เปลือยเสรีภาพ โดย พิชิตชัย แก้วพิกุล

นาย พิชิตชัย แก้วพิกุล รางวัลยอดเยี่ยมการถ่ายภาพหัวข้อเสรีภาพของเพศที่สาม

พิชิตชัย แก้วพิกุล รางวัลยอดเยี่ยมการถ่ายภาพหัวข้อเสรีภาพของเพศที่สาม โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้มอบรางวัลที่หอศิลป์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพครั้งนี้ เขาเล็งที่เสรีภาพของบุคคลที่เป็นเพศที่สามตามที่มีข่าวต่างๆจากหน้าหนังสือพิมพ์ เช่นข่าวห้ามสาวประเภทสองเข้าสถานบันเทิง หรือข่าวที่เพศที่สามโดยเฉพาะเกย์และกะเทยห้ามบริจาคเลือด ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในการแสดงออกทางด้านต่างๆ

ผลงานชุด “เปลือยเสรีภาพ” ชิ้นนี้ผมได้แรงบันดาลใจมากจากอิสรเสรีโดยทั่วไปก่อน แล้วผมก็ตีโจทย์งานให้แคบลง โดยใช้สาวประเภทสองเป็นตัวแสดงแบบ เพราะพวกเธอมีทั้งความเป็นหญิงและเป็นชายในคนเดียวกัน พวกเธอมีความกล้าแสดงออกในการที่จะกล้าออกมาแต่งตัวหรือเปลี่ยนแปลงร่างกายจากเดิมที่เป็นชายให้กลายเป็นหญิง ในจุดนี้ผมเลยเห็นว่าพวกเธอกล้าฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ เธอไม่ยอมที่จะอยู่ในกรอบที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาว่าโลกนี้มี “Pure” เพศชายและเพศหญิงเท่านั้น พวกเธอสามารถทนต่อการดูถูกเหยียดหยามจากสังคมรอบข้างว่าผิดแปลกแตกต่างจากคนอื่นๆในสังคม ทำให้ผมเห็นว่าคนเหล่านี้มีความอดทนสูงกว่าบุคคลที่เรียกตัวเองว่าเป็นเพศปกติ

ส่วนในความหมายอื่นๆของแต่ละรูปก็มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป โดยทั้ง 3 ภาพจะแสดงถึงความอัดอั้นและโหยหาเสรีภาพ โดยที่ใช้กะเทยมาเป็นตัวแทนของทุกเพศ จะสังเกตได้ว่าผู้แสดงแบบจะเปลือยกายไม่มีอะไรห่อหุ้มร่างกายสื่อถึงความเปิดเผยให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความจริงใจและต้องการยอมรับจากสังคม ชฎาสีแดงซึ่งในส่วนนี้ผมให้ความหมายถึงสังคมไทยส่วนสีแดงในเชิงสัญลักษณ์สากลที่เรารู้จักนั้นหมายถึงเสรีภาพและความเท่าเทียมของสังคม อีกนัยหนึ่งคือความโกรธและอัดอั้นเป็นสีที่สามารถดึงมุมมองแตกต่างของผู้เสพศิลปะได้หลากหลายทีเดียว

1ปกปิด

ในภาพแรก “ปกปิด” คนเราในที่นี้ถ้ามีอะไรที่ต่างจากสังคม คนรอบข้างมักจะไม่ยอมรับและต้องพยายามปกปิดสิ่งตัวเองเป็นไม่ให้ผู้อื่นได้รับรู้ ส่วนภาพที่สอง “ปลดแอก” ภาพสาวประเภทสองกับกำลังพยายามออกแรงดึงชฎาออกจากหัวของตน สื่อถึงหลายครั้งเราพยายามหลุดกรอบจากวัฒนธรรมหรือสิ่งที่สังคมรอบข้างตีกรอบให้เราเป็นอย่างที่สังคมเห็นว่าถูก ส่วนภาพสุดท้าย “จอมปลอม” เป็นภาพกำลังกัดกินดอกไม้พลาสติก ในภาพนี้สื่อถึงการได้รับเสรีภาพจอมปลอมจากสังคม

