จุดสูงสุด ‘ยุคทอง’ = จุดเริ่มต้น ‘ยุคเสื่อม’ ?

800px-Botticelli_Venus

ยุคทอง: สวรรค์ขั้นสุดของการพัฒนา?

ไม่ว่าพจนานุกรมหรือบรรดานักวิชาการจะนิยามความหมายของคำว่า ”พัฒนา” ไว้อย่างไรก็ตาม เนื้อแท้ของการพัฒนาก็คือความพยายามต่อเติมให้สิ่งต่างๆดำเนินไปข้างหน้า เติบโตขึ้นเรื่อยๆเพียงเท่านั้น เพราะอย่างนี้การพัฒนาในเกือบทุกบริบทจึงเป็นสิ่งจำเป็นและแผ่ผลให้เกิดเป็นการแข่งขัน กลายเป็นศาสตร์ที่มีการเรียบเรียงและถ่ายทอดต่อๆกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

แต่มีพัฒนากรกี่มากน้อยกันเล่า ที่นอกจากจะไขว่คว้าศึกษากระบวนการพัฒนาแล้ว ยังเฝ้าไคร่ครวญต่อไปจนถึงขั้นว่าจุดสูงสุดของการพัฒนาอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรและเราจะทำอะไรเป็นขั้นต่อไป

ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ นอกจากองค์ความรู้และความใฝ่ใจ เข้าใจและเข้าถึงเนื้อแท้ของงานหรือองค์กรนั้นๆแล้ว ยังต้องอาศัยประสบการณ์, จังหวะเวลาและความต่อเนื่องของกระบวนการอีกด้วย

ขั้นตอนเหล่านั้นทำให้กระบวนการพัฒนาต้องอาศัยระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน ต้องยอมรับว่าเวลาระหว่างนี้ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความคาดหวังกับผลของการพัฒนาไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้ และเมล็ดพันธุ์นั้นก็หยั่งราก เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาจนถอนไม่ขึ้นเสียด้วย

ในที่สุดเมื่อกระบวนการพัฒนางอกเงยผลพวงขึ้นและเหยียดแข้งเหยียดขาเต็มที่แล้วนั่น ต้นไม้แห่งความคาดหวังก็จะครอบคลุมจิตในเราจนมิดเสวยสุขกับความสำเร็จอย่างเต็มที่ เรามักเรียกเวลาแห่งชัยชนะนั้นว่า “ยุคทอง (Golden Age)”

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ศาสตร์แห่งการพัฒนา เน้นการพัฒนาที่ยั้งยืน เพื่อยืดเวลาของยุคทองให้ยาวนานต่อไปอย่างไม่มีจุดจบสิ้น ทว่าเราก็ไม่สามารถหลีกให้พ้นไปจากสัจธรรมของโลกใบนี้ที่ว่า ‘ทุกสิ่งต้องพบกับการเกิด ตั้งอยู่ความดับไปในที่สุดได้’ จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ยุคทองต้องมีวันสิ้นสุดจนได้ ในทางวิชาการมักเรียกยุคที่ถัดจากยุคทองว่า‘ยุคเสื่อม’ ซึ่งไม่ได้มีความหมายพ้องกับคำว่า “สิ้น” แต่หมายถึงช่วงเวลาที่ความคิด ความเป็นไปและความคาดหวังที่ดำเนินอยู่ในเวลานั้นแตกต่างกับที่เคยเป็นระหว่างยุคทอง

1413480547955_Image_galleryImage_An_undated_handout_pictur

ยกตัวอย่างวงการศิลปะสากล ซึ่งยกย่องให้ เรอเนสซองส์(Renaissance Art) เป็นยุคทองของศิลปกรรมโลก ด้วยค่านิยมในการสร้างสรรค์งานที่เน้นความกลมกลึง พอเหมาะพอเจาะ ความสง่างามที่แฝงไว้ด้วยชีวิตชีวา แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปพัฒนาการทางศิลปะยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนเข้าสู่ยุคบาโรก (Baroque) ซึ่งเป็ฯจุดเริ่มต้นของศิลปะที่ถูกขนานนามว่ายุคเสื่อม เพราะยุคบาโรก (หรือที่ในประเทศฝรั่งเศสเรียกเป็นการเฉพาะว่า Rococo) นิยมลวดลายที่สลับซับซ้อน พลิ้วไหวดูน่าอัศจรรย์ เติมความเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ลงไปในชิ้นงานที่เต็มไปด้วยความหรูหราอลังการ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแตกต่างจากยุคทองอย่างเห็นได้ชัด

ในอินเดียศิลปะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดของความคลาสสิคคือศิลปะคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9 -13) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ศิลปะทุกแขนงของอินเดียได้รับการบ่มเพาะจน ‘ได้ที่’แล้ว ทั้งประติมากรรม, จิตรกรรม, ดนตรี, นาฏศิลป์และสถาปัตยกรรม โดยศิลปะทุกแขนงจะเน้นความเป็นธรรมชาติ มนุษยนิยม เรียบง่ายทว่าเข้มขลัง มักนิยมสร้างประติมากรรมมนุษย์ให้มีความใกล้เคียงกับลักษณะความเป็นจริง เน้นรูปลักษณ์ในวัยหนุ่มสาว สวมอาภรณ์แนบเนื้อเหมือนผ้าเปียกน้ำ ประติมากรรมที่สำคัญที่สุดก็คือพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนาหินทราย ที่เมืองสารนาถ

ระยะเวลากว่า 5 ศตวรรษที่ศิลปะสกุลช่างคุปตะแพร่ขยายจากทางตอนเหนือของอินเดียกระจายไปจนทั่วอนุทวีป ในที่สุดแนวทางของพุทธปฏิมาก็คลี่คลายไปสู่ยุคหลังคุปตะ, ปาละและเสนะ ซึ่งมีคติการสร้างพระพุทธรูปที่พัฒนาต่อจากแนวคิดของสกุลช่างคุปตะออกไปอีก คือยังคงความเป็นมนุษยนิยมของการสร้างสรรค์เอาไว้ แต่เสริมแต่งลายสลักริ้วผ้าพลิ้วไหวลงบนจีวรที่แนบอยู่กับองค์พระพุทธรูป ช่วยให้ปฏิมากรรมนี้อ่อนหวาน เข้มขลังมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นต้นธารของพุทธศิลป์ในเอเชียอาคเนย์ทั้งมวลในเวลาต่อมา

พอมองเห็นเค้าลางของทฤษฎีการต่อยอดของการพัฒนาแล้ว…ว่าเมื่อพัฒนาสิ่งหนึ่งจนถึงจุดสูงสุดแล้ว แม้ว่าจะไม่สามารถพัฒนาสิ่งนั้นต่อไปจากจุดนี้อีก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการสร้างสรรค์จะยุติลง ทว่ายังสามารถต่อยอดการพัฒนานั้นออกไปได้อีกหลากหลายและยาวไกลหรือถ้าจะเปรียบให้ใกล้ตัวเข้ามาสู่ศิลปะไทย ปฏิมากรรมในสมัยสุโขทัยได้รับการยอมรับจากวงวิชาการทั่วโลกว่าคือยุคทองของศิลปะสกุลช่างไทย เพราะความกลมกลึง อ้อนช้อยที่ผสมผสานกับความเข้มแข็ง สง่างามและทรงพลังได้อย่างลงตัว โดยใช้ความพอดี เรียบง่ายและอ่อนโยนเป็นเครื่องโน้มนำศรัทธา

แต่เมื่อพุทธศิลป์เคลื่อนเข้าสู่ยุคอยุธยาตอนปลาย โดยตั้งหมุดหมายว่าเริ่มต้นแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172 – 2199) ปฏิมากรรมของช่างไทยได้รับคติ และแนวคิดใหม่ที่ไหลบ่ามาพร้อมกับชนชาวขอมที่ถูกพระมหากษัตริย์พระองค์นี้กวาดต้อนมาจากเมืองพระนคร ทำให้เกิดพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เน้นความอลังการ เข้มขลัง ประดับประดาองค์พระด้วยศิราภรณ์มลังเมลือง ฟู่ฟ่า ตามอย่างเทวรูปในศาสนาฮินดู ซึ่งแน่นอนว่าหากเทียบกันแล้วความงดงามของพระพุทธรูปทั้งสองสมัยมีความเฉพาะตัว แต่ด้วยแนวคิดที่ต่างกันและการยอมรับในคตินิยมในสมัยสุโขทัยว่า ‘ลงตัว’ ที่สุด เราจึงเรียกพระพุทธรูปอยุธยาแบบพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นศิลปะในยุคเสื่อม ซึ่งหมายถึงมีแนวคิดต่างจากยุคทอง

