คุยเรื่องโควิด 19 กับ นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

นพ. สันต์ ใจยอดศิลป์

ในยุคโควิด-19 หากจะคุยเรื่องสุขภาพให้มั่นใจ ก็ต้องคุยกับหมอ เราจึงนำทีมไปเยือน คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ กันอีกครั้ง เพื่ออัพเดตวิถีชีวิตแบบ New Normal และขอคำแนะนำดีๆเพื่อสู้โรค และมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

“วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผมในช่วง New Normal หนึ่งคือเลิกเดินทาง สองคือเลิกสอน สามคือมีเวลาก็ไปทำเกษตรอย่างที่ตัวเองชอบ จบไปสามโครงการแล้ว คือ ป่าอาหาร สวนดอกไม้และปลูกป่าริมคลอง ส่วนงานสอนก็เปลี่ยนไปสอนบนอินเทอร์เน็ต ทำเทปชุดการรักษาโรคด้วยตัวเองเผยแพร่ เปิดคลินิกออนไลน์ทุกวันอังคาร คนก็เข้ามาใช้บริการเยอะ ฟรี

.
“การสาธารณสุขของไทย ช่วงก่อนโควิด-19 เราตามหลังฝรั่ง ตามอเมริกา มุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีรักษา ผ่าตัด ทำบอลลูน ทำบายพาส ใช้ยา นั่นเป็นการหลงทาง ยุทธศาสตร์เราผิด พอมาโควิด-19 เราไม่ได้ตามฝรั่ง อเมริกาเลือกใช้ยุทธศาสตร์ยั้งโรค ส่วนไทยเราใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่ากดไม่ให้โรคมันเกิด เรามีผลงานที่ดีกว่า”

.
ท่ามกลางหลายกระแสความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยังไม่น่าไว้วางใจ บางกระแสก็ว่าควรปล่อยได้แล้วก่อนเศรษฐกิจพัง คุณหมอสันต์ให้มุมมองเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ
“โควิด-19 คือการชกมวยมีหลายยก ที่ผ่านไป ยกที่หนึ่งเราชนะคะแนนขาวสะอาด กรรมการทุกคนให้เราชนะเป็นเอกฉันท์ ยกที่สองเราจะต้องผ่อนเพื่อให้โรคมันเกิด แต่ถ้ามันเยอะเราก็ค่อยๆกด กดๆผ่อนๆปล่อยๆ  หลักวิชาแพทย์มีแค่นี้ กดไว้ เมื่อพร้อมในการดูแลก็ค่อยๆปล่อย จนการระบาดมันไปทั่ว ทุกคนมีภูมิคุ้มกันเราก็ปล่อยอาจจะใช้เวลาสามปีห้าปี ไม่ซับซ้อน แต่ทางสังคมจะซับซ้อน ถ้าเรากดๆปล่อยๆเศรษฐกิจตาย อันนั้นไม่ใช่ปัญหาของแพทย์แล้ว

“ถึงจะเป็นไวรัสเหมือนกันแต่ โควิด-19 ไม่เหมือนเชื้อเอชไอวี เพราะเอดส์อัตราการแพร่ระบาดต่ำ แต่โควิด-19 อัตราการแพร่ระบาดสูงมาก อัตราการตายรวมต่างกันเยอะ จริงๆช่วงแรกรัฐบาลตั้งใจจะปล่อยให้เกิดภูมิขึ้นเอง แต่มีแรงกดดันจากทางแพทย์ เขียนจดหมายถึงรัฐบาล แพทย์กลัว เป็นความกลัวที่ไร้สาระรึเปล่าไม่รู้ กลัวว่าความต้องการใช้การบริการทางการแพทย์มันท่วมท้น แล้วเราจะสนองไม่ได้ ลึกๆก็กลัวว่าอัตราการตายให้หมู่แพทย์พยาบาลจะสูง ซึ่งพวกเราก็รับไม่ได้ เลยกดดันให้รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์กดๆปล่อยๆ ซึ่งระยะแรกมันเวิร์ค แต่ถ้าไม่มีวัคซีน เราต้องเปลี่ยน”

