กิติกร เพ็ญโรจน์…จากหนุ่มวิศวะจุฬาผู้รักเสียงดนตรี สู่ เจ้าพ่อ Reality Show เมืองไทย

Disruption อาจหมายถึงความดับสูญของหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อแบบเก่าๆที่กำลังเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์ แต่คนที่มองอนาคตขาดอย่าง หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์ รู้ดีว่า สิ่งที่จะดำรงอยู่เหนือทุกความเปลี่ยนแปลง คือคอนเทนต์คุณภาพ ที่ไม่ใช่แค่เพียงอยู่รอด แต่กำลังรุ่งโรจน์ ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนอย่างไร ขอให้มีเป้าหมายชัดเจน ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล …

noom002

หลายรายการที่โด่งดังบนผังรายการโทรทัศน์เมืองไทย มาร่วม 2 ทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นรายการ True Academy Fantasia, The Trainer ปั้นฝันสนั่นเวที, LG Entertainer ล้านฝันสนั่นโลก, The One รวมไทยใจเดียวกัน,  Killer Karaoke Thailand,เชฟกระทะเหล็ก ประเทศไทย, MasterChef Thailand และ MasterChef Junior Thailand

มีผู้อยู่เบื้องหลังชื่อ หนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์ เป็นเจ้าแรกๆ ที่ยึดหัวหาดทั้งรายการเพลง และ รายการอาหาร แต่แทบทุกรายการที่เขาปั้นสร้าง นำลิขสิทธิ์เข้ามา ล้วนมีพื้นฐาน “เรียลลิตี้”

กิติกรร่วมงานกับหลายสถานีโทรทัศน์ จนปัจจุบันก่อร่างสร้างบริษัทของตัวเอง ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่แข็งแกร่งอีกรายของวงการโทรทัศน์ แต่ในการรุกคืบแบบไวกว่าแสงของแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้การเป็นเจ้าใหญ่ ไม่ได้การันตีว่า จะเป็นเจ้าที่มั่นคงในพื้นที่เดิมเสมอไป การปรับตัวและไปให้ไวกว่าคู่แข่งจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะพาบริษัทไปสู่เป้าหมาย

ก่อนจะก้าวมาสู่ความสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์อย่างทุกวันนี้ กิติกรผ่านการเคี่ยวกรำในการทำงาน ผ่านการคิดการวางแผนอย่างวิศวกร ซึ่งเขาเคยเอ่ยปากบอกกับครูบาอาจารย์ว่า ขอเกรดสวยๆ แค่พอจบ จะไม่ยึดอาชีพนี้ทำมาหากินแน่นอน

จากหนุ่มวิศวะ สู่นักการตลาด สู่คอนเทนต์ครีเอเตอร์รายใหญ่

รอยทางที่เขาทำงานมา มีความน่าสนใจ มีแง่มุมความคิด และเป็นบทเรียนสอนคนรุ่นหลังได้

“ก่อนหน้านั้นผมทำการตลาดมาตลอด จริงแล้วผมจบวิศวกร แล้วไปเรียนต่อการตลาดที่อเมริกา (Maryville University of ST. Louis) เรียนจบกลับมาทำงานแรกเป็นอาจารย์สอนการตลาด ที่ ABAC

แต่ช่วงก่อนไปเรียนต่อ ผมเคยทำเพลงสมัย คีตา เอนเตอร์เทนเมนท์ สักพักก็เปลี่ยนมาอยู่กันตนา แล้วย้ายตามคุณกิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ เพรสซิเดนต์ ของกันตนา ไปเป็นเพรสซิเดนต์ของไอทีวี ผมก็เลยไปดูเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ก็มาอยู่ไอบีซี มาเป็นซีเนียร์มาร์เก็ตติ้ง ก็มาเป็นยูบีซี อยู่ประมาณ 7 ปี แล้วก็ไปอยู่บีอีซีเทโร ดูแลพวกคอนเสิร์ต รายการทีวีของช่อง 3 หลังจากนั้นค่อยเปิดบริษัท จอย เวนเจอร์ ร่วมกับ ทรู จนเป็นทรูแฟนเทเชีย”

