โดยปกติดิฉันเป็นคนตัดสินใจอะไรได้รวดเร็ว แต่คำเชิญให้นั่งรถตู้ไป-กลับรวม 6 ชั่วโมงไปดูฟาร์มออร์แกนิคและชิมอาหารเที่ยงหนึ่งมื้อที่ปราณบุรี จากทีมพีอาร์สาวเก่งแห่งโรงแรม ดิโอกุระ เพรสทิจ กรุงเทพฯ ทำให้ดิฉันต้องคิดซ้ำไปซ้ำมามากกว่าสามรอบ เพื่อประเมินว่าสังขารและตารางชีวิตอันวุ่นวายในสัปดาห์นี้จะเอื้ออำนวย ให้ตอบรับภารกิจนี้หรือไม่
แต่เมื่อคิดจนรอบคอบแล้ว ในยุคที่ใครๆก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของไลฟ์สไตล์ที่ซับซ้อนและวุ่นวายได้อย่างทุกวันนี้ ย่อมไม่น่าแปลกใจที่ “ชีวิตอันเรียบง่ายอย่างแท้จริง” จะกลายเป็นของหรูหรา สำหรับผู้ที่มีรสนิยม มีกำลังซื้อ และที่สำคัญคือต้องมีเวลา เพื่อที่จะละเลียดความเรียบง่าย ปราศจากสารพิษ ได้อย่างสบายใจจริงๆ ดังนั้น การเคลียร์ตารางชีวิตอันยุ่งเหยิงเพื่อไปดมกลิ่น “ความเรียบง่ายอันหรูหรา” (The Luxurious Simplicity) ณ โครงการ “The Boutique Farmers” ของ “James Noble” เชฟมิชลินสตาร์ 2 ดาวผู้มีชื่อเสียงเกริกไกร อีกทั้งยังเคยเป็นอดีตเชฟส่วนตัวของซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง Mick Jagger ซึ่งปัจจุบันได้ผันตัวมาเป็น Farmer ที่ปลูกพืชผักออร์แกนิคส่งให้เชฟตามโรงแรมห้าดาวและร้านอาหารชื่อดังต่างๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Grown by Chefs for Chefs” จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับคนทำสื่อไลฟ์สไตล์ที่อ้างว่า มีผู้อ่านเป็นบุคคลระดับสูงที่เปี่ยมด้วยรสนิยมการใช้ชีวิต ส่วนเรื่องที่เขียนแล้วจะมีคนอ่านหรือไม่นั้น ก็อีกเรื่องหนึ่ง
พื้นที่ของโครงการ “Boutique Farmers” มีอาณาบริเวณโดยรวมประมาณ 4 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 – ด้านหน้าเป็นตึกปูนสองชั้นสีเทา ด้านล่างเป็นร้านอาหารกับครัว ส่วนข้างบนเป็นห้องพักแบบโฮมสเตย์ ราคาประมาณคืนละหนึ่งพันบาท (ข้อมูลปี 2017) มีสนามหญ้าและสวนครัวเล็กๆ พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ส่วนที่น่าสนใจคือร้านอาหารของ James นั้นไม่ได้เปิดทุกวัน โดยเขาจะมีวิธีบริหารร้านและทำการตลาดที่น่าทึ่ง (ถ้าไม่ใช่เชฟมิชลินสตาร์คงทำแบบนี้ไม่ได้) คือ จะเปิดขายเมนูตามใจเชฟ โดยเชฟก็จะต้องตามใจสวนครัวออร์แกนิคหลังบ้านของเขาอีกที ว่าช่วงนี้มีผลผลิตอะไร น่าเอามาทำกินบ้าง…เก๋ไหมล่ะ เมื่อได้ไอเดียว่า มื้อไหนจะทำอะไรเสิร์ฟ เชฟก็จะโปรโมทเมนูของเขาล่วงหน้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย ให้แขกจองมาก่อน (ไม่รับ Walk-in นะจ๊ะ) พอรู้ว่าต้องทำอาหารสำหรับกี่คนแน่นอนแล้ว เขาถึงจะจัดเตรียมวัตถุดิบสดๆ จากสวนมาทำให้กินในราคาที่เขาบอกว่า สบายๆ ไม่ต้องรวยก็กินได้ จึงนับว่าเป็นวาสนาของคนแถวนี้ที่จะได้กินอาหารฝีมือเชฟมิชลินสตาร์ จากวัตถุดิบปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ในราคาเบาๆ
