“ทราบมาว่า อาจารย์ทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมง ไม่เคยพักผ่อนก่อนตีสอง ทำงานทุกวัน มีเวลาพักผ่อนน้อย มีกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ และ อาจารย์มีวิธีดูแลสุขภาพอย่างไรบ้าง?”
คำถามนี้ เป็นหนึ่งในหลาย ๆ คำถามที่ผมต้องตอบเป็นประจำ
ผมคิดว่า การทำงานของผม แม้จะเรียกว่า “ทำงานหนัก” ในสายตาของคนจำนวนมาก แต่สำหรับผมแล้ว งานไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะผมใช้ชีวิตแบบ “สมดุล” เริ่มต้นจาก “ความคิด” ที่ถูกต้อง
“คนเรากินอะไร ก็เป็นเช่นนั้น” คำกล่าวที่เราคุ้นเคย สะท้อนความจริงที่ว่า สุขภาพของเราจะแข็งแรง อ่อนแอ เจ็บป่วย อายุยืนยาวหรือไม่ แต่สำหรับผม ผมขอกล่าวว่า “คนเราคิดอย่างไร ก็จะเป็นเช่นนั้น” ทุกเรื่องในชีวิตต้องเริ่มที่ความคิด
ในหนังสือลายแทงนักคิด ผมได้ชี้ให้เห็นว่า การแสดงออกของคนเราแต่ละคนนั้นเริ่มต้นจาก “การคิด” ความคิดที่ถูกต้องจะช่วยให้ทั้ง สุขภาพใจ และ สุขภาพกาย ไม่ให้ทรุดโทรมลง
สำหรับผม ผมมีความคิดที่ส่งเสริมทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากแนะนำผู้อ่าน โดยเฉพาะมนุษย์งานที่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จ อาทิ
มองงานไม่ใช่ความทุกข์ – ไม่ใช่ภาระหนัก แต่เป็นภาระใจ
ผมมี ปรัชญาการทำงาน และ เป้าหมายชีวิต ที่ส่งผลต่อสุขภาพใจที่ดี ได้แก่ ทำในสิ่งมีคุณค่า ไม่ได้วัดเป็นตัวเงิน ทำเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ยินดีแม้งานหนักเพราะรู้ว่ามีประโยชน์ งานสำหรับผมจึงไม่ใช่ภาระหนัก เป็นภาระใจ ไม่ว่าทำสิ่งใดจึงพยายามทุ่มแรงกายแรงใจ ทำอย่างดีเลิศ ทำให้ดีที่สุด สุดความสามารถ
ที่สำคัญผมมองว่า สำหรับผมแล้ว “ทุกวันคือวันทำงาน” ไม่มีวันไหนเรียกว่า วันหยุด และการทำงาน กับ การพักผ่อน คือสิ่งเดียวกัน เพราะทำแล้วมีความสุขเหมือนกันและใช้กล้ามเนื้อชุดเดียวกัน การทำงานด้วยความสุขจึงไม่เหน็ดเหนื่อย อย่างไรก็ตาม เมื่อพักผ่อนจะพักผ่อนอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยนอนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้อย่างดี ห้องนอนต้องสะอาด ปราศจากฝุ่น แมลง ที่นอนต้องนอนแล้วสบาย ไม่แข็ง หรือ อ่อนนุ่มเกินไป อากาศต้องไม่เย็นหรือร้อนจนเกินไป ไม่มีเสียงดังรบกวน
มองโลกในแง่บวก เพิ่มพลังใจ
ผมเป็นคนมองโลกในแง่บวก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้สุขภาพจิตดี และมีกำลังใจการก้าวเดินไปสู่อนาคต ความคิดแง่บวก อาทิ ไม่ท้อแท้ แม้ผิดหวัง – ฉุดตัวเองขึ้น เดินต่อเสมอ เพราะเชื่อว่า ความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า ไม่มีศัตรู สร้างแต่มิตร – ผมไม่เป็นศัตรูกับใคร ยินดีเป็นมิตรกับทุกคน ยินดีให้อภัยผู้อื่นอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องเสียเวลาเคียดแค้น ทำให้ไม่เสียสุขภาพจิต มองความเครียดเป็นเสมือน “ขนมหวาน” – ช่วยพัฒนาศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดแก้ปัญหา การเรียนรู้จักพัฒนาความมั่นคงและความอดทนในการดำเนินชีวิตของเราได้มากขึ้น
มองชีวิตมีคุณค่า ต้องรักษาให้ดี
ผมเห็นคุณค่าชีวิตของผม จำเป็นต้องดูแลรักษาอย่างดี เพื่อให้มีเวลาทำสิ่งที่ดีงามในโลกนี้ให้มากที่สุด จึงเห็นคุณค่าในการดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย เนื่องจากเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำงาน ผมจึงเรียนรู้ในการสร้าง “พลังสมดุล” ให้กับร่างกาย ด้วยการเชื่อมโยงการทำงานหนักของเรา เข้ากับการออกกำลังกาย และงานอดิเรก รวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เรามีสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพจิตที่สมบูรณ์
ผมให้ความสำคัญและสมดุลทั้งในเรื่องของการทำงาน การออกกำลังกาย และงานอดิเรกที่ตนเองชื่นชอบ โดยขณะที่ทำงานนั้น จะหาช่วงเวลาบางช่วงในการออกกำลังกายไปด้วย ห้องทำงานมีอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย เช่น จักรยานปั่นหรือเครื่องวิ่งประจำที่ ที่ยกน้ำหนักเล็ก ๆ สามารถทำงานหรือคิดงานไป ขณะที่เดินหรือวิ่งอยู่สายพานของเครื่องวิ่ง ผลลัพธ์ที่ได้คือ ได้ทั้งงานและได้ออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน ขณะเดียวกันในห้องทำงานจะมีตู้ปลาเพื่อผ่อนคลายความเครียด ความเมื่อยล้า ด้วยการมองปลาหรือให้อาหารปลาที่เราเลี้ยงไว้
ที่สำคัญ ผมให้ความสำคัญมากกับการเลือกรับประทานอาหาร จะเน้นผักให้มาก แป้ง ไขมัน เนื้อแต่น้อย ส่วนผลไม้เลือกเฉพาะที่ไม่หวาน ที่สำคัญไม่รับประทานอาหารรสจัด ของหมักดอง ของขบเคี้ยว อาหารที่ปรุงไม่สุก จะดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด ไม่ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม และปริมาณอาหารแต่ละมื้อต้องไม่มากเกินไป นอกจากใส่ใจเรื่องอาหารแล้ว ด้วยวัยเช่นนี้ สิ่งที่ผมปฏิบัติเสมอ นั่นคือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ผมอยากให้คนทำงานทั่วไปมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานหนัก และใช้ชีวิตการทำงานอย่างสมดุล เพื่อให้เราเป็นคนทำงานหนักที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
Text : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด