แบกโลกไว้ทั้งใบเท่ากับใจคุณแบกทุกข์

water_lily_1347023303

แน่นอนว่าคุณต้องพบต้องเห็นคนรอบข้างที่มีสีหน้า “โลกนี้ทำร้ายฉันตลอดเวลา” ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วคนเราเมื่อมีความทุกข์หรือความสุขมักแสดงออกมาทางแววตาและสีหน้า หากใครที่มีอาการแววตาเศร้าหมองและใบหน้าแบกโลกไว้ทั้งใบ นั่นคือลึกๆแล้วในใจเขานั้นต้องมีความทุกข์เก็บไว้ในใจเสมือนภูเขาไฟที่ภายในเต็มไปด้วยของเหลวร้อนรอเวลาปะทุขึ้นมานั่นเอง

ทุกข์ที่เป็นสภาวะจิตที่เศร้าหมองนั้นมาจากตัวตนที่ปรุงแต่งสิ่งกระตุ้นทั้งนอกและในใจให้เศร้าหมองไปตามสิ่งกระตุ้น พระอรหันต์ไม่มีตัวตนมาปรุงแต่งแล้วจึงเป็นผู้หมดสิ่งกระตุ้นในจิตคือกิเลสตัณหา ในเมื่อไม่มีทั้งผู้ปรุงแต่งและสิ่งกระตุ้นให้ปรุงแต่ง พระอรหันต์ก็พ้นทุกข์ที่บีบคั้นจิตใจ ในส่วนของทุกข์ในการเปลี่ยนแปลงท่านยังมีอยู่ไปตามธรรมดาของสังขาร

ทุกข์ทั้งหลายก็คือสภาวธรรมที่มีขึ้นแล้วก็จะดับสลายลงไปด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะทุกข์น้อย ทุกข์แสนสาหัสขนาดไหน เว้นเสียแต่เราเองด้วยความไม่รู้ เผลอไปสนับสนุนให้ทุกข์นั้นคงอยู่ด้วยการย้ำคิด ย้อนคิด ปรุงแต่งจิตนาการ สถานการณ์น่ากลัวมาทับถมตัวเราเองในที่สุดกลับกลายเป็นมาจมกองทุกข์ของการทับถมตัวเอง ทั้งที่ทุกข์เดิมนั้นสิ้นไปแล้ว

ปุถุชนผู้ไม่เห็นธรรมก็ปล่อยให้สังขารปรุงแต่งไปตามสิ่งกระตุ้นเร้า ความร่าเริงเบิกบานหรือเศร้าหมองอยู่ที่สังขารขันธ์ในจิตเราปรุงแต่งขึ้น ผู้เจริญธรรม เข้าไปจัดการปรุงแต่งสุข ละทุกข์ โดยก้าวข้ามสิ่งกระตุ้นเร้าทั้งปวงเกิดเป็นความสุขในใจขึ้น นั่นคือ สุขในธรรมะ ฉะนั้นจึงมีคำกล่าวที่ว่า “สุขทุกข์อยู่ใจ” ซึ่งหมายถึง “โยนิโสมนสิการ” พุทธโอวาทนั่นเอง

waterlily

โยนิโสมนสิการคือปัญญาแยบคาย วิเคราะห์เหตุปัจจัย หากุศลเจตนาเพื่อแสดงกรรมรับสถานการณ์อย่างเป็นประโยชน์ โดยอาศัยวิปัสสนาให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งประจักษ์ ด้วยระลึกรู้ตามดูการพิจารณาของโยนิโสมนสิการ เจตนา กรรม อารมณ์ตอบและรับ ดำเนินชีวิตเจริญปัญญาทั้งสอง(โยนิโสมนสิการและวิปัสสนา)ด้วยสติเป็นตัวนำ ฉันทะและความเพียรเป็นพลังจนเป็นสัมปชัญญะ ปัญญาเชี่ยวชาญ นำพาชีวิตหลุดพ้นเป็นผู้อยู่กับความจริงความถูกต้อง

