บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับการใช้ชีวิตแบบคนเมือง ร่วมกับ Mitsubishi Estate Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์แนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น จัดงานเปิดตัว Making Space; AP Pop-Up Library เป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ ที่รวบรวมสุดยอดหนังสือดีไซน์หายาก โดยได้ร่วมกับ 3 สถาปนิกและดีไซเนอร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ได้แก่ ดวงฤทธิ์ บุนนาค วสุ วิรัชศิลป์ และ นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ร่วมคัดเลือกและแนะนำสุดยอดหนังสือดีไซน์หายากที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมือง
วิทการ จันทวิมล รองกรรมการ ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ห้องสมุดเฉพาะกิจ Making Space; AP Pop-Up Library เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทางบริษัทฯ ต้องการที่จะตอกย้ำแนวคิดการทำงานของ เอพี กับการคิดค้นและพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ในการดีไซน์ “นวัตกรรมพื้นที่” อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายไอเดียการออกแบบ จัดสรรพื้นที่ใช้สอยสำหรับการใช้ชีวิตแบบคนเมืองให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ทั้งในแง่ของงานสถาปนิกจากภายนอกสู่สเปซภายใน งานออกแบบตกแต่งภายในเพื่อเพิ่มความสุขทุกตารางนิ้ว ผ่านทางการเลือกสรรหนังสือด้านดีไซน์ที่หายาก โดย 3 สถาปนิกและดีไซเนอร์แนวหน้าของประเทศที่ทางบริษัทฯ เล็งเห็นถึงความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และการเป็นผู้นำทางความคิดของแต่ละท่าน”
ภายในงาน Making Space; AP Pop-Up Library ได้จัดแสดงหนังสือดีไซน์ที่น่าสนใจและหายาก โดยสถาปนิกและดีไซเนอร์ทั้ง 3 ท่านได้คัดสรรภายใต้บริบทวิธีการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ อาทิ Atlas of Novel Tectonics (Jesse Reiser และ Nanako Umemoto), Le Corbusier Le Grand (Phaidon Press) และ Hadid Complete Works 1979 – 2009 (Taschen) ครอบคลุมในหมวดต่างๆ เช่น หมวดสถาปัตยกรรม (Architect) การออกแบบตกแต่งภายใน (Interior) และการเติมพื้นที่สีเขียวในสเปซภายในให้ลงตัว (Landscape) เป็นต้น เพื่อจุดประกายมุมมองใหม่ๆ ให้กับนักศึกษาและผู้สนใจได้มีโอกาสศึกษาถึงปรัชญาการออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพื่อความคุ้มค่าสูงสุด พร้อมเชิญสถาปนิกและดีไซเนอร์ทั้ง 3 ท่านพูดคุยถึงไฮไลท์ที่น่าสนใจของหนังสือที่คัดสรรมา เพื่อเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบพื้นที่เพื่อความคุ้มค่าสูงสุด “Space Optimization” ที่สอดรับกับการใช้ชีวิตไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองได้ดียิ่งขึ้น
ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด สถาปนิกผู้สั่งสมประสบการณ์ในวงการมายาวนาน กล่าวถึงการใช้พื้นที่ว่า “space ไม่ได้ถูกสร้างจาก lifestyle แต่ lifestyle ต่างหากที่ถูกสร้างขึ้นจาก space และไม่เคยมี space ใดที่สร้างขึ้นจาก lifestyle แล้วประสบความสำเร็จ space ที่ประสบความสำเร็จคือ space ที่ก่อเกิด lifestyle แนวคิดการออกแบบ space ที่จะตอบโจทย์คนเมืองในอนาคตควรเป็น space ที่ถูกสร้างขึ้นจากบริบท ส่วนหนึ่งของบริบทนั่นคือคนที่อยู่อาศัยในวิธีที่สอดคล้องกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตนั้นก็จะสอดคล้องกับคนที่อยู่อาศัยในเมืองที่จะเป็นในอนาคต แนวโน้มของ space ก็จะเล็กลง และต้องมีประสิทธิภาพในการออกแบบเพื่อการใช้สอยที่ดีขึ้น”