เรียนวิศวกรแต่สนใจการตลาด

“เรื่องนี้เป็นคำตอบที่น่าสนใจ เด็กสมัยนี้ต้องหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร แต่รุ่นผมหาตัวเองไม่เจอ สมัยก่อนพ่อแม่บอกไม่เป็นหมอก็เป็นวิศวะ ก็เลยถูกปลูกฝังมาว่า หมอกับวิศวะ ตอนเรียน เรียนโอเค อ่านหนังสือเยอะมาก แต่ไม่เรียนหมอดีกว่า เพราะหมอเรียนหลายปี วิศวะดีกว่า แต่พอเรียนแล้วมันไม่ใช่เรา

เวลาอยู่ที่จุฬาฯ เราเป็นเด็กกิจกรรม เล่นดนตรี สายเพลง จากตอนเรียนมัธยม อัสสัมชัญ ได้เกรด 3.9 เคยสอบ พรีเอ็นทรานซ์ ได้ที่ 1-2 ของประเทศ คุณพ่อเป็นทหารให้ไปสอบ จปร.ด้วย ก็ติดได้ที่ 2 ของ จปร. แต่สุดท้ายเลือกวิศวะ เพราะเราเรียนอัสสัมชัญมาไม่มีผู้หญิง ก็ขอไปอยู่จุฬาฯ ดีกว่ามีผู้หญิง (หัวเราะ)

ไปอยู่จุฬาฯ ปีแรกเกรดเฉลี่ยตกลงมา 1.48 พ่อแม่ช็อก แต่เราเฉยๆ พ่อแม่อยากให้เอ็นท์ให้ได้ เราก็เอ็นท์แล้วไง เราก็เล่น ทำกิจกรรมทุกอย่าง ไม่เคยอยู่คณะ คณะไหนมีน้องๆ หน้าตาน่ารักเราก็จะไปอยู่ตรงนั้น เพราะเราโหยหา

ไม่ใช่ว่าวิศวะเรียนยากแต่เราไม่ตั้งใจเรียน เทอมแรกปี 1 ติดโปรต่ำ กว่าจะแก้โปรต่ำจบมาได้นี่เลือดตาแทบสาด กว่าจะขึ้นแต่ละชั้นปีให้เกรดมันกลับมาได้

จากจุดนั้น เรียนรู้ว่า เราเรียนวิศวะได้แต่เราไม่ชอบ เราชอบดนตรี ชอบอะไรที่เป็นเอ็นเตอร์เทน เห็นพี่เต๋อเป็นไอดอล (เรวัต พุทธินันทน์) แกทำธุรกิจเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เราเลยรู้สึกว่าธุรกิจเพลงมันหอมหวานเหลือเกิน มันทำให้เราเรียนวิศวะอยู่ 4 ปีแต่ไม่ได้เรียน เอาเวลาไปแต่งเพลง

 

สุดท้ายมีประกวดเพลงโฆษณาเราส่งแล้วก็ได้ชนะเลิศเพลงโฆษณาต่างๆ จึงทำให้รู้จักในวงการเพลง ตอนนั้นเข้าไปร่วมกับบัตเตอร์ฟลาย ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับเพลง พอจบปี 4 เกรดออกมา 2 นิดๆ คุณแม่ให้ไปเรียนต่อที่ ST. Louis คุณแม่อุตส่าห์ส่งมาเรียนที่นี่ เลยฮึดกลับมาเรียน เรียนมาร์เก็ตติ้ง เพราะจะไม่เรียนวิศวะต่ออีกแล้ว ตอนจบบอกอาจารย์ว่า อาจารย์ครับขอผมจบเถอะ ผมจะไม่ทำอาชีพวิศวะ

สาเหตุที่เรียนมาร์เก็ตติ้ง เพราะมี advertising อยู่ในโปรโมชั่น เรารู้สึกว่าโฆษณามันเป็นอาร์ตสายหนึ่ง เราก็เลยเรียน MBA

คราวนี้เลือกเอง และก็พยายามเรียนจบให้เร็ว เพราะที่บ้านไม่ได้มีเงินมากมาย สุดท้ายจบภายใน 16 เดือน ปกติเรียนกัน 2 ปี

