“เราฝันที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างซื่อสัตย์แข็งขันและอาสารับใช้สังคมจนถึงที่สุด เมื่อประเทศร้อนเราร้อนด้วย เมื่อบ้านเมืองเจ็บปวด เราก็รวดร้าวด้วย และเมื่อชาติไปได้สวย เราก็ก้าวกระโดดอย่างกล้าหาญองอาจ และเหนืออะไรทั้งหมด เราผงาดด้วยศักดิ์ศรีของคนถ่อมตัวที่กอดรัดจรรยาบรรณอย่างเหนียวแน่น
นี่คือคำประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของ “สุทธิชัย หยุ่น” หนุ่มใหญ่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกข่ายงานด้านข่าวสารที่สำคัญยิ่งคนหนึ่งของเมืองไทย เขาเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนไทยเพียงไม่กี่คนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเผ็ดร้อน เจาะลึก และตรงไปตรงมา เป็นหัวขบวนที่กล้าแกร่งของทีมข่าว “เดอะเนชั่น” องค์กรข่าวสารขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งทั้งด้านหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมีคุณภาพ
สุทธิชัย หยุ่น เป็นชาวหาดใหญ่โดยกำเนิด เริ่มเขียนบทความส่งไปลงสยามรัฐรายวันตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ปี 1 อัสสัมชัญพาณิชย์ หลังจากเรียนจบแล้ว สุทธิชัยเริ่มงานประจำด้วยการเป็นพนักงานตรวจปรู๊ฟหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ต่อมาเริ่มออกทำข่าว และได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าว ขณะเดียวกันก็ยังเขียนบทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ “กาแฟดำ” ให้กับสยามรัฐอยู่เป็นประจำ ด้วยมุมมองที่กว้างไกลทำให้เขาเห็นว่าสังคมไทยยังถูกผูกขาดหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษไว้โดยบางกอกโพสต์ สุทธิชัยและพรรคพวกกลุ่มหนึ่งจึงหาญกล้าที่จะทำลายการผูกขนาดนี้ด้วยการก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์แบบฉบับแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของอย่างกแท้จริงในชื่อ “วอยซ์ ออฟ เดอะ เนชั่น” เมื่อปีพ.ศ.2514 และนี่คือจุดเริ่มของสื่อมวลชนที่โดดเด่นที่สุดในยุคนี้
ความที่สุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ที่ยึดหลักการในการนำเสนอข่าวสารอย่างเคร่งครัด เขาเห็นว่าประชาชนไทยทุกคนมีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้องตรงไปตรงมา ตลอดจนบทวิเคราะห์ที่กว้างและลึก ดังนั้นการทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพของเขาจึงปะทะกับความคิดแบบเผด็จการอย่างรุนแรงและไม่อาจหลีกเลี่ยง เนื่องจากเขาได้ประกาศตนเป็นสื่อมวลชนที่ “กอดรัดจรรยาบรรณ” อย่างเหนียวแน่น เป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่สัตย์ซื่อและปฏิบัติหน้าที่ให้บกพร่องน้อยที่สุด
วันนี้ของเขากับเส้นทางพัฒนาการด้านข่าวสารในอนาคตยังไม่ใช่เส้นทางที่ราบรื่นนัก หากแต่เป็นเส้นทางกันดารที่ท้าทายกำลังของหนุ่มใหญ่ผู้นี้ไม่น้อยเลย
ไฮ-คลาส : โครงการสร้างสรรค์เดอะเนชั่นให้เป็นศูนย์กลางข่าวสารของเมืองไทยไปถึงไหนแล้ว
สุทธิชัย : เราไม่ได้มีแผนที่จะตั้งเป็นเครือข่ายสมบูรณ์ มันมาทีละเรื่อง เริ่มจากเนชั่น ตอนนั้นบางกอกโพสต์ได้ไปซื้อบางกอกเวิร์ลด์ มันก็เกิดการผูกขาด เจ้าของเป็นฝรั่ง ในฐานนะที่เราทำหนังสือพิมพ์อยู่ในวงการภาษาอังกฤษ เราก็คิดว่าคนไทยน่าจะทำได้ ตอนนั้นเมื่อยี่สิบสองปีก่อน เราก็ออกมาทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ผมคิดว่ามันเป็นภาวะสังคมด้วยที่ทำให้เราเห็นว่าในฐานะนักหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ แล้วเราเห็นว่ามันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เราก็ออกมาทำเอง ถ้าตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ชีวิตผมอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปคิดว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องหรือเป็นการผูกขาด เผอิญเราอยู่ตรงนั้นทำให้เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่เรา เราจึงคุยกับพรรคพวกเพื่อนฝูงว่า เอาไหม ทำกันไหม เราก็มาทำกัน ไม่ได้มีการคิดว่าจะต้องมาวางแผนชีวิตไว้ ทำอะไรมากมายต่อมาก่อนหน้ากรุงเทพธุรกิจเกิด เราได้ออกประชาชาติรายสัปดาห์เป็นนิตยสารการเมืองนะครับ ไม่ใช่ประชาติธุรกิจทุกวันนี้ที่เป็นพรรคพวกกัน ตอนนั้นเราออกประชาติรายสัปดาห์หลังสิบสี่ตุลาได้สองเดือน เพราะว่ามันมีช่องว่างเนื่องจากตอนนั้นมีนิตยสารรายสัปดาห์ด้านการเมืองเพียงเล่มเดียวคือสยามรัฐ เราจึงเห็นว่าเป็นช่องว่าที่ควรจะถาม เราก็ทำกัน ตอนนั้นก็มีพรรคพวกเพื่อนฝูงเช่นคุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คุณพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียรด้วย นั่นก็เป็นสิ่งหนี่งที่เราคิดว่านี่มันยังไม่มีในเมืองไทยแล้วเราก็คิดว่ามันน่าจะมีเราจึงทำ แล้วมันก็ถูกปิดไปตอน 6 ตุลา 2519 มาถึงกรุงเทพธุรกิจก็เหมือนกัน ตอนนั้นไม่มีหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันเลย ซึ่งในเมืองนอกเมืองนาทุกแห่งเขาก็มีหนังสือเศรษฐกิจรายวัน เพราะว่าข่าวเศรษฐกิจนี่มีความสำคัญต่อแวดวงธุรกิจ เมื่อเราเห็นวายังไม่มีในเมืองไทย แล้วควรจะมี น่าจะมี เราก็เริ่ม คือไม่ใช่ว่ามีอะไรอยู่ดีๆแล้วเราจะทำเพื่อเสริมบารมีหรือเสริมกิจการเท่านั้น แต่ละอย่างที่เราทำนี่มันมีเหตุผลว่าเป็นความต้องการของสังคมที่น่าจะมี อย่างทำวิทยุก็เหมือนกัน ก็เพราะว่าเมื่อสามปีก่อนที่สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการได้โทรศัพท์มาบอกผมว่าอยากให้ช่วยทำรายการเป็นข่าวที่ด่วนหน่อย คือเป็นข่าวนี่สิบสี่ชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นสถานีข่าวยังไม่มีเลย ท่านก็บอกว่าทำได้ไหม ช่วยทำให้ได้ไหม ซึ่งความจริงผมก็คิดมาตลอดว่าวิทยุเมืองไทยมีแต่เพลง ทำไมไม่มีข่าว ไม่มีเนื้อหาสาระ เพราะว่าในต่างประเทศทั่วโลก เขาใช้วิทยุเป็นสื่อทางด้านข่าวสารกันทั้งนั้น นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา วิทยุเป็นสื่อเดียวในเวลาเกิดวิกฤตการณ์ที่สามารถสื่อถึงคนฟังได้กว้างที่สุด ไกลที่สุด และเร็วที่สุด แต่เมืองไทยมีสี่ห้าร้อยสถานีกลับมีแต่เพลงเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครอยากจะทำเนื้อหาสาระ ข่าวสาร ผมก็คิดว่าที่ผู้อำนวยการสถานวิทยุแห่งประเทศไทยเชิญมานี่ก็ดี เพราะทีมข่าวของเรานี่ก็มีอยู่แล้ว ผมก็เลยไปที่สถานีวิทยุแห่งประเทศไทยที่วิภาวดี ผมก็ต่อสายโทรศัพท์ให้นักข่าวรายงานข่าวเข้ามา ผมได้แต่ดำเนินรายการเท่านั้นเอง ผมเองไม่เคยทำรายการวิทยุมาก่อน เพียงแต่คิดว่าทำให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เล่าให้คนฟังได้รู้มากที่สุด แล้วก็คิดว่าข่าวล่าสุดกับการวิเคราะห์นี่แหละ ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าข่าวการเมือง ข่าวต่างประเทศมีน้อยมาก ผมก็คิดว่ามีข่าวการเมือง ข่าวต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย ตั่งไม่ได้ไปถึงเมืองไทย น่าจะนะทำ ซึ่งก็ไม่ได้เงินทองอะไร เพราะเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ แต่เรารู้สึกว่าเราเป็นนักข่าว เป็นคนทำข่าว เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เราสามารถสื่อไปถึงประชาชนได้ ผมคิดว่าเป็นภารกิจของคนรุ่นนี้ ไม่ใช่ผมเพียงคนเดียว ผมเคยเห็นคนแก่ที่พอถึงเวลาที่เกษียณแล้วจะมีวิทยุเป็นเพื่อน แต่พอเปิดไปแล้วหมุนเจอแต่เพลง ไม่มีอะไรที่เขาฟังแล้วเขาเกิดความคิดอ่านอะไรเกิดขึ้น ทำให้ผมเกิดความเห็นใจแล้วผมเคยได้รับคำถามจากโทรศัพท์ของคนที่มีอายุมาก เสียงเราเป็นเพื่อนเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น ยามที่เขาอยู่บ้าน ลูกหลานออกไปทำงานกันหมด แล้ววิทยุเป็นสื่อที่ง่ายที่สุด เปิดง่ายด้วย สตางค์ก็ไม่ต้องเสีย เดินไปไหนก็ได้ยิน ทำอะไรก็ฟังได้ ผมจึงเห็นว่าวิทยุนี่เป็นกันเองกับคนฟังมากที่สุด และค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เราไม่ต้องเสียสตางค์
