วิถีกบฏ: บนเส้นทางของไพร่และปัญญาชน

1200px-Lar9_philippo_001z

ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองรูปแบบใด ความไม่พอใจในผู้นำ กบิลเมืองตลอดจนธรรมนูญการปกครองเป็นสิ่งต้องห้าม หากมีผู้หนึ่งผู้ใดอาจหาญแสดงความกระด้างกระเดื่อง รัฐก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะปราบปราม ในข้อหา’กบฏ’

หากนำหนังสือประวัติศาสตร์สยามมาพลิกดู จะเห็นว่าขบวนการปฏิเสธอำนาจของรัฐ ที่เรียกว่ากบฏหรือขบถนั้นมีอยู่มากมาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นสื่อสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของระบบการปกครองที่ใช้อยู่และตัวของผู้ปกครองเอง ในขณะที่เหตุการณ์กบฏแต่ละครั้งสามารถบ่งบอกสถานะการณ์ทางเศรษฐกิจ, สังคมและวิธีคิดของคนในแต่ยุคได้อย่างมีชีวิตชีวา

‘กบฏ’ มาจากภาษาสันสกฤตว่า ‘กปฏ’ หมายถึงความคดโกง ในทางการเมืองการปกครองใช้กับผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองที่กำลังดำเนินอยู่ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รัฐประหาร ปฏิวัติ หรืออื่นๆ

กบฏในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แม้ว่าในยุคเทวสิทธิ์และสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้คบคิดการกบฏมีโทษตายเพียงสถานเดียวและถือเป็นโทษตายที่ตกตามสู่ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย แต่กบฏก็ยังเกิดอยู่เนืองๆ ด้วยหลายเหตุปัจจัย เป็นที่มาของการจัดระเบียบการปกครอง กฎเกณฑ์และขนบธรรมเนียมมากมาย

ลักษณเด่นของการเมืองการปกครองสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์คือความหวาดระแวงระหว่างกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่และผู้ปกครองหัวเมืองใหญ่ทั้งหลาย จุดหมายของการก่อกบฏอยู่ที่การแย่งชิงราชบัลลังก์เพื่อควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างหนึ่ง การแข็งข้อของหัวเมืองใหญ่ทั้งเพื่อจะขึ้นมามีอำนาจแทนเมืองหลวงและเพื่อป้องกันการขยายอำนาจมารุกรานจากเมืองหลวงส่วนหนึ่ง และมีเพียงส่วนน้อยมากเท่านั้นที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของราษฎรในกรณีทั้งปวง

ดังนั้นจึงสามารถสรุปคร่าวๆได้ว่ากบฏในระบอบเทวสิทธิ์และสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมักมีผู้นำเป็นผู้มีอำนาจในบ้านเมืองหรือแม้กระทั่งผู้นำในท้องถิ่นซึ่งบางครั้งเป็นพระภิกษุ, ผู้คงความรู้ทั้งทางไสยและศาสตร์ ตลอดจนผู้อ้างตนว่าเป็นผู้มีบุญ โดยมีไพร่เป็นกำลังสำคัญ

เหตุผลที่ผู้นำเหล่านั้นสามารถโน้มนำให้ไพร่ทั้งหลายหันมาร่วมกับกบฏนั้น นอกจากความภักดีและหน้าที่ในระบบไพร่ที่ติดตัวอยู่แล้ว ยังมีแนวคิดเรื่องบารมี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำทั้งหลายใช้อ้างสิทธิในการนำขบวนขบถอยู่เกือบทุกครั้ง โดยเฉพาะขบวนการที่ถูกก่อขึ้นในส่วนภูมิภาค แม้ว่าในหลายๆครั้งบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับกบฏจะไม่ได้บอกรายละเอียดโดยตรงเกี่ยวกับการอ้างตัวเป็นผู้มีบุญก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าความเชื่อเรื่องบุญบารมีในมโนคติของคนไทยค่อนข้างมีพลานุภาพมาก ทำให้เกิดการคล้อยตามได้ง่าย ที่สำคัญที่สุดผู้นำการกบฏมักเป็นผู้นำที่ได้รับการเชื่อถือ มีความรู้แตกฉานในทางใดทางหนึ่ง หรือมีคุณลักษณะพิเศษบางประการที่ทำให้ผู้คนโน้มเอียงเชื่อถือได้ง่าย

พงศาวดารฉบับหลวงประเสิรฐอักษรนิติ์ ได้บันทึกเรื่องราวของกบฏครั้งหนึ่งไว้ใจความว่า“ศักราช 943 (ตรงกับพ.ศ. 2124) ญาณประเชียรเรียนศาสตราคมและคิดเป็นขบถ คนทั้งปวงสมัครเข้าด้วยมาก และยกมาจากเมืองลพบุรี”