แล้วมันจะมีช่วงปิดเทอมก็กลับมาทำเพลงกับคีตาฯ เราชอบเพลง แต่ไม่ได้อยากเป็นนักร้อง ส่วนหนึ่งลึกๆ ใจคืออยากรู้ว่าเขาทำงานกันอย่างไร เพราะเราเริ่มตั้งเป้า เรารู้ว่าไม่ใช่วิศวะแล้ว ว่าเราอยากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เราถึงไปเรียน MBA แล้วมันเป็นฐานการรู้เรื่องธุรกิจ พอเรากลับมาออกอัลบั้มก็ได้เรียนรู้ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์มันเป็นอย่างไร ได้เริ่มเห็น”

noom001

การค้นหาตัวตนของตัวเอง จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะคนที่จะค้นพบตัวตนก็คือตนเอง

“เด็กสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกัน สมัยก่อนมันมีให้เลือกแค่นี้ คณะชั้นนำแค่นี้ คนส่วนใหญ่ก็จะมุ่งไปตามค่านิยมที่ผู้ใหญ่บอก แต่เชื่อว่าเด็กปัจจุบันน่าจะเห็นอะไรมากกว่าผู้ใหญ่ เขาได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่าผู้ใหญ่ สังเกตว่าเด็กสมัยก่อนจบมาอยากทำงานสายอาชีพ แต่เด็กสมัยนี้อยากเป็นฟรีแลนซ์ มันเลยต่างกัน

คือการหาตัวเองให้เจอมันพูดยาก ให้ใครช่วยไม่ได้ มันต้องไม่ติดกับกรอบก่อน พยายามศึกษาว่า เราชอบอะไร สิ่งที่เราชอบมีอะไรบ้าง แล้วค่อยมาดูว่ามันจะสามารถเป็นอาชีพได้แค่ไหน ต้องวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เพราะมันอาจมีอาชีพที่เราดูว่าสวยหรูแต่มันไม่ใช่เรา ต่อให้เราเข้าไปทำมันก็ไม่ดี สุดท้ายต้องดูว่าเราถนัดอะไร และต่อยอดได้แค่ไหน”

แม้เรียนวิศวกรไม่ใช่ตัวตนที่สุด ไม่ชอบที่สุด หากแต่เมื่อเริ่มแล้วต้องจบให้ได้ ซึ่งกิติกร ยึดแนวคิดนี้ในทุกการกระทำ

“ที่ไม่ใช่ตัวตนที่สุดก็เรียนวิศวะนั่นละ ไม่ชอบ แต่ถามว่าจะถอยไหม ก็บอกตามตรงว่าไม่ถอย เข้ามาแล้วต้องเอาให้จบ

ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้า Start แล้วต้อง Finish  Start แล้ว Stop ไม่ได้ เข้าไปแล้วเทอมแรกได้เกรด 1 กว่าๆ ก็ต้องเข็นให้มันจบให้ได้ นี่คือจุดๆ หนึ่งที่ว่า คนทำงาน คนจะประสบผลสำเร็จ มันต้องมีคุณสมบัติตรงนี้ Start แล้วอย่า Stop Start แล้วต้อง Finish  ต้องเรียนรู้แล้วแก้ไขให้มันจบไปก่อน เมื่อจบแล้วค่อยมาดูกันว่าจะทำอะไรต่อ ไม่ทำครึ่งๆ กลางๆ”

พอมาเริ่มงานสายการตลาด เหมือนที่คิดไว้ และปูพื้นต่อยอดสู่ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างที่วาดหวังไว้ได้

“สอนหนังสือ การตลาดขั้นพื้นฐาน ไปพร้อมเป็นมาร์เก็ตติ้งเมเนเจอร์ที่คีตาฯ ที่ ตอนเราเรียนเราสอบผ่านมาได้แต่เราจำอะไรไม่ได้ แต่พอมาสอน มันทำให้เราจำทุกหน้าในหนังสือเล่มที่เราสอนได้ กลายเป็นว่าทำให้เราเข้าใจการตลาดมากกว่าการไปเรียนป.โท เพราะเราสอนเราต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเอาไว้ตอบเวลามีคำถาม มันทำให้เราต้องศึกษาเอง มันทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นทางด้านการตลาด แล้วเราก็ทำงานสายการตลาดเรื่อยมา ก็จะอยู่สายการตลาดเอ็นเตอร์เทนเมนต์นั่นละ เริ่มจากการตลาดค่ายเพลง เสร็จก็มาทำการตลาดบริษัทที่ทำละครทำทีวี เสร็จก็มาทำการตลาดของ pay tv