แต่คนกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะโรงแรม ดิโอกุระ เขาก็ไปรับผักออร์แกนิค จาก ”Boutique Farmers” มาทำเมนูเก๋ๆให้ชิมกันที่ ห้องอาหาร Elements ในโปรโมชั่น Sustainable, Organic & Artisanal Flavours ในวันที่ 3 ตุลาคม – 23 ธันวาคม 2560 นี้ ใครสนใจก็คลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้
ส่วนที่ 2 – ด้านหลังโฮมสเตย์ เป็นสวน (ที่ฝรั่งเรียกว่าฟาร์ม) ขนาดพื้นที่ ประมาณ 2 ไร่ โดยเจ้าของฟาร์มบอกว่า 2 ไร่นี่ก็พอแล้ว เพราะเขาทำสวนนี้โดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เขาปลูกผักสวนครัวในแบบที่ต่างจากสวนครัวทั่วไปคือ ไม่ได้ปลูกผักที่เน้นเอาไว้กินทีละเยอะๆ คือเขาไม่ได้ปลูกแนวตลาดๆอย่าง คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาด อะไรที่เป็นของเหล่านี้ไว้เก็บขายพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง ที่ชาวบ้านธรรมดาซื้อเอามาผัดมาแกงกิน แต่เขาปลูกผักที่เชฟระดับ Fine Dining ตามร้านอาหารหรูหรือโรงแรมห้าดาวจะต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นดอกหรือใบของผักที่มีหน้าตาสีสันสวยงาม มีกลิ่นรสที่ถือว่าเป็นของสูง ของแปลก ซึ่งปกติ ของพวกนี้จะต้องสั่งมาจากต่างประเทศ หรือต้องผ่านการปลูกด้วยกระบวนการพิเศษที่มั่นใจว่าปลอดสารพิษจริงๆ เพราะเขาจะใช้ในการประดับตกแต่งจานอาหารแพงๆ อย่างที่เราเห็นตามเมนูอาหารหรูๆตามโรงแรม ให้มีสีสันสวยงามดูเป็นศิลปะที่กินได้ ที่กำลังกลายเป็นเทรนด์ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมืองนั่นแหละ
ในพื้นที่ฟาร์มนี้ James เขาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สวนกลางแจ้ง กับสวนในมุ้ง ส่วนที่ปลูกกลางแจ้งก็ใช้ปลูกพืชที่ต้องการแสงแดดจัด ดูแลไม่ยาก สวนในมุ้งก็ปลูกพืชที่ไวต่อโรคและแมลง ไม่ทนทานต่อสภาพอากาศในท้องถิ่น ใช้การวางระบบท่อให้น้ำกระจายไปตามจุดต่างๆ ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ผลิตเอง ทำให้สวนไม่มีกลิ่นมูลสัตว์หรือกลิ่นดินอับๆอย่างในสวนทั่วไป รอบสวนก็ปลูกกล้วยเอาไว้เป็นกำแพงกันสารพิษจากที่ดินข้างเคียง และพื้นดินของสวนก็ถมสูงกว่าที่ข้างเคียงเกือบเมตร เพื่อป้องกันสารพิษจากที่ดินข้างเคียงไหลมากับน้ำในเวลาฝนตก
เมื่อแรกเข้ามาสัมผัส ดูเผินๆ ก็อาจเหมือนสวนครัวทั่วไป แต่จริงๆแล้วไม่เหมือนเลย เพราะชาวสวนทั่วไป มักปลูกผักหรือเครื่องเทศสมุนไพรต่างๆไว้เก็บกินใบ ถ้าต้นไหนมีดอกแสดงว่า ใกล้จะหมดอายุแล้ว ถ้าชาวสวนทั่วไปไม่อยากให้ต้นโทรมก็จะเด็ดดอกทิ้ง เพื่อที่จะเก็บใบไปขายได้แค่กิโลละสามบาทห้าบาทให้ปวดใจเล่นๆ ยิ่งถ้าเป็นสวนที่กู้มาซื้อปุ๋ยซื้อยา ขายได้ราคานั้นก็ไม่พอใช้หนี้
