วัฒนา โอภานนท์อมตะ / รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

 บนความสมดุลระหว่างมูลค่ากับคุณค่า

คนทุกคนย่อมมีคนโปรด ซึ่งเป็นเรื่องดีถ้าหากเรามองเห็นด้านดีของคนโปรดของเรา แล้วนำด้านดีของเขามีปรับใช้กับตัวเองเรา มากกว่านั้น คงเป็นเรื่องดีถึงดีมาก ถ้าการนำเอาด้านดีของคนโปรดที่เราชื่นชอบไม่ได้จำกัดแค่นำมาประยุกต์ใช้กับตัวเราเอง แต่ขยายวงกว้างไปถึงระดับองค์กรที่เราสังกัด ความดีย่อมขยายวงกว้างออกไป วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นคนหนึ่งที่พึงปฏิบัติดังว่า

คนโปรดหรือคนที่เป็นโมเดลของผมมี 2 คนครับ คนหนึ่งคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงของปวงชนชาวไทย ส่วนอีกคนคือ มหาตมะ คานธี

ผมประทับใจแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน หมายถึงการพยายามพึ่งพาตนเอง มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น ไม่พอค่อยไปซื้อ พยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุด อีกเรื่องคือความซื่อสัตย์สุจริต ชีวิตที่จะเติบโตและรุ่งเรืองได้ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นส่วนสำคัญ แล้วก็เรื่องของการนึกถึงประโยชน์ของคนอื่น เหมือนที่เราได้ยินกันเมื่อครั้งที่ท่านทรงตรัสตอนขึ้นครองราชย์ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” คือท่านมองเป้าว่าสิ่งที่ท่านทำจะต้องเป็นประโยชน์สุขของคนไทย ก็คือการนึกถึงคนอื่น

“สำหรับท่านมหาตมะ คานธี สิ่งที่ผมประทับใจในตัวมหาตมะ คานธี คือเขาเป็นคนสมถะ เป็นคนที่นึกถึงผู้อื่น (เน้นเสียง) เป็นคนเรียนเก่ง เรียนในประเทศอังกฤษ ถ้าหากจะเอาดีทางด้านผู้พิพากษาเหมือนคนทั่วไปผมว่าเขาก็ไปได้ แต่ปรากฏว่าเรียนจบแล้วเขากลับเลือกมาเป็นทนายให้คนอินเดียที่ทำงานในอังกฤษ ซึ่งถูกกดขี่ ผมชอบที่เขานึกถึงคนอื่น นึกถึงตัวเองน้อยมาก เห็นความอยุติธรรมไม่ค่อยได้ แล้วก็เป็นคนจริง ยึดหลักการต่อสู้ที่ไม่ทำให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ คือ อหิงสา ด้วยความเชื่อที่ว่าความยุติธรรม หลักการและเหตุผลน่าจะเป็นสิ่งที่ชนะในที่สุด เพียงแต่ต้องอดทนและใช้เวลา

หลักคิดที่ได้จากคนโปรด ผมได้น้อมนำมาใช้ทั้งโดยส่วนตัวและในองค์กร คือ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีปรัชญาในการบริหารงาน 3 หลัก คือ
1.พึ่งตัวเอง พยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุด มีอะไรจะทำด้วยตนเองก่อน
2.หลักความเป็นครอบครัวเดียวกัน ธรรมชาติของความเป็นครอบครัวก็คือ แม้เราจะไปทำงานเหนื่อยแค่ไหน ไปแข่งขันข้างนอกมาแค่ไหน พอกลับบ้าน นี่คือที่ผ่อนคลายที่ดีที่สุด เพราะว่าอยู่ในบ้านมันไม่มีใครแพ้ใครชนะ คุณจะชนะที่ไหนมา แพ้ที่ไหนมา กลับมาถึงบ้านก็มีแต่ความเข้าใจ การให้อภัย เราก็นำมาใช้ เวลาอยู่ที่ทำงาน เราก็มองคนอื่นเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เมื่อมองได้อย่างนั้น ความรู้สึกที่จะเอาชนะคะคานกันอย่างเอาเป็นเอาตายมันก็ไม่เกิด มีแต่ความกลมเกลียว ช่วยเหลือกัน
3.คือการบริหารความสมดุลระหว่างมูลค่ากับคุณค่า มูลค่าอาจหมายถึงความร่ำรวย ถ้าเราจะใช้ชีวิตสร้างแต่มูลค่าหรือความร่ำรวยอย่างเดียว ผมว่าเป็นชีวิตที่ไม่สมดุลหรอก ไม่มีความสุข แต่ถ้าเราทำให้สมดุลกันระหว่างมูลค่ากับคุณค่า สร้างคุณค่าของความเป็นคน มีศักดิ์ศรี มีเกียรติศักดิ์ของความเป็นคน ซึ่งถ้าจะมีตรงนี้ได้ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ผมว่าอย่างนี้จะมีความสุขมากกว่า สร้างประโยชน์ให้คนอื่น ทำประโยชน์ให้สังคมด้วย นั่นคือปรัชญาการบริหารงานของเราครับ (ยิ้ม)

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-270 ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

+++++++++++++++++++++++++

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...