เพราะส่วนผสมหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกความสำเร็จล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้าน หรือธุรกิจเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นขึ้นภายในโรงรถหน้าบ้าน ก็คือ ‘ความรัก’ ซึ่งหมายถึงทั้งความรักในงานที่ทำของเจ้าของธุรกิจเอง และความรักที่เป็นแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง ทำให้มีกำลังใจ มีความมุ่งมั่น อดทน สามารถฝ่าฟันทุกอุปสรรคมาสู่จุดหมายความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจ
เช่นเดียวกับแบรนด์ ‘ยานณกาล’ งานเซรามิคสัญชาติไทย ที่ก่อตั้งโดย คุณกรินทร์ พิศลยบุตร และ คุณพชรพรรณ ตั้งมติธรรม สองศิลปินรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งคู่คิดและคู่ชีวิต ผู้จับมือกันสร้างธุรกิจเล็กๆของพวกเขาด้วยความรัก จนเติบโตกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางระดับสากล
คุณกรินทร์ และ คุณพชรพรรณ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นเดียวกันจาก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณกรินทร์ เลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านไฟน์อาร์ต คุณพชรพรรณเรียนต่อปริญญาโทด้านแฟชั่น โดยในช่วงจบใหม่ๆแต่ละคนก็แยกย้ายกันไปทำงานหาประสบการณ์ คุณกรินทร์ไปทำงานทั้งด้านกราฟิก งานโปรดักส์ และงานเซรามิค ส่วนคุณพชรพรรณได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง จนกระทั่งคุณกรินทร์ตัดสินใจที่จะเปิดสตูดิโอสร้างสรรค์งานเซรามิคของตัวเอง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆในพื้นที่โรงรถที่บ้าน หลังจากผ่านการลองผิดลองถูกมามากมาย ก็มีออร์เดอร์เข้ามาจากต่างประเทศ เป็นสัญญาณความสำเร็จซึ่งมาพร้อมกับความจำเป็นที่จะต้องขยายรูปแบบกิจการ จากที่เคยทำเล็กๆ มาสู่รูปแบบธุรกิจที่มีระบบโครงสร้างชัดเจน เพื่อรองรับความเติบโตอย่างไม่หยุดนิ่ง คุณพชรพรรณจึงก้าวออกมาจากงานแฟชั่นที่ทำอยู่ เพื่อร่วมแรงร่วมใจกับคุณกรินทร์ในการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจของ ‘ยานณกาล’ อย่างเต็มตัว
“ชื่อแบรนด์ ยานณกาล มาจากการที่อันดับแรกอยากได้ชื่อภาษาไทย ที่เกี่ยวกับความหมายของเวลา การเปลี่ยนแปลง ผมก็เลยให้พี่สาวตั้งให้ ‘ยาน’ หมายถึง พาหนะที่นำไปสู่จุดหมาย ‘กาล’ ก็คือ เวลา ‘ยานณกาล’ ก็คือ พาหนะที่พาเราเปลี่ยนผ่านเวลา เป็นสเปซที่เคลื่อนไหว