วสุ วิรัชศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แวสแล็บ จำกัด (VaSLab Co., Ltd.,) สถาปนิกรุ่นใหม่ผู้ถ่ายทอดผลงานแนว Deconstruction ได้อย่างลงตัว กล่าวถึง space ที่ดีว่า “Space ที่ดีควรประกอบด้วย การจัดพื้นที่อย่างชาญฉลาด (Smart Space) สามารถรับแสงธรรมชาติที่ดีและพอเพียง มีความยืดหยุ่นในการจัดเฟอร์นิเจอร์ มีการจัดพื้นที่ได้คุ้มค่าเกิดการใช้งานที่มีประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างความรู้สึกความเป็นส่วนตัว สามารถสร้างความสบายและอบอุ่น ‘There is no place like home’ โปร่งโล่ง ไม่อึดอัด และมีความลงตัวด้านวัสดุและองค์ประกอบศิลป์ ซึ่งในอนาคตราคาที่ดินและคอนโดมิเนียม มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การออกแบบ space ต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ที่เล็กและจำกัดมากขึ้น (Compact Space) อาจมีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณสมบัติหลายการใช้งาน เช่น เตียงนอนที่มีลิ้นชักเก็บของ ตู้เสื้อผ้าที่ใช้เป็นที่วางโทรทัศน์ภายในตัว เป็นต้น การใช้พื้นที่แนวดิ่งจากพื้นจรดฝ้าให้มีประโยชน์มากขึ้น เช่นในห้องพักอาคารชุดที่มีฝ้าเพดานสูงอาจใช้เตียงนอนแบบ bunk bed อยู่ด้านบน เพื่อเปิดให้มีพื้นที่แนวราบมากขึ้น”
นนทวัฒน์ เจริญชาศรี ดีไซน์ ไดเรคเตอร์ บริษัท ดัคท์สโตร์ เดอะ ดีไซน์ กูรู จำกัด (DUCTSTORE the design guru Co., Ltd.,) ดีไซเนอร์หัวก้าวหน้าที่มีพื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรม พูดถึงมุมมองการใช้พื้นที่ว่า “Space ที่เหมาะกับ lifestyle ของคนเมืองแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ถ้ามองในแง่ของการใช้พื้นที่ในแต่ละเวลามันก็แยกออกได้เป็นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น บ้าน ที่ทำงาน ที่พักผ่อน ถ้าเราสามารถรวมทั้ง 3 อย่างมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มันก็จะทำให้ตอบสนองความต้องการในพื้นที่เดียวได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ในอนาคตคนคงเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น พื้นที่คงเล็กลงมาก เราควรออกแบบพื้นที่ที่แคบให้ดูกว้างขึ้น สามารถยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ในสถาณการณ์ต่างๆ ถ้าเป็นคอนโด ก็ควรลดทอนพื้นที่บางส่วนที่ฟุ่มเฟือยออก เพิ่มพื้นที่ที่ต้องใช้นานๆ ให้มากขึ้น เช่น ห้องนอนอาจเล็กลง เเต่ห้องนั่งเล่นพักผ่อนกับพื้นที่ทำงานอาจจะกว้างขึ้น ส่วนบ้านในเมือง อาจเป็นบ้านที่เน้นประโยชน์ใช้สอยพื้นที่เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม งานออกแบบต้องสวยงามและอยู่สบายด้วย”
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมงาน Making Space; AP Pop-Up Library ได้ตั้งแต่วันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2557 ณ Rethink Space Event (แฟชั่น ฮอลล์) ชั้น 1 ศูนย์การค้า สยาม พารากอน
—————————————
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ม.ล. ฉัตรามณี เกษมศรี
นันท์นภัส สุขปรีดี
บริษัท แบรนด์เด็ด ดิ เอเจนซี่ จำกัด
โทร 02-650-9090