มาจนถึงจุดที่เราคิดว่า อยากทำมากกว่าการตลาด ก็คือช่วง เอเอฟ ช่วงทำ ทรู วิชั่น ได้มีโอกาสเปิดช่องใหม่ๆ อย่าง true inside , true x-zyte ช่องสารคดีต่างๆ มันเริ่มรู้สึกว่า การทำคอนเทนต์มันสนุกนะนอกเหนือจากการทำการตลาด มันเลยทำให้เราสนใจเรื่องคอนเทนต์ มันเลยเป็นจุดเปลี่ยนให้เราอยากทำคอนเทนต์มากขึ้น”

การตลาดมีหลายสาย แต่ต้องเอนเตอร์เทนเมนต์เท่านั้น จุดเริ่มต้นจากชอบร้องเพลง

“เพราะเรารู้ตัวว่าเราชอบเอ็นเตอร์เทน ถ้าเราชอบโปรดักต์เราก็ทำงานกับโปรดักต์นั้นสนุก แต่ถ้าเราเกลียดเราก็ทำงานได้ไม่สนุก ผมทำเอ็นเตอร์เทนมาสักพักหนึ่ง คุณแม่ก็ถามว่าทำไมไม่ไปทำคอนซูเมอร์โปรดักต์บ้างล่ะ ที่เป็นมาร์เก็ตติ้งจ๋าๆ เลย ก็มีช่วงหนึ่งแวะไปทำไอศกรีมยี่ห้อหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าไม่สนุกก็เลยกลับมาทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์เหมือนเดิม

ผมคิดว่า ความสำเร็จมันไม่ได้เกิดจากการบังคับตัวเองเสมอไป ความสำเร็จมันต้องเกิดจากความที่ชอบในสิ่งที่ทำ คือถ้าทำแล้วชอบ สนุกอยากคิดต่อ งานนั้นจะไม่ใช่งานอีกต่อไป งานนั้นจะกลายเป็นงานอดิเรกที่เราชอบ แต่ถ้าเราไม่ชอบก็จะคิดต่อได้ลำบาก ก็จะไม่สำเร็จ

ถ้าจะทำอะไรให้สำเร็จก็ต้องสำรวจตัวเองว่า 1.เราถนัดอะไร แล้วเราต่อยอดสิ่งที่เราถนัดได้แค่ไหน 2. สิ่งที่ทำเราชอบมีความสุขที่จะคิดมันไหม มีความสุขที่จะอยู่กับมันไหม ถ้ามีความสุขมีโอกาสที่จะสำเร็จ ถ้าอยู่แล้วเบื่อก็ไม่สำเร็จหรอก ต้องดู 2 อย่าง สุดท้ายงานมันต้องทำให้เราอยากคิดต่อ”

จุดเริ่มต้น การทำคอนเทนต์ มีโรลโมเดลจากรายการดังของต่างประเทศ และความสนุกแบบเรียลลิตี้ หากแต่ความสำเร็จอีกที่หนึ่ง ไม่ใช่ความสำเร็จในทุกที่

“โชคดีที่เราทำที่ true vision เลยได้เห็นรายการต่างประเทศเยอะ ทำให้เรารู้จักกับบริษัทที่ทำคอนเทนต์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น HBO, Discovery Channel , Fox รวมไปถึงบริษัทที่ขายฟอร์แม็ตซ์รายการ ทำให้เราเข้ามาอยู่ในแวดวงคอนเทนต์ต่างประเทศ

เราคิดว่า แทนที่จะทำรายการก๊อปกันไปก๊อปกันมาในประเทศไทย ทำไมเราไม่เอารายการที่อยู่ในโลกที่น่าสนใจมากๆ แต่คนไทยยังไม่มีโอกาสได้ดู มาทำในประเทศไทย ก็เลยเป็นจุดที่เราอยากจะทำ มีบางส่วนที่ซัคเซส บางส่วนก็เฟล

เวลาเอามาก็ต้องดูว่าเหมาะกับปะเทศไทยไหมควบคู่กันไป เพราะวัฒนธรรมมันต่างกัน สิ่งที่เราจะดู คือฟอร์แมตซ์มันมีความน่าสนใจแค่ไหน มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็ต้องนำฟอร์แมตซ์นั้นมาปรับการนำเสนอให้ถูกจริตคนไทย

