25นิทรรศการ “สติ” DUKE Contemporary Art Space

ก่อนฝนตก, เทคนิค สีน้ำมันบนไฟเบอร์กลาส, 2016

ลุ่มหลง หลงใหล คลั่งไคล้ อารมณ์ความรู้สึกที่มักเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างอะไรหลายอย่าง ศิลปะก็เช่นกัน ศิลปินมักหยิบจับความชื่นชอบส่วนตัวมาสร้างสรรค์ผลงาน แต่ละคนสร้างผลงานออกมาในสภาวะที่แตกต่างกัน บางคนต้องการสมาธิอย่างมากเพื่อสร้างงาน แต่บางคนสภาวะมึนเมาจากปัจจัยรอบข้าง กลับกระตุ้นพลังการสร้างสรรค์ให้โลดเล่น แต่ไม่ว่าจะสภาวะไหน เมื่อเริ่มต้นการสร้างสรรค์ผลงานแล้วศิลปินจะก้าวเข้าสู่โลกของตนเอง โลกที่เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จ และผลลัพธ์ในงานศิลปะที่โดดเด่นของแต่ละคน

DUKE Contemporary Art Spaceขอนำเสนอนิทรรศการ “สติ” ที่จะนำพาผู้ชมไปพบกับโลกที่แตกต่างของศิลปินทั้ง 27 ท่าน ได้แก่ อลงกรณ์ หล่อวัฒนา เสนีย์ แช่มเดช ปาริชาติ ศุภพันธ์ กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน วิทยา ถานะกอง

โอภาส ดวงจิตร วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ สุวิทย์ มาประจวบ ชัชวาล รอดคลองตัน ฑีฆาวุฒิ บุญวิจิตร กฤษฎางค์ อินทะสอน ชัยณรงค์ กองกลิ่น นพนันท์ ทันนารี ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล ผศ. ธนฤษภ์ ทิพย์วารี มานิตย์ ศรีสุวรรณ ณเรศ จึง

ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ ลำพู กันเสนาะ วิษณุพงษ์ หนูนันท์ วุฒิกร คงคา เกรียงไกร กงกะนันทน์ เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ เจษฎา คงสมมาศ โอภาส โชติพันธวานนท์ พลุตม์ มารอด และอมรเทพ มหามาตร

 

เกี่ยวกับ DUKE Contemporary Art Space

 

DUKE Contemporary Art Space พื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางเมือง ย่านราชประสงค์ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘จุดนัดพบ’ ของผู้ที่ชื่นชอบงานศิลป์ รองรับรสนิยมเหนือระดับท่ามกลางบรรยากาศของห้องจัดแสดงผลงานศิลปะขนาดใหญ่โดยความร่วมมือของนักธุรกิจทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ อัฐวุฒิ ปภังกร อาณัติ มังกรหงษ์ ทศพล พิชญโยธิน ปิติพงศ์ เบญจรุ่งโรจน์ นพดล นฤตรรกกุล และธวัชชัย สมคง ผู้เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร FINE ART ที่คลุกคลีอยู่ในวงการศิลปะมาเป็นระยะเวลานาน และเป็นผู้คัดสรรผลงานที่นำมาจัดแสดงด้วยตัวเองด้วยความเชื่อว่าศิลปะรับใช้สังคมในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับ Water Library ร้านอาหารชั้นนำที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างสรรค์เมนูอาหารและการนำเข้าเครื่องดื่มหลากหลายแบรนด์ ซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล DUKE Contemporary Art Space รองรับการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ อาทิ กิจกรรมทางศิลปะ งานเปิดตัวสินค้าระดับพรีเมียม การนำเสนองานดีไซน์ รวมไปถึงศิลปะการแสดงสด (liveperformance) และอีเว้นท์อื่นๆ ที่เปิดมิติใหม่ให้กับวงการศิลปะในประเทศไทย

 

ประวัติศิลปินในนิทรรศการ “สติ”

 

เมารัก , 100x80 cm ,สีน้ำมันบนผ้าใบ 2016 , อลงกรณ์  หล่อวัฒนา

อลงกรณ์ หล่อวัฒนา

อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ศิลปินชาวน่าน จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนไปศึกษาต่อ

ยังมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย อลงกรณ์บ่มเพาะทักษะทางศิลปะจากงานจิตรกรรมไทยประเพณี

ด้วยความรักและความศรัทธาที่มีต่อศาสนาพุทธมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย จึงพัฒนาฝีมือและฝึกฝนตัวเองเรื่อยมาด้วยทัศนคติที่มี

ต่อการลงมือทำ และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การเป็นศิลปินที่ดีนั้นสำคัญที่พรแสวง อลงกรณ์ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ได้ร่วมเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ร่วมกันกับศิลปินรุ่นพี่อย่าง เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และปัญญา วิจินธนสาร

ด้วยแนวความคิดและทัศนคติในการสร้างสรรค์ผลงานของอลงกรณ์ หล่อวัฒนาที่สะสมมา ทำให้ผลงานของเขา

เกิดเป็นแนวทางที่ชัดเจนเฉพาะตัว เรียกกันว่า ‘ศิลปะแนวจิตวิญญาณเชิงสัญลักษณ์’ ซึ่งเป็นส่วนสะท้อนถึงตัวตนของเขา

ผ่านแนวความคิดของชิ้นงานแต่ละชิ้น ที่มีใจความสำคัญในเรื่องของกรรม การลงมือทำอันก่อให้เกิดผลของการกระทำ

รวมเข้าด้วยกันกับแนวความคิดและหลักธรรมในศาสนาพุทธ และประสบการณ์การทำงานด้านจิตรกรรมไทยประเพณี กลายเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สื่อสารเรื่องราวของพุทธศิลป์ได้อย่างกลมกลืน

ผลงาน ‘เมารัก’ บอกเล่าถึงธรรมชาติของความรักอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย ถึงความรักและความลุ่มหลงที่เกิดขึ้นอย่างผิดที่ ผิดทาง และผิดสถานที่ พาไปสู่ความลุ่มหลง เมามาย ขาดสติ ก่อให้เกิดเรื่องราวผิดศีลธรรมต่างๆ ขึ้นในปัจจุบัน ศิลปินสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของความรัก และวงจรที่สั้นของมัน เตือนใจให้ระลึกว่ารักที่ดีคือการรักอย่างมีสติ

