ธิติ โตวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทธรรมสรณ์ จำกัด

ธิติ  โตวิวัฒน์

การจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องน้ำ ย่อมไม่ได้จำกัดแค่เรื่องการบริหารจัดการให้น้ำกินน้ำใช้ให้มีความเพียงพอทั้งคุณภาพและปริมาณ แต่ยังหมายถึงระบบการจัดการน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน ป้องกันไม่ให้เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบำบัดน้ำให้กลับคืนมามีคุณภาพดีพอที่จะนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเอ่ยถึงมือหนึ่งในธุรกิจด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ชื่อของกลุ่มบริษัทธรรมสรณ์ จำกัด ก็เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับแนวหน้ามาโดยตลอด บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้นคือ คุณธิติ  โตวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด นักธุรกิจหนุ่มใหญ่มาดเท่ เจ้าของรอยยิ้มอบอุ่นอารมณ์ดี และบุคลิกเป็นกันเองสุดๆ จนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่คือผู้บริหารองค์กรชั้นนำที่กำลังเติบโตด้วยมูลค่าธุรกิจขนาดมหึมา และมีภาระมากมายมหาศาล ต้องรับผิดชอบเรื่องยากๆนับไม่ถ้วนในแต่ละวัน

จากเด็กน้อยชาวปทุมธานี เข้ามาเรียน ม.1 ในกรุงเทพฯ ฉายแววเก่งด้วยการสอบเอนทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หลายคนใฝ่ฝันคุณธิติ  โตวิวัฒน์เลือกเรียนวิศวะฯ สาขาวิชาสุขาภิบาล ซึ่งทำให้เขาโดนเพื่อนล้อว่า เป็น ‘วิศวกรส้วม’ แต่เสียงหัวเราะของเพื่อนๆในวันวาน คงสู้เสียงหัวเราะทีหลังดังกว่าในเวลาต่อมาไม่ได้ เพราะสาขาวิชาสุขาภิบาลซึ่งปัจจุบันคือสาขาสิ่งแวดล้อมนั้น แท้จริงแล้วเป็นสาขาวิชาความรู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของ ‘กลุ่มบริษัทธรรมสรณ์ จำกัด’ ในฐานะผู้นำด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของเมืองไทย

“ถ้าย้อนไปสมัยก่อนแผนกสุขาภิบาลเป็นแผนกเล็กๆ คนไม่ค่อยอยากเรียนเท่าไหร่ครับ เพราะไม่เหมือนวิศวกรอื่นๆ ที่ดูดี อย่างพวกวิศวกรโยธา วิศวกรไฟฟ้า ที่คนเลือกเรียนเยอะ สุขาภิบาลเรียนประมาณ 20 คน ต่างจากวิศวกรโยธาที่เรียน 400 คน โดยสาขาสุขาภิบาลจะเรียนเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เรื่องสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย น้ำประปา เข้าไปก็ไม่รู้อะไร แต่ได้อาจารย์ดี อาจารย์ธงชัย  พรรณสวัสดิ์ พาไปดูงานต่างๆ ที่ทำจริง แล้วก็เลยเห็นภาพว่าแผนกนี้เป็นแผนกที่สำคัญในอนาคต เพราะคนเรียนน้อย แล้วรุ่นพี่ที่จบมาก็น้อย

“จำได้ว่าตอนจบมาปุ๊บเศรษฐกิจไม่ดีเลย ตกงานกันทั้งประเทศ ประมาณปี 28 ผมก็ไปทำเป็นเซลล์ขายพวกปั๊มน้ำประมาณ 2 ปีกว่า  มีวันหนึ่งได้ฟังในหลวงท่านตรัสเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตอนประมาณปี 33-34 ท่านก็ตรัสเรื่องน้ำเสีย น้ำในกรุงเทพฯ เน่า รัฐบาลก็ออกกฎหมายประมาณปี 35 เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของประเทศ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ตอนนั้นโรงงานอุตสาหกรรมทุกที่ โครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกที่จะต้องบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้ง เราก็เห็นช่องทางว่าเราจบมาทางด้านนี้ แต่คนที่ทำงานด้านนี้มันน้อย เป็นทิศทางที่เราจะได้โอกาสใช้ความรู้ที่เราเรียนมาให้ตรงกับที่เราทำจริงๆ ก็เลยตัดสินใจมาทำธุรกิจทางด้านน้ำเสีย