คนดูมีพัฒนาการตลอดอยู่แล้ว ถามว่าคอนเทนต์สมัยก่อนกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร มันค่อยๆ เปลี่ยนไป คนทำก็ต้องปรับตามอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างสมัยก่อน รายการวาไรตี้เข้ามาเมืองไทยเจ๊งหมด เพราะคนดูยังไม่เข้าใจ แต่สมัยนี้กลับรับได้กับดราม่าที่เกิด เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

สมัยก่อนมีรายการบางรายการที่พยายามข้ามเส้นดราม่า อย่างรายการ กำจัดจุดอ่อน The Weakest Link ช่วงนั้นคนรับไม่ได้เลยที่ไปว่าผู้เข้าแข่งขัน กลายเป็นปัญหาเต็มไปหมด แต่สมัยนี้ทำเป็นเรียลลิตี้ถ้าทำนิ่งจะไม่มัน ไม่สนุก มันต้องพูดจิกกัดตรงไปตรงมากันได้ คนที่ดูคอนเทนต์เขาพัฒนา เราก็ต้องปรับตาม

ตอนนี้รายการประเภทเรียลลิตี้ถูกยอมรับมากขึ้น น่าจะเป็นกระแสต่อเนื่องได้อีก คนดูสมัยนี้ชอบอะไรที่จริงมากขึ้น เห็นความรู้สึกที่จริงมากขึ้น”

ผลิตคอนเทนต์มาตั้งแต่มีคู่แข่งไม่กี่ช่อง ไม่กี่รายการ แต่ปัจจุบันตอนนี้มีคอนเทนต์หลากหลายไปหมด แถมยังมีแพลตฟอร์มที่นำเสนอคอนเทนต์หลากรูปแบบอีก ที่ดูจะเขย่าวงการโทรทัศน์มากที่สุด คือ แพลตฟอร์มออนไลน์ และ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ รุ่นใหม่ ที่กลายเป็นเจ้าของช่อง เจ้าของรายการ คิดทำคอนเทนต์ขึ้นมาเองโดยคนไม่กี่คน

“การทำคอนเทนต์ พอมีคู่แข่งเยอะก็ยากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ทีวีแตกต่างกันเยอะมาก ซึ่งเราต้องแตกต่างจากคู่แข่ง ถ้าเราเหมือนคู่แข่งเราเจ๊งแน่ มันถึงทำให้เราเลยมุ่งมารูปแบบรายการที่เป็นเรียลลิตี้เป็นหลัก เพราะคนในไทยที่ทำเรียลลิตี้มีไม่กี่ราย

จุดแตกต่างจุดที่สอง เราเน้นคอนเทนต์ที่เป็นฟู้ด  ถ้าคอนเทนต์ฟู้ดเราถือเป็นเจ้าที่ใหญ่ที่สุด โปรดักต์ฟู้ดมีหลากหลายพร้อมเป็นสปอนเซอร์เราไม่เลือกเจ้าอื่น

ข้อที่สาม คุณภาพ เรายิ่งต้องทำให้คุณภาพเราเกิดความแตกต่าง ทีวีสมัยนี้เกิดช่องเต็มไปหมด ทำให้รายได้ของแต่ละรายการลดลง และหลายรายการลดคอสต์เพื่อให้อยู่รอด แต่จุกแตกต่างทีเราสวนทาง คนอื่นลดคอสต์ เราเพิ่ม เป็นที่มาของ มาสเตอร์เชฟ ลงทุน 60-70 ล้านต่อ 1 ซีชั่น พอมีคู่แข่งเยอะๆ ต้องหาจุดแตกต่าง

ตอนนี้คู่แข่งของเรา เรามองไปที่รายการในทีวี คนที่ถือกล้องแค่กล้องเดียว คนละแพลตฟอร์ม แต่เป็นคู่แข่งทางอ้อมกันอยู่ ยังไม่ใช่คู่แข่งทางตรง จุดยืนเวลานี้เราทำทีวีอยู่ ทำให้ดีที่สุด สู้กับคู่แข่งทีวีทั้งหมดที่มีอยู่

ส่วนออนไลน์เรามานั่งคิดว่า เราจะทำอะไรกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เราจ่ายเงิน 70 ล้านเพื่อสู่กับคนทำออนไลน์ไหม ไม่ใช่ แต่เราใส่เงิน 70 ล้าน เพื่อสู้คนทำทีวี เราต้องดีที่สุดในไลน์ฟู้ด