ทุกอย่างในความจริงอาจไม่เป็นประโยชน์เกื้อหนุนชีวิตให้ดีงามเป็นสุขและในขณะที่ทุกสิ่งที่ถูกต้อง อาจไม่เกิดผลดีหากปฏิบัติไม่ถูกบนฐานของความจริงในธรรมชาติ คือสภาวะธรรมชาติที่เป็นอยู่ ความถูกต้องคือข้อกำหนดของมนุษย์ที่ทำไปแล้วส่งผลที่ดีงามให้ชีวิต

ผู้ตั้งอยู่ในธรรมจะพิจารณาสมดุลทั้งสองส่วนด้วยปัญญา ไม่ดันทุรังยึดเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น มอบสิ่งที่ถูกต้องให้เขาในขณะที่ไม่ดูความจริงว่าเขาพร้อมไหม ต้องการไหม ผลก็เป็นการยัดเยียด เป็นทุกข์หรือยึดแต่ความจริงว่าเขาไม่พร้อม เขาไม่อยาก ก็ไม่ต้องไปนำเสนอสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ผลก็เป็นทุกข์อยู่ดี…

โดยธรรมชาติพื้นนิสัยต่อคนรอบข้างของผู้ตั้งมั่นประพฤติในธรรมเป็นอย่างไร…?
เป็นผู้มีความรอบรู้ในธรรมชาติ มีพื้นจิตใจเบิกบาน มีปฏิสัมพันธ์ด้วยการเป็นผู้ให้…เป็นผู้ให้ในองค์ธรรมพรหมวิหาร 4

  • ให้มิตรไมตรี ให้ความยิ้มแย้ม ให้เสียงหัวเราะ ให้วาจาที่อ่อนน้อม สุภาพ ให้ความสบายใจ ทำให้คนรอบข้างเป็นสุข
  • ให้ความช่วยเหลือ ให้เงิน ให้สิ่งของ ให้กำลังกาย ให้ปัญญา คำแนะนำ ให้อภัย ให้คำขอโทษ ทำให้เขาพ้นความขุ่นเคืองใจ
  • ให้ความชื่นชม ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ให้คำยกย่อง ให้การขอบคุณ ให้การส่งเสริม ทำให้เขาเจริญพัฒนา
  • ให้โอกาส ให้เวลา ให้อิสระ ให้ความเสมอภาค ให้ความเป็นธรรม ให้ความกระจ่าง ให้ความอดทน ให้ความเสียสละ ให้ความมั่นคง ให้ความเชื่อถือ ทำให้เขาเป็นธรรมชาติของเขาในธรรม

 

ฉะนั้นแล้วยังไม่สายที่เราจะปล่อยวางเรื่องที่ไม่จำเป็นให้ออกไปจกจิตใจเพื่อให้เราเป็นผู้ที่ใจเบิกบาน มีความน่ารักน่าเอ็นดู เป็นที่ชื่นชอบของทุกคนที่พบเห็น ไม่จำเป็นที่เราจะมีทุกอย่างเหมือนผู้อื่นแล้วจึงจะมีความสุข เพียงแค่เราเป็นผู้ยึดมั่นในความดี มีธรรมะเป็นที่พึ่งเราจะพบกับสุขที่ยิ่งใหญ่ สุขในวิถีชีวิตที่ดีงาม สุขใดที่ยิ่งกว่าความสงบนั้นไม่มี สุขกับธรรมคือยินดีในธรรมชาติ ธรรมจริยะและพระธรรมคำสอนของพระศาสดานั่นคือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

Thanks to images from http://www.gardenvisit.com/assets/madge/waihi_waterlily_gardens/600x/waihi_waterlily_gardens_600x.jpg
http://4photos.net/photosv5/water_lily_1347023303.jpg

Related contents:

You may also like...