.
เห็นคุณหมอแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของโรคในยกต่อไป เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า คุณหมอสันต์เองในฐานะที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง กลัวโควิด-19 ไหม

“ไม่กลัว โรคอุบัติใหม่มีสามเหตุ โควิด-19 เป็นแค่ตัวแรกเท่านั้น จะทยอยมาเรื่อยๆ เหตุที่หนึ่งก็คือพลเมืองโลกเยอะเกินไป เบียดเบียนสัตว์อื่นให้ล้มหายตายจากไป ด้วยการทำลายป่า ที่อยู่สัตว์ไม่มี สัตว์ตาย แบคทีเรียไวรัสต่างๆ ที่เคยอยู่ในร่างกายสัตว์ก็ย้ายมาอยู่บนในมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นขยายจำนวนไปเยอะมาก โรคอุบัติใหม่จากสัตว์จะทยอยมาสู่คนเรื่อยๆ

.
“ในอดีตคุณอาจจะไม่รู้ โรคเด็ดๆที่ทำให้แพทย์เราปวดหัวมาจากสัตว์ทั้งสิ้น หวัดมาจากม้า ไข้หวัดใหญ่มาจากเป็ด ไอกรนมาจากหมู วัณโรคมาจากวัว ซาร์สมาจากนก อีโบลามาจากลิง โควิด-19 น่าจะมาจากค้างคาว ซึ่งเป็นเพียงทัพหน้าของโรคอุบัติใหม่ที่จะมาเรื่อยๆ ประเด็นที่สองคืออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เชื้อนี่พออุณหภูมิเย็นมันจะนิ่ง แต่พอเราอุ่นให้สูงขึ้นมา มันก็เริ่มออกมาได้ ก็จะมาเสาะหาร่างกายสิงสู่ จึงเป็นเหตุที่สองของการระบาด เหตุที่สามคือรูปแบบของการอยู่อาศัยของคนในเมืองที่มันหนาแน่น มันเป็นสภาพที่เหมาะเหลือเกินที่จะหยอดเชื้อเข้าไป ผมอยู่ที่นี่ดีกว่าเพราะไม่ค่อยแน่นเท่าไหร่”

.
นอกจากไม่กลัวโรคแล้ว คุณหมอสันต์ยังให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ปลอดภัย ทั้งกายและใจ
“หนึ่ง-อาหาร ต้องกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมาก ก็คือพืชผักผลไม้เป็นอาหารหลัก เนื้อสัตว์น้อยๆ สอง-น้ำสะอาด เพราะน้ำก็เป็นแหล่งที่มาของโรค สาม-แสงแดด เป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันโรค ผ่านการสร้างวิตามินดี มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าวิตามินดีลดการติดเชื้อทางลมหายใจได้ คนที่มีระดับวิตามินดีต่ำก็จะติดเชื้อมาก โควิด-19 นี่เหมือนกัน มีรายงานใหม่ๆว่าในบรรดาคนที่ตายถ้าเทียบระดับวิตามินดีแล้ว คนที่มีวิตามินดีในร่างกายต่ำจะตายมากกว่า สี่-การออกกำลังกาย กับ ห้า-การนอนหลับ ก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน และ หก-ลดความเครียด ที่เป็นตัวทำลายภูมิคุ้มกัน”

.
คุณหมอเพิ่มเติมด้วยการบอกเล่มมุมต่อภาพรวมของสถานการณ์และเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งในระดับบุคคล และในระดับการจัดการของภาครัฐ
“ต้องแยกเป็นกลุ่มนะ กลุ่มที่หนึ่งคือคนที่ตกงานที่มีรากจากชนบท ครอบครัวมีที่ดิน ภาวะตกงานผมเดาว่าคงยืดเยื้อไปประมาณสองปี ยังไงคนก็ต้องถอยกลับไปปักหลักในบ้านเกิด ดูแลตัวเองไปแบบที่พระเจ้าอยู่หัว ร. 9 ตรัสว่า ให้มีพออยู่ พอกิน เพราะชีวิตที่ดีไม่ได้ต้องการอะไรมาก หนึ่ง-ต้องมีสติและความรู้ตัวเป็นปัจจัยหลัก เป็นความมั่นคงของชีวิตเพราะร่างกายคุณยังไม่มั่นคงเท่าสติ เพราะร่างกายเดี๋ยวก็ป่วย สมมุติว่าผมเป็นมะเร็งร่างกายไปแล้ว แต่ถ้าสติผมยังดีอยู่ชีวิตผมยังมั่นคง สอง-อากาศ อากาศนี้เป็นของฟรี แต่มีความสำคัญมาก สาม-น้ำ ค่อนข้างจะฟรีเพราะบ้านเรามีน้ำฝนปีนึงตั้งสองสามเดือน สี่-อาหาร ถ้าเขามีที่ดินก็ยังพอทำกินได้ ห้า-ที่อยู่อาศัย มีที่ให้ปลูกเพิงกางเต็นท์นอนได้ สำหรับกลุ่มคนที่มาจากชนบท ตกงานยังพอมีทางไป

