Officer: ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี) เข้ามาช่วยดูแลในด้านไอทีและเทคโนโลยี หน้าที่ในการบริหารจะครอบคลุมทั้งการแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ การสร้างรายได้ ควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าและสร้างผลตอบแทนแก่บริษัท โดยยังคงกำกับดูแลกิจการแบบรวมกลุ่ม ที่มีมาตรฐาน Governance Practices เหมือนกันทุกบริษัท
แน่นอนว่า ภารกิจมากมายที่ต้องรับผิดชอบย่อมนำมาซึ่งความท้าทายมากมายให้ต้องแก้ไข คุณศักดิ์ชัยจึงต้องมีวิธีการที่ดีในการบริหารความคิดให้พร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรค ควบคู่ไปกับการบริหารชีวิตให้มีความสุขสมดุล
“เวลาที่ต้องเผชิญปัญหา รู้สึกคิดอะไรไม่ออก ให้ออกจากความคิด ทางออกของผมก็คือการทำสมาธิ ผมใช้วิธีหลับตาชาร์จแบตเตอรี่ 15 นาที ทำจิตใจให้สงบ พอใจมันโล่งสักพักก็จะ Fresh กลับขึ้นมาใหม่ ความรู้สึกทางใจที่ดีมันจะส่งผลต่อสมองและร่างกาย ถ้าใจเรามีสมาธิที่สูง มันจะมีพลัง Focus ที่สูงมาก
ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า จิตเดิมนี้เป็นประภัสสร ก็คือจิตเดิมนั้นมีความใสและสว่าง แต่ถ้าถูกกิเลสภายนอกมาครอบงำ ทำให้ใจเราบางช่วงก็จะไม่ใสแบบเดิม และจะมองไม่เห็นตามความเป็นจริง เวลาโกรธ ใจเราก็จะมีลักษณะอีกสีหนึ่ง เวลามีความโลภ มีความอยากได้ ก็จะมีลักษณะอีกสีหนึ่ง แต่ถ้าเรากลับสู่ภาวะปกติ ใจเราก็จะกลับไปใสแบบเดิม ที่เขาบอกว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้าเราฝึกฝนใจให้ดี คุณก็จะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าคนทั่วๆ ไปได้”
นอกเหนือจากการบริหารใจให้ดีแล้ว ส่วนปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ในการดำรงชีวิตนั้น การบริหารจัดการการเงินและการลงทุนที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญของคนทุกวัย โดยคุณศักดิ์ชัย ยกคำสอนทางพุทธศาสนาบท ‘อุอากะสะ’ หรือ ‘หัวใจเศรษฐี’ ขึ้นมาให้แง่คิดในการออมว่า ‘อุอากะสะ’ ย่อมาจาก 4 คำ คือ ‘อุ’ อุฏฐานสัมปทา ก็คือขยันหาทรัพย์ ‘อา’ อารักขสัมปทา ก็คือการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ ‘กะ’ กัลยาณมิตตตา คือสร้าง Network ที่ดี Connection ไม่คบคนพาล คบคนดี หาคนต้นแบบ และ ‘สะ’ สมชีวิตา ใช้ชีวิตให้สมกับฐานะ หากโยงกลับมาสู่สังคม ก็คือการวางแผนทางการเงินที่ดีนั่นเอง
จากการออมมาสู่โหมดของการลงทุน คุณศักดิ์ชัย เล่าว่า “ปัจจัยที่สำคัญหนึ่งในการลงทุน คือ เราต้องรู้ความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกประเภทสินทรัพย์ที่ต้องสัมพันธ์ระหว่างความจำเป็นในการใช้เงินกับช่วงเวลาในการลงทุน ในส่วนของช่องทางให้บริการในปัจจุบันก็ทำให้ลูกค้าเข้าถึงช่องทางการลงทุนได้ง่าย ซึ่งเราก็มี My Wealth ที่จะเข้ามาช่วยให้ลูกค้าทำธุรกรรมการเงินและการลงทุนได้อย่างสะดวกสบาย หรือหากต้องการที่ปรึกษาทางการเงิน เราก็เป็นหนึ่งใน Financial Advisor ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง” โดยใช้หลัก 3 Good ประกอบด้วย Good Research คือการศึกษาข้อมูลทั้งเชิงลึกและกว้าง