“รูปแบบของงาน คือความเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือต้นไม้ มันสื่อสารกับคนง่าย เพราะคนสามารถเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ง่าย ก็เลยเอาตรงนี้มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ โดยชิ้นงานของเราสามารถเปลี่ยนบรรยากาศในสเปซนั้นๆได้ จากองค์ประกอบรวมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เท็กซ์เจอร์ เทคนิค ฟอร์ม ยกตัวอย่างจาก ชุดแรกที่ทำให้ดูมันขยับ จะเป็นนกกับผีเสื้อ แทนที่สเปซมันนิ่ง เราเอาของที่มีมูฟเม้นท์เข้าไป มันช่วยให้พื้นที่มีชีวิตมากขึ้น ยิ่งถ้าเราใส่เข้าไปหลายอย่าง บรรยากาศของพื้นที่ก็จะยิ่งเปลี่ยน” คุณกรินทร์บอกเล่าถึงคอนเซ็ปต์ในการออกแบบชิ้นงานต่างๆของแบรนด์ยานณกาล ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ก่อนจะพาเราย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์
“ตอนที่ผมเพิ่งจบใหม่ๆ ก็ไปตะลอนหาอยู่ว่าชอบอะไร ได้ลองทำกราฟิก ทำโปรดักส์ และได้ไปเจองานทำเซรามิคของแต่งบ้าน เป็นงานที่ชอบครับ ได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ทุกขั้น ตั้งแต่ออกแบบไปจนถึงการสั่งโรงงานผลิต ได้ลองทำทุกอย่าง ทั้งทำแคตตาล็อค ถ่ายรูปขายของ แต่เผอิญทำได้พักหนึ่งโรงงานบริษัทปิดตัว ผมก็เริ่มเคว้งคว้างว่าอยากทำอะไร จริงๆสนใจศิลปะเลยคิดว่าไปต่อไฟน์อาร์ท ฝันอยากเป็นศิลปินโดยที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ด้วย เลยไปเรียนต่อ กลับมาก็ได้ทำที่ตัวเองใฝ่ฝัน แสดงงาน และค้นพบว่าจริงๆการเป็นศิลปิน ก็ไม่ต่างจากทำงานอย่างอื่นที่เราเคยปฏิเสธมันมาก่อน ต้องมีการพรีเซ้นท์ตัวเอง มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์เราให้สามารถเลี้ยงชีพเราได้ เลี้ยงชีพคนอื่นได้ด้วย
“จุดเริ่มต้นตอนที่เรียนเซรามิค ผมอยากทำงานในรูปแบบสตูดิโอเล็กๆ อยากทำงานที่ตัวเองทำเองแล้วขายเลี้ยงชีพได้ ตอนแรกคิดง่ายๆเหมือนขายของ แต่โชคดีที่มีประสบการณ์ทำงานในโรงงานเซรามิค ได้ความรู้ที่สามารถนำมาเซ็ทอัพทุกอย่าง ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ทำงานจริงทุกขั้นตอน ได้เรียนรู้เรื่องการขาย ลูกค้าเป็นใคร เจอบายเออร์ ไปออกบูธ ทำบูธเอง ทำทุกอย่างเอง รู้ไอเดียรวมๆว่าทำยังไง เลยเริ่มมาเซ็ทที่บ้าน ตอนเริ่มก็ไม่ได้คิดว่าอยากทำเอ็กซ์ปอร์ต อยากทำแค่พออยู่ได้ และมีเวลาพัฒนางานไปเรื่อยๆ ด้วยความที่เราเป็นคนกลัวความกดดัน คิดว่าการไปเช่าที่เพื่อทำงาน อาจจะเครียด ต้องหมุนจ่ายเงินเดือน ค่าเช่าที่ ความคิดสร้างสรรค์จะหายหมด เลยเริ่มจากเล็กๆ ค่อยๆเติมไปเรื่อยๆดีกว่า ถ้าเครียดสุดท้ายจะไม่เอาแล้ว ไปทำอย่างอื่นเลย ก็เลยขอทำในโรงรถที่บ้าน และที่บ้านก็สนับสนุน ถ้าสังเกตพื้นที่บ้านจะถูกกลืนไปเรื่อยๆครับ (ยิ้ม)
“ตอนเริ่มต้นก็เหมือนจะเป็นดวงนะครับ วันหนึ่งผมเดินผ่านหน้าบ้าน ทักทายกับเพื่อนบ้านตามปกติ คุณป้าบ้านข้างๆท่านนั่งกินข้าวอยู่หน้าบ้าน ถามว่าผมทำอะไร ผมบอกว่าจะทำสตูดิโอเซรามิค คุณป้าก็บอกว่า ที่บ้านมีเตา มีสารเคมีอยู่ มาขนไปสิ เขาก็ให้มาใช้ฟรีๆเลย เขาไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เริ่มมาจากเตาเล็กๆค่อยๆงอกมาเรื่อย” คุณกรินทร์เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้น ก่อนจะเสกสรรโรงรถที่บ้านมาเป็นสตูดิโอสุดเก๋ ที่กำเนิดแบรนด์ ‘ยานณกาล’ และที่มาอันสุดบังเอิญอย่างเหลือเชื่อของเตาเผาเซรามิคเครื่องแรกที่เป็นตำนานของแบรนด์ในปัจจุบัน