จากหลักฐานอื่นๆแม้ระบุเวลาไม่ตรงกัน แต่ก็เล่าเรื่องของกบฏญาณประเชียรหรือญาณพิเชียรโดยพิสดาร มีใจความคล้ายกันว่าญาณพิเชียรนั้นเดิมเคยเป็นภิกษุ ต่อมาสมคบกับพวกลวงชาวบ้านว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จนชาวบ้านหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ญาณพิเชียรและพวกซ่องสุมผู้คนอยู่ที่วัดใหญ่ บ้านยี่ล้น แขวงวิเศษไชยชาญ เมืองอ่างทอง

สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงพระกรุณาฯให้เจ้าพระยาจักรียกทัพขึ้นมาปราบกบฏ ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลมหาดไทย ปรากฎว่าญาณพิเชียรยกกำลังเข้าบุกทำลายทัพเจ้าพระยาจักรีจนยับเยิน แม้แต่ชาวมหาดไทยซึ่งยืนหน้าช้างของเจ้าพระยาจักรีก็หันไปช่วยพวกกบฏจนหมดทั้งสิ้น คราวนั้นพันไชยทูตทหารคนหนึ่งของญาณพิเชียรปีนหลังช้างขึ้นไปสังหารเจ้าพระยาจักรีได้สำเร็จ และทัพกบฏซึ่งใหญ่ขึ้นมีกำลังพลถึง 3,000 นายก็เดินหน้าหมายเข้ายึดเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองสำคัญ แต่ขณะยืนช้างอยู่ที่ตำบลหัวตรี ญาณพิเชียรก็ต้องปืนจากชาวอมรวดี (ชาวตะวันตก) สิ้นใจทำให้กบฏครั้งนี้มีอันแตกพ่ายไปในที่สุด

บรรดานักประวัติศาสตร์เคยเข้าใจกันว่ากบฏญาณพิเชียรเกิดขึ้นเพราะความไม่พอใจในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐ ด้วยในพระราชพงศาวดารลำดับก่อนหน้านั้นมีบันทึกเรื่องข้าวยากหมากแพง ความแห้งแล้งเพราะน้ำน้อย การเกษตรได้ผลไม่เต็มที่ทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ ประกอบกับระยะนั้นเป็นเวลาหลังจากสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 เพียงไม่นาน ความเสียหายจากสงครามคงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของราษฎรบ้างไม่มากก็น้อย

ในวงวิชาการ กบฏที่ก่อขึ้นโดยไพร่เพื่อเรียกร้องและแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลนั้น เรียกว่า ‘กบฏไพร่’ แม้จะยังเป็นที่ถกเถียงมาจนกระทั่งเวลานี้ว่าตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์สยาม เคยมีกบฏไพร่เกิดขึ้นกี่ครั้งหรือเคยเกิดขึ้นจริงๆสักครั้งหนึ่งหรือไม่

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ว่า ชื่อของญาณพิเชียร ซึ่งหลักฐานหลายฉบับเรียก ‘ขุนโกหก’ หรือพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์เรียกว่า ‘พระยาพิเชียร’, ชื่อของพันไชยทูตและหมื่นศรียี่ล้น ล้วนเป็นลักษณะพิเศษที่แสดงว่าผู้นำกบฏในครั้งนี้มีความ ‘เหนือ’ กว่าไพร่ทั้งมวล และอาจเป็นข้าราชการในรัฐบาลซึ่งไม่พอใจนโยบายบางประการภายใต้การนำของพระมหาธรรมราชาก็เป็นได้ และวิธีกบฏของญารพิเชียรก็มีความซับซ้อน มีระเบียบชัดเจน แสดงถึงการวางแผนมาอย่างดี นั่นย่อมต้องอยู่ภายใต้นโยบายของผู้ที่มีความรู้ความสามารถ อาจเป็นเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์หรือแม้กระทั่งขุนนางข้าราชการผู้ช่ำชองกลก็ได้

อาจเป็นการลำบากและยากยิ่งหากไพร่ด้วยกันจะลุกขึ้นมาก่อการใหญ่และตั้งตนเป็นผู้นำท่ามกลางความเข้มแข็งมั่นคงของลัทธิเทวสิทธิ์และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้ว่าการอ้างบุญญาบารมีจะมีภาษีอยู่บ้าง แต่อำนาจในฐานะผู้นำหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นอาจจะช่วยหนุนให้ทำกำเริบได้ง่ายขึ้น นี่อาจเป็นสาเหตุให้ญาณพิเชียรมีกำลังมากและซ่องสุมผู้คนได้เร็ว พฤติการณ์ของกบฏอย่างเช่นกบฏญาณพิเชียรนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในกรุศรีอยุธยา เช่น กบฏธรรมเสถียร ในรัชกาลพระเพทราชา ซึ่งผู้นำอ้างตนว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศพระอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น