.
“กลุ่มที่สองคนตกงานแต่ไม่มีที่ดิน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ คนไทยเพียง 25% เท่านั้นเองที่มีที่ทำกิน ตามข้อมูลการถือครองที่ดินของกรมที่ดิน คนจนที่ไร้ที่ทำกิน เป็นวาระแห่งชาติเพราะไม่มีทางไป ต้องรอการปันส่วนจากส่วนกลางอย่างเดียว ถ้าการปันส่วนไม่พอเขาจะไม่มีกินแล้วเขาจะอยู่ไม่ได้ คนส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้สังคมก็อยู่ไม่ได้

.
“กลุ่มที่สามคือคนอย่างคุณอย่างผม ที่มีงานทำ มีเงิน ที่ไม่ได้หมายความว่ามีเงินมาก 80% ของคนไทยมีเงินในแบงค์ไม่เกิน 50,000 บาท คุณกับผมเป็นคนที่อยู่ใน 20% จะไม่ค่อยเดือดร้อน แต่มีประเด็นเดียวเท่านั้นคือทำอย่างไรไม่ให้สังคมล่ม สิ่งที่คนส่วนนี้พึงทำคือใช้ชีวิตช่วงนี้อย่างเอื้ออาทร เพื่อจะให้คนยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกินผ่านชีวิตช่วงนี้ไปได้

.
“สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือรัฐจะต้องปฏิรูปที่ดิน กระจายให้คนมีที่ทำกิน คนละงานสองงานก็ยังดี ให้เขามีเพิงปลูกผักปลูกหญ้าซุกหัวนอน ประเทศเรามีพื้นที่ 194 ล้านไร่ ไม่นับป่าไม้ ที่ดิน 80% อยู่ในมือคน 5% คนบางนามสกุลครอบครองที่ดินห้าแสนกว่าไร่ ในขณะที่คน 75% ไม่มีเลย ถ้าเราไม่แก้ปัญหานี้ สังคมก็ต้องล่ม ผมไม่รังเกียจความเหลื่อมล้ำ ถ้าไม่ต้องการจะไปกระทบคนรวยหรือผู้ครองที่ดิน รัฐก็ต้องไปกู้เงิน IMF มาซื้อที่ดินแจก หรือออกพันธบัตรซื้อที่ดินจากคนรวยไปแจกก็ได้นะ

.
“ในอีกสองปีข้างหน้ารัฐบาลคงต้องออกแสตมป์อาหาร คงหลีกเลี่ยงไม่ได้เหมือนในอเมริกา แต่เมื่อไปถึงเรื่องแสตมป์อาหาร นั่นคือหมดสิ้นความเป็นมนุษย์แล้ว ต้องให้เขาป้อนอย่างเดียว สังคมจะอยู่ได้ไง มันอยู่ไม่ได้หรอก คนจนก็ต้องลุกฮือขึ้นมา เมื่อคนส่วนใหญ่ลุกฮือขึ้นมา อะไรก็ต้านไม่อยู่ สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในสังคมมันก็จะเกิด แล้วไม่ใช่คนฉลาดทั้งหลายจะไม่รู้นะ ทุกคนก็รู้แต่ภาษาฝรั่งเขาเรียกเอาหัวมุดทราย”