ไฮ-คลาส : ทางด้านทีวี… คุณเข้ามาทำข่าวทีวีได้อย่างไร
สุทธิชัย : ทีวีนี่เป็นอุบัติเหตุเลย ผมจำได้ว่าเราเริ่มเมื่อเลือกตั้งครั้งแรกหลัง 14 ตุลาคม ตอนนั้นเป็นครั้งเดียวที่เราทำ เพราะคิดว่า เราน่าจะถ่ายทอดสดว่าผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้คนได้รู้เร็วที่สุด แล้วผลออกมาแล้วจะวิเคราะห์กันอย่างไร ก็จำได้ว่าได้คุยกับช่องสาม จึงได้ยกกล้องกันไปที่โรงแรมอิมพีเรียลเก่าที่วิทยุ ได้เชิญอาจารย์ นักวิชาการมาวิเคราะห์กันเป็นครั้งแรกที่เมืองไทยมีการทำรายงานและวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งสด พอทำเสร็จก็หายไป เพราะว่าทีวีเขาไม่อยากจะเสี่ยงเรื่องการเมืองมากนัก เพราะว่าทีวีเขาไม่อยากจะเสี่ยงเรื่องการเมืองมากนัก ครั้งเดียวก็จบ ที่มาเป็นเรื่องเป็นราวทีทำให้ผมต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่าสงครามอ่าวเปอร์เซีย ช่วงที่ข่าวมันเกิดขึ้นมานี่ผมไปสัมมนาเซาท์เทรินซีบอร์ดที่ภูเก้ต ช่องสามก็รู้ว่าเนชั่นไปจัดสัมมนาที่นั่น เขาก็ขอถ่ายทอดสดงานสัมมนา พอดีวันเริ่มสัมมนานี่อิรัคบุกคูเวตพอดี ก็มีข่าวเทเล็กซ์จากออฟฟิศผมเข้าไปยังโรงแรมที่เราจัดสัมมนา เยอะแยะเลย ตื่นเต้นมาก ช่องสามาเขาก็มีกล้องมีอุปกรณ์เตรียมส่งอยู่แล้ว เขาก็โทรศัพท์มาถามผมว่าพอจะพูดเสริมเกี่ยวกับสงครามอิรัคบุคเวตได้ไหม พอดีกับบริษัทที่เราได้เชิญมาร่วมสัมมนาด้วยคือคูเวตออยล์ เราเชิญไปพูดด้วย ผู้จัดการคูเวตออยล์นี่นั่งรถจะไปขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมืองแล้วเพื่อที่จะไปร่วมสัมมนาที่ภูเก้ต ระหว่างทางได้ยินว่าอิรัคบุคคูเวตแล้ว เลี้ยวรถกลับเลย ไม่ไปภูเก้ตแล้ว ก็ไม่มีคนสำคัญคนหนึ่งที่จะพูด ช่องสามก็เลยให้ผมพูดเนื่องจากมีเทเล็กซ์ข่าวอยู่ในเมืออยู่แล้ว แล้วไหนๆก็ถ่ายทอดเรื่องสัมมนาอยู่แล้ว เราก็เริ่มที่ตรงนั้น เสร็จจากสัมมนา ทางช่องสามก็บอกว่าข่าวมันยังไม่จบ มันยังรับกันดุเดือดพอสมควร ทางช่องสามก็เลยขอให้ผมไปช่วยพูดในช่วงข่าวเป็นเวลาวันละสามสี่นาทีจะได้ไหม ผมก็ไปพูดให้ ตอนแรกตกลงว่าจะทำอาทิตย์เดียว เพราะว่ามันเสียเวลา นั่งรถไปช่องสามนี่รถก็ติด เสร็จแล้วพูดแค่สามสี่นาทีแล้วกลับ แต่ในที่สุดก็ทำให้เดือนหนึ่ง ผมก็กลับมาทำงานตามปกติของผมก็บังเอิญอีกผมไปร่วมงานงานหนึ่งเจอคุณประสิทธิ์ หิตนันท์ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ก็ถามผมว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ ท่านก็ถามว่าทำไมเลิกรายงานข่าวสงครามทางช่องสามไป ผมก็บอกว่าผมไม่มีเวลา แล้วช่องสามก็คงจะทำกันเองได้ คุณประสิทธิ์ก็บอกว่ามาทำช่อง 9 ให้หน่อยสิ ผมก็บอกว่าไม่ต้องหรอกช่อง 9 ก็มีคนอยู่แล้ว แล้วพอดีตอนนั้นมันเริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เอาก็เอา จึงทำให้ผมเข้าไปผูกพันกับทีวีเรื่องมาจนกระทั่งเลือกตั้ง และจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ดังนั้นจึงอยากจะเน้นว่า ไม่ใช่เป็นแผนอย่างที่คนข้างนอกมองว่า ผมต้องทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย แล้วก็ไปทำวิทยุ ทีวี เพื่อให้ครบวงจารต่างๆ ไม่ใช่ ผมคิดว่าความรู้สึกของผมนี่ก็คือ จะทำอย่างไร จึงจะสามารถสื่อข่าวสารที่เกิดขึ้นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ในประเทศและต่างประเทศให้ถึงคนไทยที่ต้องการข่าว หิวข่าว ซึ่งถ้าผมทำหน้าที่ตรงนี้ได้ ผมจะทำ แต่ไม่ได้ทำเพราะว่าเป็นแผนการที่จะสร้างเครือข่ายข่าวต่างๆขึ้นมา
ไฮ-คลาส : แล้วเรื่องทีวีเสรีที่เคยพูดถึง ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
สุทธิชัย : พฤษภาทมิฬเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าทีวีเมืองไทยยังเป็นแบบนี้ ยังคงไม่กล้าวิจารณ์การเมือง ไม่แสวงหาข่าวสาร และไม่ทำให้เนื้อหาข่าวสารมีคุณภาพตามที่ประชาชนต้องการ เมืองไทยไม่มีวันที่จะเจริญก้าวหน้าได้ แล้วพฤษภาทมิฬก็ได้พิสูจน์ให้เห็น เราเรียกร้องให้มีทีวีเอกชนนี่ไม่ได้หมายความว่าผมต้องไปทำ หรือเนชั่นจะต้องไปทำ เราเพียงแต่บอกว่ารัฐบาลจะต้องเปิดโอกาสให้มีทีวีเอกชน เพื่อให้มีการแข่งขันกับทีวีปัจจุบันที่เป็นของรัฐ เอกชนต้องมีโอกาสเข้าไปเป็นทางเลือก ประชาชนจะได้ดูทีวีในอีกลักษณะ แต่ถ้าเราสามารถเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือในส่วนไหนได้ เราก็พร้อมที่จะช่วย นี่คือภารกิจของเรา เราไม่ต้องการเข้าไปถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือต้องการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ อย่างนั้นไม่ใช่ หน้าที่ของเราคือการสื่อข่าวที่ดีที่สุด ที่ถูกต้องที่สุด ที่เที่ยงธรรมที่สุดไปยังประชาชน ไม่ว่าจะผ่านสื่อไหนก็ตาม แล้วเมื่อข้อมูลเขาได้ครบถ้วนนี่คนไทยจะตัดสินได้อย่างไร ถูกหรือผิดอย่างไร
ไฮ-คลาส : แนวโน้มที่จะเกิดทีวีเสรีนี่มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
สุทธิชัย : ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้ว
ไฮ-คลาส : คุณประเมินความต้องการรับรู้ข่าวสารของประชาชนไว้มากน้อยแค่ไหน
สุทธิชัย : มหาศาลครับ คนไทยยังต้องการข่าวอีกมาก แล้วคนไทยต้องการข่าวที่ทำโดยมืออาชีพมากขึ้นแล้ว ไม่ใช่ต้องการเพียงการบอกเล่าเก้าสิบว่าคนนั้นพูดอยย่างนี้คนนี้พูดอย่างนั้น ไม่ใช่ คนไทยต้องการข้อมูลที่กว้างและลึก ไม่ใช่แต่เพียงอะไรเกิดขึ้นที่ไหน หรือใครพูดอะไรเท่านั้น
ไฮ-คลาส : คนไทยที่คุณกล่าวถึงนี่หมายถึงเฉพาะกลุ่มคนพวกไหนหรือเปล่า
สุทธิชัย : ผมหมายถึงกลุ่มคนชนบท ชนชั้นกลาง ข้าราชการ นักธุรกิจ ครู มหาศาลครับ ที่ผมพูดแบบนี้ได้เพราะว่า ในช่วงที่เราได้ทำสัญจรเรื่องเลือกตั้งครั้งสองครั้งให้กับช่อง 9 นี่ เราไปสัมผัสกับคนทุกระดับ แล้วทุกคนมีความสนใจในความเป็นไปของบ้านเมือง ครูระดับชนบทนี่มาหาผม แล้วก็มีความอยากรู้ว่านักการเมืองที่มาสมัคร ส.ส.