กบฏในยุคประชาธิปไตย

หลังจากสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นต้นมา รัฐบาลภายใต้ธรรมนูญประชาธิปไตยต้องประสบกับปัญหานานาประการ โดยเฉพาะความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเข้ามาบริหารประเทศในคณะเดียวกัน หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ถึงบรรยากาศเวลานั้นไว้ใน ‘สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น’ว่า

“…ส่วนในคณะรัฐบาลก็แตกกันเองเป็น 2 พวกคือ

1. คณะมโนฯ เป็นพวกกลาง Moderate

2. คณะหลวงประดิษฐิ์ฯ เป็นพวกรุนแรง Radical แต่ยึดเอาพระยาพหลฯ ซึ่งไม่ใช่คนแรงไว้เป็นหัวหน้าได้

…ลงท้ายสองคณะนี้ก็คิดจะเอากันลงให้ได้ข้างหนึ่ง. เพราะพวกมโนฯว่าปล่อยให้เป็นคอมมูนิสต์ไม่ได้ บ้านเมืองจะฉิบหาย. พวกแรงว่าพระยามโนฯอกตัญญูกลับไปเข้ากับในหลวง. และถ้าไม่เอาหลวงประดิษฐิ์ฯผู้เป็นสมองกลับมา, ก็ทำอะไรให้ดีไม่ได้เลย.พวกเป็นกลางก็คอยพร้อมว่าถ้าหลวงประดิษฐิ์ฯ กลับมาเมื่อไรเป็นต้องปราบเอาพวกปัจจุบันนี้ออกหมด และจะให้ในหลวงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉะบับที่ทรงร่างขึ้นเอง

เหตุการณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 เรากำลังเตรียมจะออกร้านไม้ไผ่ทำของว่างเลี้ยงถวายในหลวงในวันประสูติเสด็จพ่อรุ่งขึ้น. แต่พอลืมตาขึ้นก็ได้ข่าวว่าเกิด coup กันในกรุงเทพฯอีก. คราวนี้หลวงพิบูลสงคราม(แปลก ขิตตะสังคะ)ทหารบก กับหลวงศุภชลาสัย (บุง ศุภชลาสัย)ทหารเรือ เป็นหัวหน้าเซ็นชื่อด้วยกัน, สั่งให้หลวงกาจสงครามนำรถแทงก์และทหารไปจับพระยามโนฯ, พระยาศรีวิสาร, และนายประยูร ภมรมนตรีที่บ้านพระยามโนฯ, บังคับให้เซ็นชื่อลาออกทั้งหมดแล้ว, ก็รับพระยาพหลฯไปเป็นนายกรัฐมนตรี, ตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่แล้วมีโทรเลขลงไปกราบทูลในหลวงว่า การที่พระยามโนฯสั่งปิดสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีกำหนดเปิดนั้น, ผิดทางรัฐธรรมนูญ จึงต้องแก้ไขใหม่ และจะส่งให้เจ้าพระยาพิชัยญาติฯ ออกไปกราบทูลชี้แจงในรถเช้านั้น.”

(รักษาตัวสะกดตามต้นฉบับ)

อันที่จริงผู้ร่วมก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประกอบด้วยคนหลายจำพวก มีทั้งข้าราชการศักดินาเก่าที่เริ่มมีความคิดและอุดมการณ์ใหม่ทั้งจากการศึกษาอย่างแกนๆ จากคำยุยง และจากความไม่พอใจความเลื่อมล้ำในระบบศักดินา และพวกปัญญาชนที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของระบบการปกครองในต่างประเทศ คนสองกลุ่มนี้ต่างก็ร่วมมือกันในชั้นแรกเพื่อให้กิจสำเร็จลุล่วง แต่หลังจากนั้นต่างคนต่างก็มีความเห็นของตนที่ไม่ลงรอยกัน กลายเป็ฯเหตุใหญ่ของปัญหามากมายที่เกี่ยวพันกันยุ่งเหยิง

ความไม่พอใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครองทำให้เกิดกบฏครั้งพิเศษในประวัติศาสตร์ขึ้น คือกบฏบวรเดชหรือคณะกู้บ้านกู้เมือง ซึ่งเป็นเหตุกบฏที่ก่อขึ้นภายใต้คำอ้างที่ว่าเป็นการต่อสู่เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์และด้วยความจงรักในพระราชวงศ์จักรี นำโดยพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 และถูกพันโทหลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) ปราบลงราบคาบในวันที่ 15 ตุลาคม ปีเดียวกัน