สินค้าของยานณกาลเริ่มเข้าสู่ตลาดด้วยการออกงานแฟร์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการผลิตสินค้าไปออกงานครั้งแรก เป็นทั้งความผิดหวัง และเป็นทั้งสิ่งที่จุดประกายความสำเร็จให้กับแบรนด์ในขณะเดียวกัน เพราะงานที่ออกมาจากเตาเผาพังเสียหายทั้งหมด แต่เนื่องจากจองบูธงานแฟร์ไว้แล้ว คุณกรินทร์ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาวะเครียด ตัดสินใจพลิกสถานการณ์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประกอบกับได้กำลังใจจากคุณพชรพรรณผู้เป็นคู่คิด ก็เลยรวบรวมเอาผลงานที่อยู่ในสภาพที่เรียกว่า ‘พัง’ ไปจัดโชว์ในรูปแบบการนำเสนอลำดับกระบวนการผลิตงานทั้งหมด แทนการแสดงผลงานขั้นสำเร็จซึ่งพวกเขาไม่มีอยู่ในมือ คุณพชรพรรณเล่าถึงช่วงเวลาระทึกที่ผ่านมาด้วยรอยยิ้ม แม้ในความเป็นจริง ณ จุดนั้นคงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากจนไม่มีใครยิ้มออก
“ตอนนั้นเป็นแบรนด์ของเขาอยู่แล้ว เราแค่ให้คำปรึกษา นี่ก็เครียด ยืนโมโหหน้าบ้านว่างานพัง เพราะงานแฟร์จะมีพรุ่งนี้แล้ว เราก็ได้แต่สนับสนุนว่า บูธก็เช่าแล้ว ของก็มีเท่าที่มี ก็ให้กำลังใจ แต่ปรากฏตอนไปเขาก็แก้ปัญหาได้ โดยเขาไปวางให้ดูคล้ายกับการโชว์กระบวนการทำงาน มันก็ดูดีไปด้วยซ้ำ มีสตอรี่ กลับกลายเป็นบูธที่ดูน่าสนใจ เมื่อเทียบกับบูธอื่นๆ ลูกค้าที่เดินมาเขาก็จำเราได้ เป็นของแปลก ก็เข้ามาดูเยอะเพียงแต่เขาเข้ามาคอมเม้นท์เป็นส่วนใหญ่ว่า ดี ทำต่อ ก็ประมาณนั้น สุดท้ายลูกค้าที่เข้ามาคอมเม้นท์หลายคนกลับกลายเป็นลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดสามเจ้า ที่เป็นดิสทริบิวเตอร์ เพราะว่าบายเออร์ในเทรดแฟร์ปกติ ถึงเขาเห็นปุ๊ปแล้วชอบ แต่เขาจะไม่สั่งเลย ต้องรอดูก่อนว่าบริษัทนี้ยังอยู่นะ ทำงานได้ ยังอยู่รอด แปลว่าสั่งได้ ส่วนใหญ่บายเออร์เป็นอย่างนั้น ยิ่งคนญี่ปุ่นเขายิ่งต้องเห็นเราหลายๆครั้งก่อน เมื่อเห็นว่าเรามีคุณภาพดีขึ้น บูธเราค่อยๆใหญ่ขึ้นนะ เขาก็กล้าที่จะสั่ง”
สำหรับบางคน ความล้มเหลวในครั้งแรกๆอาจทำให้ถึงขั้นเลิกราไปทำอย่างอื่น แต่เมื่อเป็นงานที่รัก คุณกรินทร์ผู้ไม่เพียงจะสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทว่ายังใช้เป็นทั้งบทเรียนและแรงขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