 

Seni Chaemdet - คลื่นแห่งวัฒนธรรม 001, 2016, Mixed media, 100x80cm

เสนีย์ แช่มเดช

เสนีย์ แช่มเดช ศิลปินจากจังหวัดนครสวรรค์ ผู้สร้างสรรค์ศิลปะแนวนามธรรม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

ในการสร้างผลงาน ผสมผสานความหลงไหลในเส้น สี และแสงเงาเข้าด้วยกัน เพื่อบอกเล่าและสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตนที่มีความรู้สึกรักและหวงแหนต่อธรรมชาติ โดยมีผลงานนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเอาศิลปะมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลุ่ม ‘ศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก’ อีกด้วย

ภาพคลื่นแห่งวัฒนธรรม 001 ของเสนีย์ นำเอาประสบการณ์ทั้งหลายทางธรรมชาติ ทั้งที่มีอยู่และเปลี่ยนแปลงไป

มาสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริง ตามความคิด ความเชื่อ จากประสบการณ์ของศิลปิน

 

เกรียงไกร กงกะนันทน์ - The Lost Heaven,acrylic on canvas, 80 x 60 cm, 2016

เกรียงไกร กงกะนันทน์

เกรียงไกร กงกะนันทร์ อาจารย์ประจำคณะดิจิทัล มีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีความเชี่ยวชาญในด้านศิลปะ

ภาพพิมพ์ วาดเส้น จิตรกรรม การออกแบบองค์ประกอบศิลป์ New Media Art และงาน Installation Art ผลงานของ

เกรียงไกรได้รับรางวัลมากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ รางวัลสนับสนุนสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม รางวัลที่ 1 จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 56 ร่วมถึงเข้าร่วมแสดงงานศิลปะนานาชาติในอีกหลากหลายประเทศ

เกรียงไกร โดดเด่นด้วยลายเส้นและการนำเสนอภาพภายในจิตใจด้านลึกของมนุษย์ ผลงาน ‘The Lost Heaven’ กล่าวถึงอารมณ์ปรารถนาอันเป็นนิรันดร์ที่ผุดขึ้นจากจิตใต้สำนึกและมนุษย์ไม่สามารถสะกดกลั้น แม้จะพยายามใช้ความดีข่มไว้

ก็ตาม ปีศาจมีปีกที่แสยะเขี้ยวกำลังต่อสู้กับอสรพิษ พืชพันธุ์และไม้ดอกอันน่าพิศวง ต่างนำเสนอสภาวะหายนะแห่งจิตวิญญาณ เป็นการยากที่จะนำเสนอเหล่ามารแห่งโลกใต้พิภพในรูปแบบสิ่งมีชีวิต ที่พอจะนึกจินตนาการได้ในโลกแห่งความจริง หากเพียงสามารถแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้เพียงการนำเสนอความชั่วสามานย์ ปีศาจเหล่านี้คือนรกบนโลกมนุษย์นั้นเอง

 

เกียรติ อนันนต์ เอี่ยมจันทร์_ อาละวาด, 2016, 80x100, Acrylic on Canvas

เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์

เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์ ศิลปินศิลปะร่วมสมัยในผลงานจิตรกรรมแนวเหนือจริง จุดเด่นคือการนำเอาภาพจิตรกรรมไทยมาผสมผสานกับการ์ตูนแนวเหนือจริง เพื่อสื่อสารเรื่องราวในจินตนาการของศิลปิน บวกเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว และภาวะทางความรู้สึกของศิลปินที่มีต่อเหตุการณ์ในช่วงเวลาต่างๆ ทำให้เกิดเรื่องราวของโลกความเป็นจริงที่ถูกผนวกร่วมเข้ากันกับโลกจินตนาการ

ในนิทรรศการครั้งนี้ศิลปินตีความ สติ คือการรับรู้อย่างเข้าใจ กับความคิด การเรียบเรียง และการจัดการอารมณ์

ที่เกิดขึ้น ผลงาน ‘อาละวาด’ เป็นการแสดงสถานะของเด็กที่เก็บกักสะสมพลังงานบางอย่าง หยั่งลึกอยู่ภายในจากภวังค์

อันมืดมิด ที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่รู้ด้วยใจ และ กาย มิใช่การเผาไหม้เพื่อวอดวายแต่เป็นพลังอันเพลิดเพลินที่เต็มไปด้วยความสุขล้นปรี่ เมื่อถึงเวลาจะระเบิดตัวตน เพื่อก่อสภาวะใหม่ ด้วยรูปลักษณ์ใบหน้ามนุษย์ กับความเคลื่อนไหวทาง “ความคิด” โดยเสรี ผ่านจิตรกรรมร่วมสมัย กึ่งนามธรรม (Semi-Abtract) ในขณะที่จิตภายในพรุ่งพล่าน สติ เป็นตัวกำหนดรู้สภาวะ

 

รักสนุก, 90x60 cm ,สีน้ำมันบนผ้าใบ, 2016  ปราริชาติ  Parichart  Suphaphan

ปาริชาติ ศุภพันธ์

ปาริชาติ ศุภพันธ์ ศิลปินหญิงมากความสามารถของไทย ผู้นำเสนอมุมมองที่หลุดพ้นออกจากกรอบของความเป็นหญิงในสังคม ด้วยการนำเสนอแนวความคิดและการเสียดสี ต่อมายาคติทางสังคมในเรื่องของเพศ และบทบาทต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นจากความคาดหวังทางสังคม

ปาริชาติมักจะเลือกใช้ตนเองเป็นแบบในการวาดภาพเหมือนในอิริยาบถต่างๆ สะท้อนถึงตัวตนที่มีความสุข และความเชื่อมั่นในตนเอง จากความรู้สึกหลุดพ้นจากกรอบของมายาคติที่รายล้อม สู่พื้นที่ทางศิลปะของศิลปินหญิงในไทย ซึ่งเปิดกว้างให้เธอได้แสดงมุมมองและความคิดของตนได้อย่างอิสระ