แต่ศิลปะในการสร้างพระพุทธรูปก็ไม่ได้จบลงเพียงแบบของพระเจ้าปราสาททองเท่านั้น พัฒนาการของปฏิมากรรมไทยยังดำเนินต่อมาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตนไปเรื่อยๆกระบวนการพัฒนาเองก็เช่นกัน…

เมื่อการพัฒนาดำเนินกระบวนการมาจนถึงขั้นสุด กระทั่งผ่านยุคทองและเข้าสู่ยุคเสื่อมก็ไม่ได้หมายความว่าในเร็ววันนั้นกระบวนการพัฒนาที่ดำเนินมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจะต้องพังลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันกระบวนการนั้นจะค่อยๆดำเนินต่อไป เปลี่ยนแปลง พลิ้วไหวไปตามสถานการณ์ และอาจนำไปสู่กระบวนการพัฒนากระบวนการใหม่ต่อๆไปอีกด้วย

แต่ทั้งนี้เราควรตระหนักไว้ว่ายุคทองก็คือจุดเริ่มต้นของยุคเสื่อม ความตระหนักนี้จะทำให้เราพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึงและยังนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในเวลาต่อๆไปอีกด้วย

จุดสูงสุดของ ‘ยุคทอง’ คือการเริ่มต้นของ ‘ยุคเสื่อม’

ที่เล่ามาแต่ต้นจนบรรทัดนี้ คือบริบทของการพัฒนาตามแนวความคิดเชิงปรัชญา ที่อาจหมายรวมถึงการพัฒนาทรัพยากรและองค์กรแต่ยุคทองกับยุคเสื่อมในบริบทของการเมืองการปกครองและการพัฒนารัฐแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย ตรงที่ยุคเสื่อม หมายถึง ‘เสื่อม’ จริงๆโดยมีกฎเกณฑ์เดียวกับกฎข้างต้นคือ ‘ยุคทองคือจุดเริ่มต้นของยุคเสื่อม!.’

ที่มาของรูปภาพ: http://www.junghoo.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=20285

ที่มาของรูปภาพ: http://www.junghoo.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=20285

ช่วงเวลา 42 ปีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือจุดสูงสุดของช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการพัฒนาประเทศสยาม นอกจากพระราชวิสัยทัศน์ของพระองค์ในสถานะพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศได้อย่างชาญฉลาดแล้ว ช่วงเวลานั้นประจวบเหมาะกับ ‘อะไรๆ’ที่สุกงอมขึ้นพร้อมๆกัน

ทรงเลือกรับเอาวัฒนธรรม, เทคโนโลยี, ระเบียบแบบแผน, ปรัชญาและแนวคิดจากตะวันตกเข้ามาใช้ในการปรับปรุงประเทศ โดยผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมและแนวคิดดั้งเดิมเพื่อให้พอเหมาะพอเจาะกับสังคมไทย ไม่มีใครสงสัยเลยว่ายุคของพระองค์คือยุคทองของสยาม

หลังจากเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2453 สยามในเวลานั้นรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศแล้ว และดำรงตัวอยู่อย่างนั้นอีกไม่นานก็เริ่มประสบกับปัญหาหลายอย่างอันเป็นผลมาจากความเจริญที่เคยนำมาเข้ามาในระยะหลัง ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชากร เกิดความแปลกแยกไม่มักคุ้น ต่อต้าน ปฏิเสธและหมักหมมในที่สุด แต่ยุคเสื่อมก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุด สยามยังคงเดินทางต่อไปบนเส้นทางของตัวเองนครสำคัญที่เป็นซากปรักอยู่ในเวลานี้ ครั้งหนึ่งก็เคยพัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุดมาแล้วเช่นกัน

พ.ศ.2399 ขณะที่มนุษย์ชื่นชมกับเทคโนโลยีอันทันสมัยและการวางผังเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและทรงประสิทธิภาพของมหานครอย่างนิวยอร์กหรือชิคาโกอยู่นั้น อีกซีกโลกหนึ่งรัฐบาลผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย แห่งประเทศอินเดียได้ดำเนินการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองการาจีกับเมืองละฮอร์ (ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองสำคัญของประเทศปากีสถาน) อยู่นั้นก็ได้ค้นพบซากเมืองโบราณแห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้กับเราอย่างมาก เมืองนั้นคือ ‘ฮารัปปา (Harappa)’ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่ามีอายุย้อนไปประมาณ 4,600 ปีโดยประมาณ

การค้นพบเมืองฮารัปปาทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในการค้นหาอารยธรรมโบราณริมฝั่งแม่น้ำสินธุ จนกระทั่งอีก 66 ปีต่อมานักโบราณคดีชาวอินเดียชื่ออาร์ ดี บาเนอจิ ได้ค้นพบอารยธรรมเก่าแก่อายุ 1,700 ปี ที่ริมแม่น้ำสินธุทางด้านตะวันออกเช่นเดียวกับเมืองฮารัปปา ดินแกนที่บาเนอจิค้นพบนี้ได้รับการขนานนามว่า ‘โมเฮนโจดาโร (Mohenjodaro)’ซึ่งหมายความว่าเนินดินแห่งความตาย

สิ่งที่ทำให้โลกสนใจเมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโรก็เพราะความเจริญก้าวหน้าทางภูมิปัญญาที่นครทั้งสองสั่งสมมาตลอดก่อนจะถูกกลืนหายไป พร้อมกับความยอกย้อนของประวิตศาสตร์ ในระยะแรกยังเป็นที่สงสัยกันว่าเหตุใดจึงมีนครใหญ่เติบโตขึ้นบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสินธุซึ่งเต็มไปด้วยทะเลทรายร้อนแล้งยาวไกลสุดลูกหูลูกตา จนกระทั่งมีการสำรวจทางธรณีวิทยาในเวลาต่อมาแล้วพบว่าบริเวณนี้เคยมีแม่น้ำอีกสายหนึ่งไหลผ่านก่อนที่จะมีการเปลี่ยนทิศทางและเหือดแห้งไปในที่สุด และนั่นอาจเป็นสาเหตุที่นครใหญ่ทั้งสองต้องร้างไปในเวลาต่อมา ถึงกับมีผู้สันนิษฐานว่าแม่น้ำสายนั้นอาจเป็ฯแม่น้ำสรัสวดีที่เคยไหลอยู่บนพื้นภารตวรรษก่อนที่จะมุดลงใต้แผ่นดินไม่ผุดขึ้นมาเลย เว้นแต่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำคงคาและยมุนาที่จุฬาตรีคูณ

แม้ว่าชาวดราวิเดียน (ทมิฬหรือมิลักขะก็เรียก) จะสร้างสรรค์เมืองทั้งสองขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้ว แต่หลายสิ่งหลายอย่างกลับมีความก้าวหน้าอย่างมหัศจรรย์ ตั้งแต่การวางผังเมืองที่เป็นระเบียบและชาญฉลาดพอๆกับนครใหญ่ของโลกปัจจุบันอย่างนิวยอร์กและชิคาโก โดยเฉพาะการวางแบบให้ถนนเกือบทุกสายในเมืองเชื่อมถึงกันด้วยการพาดถนนตัดกันคล้ายตารางหมากรุก ซึ่งเป็นผลดีต่อการจราจร การขนส่ง การควบคุมความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัย

ที่สำคัญอาคารที่สร้างขึ้นบนตารางหมากรุกนี้จึงถูกบังคับให้สร้างด้วยแบบแปลนรูปสี่เหลี่ยมไปโดยปริยาย ชาวดราวิเดียนเข้าใจการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างน่ายกย่องด้วยการซอยพื้นที่นั้นออกเป็นห้องเล็กๆเพื่อใช้สอยต่างกัน ทั้งเป็นห้องรับแขก,ห้องนอน,ครัว,ห้องนั่งเล่น,ห้องน้ำ ฯ โดยเว้นพื้นที่ตรงกลางโล่งไว้เพื่อการระบายอากาศ ซึ่งเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่นิยมกันอย่างยิ่งในยุโรปหลายพันปีให้หลัง และที่สร้างความตกตะลึงให้กับสถาปนิกที่สุดก็คือการค้นพบว่าอาคารเกือบทุกหลังสร้างเป็นสองชั้น นอกจากนั้นเมืองทั้งสองยังเพียบพร้อมไปด้วยสาธารณูปโภคทั้งระบบการกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ, ระบบการชลประทาน, การเก็บกักอาหารไปจนถึงอ่างอาบน้ำรวมที่ทันสมัยแบบเดียวกับสระว่ายน้ำชั้นเยี่ยมในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอีกต่อไปที่มีการประมาณกันว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองฮารัปปาและโมเฮนโจดาโรมีจำนวนถึง 40,000 คนในเวลานั้น