“การไปออกงานแฟร์ตอนแรกเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ประสบความสำเร็จคือมีลูกค้าเข้ามาดู แต่ไม่ซื้อ ที่บอกว่าเป็นลูกค้า บางส่วนเป็นลูกค้าปัจจุบัน เขาก็จะเข้ามาพูดว่า เขาชอบมากเลย ชอบทุกอย่าง เขาก็แนะนำว่าไปเล่าเรื่องให้จบ เข้าใจว่าตอนนั้นเหมือนเริ่มมาเป็นส่วนๆแล้ว ด้วยงานค้างด้วย เวลาไปดิสเพลย์มันก็จะกระจัดกระจายนิดหน่อย เขาบอกอันนี้มันดีก็ไปออกแบบมาให้จบ เขาก็ออกตัวว่า เขาไม่ใช่ลูกค้าผมหรอกเพราะเขาสั่งทีละเยอะๆ ลูกค้ามองว่าเราเป็นสตูดิโอเล็กๆมองว่าสเกลนี้ทำเล็กไม่ได้สำหรับเขา เขาก็ถามข้อมูลว่าผลิตได้เท่าไหร่ เราก็ตอบความจริงว่ามีอยู่สามคน ตอนนั้นยังเป็นเตาจิ๋วอยู่ แผนแรกจริงๆตรงนี้ไม่ได้จะผลิตมาก แค่จะทดลองการผลิตที่สตูดิโอที่บ้านแล้วก็ไปทำกับโรงงานข้างนอก คือเอากระบวนการของเราไปทำกับโรงงานในสเกลใหญ่ได้ นี่คือแผนเพ้อฝันตอนแรก ข้อดีคือ เมื่อเจอลูกค้าประมาณนี้ เจอคนตำหนิ มันสอนเราหลายอย่าง ทำให้รู้ ส่วนตัวผมไม่เคยขายของเลยพูดไม่ค่อยเป็นเวลาขาย บางทีเราพูดความจริง อย่างเวลาที่เราตอบว่า ไม่รู้ มันเหมือนการตอบแบบกวนๆ ลูกค้าอาจจะรู้สึกว่าเป็นศิลปินนี่ ซึ่งคนจะเข้าใจอย่างนั้น การออกแฟร์เป็นประสบการณ์ ได้ข้อมูลจากผู้ประกอบการรอบๆที่ให้ความช่วยเหลือ ให้เบอร์ติดต่อ พี่ๆแต่ละคนจะช่วยบอก…มีอะไรมาถามพี่ เดี๋ยวพี่แนะนำให้ ซึ่งน่ารักมาก และอีกปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเดินต่อ เพราะงานแฟร์ที่ไปออกมีวันเทรดประมาณ 5 วัน ขายปลีก 2 วัน ปรากฏว่าในวันขายปลีก งานเรากลับขายได้หมดเลย เป็นจุดที่รู้สึกว่า เออมันก็มีทางไป แม้แต่ของพังก็ขายได้” คุณกรินทร์กล่าวเสริม
ความสำเร็จของ ‘ยานณกาล’ ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นจากเล็กกลายเป็นใหญ่ ทำให้คุณพชรพรรณตัดสินใจวางมือจากงานแฟชั่นที่เธอรักเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างระบบธุรกิจของแบรนด์ให้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน แม้ว่าโดยพื้นฐานความเป็นนักออกแบบตามที่ร่ำเรียนมา จะไม่ได้มอบทักษะในการบริหารให้กับเธอ อีกทั้งยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบตัวเลข ไม่ชอบทำธุรกิจเลย แต่ด้วยสัญชาตญาณทางธุรกิจที่ฝังอยู่ใน DNA จากคุณพ่อและคุณแม่ที่เป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จระดับแถวหน้าของประเทศ ทำให้นักออกแบบแฟชั่นสาวคนนี้พลิกบทบาทมาเป็นนักบริหารธุรกิจมืออาชีพได้ในระยะเวลาเพียงไม่นาน
“สมัยเป็นเด็ก เราเป็นคนที่ไม่ได้เรื่องเลยค่ะ เรียนเลขตกตลอด พ่อแม่ชอบให้ชอบเล่นเกมคิดเลข อยากให้คิดเลขเก่งๆจะได้หัวไวทำธุรกิจ เมื่อก่อนค่อนข้างแอนตี้ พอมาทำของตัวเองแล้วรักมัน อยากทำให้มันดี จากที่ไม่เคยสนใจตัวเลข หรือบัญชี เราก็ต้องสนใจ ตอนนี้ก็กลับไปถามพ่อแม่ว่าต้องทำยังไง เขียนออร์แกไนเซชั่นชาร์ททำยังไง บัญชีต้องมีแผนกอะไรบ้าง ถามเอามาปรับใช้ ต้องไปเจอด้วยตัวเองก่อนถึงจะกลับมาเชื่อพ่อแม่ค่ะ (หัวเราะ)