ผลงาน ‘รักสนุก’ แสดงภาพชีวิตธรรมดาๆ ที่เปี่ยมแน่นไปได้ด้วยความหลากหลายทางการแสดงออกในสังคมบริโภคนิยม ขับเน้นด้วยการแสดงออกทางวัตถุสิ่งของมากมายที่รายล้อม รวมถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายภายนอกของผู้หญิง ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อ ทางความงาม ความโก๋เก๋ และรสนิยมแห่งยุคสมัย ในสภาวะสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยภาพลักษณ์ในอุดมคติ ค่านิยม

 

Untitled, กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน, Oil on canvas, 100x120 cm

กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน

กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มีผลงาน

จัดแสดงทั้งเดี่ยวและกลุ่ม อาทิ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘Marine Dance’ นิทรรศการ ‘Dazzling Colors’ จัดแสดงร่วมกันกับศิลปิน โอภาส โชติพันธวานนท์ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘Landscape Paintings’ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำศักดิ์ เป็นศิลปินเพียงไม่กี่คนในประเทศไทยที่สร้างสรรค์ผลงานเชิงนามธรรม จากความชื่นชอบที่มี่ต่อแสง สี และแสง ที่ผ่านการลดทอนรูปทรง และเพิ่มขอบเขตในการสื่อสารเรื่องราวระหว่างผลงานและผู้ชม

โดยผลงานจิตกรรมนามธรรมของกำศักดิ์นั้น ได้รับแรงบันดาลใจจาก รูปทรง สี และแสงที่เห็นและเกิดขึ้นในธรรมชาติ ที่มีความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง อย่างไม่หยุดนิ่ง แล้วจึงหยิบยืมผสมผสานสิ่งเหล่านี้ สะท้อนจินตนาการและความรู้สึกที่มีพริบตาต่อช่วงเวลาที่เกิดขึ้น ความเคลื่อนไหว เมามายในการใช้เลือกสีสันซึ่งขับเน้นด้วยสีแดง ผ่านลักษณะของการสะบัดฝีแปรงอย่างรุนแรง เฉียบพลัน แล้วจึงเปลี่ยนแปลงกลับคืนสู่ความสงบนิ่ง

 

นกเค้าแดง, 2016, เทคนิคสีอะคริลิก และทองคำเปลว

วิทยา ถานะกอง

ศิลปินรุ่นใหม่จากดินแดนล้านนา ผู้มีผลงานโดดเด่นด้วยงานเขียนลายเส้นบนผืนผ้าใบ วิทยาเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะและเริ่มสร้างชื่อขึ้นในวงการประกวด โดยได้รับรางวัลศิลปกรรมเหรียญเงินจากงานประกวดศิลปกรรมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 6 รางวัลที่ 3 จากผลงาน ‘แย่งชิง’ ในโครงการประกวดผลงานศิลปกรรมเยาวชนภาคเหนือ โดยผลงานของวิทยาส่วนใหญ่จะจัดแสดงอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

ผลงาน ‘นกเค้าแดง’ ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ และความชื่นชอบของศิลปินที่มีต่อรูปทรงของสัตว์ โดยวิทยาเลือกใช้นกฮูกในรูปลักษณ์ที่แสดงออกถึงสายตาเฉียบคม ถ่ายทอดออกมาด้วยลายเส้นบวกกับจินตนาการส่วนจนในลักษณะของการตัดเส้นแบบจิตรกรรมไทย อนึ่ง นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของ ปัญญา ความโชคดี อันเป็นผลลัพธ์จากการกระทำที่เกิดจาก ‘สติ’

 

การมองด้วยใจ, เทคนิค สีอะคริลิกบนผ้าใบ

โอภาส ดวงจิตร

โอภาส ดวงจิตร มีผลงานโดดเด่นในด้านงานภาพพุทธศิลป์ โดยมีผลงานทั้งนิทรรศการเดี่ยว ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ นิทรรศการ ‘งานศิลปะมงคลชีวิตกับการ์ตูน’ อีกทั้งยังได้ร่วมงานกับอลงกรณ์ หล่อวัฒนา ในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันอีกหลายงาน อาทิ ภาพเขียนฝาผนังเรื่อง ‘พระมหาชนก’ และ ‘พระเวสสันดรชาดก’ ณ อำเภอ แม่นาเรือ จังหวัดพะเยา และภาพเขียน ‘ปฏิจจสมุปบาท’ เป็นต้น

โอภาส เป็นอีกหนึ่งศิลปินมากความสามารถ ที่นอกจากจะสร้างสรรค์งานภาพจิตรกรรมแล้ว ผลงานของเขายังมีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบ และวิธีการนำเสนอตั้งแต่งานสูจิบัตร ภาพประกอบสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไปจนถึงงานโฆษณา

ปัจจุบันโอภาสย้ายถิ่นฐานมายังจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อนำความรู้ทางศิลปะของตนติดตัวมาสอนให้กับเด็กๆ โดยใช้เป็นสื่อกลาง

ในการสื่อสารเรื่องราวทางพุทธศาสนา เพื่อให้เข้าใจถึงหลักธรรมพื้นฐานในศาสนาพุทธ ถึงความตั้งอยู่ ดับไป คือความเปลี่ยนแปลงอันเป็นอนิจจังและธรรมดาสามัญของโลก

ผลงาน‘การมองด้วยใจ’ บอกเล่าเรื่องราวของจิต และการรับรู้ถึงอิสรภาพในกายและใจ รู้เรื่องการหยุดนิ่งในอดีต เป็นการปฏิบัติงานศิลปะเพื่อเคาะประตูหัวใจพร้อมด้วยชีวิต ให้รับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ไม่ต้องเป็นทาสทางใจ ไตร่ตรองมองหลักแล้วสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีความสุขในขณะหนึ่ง ทิ้งไว้เป็นสมบัติของโลกแล้วรอการมองด้วยตาใจจะเบิกบานเอง

 

Existences season, 2016, เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ

วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ (อายิโนะ)

วีรพงษ์ ศรีตระกูลกิจการ จิตรกรนักวาดรูปและศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้นอกขนบ สำเร็จการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) และปริญญาโทเป็นที่รู้จักจากวงการการประกวด ด้วยแนวทางทางศิลปะของการเล่าเรื่องนอกขนบกลวิธีของภาพเล่าเรื่อง