“ตอนออกมาตั้งบริษัทเริ่มก็เริ่มจากศูนย์ คิดว่าน่าจะใช้องค์ความรู้ที่เราเรียนมาถ่ายทอดให้ลูกค้าได้เรามีความรู้เรื่องน้ำ เราก็ลุยเลย โดยรวมเพื่อนๆมาช่วยกัน ตอนที่ตั้งบริษัทก็ประมาณ 20 คนส่วนเรื่องธุรกิจพอรู้อยู่บ้าง เพราะที่บ้านเป็นร้านค้าที่ถือว่าเป็นร้านที่ใหญ่สุดของจังหวัด ตั้งแต่เด็กเราเลยเห็นภาพป๊าเรา แม่เรา ซื้อของ ลงบัญชีตลอด ตอนเด็กๆ เราก็เป็นคนคุมโกดัง คอยดูของเข้า ของออก”

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างความสำเร็จด้วยตัวเองโดยเริ่มจากศูนย์ แต่คุณธิติ  โตวิวัฒน์ก็ไม่ได้กลัวการเริ่มต้น

“ตอนแรกๆ ก็เรียกว่าต้องเปิดสมุดหน้าเหลืองเลย แล้วก็ดูว่าอสังหาฯ มีใคร มีบริษัทอะไรบ้าง ดูรายชื่อบริษัทที่ทำก่อสร้าง ดูทุนจดทะเบียน แล้วก็ได้เจอคุณประทีป สมัยท่านยังอยู่ที่บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด ก็ไปขายไอเดียก็เซ็นสัญญากันอย่างศุภาลัยก็ร่วมงานกันมานานตั้งแต่เปิดบริษัทจนถึงตอนนี้

“ย้อนไปตอนเริ่มต้นเมื่อ 26-27 ปีที่แล้วเราเป็นผู้ผลิตถังน้ำเสียขนาดเล็ก ผมเป็นคนที่เอา PEโพลิเอทิลีน (Polyethylene) แรกๆ ของเมืองไทยเลย คือวัสดุตอนนั้นจะมี 2 ประเภท คือ PE กับ Fiber Glass ตัว fiber glass ก็มีอีกบริษัททำอยู่ เราก็คิดว่าเราทำเหมือนเขาก็ไม่มีประโยชน์อะไร

“เราเข้าไปพัฒนาร่วมกับ SCG Chemical เราเดินเข้าไปหาเขาว่าเรามีสินค้าแบบนี้ เขาสามารถพัฒนาเม็ดได้ไหม เพราะเมื่อก่อนนี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าเทียบต้นทุนกับ fiber glass แล้วก็ไม่ได้ต่างกันมาก แต่ข้อดีคือไม่มีมลพิษในกระบวนการผลิต ในเมื่อเราทำงานด้านสิ่งแวดล้อมก็จะยึดหลักไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะฉะนั้นถังน้ำเสียของเราจึงเป็นถังโพลิเอทิลีน ซึ่งเป็น Green Product ที่ไม่มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีมลพิษกับผู้ผลิต ทั้งยังสามารถ recycle ได้ เราก็ยึดหลักการทำงานแบบนี้มาโดยตลอด

“พอทำได้สัก 3 ปี เราก็เริ่มเข้าสู่งานวิศวกรรมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างโรงงานอุตสาหกรรม เราก็มีความรู้อยู่แล้ว ผ่านการทำน้ำในบ้าน คอนโด รีสอร์ทและโรงแรมแล้ว คิดว่างานอุตสาหกรรมเราน่าจะทำต่อได้ ก็เลยเริ่มงานอุตสาหกรรม ที่เรารับก็มีน้ำเสีย น้ำประปาเราก็ทำ อย่างบริษัทโค้ก ทางบริษัทก็เป็นคนสร้างน้ำประปาให้ แล้วก็โรงไฟฟ้าที่ราชบุรี เราก็ทำ สยามคาร์ฟอุตสาหกรรม เราก็ทำบำบัดน้ำเสีย รวมถึงโรงงานอีกหลายที่

“ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำ การบำบัดน้ำเสียในเมืองไทยค่อนข้างมีน้อย เพราะผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญก็จบมาไม่มาก มันเป็นวิชาการที่ออกมาทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่เหมือนอย่างวิศวโยธา เขาจะทำตามสถาปัตย์ ซึ่งวิศวกรต้องทำตามแบบนั้นได้ วิศวกรไฟฟ้าก็มีหลักการตายตัวแน่นอน แต่สุขาภิบาลเป็นงานศิลปะ เวลาเราออกแบบแพคหนึ่งแพคเนี่ย มันออกแบบเป็นอย่างไรก็ได้ การออกแบบน้ำเสียเราก็สามารถออกแบบได้หลายแบบ ระบบน้ำประปาก็เหมือนกัน เราจะสามารถใช้วิธีหลายอย่างที่จะทำได้ เพราะฉะนั้นวิศวกรก็ต้องรู้ว่าระบบใดเหมาะกับการออกแบบแบบไหน ไม่ว่าเรื่องงบประมาณ พื้นที่ มันก็เลยเป็นงานศิลปะ อย่างล่าสุดเราก็เพิ่งทำน้ำประปาระดับแสนกว่าคิว ของนิคม 304 ของ ดับเบิ้ลเอที่ปราจีนบุรี เราทำทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งในกลุ่มบริษัทเราจะแยกกันทำ ในแต่ละบริษัทก็จะมีกรรมการผู้จัดการอยู่ สำหรับผมก็จะดูแลนโยบายและทิศทางการลงทุน

“นอกจากธุรกิจทางด้านน้ำแล้ว เรายังมีบริษัทด้านรีไซเคิลคือ บจก. ธรรมสรณ์จัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม ก็ทำเกี่ยวกับเรื่องพลังงานและรีไซเคิล เราทำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นผลิตภัณฑ์ของเรา คือเทรนด์ของโลกคือการนำวัสดุที่ใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ อย่างถังน้ำเสียที่อยู่ใต้ดินเราใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล แต่ถังน้ำเราจะใช้ของใหม่เลย ตลาดก็มีทั้งในอาเซียนก็ส่งไปทั้งลาว เขมร มาเลเซีย พม่า รวมไปถึงยุโรป ที่โปแลนด์ เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ”

คุณธิติ พาเราย้อนอดีตไปสู่จุดเริ่มต้นของอาณาจักรธุรกิจของ ธรรมสรณ์ด้วยแววตาเป็นประกาย บอกเล่าเรื่องราวแต่ละย่างก้าวสู่ความสำเร็จที่ยังคงอยู่ในความทรงจำแจ่มชัดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

“ถ้าเรามีสินค้าที่มีคุณภาพต่อเนื่อง มีการบริการหลังการขายให้ลูกค้า ให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้ทอดทิ้ง คือแนวทางที่เราทำธุรกิจครับ”

ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาไม่หยุดยั้ง ความสำเร็จของธรรมสรณ์ จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในระดับประเทศ แต่ขยายไปสู่ความยอมรับในระดับสากล

หลายปีผ่านมาเราเดินทางไปต่างประเทศ ซึมซับแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเขา ดูผลิตภัณฑ์ของเขาว่าอันไหน เราทำได้ อันไหนเราทำไม่ได้ ก็เอามาประยุกต์ใช้ ตอนนี้เราสามารถพูดได้ว่าเทคโนโลยีในการผลิต การออกแบบ เราก็ไม่แพ้ใคร

เราสามารถผลิตถังน้ำเสียจากการรีไซเคิลได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยคุณภาพไม่แพ้เม็ดใหม่เลย เรามีสูตรการปรุงของเราเอง มีการออกแบบของเราเอง ผ่านการทดสอบอย่างดี มีความรู้เรื่องซอฟแวร์การออกแบบถังน้ำเสียอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สามารถส่งไปขายในต่างประเทศได้ ตอนนี้ในยุโรปก็ยอมรับผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้นเรื่อยๆเขามองเราเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมยินดีที่จะซื้อมากกว่าสินค้าท้องถิ่น เรามีตัวแทนขายอยู่ที่โปแลนด์ด้วย ในอาเซียนเราก็มีตัวแทนอยู่ และมีการตั้งโรงงานที่อินโดนีเซีย