“ชอบทำงานเป็นผู้ช่วย มันสนุกและไม่กดดันมาก พอมาอันนี้เป็นของเราเอง แต่ทุกอย่างเรารักอยู่แล้วเพราะเห็นมาตั้งแต่เริ่ม มีความสุขมาก รู้สึกว่าเป็นของๆเรา
“การแบ่งหน้าที่กัน ถ้าเรื่องดีไซน์กรินทร์ทำคนเดียว พอเขาทำงานเสร็จ ก็จะมาถามว่าอันนี้ดีรึยัง เรามักจะให้ข้อมูลในเรื่องมาร์เก็ตติ้งมากกว่า ถ้าทำอันนี้เราว่ามันสวยแต่ไม่ขาย เราก็จะบอก แต่ถ้ามันจำเป็นต้องมี เพราะเป็นสัญลักษณ์ของคอลเลคชั่น เราก็โอเค บางทีก็บอกว่าแก้ได้ไหมเอาที่มันผลิตง่ายๆหน่อย
“ปัจจุบันก็ดูภาพรวมของธุรกิจค่ะ ตอนนี้เราทำมาเข้าปีที่ 7 เหมือนยาวนาน แต่จริงๆเพิ่งเริ่มทำระบบสต็อค ระบบภาษี จดบริษัทอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่ค่อยเป็นระบบ สต็อคก็ไม่เคยทำ บัญชีตอนแรกก็ทำแบบมั่วๆ ปรึกษาคุณแม่ แต่ก่อนด้วยความที่เป็นสตูดิโอ เราก็ไม่คิดว่าจะทำจริงจัง เมื่อความเป็นแบรนด์ชัดขึ้น มีตลาดใหญ่ขึ้นก็ต้อง เข้ามาดูจริงจัง เซ็ทระบบ ตอนนี้ทำไปได้ 60% เหลืออีกที่ต้องทำตอนนี้ก็พยายามเซ็ททีม ส่วนใหญ่ที่ทำก็จะเป็นเรื่องพัฒนาให้มันเป็นองค์กร เริ่มมี HR อยากให้คนที่อยู่กับเราแฮปปี้ เพราะที่นี่ทุกคนอยู่กันแบบครอบครัว เราอยากให้มันแฟร์ คนที่อยู่กับเรามานานอยู่ได้ โดยที่มีความสุขจริงๆเพราะองค์กรเล็กมันทำง่าย เราอยากจะเป็นองค์กรสมัยใหม่ก็ทำได้”
ในฐานะที่ คุณพชรพรรณ เป็นทายาทของคุณประทีป และ คุณอัจฉรา ตั้งมติธรรม นักธุรกิจอสังหาแถวหน้าที่มีอาณาจักรธุรกิจระดับหมื่นล้าน ซึ่งน่าจะวาดหวังให้ลูกหลานมาสืบทอด มีชีวิตที่ง่ายดายและสุขสบายกว่านี้ หลายคนคงรู้สึกทึ่งที่เธอกลับเลือกที่จะต่อสู้เพื่อทำธุรกิจเล็กๆของตนเองกับคู่ชีวิต โดยไม่พึ่งพิงที่บ้าน แต่ที่แน่ๆ คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ส่วนผสมความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งของแบรนด์ ยานณกาล คือความรักของครอบครัว ที่ไม่ได้เพียงสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ แต่ยังให้โอกาสและอิสรภาพสำหรับลูกหลานที่จะได้ก้าวเดินไปบนเส้นทางของตัวเอง จากช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นซึ่งเธอเคยเป็นเด็กดื้อที่มักเห็นต่างจากครอบครัว มาวันนี้ คุณพชรพรรณ พบว่าบุคคลผู้เป็นต้นแบบความสำเร็จของเธอก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง
“คุณพ่อคุณแม่ สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยตัวเอง ท่านผ่านประสบการณ์มาเยอะจริงๆในการทำธุรกิจ มองอะไรปุ๊ปเดียวก็เห็นตอนจบแล้ว พอจะเริ่มทำอะไรก็จะบอกได้เลยว่า…อันนี้ทำไม่เวิร์คหรอก ไม่ต้องทำ หรือทำอันนี้สิดีนะ ท่านอยากจะให้เราทำ แต่ถ้าเราไม่ทำท่านก็ไม่ว่า