.
นอกจากจัดการปัญหาการไม่มีจะกินแล้ว การจัดการกับความเครียดด้วยยุทธศาสตร์การบริหารชีวิตให้เป็นสุขก็สำคัญ
“เขาเรียกว่ายุทธศาสตร์การใช้ชีวิต คนทั่วไป มีวิธีใช้ชีวิตก็คือตื่นขึ้นมาวันนี้จะไปตามหาความสุขได้ยังไง ราวกับว่าความสุขมันอยู่ข้างนอก สิ่งที่ถูกต้องในชีวิตคนคือ จะต้องมีความสุขก่อน ต้องสงบเย็นภายใน เบิกบานก่อน จึงจะไปใช้ชีวิตได้ ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ยาก แค่คุณวางความคิดคุณก็สงบแล้ว สิ่งที่เหลือคือการรู้ตัว พอคุณสงบเย็นแล้วคุณค่อยไปใช้ชีวิต ไม่ต้องไปเสาะหาอะไรที่ให้ความสุขแล้ว เพราะคุณใช้ชีวิตเพื่อโลก

.
“การใช้ชีวิตเพื่อโลก ไม่ได้หมายความว่าต้องทำอะไรยิ่งใหญ่ แค่ปลูกต้นไม้ต้นเดียวคุณก็ทำอะไรให้โลกแล้ว มีที่ดินสองสามตารางวา บำรุงดินให้มันสมบูรณ์ มีพืชมีวงจรอาหารเกิดขึ้น คุณก็ทำเพื่อโลกแล้ว ไม่จำเป็นว่าคุณต้องสร้างสถาปัตยกรรมหรือสร้างถนนทางรถไฟ ตรงนี้ไม่ต้องใช้เงิน ทุกคนทำได้ ไม่เกี่ยวกับคนโง่หรือคนฉลาด คนโง่อาจทำได้ดีกว่าคนฉลาดก็ได้ คนฉลาดอาจจะไปถูกล็อคอยู่ในความคิด ถอยออกมาไม่ได้”

.
ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส คุณหมอสันต์ ได้แบ่งปันมุมมองแง่ดีจากการประสบการณ์ครั้งนี้ ที่เกิดขึ้นทั้งกับตนเองและสังคม ด้วยทัศนะที่สร้างสรรค์
“ผมคิดว่า เป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการบริหารสังคมของเรา จากที่เราวิ่งมาผิดทางโดยใช้ GDP เป็นตัววัด แล้วก็ใช้เงินเป็นตัวเชื่อมโยงวิ่งเข้าไปหาอุตสาหกรรม เพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตรวมประชาชาติ เพิ่มยอดขาย โดยความเชื่อว่าเงินที่เป็นตัวเชื่อมนั้นกระจายไปยังทุกคนแล้ว สังคมก็จะอยู่ได้ แต่โควิด-19 บอกเราว่าไม่เป็นความจริง ถ้ามีเหตุเพียงนิดเดียวมาทำให้ระบบนี้หยุด สังคมพังเลย ถ้าเราเปิดทำธุรกรรมไม่ได้ เครื่องบินเราไม่บินซักปีสองปี สังคมเราอยู่ไม่ได้หรอก

“บางประเทศพิมพ์แบงค์กงเต็กออกมาแบบไม่ยั้งมือเลย ถ้าเงินล้านนึงซื้อไก่ได้ตัวเดียว บ้านเมืองมันจะสงบอยู่ได้ไหม สิ่งที่เราหวังพึ่งระบบทุนนิยม ระบบเงิน ระบบการสร้างรายได้ขึ้นมาจาก GDP เราผลิตอะไรออกมาเยอะแยะ เราปั๊มรถยนต์ออกมาปีนึงเป็นล้านคันนะ มันเป็นวิธีที่ผิด เป็นเส้นทางที่ผิด นี่เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะเปลี่ยนทิศทางสังคมของเราเสียใหม่