ผลงานของวีรพงษ์นั้นมีการแสดงออกที่หลากหลายผันเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา และประสบการณ์ที่ตนสัมผัส สะท้อนถึงเรื่องราวทางอารมณ์ และความคิดที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่พบเจอในชีวิต ทำให้รูปแบบของผลงานมีความเปลี่ยนแปลง และยืดหยุ่น วีรพงษ์ มีผลงานจัดแสดงอย่างสม่ำเสมอทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รางวัลมากมาย อาทิ รางวัลเหรียญทอง ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 51 เหรียญเงิน การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 54 เหรียญทองแดงการแสดงศิลปกรรม แห่งชาติ ครั้งที่ 52 ครั้งที่ 53 และครั้งที่ 55 รางวัลHonorable Mentions 10th International Biennial Engraving ‘Josep de Ribera’ Xativa, Spain เป็นต้น

ความรักและความหลงไหลในงานศิลปะของศิลปิน เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง

บนเส้นทางศิลปะในฐานะจิตรกร ด้วยการยืนหยัด ศรัทธา และซื่อสัตย์ต่อความคิดของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น ประดับไว้เป็นเกียรติแห่งชีวิต คือเกียรติแห่งจิตรกร เพื่อพิสูจน์ถึงคุณค่าและทัศนคติในการสร้างสรรค์ผลงานที่ขัดแย้ง และคู่ขนานกันไปกับมายาคติทางสังคมถึงบทบาทของศิลปิน

 

หลง, 2016, สีอะคริลิกบนผ้าใบ

ชัชวาล รอดคลองตัน

ชัชวาลก้าวเข้าสู่วงการศิลปะโดยกำหนดแนวทางให้กับตัวเองเรื่อยมา หลังจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานศิลปะในฐานะศิลปินอิสระ และได้พาตัวเองเข้าสู่วงการประกวด จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ รางวัลประกาศเกียรติคุณ จากการแสดง ‘ศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6’ โดยบริษัท ฟิลลิป มอริส รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดงบัวหลวงประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี นิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 25 รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 (Grand Prize) The BEPPU Asia Biennale of Contemporary Art 2007 ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น รวมถึงนิทรรศการศิลปะหลากหลายงานทั้งงานเดี่ยวและกลุ่ม จนเป็นที่รู้จักในฐานะของศิลปินงานจิตรกรรมร่วมสมัย ด้วยแนวทางศิลปะจิตรกรรมตะวันตกที่ตนได้ศึกษามาผสมผสานเข้ากับงานพุทธศิลป์ของไทยซึ่งเป็นความหลงไหลของตนเอง ทำให้เกิดรูปแบบของงานที่โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคของงานจิตรกรรมที่มีการตัดกันระหว่างแสง ช่วยสร้างบรรยากาศให้กับผลงานแต่ละชิ้น

ผลงาน‘หลง’ บอกเล่าถึงสาเหตุแห่งทุกข์ซึ่งมีที่มาจากความหลงไหล และความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความอยากได้ อยากมี อยากครอบครองการสร้างกับดักแห่งความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจของมนุษย์ ความรู้พ้นด้วย ‘สติ’ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญแห่งความระลึกรู้ ถึงอนิจจังแห่งสรรพสิ่งนั้นล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับเสื่อมไป เมื่อปล่อยวางได้จึงประสพพบสุขอย่างสมดุล

 

Hangover อยากจำกลับลืม, สีอะคริลิกบนลินิน

สุวิทย์ มาประจวบ (ราฮวม)

สุวิทย์ มาประจวบศิลปินรุ่นใหม่ที่โดดเด่นมาจากงานประติมากรรม สำเร็จการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับสอง) และปริญญาโทดีกรีหนึ่งเหรียญทอง (ประติมากรรม) โดยได้รับรางวัลจากงานประกวด อาทิ รางวัลยอดเยี่ยม Young Thai Artist ในปี 2547 และผลงานการแสดงนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่ม เช่น การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 52 นิทรรศการศิลปะอ่อนนุช นิทรรศการศิลปะ SEE FOOD

ผลงาน ‘Hangover อยากจำกลับลืม’ เป็นการหยิบยกเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการดื่ม เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นออกจากกรอบของความทุกข์ พร้อมอาการปวดหัวในตอนเช้าหลังตื่นนอนที่ถูกซ่อนเอาไว้ และดำเนินชีวิตต่อไปสภาวะความอ่อนแอภายในจิตใจ ปกปิดเอาไว้ด้วยชุดเกราะที่ดูเข้มแข็ง และแข็งแกร่ง พร้อมรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันใหม่ๆ ที่จะต้องเผชิญหน้า

 

Theekawut Boonvijit_Febuary Love, Arcylic on canvas,

ฑีฆาวุฒิ บุญวิจิตร

ฑีฆาวุฒิ บุญวิจิตร จบการศึกษาสาขาจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีผลงานศิลปะและได้รับรางวัลจากงานประกวดหลายงาน อาทิ รางวัลเหรียญทองนิทรรศการศิลปะเด็กนานาชาติ ครั้งที่ 11 ประเทศฟินแลนด์ รางวัลดีเด่นศิลปกรรม Young Thai Artist Award 2006 มูลนิธิซีเมนต์ไทย รางวัลยอดเยี่ยมจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 12 รางวัลอันดับสอง สนับสนุนกระทรวงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 57 เป็นต้น รวมไปถึงนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่ม อาทิ ผลงานการแสดงนิทรรศการ ‘รัตติกาลแห่งฝัน’ นิทรรสการจิตรกรรม ‘หุ่นนิ่งและทิวทัศน์ – Still Life and Landscape Painting Exhibition’ นิทรรศการ ‘เส้นทางสู่ศิลปะ’ The Way to Art และนิทรรศการ ‘Dramathais’ ร่วมกันกับศิลปิน ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล และปรียวิศว์ นิลจุลกะ

ผลงาน ‘Febuary Love’ นำเสนอมุมมองที่มีต่อ ‘ความรัก’ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่เราสามารถรับรู้สภาวะความไร้พันธนาการและอิสรภาพได้ด้วยสัมผัสทางใจ การพรางสายตาของเราเอาไว้จึงช่วยให้เราสามารถรับรู้ความรู้สึกถึง ‘ความรัก’ ซึ่งก้าวผ่านความหลงใหลไปสู่นัยยะแห่งความรักที่แท้จริง

 

WC (men, women) กฤษฏางค์ อินทะสอน 90 x 60 cm (รวมสองชิ้น)