“คุณพ่อเป็นคนชอบศิลปะ เราชอบศิลปะตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว คุณพ่อก็คุณแม่จะสนับสนุนตลอด เวลาคุยกันก็รู้เรื่อง คุณพ่อก็จะเล่าเรื่องศิลปะให้ฟัง ชอบพาไปดูแกลเลอรี่ ดูงานฝีมือ พอเห็นเราชอบ ไปไหนก็คุยกันรู้เรื่อง ส่วนคุณแม่ก็จะเป็นในเรื่องการทำธุรกิจ คุณแม่เป็นคนทำบัญชี ท่านจะเป็นคนที่ทำอะไรหลายๆอย่างพร้อมกันได้ งานปกติจะยุ่งมากแค่ไหนก็ดูแลครอบครัวเสมอ แต่ตั้งแต่เด็กจนโต แม้แต่เวลางานท่านก็จะคอยโทรมาเตือน สำหรับคุณแม่ งานครอบครัวท่านก็จะถือเป็นงานสำคัญเหมือนกัน แต่ละวันก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมคุณแม่จำเรื่องต่างๆมากมายได้ขนาดนี้ ก็ขอบคุณท่านที่ทนเรามาได้
ข้อดีของคุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างชัดเจนกับแต่ละอย่าง แต่ท่านจะให้เกียรติเราตัดสินใจ ท่านอาจจะปรามในบางเรื่อง แต่ถ้ายังเราจะทำ ท่านก็จะคอยถามว่าเป็นยังไงบ้าง ก่อนหน้านี้ก็เริ่มจากเป็นลูกจ้าง เคยหุ้นกับเพื่อนทำโน่นนี่ พอมาถึงจุดวันนี้ เราก็เข้าใจหลายอย่างที่ท่านพูดว่ามันจริง แต่ถ้าตอนนั้นเราไม่ได้ไปลองทำผิดถูกด้วยตัวเอง เราก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่ท่านพูด เลยรู้สึกว่า ทุกวันนี้ถึงเราจะทำอะไรเล็กๆน้อยๆ สมัยก่อนท่านก็ค่อนข้างจะจินตนาการว่าเราต้องทำอะไรใหญ่โต แต่ทุกวันนี้ท่านก็โอเค แฮปปี้ดีกับสิ่งเล็กๆที่เราทำ บางทีมาบ้านนี้ ท่านก็อยากได้ผลงานอันโน้นอันนี้ของเรา ก็รู้สึกภูมิใจค่ะ”
เช่นเดียวกันกับคุณกรินทร์ ที่มีบุคคลสำคัญต้นแบบเป็นคนในครอบครัวก็คือ คุณพ่อ ผู้มอบทั้งความรักและความไว้วางใจให้เขาอย่างเต็มเปี่ยม นำมาซึ่งพลังสู่ความสำเร็จในวันนี้
“คุณพ่อผมเสียไปแล้ว ผมเกเรขี้เกียจตั้งแต่เด็ก แต่คุณพ่อก็คอยให้ความเชื่อมั่นเสมอมา ไม่ว่าเราจะหลุดนอกลู่นอกทางยังไง ท่านจะเชื่อว่าเราจะกลับมาทำดีๆได้ ท่านมีความเชื่อลึกๆว่าเราทำได้ ท่านจะพูดตลอด ให้ทั้งความเชื่อมั่นในตัวเรา และให้อิสระเรามาก แต่ไม่ถึงกับปล่อย เวลาเราเข้าปากเหวพ่อก็จะตบๆเข้ามาเสมอ”
ณ ความสำเร็จของชีวิตในวันนี้ และความเติบโตที่น่าภาคภูมิใจของธุรกิจภายใต้แบรนด์ ยานณกาล คนส่วนใหญ่คงคิดว่า คุณพชรพรรณและคุณกรินทร์ คงตั้งเป้าขยายธุรกิจให้ใหญ่โตไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด แต่เขาทั้งสองกลับมีมุมมองความสำเร็จต่างกับคนทั่วไป
“ชีวิตเราตอนนี้ก็มาเยอะกว่าที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกมาแล้วครับ ตั้งใจให้เล็กแต่ว่าไม่หยุดพัฒนา อยากอยู่เล็กๆอย่างนี้จริงแต่มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆในสเกลที่เรามี” คุณกรินทร์ตอบ โดยคุณพชรพรรณเสริมว่า
“เป้าหมายความสำเร็จตอนนี้คือ สมดุลในชีวิตค่ะ หาสมดุลนั้นให้เจอว่าคืออะไร หัวใจหลักของการที่ทำงานทุกวันนี้คืออยากให้คนที่ทำงานกับเราในทีม ซึ่งเป็นเพียงทีมเล็กๆที่เราไม่คิดจะขยาย อยากให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุขจริงๆ ให้เขาดูแลครอบครัวเขาได้ มีเวลาดูแลตัวเอง จะทำยังไงถ้าไม่รับงานเยอะ แล้วเขายังอยู่ได้อย่างนั้น เป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบ แต่ตอนนี้เรายังหาสูตรนั้นไม่เจอ ก็ยังพยายามอยู่ค่ะ