ออนไลน์เขาถือกล้องเดินถ่ายใช้เงินไม่กี่พัน เราก็ทำ แต่ไม่เอาสิบล้านมาสู้ เช่น เชฟกะทะเหล็ก เราเอาเชฟกะทะเหล็กมาทำคลิปทำอาหารสอน ก็ได้สปอนเซอร์ มาอยู่ในเฟสบุ๊ค ตัวนั้นไปแข่งกับออนไลน์ ต้องเลือกว่าเราแข่งกับใคร เราใช้อะไรแข่ง”

มุมมองต่อ ออนไลน์แพลตฟอร์ม ในบทบาทนักการตลาด และ คนทำคอนเทนต์ 

“สำหรับผมสุดท้ายทีวีดรอป ออนไลน์ต้องขึ้น แต่ทีวีไม่สูญ มันไม่มีทางที่จะตาย ออนไลน์ขึ้นแน่ๆ สิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ไม่มีวันตายคือ คอนเทนต์

ทีวี ออนไลน์ คือ แพลตฟอร์ม เราต้องมีโพสิชั่นของเราเองเป็นอะไร เราเป็นคอนเทนต์ บริษัทเราไม่ได้บอกว่า เราทำทีวี แต่เราทำคอนเทนต์ คอนเทนต์เราอยู่ได้ทั้งทีวี และ บนออนไลน์

ปัจจุบันทำไมเรายังไม่ทุ่มอออนไลน์ ทั้งๆ ที่มันขึ้นจริง เพราะรายได้ที่มาจากออนไลน์ โฆษณาสินค้าต่างๆ การลงเงินยังสู้ทีวีไม่ได้ เชื่อว่าในอนาคตสปอนเซอร์จะลงงบที่ออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้สรรพกำลังที่มี ทีมงานที่มี เราโฟกัสที่ทำรายได้ชัดเจนก่อน”

ชูคอนเทนต์อาหาร เพราะยังเล้งเห็นโอกาสของการเติบโต และ อาหาร คือ passion

“ตอนนี้ฟู้ดเป็นอันดับหนึ่งของบริษัท อันอื่นเป็นรอง เราทำอะไรได้หมดเลย format ไหนน่าสนใจเราทำ และในอนาคตเราก็จะมีอีกหลายรายการเกี่ยวกับอาหาร

ผมชอบเพลง กับ อาหาร แต่ผมชอบทำอาหารที่ลูกและเมียไม่ชอบกิน เป็นเรื่องที่น้อยใจมาโดยตลอด เพราะผมชอบนำอะไรที่มีในตู้มาจับทำผสมกันหมด ถ้าถามว่า ผมเป็นคนประเภทไหน ผมมองว่า ผมเป็นคนประเภทครีเอทีฟ ชอบคิด ชอบเอานั้นนี่มาผสมกัน ให้เรานั่งทำอาหารดั้งเดิมเราทำไม่สนุก
ที่เลิกทำรายการเพลง มาทำรายการอาหาร เพราะรายการเพลงมันดรอป เราทำสักพักหนึ่งคนทำเต็มไปหมดเลย ตอนนี้เดินไปหาเอเจนซี่เขาไม่อยากฟัง แล้วสิ่งที่เราชอบนอกจากเพลง คือ อาหาร มาเริ่มต้นทำรายการอาหารเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คือ เชฟกระทะเหล็ก เป็นฟอร์แมทอาหารรายการใหญ่รายการแรก
รายการอาหารตอนนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้น กำลังเติบโต แต่แน่นอนในอนาคตจะดรอป คนทำคอนเทนต์ยึดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ต้องมองเทรนด์ อนาคตไปทางไหน แต่สุดท้าย ผมก็ทำในสิ่งที่ผมสนใจถึงจะไปได้ดี

อนาคตที่มาแน่ๆ เลย แต่ผมยังหา format ไม่เจอ คือ เกม รายการที่เกี่ยวกับเกมต่างๆ รายการทีวีผสมกับการเล่นเกมออนไลน์ ระหว่างการทำงานเราก็ดูไปเลยเรื่อยๆ  แต่ ณ เวลานี้เรายึดหัวหาดฟู้ดแล้ว”