กฤษฎางค์ อินทะสอน

กฤษฎางค์ อินทะสอน เกิดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายจบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการศึกษากฤษฎางค์ ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการมากมาย อาทิ นิทรรศการ ‘การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ’ นิทรรศการ ‘พันธนาการกับคำลวงที่หอมหวาน’ ณ One East Asia art space ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

นอกจากนี้กฤษฎางค์ ยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมายจากหลายเวทีการประกวด ทั้งรางวัลสนับสนุน โดยธนาคารกรุงไทย ‘รางวัลที่ 2 ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 59’ รางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง ‘จิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ 34’ รางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน ‘ศิลป์ พีระศรีศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์’ ครั้งที่ 28 เป็นต้น ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปศึกษาดูงานศิลปะนิทรรศการเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 54 ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี เป็นตัวแทนนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างคณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับ The college of arts, Hue university เมือง Hue ประเทศเวียดนาม

ผลงานที่โดดเด่นด้วยเทคนิค และลายเส้นที่เป็นเอกลักษณของศิลปิน ด้วยการผสมผสานแนวทางความเป็นจิตรกรรมพื้นบ้านล้านนาเข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ เกิดเป็นรูปแบบงานจิตรกรรมไทยภาคเหนือร่วมสมัยขึ้น

โดยภาพ WC men และ WC women นำเสนอคู่กันนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากป้ายสัญลักษณ์หน้าทางเข้าห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง ผนวกรวมเข้าด้วยกันกับลายเส้นจิตรกรรมพื้นบ้านล้านนา ด้วยแนวความคิดที่มาจากพฤติกรรมโดยปกติของนักดื่ม ที่ต้องการเข้าห้องน้ำเพื่อทำกิจกรรมส่วนตัว

 

ชัยณรงค์ กองกลิ่น_Wave _คลีน_, 2016, สีน้ำมันบนผ้าลินิน, 60x80

ชัยณรงค์ กองกลิ่น

จากความชอบทางศิลปะที่มีมาตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลให้ชัยณรงค์พัฒนาฝีมือทางศิลปะของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยมีพัฒนาการของงานมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ตามงานนิทรรศการ และงานประกวดมากมาย ทั้งนิทรรศการกลุ่มและเดี่ยว อาทิ

งานแสดงศิลปะ ณ Parson School of Design in New York ประเทศสหรัฐอเมริกา การแสดงงาน 5 ศิลปิน ครบรอบ 72 พรรษา มหาราชินี ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และรางวัลจากงานประกวดต่าง อาทิ รางวัลดีเด่น การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 9 รางวัลรองชนะเลิศการแสดงศิลปะ Young Artist ของบริษัทเครือซีเมนต์ไทย และรางวัลชนะเลิศการประกวดโนเกียอาร์ตอวอร์ดเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 1 เป็นต้น

พัฒนาการทางผลงานของชัยณรงค์มาจากประสบการณ์ อารมณ์ และความคิดเห็นส่วนตัวของศิลปินที่ตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในแต่ละช่วงอายุ รวมเข้ากันกับความสนใจในฟิกเกอร์เรทีฟอาร์ท เพื่อสะท้อนถึงปัญหา และผลพวงจากสิ่งที่มนุษย์กระทำ

ผลงาน ‘คลื่น’ ใช้เรือเป็นตัวแทนในการบอกเล่าถึงสภาวะภายในความรู้สึกของศิลปิน ที่มีต่อประสบการณ์ชีวิต เส้นทางการเดินทางของมนุษย์ที่ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ เปรียบเสมือนคลื่นลม มรสุม ที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย เสียสมดุลไปในแต่ละช่วงจังหวะของชีวิต คล้ายอาการมึนเมา การจะนำพาตัวตนของเราให้ผ่านพ้นไปจากสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี จึงต้องพึ่งพาสติเพื่อให้ผ่านพ้นคลื่นลมเหล่านั้น

 

คืนเหงากับทุ่งเห็ดเมา, เทคนิค สีอะคริลิกบนผ้าใบ, 2559  A Lonely Night with Magic Mushroom, Acryl2

นพนันท์ ทันนารี

นพนันท์ ทันนารี ศิลปินรุ่นใหม่จากเชียงราย จบจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยปริญญาตรีภาควิชาศิลปะไทย และกำลังศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาควิชาศิลปะไทยเช่นกัน โดยมีผลงานนิทรรศการทั่งเดี่ยวและกลุ่ม อาทิ นิทรรศการ ‘ทรรศนะ – ไทย’ ณ หอศิลป์จามจุรีกรุงเทพฯ นิทรรศการ ‘บรรยากาศแห่งความสงบ’ หอศิลป์จามจุรีกรุงเทพฯ นิทรรศการ ‘มรรคแห่งรูป-นาม’ ณ 9 Art gallery จ.เชียงราย และรางวัลจากงานประกวด ทั้งรางวัลดีเด่นจากโครงการรางวัลศิลปะเพื่อเยาวชนไทย ๒๕๕๔ สาขาศิลปะ ๒ มิติโดย มูลนิธินิธิเอสซีจี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ๒ จิตรกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (เกี่ยวกับช้างไทย) เป็นต้น

ผลงานของนพนันท์โดดเด่นด้วยภาพวาดของหนองน้ำ และทิวทัศน์ที่แฝงไว้ด้วยความสงบนิ่ง มีแรงบันดาลใจจากความคิดในการพัฒนางานศิลปะที่ดีควบคู่ไปกับการพัฒนาชีวิต ผลงานวาดเส้นที่ปรากฎจึงเป็นหนึ่งในรูปแบบของการพัฒนาจิต และชีวิต คล้ายคลึงกับการปฏิบัติธรรม โดยมีทิวทัศน์ทางธรรมชาติเป็นปูมหลักในการสื่อสารเรื่องราวจากโลกภายในจิตใจสู่ภายนอก

ผลงาน ‘คืนเหงากับทุ่งเห็ดเมา’ แสดงสภาวะภายในจิตใต้สำนึกของศิลปิน ท่ามกลางความอ้างว้างเหมือนฝัน คล้ายมึนเมาขาดสติ ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่เต็มไปด้วยเหล่าเห็ดเมาสวมหมวก กำลังเริงระบำอ่อนเอนไหว คลอเคล้ากันไปกับแสงดาวระยับบนฟ้า