.
“รากของเราคือเกษตรกรรม บรรพบุรุษของเราอยู่มาอย่างสงบเย็น ภาคเกษตรกรรม ผมคิดว่าคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพื้นฐานอยู่บนรากที่แท้จริงของเรา เรามีที่ดิน เรามีน้ำฝน เราอยู่ในย่านมรสุม แค่สองอย่างเราสร้างสังคมที่มั่นคงได้แล้ว ถ้าเราปฏิรูปที่ดิน เอกชนเขาจะไปเทคโนโลยีเอาหุ่นยนต์มาใช้ ทำการค้าขายก็ปล่อยเขาทำไป แต่รัฐบาลควรจะมาสนใจที่ทำให้คนส่วนใหญ่พออยู่พอกิน คนที่จะค้าขายเอาเงินเป็นคนส่วนน้อยก็ช่างเขา แต่รัฐบาลควรจะเอื้อให้คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้

.
“โลกหลังโควิดจะเป็นโลกของความกลัวทางด้านสุขภาพ กลัวติดเชื้อ ตลาดต้องการอาหารสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกับที่คนก็ถูกบีบไปให้อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากขึ้น เพราะว่าไม่มีงานทำในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ เราควรถือโอกาสนี้สร้างแบรนด์อาหารไทยขึ้นใหม่ให้โลกรู้จักในฐานะ Healthy Thai Food แทนที่จะเป็น Thai Food เฉยๆ ออกมาตรฐานควบคุม เชื่อมโยงการผลิต โลจิสติกส์ ผลิตแบบพอเพียงเพื่อขายทั่วโลก เป็นเวลาที่เหมาะที่จะใช้ยุทธศาสตร์นี้ในระดับสังคม

.
“ส่วนแง่ดีของสถานการณ์นี้ในระดับบุคคล คือการดูแลสุขภาพตัวเอง ในยามที่ไม่มียา ไม่มีวัคซีน ผู้คนส่วนใหญ่เกิดการเรียนรู้ว่าสุขภาพจะดีได้ ด้วยการดูแลตนเอง โดยการไม่พึ่งหมอพึ่งยา ชีวิตคุณไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้แล้ว

.
“ทรัพย์สิน ที่ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือเป็นทองคำก็ตาม เป็นเพียงสื่อในการแลกเปลี่ยน แต่สื่อในการแลกเปลี่ยนย่อมเปลี่ยนแปลงได้เพราะมันไม่ใช่ทรัพย์ที่แท้จริง เพราะคุณค่าที่แท้จริงมันไม่มี
“เงินไม่ใช่ความมั่นคงของชีวิต ความมั่นคงของชีวิตมีห้าอย่างเท่านั้นตามที่ผมบอกข้างต้น ตัวหลักก็คือสติและความรู้ตัว ถ้าใครไปยึดเกาะเงินว่าเป็นความมั่นคง ยุทธศาสตร์ชีวิตผิดแล้ว เพราะว่าเงินจะมีลดค่าลง ร้อยนึงอาจจะซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ชามนึง คนฉลาดทุกคนก็รู้นะ เพียงแต่บางทีเราเผลอไปยึดถือมัน วันหนึ่งถ้าเงินหมดค่า คุณอยู่ไม่ได้ คุณก็จะสติแตก
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดำเนินไปอย่างไม่หยุดนิ่ง สถานการณ์โรคระบาดก็กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นอัตราความเปลี่ยนแปลงให้รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น

.
“อินเทอร์เน็ตกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คน มาพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ จาก 5G เงินดิจิตอล IOT – Internet of Things ทุกอย่างพุ่งเข้าหาอินเทอร์เน็ต เช่น คุณเป็นความดันสูงคุณไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะความดันของคุณดูได้ในอินเทอร์เน็ต เภสัชกรสั่งยามาส่งมาที่หน้าบ้าน เส้นแบ่งระหว่างประเทศจะหายไปเพราะอินเทอร์เน็ต กลายเป็นประเทศอินเทอร์เน็ตที่มีประชากรถึงห้าพันล้านคน ผู้คนจะคุ้นเคยกับการไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องพล่านไปไหนมาไหนมาก เนื่องจากถูกจับล็อคอยู่ในบ้างตั้งสามเดือน มันชักจะชินๆ วิถีชีวิตจะเปลี่ยนไปในแง่นี้ เป็นจังหวะดีที่ผู้คนจะถอยกลับไปข้างใน หาความสงบเย็นจากการวางความคิด

