อภิชาต ดิลกโสภณ / รองผู้ว่าการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 ชายผู้ใช้หัวใจในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ

ถ้าหากขณะที่คุณกำลังอาบน้ำอยู่แล้วไฟฟ้าดับคุณจะทำอย่างไร และจะเกิดเหตุใดบ้างติดตามมา ความรุนแรงระดับน้อยก็แค่หงุดหงิดกับภาวะชะงักงัน หรืออาจะลื่นหกล้มในห้องน้ำเพราะแสงสว่างไม่เพียงพอ นั่นเป็นเพียงความน่าจะเป็นซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ขณะที่ระดับมหภาคความเสียหายทางเศรษฐกิจอันมหาศาลย่อมเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่แม้เป็นเพียงไฟฟ้าซึ่งดับพร้อมกันทั่วประเทศเพียง 15 นาทีก็ตาม

จะมีสักกี่คนที่รับรู้ว่าการผลิตพลังงานโดยไม่กระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงนั้นเกือบจะส่งผลกระทบต่อประเทศ…เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยความที่เราใช้ก๊าซถึงประมาณ 70% เมื่อท่อก๊าซที่พม่าเกิดขัดข้องพร้อมกับความขัดข้องของท่อก๊าซในอ่าวไทยถึงแม้ไม่มีไฟฟ้าดับ ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ แต่กฟผ.ได้รับผลกระทบในการทำงานอย่างมากเพื่อรักษาการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ให้ไฟดับทั่วประเทศ ประกอบกับการที่ไทยพึ่งพิงการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมากเกินไปแม้จะจำกัดอยู่ที่ 20% ซึ่งความต้องการไม่หยุดนิ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น

เหตุไฟฟ้าดับพร้อมกับทั่วประเทศไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมานานกว่า 25 ปี ย่อมต้องยกความดีความชอบให้กับระบบการสำรองทดแทนกระแสไฟฟ้าซึ่งโยงใยเครือข่ายถึงกันของกฟผ.รวมถึงการจัดการควบคุมระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสบโอกาสได้พบกับชายผู้นั่งเก้าอี้รับผิดชอบระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศคนล่าสุด อภิชาต ดิลกโสภณ รองผู้ว่าการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำมุมมองอันหลากหลายมาฝากคุณผู้อ่าน รวมถึงเกาะติดกระแสยุค‘รัดเข็มขัด’ กับแนวทางการประหยัดพลังงานจากกฟผ.

“ครอบครัวผมเป็นครอบครัวข้าราชการ คุณพ่อรับราชการทหารเป็นอนุศาสนาจารย์ ส่วนคุณแม่จบครู เกิดที่มหาสารคามแต่เข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่เรียนม.ปลาย เมื่อปี 2506 ก็เรียกได้ว่าเป็นคนกรุงไปแล้วล่ะ ใบประกาศล่าสุดคือปริญญาโทหลักสูตรผู้บริหาร Executive MBA มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“ผมจบปริญญาตรีวิศวะกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็เข้าทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2513 ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 38 ปีถือว่าค่อนข้างยาวนานมาก แต่การทำงานในการไฟฟ้าฯ ผมมีการเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่บ่อยมากจึงได้พบสิ่งใหม่อยู่เสมอ ไม่ซ้ำ ได้พบผู้คนใหม่ๆ พบหน้าที่การงานใหม่ๆ พบเรื่องราวและปัญหาใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

“ตอนเข้ามาทำงานก็ในตำแหน่งวิศวกร ด้วยความที่จบวิศวะกรรมโยธาดังนั้นงานของผมจึงเกี่ยวข้องกับงานโยธาเป็นส่วนใหญ่ เน้นการออกแบบคุมงานก่อสร้างและรวมทั้งงานบำรุงรักษาโยธาคือการดูแลด้านอาคารสถานที่ ผมทำงานด้านนั้นจากปี 2513 จนถึงปี 2533 ที่ทำงานด้านโยธา ได้ไปประจำอยู่เขื่อนภูมิพล 3 ปี ด้วยความเป็นคนกรุงเทพฯ ได้ไปเรียนรู้ชีวิตของคนต่างจังหวัด ได้ประสบการณ์มาเยอะ