อุปสรรคในการทำงาน ส่วนมากคือ คน

“หลักๆ คือทีมงาน เพราะงานแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน สำหรับสายทีวี คนทำคอนเทนต์จะมีคนในวงจำกัด ที่สามารถทำได้ดี บางสายงานจะมีคนเก่งเยอะ บางสายงานมีคนเก่งน้อย มองในสายคอนเทนต์ เรียลลิตี้ คนทำรายการประเภทนี้ยังมีอยู่น้อย ชาเลนจ์คืออะไร เราต้องสร้างทีม เคยหลายๆ ครั้งที่พยายามรับคนมาจากบริษัทอื่น อาจจะไม่ซัคเซสเท่าที่ควร เพราะเขาโตมาจากสายอื่น มาทำแบบนี้ไม่ตรง เลยต้องสร้างคนเอง ค่อยๆ พัฒนาทำให้ได้แต่ละจุด ซึ่งใช้เวลา คือข้อยากของการทำงาน”

ตั้งแต่ทำงานมา มีองค์ความรู้วิศวกรมาช่วยโดยไม่รู้ตัว

“เรื่องตัวเลข การคำนวณ สุดท้ายการทำธุรกิจตกเลขไม่ได้ การคำนวณสำคัญที่สุด การเรียนวิศวะทำให้เรามีตรรกะในความคิด มีแอคชั่นแพลน ระหว่างทางต้องทำ 1 2 3 4 อะไร สอนให้เราคิดอย่างมีระบบ

มองในแง่ของงาน ถ้าเราตั้งเป้าหมายที่ดี เราจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ถ้าเราไม่ได้ตั้งเป้าเราจะสเปะสะปะไร้ทิศทาง

ทุกวันนี้ประสบความสำเร็จไหม สำหรับตัวเรา เราแฮปปี้ แต่เราประสบความสำเร็จเมื่อเทียบกับคนอื่นไหม ไม่ แต่เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่”

ให้รางวัลตัวเองบ้าง

ทำงานจนทุกอย่างเป็นระบบ สามารถวางมือได้ในจังหวะยาวๆ ความสนใจตอนนี้จึงมุ่งไปที่การสะสมรถโบราณ เล็งการณ์ว่าเป็นการลงทุน หากแต่ลึกๆ คือกิเลสนี่เอง

“ช่วงนี้บ้ารถโบราณ ซื้อรถมารีโนเวท รีสโตร์ รื้อเครื่องออกมา จนรถ 50 ปี วิ่งได้ ทำสีอินทีเรียจนสวย ตอนนี้มีอยู่ 2 คนที่เป็นรถโบราณ 1969 Benz 280SL Pagoda และ 1970 Rolls Royce Silver Shadow

พวกนี้มันต้องดูให้เป็น รถโบราณราคาขึ้นเรื่อยๆ  ดูอายุของมัน รถโบราณที่ราคาขึ้น ประมาณ 30 ปี ถ้าซื้อใหม่ราคาจะตกๆ อายุ 30 ปี ถ้าเป็นรุ่นที่ใช่ราคาขึ้น แต่พอถึง 50 ปี ราคาจะเริ่มลง ซื้อรถโบราณจะซื้อแบบชอบอย่างเดียวก็เจ๊งเหมือนกัน ผมชอบรถ 30-40 ปี มันดูกึ่งเก่ากึ่งใหม่ มันจะคลาสสิก

ผมก็มองเป็นการลงทุนประเภทหนึ่ง แต่ภรรยาผมไม่เข้าใจ (หัวเราะ) ผมเองก็ยังคิดว่าแพงจนเกินไป แต่ยังหลอกตัวเองว่ามันคือทรัพย์สิน มันคือการลงทุน นอกจากนี้ ก็ไม่ค่อยวางแผนการเงินสักเท่าไร มีกองทุน หุ้นนิดหน่อย

สำหรับผมคิดว่า เราลงทุนกับสิ่งที่เราทำ เราพยายามทำงานให้ดีที่สุด ทำวันนี้ดีให้สุด เราก็มองในมุมมองความเสี่ยงของความลงทุน ในขณะเดียวกันวิเคราะห์ความเสี่ยง คงทำงานไปเรื่อยๆ