.
“การเปลี่ยนแปลงอย่างที่สอง คือผู้คนจะเริ่มมองเห็นว่าการดิ้นรนหลายอย่างอาจไม่จำเป็นอีก แม้แต่ตัวผมเอง จะต้องมีแผนการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ละปีดูแผนแล้วน่าจะเหนื่อยแทน ไม่ไปก็ไม่ได้ เมียอยากไปบ้าง ชีวิตเรามันถูกขึงพืดด้วยหลายอย่าง แต่ว่าพอมีโควิดมาเราก็เริ่มคุ้นๆกับการไม่ต้องไปไหน

.
“การเปลี่ยนแปลงที่สาม คือคนจะเห็นว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ บางแห่งไม่น่าจะเป็นที่พึ่งได้ก็กลายเป็นที่พึ่งได้ขึ้นมา คนเริ่มจะมองเห็นว่าประเทศไทยและเวียดนาม ปลอดภัยกว่าในแง่ของสุขภาพ เทียบกับอเมริกา ทำให้เปลี่ยนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนและเคลื่อนย้ายประชากรเปลี่ยนไป โดยมุ่งไปยังประเทศที่ปลอดภัยกว่า ประเทศที่ยิงกันโครมๆหรือมีโรคระบาดไม่รู้จบรู้สิ้น ย่อมไม่มีใครอยากไปลงทุน คนทั่วโลกจะเห็นฝีมือประเทศไทยมากขึ้น ในการจัดการโรคได้อย่างเป็นระบบและได้ผล ที่พูดมานี้ ผมไม่ได้คิดบวก เพราะผมไม่ได้เป็นค่ายนักคิด ผมเป็นคนที่ชีวิตจะดีได้ถ้าไม่คิดอะไรเลย อยู่กับความรู้ตัว”

.
“ชีวิตในอนาคต คนส่วนใหญ่จะไม่มีอาชีพ ไม่มีใครจ้างงานให้กินเงินเดือน เพราะอาชีพทั้งหมดจะถูกทำด้วยหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ แม้แต่อาชีพแพทย์ สมัยผมเด็กๆอยู่ในชนบท ถ้าไม่นับครูที่โรงเรียนกับผู้ใหญ่บ้าน คนอื่นไม่มีใครมีอาชีพซักคน ไม่มีใครมีเงินเดือนกิน เขาก็ก๊อกๆแก๊กๆ ฝนมาก็เข้าไปเก็บเห็ด น้ำดีก็เริ่มทำนา แต่ละคนทำไม่เหมือนกันแต่ก็มีชีวิตที่ดีได้ นั่นคือวิถีชีวิตในอนาคตนะ แต่คำถามว่า ทำยังไงถึงจะอยู่โดยไม่มีอาชีพและมีความสุข เป็นโจทย์ของคนรุ่นใหม่

.
“คุณห่วงว่าถ้าให้คนกลับไปอยู่ทำไร่ทำนา โดยไม่มีความรู้ แค่ปลูกกะเพรายังไม่ขึ้นจะทำอย่างไร คำตอบคือ วิถีเกษตรกรรมมันอยู่ในยีน เป็นพันธุกรรมของคนไทยอยู่แล้ว องค์ความรู้ที่ใช้ทุกวันนี้ไม่ได้มาจากตำราเกษตร แต่มาจากปู่ย่าตายายของเราทำยังไง เพียงแต่เราเอามาเรียบเรียงให้มันดูดี รวมทั้งองค์ความรู้ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอน มาจากปู่ย่าตายายที่เราทำ เก็บน้ำฝนไว้ใช้ยังไง คลองไส้ไก่ หลุมขนมครก ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง มันเป็นสิ่งที่ปู่ย่าตายายของเราทำมา เพราะเรามีชีวิตอยู่ท่ามกลางการปลูกผักปลูกหญ้า คุณไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่เป็น