“หลังจากงานด้านโยธาก็เปลี่ยนมาทำงานทางด้านความปลอดภัยในการทำงานซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานในการไฟฟ้า ดูแลเรื่องการทำงานที่มีความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของการไฟฟ้าฯ เป็นงานไฮเทคใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง การที่เทคโนโลยียิ่งสูงมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่ออันตรายมาก เพราะฉะนั้นเราต้องมีมาตรการที่เป็นมาตรฐานและนำระบบความปลอดภัยจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งผมก็เป็นคนริเริ่มในยุคแรกๆ รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ วางระบบให้กับกฟผ.ในสมัยนั้น ประมาณ 5 ปี จนกระทั่งรากฐานด้านความปลอดภัยสมัยใหม่นั้นมั่นคงแล้วจึงย้ายมาทางด้านฝึกอบรม กับงาน Human Resource Development อีกประมาณ 7 ปี

“ผลจากงานด้านความปลอดภัยทำให้ผมรู้จักคนของการไฟฟ้าเกือบจะทุกสายงาน ทุกด้าน ทุกระดับ พอมาอยู่สายงาน Human Resource Development ยิ่งทำให้ได้รู้จักกันมากขึ้นไปอีก 7 ปีนั้นเราเน้นการพัฒนาคนอยู่สองด้าน คือ ทางด้านเทคนิค และ ทางด้านบริหารงาน  หลักคิดของการไฟฟ้าก็คือทำให้เป็นคนเก่งและเป็นคนดี โดยเน้นความเป็นคนดีมากกว่า มีโอกาสได้ไปสัมผัสผู้คน ได้เข้าถึงมากขึ้น ได้รับรู้ว่าคนการไฟฟ้าฯ อยู่กันอย่างไร คิดอย่างไร เราถ่ายถอดความรู้ลงไป หลังจาก 7 ปีจึงได้ย้ายไปด้านวิจัยและพัฒนาซึ่งเน้นไปทางด้านพลังงานทดแทน เพราะว่าภารกิจหลักของการไฟฟ้าคือใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง แต่หากเป็นพลังงานทดแทนเป็นอีกส่วนหนึ่งซึ่งถึงแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ทำให้เรามองกว้างขึ้นในด้านพลังงานทางเลือก แล้วจึงกลับมาอยู่ในสำนักผู้ว่าดูแลภาพรวมทั้งหมดของการไฟฟ้าทำงานด้านแผนเป็นหลัก”

“งานในสำนักผู้ว่าการผมได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ดูแลทางด้าน DSM คือการอนุรักษ์พลังงาน ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัด เป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะขัดแย้งกับงานของการไฟฟ้าซึ่งผลิตเพื่อจะขายกระแสไฟฟ้า จนมาถึงวันนี้เราได้คำตอบว่าที่จริงแล้วมันเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งขององค์กรที่ไม่ได้มุ่งแต่จะขายผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อให้ได้รายได้มากที่สุด แต่ว่าเราจะต้องให้ความรู้กับผู้ซื้อด้วยว่าเมื่อเขาซื้อโปรดักส์ไปแล้วเขาได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าไหม มีประสิทธิภาพไหม เพราะว่าทุกหน่วยของไฟฟ้าที่ผลิตออกมาคือการเผาผลาญพลังงานของโลก และโดยเฉพาะในระดับประเทศเราต้องใช้เงินตราต่างประเทศ ในแง่ของปัจเจกบุคคลก็คือการเสียเงินในกระเป๋าอย่างไม่คุ้มค่า”

