ขณะนี้ประเทศเราเกิดความแตกแยก แบ่งเป็นสองฝ่าย ทั้งในครอบครัว องค์กรต่าง ๆ จนต้องมีการบอกกันว่า เราจะไม่พูดเรื่องการเมืองกันที่นี่ เพราะมิฉะนั้นจะเกิดการถกเถียงและความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น แบบไม่รู้จบ
ความขัดแย้งที่แบ่งคนกลุ่มใหญ่ในชาติออกเป็น “พวกเสื้อเหลือง” หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาขับไล่ระบอบทักษิณ และ “พวกเสื้อแดง” หรือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่รวมตัวกันออกมาชุมนุมต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องประชาธิปไตยและความชอบธรรมให้กับอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แม้เป็นเรื่องยากในการประสานความคิดของคนในชาติ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อพัฒนาการทางการเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมา เราเห็นการเคลื่อนไหวของ “การเมืองภาคประชาชน” การดึงพลังมวลชนให้มามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน กลุ่มพันธมิตรฯ สามารถดึงชนชั้นกลางและกลุ่มอื่นๆออกมาจากบ้าน เพื่อมาฟังนายสนธิ ลิ้มทองกุล เปิดเผยสิ่งที่นายสนธิคิดว่าเป็นการคอร์รัปชันของรัฐบาลทักษิณ ต่อมา เราก็ได้เห็นประชาชนทั้งคนชั้นกลางและรากหญ้าจากจังหวัดต่าง ๆ ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้นำที่พวกเขาเห็นว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม
แม้การชุมนุมประท้วงในช่วงที่ผ่านมาของทั้งสองกลุ่ม จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ความไม่เป็นระเบียบ จนอาจถึงการก่อความไม่สงบและการจลาจล หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ภาพซ้อนอีกภาพหนึ่ง คือ ภาพความสำเร็จของการสร้างพลังมวลชน จำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งสามารถมองมุมบวกได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ดี เป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของการมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และตรงตามนิยามของคำว่าประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีรากฐานปรัชญาที่สำคัญ คือ การปกครองโดยประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
“ประชาชน” จึงสำคัญที่สุดในการเป็นฐานรากของระบอบนี้ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยความเข้าใจและตระหนักในจิตวิญญาณประชาธิปไตย เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยในประเทศนั้น เข้มแข็งมากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง อำนาจทางการเมืองยังไม่ตกถึงมือประชาชนส่วนใหญ่ วัฒนธรรมประชาธิปไตยไม่ได้ถ่ายทอดมาถึงประชาชน ความสัมพันธ์ทางอำนาจยังเป็นในลักษณะของการแบ่งชนชั้น ระหว่าง ผู้ปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง พรรคการเมืองเป็นของกลุ่มทุน ผู้มีอิทธิพล ประชาชนไม่มีอุดมการณ์หรือหลักการร่วมในประชาธิปไตย ยึดหลักอุปถัมภ์นิยม ธนานิยมและคณานิยมหรือพวกพ้องนิยม
สถานการณ์ได้เริ่มเปลี่ยนไป การขับเคลื่อนจากความขัดแย้งสู่ความเป็นการเมืองของมวลชน เริ่มมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เห็นได้ชัดจาการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ตัดสินใจจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น แม้ว่า จะยังคงรักษาสถานะของกลุ่มให้มีความเป็นอิสระ มีความเป็นการเมืองภาคประชาชน โดยประชาชนที่เห็นด้วยและเรียกตนเองว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่จำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกพรรค แต่แน่นอนว่า ยังคงให้การสนับสนุน ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมกับพรรคที่ตั้งขึ้นมาได้ นับเป็นการเปิดมิติการเมืองใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นการเมืองภาคประชาชน
ในทางตรงกันข้าม อีกขั้วหนึ่ง แม้จะมีฐานมาจากพรรคการเมืองในรูปแบบเดิม คือเป็นพรรคของกลุ่มทุนและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น มีฐานเสียงตามพื้นที่ของผู้สมัคร แต่รูปแบบนี้เริ่มเปลี่ยนไป เพราะมีโอกาสที่จะเป็นพรรคที่มีมวลชนเป็นฐานเสียงสนับสนุนตามแนวคิดทางการเมืองที่สอดคล้องกัน มากกว่าการหยิบยื่นผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกัน
แนวโน้ม มีความเป็นไปได้สูงว่า ฐานเสียงของคนในสังคมจะชัดเจนขึ้นว่า สนับสนุนพรรคการเมืองใด และเพราะเหตุผลใด ซึ่งจะเป็นเหตุผลเชิงอุดมการณ์ หรือยึดมั่นในเป้าหมายและแนวการดำเนินงานของพรรค มากกว่าเหตุผลเดิม ๆ เช่น เลือกที่ตัวบุคคลที่ลงสมัครเลือกตั้ง เลือกเพราะความเป็นพรรคเก่าแก่ หรือเลือกเพราะได้ประโยชน์ตอบแทน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประชาธิปไตยของไทย จะสามารถก้าวไปสู่ทิศทางของความเป็นประชาธิปไตยสากลที่ยอมรับกันทั่วโลกได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของคนในประเทศว่า จะมีความเข้าใจและเดินตามหลักอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงใด
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com