“เรื่องถังน้ำเรามีเทคโนโลยีการผลิตที่หลากหลาย สามารถพัฒนาได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีโรงงานทั่วประเทศ ทั้งขอนแก่น อุบลราชธานี สระบุรี ภูเก็ต ฯ เนื่องจากธุรกิจถังน้ำเป็น Domestic เราก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

0003

นอกจากการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพระดับแนวหน้าแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

“เราวางหลักการ วางยุทธศาสตร์ก่อนว่าจะไปทางไหน  อย่าง บจก. ธรรมสรณ์ เราก็มองที่ธุรกิจถังน้ำ ถังน้ำเสีย ตอนนี้เราก็มองว่าเข้าไปในตลาดที่ลูกค้ายอมรับได้ระดับหนึ่งแล้วสำหรับลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

“หลักการบริหารตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะตอนแรกเรามีพนักงานอยู่ 20-30  คน  แต่ตอนนี้มี 1,500 คน ซึ่งวิธีการคิดก็จะเปลี่ยนแปลง

“ผมแยกเป็น 3 ยุคครับ  ยุคแรกตอนเริ่มต้นก็เป็นเรื่องความใกล้ชิด ความรวดเร็วในการทำงาน ยุคที่สองเป็นยุคของการส่งผ่าน เราจะสามารถหาคนที่จะรับคำสั่งเราไปทำงานได้อย่างไร ตอนนี้เข้าสู่ยุคที่สามแล้ว คือเราจะหาบุคลากรที่คิดแทนเรา และทำงานแทนเราได้อย่างไร แต่ตั้งแต่ตั้งบริษัทมาเราไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ เรามีความเป็นพี่น้องกันสูง หลายคนมาอยู่ที่นี่อาจจะรู้สึกไม่เหมือนออฟฟิศ เป็นบ้านมากกว่า ส่วนนี้จะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ยังเรียกพี่ เรียกน้องอยู่ ก็เป็นแบบนี้มาตลอด

“ผมคิดว่าเราใช้เวลาชีวิต เวลาที่เราลืมตา ใช้เวลามากกว่าอยู่กว่าที่บ้านอีก เราก็อยากให้น้องๆ ที่มาทำงานมีความสุข แต่ก็มีเป้าหมายการทำงานที่ดีขึ้นแบบฝรั่ง เราก็พยายามสร้างสมดุลระหว่างตะวันตกกับตะวันออก ถ้าแบบตะวันตกก็จะเป็นเรื่องเหตุและผล การควบคุม เป้าหมาย แต่ต้องมีใจมาก่อน

“เราพยายามให้ความสำคัญกับบุคลากรมาก เราเคยบอกน้องๆ เหมือนกันว่าบริษัทมันไม่มีชีวิต มันจะมีชีวิตได้ก็ต้องมีบุคลากร ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับบุคลากร บริษัทก็ไม่มีความหมายอะไร”

เป็นธรรมดาที่ผู้สร้างความสำเร็จขนาดใหญ่ทุกคน ย่อมจะต้องพร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่ใหญ่หลวงไม่แพ้กัน แต่สิ่งที่พิสูจน์ว่า ใครคือตัวจริง ก็คือความสามารถที่จะฟันฝ่าอุปสรรคและปัญหามาสู่วันที่ดีกว่าได้

“ช่วงปี 40 ทุกคนก็เจอวิกฤตเศรษฐกิจกันหมดนะครับ หลายคนก็ตกงาน แต่เราก็ถือว่าเราผ่านมาได้ดี เราไม่ได้ไล่คนออกเลย ตอนนั้นก็มีพนักงานประมาณร้อยกว่าคน และธุรกิจเราก็เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่อย่างที่บอกว่าองค์ความรู้เรามี เราก็ดิ้นตลอด พยายามหางานให้ทำตลอด แต่ทุกครั้งที่ผ่านวิกฤต เราจะสังเกตว่า บริษัทจะแข็งแกร่งขึ้น โตขึ้นทุกครั้ง

“หลักของธรรมสรณ์เรามองปัญหาเป็นโอกาส แล้วเราจะมีความสนุกจากการแก้ปัญหา อย่างเรื่องพนักงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากคนก็มีปัญหาตามมา เมื่อสัก 4 ปีที่แล้ว พนักงานเราเริ่มจะเกือบพันคนแล้ว โครงสร้างที่สร้างไว้ไม่ตอบสนอง จึงมีการเปลี่ยน โดยเอาระบบ TQM (Total Quality Management) มาใช้ ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกใช้กัน เราก็เลยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษาให้

“เราเอาองค์ประกอบเรื่องการบริหารจัดการทั้งหมดมาใส่ใน‘บ้านธรรมสรณ์’ โดยอธิบายง่ายๆ ว่ามีฐานราก 2 เรื่อง คือ ค่านิยมธรรมสรณ์(Thammasorn’s Corporate Values) อยู่ตรงไหน เราก็หาให้เจอ ก็คือเป็นสิ่งที่พูดยากแต่เราก็ต้องทำ เช่น เรามีความอดทน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความซื่อสัตย์ เราก็ช่วยกันคิดว่าคนเป็นพันคนเป็นอย่างไร มันก็มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ฐานรากที่สองคือ ความกลมเกลียวในวัฒนธรรมธรรมสรณ์(Thammasorn Culture in Harmony)เราจะสร้างความกลมเกลียวได้อย่างไรจากคนที่มาจากหลากหลายที่ สร้างเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา ไม่ใช่วัฒนธรรมเก่าที่ติดตัวมา เราไม่ได้ต้องการให้คนคิดทางเดียวกัน แต่อยากแนวความคิดเดียวกัน เราต้องหาสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันเป็นฐานราก ถ้าฐานรากของคนมันแน่นก็ทำงานไม่ยาก

“ปีแรกที่เซ็ตระบบ TQM ก็ยากมาก แต่พอเซ็ตปุ๊บ 3-4 นี้เราขึ้นเร็วมากเลย เพราะคนมีพลังงานที่จะทำงานกัน เมื่อเรามีกรอบของหลักปฏิบัติ พนักงานก็จะมีแผนที่ในการทำงาน หลังจากเมื่อก่อนอาจจะต้องศึกษาด้วยตัวเอง ฟังรุ่นพี่มา รับนโยบาย แล้วก็ทำ ก็ต้องปลุกขวัญ กำลังใจตัวเองขึ้นมาทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ตอนนี้เรามีหลักคิดชัดเจน

“หลังจากที่เราขึ้นฐานรากเสร็จเราจะมีเสา 4 ต้น ส่วนอิฐแต่ละก้อนพวก MD พวกผอ. ก็ต้องนั่งคุยว่าเป้าหมาย (Goals) คืออะไร ยุทธศาสตร์(Strategic Intent) ที่ทำคืออะไร กลยุทธ์ (Strategy) คืออะไร โดยการลดต้นทุน (Cost Management)bอย่างไร เมื่อคิดเสร็จปุ๊บก็ต้องมีการสื่อสาร สั่งงานผ่าน MBP (Management by Policy)เราจะให้พนักงานทุกคนคิดแล้วก็เขียนว่าวันนี้ทำอะไร เมื่อวานทำอะไร ทุกวัน (Daily Management)เขาก็จะได้ทบทวนตัวเองก็สามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ ลำดับต่อมา Cross Functional Management เขาจะรู้ได้ว่าถ้างานใหญ่ เขาต้องพึ่งฝ่ายอื่นด้วย ในกรอบนี้จะมีแนวคิดที่แน่นอน ส่วน Bottom up Activities คือพนักงานสามารถคิดขึ้นมาได้ ผู้บังคับบัญชาต้องฟัง ถ้าน้องๆ เค้าอยากทำอะไรใหม่ๆ เราก็มีการทำกิจกรรมไป อย่างมีน้องคนนึงไปคิดระบบการติดตั้งจาก 7 วัน สามารถเสร็จเพียง 1 วัน งานเร็วขึ้นเยอะเลย เราก็ต้องมีรางวัลให้เค้าเป็นกำลังใจ ซึ่งคนที่คิดก็เป็นระดับปฏิบัติงาน ไม่ใช่ผู้จัดการอะไรเลย เป็นต้น แค่เขียนคำแนะนำก็ได้ 10 บาทแล้ว คือเราให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพนักงานทุกคนด้วย