.
“สมมุติคุณเอาไส้เดือนไปเลี้ยงบนคอนโดในกล่องกระดาษ พอคุณวางบนดินคุณก็ไม่ต้องกลัวว่ามันมุดดินไม่ได้ เพราะยีนของมันมุดดินได้ เช่นเดียวกับคนไทยเรามียีนเกษตรกรรม ยังไงก็ทำได้ แต่เราไปมองชีวิตว่าทุกอย่างต้องเข้าโรงเรียน นี่ไร้สาระมาก โรงเรียนทำอะไรให้คุณ โรงเรียนพยายามจะสร้างประสบการณ์ใหม่ใส่สมองคุณซึ่งคุณไม่มีพื้นฐานที่จะรองรับ คุณก็เอาไปใช้อะไรไม่ได้เลย พอคุณออกจากโรงเรียน มีปริญญาก็ต้องเริ่มต้นจากชีวิตจริงถึงจะใช้งานได้ โรงเรียนไม่ได้สอนวิชาชีพ

.
“โรงเรียนนี่ต่อไปก็จะไม่มีนะ จะมีไปทำไมทุกอย่างอยู่ในกูเกิล แล้วเด็กฉลาดกว่าครู รู้มากกว่าอีก คนต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่ต้องมีอาชีพ ไม่จำเป็น รู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตนี้มีความสุขก็พอแล้ว

.
“กำพืดของผมเป็นเด็กชนบท เติบโตมากับท้องไร่ท้องนา เห็นปู่ย่าตายใช้ชีวิต ผมเรียนวิชาเกษตร จนจบมาตั้งแต่เป็นเด็กสิบขวบ พ่อก็มีวิสัยทัศน์ว่าอยู่บ้านนอกคอกนามันไม่มีอนาคต อยากให้ผมมีชีวิตที่สูงส่ง ส่งผมมาเรียนหนังสือ ที่มาเรียนแพทย์ด้วยเหตุอื่นว่าน้องไม่สบาย อยู่ๆก็อยากเป็นหมอขึ้นมา พอเรียนจบแล้วโอเค เราก็ใช้วิชาที่เราเรียนมาทำมาหากิน แต่ว่ารากของเราลึกๆไม่มีความสุขหรอก ไม่อยากเป็นหมอ ไม่ใช่ไม่อยากช่วยผู้คนนะ เรามีความสุขกับการช่วยผู้คน แต่ว่าเราเหมือนถูกถอนออกมาจากรากของเรา รากของเราอยู่กับดินกับหญ้า แล้วผมเป็นหมอก็ต้องซื้อไร่ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนผมก็ต้องซื้อที่ดินทำไร่ สมัยผมอยู่สระบุรีผมซื้อที่ดินข้างโรงพยาบาลริมแม่น้ำป่าสัก ตอนนั้นผมซื้อสามงาน แล้วพอผมเป็นผู้อำนวยการใหญ่โรงพยาบาลเอกชน ผมก็มาซื้อที่นี่มาทำไร่ที่มวกเหล็กนี่ทุกเสาร์อาทิตย์ มันเป็นการพยายามถอยกลับมาสู่กำพืดตัวเอง แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองได้ลี้ภัย ได้อยู่กับชีวิตจริง พอวันจันทร์ก็ไปทำงานซึ่งเป็นชีวิตปลอมเป็นผู้อำนวยการเป็นหมอผ่าตัด วันศุกร์ก็กลับมาสู่ชีวิตจริง ทำให้ชีวิตมันอยู่ได้ ผมเองจึงมีพื้นฐานที่ไม่เหมือนคนอื่น ตรงที่ติดกับการเกษตร

.
“ผมเคยเรียนเกษตรแม่โจ้มาก่อนมาเรียนแพทย์ พ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วยหรอก ที่ไปเรียนเพราะอยากจะรู้ว่าในวิชานี้มีอะไรมากกว่านี้อีก แต่พอไปเรียนผมก็รู้ว่ามันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่ปู่ย่าตายายผมทำให้เห็นมาก่อน พอมาเป็นหมอแล้วก็ไม่ได้มีความสุข อาจจะสุขที่ช่วยคนอื่นนิดหน่อย แต่ความสุขที่แท้จริงในชีวิตไม่มี เลยต้องกลับมาทำไร่ไถนา ผมทำนามาทุกปี มีอยู่วันหนึ่งผมจะซื้อเครื่องสีข้าว เมียบอกไม่ให้ซื้อ (ยิ้ม) ทำนาที่เท่าแมวดิ้นครึ่งงาน แต่ได้ข้าวพอกินทั้งปีนะ มันเหมือนคุณปล่อยไส้เดือนลงดิน คุณกลัวไส้เดือนหลงทางหรือนั่งร้องไห้ไหม”
สำหรับแง่มุมด้านที่อยู่อาศัย คุณหมอสันต์มองว่า บ้านในยุคต่อไป ควรจะเป็นมากกว่าที่พักพิง แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงการจัดการเพื่อให้ปลอดภัยจากโควิดและโรคอุบัติใหม่ทั้งหลาย