“ผมอยู่กับกฟผ.เข้าสู่ปีที่ 39 ได้เห็นการเติบโตขององค์กรมาโดยตลอด ก้าวต่อไปเราต้องทำทั้งทางด้าน Supply side คือการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศอย่างเพียงพอ ซึ่งเราทำคู่ขนานกันไปทั้งสองด้านคู่กับการให้ความรู้กับประชาชน นอกจากด้าน Supply side ก็คือด้าน Demand side นั่นคือทำอย่างไรให้ความต้องซึ่งการพุ่งไปข้างหน้านั้นชะลอตัวอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ความร้อนแรงในทางความต้องการลดลงและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องและไม่มีวันจบ”

เป็นเส้นทางอันหลากหลายแต่ก็ล้วนผ่านความสำเร็จมาด้วยดีจากความมุ่งมั่นและทำงานด้วยความรัก

“การทำให้งานที่รับผิดชอบนั้นสำเร็จแม้ที่ผ่านมาจะเป็นงานที่หลากหลายผมคิดว่า คนเราทำงานอะไรก็แล้วแต่ต้องมีความรับผิดชอบรู้สึกว่างานนี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำให้มนสำเร็จและดี เมื่อเริ่มต้นจากความรับผิดชอบเราก็ต้องใฝ่หาความรู้หาจุดดีหาจุดเด่นที่เราจะเข้าไปทำให้ได้ซึ่งเราต้องเกิดความรู้สึกรักในงานและเห็นคุณค่าของงานนั้น เมื่อเกิดความรักแล้วเราก็จะเกิดความมุ่งมั่นมีความพยายาม ตามที่ในหลวงเคยตรัสเอาไว้นะ รัก ทุ่มเท ทำงาน คลุกคลีอยู่กับมันพอเห็นความสำเร็จเราก็เกิดความภูมิใจ นั่นแหละคือรางวัลที่สำคัญที่สุด ส่วนสิ่งที่จะตามมานั้นเป็นเรื่องตามธรรมชาติเมื่อเราทำงานสำเร็จเราก็ย่อมได้รับผลตอบแทน ได้รับบำเหน็จรางวัล ได้เลื่อนตำแหน่งก็ดีหรือได้รับเงินทอง อันนั้นมันเป็นผลที่จะตามมาเอง”

“ตำแหน่งรองผู้ว่าการควบคุมระบบ คือตำแหน่งที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ หมายความว่าการไฟฟ้าของประเทศจะต้องมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพก็คือจะต้องมีการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด และเมื่อจ่ายไฟออกไปแล้วคนใช้ไฟก็จะไม่ต้องประสบกับภาวะติดๆ ดับๆ คือต้องมีความมั่นคงและต่อเนื่อง พร้อมกับมีคุณภาพ ตลอดช่วงเวลากว่า 25 ปี ที่เราไม่เคยมีไฟดับทั้งประเทศเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง”

จากสภาวการณ์ด้านพลังงานโลกซึ่งราคาต้นทุนได้ปรับตัวสูงขึ้น ประเทศไทยในฐานะที่มีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อเสริมศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากวัตถุดิบภายในประเทศซึ่งไม่เพียงพอ ต่อการผลิตสินค้าและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ กระทรวงพลังงานโดยพลโทหญิงพูลภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เปิดตัว 11 มาตรการประหยัดพลังงานเพื่อประชาชน ซึ่งเกือบครึ่งของทั้งหมดคือ  5 ใน 11 มาตรการอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ได้รับมอบหมายเรื่องการประหยัดพลังงานมาตั้งแต่ปี 2533-2534 ตั้งแต่การรณรงค์ในการเปลี่ยนหลอดไฟครั้งแรก อุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ผลงานที่ผ่านมาในรอบ 16-17 ปี ทำให้เราประหยัดไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้า 700 เมกกะวัตต์หรือถ้าจะให้เห็นภาพคือเขื่อนภูมิพลถึง 2 โรง ถ้าคิดเป็นค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าในปัจจุบันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุน 30,000 ล้านบาท และเทียบเป็นค่าไฟต่อรายปีหมื่นล้านบาทต่อปี”