“ระบบ TQM เป็นระบบที่ช่วยให้ทุกคนมีส่วนในการบริหาร และเป็นส่วนช่วยให้บริษัทประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย ถือว่าเราเดินมาถูกทาง เราทำเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ แล้วก็มาซื้อซ้ำหรือแนะนำต่อ

“ลูกค้าก็จะมีลูกค้าภายใน ภายนอกด้วย อย่างบางฝ่ายอาจจะไม่ได้ติดต่อลูกค้าภายนอก เราก็ต้องคอยเทคแคร์ ดูแล ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ”

นอกเหนือจากการประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นวิทยาทาน คุณธิติ ยังบอกเล่าถึง ภาพรวมของธุรกิจด้านน้ำ และน้ำเสียในประเทศไทยให้เราเห็นภาพชัด

ประเทศไทยได้สะสมประสบการณ์มาหลายปี เรียกได้ว่าเป็นประเทศแรกๆในอาเซียนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทำให้เราสะสมเทคโนโลยีและประสบการณ์มาแล้ว ส่วนประเทศเพื่อนบ้านเราจะต้องเดินตามเราในภาคการผลิต ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม แล้วก็การก่อสร้าง ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราขยายไปสู่อาเซียน

ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางได้เลยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราไม่แพ้ใครเลย เพราะโดยพื้นฐานประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การก่อสร้าง การที่เรามีครบหมด มันทำให้เราสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมได้หลากหลาย และวิศวกรในประเทศไทยตอนนี้ก็สะสมประสบการณ์เยอะมาก ก็เป็นโอกาสดีที่เมืองไทยจะได้เป็นแสดงฝีมือในระดับอาเซียน

ในระดับสากล ทางบริษัทยังไม่คิดจะไป แต่ว่าเรามีโปแลนด์ที่ไป เพราะเรามีพาร์ทเนอร์ทางโน้น เราไม่ได้ไปเอง

“ในโรงงานก็จะมีการจ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เขมร พม่า ซึ่งส่วนนี้เราต้องมองเราเขาว่าเป็นความเท่าเทียม เพราะความเท่าเทียมเราเรียนรู้กันได้ เพราะฉะนั้นการจัดการบริษัทอย่างไรก็ตาม ความเท่าเทียม ความยุติธรรมต้องมี เขาก็จะมีความสุขในการทำงาน ในระดับหัวหน้างานอาจจะเป็นคนพม่าก็ได้ หรือบางคนอาจจะไปทำงานที่ประเทศอินโดนีเซียให้เราก็ได้ เพราะเขาเก่งภาษาอังกฤษ

ไม่ใช่แค่เพียงความสามารถและความมุ่งมั่น แต่การมีบุคคลสำคัญเป็นต้นแบบสู่ความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจในการก้าวเดินไปในเส้นทางที่ดีงาม ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มีวันนี้

“ผมมีคุณประทีป ตั้งมติธรรม เป็นแบบอย่างแน่นอนตั้งแต่ผมจบมาจนเปิดบริษัทที่นี่ คนแรกๆที่สร้างกำลังใจในการทำงานก็คือคุณประทีป ท่านอบอุ่น เหมือนเป็นพี่ใหญ่ใจดีเป็นคงเส้นคงวามาก ผมพาน้องๆไปสวัสดีปีใหม่ ท่านก็เมตตาทุกคน แล้วตอนที่ผมไปพรีเซนต์งานที่ศุภาลัยช่วงที่ตั้งบริษัทแรกๆ เราก็รู้ว่าท่านเปิดโอกาสให้เราได้แสดงฝีมือ แม้จะรู้ว่าเรายังไม่พร้อม ก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราพัฒนามาจนถึงจุดนี้

“การปกครองคนของท่านเราก็สังเกต ลูกน้องท่านก็มีความสุขทุกคน การดูแลคู่ค้าดูแลคนในครอบครัว ดูแลทีมงาน เราเห็นแล้วเราอยากปฏิบัติตาม เราสัมผัสได้เลยว่าที่ศุภาลัยการคิดเชิงธุรกิจจะดีต่อลูกค้า ท่านสามารถออกแบบโดดเด่น การใช้วัสดุก็มีคุณภาพ เป็นอะไรที่ยั่งยืน เราก็นำมาเป็นแนวคิดของเราว่าเราอย่าเน้นของถูก คุณภาพก็ต้องมีด้วย”