 

บทสนทนา ว่าด้วยเรื่องเมืองสยาม , 100x80 cm  สีอะคริลิคบนผ้าใบ  2016  , ธีรวัฒน์  นุชเจริญผล

ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล

จอร์จ ธีรวัฒน์ นุชเจริญผล ศิลปินแนวจิตรกรรมไทยรุ่นใหม่ จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร มีผลงานทางศิลปะมากมาย ทั้งนิทรรศการกลุ่มและเดี่ยว อาทิ ผลงานนิทรรศการ ‘คุณพระช่วย (Oh My God)’ นิทรรศการกลุ่ม ‘Dramathais (ดราม่าไทส์)’ และยังได้รางวัล อาทิ รางวัลที่ 2 เหรียญเงินบัวหลวง จิตรกรรมไทยแนวประเพณี นิทรรศการ ‘จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 32’

ผลงานของธีรวัฒน์ นิยมหยิบยกประเด็นวัฒนธรรม ความคิดและวิถีชีวิตไทย นำเสนอผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ผสมผสานแนวทางจิตรกรรมไทย เข้าด้วยกันกับแนว Pop Symbol สอดแทรกสัญลักษณ์บางอย่างเอาไว้ในภาพ สะท้อนเรื่องราวของจิตใจมนุษย์ด้วยการเสียดสีสังคม และตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการขบคิด โดยนำเอาคติความเชื่อทางพุทธศาสนามาแฝงเข้าไว้ด้วยกัน

ผลงาน ‘บทสนทนาว่าด้วยเรื่องเมืองสยาม’ แสดงภาพบทสนทนาระหว่างศิลปินไทยและศิลปินตะวันตก ที่ไม่เพียงเผชิญขอบเขตทางภาษา แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับขอบเขตทางวัฒนธรรม และความเคอะเขินในการทำความรู้จักกันเมื่อแรกพบซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวงเหล้านี้เอง ช่วยผ่อนบรรยากาศอันตึงเครียดเหล่านี้ลงไป และขับเคลื่อนสู่ใจความแห่งบทสนทนาที่แท้จริง

 

ผศ.ธณฤษภ์ ทิพย์วารี - เมาแดด, Oil on canvas, 80 x 100 cm

ผศ.ธนฤษภ์ ทิพย์วารี

ธนฤษภ์ ทิพย์วารี ศิลปินจากรั้วมหาลัยศิลปากร หลังจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์

ก็เริ่มต้นเส้นทางสายศิลปะด้วยการกวาดรางวัลจากเวทีประกวดต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และ 50 ประกาศนียบัตร ศิลปกรรมยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส และ รางวัลดีเด่น ศิลปกรรมร่วมสมัย พานาโซนิค เป็นต้น

ผลงานส่วนใหญ่ของธนฤษภ์คือการวาดภาพเหมือนบุคคล (Portrait) มีผลงานจัดแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากสร้างสรรค์งานศิลปะแล้ว ธนฤทธิ์ยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์และทักษะของตนเองในฐานะอาจารย์ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลงาน ‘เมาแดด’ หนึ่งในผลงานภาพเหมือนบุคคล โดยมีตัวศิลปินเองเปนต้นแบบของภาพ หันหน้าและหยีตาสู้แสงแดดที่ส่องกระทบ จนร่างกายอ่อนเพลีย ขาดน้ำ ทำให้ปวดหัว เช่นเดียวกันกับอาการเมาที่ทำให้ขาดสติ

 

มานิตย์ (พี่เขียว) - เมารัก, Arcylic on linen, 60x80

มานิตย์ ศรีสุวรรณ

มานิตย์ ศรีสุวรรณ จบการศึกษาสาขาทัศนศิลป์ ภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีผลงานนิทรรศการทั้งกลุ่มและเดี่ยวอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่จบจากรั้วการศึกษา อาทิ ผลงานแสดงนิทรรศการเดี่ยว ‘Hope: Me My Mind : Part II’ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘นัยจิต’ Me My Mind ผลงานแสดงนิทรรศการกลุ่ม ‘Double Great For Charity III’ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘The Autopsies Live in Bangkok’

ผลงาน ‘เมารัก’ นำบทกลอนโคลงหนึ่งจาก ‘นิราศภูเขาทอง’ ที่ศิลปินบรรจงเลือกมาใช้เพื่อประกอบกับภาพวาดของตนเอง ต้องการสื่อให้เห็นถึงพลังของความรักที่แม้จะไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดใดมากระตุ้น ก็สามารถทำให้ผู้ที่หลงอยู่ในภวังค์เกิดการอาการมึนเมาได้ ศิลปินเลือกให้หุ่นวีนัสเทพีแห่งความรักของชาวตะวันตกเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออก และนำบทกลอนของไทยมาบรรยายความรู้สึก เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันและเป็นการสื่อสารออกไปอีกว่าความรักถือเป็นสิ่งสากล ไม่ว่าชนชาติไหนก็สามารถเมารักได้เช่นกัน

 

รักหลับ  Sleep ปี้ Love , 100x120 cm,,สีน้ำมัน สีอะคริลิคบนผ้าใบ 2016  , ณเรศ จึง

ณเรศ จึง

ณเรศ จึง จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ภาควิชาจิตรกรรมมีผลงานการนิทรรศการจัดแสดงเรื่อยมา อาทิ งานแสดงศิลปะเนื่องในวันเกิดเพาะช่างครบรอบ 89 ปี งานแสดงนิทรรศการจานสี ที่ Moca งานแสดงนิทรรศการเดี่ยว ‘สามสิ่ง’ ที่ The National Gallery Bangkok งานแสดงนิทรรศการกลุ่ม ศิลปกรรมสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทยครั้งที่ 8 ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ณเรศ จีง สร้างผลงาน ‘รักหลับ Sleep ปี้ Love’ ด้วยกลวิธีศิลปะแห่งการหยิบยืม (Appropriation)จากการนำเอาภาพ ‘The Naked Maja’ ของศิลปิน Francisco Goya โดยหยิบยืมเอาสรีระและอิริยาบถการวางท่าทางมาบอกเล่าใหม่ในสีสันสดใส เพิ่มเรื่องราวด้วยการหลับตาของหญิงสาวที่เชื้อเชิญให้ผู้ชม (ลักหลับ) มองไปยังเรือนร่างขณะหลับของเธอ