หลังจากนั้นสยามต้องเผชิญกับเหตุกบฎอีก 11 ครั้งตามมา โดยมีเหตุผลเกี่ยวกับการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือแม้ว่าการปกครองจะเปลี่ยนไปแล้ว โดยเป็นที่เข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของมวลชน แต่กบฎทุกครั้งกลับมีไพร่เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์อยู่น้อยมาก โดยผู้มีบทบาทในการก่อและปราบกบฏยังเป็นชนชั้นผู้นำของสังคม โดยเฉพาะทหารและตำรวจ สิ่งเดียวที่เปลี่ยนไปอันมีผลจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ ‘พวกเจ้า’ มีส่วนรู้เห็นและเข้าร่วมกับขบวนการกบฎลงลดอย่างเห็นได้ชัด

ในเมื่อการเมืองการปกครองยังเป็นเรื่องของปัญญาชนและชนชั้นสูงอยู่

ฉะนั้นจึงพอสรุปคร่าวๆได้ว่าจนถึง พ.ศ.2528 สยามยังไม่เคยมี ‘กบฎไพร่’ ที่เด่นชัดเลยสักครั้ง

เหตุการณ์ความวุ่นวายในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นอกจากเป็นสัญลักษณ์ถึงความสุกงอมของกระบวนการปัญญาชนที่แท้จริงแล้ว ยังอาจเป็นชนวนที่ทำให้ไพร่ได้กลับมาคิดถึงคุณค่าและบทบาทของตน ได้มองเห็นช่องทางแห่งเสรีภาพ ขบวนการไพร่ที่แท้จริงจึงควรจะกล่าวได้ว่าเริ่มต้นขึ้น ณ เวลานั้น

ในขณะที่ปัญญาชนพยายามต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพที่แท้จริงของปวงชนอยู่นั้น กระบวนการของไพร่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นและดำเนินการเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้พวกตน ก่อเป็น ‘กบฏไพร่’ อันทรงพลัง และมีอำนาจต่อรอง

หลังปี พ.ศ.2540 เราได้เห็นพลังของขบวนการไพร่มากขึ้น การเรียกร้องของราษฎรในชนบทที่ประสบปัญหาจากการทำมาหากิน ความไม่เป็นธรรม และความแร้นแค้นมีเข้ามาในกรุงเทพเสมอๆ การประท้วงเหล่านี้อาจมองได้ว่าเป็นกบฏอย่างหนึ่งแม้ไม่ใช่โดยพฤติการ ก็ถือเป็นกระบวนการก่อกำเนิด แม้ว่าหากจะเอาจริงแล้ว ไพร่แทบไม่มีปัญญาต่อกรเลยก็ตาม

สิ่งที่เห็นได้ต่อมาก็คือการพยายามดึงขบวนการนี้เข้าไปเป็นกำลังส่วนหนึ่งของกบฏปัญญาชน เพื่อเพิ่มพลังเรียกร้อง ต่อรองและโค่นล้มให้รุนแรงขึ้น แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือสำหรับกบฎไพร่หรือถ้าจะเรียกให้ตรงสมัยก็ต้องเรียกว่า ‘ขบวนการชาวบ้าน’ นั้นน้อยนักที่การก่อการจนลุผลสมความตั้งใจ ต่างจากขบวนการปัญญาชนที่มักดันทุรังจนสามารถประกาศความสำเร็จในตอนท้ายได้ทุกครั้ง

อันที่จริงหากขบวนการปัญญาชนสามารถชี้วัดผลของการเมืองการปกครองในเวลานั้นได้ ขบวนการชาวบ้านก็คือดัชนีเปรียบเทียบความสุขสมบูรณ์ในการใช้ชีวิตของราษฎรได้เช่นกัน แต่ความสนใจจากรัฐและมวลชนกลับมีต่อขบวนการทั้งสองนี้ต่างกันอย่างค่อนข้างแจ่มชัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

แต่ขบวนการชาวบ้านก็ยังจะต้องดำเนินต่อ ควบคู่ไปกับขบวนการของปัญญาชน

สิ่งสะท้อนแปลกประหลาดก็คือ ในขณะที่ขบวนการชาวบ้านกำลังดำเนินไป ก่อร่างสร้างระเบียบแบบแผนขึ้นมาเป็นตัวของตัวเองทีละน้อยนั้น ขบวนการปัญญาชนกลับค่อยๆเสื่อมทรามลงด้วยกลวิธีเช่นกัน

หรือนี่คือจุดเริ่มอนาคตกบฎไพร่และที่ปราชัยของปัญญาชน ?

 

———
ผู้เขียน: สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ

Related contents:

You may also like...