ตอนที่แล้วเราได้กล่าวถึงสถาปัตยกรรมภายนอกและประวัติความเป็นมาของพระราชวังแห่งนี้ไปแล้วว่ามีความเป็นมาและมีรูปแบบที่สง่างามเพียงใด ในวันนี้คุณจะพบกับการตกแต่งภายในที่หรูหรา โอ่อ่าอย่างที่คุณต้องทึ่งเลยทีเดียว
บริเวณคอร์ทภายในวังสราญรมย์เป็นลานโล่งกว้างมีประติมากรรมน้ำพุประดับ ห้องที่เปรียบเสมือนท้องพระโรงของวังสราญรมย์ใช้เป็นห้องสำหรับลงนามในสนธิสัญญาสำคัญต่างๆที่หน้าห้องมี “ประตูบัวแก้ว” เป็นบานประตูไม้สัก 4 ชิ้น ส่วนบนเป็นรูปโค้ง มีลายแกะสลักฉลุสีทองเป็นตราบัวแก้วใหญ่ ตราบัวแก้วน้อยและดอกบัวหลวง
ประตูบัวแก้ว งดงามและสูงค่าด้วยการแกะสลักลวดลายฉลุทอง ถือเป็นของสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ติดตั้งอยู่ระหว่างตึกเก่าและตึกใหม่ ภาพที่เห็นเป็นด้านของตึกใหม่ เมื่อเปิดประตูผ่านเข้าไปจะเป็นห้องโถงใหญ่ซึ่งเป็นท้องพระโรงของวัง
ห้องเทววงศ์ อยู่ถัดจากท้องพระโรง ขนานนามไว้เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบิดาแห่งการทูตไทย ภายในห้องมีภาพเขียนเก่าของอิตาลีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อกลับมาเมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ภายในห้องเทววงศ์ฝ้าเพดานแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมด้วยไม้และเดินคิ้วทอง ผนังประดับภาพเขียนฝีมือช่างชาวอิตาเลียนซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงซื้อกลับมาเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรป รูปปั้นหินอ่อนสลักที่เห็นด้านขวาของภาพเป็นพระรูปของกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ(พระบิดาแห่งการทูตไทย)
ห้องไตรทศ ขนานนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย พระโอรสในกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งสืบจากพระบิดาเมื่อ พ.ศ. 2466 เดิมเคยใช้เป็นห้องทำงานของปลัดทูลฉลองและต่อมาได้ใช้เป็นห้องรับรองและห้องประชุมของกระทรวงฯ บริเวณมุมรับแขกภายในห้องไตรทศเดิมใช้เป็นห้องทำงานของปลัดทูลฉลอง
ภายในห้องโถงใหญ่ซึ่งเปรียบเสมือนท้องพระโรงของวัง งามเด่นด้วยโทนสีเหลืองทองและฝีมือแกะสลักลวดลายฉลุไม้ประดับตามเพดานและช่องลม
ความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมที่เลิศล้ำของพระราชวังสราญรมย์แห่งนี้เป็นเสมือนจารึกแห่งอดีตที่จะคงอยู่และสืบทอดต่อเนื่องไปภายหน้าเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าหน้าสำคัญของสยามประเทศสู่ชาวไทยรุ่นลูกรุ่นหลานในวันนี้และวันข้างหน้า