.
“ที่อยู่อาศัยที่ดีต้องเอื้อห้าองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตที่ผมได้บอกข้างต้น และที่อยู่อาศัยควรเป็นปัจจัยส่งเสริมให้คนมีทักษะที่จะมีสติและความรู้ตัว ชุมชนช่วยได้เยอะ ในฐานะผู้พัฒนาโครงการหรือเจ้าของหมู่บ้าน ถ้าสามารถออกแบบหมู่บ้านไปในทิศทางที่ให้สมาชิกมีโอกาสฝึกทักษะที่จะวางความคิด ก็จะเป็นชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี การมีชีวิตที่ดีที่มั่นคง

.
“การวางความคิดคือการไม่ยึดติด คุณก็สร้างบ้านในรูปแบบที่มันจับเนื้อหาสาระสำคัญได้ แต่ไม่มีความไร้สาระที่จะนำไปสู่การยึดติดที่ไร้สาระ สมมติว่าคุณสร้างบ้านแบบวังแวร์ซาย กับบ้านเรียบๆเล็กๆแบบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนละคอนเซ็ปท์ วังแวร์ซายต้องมีความยึดถือพอสมควรถึงจะมีความสุขได้ แต่บ้านเล็กๆต้องคลายความคิด ถึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข

.
“ชุมชนไม่ใช่แค่บ้านอย่างเดียว มันเป็นวิถีชีวิตด้วย สมมุติว่าคุณอยู่ชั้นยี่สิบจะลงมาข้างล่าง จะสนับสนุนให้เขาลงลิฟท์หรือทางบันได ก็มีผลต่างกันแล้ว ถ้าให้ลงทางบันได ถือว่าสนับสนุนการออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพเขาดีขึ้น ถ้าบันไดติดรูปเขียนอิมเพรสชั่นนิสม์ คุณสนับสนุนให้เขาหาความสุขจากการวางความคิด เพราะถ้าไม่มีอะไรเลยเขาคิดนั่นนี่ มีดนตรีให้เขาฟังเขาก็วางความคิดได้ระดับนึง การออกแบบชุมชนต้องเป็นการเอื้อให้พัฒนาสติ สมาธิ

.
“กิจกรรมในศูนย์กลางชุมชนก็สำคัญ โดยให้ชุมชนเป็นคนกำหนดตารางว่าวันไหนจะทำอะไร วันนี้มีฉายหนัง วันนี้มีละครอะไรก็ว่าไป แต่กิจกรรมที่ทำเราจะต้องใส่การฝึกสติ สมาธิ มีรำมวยจีน ฝึกโยคะ มันก็ไปในทางที่จะวางความคิด ซึ่งก็อยู่ที่การออกแบบ ถ้าคุณออกแบบให้เป็นที่นั่งฟังดนตรีร็อก แล้วคุณไปนั่งสมาธิมันก็ติดขัด

.

“คนเรามันเหมือนวัว เวลาที่วัววิ่งตามกันไป ตัวหลังไม่รู้หรอกว่าจะวิ่งไปไหนอยู่ที่ตัวหน้าจะพาไป ผู้ประกอบการก็เหมือนวัวตัวหน้าพาตัวหลังไปทางไหนมันก็ไปทั้งนั้นแหละ”

ผู้สัมภาษณ์: วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์

ลิขสิทธิ์รูปภาพ: www.dp-studio.com

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสาร Supalai@Home Q3 2020

INTV Date: 20200606

Related contents:

You may also like...