“หน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงานซึ่งดูแลพลังงานของทั้งประเทศ จาก 11 มาตรการของกระทรวงพลังงานเป็นมาตรการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับผิดชอบถึง 5 มาตรการ เป็นความภาคภูมิใจที่กระทรวงไว้วางใจให้ได้มีส่วนช่วยดูแลการประหยัดพลังงานของประเทศ โดยมาตรการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ มุ่งผลสำเร็จที่แท้จริงไปยังมาตรการระยะยาว ถ้าภายใน 5 ปี เรามุ่งเน้นว่าเราจะต้องประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้าน และมาตรการที่เรารณรงค์ปีต่อปี

“เริ่มต้นที่มาตรการระยะยาวมีอยู่ 3 เรื่อง เริ่มจากการเปลี่ยนหลอดไฟนีออนจากปัจจุบันที่เราใช้หลอดผอมซึ่งเดิมเรามีหลอดอ้วนสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราเปลี่ยนมาเป็นหลอดผอมแต่ปัจจุบันเทคโนโลยีไปไกลกว่ามีหลอดผอมลงไปอีก เราเรียกว่า
“หลอดผอมใหม่” ซึ่งจริงมันผอมกว่าแต่เราเรียกกันว่าหลอดผอมใหม่ สามารถประหยัดไฟฟ้าได้มากถึง 30% เพราะฉะนั้นหลอดไฟนีออนทั้งประเทศมีถึง 200 ล้านหลอด ถ้าเปลี่ยนได้ทั้งหมดจะประหยัดเงินค่าไฟได้ปีหนึ่งเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานต้องใช้ระยะเวลา เราวางแผนไว้น่าจะทำสัก 5 ปีให้เปลี่ยนได้ทั้งหมดเหมือนที่เราเคยเปลี่ยนจากหลอดอ้วนมาเป็นหลอดผอมนี่คือเรื่องใหญ่ที่เราจะทำ

“เรื่องที่สองคือฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ประชาชนส่วนใหญ่รู้จักอยู่แล้ว ถ้าไปตามร้านถ้าเป็นคนที่มีกำลังซื้อก็จะซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นเบอร์ 5 เพราะรู้อยู่แล้วว่าประหยัดค่าไฟ แต่ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าปัจจุบันนี้ไม่ได้ติดฉลากทั้งหมด เฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ผ่านการทดสอบมีประสิทธิภาพเพียงพอได้เบอร์ 5 เท่านั้นจึงติดฉลาก ถ้าเราสังเกตจะเห็นได้ว่าจะมีระดับตั้งแต่เบอร์ 1,2,3,4,5 แต่ส่วนใหญ่เขาจะติดเบอร์เฉพาะ 5 แต่ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ อีกกว่า 50% ที่อยู่ในตลาดไม่ได้ติดเบอร์ ฉะนั้นประชาชนจึงไม่รู้เลยว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ตนซื้อมาโดยไม่มีเบอร์ 5 คือเบอร์อะไรนี่คือการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างหนึ่งและเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูญเปล่า อีกอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องติดฉลากผู้ผลิตจึงเลือกไม่ติดเพราะเป็นเหมือนกับฟ้องประสิทธิภาพของผู้ผลิต ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายบังคับจะต้องแสดงทุกเบอร์ เราประสานกับกระทรวงพลังงาน และสคบ. ที่จะออกกฎกระทรวงออกระเบียบต่างๆ แล้วกำหนดให้ผู้ผลิตต้องติดฉลากเบอร์ 5 ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปี (2553) เราจะให้เกิดความสำเร็จ ถ้าหากทำได้แล้วจะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ถึงปีละ 6 พันล้านบาท