แต่ละคนนี่เป็นมาอย่างไร ทำไมเขาจึงพูดแบบนี้ ไม่พูดแบบนี้ ทำไมคราวที่แล้วจึงอยู่พรรคนั้นไม่อยู่พรรคนี้ ต่อปัญหาต่างๆเขาคิดอย่างไร ผมเชื่อว่าพฤษภานี่ทำให้คนมีความสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน การที่มีชีวิตลำบากมากขึ้น ต้องแข่งขันมากขึ้น สังคมสลับซับซ้อนมากขึ้น เขายิ่งต้องมีข่าวสาร แล้วประชาชนในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมจะปฏิบัติอย่างไร เขาต้องการข่าวสารครับ คนจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมันในตัวเองว่ารู้พอที่จะตัดสินให้กับตัวเอง ผมเชื่อว่าคนเรานอกจากจะต้องการความเพียงพอในการมีกินมีอยู่แล้ว ยังต้องการคิดในแต่ละเรื่องอีกด้วย ชอบไม่ชอบ เห็นด้วยไม่เห็นด้วยอย่างไร จะทำอย่างนี้หรือทำอย่างนี้ ทั้งหมดนี่คือข่าวสารที่เราสามารถให้เขาได้ ทั้งหมดที่แล้วมานี่ข่าวสารจะถูกป้อนจากทางกรเท่านั้น วิทยุ โทรทัศน์นี่จะเป็นข่าวของทางราชการทั้งสั้น หนังสือพิมพ์เป็นสื่อเดียวที่เอกชนทำแต่ว่าหนังสือพิมพ์ไม่สามารถไปถึงทุกชนบท ทุกหมู่บ้านได้ และหนังสือพิมพ์ก็ช้ากว่า มีความจำกัดในด้านของเนื้อที่ ของภาพ ของเสียง ของการอธิบายการชี้แจง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ได้ให้เฉพาะข้อมูลด้านลึกจากการวิเคราะห์ แต่ว่าจะไม่เห็นภาพร่วมและเสียง นี่คือบทบาทที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงขอตอบคำถามของคุณที่ว่าคนไทยที่ต้องการข่าวสารข้อมูลเหล่านี้เป็นใคร ผมตอบได้เลยว่าคือคนไทยที่เจอกับสภาพสังคมใหม่แล้วต้องเผชิญ อย่างเราไปหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งล่าสุดเราไปแจกทีวีประชาธิปไตยที่หมู่บ้าน ทางภาคเหนือ อิสาน ในนั้นจะมีการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ รณรงค์ว่าพ่อแม่ไม่ควรจะขายลูกสาว เป็นภาพโปสเตอร์ที่ทันเหตุการณ์มาก มีการพูดถึงเรื่องการปลูกข้าวนาปรังว่าควรไม่ควรทำเพราะอะไร แล้วก็มีการพูดถึงบทบาทของส.ส. เพราะว่าสื่อไปถึงแล้ว ข่าวไปถึงแล้ว ทีวีถ่ายทอดสด ยิ่งสร้างความอยากรู้อยากเห็นให้กับพวกเขามากขึ้น และกระตุ้นให้เขาอยากรู้ต่อ ไม่ใช่รู้เฉพาะชื่อเสียงเรียงนาม อยากรู้ว่าที่คุณพูดนี่หมายถึงอะไร จะทำได้ไหม ทำไมคุณพูดแล้วจึงมีอีกคนหนึ่งค้าน ที่ค้านนี่เพราะอะไรแล้วเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร ผมว่าเราสามารถที่จะปลุกความรู้สึกโดยธรรมชาติของคน ตรงนี้คือหัวใจของการทำงานสื่อมวลชน
ไฮ-คลาส : คุณมองว่าสื่อต่างๆที่ต้องการให้ขยายสู่สังคมในวงกว้างนี้เข้าไปถึงผู้คนรวดเร็วพอหรือยัง
สุทธิชัย : ยังครับ เพราะทุกวันนี้ มีบางท้องที่ที่วิทยุยังไม่สามารถส่งไปได้ ก็ได้เฉพาะสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ซึ่งก็เป็นข่าวทางการอีกนั่นแหละ ถ้าจะให้ดีต้องเป็นประชาชนต่อประชาชนสื่อกันเองได้ ไม่ใช่รัฐบาลสื่อกับประชาชนด้านเดียวเช่นปัจจุบัน ไม่มีให้ประชาชนสื่อกลับอย่างที่เนชั่นพยายามจะทำก็คือว่า เราจะพยายามใช้ดาวเทียมเพื่อส่งไปถึงหมู่บ้านต่างๆและให้เขาสามารถสะท้อนความคิดเห็นกลับมาด้วย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เราวางแผน แต่เราเห็นว่ามันมีช่องว่าง เราไปถึงแค่เชียงรายนี่นักธุรกิจเชียงรายบอกว่าเขาได้รับข่าวสารช้ากว่าทุกคน อย่างเช่นการจับเสี่ยสองนี่กว่าเขาจะรู้ก็เย็น กรุงเทพฯนี่รู้ตอนสิบโมงเช้า ห่างกัน 6-7 ชั่วโมงนี่ก็แย่แล้ว สำหรับการตัดสินใจทาสงธุรกิจ แล้วข่าวอื่นๆที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิตของเขานี่ ทำไมคนต่างจังหวัดจะต้องรู้ข่าวช้ากว่าคนกรุงเทพฯ ถึง 7-8 ชั่วโมง ไม่มีเหตุผลเลย เพราะเทคโนโลยีก็มีแล้ว ดาวเทียมก็มีแล้ว อุปกรณ์สื่อสารก็มีแล้ว มันอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล อยู่ที่เอกชนเองจะก้าวเข้าไปตรงนี้อย่างไร แต่เอกชนส่วนใหญ่ก็จะมองว่ามีกำไรไหม ถ้าจะทำ ถ้าคิดอย่างนั้นมันก็จะไม่เกิด เพราะว่าการลงทุนอย่างนี้มันจะไม่มีกำไรเป็นตัวเป็นตนในระยะเวลาอันสั้น เพราะฉะนั้นจะสังเกตได้ว่าคนที่ทำวิทยุเข้าไปแล้วนี่จะถอยเยอะ เพราะตอนแรกคิดว่าจะมีเงินมีทองเข้ามา มันไม่ได้ แต่ที่เนชั่นทำได้ เพราะว่าเนชั่นเป็นองค์กรที่ใหญ่พอ และทำกิจการด้านอื่นคือหนังสือพิมพ์มาสนับสนุนกิจการที่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ห่างไกลโดยอาศัยวิทยุนี่เป็นจุดสำคัญที่เราต้องการกระจายให้ถึงโดยที่ไม่ต้องการให้นักจัดกรายการท้องถิ่นได้รับผลกระเทือนด้วย เพราะเราเห็นว่าท้องถิ่นต้องมีรายการของเขา เราจะส่งข่าวบางช่วงของวันเท่านั้นเอง
ไฮ-คลาส : ตอนนี้พอใจกับสถานีวิทยุข่าวเอฟเอ็ม 96 และ 97 แค่ไหน
สุทธิชัย : เรายังไม่พอใจนะ เราคิดว่าน่าจะกระจายได้ทั่วประเทศ ความพอใจของเราอยู่ที่ว่าสามารถบริการให้กับทุกคนในทุกจังหวัด ทุกแห่ง เห็นหรือเปล่าว่าดาวเทียมนี่สามารถถ่ายทอดไปได้ทุกแห่งทั่วโลก แล้วทำไมแค่จากรุงเทพฯไปต่างจังหวัด ทำไมจะทำไม่ได้ ผมว่าทั้งหมดนี้มันอยู่ที่นโยบายรัฐบาลว่าจะให้สถานีวิทยุนี่เปิดเสรีมากน้อยแค่ไหน
ไฮ-คลาส : เนื่องจากการวิเคราะห์ของคุณค่อนข้างรุนแรงจนหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการทำงานข่าวของคุณหรือไม่
สุทธิชัย : มันก็ตรงไปตรงมาครับ เราไม่ต้องเกรงใจกลุ่มผลประโยชน์ไหน ผมทำวิทยุ ทำหนังสือพิมพ์ ทำทีวี มีความเชื่อมันอย่างหนึ่งว่าไม่มีนักการเมืองคนไหน นักธุรกิจคนไหน นักวิชาการคนไหนจะบอกว่าผมพูดเพราะว่าผมไปได้เงื่อนมา อยู่ใต้อิทธิพลใคร หรือว่าอยู่ฝ่ายไหน ผมวิจารณ์จากที่ผมเห็น จากสิ่งที่เราดูจากข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ต้องเกรงใจใคร แล้วผมก็ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิต ตั้งแต่ทำงานเขียนหนังสือ ไม่มีการผูกพันกับกลุ่มผลประโยชน์ไหนทั้งสิ้น มิฉะนั้นก็ไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็อย่าทำดีกว่า ถ้าจะบอกว่าผมรุนแรงนี่ก็จริง เพราะว่าเมืองไทยมันขาดสิ่งเหล่านี้ คือการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา แล้วสิ่งนี้ก็เป็นตัวพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่าผมไม่มีแผล ไม่มีใครที่จะมาสั่งผมได้ในการพูดหรือวิจารณ์
ไฮ-คลาส : ที่คุณกล้าพุดว่าไม่ต้องเกรงใจใครในการวิเคราะห์ข่าว ขณะเดียวกันมีใครเกรงใจคุณหรือไม่
สุทธิชัย : (หัวเราะ) ไม่มีใครเกรงใจผมหรอกครับ เช่นถ้าเราพูดผิด ก็จะมีคนแย้งกลับอย่างแรงเลย ซึ่งนี่ผมเป็นเรื่องที่ถูกต้อง สังคมมันต้องเป็นอย่างนี้มันถึงจะก้าวไปข้างหน้า ถ้าผมพูดผิด ข้อมูลผมไม่ตรง หรือว่าเขาไม่เห็นด้วยกับผม ก็สะท้อนกลับมา ซึ่งผมก็เห็นว่าดี เพราะผมถือว่าผมไม่ได้รู้ในทุกอย่าง ผมก็ได้แต่บอกว่าเท่าที่รู้มันเป็นอย่างนี้ แล้วผมกำลังแสวงหาข้อมูลอย่างนี้ แต่เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้แบบนี้นี่เหตุการณ์มันน่าจะเป็นอย่างนี้ เราวิเคราะห์ตามข้อมูลที่ได้มา ผมไม่ได้บอกว่าผมเป็นพหูสูตร คือรู้ทุกอย่าง หน้าที่ของนักข่าวคือการแสวงหาข้อมูล ซึ่งไม่มีการจบสิ้น พอสถานการณ์เปลี่ยนข้อมูลก็เปลี่ยน ผมทำหน้าที่เป็นหูตาให้กับคนฟัง คนอ่านหนังสือ แล้ววิเคราะห์ตามข้อมูลว่าชั่วโมงนี้ข้อมูลอย่างนี้ ความคิดเห็นของผมเป็นอย่างนี้ พอชั่วโมงใหม่ มีข้อมูลใหม่เราเพิ่มเราก็เห็นว่าไม่ใช่แล้ว ข้อมูลแบบใหม่แล้วเหตุการณ์มันต้องเป็นอย่างนี้ คนฟังก็จะรู้ว่าข้อมูลอย่างหนึ่งเราจะวิเคราะห์อย่างไร
ไฮ-คลาส : มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารายการของคุณสุทธิชัย หยุ่นที่มีการพบปะนักการเมือง เป็นรายการที่จับนักการเมืองขึ้นมาเชือด
สุทธิชัย : รายการพบปะนักการเมืองในบ้านเรานี่มันเป็นเรื่องใหม่ ที่เพิ่งทำกันขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วแต่สำหรับที่อื่นนี่เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะฉะนั้นผมคิดว่าผมได้พยายามทำรายการที่ชาวบ้านอยากให้คนทำ แต่ว่ามันไม่เคยมีในเมืองไทย แล้วจริงๆจะเอาใครไปนั่งนี่จะเป็นใครถ้าไม่ใช่ข้าราชการ นักวิชาการ นี่เป็นสมัยก่อน ซึ่งมันก็จะเป็นลักษณะที่ว่าเราถามคำถามหนึ่งแล้วเขาก็ตอบ แล้วเราก็ตั้งคำถามที่สอง ซึ่งเขาจะตอบหรือไม่ตอบเราก็ว่าไปได้ยาวทีเดียว มักก็ไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผมคือสะท้อนความรู้สึกและความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งก็เป็นคำถามแบบตรงไปตรงมา ซึ่งจริงๆที่นักการเมืองไปหาเสียงในชนบท ในหมู่บ้านก็จะได้รับคำถามแบบนี้นี่แหละ เช่นจริงหรือเปล่า คุณรับเงินเขามาหรือเปล่า ทำไมไม่เห็นให้อะไรเลย หายไปเลยนะตั้งแต่เป็นส.ส. เบี้ยวหรือเปล่า บอกว่าจะทำก็ไม่เห็นทำเลย ชาวบ้านเขาก็จะถามอย่างนี้ เป็นคำถามที่ธรรมดามากเลย นักการเมืองจะเจออย่างนี้ แต่ที่เขาไม่ชินก็คือคำถามนี่มีการออกทีวี เพราะฉะนั้นคำถามผมไม่ใช่คำถามใหม่ สำหรับนักการเมือง เพียงแต่ว่าในทีวีและวิทยุไม่เคยมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แล้วนักกรเมืองจะเป็นอย่างนี้นะครับ คือถ้าเขาคิดว่าเขาตอบได้ เขาจะชอบรายการทีวี แต่ถ้าเขาตอบไม่ได้ หรือเป็นคำถามที่เขาไม่อยากจะตอบ แต่เราบอกว่าต้องตอบ ไม่ใช่ผมบังคับให้นักการเมืองตอบ แต่ประชาชนต้องการคำตอบ ประชาชนเคยฟังเขาพูดไว้อย่างนี้ คุณจะเลี้ยงไม่ตอบไม่ได้ คุณจะตอบหรือไม่ตอบมันสิทธิของคุณ แต่คำถามเหล่านี้ผมต้องถาม ดังนั้นนักการเมืองจึงมักประเมินการออกทีวีจากประโยชน์ที่ตนเองได้ ไม่ใช่จากประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้
ผมวิจารณ์จากที่ผมเห็น จากสิ่งที่เราดู จากข้อมูลข่าวสาร โดยไม่ต้องเกรงใจใคร แล้วผมก็ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิต ตั้งแต่ทำงานเขียนหนังสือ ไม่มีการผูกพันกับกลุ่มผลประโยชน์ไหนทั้งสิ้น ถ้าจะบอกว่าผมรุนแรงนี่ก็จริง เพราะว่าเมืองไทยมันขาดสิ่งเหล่นี้ ไม่มีใครที่จะมาสั่งผมได้ในการพูดหรือวิจารณ์
ไฮ-คลาส : ระยะหลังการทำงานของคุณมีอิสระมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเคยถูกประทุษร้าย
สุทธิชัย : มันก็ไม่มีอะไรมากมาย ก็แค่ไปทำร้ายรถผมคันสองคัน นอกจานั้นก็ไม่เคยมี จริงๆแล้วถ้าใครรู้จักผมดีไม่ว่านักการเมือง ผู้นำต่างๆ จะรู้ว่าผมตรงไปตรงมา ไม่มีผลประโยชน์ ถ้าผมไปสนับสนุนกลุ่มหนึ่ง แล้วป้อนคำถามรุนแรงกับอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างนี้สิน่าที่จะประทาร้ายผม แต่ว่าผมไม่มี ผมเคยกินข้าวกับนักการเมือง นักธุรกิจ ไม่เคยไปหาใครส่วนตัว เพราะฉะนั้นท่านจะมาประทุษร้ายผมเรื่องอะไร ถ้าคนที่จะสังหารกันนี่มันต้องมีเหตุว่าคุณจงใจจะทำร้ายผม ซึ่งในท้ายที่สุดคนพวกนี้ก็เข้าใจว่าผมทำหน้าที่ในฐานสื่อมวลชนเท่านั้นเอง
ไฮ-คลาส : ที่ว่ารัฐบาลนี้จัดตั้งโดยสื่อมวลชน และคุณสุทธิชัยก็เป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งในการทำให้รัฐบาลดรีมทีมชุดนี้ปรากฏขึ้นมา คำกล่าวนี้จริงเท็จประการใด
สุทธิชัย : (หัวเราะ) ไม่จริงหรอกครับ มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผมจะไปบังคับนักการเมืองให้เขาจับมือกัน ถ้าเขาไม่ต้องการจับ อย่าลืมสิครับว่า ในระหว่างการหาเสียงนี่สี่พรรคการเมืองเขาประกาศเองว่าเขาจะหาเสียงร่วมกัน แล้วถ้าเขาได้เสียงพอเขาจะเป็นรัฐบาลผสม นั่นคือคำสัญญากับประชาชน เราในฐานะสื่อมวลชนก็ได้แต่เตือนเขาหลังจาการเลือกตั้งว่าตกลงจะทำตามที่พูดไว้หรือเปล่า หน้าที่ของผมก็คือเตือนให้เขาทำตามที่พูด แล้วสี่พรรคนี่มันไม่พอนี่เราก็ถามเขาว่าจะทำตามที่พูดหรือเปล่า เราก็เชิญเขามาออกทีวี ซึ่งเราก็เชิญพรรคอื่นด้วย แต่ที่เขาไม่มาเพราะอะไรผมไม่ทราบ เราก็ตั้งคำถาม แล้วที่เขาตอบนี่ก็ไม่จำเป็นต้องมาเอาใจผมด้วย ถ้าเขาไม่พร้อมเขาก็บอกว่าต้องพิจารณาดูกันก่อน มันเป็นสิทธิของเขาทั้งสิ้น ผมจะไปบังคับใครให้ตั้งรัฐบาลได้อย่างไร และนี่เป็นหน้าที่ที่สื่อมวลชนจะต้องทำ เขาจะไม่ตั้งรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นสิทธิของเขา ถ้าคุณชวนไม่ยอมจับมือกับคุณชวลิตนี่ก็เป็นสิทธิของเขา เขาจะบอกผมว่ายังไม่ขอตอบ เพราะยังไม่ได้มีการเจรจาร่วมกันก็ได้ อย่างคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ตอนนั้นอยู่ที่ชลบุรี เราก็ยิงดาวเทียมมาถามว่าคุณอุทัยว่าอย่างไร คุณอุทัยก็บอกว่าเราเคยพูดกันไว้แบบนี้นี่ ผมก็ถามคุณชวนว่า ที่คุณอุทัยพูดนี่เป็นอย่างนี้หรือเปล่า คุณชวนก็ตอบต่อหน้าประชาชน ผมว่านี่เป็นความโปร่งใสที่สุดที่เราพึงจะมีในระบอบประชาธิปไตย เมื่อก่อนนี่เขาตั้งรัฐบาลโดยการงุบงิบกันตามโรงแรมหรือที่ไหนก็ตามแล้วจึงบอกประชาชน ประชาชนไม่เคยเห็นความโปร่งใสชัดเจนเช่นนี้ว่าสูตรนี้เป็นอย่างไร สูตรนั้นเป็นอย่างไร ผมว่านี่คือสิ่งที่สังคมไทยต้องการและผมว่านี่คือสิ่งที่นักการเมืองจะต้องรับผิดชอบต่อการพูด ไม่ใช่ก่อนการเลือกตั้งพูดอย่างหนึ่ง พอได้รับการเลือกตั้งก็แอบไปตกลงกันอีกอย่างหนึ่งที่ผิดกับคำสัญญา ผมขอยืนยันว่าผมไม่มีอิทธิพลอะไรกับการตั้งรัฐบาลชุดนี้เลย ผมเพียงแต่ทำหน้าที่สื่อมวลชนของผมเท่านั้น แล้วคืนนั้นนี่เราไม่ได้บอกเพียงสูตรการจัดตั้งรัฐบาลสูตรนี้สูตรเดียว มันมีถึง 7-8 สูตร ไม่ใช่ว่าสุทธิชัย หยุ่นชอบสูตรนี้ อยากได้สูตรนี้ รัฐบาลต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ เรามีทุกสูตร แต่บังเอิญมันมาจบลงตรงที่สูตรปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่เขาเคยสัญญา แล้วก็บังเอิญที่คืนนั้นสี่พรรคนี้มาปรากฏบนจอพร้อมกัน เขาก็เลยสรุปว่านี่เป็นสูตรที่สุทธิชัย หยุ่นตั้ง ผมไม่ได้เก่งกาจขนาดนั้นหรอกครับ
ไฮ-คลาส : คุณพอใจกับรัฐบาลดรีมทีมชุดนี้แค่ไหน
สุทธิชัย : ผลงารัฐบาลชุดนี้ยังไม่น่าพอใจ เวลาผ่านไปเก้าเดือนสิบเดือนแล้วน่าจะมีผลงานมากมายกว่านี้เยอะ มีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่านี้ ผู้นำต้องมีสายตาที่กว้างไกลกว่านี้ ไม่ควรที่จะมานั่งหวาดระแวงหรือสงสัยกันในเรื่องการทำงานว่าพรรคไหนจะได้คะแนน ถ้าถามผมว่าผมให้คะแนนเท่าไรจาก 100% ผมก็บอกว่าให้ได้แค่ 55% คือผ่านนิดหน่อย ไม่ถึงกับดีมาก
ไฮ-คลาส : ที่บอกว่ารัฐบาลชุดนี้เหมือนกับการเล่นละครน้ำเน่าเมื่อหลายวันก่อนนั้นหมายความว่าอย่างไร
สุทธิชัย : เรื่องคุณมนตรีไงครับ ผมคิดว่ามันไร้สาระกันมากๆ เหตุผลที่จะขู่เข็ญกัน ให้เหตุผลว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในเรื่องคืนทรัพย์ ยึดทรัพย์ แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าไม่ใช่หรอก จริงก็เป็นเหตุผลในเรื่องราคาข้าว นี่ไปหลอกชาวบ้านได้อย่างไร ชาวบ้านเขารู้นี่ว่าเหตุผลจริงๆมันเรื่องคืนทรัพย์ อย่ามาอ้างเรื่องอื่น นักการเมืองคิดว่าประชาชนโง่ คิดว่าจะพูดอย่างไรประชาชนก็ฟังได้นี่ไม่จริงหรอก โดยเฉพาะชาวบ้านเขาตามข่าวทุกฝีก้าวแล้วขำได้หมดว่าใครพูดอะไรไว้ ตอนเช้าพูดแบบนี้ ทำไมตอนบ่ายมาพูดแบบนั้น ดังนั้นชาวบ้านเขามีความต้องการข่าว ต้องการความแน่ชัด การตีความ การวิเคราะห์สูงมากๆ
ไฮ-คลาส : ช่วงที่รสช.ครองอำนาจอยู่ คุณเคยบอกว่าการเมืองไทยไม่มีความหวัง เวลานี้ยังคิดแบบนั้นอยู่หรือเปล่า