แน่นอนว่าเชฟระดับมิชลินสตาร์อย่าง James ที่เข้าใจความต้องการของเชฟชั้นสูง ย่อมไม่ทำอะไรบ้านๆแบบนั้น James ปลูกผักทั้งหลายไว้ให้ออกดอกสะพรั่ง ต้นจะเหี่ยวจะโทรมก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาเลือกเก็บแค่ดอกของผักเหล่านั้น ซึ่งเป็นของหายากตามท้องตลาด ไว้ส่งขายตามห้องอาหารหรูๆ ที่ต้องใช้ Edible Flowers หรือ ดอกไม้กินได้ มาจัดแต่งจาน โดยนอกจากจะมีระบบขนส่งที่รัดกุมเพื่อนำเอาผลิตราคาสูงไปส่งถึงมือเชฟแล้ว เขายังมีบริการพื้นที่สวนครัวให้เชฟดังๆจากร้านหรูมาเช่าปลูกพืชที่ห้องครัวของร้านต้องการใช้ โดยคิดค่าเช่าและดูแลสวนให้ในราคาย่อมเยา
ฟังไอเดียการเกษตรของเขาแล้วนับถือจริงๆ เรื่องแบบนี้ ชาวสวนตาสีตาสาย่อมจะคิดไม่ออกแน่ๆ ซึ่งก็คงไ่ม่แปลกอะไร เพราะขนาดรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรหลายคนก็คงมองไม่ออก แหม…นายกฯน่าจะเชิญคุณ James ไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถมกระทรวงท่องเที่ยวด้วย…เนาะ
ส่วนที่ 3 – พื้นที่ 1 ไร่ด้านหลังฟาร์ม เป็นบ้านแสนสุขของคุณ James กับคุณ May และลูกน้อย บรรยากาศอบอุ่นและมีเอกลักษณ์ตั้งแต่ภายนอกจนถึงภายใน ด้วยคอนเซ็ปต์รักษ์โลกขนานแท้ คือตกแต่งด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเนรมิตสิ่งของที่คนอื่นอาจไม่เห็นคุณค่า ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านเก๋ๆ ฝีมือคุณ James ซึ่งนอกจากจะเป็นทั้งเชฟ เป็นชาวสวน แล้วยังเป็นนักคิด-นักประดิษฐ์คนเก่งอีกด้วย แต่คุณ James บอกว่า แรงบันดาลใจเบื้องหลังความสุขและความสำเร็จบนเส้นทางนี้ นอกเหนือจากการน้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับการทำงานและการดำรงชีวิตแล้ว คือครอบครัวสุดที่รักของเขานั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณเมย์ ภรรยาผู้เป็นทั้งผู้สนับสนุนและกำลังสำคัญในทุกภารกิจของชีวิต ที่คุณ James บอกเราว่า “She is the Brain” ซึ่งเราเห็นชัดว่า นอกจากเป็นมันสมองแล้ว คุณเมย์ยังเป็นหัวใจของคุณ James และของ Boutique Farmers อันแสนสุขแห่งนี้อีกด้วย
ใครสนใจจะซื้อวัตถุดิบออร์แกนิค หรือไปเยี่ยมชม ชิม และพักที่โฮมสเตย์แห่งนี้
เข้าไปดูข้อมูลและติดต่อได้ที่ >> http://theboutiquefarmers.com/
ความคุ้มค่าของทริปนี้ นอกจากจะได้รับแรงบันดาลใจดีๆและความรู้เกี่ยวกับ Organic Farm จากมุมมองของคนที่ทำอาหาร Fine Dining ได้ดูงานทำฟาร์มเล็กๆที่ให้ผลลัพธ์ระดับไม่ธรรมดาแล้ว ไฮท์ไลท์เด็ดคือ เราได้ชิมเมนูอร่อยจากวัตถุดิบสดๆของฟาร์ม ที่ปรุงโดยฝีมือของ เชฟ แอนโทนี ชอลท์ไมเยอร์ (Antony Scholtmeyer) เชฟใหญ่ของโรงแรม ดิโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ผู้เป็นเจ้าภาพของทริปนี้ ในบรรยากาศเป็นกันเอง สุดแสนประทับใจ