 

รักเดียว , 100x80 cm,สีอะคริลิคบนผ้าใบ  2016  , ห่มสวรรค์  อู่ม่านทรัพย์

ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์

ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์ จบการศึกษาสาขาศิลปไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และกำลังศึกษาต่อระดับ ปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์ โดยมีผลงานนิทรรศการกลุ่มและเดี่ยว อาทิ ผลงานนิทรรศการ‘ไกลกังวล’ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘สายน้ำที่ไหลย้อนกลับ’ นิทรรศการ ‘ฮีต บวก ครองทานองชนบท’ ผลงานแสดงนิทรรศการกลุ่ม ‘อมตะ อาร์ต อวอร์ด’ นิทรรศการ ‘งอกเงยด้วยธรรม งดงามด้วยศิลป์’ รวมถึงได้รับรางวัลจากการประกวดอีกหลายงาน อาทิ รางวัลผู้สร้างคุณประโยชน์ด้านศิลปะวัฒนธรรม กระทรวงศิลปะวัฒนธรรม รางวัลเหรียญเงิน ศิลปินรุ่นเยาว์ครั้งที่ 23 และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

ผลงาน ‘รักเดียว’ เป็นภาพที่ถอดมาจาก ‘Self-portrait with bandaged ear” ของ Van Gogh ศิลปินที่อุทิศทั้งชีวิตเพื่อสิ่งเดียวคือ ‘ศิลปะ’ ผลงานถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานต่างๆ ที่มีต่อหูที่หายไปของแวนโก๊ะ เมื่อแวนโก๊ะ ให้เหตุผลที่ตัดหูตัวเองว่า “it was a purely personal matter (มันเป็นเหตุผลส่วนตัวล้วนๆ)” ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าตัวบอก แต่กลับไม่มีใครใส่ใจที่จะรับฟัง ‘รักเดียว’ จึงตั้งคำถามกลับถึงเหตุผลในการตัดหูของแวนโก๊ะ ว่าจำเป็นจริงๆ หรือที่เราจะต้องเข้าใจเหตุผลเหล่านั้น ในเมื่อศิลปินคนหนึ่ง ได้อุทิศชีวิตทั้งหมดของเขาเพื่องานศิลปะที่เป็น ‘รักเดียว’

 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ลำพู กันเสนาะ

ลำพู กันเสนาะ ศิลปินหญิงรุ่นใหม่เป็นที่จดจำจากภาพพอร์เทรต ที่คนในภาพมีลักษณะที่ถูกยืดและหดให้มีสัดส่วนผิดเพี้ยนไปจากของจริง สื่อถึงอารมณ์ขบขัน และจริงใจของศิลปิน ที่มีต่อเรื่องราวที่ตนต้องการสื่อสาร

ผลงานของลำพู ได้รับรางวัลมากมายจากหลากหลายเวทีการประกวด อาทิ ‘นางสาวภาพยนตร์’ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะสองมิติ จากงาน Young Thai Artist Award ครั้งที่ 3 รางวัลยอดเยี่ยมเกียรตินิยมเหรียญทองศิลป์ พีระศรี จากการประกวดศิลปกรรมรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 24 และอีกหลายรางวัลที่การันตีถึงฝีมือของลำพู ถึงความสามารถในการสื่อสารเรื่องราวความแตกต่างระหว่างเมืองและชุมชนชนบท ด้วยมุมมองตลกขบขัน ผ่านตัวละครที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในภาพวาดของเธอ เพื่อกลบลบความดุดัน และความเสียดสี อีกทั้งยังคงแฝงถึงคุณค่าของชีวิตและคุณธรรมของคน ในความเรียบง่ายของเรื่องราวในชีวิตประจำวัน

ผลงาน ‘I’m Sorry, I love you’ สะท้อนเรื่องราวที่เป็นความคุ้นชินของคนไทย แต่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก ด้วยแนวความคิดที่ว่า “ถ้าเป็นไทยใครๆ ก็รู้”

 

ก่อนฝนตก, เทคนิค สีน้ำมันบนไฟเบอร์กลาส, 2016

วิษณุพงษ์ หนูนันท์

วิษณุพงษ์ หนูนันท์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิจิตรศิลป์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และระดับปริญญาโทจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นอกจากนี้วิษณุพงษ์ยังเดินสายกวาดรางวัลจากเวทีการประกวดต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 จิตรกรรมร่วมสมัย พานาโซนิค ครั้งที่ 10 ได้รับ ทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ “มูลนิธิพลเอก เปรม ติณสูลานนท์” ประจำปี 2551

รางวัลเกียรตินิยมยอดเยี่ยม เหรียญเงิน ‘ศิลป์ พีระศรี’ ศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 รางวัลประกาศเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 55 เป็นต้น ในด้านงานนิทรรศการวิษณุพงษ์มีงานแสดงออกมาอย่างสม่ำเสมอทั้งนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่ม

ผลงาน ‘ก่อนฝนตก’ ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ สติ ศิลปินใช้เทคนิคสีน้ำมันบนไฟเบอร์กลาส นำเสนอภาพหญิงสาวเปลือยครึ่งตัวนั่งสูบซิก้าพร้อมกับแก้วเครื่องดื่มบนโต๊ะ ควันของซิก้าที่ลอยขึ้นมาบดบังใบหน้าส่วนหนึ่งของหญิงสาว ดวงตาที่หลับพริ้ม ใบหน้าปราศจากอารมณ์คล้ายกำลังคิดบางอย่าง ศิลปินต้องการใช้ควันซิก้าเพื่อปกปิดน้ำตาที่กำลังจะไหลรินของหญิงสาว พร้อมตั้งคำถามว่า หากมีน้ำตาแล้วทำไมถึงไม่ปล่อยให้ไหลออกมาตามธรรมชาติของมัน น้ำตาอาจทำให้หลายสิ่งหลายอย่างชัดเจนขึ้น เหมือนช่วยดึงสติของเราให้กลับมาอีกครั้ง

 

Black David, 2017, เทคนิค สีอะคริลิกบนผ้าใบ

วุฒิกร คงคา

วุฒิกร คงคา จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 38 รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรมศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 43 และรางวัลทุนเกียรติยศ ศิลป์ พีระศรี เป็นต้น

