“ร้อยบรรเลง เพลงพวงร้อย” ร้อยรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล คีตกรหญิงแห่งกรุงสยาม

33

เห็นบัวขาวพราวอยู่ในบึงใหญ่            ดอกใบบุปผชาติสะอาดตา
น้ำใสไหลกระเซ็นเห็นตัวปลา             ว่ายวนไปมาน่าเอ็นดู
หมู่ภุมรินบินเวียนว่อน                          คอยร่อนดมกลิ่นกินเกสร
พายเรือน้อยคล้อยเคลื่อนในสาคร      ค่อยพาจรห่างไปในกลางน้ำ

ความอ่อนหวานของท่วงทำนอง ผสานกับความงดงามทางวรรณศิลป์ และการขับร้องของบทเพลงอมตะ “บัวขาว” นำความรื่นรมย์ใจทุกครั้งที่ได้ฟัง เป็นหนึ่งในผลงานสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านผู้หญิงพวงร้อย (สนิทวงศ์) อภัยวงศ์ ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงชักชวนให้ท่านผู้หญิงพวงร้อย ประพันธ์ขึ้น เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟเก่า” โดยทรงพระนิพนธ์คำร้องมาประทานท่านผู้หญิงพวงร้อย ท่านผู้หญิงใช้เวลาประพันธ์เพลงดังกล่าวเพียง ๔๕ นาทีเท่านั้น เพลงบัวขาวได้กลายเป็นบทเพลงอมตะของชาติไทย และได้รับการยกย่องจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเชียของยูเนสโก ประเทศฟิลิปปินส์ ให้เป็น “เพลงแห่งเอเชีย” ในปี ๒๕๒๒ และได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล) ประจําปีพุทธศักราช ๒๕๒๙

ผลงานการประพันธ์เพลงของคีตกรหญิงคนสำคัญของไทย เป็นที่ยอมรับว่าสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและความหมายได้อย่างลึกซึ้งจับใจ ประกอบกับท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวานที่ผสานความเป็นไทยได้อย่างลงตัว ได้ถูกนำมาร้อยเรียงบรรเลงถ่ายทอดอีกครั้งในงานแสดงดนตรี “ร้อยบรรเลง เพลงพวงร้อย: An Exclusive Orchestral Concert” ๑๐๐ ปี คีตกรหญิงแห่งกรุงสยาม จัดโดย ธนาคารกสิกรไทย ในนามบริการเดอะวิสดอม ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมระลึกและเชิดชูเกียรติคุณ “ท่านผู้หญิงพวงร้อย
อภัยวงศ์” ศิลปินแห่งชาติในโอกาส ๑๐๐ ปี ชาตกาล

นายกฤษฎา ล่ำซำ รองประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทย ในนามบริการเดอะวิสดอม ได้คำนึงถึงคุณูปการของท่านผู้หญิงพวงร้อยที่มีต่อวงการดนตรีในประเทศไทย และเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีผลงานการประพันธ์เพลงอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จึงได้จัดแสดงดนตรี “ร้อยบรรเลง เพลงพวงร้อย: An Exclusive Orchestral Concert” และ นิทรรศการ “๑๐๐ ปี คีตกรหญิงแห่งกรุงสยาม” เป็นปีที่ ๒ เพื่อเชิดชูเกียรติ ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล โดยในครั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยยังคงได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จมาทรงเป็นประธานในงานดังกล่าว และยังได้รับความอนุเคราะห์สนับสนุนจากทายาทท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ และหอสมุดแห่งชาติที่ได้เอื้อเฟื้อข้อมูล วัตถุจัดแสดงของท่านผู้หญิงพวงร้อย

1

ภายในงานได้จัดแสดง “นิทรรศการ ๑๐๐ ปี คีตกรหญิงแห่งกรุงสยาม” จัดแสดงประวัติ ผลงาน ของสะสมและเครื่องดนตรี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดเพลงอมตะของท่านผู้หญิงพวงร้อยหลายบทเพลง ผลงานของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ในระยะแรกนั้นเป็นผลงานที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อประกอบภาพยนตร์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และประกอบการแสดงต่างๆ อาทิ เพลง “บัวขาว”, “เงาไม้”, “จันทร์เอ๋ย”, “ลมหวน” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานทรงคุณค่าที่ยังคงความสมบูรณ์ทั้งคุณภาพของภาพและเสียงร้อง ต่อมา ท่านผู้หญิงจึงเริ่มประพันธ์บทเพลงปลุกใจเพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดความรักชาติตามพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงบทเพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงประจำสถาบัน และบทเพลงในวาระพิเศษต่างๆ

การเรียงร้อยบทเพลงอันทรงคุณค่าของท่านผู้หญิงพวงร้อย ในการแสดงดนตรี “ร้อยบรรเลงเพลงพวงร้อย” An Exclusive Orchestral Concert โดยแบ่งเป็นช่วงต่างๆ กล่าวคือมีการ “ร้อง เต้น เล่นละคร” คือการ
ขับร้องเพลงโดยศิลปินแนวหน้าระดับประเทศ จินตลีลาประกอบเพลงวอลทซ์ และการแสดงละคร โดยนำเพลงของท่านผู้หญิงพวงร้อยมาร้อยเป็นเรื่องราว ทั้งหมดบรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อำนวยเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานขึ้นใหม่โดย ทฤษฎี ณ พัทลุง และยังได้รับเกียรติจาก มัทนพันธุ์
ดุละลัมพะ บุตรสาวท่านผู้หญิงพวงร้อย ในฐานะนักเปียโนรับเชิญกิตติมศักดิ์ และร่วมขับร้องโดย ธนชัย
อุชชิน, ธีรนัยน์ ณ หนองคาย, กิตตินันท์ ชินสำราญ, กรวิช เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พิจิกา จิตตะปุตตะ,
ดวงพร พงศ์ผาสุก, สาธิดา พรหมพิริยะ, กรกันต์ สุทธิโกเศศ

บทเพลงอมตะที่คงคุณค่าข้ามผ่านยุคสมัยด้วยความงดงามลงตัวของเนื้อร้องและท่วงทำนองหลากหลายบทเพลงของคีตศิลปินหญิงแห่งกรุงสยาม นำพาจินตนาการของผู้ฟังต้องมนต์เสน่ห์สุนทรียะของความอ่อนหวานไพเราะจับใจจากการเรียงร้อยบทเพลง ในการแสดงครั้งนี้มีการบรรเลง “เพลงวันเพ็ญ” ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “วันเพ็ญ” ซึ่งได้รับเกียรติจากหม่อมปริม บุนนาค นางเอกจากเรื่องวันเพ็ญ วัย ๙๐ ปี มาร่วมชมการแสดง “เพลงเปลี่ยวใจ” ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ปิดทองหลังพระ” ซึ่งมีการนำภาพยนตร์หายากมาฉายให้ชม และไฮไลต์เพลง “ร้อยบรรเลง เพลงพวงร้อย” ซึ่งทฤษฎี ณ พัทลุง นำ ๑๘ บทเพลงของท่านผู้หญิงมาร้อยเรียงใหม่ โดยให้ศิลปิน นักแสดง นักร้องประสานเสียง นักดนตรี กว่า ๑๒๐ ชีวิต ร้องบรรเลงพร้อมกัน

เพลงพวงร้อยที่ร้อยบรรเลงของ “ท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์” คีตกรหญิงแห่งกรุงสยาม ได้ร้อยรำลึกอดีตและยังก้องดังในใจของผู้คนในยุคปัจจุบันอย่างไม่รู้ลืม

7

9

19

31

32

37

Related contents:

You may also like...