สุทธิชัย : ช่วงนั้นมันไม่มีความหวังแน่ เพราะเราก็มองเห็นว่ามีความพยายามดื้อรั้นที่จะทำผิดกฎติกา หลังจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาผมก็เห็นว่ามันมีหวังมากขึ้น และเห็นว่าการทีประชาชนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของความหวังว่าอย่างน้อยที่สุดเมื่อมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล คนไทยพร้อมที่จะแสดงออกด้วยวิถีทาง ด้วยความคิดของตัวเอง โดยไม่มีใครบังคับหรือจูงจมูก ผมเชื่อว่านั่นคือความหวังและไฟของความรู้สึก ไฟของความสำนึกในหน้าที่ว่าเราเป็นพลังเงียบเฉยๆไม่ได้ มันต้องมีความเห็น ความคิดที่แลกเปลี่ยนกันได้ แต่ขณะเดียวกันต้องมีวินัยนะครับ ต้องมีวินัยในการแก้ปัญหาอย่างเช่นกรณีสวนลุมกับกรณีรถไฟฟ้านี่มันเป็นกรณีง่ายๆชัดๆ เราต้องดูว่าจะยอมเสียส่วนหนึ่งของสวนลุมหรือว่าจะเอารถไฟฟ้า นี่เป็นข้อขัดแย้งปกติในสังคมมากเลย กรณีเหล่านี้หากเราปล่อยเหตุการณ์ไปจนเกิดการเผชิญหน้า มีการวมพลัง ต้องมีการแพ้ชนะ เราจะกลายเป็นสังคมที่แย่มาก เพราะว่าเราไม่มีกลไกในการแก้ปัญหาสังคมเลย เพราะว่ามันไม่ไม่ใช่ปัญหานี้ปัญหาเดียว สังคมยังคงต้องเผชิญกับปัญหาอีกเยอะแยะ เราจึงต้องมานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน ว่าเราจะได้สิ่งนี้ เราจะต้องเสียอะไรบ้าง เราเสียน้อยที่สุดได้ไหมในการที่เราจะได้สิ่งนี้ สังคมมันก็เป็นแบบนี้ เราจะได้อะไร เราก็ต้องเสียสละ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ นี่เป็นกลไกที่สำคัญ ขั้นตอนต่อไปก็คือการใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งไม่ให้ลามปามจนเสียเลือดเสียเนื้อ เสียความรู้สึก เราในฐานะสื่อมวลชนก็มีหน้าที่ในการเสนอข่าวสารข้อมูล เสนอปัญหาว่าเป็นอย่างนี้นะ จุดนี้น่าจะเป็นปัญหาเขาป้องกันอย่างไร ไม่ป้องกันอย่างไร นี่เป็นหน้าที่ของเรา เหมือนกับที่เขาเปรียบเราเป็นหมาเฝ้าบ้าน ถูกต้องที่สุด หมาเฝ้าบ้านเมื่อเห็นอะไรที่ผิดปกติก็เห่า เจ้าของบ้านจะได้รู้ว่ามีอะไรที่ผิดปกติ แต่หมาที่เผฝ้าบ้านนี่มันต้องเป็นหมาที่เห่าเป็นเรื่องเป็นราวด้วยนะครับ ไม่ใช่เห็นลมพัดใบไม้ไหวก็เห่าหรือว่าเห่าจนคนไม่สนใจแล้ว คนคิดว่ามันคงเห่าเรื่อยเปื่อยแหละ ก็เหมือนกับที่สื่อมวลชนโวยวายทุกเรื่องคนก็จะไม่ฟัง หมาเฝ้าบ้านนี่ต้องเป็นหมาที่ฝึกฝนมาอย่างดี ต้องไม่ตะกละตะกลาม ใครโยนกระดูก โยนเนื้อมาต้องไม่ละโมบ ขืนกินเข้าไปตายกันพอดี ผมว่านี่เป็นข้อเปรียบเทียบที่ถูกมาก แล้วเราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน หมาเฝ้าบ้านบางตัวลืมไป เฝ้าๆอยู่เผลอคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของบ้าน เข้าไปอยู่ในบ้านเลย แล้วก็ลืมเฝ้าบ้าน เจ้าขนองบ้านคือประชาชน ประเทศชาตินี้ยังเป็นของประชาชนอยู่ สื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านอยู่ข้างนอก ไม่ใช่เจ้าของบ้านบางตัวนี่นั่งอยู่ในบ้านสบายเลย ลืมเห่า ลืมเฝ้า ลืมตรวจเลย ตัวเองใหญ่แล้วนี่ ลืมหน้าที่หมดเลย อย่างนั้นผิดแล้ว นี่เป็นเรื่องอันตรายมาก
ไฮ-คลาส : หมาเฝ้าบ้านในทุกวันนี้ปฏิบัติหน้าที่ได้เหมาะสมหรือยัง
สุทธิชัย : ก็อย่างที่ผมบอกไงครับ บางตัวก็ใหญ่จนคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของบ้าน บางตัวก็เห่าผิดปกติ เช่นเรื่องเล็กน้อยก็เห่าเสียดังโดยไม่ได้พิจารณาตรวจสอบให้ดีว่าเป็นโจรหรือเปล่า แต่บางตัวก็ไม่เห่าเลย นอนหลับนิ่ง ใครโดยเนื้อโยนอะไรมาก็กิน เสร็จแล้วก็อ้วนนี่ก็ไม่ได้ เพราะโจรเข้าบ้าก็ไม่รู้ บางทีจงใจ เพราะว่าโจนโยนเศษเนื้อมาให้กิน หมาก็ไม่เห่า ก็รับอามิสสินจ้างกัน ลักษณะอย่างนี้มันก็มี ดังนั้นหมาที่ดีจะต้องรู้ตัว ทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา ตื่นอยู่ตลอดเวลา ฝึกฝนตลอดเวลา ไม่กินมากเกินไป ต้องกินเป็นเวลาตามปกติ แล้วเกห่ามีจังหวะจะโดคนให้เข้าจองบ้านเขารู้ว่านี่เห่าเบานะแปลว่าเตือนกันก่อนเห่าเสียงดังขึ้นหรือเห่าดังลั่นเลยนี่แสดงว่ามีข่าวใหญ่นะ กำลังมีเองไม่ดีนะ เหม็นมากเลยนะ มีคนแปลกหน้ามามากผิดปกติ นี่คิดจังหวะที่หมาจะต้องเห่า เหมือนกับการพาดหวัวหนังสือพิมพ์ที่มีเล็กมีใหญ่ ซึ่งข่าวก็ควรจะพิจารณาว่าแรงขนาดไหน ใหญ่ขนาดไหน บทวิเคราะห์ความเห็นควรจะเป็นอย่างไร ไม่ควรทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เห่าดังผิดปกติ หรือเรื่องที่ใหญ่จริงกลับไม่เห่าเนื่องจากไปกินเนื้อใครมา รับเงินใครมา แล้วก็หลบหนีไปเฝ้าบ้านอื่น แทนที่จะเฝ้าบ้านตัวเอง และที่อันตรายที่สุดอย่างที่ว่า เมื่อหมาเฝ้าบ้านคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของบ้านก็จะใหญ่คับบ้านเลย watch dog คำนี้ผมว่ามีความหมายและสามารถนำมาใช้ได้ในทุกกรณี
ไฮ-คลาส : ในฐานะหมาเฝ้าบ้าน คุณเคยเห่าผิดบ้างไหม
สุทธิชัย : แน่นอนครับ ต้องเห่าผิดบ้าง เพราะว่าเราออกไป บางครั้งกลิ่นนี้ ภาพนี้นี่ ไม่ใช่อย่างนี้ มาอีกที กลิ่นที่มาเหมือนเดิม แต่ว่าเราประเมินผิดไปจากเดิม เพราะว่าเราไม่รู้ข้อมูลล่าสุดว่านี่เป็นใคร อย่างไร เราจำไม่ได้เราก็เห่า แต่ว่าการเป็นหมาที่ดีนี่ ควรจะต้องรู้สึกตัวเร็วว่าได้เห่าผิด เมื่อเห่าผิดเราก็ต้องหยุด เราคงไม่บอกว่าเราเป็นหมาที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยเราสัตย์ซื่อที่สุด เราไม่หนีไปไหน เราไม่กินเนื้อที่คนอื่นโยนมาให้ เราจะกินเฉพาะที่เจ้าของบ้านเขาให้เรากิน เราไม่หลับในขณะที่เฝ้าบ้าน ไม่ทำตัวเป็นเจ้าของบ้าน ไม่เหมาเอาว่าที่ทั้งหมดของเจ้าของบ้านเป็นที่ที่เราดินได้หมด เราต้องเจียมตัว ต้องฝึกฝน ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่เที่ยวระรานกัดชาวบ้านเขา ซึ่งทุกวันนี้มีสื่อมวลชนที่เป็นหมาเฝ้าบ้านประเภทเห่าทุกอย่าง กัดทุกอย่างทีผิดกลิ่นกับตัวเอง เพราะตัวเองไม่เคยฝึกนี่ กลิ่นมันมีใหม่ๆนะครับ เราต้องฝึกว่านี่เป็นของใหม่ แนวโน้มใหม่ของสังคมที่เราต้องเรียนรู้ไม่ใช่จะกัดทุกอย่างไป
ไฮ-คลาส : ต่อปัญหาเรื่องระดับการศึกษาของคนไทย โดยเฉพาะคนในชนบท ประกอบกับวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ส่งผลต่อวงการหนังสือพิมพ์บ้านเราไม่น้อย คุณมองปัญหานี้อย่างไร
สุทธิชัย : เราคงไม่ทำหนังสือพิมพ์ด้วยการลงข่าวอาชญากรรม ข่าวเซ็กซ์ ข่าวหวือหวา ข่าวหมาออกลูกเป็นช้าง เราคงทำไม่ได้ เพราะเราคิดว่ามันไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน ในทางตรงกันข้าม มันจะทำให้คุณภาพของประชาชนยิ่งถดถอยลงไป หนังสือในเครือจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักและเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการเมืองในระดับชาติ เราก็ชดเชยด้วยการทำวิทยุ เพราะวิทยุนี่จะสื่อถึงคนในทุกระดับ ผมคิดว่านี่คือช่องว่างที่เรากำลังพยายามถม พยายามที่จะปิด โดยเปิดให้มีการสื่อสารถึงคนโดยฝ่ายสื่อวิทยุ ซึ่งจะได้ผลในอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเร็วกว่าและคล่องตัวกว่า ทั้งยังสามารถที่จะสะท้อนกลับได คือหมายความว่าสื่อกันได้สองทาง
ไฮ-คลาส : คิดจะออกหนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่เป็นเรื่องการเมืองรายวันไหม
สุทธิชัย : การเมืองรายวันนี่เป็นแผนที่เราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าถึงจุดไหนอย่างไร ที่จะมีช่องว่างหรือมีความต้องการของสับงคม เราจะไม่ออกอะไรถ้ามีอยู่แล้ว ดีอยู่แล้วในสังคมนี้ ซึ่งตอนนี้ยัง
เราคงไม่ทำหนังสือพิมพ์ด้วยการลงข่าวอาชญากรรม ข่าวเซ็กซ์ ข่าวหวือหวา ข่าวหมาออกลูกเป็นช้าง เราคงทำไม่ได้ เพราะเราคิดว่ามันไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน ในทางตรงกันข้าม มันจะทำให้คุณภาพของประชาชนยิ่งถดถอยลงไป
ไฮ-คลาส : การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาดอนนาและไมเคิล แจ็คสันที่ในขณะที่ปัญหาด้านการศึกษา และโอกาสในการศึกษาของคนไทยยังเป็นปัญหาใหญ่ การออกมาพูดเช่นนี้ของรัฐมนตรีสมควรหรือไม่อย่างไร