เพื่อวิเคราะห์กลั่นกรองผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด Good Product จากการที่ทิสโก้มีแพลตฟอร์มแบบ Open Architecture ทำให้สามารถร่วมพัฒนาและคัดสรรผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน (Best in Class) แบบไม่ต้องผูกติดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ และ Good Advice คือการให้คำแนะนำที่ดีตรงกับความต้องการลูกค้าและความเสี่ยงที่รับได้จากพนักงานที่มี License ในการให้บริการครบทุกสาขา เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด
“ทิสโก้เองได้ขยายบริการที่ปรึกษาการเงิน โดยมุ่งไปที่ ‘แผนการเงินเพื่อการเกษียณ’ เพราะปัจจุบันประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ตัวเลขที่น่าตกใจคือมีคนไทยไม่ถึง 30% เท่านั้นที่มีการวางแผนทางการเงินเพื่อรับมือวัยเกษียณ เรามองว่าเรื่องนี้จำเป็นและสำคัญมาก และเป็น Megatrend เลยมุ่งมั่นที่จะเข้าไปช่วยคนไทยวางแผนอย่างจริงจัง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Retirement Planning” ครอบคลุมทั้งบริการคัดสรรกองทุนคุณภาพที่เน้นธุรกิจแห่งอนาคต (Megatrends Investment) และการปกป้องความเสี่ยง (Protection) ที่สอดรับกับกระแสสำคัญของโลก ถือเป็นไปตามกลยุทธ์การมุ่งสู่บริการที่ปรึกษาทางการเงินแบบครบวงจร (Holistic Financial Advisory) ตามที่วางไว้”
คุณศักดิ์ชัย กล่าวทิ้งท้ายถึงมุมมองต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และทิศทางที่ธุรกิจการเงินจะต้องปรับตัวให้ทันว่า “ในยุคที่เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศมีความผันผวนเพิ่มขึ้นมาก การสร้าง Trust หรือ ความไว้วางใจจากลูกค้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทิสโก้ให้ความสำคัญเสมอมาและจะเดินหน้าให้ความสำคัญต่อไป ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในปัจจุบันหรืออนาคต จึงมุ่งการยึดประโยชน์ของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ในทุกช่วงชีวิตของลูกค้า (Lifetime Partner) ที่สำคัญคือต้องรักษาคุณภาพการให้บริการที่ดีอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบแทน ‘ความไว้วางใจ’ ที่ลูกค้ามอบให้ รวมถึงสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืนด้วย”
จะเห็นได้ว่า ทัศนะด้านการบริหารชีวิต การลงทุน เรื่อยไปจนถึงการบริหารองค์กรของ คุณศักดิ์ชัย นั้น ล้วนมุ่งสู่เส้นทางของความเจริญเติบโตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงและยั่งยืน ทำให้ไม่ว่าวิกฤตใดๆ ผ่านเข้ามาก็จะสามารถยืนหยัดตั้งมั่นอยู่ได้เสมอ เช่นเดียวกับการสร้างบ้านที่ต้องตั้งอยู่บนโครงสร้างที่แข็งแรง ด้วยความสำเร็จรอบด้านนี้ อาจจะดูเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ด้วยจุดแข็งหลัก (Core Strengths) ของกลุ่มทิสโก้และการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสำเร็จของ TISCO ภายใต้การนำของซีอีโอท่านนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน
————————
ที่มา: วารสาร SUPALAI @ HOME ฉบับ Q4 – 2022