“มาตรการระยะยาวอีกหนึ่งมาตรการ คือ Standby Power เป็นความเคยชินจนกระทั่งเรามองข้ามไป อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดที่ใช้รีโมทนั้นเมื่อเราปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วอย่างเช่นทีวีก็ยังมีไฟเข้าไปเลี้ยงอยู่มันอาจจะไม่มากแค่ 3-5 วัตต์ แต่เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นร้อยล้านเครื่องทั่วประเทศเมื่อรวมกับสเตริโอ ดีวีดี ไมโครเวฟ ปรินท์เตอร์ คอมพิวเตอร์ แอร์ ฯลฯ กินไฟมหาศาล เราคำนวณแล้วว่าภายใน 10 ปีถ้าหากเราสามารถเปลี่ยนได้หมดมันสามารถเปลี่ยนได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท นี่คือเรื่องใหญ่ตั้งใจว่าจะทำให้เสร็จภายในปี 2553 โดยตอนแรกจะออกมาตรการจูงใจโดยใช้หลักคิดเหมือนกับหลอดไฟฟ้า เนื่องจากผู้ผลิตเขามีสายการผลิตอยู่แล้วถ้าเราจะบอกให้เขาเปลี่ยนอุปกรณ์ให้กินไฟน้อยลงจาก 3-5 วัตต์มาเป็น 1 วัตต์ เขาต้องลงทุนออกแบบดีไซน์เปลี่ยนวัสดุใหม่เขาต้องลงทุนเองแต่รัฐจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ นี่คือมาตรเริ่มต้นโดยการจูงใจถ้าเขาทำเราจะโปรโมทสินค้าของเขาให้ เมื่อส่วนใหญ่ทำแล้วเราก็จะออกเป็นมาตรการบังคับว่าทุกบริษัททุกโปรดักส์ต้องทำอย่างนี้

“เมื่อรวมมาตรการระยะยาวทั้ง คือ หลอดผอมใหม่ ฉลากประหยัดไฟ และ Standby Power เกือบ 5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเยอะมากทีเดียวเราหวังว่า 10 ปีข้างหน้าจะประหยัดเงินลงไปอีกนั่นรวมถึงการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าด้วย เพราะโรงไฟฟ้า 1 โรง 700 เมกกะวัตต์ ลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท”

สำหรับมาตรการรายปีประหยัดพลังงานเป็นด้านที่ต้องเสริมสร้างทัศนคติและต้องกระตุ้นอยู่เสมอ เขาเน้นว่า “ผมไม่อยากใช้คำว่าลืมเพราะบางทีเผลอตัว เราจึงมีมาตรการรายปีออกมา 3 มาตรการ”

“มาตรการรายปีเริ่มจาก วัด-มัสยิด ประหยัดไฟร่วมใจสมานฉันท์ เป็นมาตรการซึ่งโปรโมทหลอดผอมใหม่ด้วยเพราะเราจะเอาหลอดประหยัดไฟซึ่งมีทั้งหลอดตะเกียบเบอร์ 5 และหลอดผอมใหม่ไปเลี่ยนให้กับวัดนำร่อง 400 วัด และมัสยิดนำร่อง 100 แห่ง โดยร่วมมือกับองค์กรทางศาสนาประเดิมที่วัดบ้านไร่ของหลวงพ่อคูณ หลังจากเปลี่ยนทั้งวัดบ้านไร่แล้วปีหนึ่งจะประหยัดค่าไฟ 180,000 บาท เยอะมาก และเป็นวัดที่ประชาชนทั้งประเทศรู้จักเมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปก็จะเป็นการจูงใจให้กับวัดอื่นและประชาชนหันมาสนใจ หลวงพ่อคูณท่านก็ให้พรมาดีมากเลยว่า “เบอร์ 5 ประหยัดไฟ ประหยัดเงิน” เราฟังแล้วก็กระชับและให้ความหมายดี เราจะทำให้เสร็จภายในปีนี้ ที่เหลือก็จะจูงให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนโดยเหลือวัดอีกประมาณ 48,000 วัด โดยการทำผ้าป่าหรือกฐินแสงสว่างโดยยังคงมีเทียนสัก 1 เล่มที่เหลือเป็นหลอดผอมใหม่หรือหลอดตะเกียบ ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายจะสูงถึงปีละ 210 ล้านบาท