แม้จะเป็นเจ้าของความสำเร็จระดับใหญ่ยักษ์ และความมั่งคั่งที่หลายคนอิจฉา แต่ในด้านชีวิตส่วนตัว นักบริหารคนเก่งท่านนี้ ชอบการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย มีความสุขง่ายๆกับครอบครัวเล็กๆที่อบอุ่น

“ผมชอบดูหนังที่บ้าน ซื้อ DVD มาดูกัน ดูหนังได้ทุกประเภท หรือเดินห้าง เป็นกิจกรรมที่ทำกับครอบครัว ใช้ชีวิตง่ายๆ ชอบธรรมชาติ ถ้ามีโอกาสก็จะขับรถไปต่างจังหวัด

“ลูกผมแต่ละคนจะมีคาแรคเตอร์ต่างกัน เราก็ให้อิสระเขา อย่างคนแรกก็จะได้จากผมเรื่องธุรกิจ อย่างคนที่สองก็จะสนใจเกี่ยวกับศิลปะ จิวเวลรี่ ส่วนคนที่สามก็ชอบการ์ตูน เพิ่งกลับมาจากเรียนที่ญี่ปุ่น แต่ที่เหมือนกันก็คือชอบกิน มักจะไปรับประทานอาหารด้วยกันบ่อยๆความเป็นกันเองจะเป็นสิ่งที่ผมใช้ทั้งในครอบครัวและบริษัท”

แต่ภายใต้ภาพตัวตนที่เรียบง่ายดูสบายๆเป็นกันเองและติดดินนั้น สิ่งที่ไม่ต้องสงสัยเลยก็คือ การพัฒนาตนเองและองค์กรอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง

“ผมคิดว่าเราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงภายนอกก่อน เพราะภายนอกมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความคิดของคน ความเป็นอยู่ของคน เราเป็นนักบริหารเรายอมรับมันหรือเปล่าว่ามีการเปลี่ยนแปลง เมื่อยอมรับ เราเรียนรู้ก็ต้องเรียนรู้ให้เท่าทันด้วย แล้วไปอยู่ร่วมกับอำนาจ เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง การที่เรายอมรับการเปลี่ยนแปลงภายนอก เราก็จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในโลกได้ เราก็ไม่หยุดนิ่ง เมื่อเรายอมรับการเปลี่ยนของเราและการเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็จะมีความสุข

“เราพยายามส่งผ่านตรงนี้ให้น้องๆที่บริษัทอันดับแรกมาทำงานต้องมีความสุข จะเรียกว่าสุขนิยมก็ว่าได้ คือคนที่ทำงานกับเราจะไม่เครียดมากแบบเอาเป็นเอาตาย ผมจะบอกว่าถ้าบริษัทไม่ขาดทุนมากคุณก็เรียนรู้ไป บริษัทกำไรเยอะก็จะดีกับคุณ แต่เราก็ไม่ทิ้งแบบอย่างฝรั่งที่มีการทำงานชัดเจน การบริหารชัดเจน”

นอกเหนือจากความรู้ความสามารถในสาขาวิชาชีพด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่เก่งกาจหาตัวจับยาก หลายสิ่งที่เปิดเผยผ่านบทสนทนาอย่างเป็นกันเองนี้ บอกให้เรารู้ว่า หัวใจสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรในสายตาของผู้นำมากวิสัยทัศน์อย่าง คุณธิติ  โตวิวัฒน์คือทีมงานที่แข็งแกร่งและมีคุณภาพ ที่ไม่เพียงร่วมมือกันสร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จ แต่ยังมีกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและสร้างแรงบันดาลใจที่ดีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการตอบแทนสู่สังคม ซึ่งเป็นทั้งความสุขและความภาคภูมิใจของคุณธิติ  โตวิวัฒน์ และทีมงานธรรมสรณ์ทุกคน จากจุดเริ่มต้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนว่าจะดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง

line

ที่มา: วารสาร Supalai@Home ฉบับ Q2-2016

เรื่อง & ภาพ : dp-studio.com

Related contents:

You may also like...