2ปลดปล่อย

“ผลงานของผมชุด เปลือยเสรีภาพ หลายคนทั้งไทยและต่างชาติมักคิดว่าเพศที่สามในประเทศไทยได้รับโอกาสที่ดีและอิสระภาพเสรี โดยเฉพาะช่าวต่างชาติที่คิดว่าประเทศไทยคือ Paradise of transsexual แต่ถ้ามองลึกๆลงไปแล้วเพสที่สามในประเทศไทยยังถูกจำกัดขีดเส้นแบ่งแยกจากเพศที่เรียกตัวเองว่าเพศปกติอยู่ โดยคนส่วนมากยังคิดว่าการเป็นเพศที่สามคือโรคชนิดหนึ่ง ทำให้กะเทยหรือเพศที่สามถูกรังเกียจจากสังคม พวกเขาจึงต้องพยายามมากกว่าจาดบุคคลตรงเพศมากกว่า2เท่า บางทีอาจจะสามหรือสีเท่าเลยก็ได้ ฉะนั้นจึงสังเกตได้ว่าในสมัยนี้เพศที่สามจะแทรกซึมอยู่ในเกือบทุกสายอาชีพ จากที่เมื่อก่อนบุคคลเหล่านี้จะทำได้แค่ไม่กี่อาชีพ เช่น นางโชว์ ช่างแต่งหน้า ทำผม อาชีพที่เกี่ยวกับความสวยความงาม หรือวงการแฟชั่น แต่สมัยนี้มีทั้งนักการเมือง อาจารย์ หมอ วิศวะกร หรือจนกระทั่งนักกีฬา แต่ถึงแม้ว่าเพศที่สามจะได้รับการยอมรับจากสังคมพอสมควร แต่บริบทที่คนทั่วไปมองเพศที่สามหรือกะเทยต้องยอมรับว่าสังคมส่วนใหญ่ยังมองพวกเธอเป็นตัวตลกหรือผู้ให้ความบันเทิง สังเกตได้จากบทบาททางโทรทัศน์ที่มักให้กะเทยเป็นตัวตลกในละคร น้อยครั้งนักที่จะมีการเขียนบทให้กะเทยหรือตัวเพศที่สามเป็นบทที่ดราม่าและจริงจัง หรือแม้กระทั่งในชีวิตจริงที่เมื่อใดที่กะเทยออกไปข้างนอกคนที่มองเห็นพวกเธอนั้นก็จะมองด้วยสายตาที่ผิดแปลกออกไปจากเดิม นั่นอาจเป็นการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆที่หลายๆครอบครัวพ่อแม่จะสอนว่า กะเทย ทอม เป็นสิ่งที่ไม่ดีอย่าเป็นนะ เมื่อไปโรงเรียนเด็กๆที่เป็นเพศที่สามโดยเฉพาะกะเทยมักจะถูกเพื่อนๆล้อและกลั่นแลก้งกลายเป็นปมด้อย จนกลายเป็นเด็กเก็บกดหรือจนกระทั่งฆ่าตัวตายเลยก็มี ในส่วนตัวผมเพศที่สามก็คือคนทั่วไปเหมือนกับเพศชายเพศหญิงไม่ได้ต่างอะไรไปจากกันเลย มนุษย์ต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่าผู้ชายต้องคู่กับผู้หญิง ผมว่าเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับรสนิยมมากกว่า เช่นผมชอบกินก๊วยเตี๋ยว แต่คุณชอบกินข้าวไข่เจียว ดังนั้นผมว่าอย่าเอาเพศมากำหนดค่าความเป็นมนุษย์”

3จอมปลอม

ตั้งแต่จำความได้ พิชิตชัย แก้วพิกุล หรือ เป้ ก็ชอบวาดภาพมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว เขากับพี่ชายมักจะแข่งกันวาดภาพบ่อยๆทั้งๆที่ทางบ้านหรือญาติๆไม่มีใครสักคนที่ทำงานสายนี้ แต่ทางบ้านก็ไม่เคยที่จะขัดแต่กลับสนับสนุนในสิ่งที่เราชอบ ซึ่งตอนนี้พี่ชายเขาเป็นสถาปนิก “ผมคิดแทบไม่ออกเลยว่าโตขึ้นผมจะเป็นอะไรนอกจากงานที่เกี่ยวข้องกับงานสายศิลปะ ช่วงแรกอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เพราะชอบอ่านการ์ตูนมากที่บ้านมีเป็นพันๆเล่มจนแม่บอกให้เลิกซื้อได้แล้ว และเดินสายประกวดวาดภาพได้บ้างไม่ได้บ้าง พอจบม.6 ก็อยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่มารู้ตัวอีกทีเมื่อได้จับกล้องและมาสังเกตว่าเราเป็นคนที่ติดตามแฟชั่นพอสมควรและไปไหนมาไหนกับกลุ่มเพื่อนเรามักได้เป็นคนถ่ายภาพ ผมเลยตัดสินใจที่จะเรียนที่สถาบันนี้ หลังจากที่เรียนไปผมรู้สึกว่านี่แหล่ะคือสิ่งที่เราชอบ แต่โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ถ่ายสายงานแฟชั่น แต่ผมก็ยังไม่ทิ้งศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจมาตั้งแต่เด็ก โดยผมได้นำศิลปะมาผสมผสานกับภาพถ่าย เพราะฉะนั้นภาพถ่ายที่ผมถ่ายทอดออกมานั้น ถึงแม้จะมีลักษณะโป๊เปลือยแต่มันจะไม่ดูอนาจารหรือน่าเกลียด โดยส่วนตัวผมชอบงานดิบๆแต่มักจะได้งานที่ออก Luxury ผมจึงนำความดิบมาผสมกับความหรูหรากลายเป็นผลงานสไตล์ของตัวผมเอง”

พิชิตชัย แก้วพกุล เจ้าของผลงาน

**********************************************************************************************************
ประวัติ
ชื่อ : พิชิตชัย แก้วพิกุล (เป้)
อาชีพ : ช่างภาพอิสระ
การศึกษา : สาขาการถ่ายภาพ ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผลงานชื่อเสียงเผยแพร่ในนิตยสาร CROW, NYLON
**********************************************************************************************************

พิชิตชัย แก้วพิกุล

Related contents:

You may also like...