สุทธิชัย : ผมไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐมนตรีศึกษาคิดอะไรแบบนี้ อย่างเรื่องที่มาดอนนาจะมา แล้วท่านบอกว่าไม่ต้องการให้มาเพราะว่าจะมาแก้ผ้านี่ มันอะไรกัน คือรัฐมนตรีศึกษาไม่มีหน้าที่ที่จะมาบอกว่าคอนเสิร์ตไหนดีไม่ดีสำหรับคนไทย และหน้าที่ของกระทรวงศึกษาก็คือต้องดูแลระบบการศึกษาทั้งหมด เป็นห่วงเป็นใยเยาวชน เรื่องของหลักสูตร เรื่องของช่วงเวลาในการเดินทางไปเรียนหนังสือที่เป็นภาระหนักหน่วงมาก ทำไมไม่สนใจด้านนั้น มาสนใจเรื่องไมเคิล แจ็คสัน มาสนใจเรื่องมาดอนน่า ผมว่าเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับรัฐมนตรี นี่มันเป็นเรื่องของเอกชนโดยแท้ ที่จริงการที่เป็นห่วงมาตรฐานศีลธรรมว่าเยาวชนดูไมเคิล แจ็คสัน แล้วจะเสียคนนี่ก็ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาอีกนั่นแหละ อิทธิพลตะวันตกนี่มันมีอยู่แล้วทุกวันนี้ หนังสือ ทีวี รายการต่างๆเข้ามา ถ้าจะเสีย มันก็เสียไปนานแล้ว แล้วถึงแม้มันจะเสีย รับมนตรีศึกษามีสิทธิ์อะไรที่จะมาวางมาตรฐานศีลธรรมแทนเรา เหมือนที่ผมบอกว่า หากรัฐมนตรีศึกษาของเราเชย คนทั้งประเทศของเราจะต้องเชยด้วยหรือ ผมว่าเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะมาบังคับเราให้เชยเหมือนเขา แล้วผมเองก็ไม่แน่ใจว่าระดับศีลธรรมเขาดีกว่าเราหรือไม่ ไม่แน่ใจว่าระดับศีลธรรมของรัฐมนตรีดีกว่าของผม จะมาบอกว่าคุณดูไอ้นี่ไม่ได้เพราะผมคิดว่ามันไม่ดีสำหรับคุณ รัฐมนตรีรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่ดำสำหรับผม อย่างไมเคิล แจ็คสันนี่เขาเป็นศิลปิน ไม่ใช่เพราะบังเอิญ เขาเป็นชาวตะวันตก เขาอาจจะเป็นไต้หวันหรือเขมรก็ได้ แต่เขาเป็นศิลปินที่มีความสามมารถมาก เป็นนักแสดงที่เป็นหนึ่งของโลกคนหนึ่ง ดังนั้นการที่เราจะดูเขาไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราอยากจะเป็นอย่างเขาเหมือนเราดูลิเกก็ไม่ใช่ว่าเราอยากเป็นลิเก ทำไมเรื่องของวัฒนธรรมที่เราดูแล้วเราต้องเป็นอย่างเขาหรือไม่ เรามีวัฒนธรรมของเราเอง อย่างเช่นเรามีละคร มีดนตรีไทยต่างๆนานานี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ให้ความสุขแก่เรา ก็เหมือนแจ๊คสัน เหมือนมาดอนน่า เราดูแล้วเรามีความคิดความอ่าน มีความรู้สึก แล้วการแสดงที่ดี ที่มีมาตรฐานสกลนั้นเป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะได้ดูว่านี่แหละคือมาตรฐานโลก เขามาร้องเพลงอย่างนี้ เสียงแบบนี้ เขาสามารถดึงให้ทุกคนสนใจเขา เขาเก่งตรงไหน ทำไมเขาทำอย่างนั้นได้ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นอเมริกัน เขาชื่อไมเคิล แจ็คสัน และถ้าเรามีคนไทยที่เก่งแบบนั้นก็สามารถไปทั่วโลกได้เช่นกัน ไม่อย่างนั้นเราจะส่งคนไปดูงานที่อเมริกาทำไม นักวิทยาศาสตร์เราทำไมต้องไปที่อเมริกา นักการศึกษาเราทำไมต้องไปดูว่าอเมริกาเขาทำกันอย่างไร ทำไมไม่มีคนออกมาบอกว่าเราอย่าไปรู้เลยเพราะเป็นอันตรายมากถ้าไปดูแล้วต้องกลับมาเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ผมคิดว่ารัฐมนตรีศึกษาไม่มีหน้าที่มาตัดสินเรื่องนี้ เราเลือกตั้งเขาเข้าไปเป็นส.ส.แล้วเขาได้ไปเป็นรัฐมนตรีศึกษาเพื่อไปออกกฎหมายและดูแลเรื่องการศึกษา ไม่ใช่ให้มาตัดสินเรื่องการจัดดนตรีไมเคิล แจ๊คสันรอบเดียวหรือสองรอบดี หากจัดสองรอบคนซื้อตั๋วครั้งแรกก็ไม่พอใจเพราะอยากดูรอบวันที่ 24 และ ประการที่สองหากจัดสองรอบนี่จะทำให้หญ้าโตไม่ทัน เนื่องจากจะมีการจัดการแข่งขันกีฬา นี่แหละครับรัฐมนตรีศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษานะครับต้องไปพูดถึงเรื่องหญ้าโตไม่ทัน ผมว่านี่มันบ้า (หัวเราะ)
ไฮ-คลาส : ในการเลือกตั้งซ่อมเขตดุสิตครั้งที่ผ่านมา รู้สึกว่าคุณค่อนข้างผิดหวัง เนื่องจากพลังธรรมแพ้ใช่หรือไม่
สุทธิชัย : ผมผิดหวังที่คนไปใช้สิทธิน้อย ไม่ใช่เรื่องพลังธรรมแพ้แล้วประชากรไทยชนะ ใครชนะนี่เป็นเรื่องมติของประชาชน แต่ว่าคนไปใช้สิทธิแค่ 24% นี่ผมถือว่ามติไม่เด็ดขาด แล้วถ้ามีเรื่องอะไรหรือปัญหาอะไรอื่นๆนี่เราจะหวังกันได้อย่างไร และถ้ามีกรณีที่ไม่ชอบมาพากลนี่ คนกรุงเทพฯ แค่ 24% เท่นั้นหรือที่จะมาแสดงความคิดเห็น นี่คือสิ่งที่ผมผิดหวังมากๆ
ไฮ-คลาส : พอจะวิเคราะห์ได้ไหมว่าวัฒนธรรมของคนกรุงเทพฯ ทำไมถึงได้เป็นเช่นนี้
สุทธิชัย : ก็อย่างที่เรามองกัน เพราะหนึ่งเขาคิดว่าส.ส.นี่อยู่ห่างไกลกับเขา คนกรุงเทพฯไม่ได้มีความผูกพันกับส.ส.เหมือนกับคนต่างจังหวัด ไม่ได้เป็นผู้สะท้อนเสียงของเขา เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ การเลือกไม่เลือกไม่มีความสำคัญสำหรับเขา สองก็คือความเห็นแก่ตัวที่สูงมากของคนกรุงเทพฯ ทุกคนอยู่ด้วยตัวเอง ตีนขึ้นมาตอนเช้าถ้าขยะไม่มาถึงหน้าบ้านจะไม่เดือดร้อน ลองสังเกตดู ถ้าตำรวจไม่มาไถบ้านคุณ คุณก็จะไม่โกรธ ถ้ารถเก้บขยะไม่มาเก้บบ้านคุณสามวันคุณก็จะโวยวาย แต่ถ้าไม่มาเก้บข้างบ้านคุณคุณก็ไม่เดือดร้อนแทน มันเริ่มจะเป็นสังคมที่อันตรายเพราะว่าทุกคนเห็นแก่ตัว สมมติว่ากรณีที่เขาทำกันที่อื่นได้เช่นการแก้ปัญหาจราจร หากบอกว่าคนที่อยู่ในเขตนี้ทั้งหมดนี่ต้องใช้รถหมุนเวียนกันอย่างเช่นอาทิตย์นี้ผมขับ ผมก็ไปรับบ้านคุณแล้วผมไปส่งคุณ รถจะได้ลดน้อยลง แล้วขากลับผมก็ไปรับคุณ อาทิตย์หน้าเป็นเวรคุณ คุณก็ไปรับผม แล้วเราก็ไป ที่เมริกาเขาทำ ที่เมืองอื่นเขาก็ทำสำหรับชุมชนาที่อยู่ด้วยกัน มันจะได้ลดจำนวนรถลง คนในกรุงนี่ต้องถึงจุดที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนนั่นแหละถึงจะต้องมาปรึกษากันว่ามันไม่ไหว
ไฮ-คลาส : สภาวะแวดล้อมทางสังคมด้วยหรือเปล่าที่ทำให้คนเห็นแก่ตัว
สุทธิชัย : ใช่ครับ เพราะว่ามันแข่งกันตั้งแต่ชั้นอนุบาลแล้วละครับ อย่างข้างบ้านเข้าไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ลูกฉันเข้าได้แล้ว ไม่เคยมาดูหรือปรึกษากันเลยว่า ทำไมไม่สร้างโรงเรียนใกล้บ้านเพื่อให้ลูกหลานเราได้ไปโรงเรียนใกล้บ้านที่สุด ดีที่สุด ไม่เคยมีใครคิด
ไฮ-คลาส : ที่คุณเน้นอยู่ตลอดว่าปัญหาต่างๆของคนกรุงเทพฯนี่เราจะต้องมานั่งคุยกัน ทีนี้เราจะมีวิธีการคุยอย่างไรกับคนเหล่านี้ ในเมื่อสื่อมวลชนต่างๆก็คุยกับคนกรุงเทพฯทุกวันอยู่แล้ว Community Newspaper
สุทธิชัย : ผมคิดว่าสื่อมวลชนยังไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนั้นนะครับ เรายังไม่มีหนังสือพิมพ์ที่เรียกว่า คือหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ชุมชน ที่สะท้อนความเป็นไปเฉพาะท้องถิ่นหรือเมืองนั้นๆทุกวันนี้เรามีเฉพาะหนังสือระดับชาตินะครับ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ต่างจังหวัดยังทำแบบหนังสือระดับชาติเลย ลองไปที่เชียงใหม่ หนังสือพิมพ์ของเชียงใหม่พยายามที่จะพาดหัวอย่างไทยรัฐหรือเดลินิวส์ ในกรุงเทพฯ ความจริงควรจะมีหนังสือพิมพ์คอมมิวนิตี้ แต่ยังไม่มีใครทำ ผมไม่ทราบเป็นเพราะอะไร เป็นสิ่งที่น่าสนใจ สื่อมวลชนจะต้องเป็นสื่อกลางให้ คนกรุงเทพฯ มีปัญหามากมายที่ต้องถ่ายทอดกัน สื่อความหมายกัน ดังนั้นตอนนี้รายการวิทยุจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วย อย่างจ.ส.100 ก็เป็นสื่อที่ได้ช่วยอย่างมาก ความเห็นอกเห็นใจ ผูกพันกันมันยังมีอยู่ในสังคมไทย เช่นมีการแจ้งเข้ามาว่าคนนี้อยู่ตรงนี้ รถติดมาก อย่ามาทางนี้ ให้เลี้ยงไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งลักษณะเช่นนี้หนังสือพิมพ์ก็น่าจะมี เป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอปัญหาในเมืองอย่างเดียว
ไฮ-คลาส : ในการพัฒนาชุมชนจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง
สุทธิชัย : จำเป็นอย่างยิ่งครับ ถ้าใครทำตรงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลย เราจึงได้ตั้งคำถามว่าทำไมคนมีสตางค์จึงไม่ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขึ้นมา ทำไมนักหนังสือพิมพ์ไม่เคยคิดเรื่องนี้ ทำไมทุกคนอยากจะทำแต่หนังสือระดับชาติทั้งนั้น แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ระดับชาติก็ไม่มีเซคชั่นไหนที่พูดถึงปัญหาท้องถิ่น วิทยุสื่อได้ระดับหนึ่ง ทีวีสื่อไม่ได้เลย ไม่มีช่องไหนเลยที่สื่อให้กับคนกรุง ยกตัวอย่างหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ ไฟไหม้ใหญ่ ตึกชั้นที่ 7 ไฟไหม้อยู่ ที่วีนี่จะต้องทำหน้าที่ทันที โดยการไปตั้งกล้องตรงนั้น แล้วก็โทรศัพท์สายต่างๆโทร.เข้ามานี่ต้องมีศูนย์ข่าวบริการประชาชนเลยว่า ไฟไหม้ตรงนี้ ลูกคุณติดอยู่ตรงนี้หรือไม่ โทรมาที่ศูนย์ ศูนย์ก็จะบริการ ขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่รายงานข่าวตลอด ทีวีเมืองไทยนี่ยังไม่มีสำนึกในการรับใช้ชุมนชนเลย ถ้าละครน้ำเน่าฉายอยู่ หากช่วงนั้นเกิดไฟไหม้ต้องหยุดแพร่ภาพแล้วรายงานเหตุกาณ์สด ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์คุณเห็นมีช่องไหนที่ไปนายงานสดในเหตุการณ์ไหม ไปตั้งกล้องรายงานเหตุการณ์สดกันเลยว่า ใครมีพี่น้องอยู่ถ้ากลับบ้านแล้วให้โทร.กลับด้วย รายงานสดกันเลย ใครต้องการให้ช่วยเหลืออะไร บอกว่าตายกี่ศพบ้างแล้ว เมื่อไม่นานมานี่ที่ตึกเวิร์ลด์เทรดเซ็นเตอร์ของเมริการะเบิด พอระเบิดตูม สถานีโทรทัศน์ทุกช่องของนิวยอร์คไปตั้งอยู่ตรงนั้น แล้วเขขาช่วยคนรอดได้ด้วยวิธีอย่างนี้ คือมีคนติดอยู่ที่ชั้นร้อยกว่า แล้วก็มีทีวีไปตั้งกล้องอยู่ตะรางนั้น เขาก็โทรศัพท์มาที่ศูนย์ข่าวของทีวีช่องนั้นว่าเขาติดอยู่และหาทางออกไม่ได้ ทางศูนย์เขาก็บอกให้อยู่เฉยๆใจเย็นก่อน เขากำลังติดต่อดับเพลิงให้ขึ้นไปช่วยเหลือ แล้วดับเพลิงพอได้ข่าวจากทีวีก็รีบไปช่วยเหลือ คนนั้นก็ติดต่อลงมาตลอดว่าทนจะไม่ไหวแล้วควันเต็มไปหมด น้ำก็ไม่มีรายงานกันสดๆเลย คนที่คุมรายการอยู่ก็ติดต่อกับหมอ หมอก็บอกว่าอย่าได้ไปเอาน้ำนะ เขาก็ได้ยินเพราะว่ามีสายโทรศัพท์อยู่ หมอก็แนะนำตลอด ดับเพลิงก็ขึ้นไปช่วยเหลือได้ ทุกคนเห็นภาพตลอด ว่านี่แหละคือบทบาทของสื่อมวลชนท้องถิ่น อย่างงตอนที่ปักษ์ใต้ของเราเกิดพายุ หากเป็นที่อื่นเขาเอาสถานีทีวีไปตั้งอยู่ศูนย์ข่าวเลย แล้วจะช่วยได้มหาศาลเพราะประชาชนจะรู้ จะเห็นภาพว่าช่วงไหนอันตรายอย่างไร สถานการณ์เป็นอย่างไร ชาวบ้านลำบากอย่างไร จะช่วยเหลืออย่างไร ญาติพี่น้องเขาก็ติดต่อกันได้โดยผ่านสื่อทีวี แต่ของเราทุกอย่างทำเป็นระดับชาติหมด ความจริงกรุงเทพฯ เป็นชุมชนที่เล็กมาก แต่ก็ไม่มี เราเองก็พยายามจะทำนะครับ เช่นรายการปากท้องร้องทุกข์ รายการนิวส์ทอล์ค มีอะไรเราก็จะเป็นสื่อให้
ทุกวันนี้ทุกคนยังต้องทนฟังวิทยุแห่งประเทศไทย เจ็ดโมงเช้า เที่ยงครึ่ง ทุ่มหนึ่ง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีไฟไหม้ใหญ่ ไม่ว่าจะมีเรื่องใหญ่โตเกิดขึ้นที่ไหน กูไม่รู้กูเข้าข่าวนี้ก่อน แล้วก็ข่าวเฮงซวยอะไรก็ไม่รู้ คนดูอย่างเราต้องประท้วง
ไฮ-คลาส : เป็นเพราะรัฐยังผูกขาดสถานีวิทยุและโทรทัศน์อยู่หรือเปล่า
สุทธิชัย : แน่นอน รัฐควบคุมมาตลอดระยะเวลา 60 ปีของประชาธิปไตย รัฐกำหนดว่าจะต้องรายงานข่าวแบบนี้และสื่อมวลชนก็ได้รับการปลูกฝังว่าข่าวระดับชาติเท่านั้นที่จะมาตรฐานที่จะเป็นสื่อมวลชน ไม่เคยนึกเลยว่าข่าวจะต้องรับใช้ชุมนุม ข่าวแบบนี้มีน้อยมากเลย มีแต่ข่าวที่ฮือฮาอย่างเด็กอายุ 12 จูงเด็กอายุ 12 ด้วยกันไปจดทะเบียนสมรส แล้วก็วูบเดียวคนก็ลืม หากเป็นหนังสือพิมพ์ที่ถูกต้อง ต้องติดตามวิเคราะห์เรื่องนี้ให้มันรู้ดำรู้แดงกันไปเลยว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่ ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ไม่พาดหัวแค่สองวันแล้วจริงไม่จริงไม่มีใครรู้ทำให้ทุกคนเกิดความรู้สึกว่านี่มันเสนอข่าวมั่วหรือเปล่า นี่คือความไม่รับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ แล้วคนอ่านก็ให้อภัยด้วย คนไทยไม่เคยประท้วง ไม่เคยด่า ไม่เคยเขียนจดหมายไปท้วงติง ด่ามันหน่อยสิ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มันเฮงซวย เขียนได้อย่างไร ไม่รับผิดชอบ ทุกคนต้องชวนกันเขียนไปรษณียบัตรคนละใบ ไม่กี่ตังค์ส่งกันไปเลย เชื่อผมเถอะว่าไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์นิสต์หรือบก.หนังสือพิมพ์ใหญ่ขนาดไหน เจอจดหมายแบบนี้รู้สึกทั้งนั้น ผมจะบอกให้ที่ผมทำวิทยุ โทรทัศน์หรือหนังสือพิมพ์ก็ดี ถ้ามีจดหมายเเขียนมาวิจารณ์หรือมาด่าผมนี่ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นอย่างไร ผมรู้สึกทั้งนั้น เพราะนี่เป็นเสียงวิจารณ์จากประชาชน แล้วเราจะมาพิจารณาดูว่าเราผิดจริงหรือเปล่า เราต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองหรือต้องอธิบายไหม แต่คนไทยไม่ทำ คนไทยเขียนจดหมายน้อยมาก ทุกวันนี้ทุกคนยังต้องทนฟังวิทยุแห่งประเทศไทย เจ็ดโมงเช้า เที่ยงครึ่ง ทุ่มหนึ่ง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีไฟไหม้ใหญ่ ไม่ว่าจะมีเรื่องใหญ่โตเกิดขึ้นที่ไหน กูไม่รู้กูเข้าข่าวนี้ก่อน จะไม่สามารถตัดนะครับ อย่างตอนที่ไฟไหม้เคเอดอร์นี่ ความจริงรายการปกติมันต้องเลิก แล้วเอาข่าวนี้เข้าไป ไม่มีครับ ไม่ว่าจะฟ้าถล่มดินทลายต้องเอาข่าวทุ่มหนึ่งก่อน แล้วก็ข่าวเฮงซวยอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีคนฟังคนดูที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มเหมือนกลุ่มเพื่อนอานันท์เลยครับ มันต้องรวมกันแล้วช่วยกันเขียนจดหมายไป โทรศัพท์ไปว่า โอยไม่เอาแล้ว รายการนี่ไม่ไหว น่าเบื่อหน่ายลำเอียง ก็ว่าไป หรือที่ง่ายๆที่ว่าอย่างการที่ข่าวทุกช่องเริ่มทุ่มหนึ่งนี่คนดูข่าวนี่เสียบเปรียบ เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบข่าวได้คนดูอย่างเรานี่จะต้องประท้วงแล้ว ว่าทำไมคุณไม่เริ่มช่องหนึ่งทุ่มตรง อีกช่องสองทุ่ม อีกช่องสามทุ่ม ทำไมคุณจะต้องมาเริ่มทุกช่องทุ่มตรงเหมือนกันๆกัน ถ้าเป็นเมืองอื่นเขาต้องประท้วงกัน หมายความว่า โอเค ช่องหนึ่งเริ่มทุ่มหนึ่ง แต่ช่องอื่นมันต้องเปลี่ยนเวลากันบ้าง แล้วทำไมทุกช่องมันต้องเริ่มด้วยข่าวนายกรัฐมนตรี ข่าวผบ.ทบ.ทุกช่อง นายกฯชี้ไม่ออกก็เป็นข่าวนำนี่เป็นเรื่องที่ตลกมาก แล้วคุณเห็นไหมว่าบางทีข่าวนำเลยว่านายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในกรณีนั้น กรณีนี้ แล้วนี่มันจะเป็นข่าวได้อย่างไร มันไม่มีอะไรที่เป็นข่าวก็เอาข่าวอื่นที่มันน่าสนใจกว่าสิมาเป็นข่าวนำ บางทีข่าวอากาศน่าสนใจกว่าด้วยซ้ำไป เช่นว่าจะมีฝนถล่มฟ้าทลายที่ไหนคนจะได้เตรียมรับมือ เห็นไหมว่ามันสำคัญกว่าข่าวที่ว่า วันนี้นายกฯไปเปิดงานที่ไหน เราก็ต้องโทษคนไทยกันเองว่าคนไทยยังไม่พร้อมที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเอง
ไฮ-คลาส : ตามที่คุณพูดมาก็หมายความว่าเราต้องรอให้สังคมไทยถึงขั้นวิกฤติที่สุดเสียก่อนแล้วเราค่อยมานั่งจับเข่าคุยกัน อย่างนั้นหรือ
สุทธิชัย : ก็ดูเหตุการณ์เดือนพฤษภาสิ ต้องเกิดพฤษภาเสียก่อนถึงได้มีการเรียกร้องเรื่องทีวีเสรี ตอนนี้ก็เงียบหายไปแล้ว ถ้าถามประชาขนว่าอยากได้ไหมทีวีเอกชน ผมคิดว่าประชาชนก็จะเฉยๆ ผมเคยพูดไว้ว่าอย่าเลยครับท่านประชาชนอย่าได้เรียกร้อง เพราะว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์นี่จะมีคนตั้งความหวังกับสื่อมวลชนอย่างมากกว่าคุณต้องให้ข่าวเรานะ คุณอย่าหนีไปไหนนะ คุณต้องให้ข่าวเรานะ ถึงแม้ว่าทหารจะบีบคุณนะ คุณต้องทำหน้าที่นี้ คุณจะหนีไปไหนไม่ได้นะ คุณต้องทำหน้าที่นี้ คุณจะหนีไปไหนไม่ได้นะ คุณต้องทำหน้าที่นี้นะเพราะคุณเป็นที่พึ่งของเรา เอาละเราก็ทำหน้าที่ตรงนั้น แล้วเราก็หวังว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงแล้ว ประชาชนจะทำหน้าที่ตรงนั้นต่อไม่ใช่เพื่อเรา แต่เพื่อวงการสื่อมวลชนจะได้มีสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการจริงๆ ปรากฏว่าตอนนี้เงียบไปแล้ว ที่ผมบอกแล้วทีวีมีเนื้อหาของข่าวดีขึ้นไหม วิทยุล่ะ หนังสือพิมพ์ล่ะดีขึ้นไหม ก็ไม่เลย แต่คนทั่วไป ประชาชน คนอื่นหนังสือพิมพ์คนฟังวิทยุก็เฉยๆ จะต้องรอวิกฤตการณ์อีกครั้งหรืออย่าง ไรมันไม่ได้ สังคมจะรอวิกฤตการณ์เพื่อมาแก้ไขปัญหาไม่ได้ ทุกวันนี้เราไม่เคยตระหนัก ตอนนี้ผมเริ่มตั้งคำถามว่าคนชั้นกลางเวลานี้หายไปไหนหมดแล้วก่อนการเลือกตั้งชนชั้นกลางบอกว่าตอนนี้สังคมเราต้องเปลี่ยน เราต้องต่อสู้ คนชั้นกลางบอกว่าเราต้องเอาน้ำดีไปล้างน้ำเน่า นักธุรกิจจะต้องเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โอ้ย…มันไม่มีหรอกครับ ผลปรากฏออกมาเป็นอย่างไร มีนักธุรกิจกี่คนที่เข้ามาทำงานการเมืองจริงๆ องค์กรประชาชนมันไม่แข็งจริง แล้วองค์กรประชาชนมันก็รออัศวินม้าขาวตลอดเวลาเหมือนอย่างที่คุณอานันท์ ปันยารชุนพูด อย่างกรณีสวนลุมพินีกับรถไฟฟ้า ถ้าไม่มีทหารเข้ามาเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามา ประชาชนต้องฆ่ากันหรือเปล่า เราต้องรออัศวินม้าขาวในทุกทุกกรณีหรืออย่างไร ประชาชนกันเองนี่แหละต้องสามารถแก้ปัญหาได้
ไฮ-คลาส : เรามีความหวังมากน้อยแค่ไหนที่จะมีสถานีโทรทัศน์ข่าวสารตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง
สุทธิชัย : อันนี้มันก็อยู่ที่รัฐบาล ผมก็หวังว่ารัฐบาลชุดนี้ที่ได้ก้าวขึ้นมา แล้วก็รู้ปัญหาอย่างจริงจังว่า ถ้าเกิดวิกฤตการณ์อีก ผู้มีอำนาจสามารถที่จะปิดข่าวของวิทยุหรือทีวีได้อีกอย่างนี้นี่จะเกิดอะไรขึ้น แล้วผมคิดว่ารัฐบาลชุดนี้เห็นตรงนี้ แต่ไม่มีความสำนึกจริงๆจังว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้อีกนะครับ แล้วทีวีทุกช่องนี่กลัวทั้งนั้นนะครับ สั่งคำเดียวก็ไม่กล้าออกข่าวแล้ว เพราะว่าอะไร เพราะว่าเรื่องรายได้และความกลัว มันจะมีก็เฉพาะสถานีเอกชนเท่านั้นที่ไม่มีใครกล้าสั่งให้ปิด เพราะว่าจะมีนักวิชาการนักวิชาชีพจริงๆที่กล้าบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงต้องออกให้ประชาชนเห็น แล้วก็มีดาวเทียมที่ไม่สามารถปิดข่าวได้ รัฐบาลชุดนี้หากเป็นประชาธิปไตยจริง ต้องส่งเสริมทีวีเอกชนและทีวีดาวเทียม ทีวีดาวเทียมเมื่อยิงขึ้นไปแล้วนี่มันหยุดไม่ได้ ใครจะปฏิวัติ ใครจะทำชั่วร้ายอย่างไร ดาวเทียมมันสื่อสารได้ทั้งโลก หากมีเทคโนโลยีทางการสื่อสารเช่นนี้แล้ว ประชาธิปไตยจะอยู่ยั่งยืนแน่นอน จะไม่มีใครย่ำยีสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ไฮ-คลาส : หมายความว่าหากเราต้องการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างจริงจังแล้ว เราต้องกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมข่าวสารใช่หรือไม่
สุทธิชัย : ใช่ครับ
ไฮ-คลาส : สังคมข่าวสารโดยตัวของมันจริงๆแล้วย่อมมีข้อเสียหรือจุดบกพร่องอย่างแน่นอน คุณพอจะแยกแยะข้อเสียของสังคมข่าวสารออกมาได้หรือไม่
สุทธิชัย : มันก็อยู่ที่ว่าเราต้องจัดระบบของข่าวสารเป็นเราต้องนำเสนอข่าวสารให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะได้ ไม่ใช่ยัดเยียดกันทุกอย่างเหมือนเช่นที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มันต้องมีการเอดิต มีการตัดต่ออะไรที่ยืดเยื้อไม่เป็นประโยชน์เราต้องตัดต่อ ให้ผู้บริโภคข่าวสามารถไปย่อยเป็นของตนเองได มันอยู่ที่การเป็นมืออาชีพแล้วปัจจุบันรัฐบาลไหนไม่ได้มีการส่งเสริม เพราะฉะนั้น คนที่เก่งจริงนี่ มันจึงน้อย ไม่เกิด คุณทำทีวีเก่งๆทำวิทยุเก่งๆ แต่ไม่มีสถานี ไม่มีเส้นสาย คุณก็เจ๊ง
ไฮ-คลาส : หากรัฐบาลตั้งใจที่จะเปิดโอกาสให้มีทีวีเสรีจริงๆคุณคิดว่าบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนเพียงพอที่จะรองรับกิจการนี้หรือไม่
สุทธิชัย : ไม่พอครับ เราต้องเอาคนจากข้างนอกมาแล้วต้องฝึกคนของเราอย่างรวดเร็ว แต่ว่ามันก็ต้องทำและต้องทำอย่างรวดเร็ว ห้าปีสิบปีก็ต้องฝึกกัน ยิ่งถ้าเราเป็นสังคมข่าวสารนี่เรายิ่งต้องการมาก ต้องการนักข่าวที่ดี ต้องการบก.ข่าวที่ดี นักข่าวที่ดี นักวิเคราะห์ที่ดี นักเขียนที่ดี ช่างที่ดี นักเรียบเรียงตัดต่อที่ดี ฝ่ายศิลป์ที่ดี เอนจิเนียร์ที่ดี อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าสังคมไทยจะก้าวไปสู่สังคมข่าวสาร ทุกอย่างยืนอยู่บนข้อเท็จจริง
ไฮ-คลาส : หากสังคมไทยและสังคมโลกพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมข่าวสารจริงๆเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว สังคมข่าวสาร จะก่อให้เกิดเผด็จการทางวัฒนธรรมหรือเปล่า โดยเฉพาะสังคมที่มีอำนาจต่อรองและควบคุมเทคโนโลยีทางการเสื่อสารและมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง
สุทธิชัย : ก็นี่แหละที่ผมเป็นห่วง แต่เราก็ต้องยอมรับว่า หนึ่งเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคนโนลีมีแล้ว มันก็ต้องพัฒนาต่อไป แล้วการส่งสื่อนี่มันไม่มีพรมแดนแล้ว คุณอยู่ที่ไหนเขาก็มาถึงคุณละ คุณไม่ไปหาเขา เขาก็มาถึงคุณละ คุณตั้งจอรับเขา เขาก็มาถึงคุณ คุณไม่มีข้างบ้านคุณมี ข้างบ้านไม่มี หมู่บ้านอื่นมี เราต้องยอมรับครับ สองความไม่สมดุลกันทางวัฒนธรรมมันยังมีอยู่ เพราะว่าทางด้านโน้นสามารถผลิตอะไรได้หมด แล้วมีวัฒนธรรมที่สามารถที่จะให้เราได้ดูมากกว่า เหมือนกับเศรษฐกิจที่เมื่อก่อนเราเสียเปรียบตลอดเวลา ต้องซื้อที่ญี่ปุ่นซื้อเมริกา แต่เราก็สร้างใช่ไหมครับ มาระยะหลังเราก็มีผลผลิตของเราตอนนี้เสื้อผ้าของเราดีที่สุด อุตสาหกรรมของเด็กเล่นของเราดีที่สุดที่วางขายทั่วโลกนี่เมดอินไทยแลนด์ทั้งนั้น เราถูกบีบมาตลอดในเรื่องเศรษฐกิจเรื่องการเมือง เราถูกอเมริกาบังคับให้เป็นพวกไปรบกับเวียดนาม เอาฐานทัพมาตั้งที่อู่ตะเภาที่นครพนม มันอยู่ที่เราจะสร้างคนของเราขึ้นมาสู้กับเขา คนไทยเรานี่ไม่แพ้ใครนะครับ อย่างการสร้างรายการที่ดีนี่เราทำได้ เรื่องเทคนิคต่างๆนี่เราเก่งมาก แต่ไม่มีโอกาสทำงานพวกนี้มันก็ไม่เกิดสิครับ เราต้องสร้างมืออาชีพขึ้นมา ต่อไปเราก็ยิงดาวเทียมของเราได้ เราก็สามารถที่จะทำรายการเผยแพร่ได้ ดาวเทียมนี่หากเรามีเงินจ่ายเราก็ทำได้แล้ว อย่างของไทยคมนี่ก็ทำแล้ว ที่สำคัญคือสมองในการผลิตรายการ ในเอเชียนี่ผมเชื่อว่าหากไทยเราผลิตรายการเก่งๆ คนเขาก็จะดูแต่ว่ารัฐบาลยังไม่มีวิชั่น ไม่มีโลกทัศน์ที่จะมองเห็นตรงนี้ อย่างที่บอกถ้าโลกแบ่งมาเป็นสามยุคคือ ยุคแรกเกษตรกรรม มาถึงยุคอุตสาหกรรมและปัจจุบันเป็นยุคข่าวสารนี่ หากรับบาลมองเห็นตรงนี้นโยบายของรัฐบาลจะต้องมีเรื่องของข่าวสารเยอะกว่านี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ไม่มีเลย มีอยู่แค่สองสามบรรทัด
ไฮ-คลาส : เป้าหมายสูงสุดในการทำงานข่าวของคุณสุทธิชัยคืออะไร
สุทธิชัย : ก็คือเป็นนักข่าวที่รับผิดชอบมากที่สุด ที่สามารถรายงานข่าวได้รวดเร็วและถูกต้องมากที่สุด สามารถที่จะให้แง่คิด ความเห็นให้คนบริโภคข่าวได้นำไปคิดต่อเอง นี่คือจุดหมายสูงสุด เป็นหมาเฝ้าบ้านที่เห่ายามที่ควรจะเห่า