“จุดความสำเร็จที่พวกเราเคยตั้งใจกันไว้ตอนแรกมันผ่านมาแล้ว ตอนนั้นเราแค่คิดว่าให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก คนยอมรับ ส่งออกได้ ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เป้าหมายความสำเร็จหลังจากนี้ คงอยากจะมีความรักในการทำงานต่อเนื่องไปทุกๆวันมากกว่า”
ด้วยคำตอบอันเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งที่ออกมาจากใจเจ้าของแบรนด์ ยานณกาล ทั้งสองคน คงอธิบายได้ชัดเจนถึงความจริงที่ว่า ทุกความสำเร็จล้วนมีความรักเป็นเครื่องนำทาง และมีความรักเป็นแรงสนับสนุนให้เดินไปสู่จุดหมายได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยนั่นเอง
Yarnnakarn Art & Craft Studio is a home studio in Bangkok, telling stories through the contemporary ceramic pieces about the passage of time and diversity among humans and nature. Yarnnakarn created their wishful ceramic items in the experiment of techniques and choice of materials. The contemporary ceramic pieces are gradually derived through the interactions between the maker and clay. The story of individual piece is written in glazes, textures, and details – emerging from time, temperature and moisture of its own.
Yarnnakarn Art & Craft Studio was founded in 2010 by Karin Phisolyabut, who earned a B.A. in Ceramic Design from Thailand and a M.A. in Fine Arts from the United Kingdom. Pacharapan Tangmatitham is the co-founder of Yarnnakarn. Pacharapan’s background is in graphic design with master degree in fashion design from the United Kingdom. As Karin’s life partner and business partner, Pacharapan Tangmatitham has become a dedicated businesswoman who manages the corporate back office for Yarnnakarn with great support in business knowledge and experience from her parents.
The name “Yarnnakarn Arts & Crafts Studio” was created by Karin’s sister who works with him in their family business. In Later years, this family business joined local craftsmen in the area, and Karin’s family members all work together in their home studio in Bangkok.
Besides achieving their career goal, Karin and Pacharapan shared common passion in art, living slow-life and reaching for the same goal in work life balance.
ที่มา: วารสาร Supalai@Home ฉบับ Q1-2018
เรื่อง & ภาพ : dp-studio.com