ผลงาน ‘Black David’เป็นการนำเอาภาพถ่ายของ ‘เดวิด’ ผลงานคลาสสิคของศิลปินชั้นยอดของโลก ไมเคิล แองเจโล รูปสลักหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ ซึ่งถูกหยิบยกมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความงามทางศิลปะในอุดมคติ เดวิดมักถูกนำมาผลิตซ้ำหลากหลายบริบทในศิลปะร่วมสมัยอยู่เสมอ ศิลปินจึงเลือกนำภาพถ่ายของเดวิดที่มักจะปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือของสื่อสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆ นี้ มาเลียนแบบโครงสร้างและสร้างน้ำหนักโดยใช้สีอะคริลิกถมแสงเงาบนผ้าใบสีขาวผ้าใบสีขาวเหมือนกับงานวาดเส้นผสมกับจิตรกรรม เพื่อเลียนแบบความกลมและความขาวของระบบการพิมพ์ ผสมผสานด้วยลวดลายเชิงนามธรรม ช่วยสร้างความสวยงามให้กับเดวิดในบริบทใหม่ กลายร่างกลมขาวให้อยู่บนระนาบแบน เพื่ออ้างอิงถึงความงามอมตะ และคลาสสิคที่ผสมกลมกลืนกับความงามร่วมสมัย

 

เจษฎา คงสมมาศ, Jessada Kongsommart, รื่นรมย์ใต้แสงจันทร์, Pleasing under the moonlight(Marula Tr2

เจษฎา คงสมมาศ

เจษฎา คงสมมาศ ศิลปินจากกาฬสินธุ์ จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มีผลงานการแสดงนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่ม อาทิ การแสดงผลงานจิตรกรรม ‘Origin of Cultures’ การแสดงผลงานสื่อผสม ‘Thai Smiles’ ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ นิทรรศการ ‘เรื่องเล่าจากพระจันทร์’ การแสดงนิทรรศการศิลปกรรมนานาชาติ ‘Art Raising Thoughts’ นิทรรศการศิลปกรรม ‘Contemporary Artists of Gallery One’ ณ ประเทศอินเดีย นิทรรศการศิลปกรรม ‘Five Feeling’ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ผลงาน ‘รื่นรมย์ใต้แสงจันทร์’ ว่าด้วยเรื่องของความหลงไหลในอาการมึนเมา โดยบอกเล่าผ่านต้นมารูล่า ที่เป็นผลไม้ที่มีผลให้เกิดอาการ ‘มึนเมา’ แต่ถึงกระนั้นเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ยังคงชื่นชอบ และมาสังสรรค์ร่วมกันใต้ต้นมารูล่า

 

โอภาส โชติพันธวานนท์ - Blissfully_Acrylic on Paper Sculpture_55 x 88 cm._2016

โอภาส โชติธวานนท์

โอภาส โชติพันธวานนท์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์มีผลงานนิทรรศการเดี่ยว อาทิ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘Sea faces’ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘Memory of Mind’ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘Colour of Life’ รวมถึงนิทรรศการคู่และกลุ่มอีกมากมาย อาทิ ผลงานแสดงนิทรรศการ ‘Coolsy Colors’ จัดแสดงร่วมกันกับศิลปิน ชลิต นาคพะวัน และรางวัลจากงานประกวดต่างๆ อาทิ รางวัลเกียรตินิยม เหรียญเงิน ‘ศิลป์ พีระศรี’ รางวัลทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี และTopten Asian Inspiration Winners’ Exhibition 2009 ประเทศอิตาลี

ผลงาน ‘Blissfully’ นำแนวความคิดของภาพสุดท้ายที่มองเห็นตอนเมา ทำให้เห็นภาพแยก โดยศิลปินนำเสนอผ่านรูปหน้าของคนที่แบ่งออกเป็นสองฝั่งกลับหัว สะท้อนภาวะการมองเห็นของคนเมาออกเป็นชิ้นงานด้วยอารมณ์ขบขัน ในสีสันที่สดใสแสดงถึงสภาวะเป็นสุขจากอาการมึนเมา

 

Untitled, อมรเทพ มหามาตร, Acrylic on canvas, 100x100

อมรเทพ มหามาตร

อมรเทพ มหามาตร จบการศึกษาจากสาขาภาพพิมพ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่มีความหลงใหลในศิลปะเซรามิกมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา จึงได้ไปขอเรียนรู้จากศิลปินเซรามิกหลายท่าน ทั้งในประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นในช่วงที่ไปศึกษาต่อ ณ Aichi University of Fine Arts and Music หลังจากนั้นจึงฝึกฝนและพัฒนางานให้เป็นแนวทางของตนเองเรื่อยมา รวมระยะเวลาที่ทำงานเซรามิคกว่า 25 ปี มีงานแสดงทั้งในและต่างประเทศหลายครั้งเช่น The 3rd Jakarta Contemporary Ceramic Biennale, Jakarta, Indonesia, The 2nd Southeast Asia Ceramic Conference, Fuping, China, and DAO Art Space in Xi’an, China เป็นต้น

ผลงาน ‘Untitled’ สร้างขึ้นด้วยแนวความคิดของความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ที่วนเวียนซ้ำไปมาในแต่ละวัน ทว่าเปลี่ยนไปทีละน้อยจนเราไม่ทันสังเกตเห็น การรับรู้และรับเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาล้วนพึ่งพาประสาทสัมผัสจากภายนอก และจึงสื่อสารจากภายใน ก่อให้เกิดเรื่องราวที่เรียบเรียงขึ้นผ่านความเปลี่ยนแปลงของชิ้นงาน ในบริบทที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของพื้นที่

 

Fun Fun Fun, 2016, Mixed Media

พลุตม์ มารอด

พลุตม์ มารอด จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานของเขาเคยถูกประมูลที่ Sotheby’s และ Christie’s ในงาน Southeast Asian Modern Contemporary Art ที่ประเทศฮ่องกง 3 ปีซ้อนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 – 2557 นอกจากนี้ เขายังร่วมงาน Art Stage Singapore 2016 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ผลงาน ‘Fun FunFun’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิต ที่หลงไหลในความสนุกความรื่นเริง ของชีวิต จากการเมาในรักและชีวิตผ่านภาพของหญิงสาวผู้หลงไหลในความสนุกจากการใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสี และสีสันของลายเส้น

Related contents:

You may also like...