แต่ปัญหาก็คือเมื่อแม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง ชีวิตนับหมื่นในเมืองอารัปปาและโมเฮนโจดาโรก็ระส่ำระสาย จนกระทั่งอ่อนแอลงและเมืองล่มในที่สุด ชาวดราวิเดียนที่เคยครอบครองดินแดนบนที่ลุ่มแม่น้ำสินธุ เจ้าครองเทคโนโลยีอันมหัศจรรย์เมื่อกว่าสี่พันปีก่อนต้องประสบกับความล้มเหลวจนที่สุดก็พ่ายแพ้แก่อนารยชนจากที่ราบสูงตอนบนนามว่าอริยกะหรืออารยัน ถุกขับไล่ถอยร่นจากตอนเหนือของอินเดีย ไปสู่ดินแดนแร้นแค้นหลังเทือกเขาวิธัย กลายเป็นพลเมืองชั้นล่างสุดของชมพูทวีปมาจนกระทั่งปัจจุบัน

พัฒนาการในทุกๆด้านของดราวิเดียนจบลงเพราะเหตุใด ความรุ่งเรืองของชนดราวิเดียนจบลงเพราะสู้ชาวอารยันไม่ได้กระนั้นหรือเปล่าเลย! เนื้อแท้แล้วชาวอารยันก็คือคนเร่ร่อนที่หากินและย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ อนารยชนเชื้อสายอินโดยูโรเปียนพวกนี้ มีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบทะเลสาปแคสเปียนตอนกลางของทวีปเอเชีย ก่อนจะออกเดินทางพิชิตดินแดนต่างๆตั้งแต่เปอร์เซีย,อัฟกานิสถาน ผ่านช่องแคบไคเบอร์เข้ายึดครองดินแดนจากชาวดราวิเดียนและตั้งรกรากครองความเป็นใหญ่ต่อมาอีกหลายพันปี

การเปลี่ยนทางของแม่น้ำสายสำคัญอาจทำให้รากฐานการพัฒนาของอารยธรรมดราวิเดียนได้รับผลกระทบก็จริง แต่การพัฒนานั้นหากอยู่บนรากฐานของความมั่นคงและต่อเนื่องแล้วย่อมไม่หายไปไหน ในกรณีนี้กระบวนการพัฒนาของชนดราวิเดียนได้รับการสืบทอดต่อโดยชาวอารยัน ซึ่งเข้ามามีอำนาจแทนที่ ซึ่งต้องใช้ช่วงหนึ่งศึกษาภูมิปัญยาของผู้อยู่ก่อนและต่อยอดกระบวนการเหล่านั้นจนเจริญรุดหน้าก้าวไกลในที่สุด ในเส้นทางประวัติศาสตร์ เราจึงได้เห็นยุคทองและยุคเสื่อมของหลายต่อหลายอาณาจักรหมุนวนกันไป อารยธรรมอียิปต์, มายา, อินคาหรือแอซแทกซ์ล้วนเคยพบพานกับยุคทองก่อนจะถึงเวลาเสื่อมถอยจนกระทั่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในที่สุด

ความมั่นคง, ความต่อเนื่องและการเอาจริงเอาจังแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อกระบวนการพัฒนาสิ่งต่างๆก็จริง แต่ส่วนหนึ่งก็คือการเผื่อแผ่องค์ความรู้และความเคลื่อนไหวในการพัฒนานั้นออกไป ที่สำคัญที่สุดต้องอย่าลืมเผื่อใจไว้ว่า ยุคทองคือจุดเริ่มต้นของยุคเสื่อม

—————–

หมายเหตุ มีการเปลี่ยนชื่อเรื่อง จาก ยุคทอง: สวรรค์ขั้นสุดของการพัฒนา? (ในนิตยสาร HI-CLASS) มาเป็น ‘จุดสูงสุดของ ‘ยุคทอง’ คือการเริ่มต้นของ ‘ยุคเสื่อม’ สำหรับการนำเสนอในเว็บไซต์

Text: สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ

จากนิตยสาร HI-CLASS ฉบับ 267

Related contents:

You may also like...