จุดสุดท้ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนอยากสำเร็จแบบนี้ มีเงินกองเท่านี้ บางคนไม่ใช่ ของผมทำยังไงให้ผลงานออกมาดีที่สุด ให้คนดูชอบกับสิ่งที่เราทำ มีเงินพอประมาณ saving เราได้

สุดท้ายบั้นปลายอยากทำอะไร ผมไม่อยากทำงานจนวันตาย ผมเคยเห็นผู้ใหญ่อายุจะ 70 แล้ว ยังรับโทรศัพท์คุยงานทุก 5 นาที ผมไม่อยากเป็นแบบนั้น ผมอยากหยุดในจุดที่เราหยุดได้”

จุดสุดท้าย ความสุขที่ปรารถนา คือ ความสงบ และ การเตรียมตัวก่อนตาย

“ผมอยากไปบวช ตอนนี้ผมหลุดออกจากวัดมาพอสมควร พอเราทำงานก็จะหลุด สุดท้ายผมเชื่อว่า ชีวิตมันไม่มีอะไร สุดท้ายคนอายุเยอะ สิ่งที่คิดเยอะ พอเถอะ เตรียมคิดชีวิตหน้าได้แล้ว ทำไงให้คุณเตรียมตัวตาย

ผมคิดเรื่องนี้ได้ตอนพ่อเสีย ปี 2557  เราอยากทำให้พ่อไปสงบที่สุด ก็เชิญคุณตานักปฏิบัติธรรมท่านหนึ่งมา ซึ่งคุณพ่อก้ไปอย่างสงบนะ แต่ใจเราคิดว่าเราทำไม่ได้เต็มที่ พอพ่อเสียบอกแม่ สิ่งที่ขออย่างเดียวจากนี้ แม่จะทำอะไรก็แล้วแต่ ขอให้แม่เตรียมตัวตาย แม่ผมชอบเต้นรำ แม่เต้นเลย ขออย่างเดียวแม่ต้องเตรียมตัวตาย

หลังพ่อเสียผมไปบวชอีกครั้ง อยากบวชให้พ่อ กลายเป็นว่า พ่อได้เราก็ได้ ทำให้เรามาศึกษาเพิ่มเติมต่อ

การเตรียมตัวตายเป็นเรื่องสำคัญ ผมเริ่มทำให้แม่เข้าวัด เต้นรำด้วยเข้าวัดด้วย ผมจะกินข้าวกับมีทุกเที่ยงวันจันทร์กับพุธ จะคุยเรื่องนี้ นั่งสมาธิถึงไหนแล้วแม่ คุยเรื่องการเตรียมตัวตาย เพราะจิตสุดท้ายของคนตายเป็นสิ่งที่ให้เกิดภพใหม่ ที่เราทำมาทุกหมด มันเพื่อจิตสุดท้ายเสี้ยววินาทีเดียว จิตเราเป็นกุศลหรืออกุศล

ถ้าผมหยุดงานได้จริง ผมก็อยากที่จะอยู่อย่างสงบ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนที่สุด พอใกล้ตายมันเหมือน random ถ้าเราทำกุศล 60% ทำอกุศล 40% โอกาสที่ 60% จะเห็นเยอะ ถ้าเราทำกุศลเยอะ 80 % ก็ขึ้นมาเยอะ แต่ใช่ว่า 20 % จะไม่มาตอนก่อนตาย คนตายเหมือนขว้างไม้ขึ้นบนอากาศ ไม่รู้หัวหรือหางจะลง สิ่งที่เราทำมาทั้งชีวิตมันก็ random

บุญมาแทนบาปไม่ได้ แต่มัน dilute กันได้ เหมือนเรามีหมึกหยดหนึ่งในน้ำ เราเติมน้ำสะอาดไปเรื่อยๆ หมึกมันก็ยังอยู่แต่มันก็จะเจือจาง ทำให้น้ำดำกลายเป็นเทา กลายเป็นใสได้ แต่หมึกยังอยู่ การทำดีมากๆ โอกาสตายใสๆ ก็มีอยู่ อย่าคิดว่าในอดีตทำบาปอะไร คิดแค่ว่าปัจจุบันจะทำดีอะไร คิดแต่เรื่องชั่ว มีแต่เจ๊ง มีแต่หม่นหมอง ให้ทิ้งเลย เอาเรื่องใหม่”

————————————————

Text: มัลลิกา นามสง่า

Related contents:

You may also like...