“มาตรการถัดมาคือโครงการหน้าร้อน คือ 555 ตั้งชื่อให้โดนใจคนหน่อยเหมือนกับเสียงหัวเราะชอบใจ คือ เดือน 5 ถัดมาก็คือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 และได้ส่วนลดอีก 5% หลังจากซื้อมาเรียบร้อยมีใบรับประกันเราก็เอาใบเสร็จรับเงินส่งมาที่การไฟฟ้าฯ เราก็จะจัดการให้บริษัทผู้ผลิตลดเงินให้อีก 5% ของยอดเงินที่ซื้อแล้วโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้า ประหยัดได้ปีละ 70 ล้านบาทแต่ก็ถือว่าเป็นมาตรการระยะสั้น โดยอุปกรณ์ที่อยู่ในโครงการก็คือตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และพัดลมเบอร์ 5 เพราะเป็นมาตรการหน้าร้อน

“มาตรการสุดท้ายที่จะกระตุ้นในปีนี้คือ แอร์สะอาดเพิ่มเงินบาทให้ครัวเรือน โดยเป็นเรื่องของการล้างแอร์ แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ ก็ช่วยกันรณรงค์อยู่แล้วโดยเราก็เสริมเข้าไปอีกหนึ่ง เราทำในลักษณะที่เป็นเครือข่าย ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา มีโรงเรียนอาชีวะทั่วประเทศ และร้านค้าร่วมโครงการประหยัดพลังงานของเราที่เรียกว่าร้าน Green Shop ซึ่งจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ก็ไปสร้างเครือข่ายสร้างทีมเพื่อไปล้างแอร์อย่างมีมาตรฐานโดยเราจะล้างแอร์ให้ฟรี 20,000 เครื่อง ปัจจุบันนี้มีคนสมัครมากกว่าที่กำหนดจึงต้องคัดเลือก สิ่งที่ได้ทางตรงก็คือชาวบ้านได้แอร์ที่สะอาดขึ้นประหยัดไฟมากขึ้นและมีความเย็นมากขึ้น ถ้าล้างทั่วประเทศสามารถประหยัดถึง 3,000 ล้านบาท เพราะทั่วประเทศมีแอร์หลายล้านเครื่อง เบื้องต้นเป็นการจุดประกายให้คนรู้สึกว่าการล้างแอร์นั้นมีความหมาย ประชาชนได้รู้มาตรฐานของการล้างแอร์ และนักเรียนอาชีวะก็มีรายได้ มีความรู้ในการทำธุรกิจตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ นี่คือมาตรการที่ทำในปีนี้และต่อไป”

อดสงสัยไม่ได้ว่าทำอย่างไรจึงสามารถผลักดันให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีและมีความสุขทั้งที่มีภารกิจล้นมือ
“งานมากมันกระตุ้นให้สารอะดรีนาลีนหลั่งออกมายิ่งงานมากยิ่งเกิดแรงฮึดว่าจะต้องทำให้ได้ เมื่อทำสำเร็จเอนโดรฟินก็หลั่งเกิดเป็นความสุขเวลามีความสำเร็จเกิดขึ้น แต่แน่นอนเวลาที่จะผลักดันไปข้างหน้าก็อาจจะมีปัญหาบ้างเราก็ต้องแก้กันไป เหนื่อยก็พัก แต่รู้ว่าเรามีความรับผิดชอบที่จะต้องทำให้สำเร็จจึงเป็นแรงขับเคลื่อน และอย่างที่พูดตั้งแต่ต้นว่าเมื่อใจรักจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราพร้อมจะลุกขึ้นมาทำต่อ ปัญหาที่เข้ามาเดี๋ยวมันก็ผ่านไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายไม่มีอะไรที่จะฝังอยู่คงที่ เราใช้ความจริงใจ ใช้ความรักความเมตตาในการทำความเข้าใจกับคน ไม่มีใครอยากทำไม่ดี การทำผิดพลาดก็อาจจะเข้าใจผิด มันก็แค่นั้นเอง”

บทสรุป ณ เวลานี้ที่เห็นได้ชัดก็คือการใช้หัวใจในการขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมาย ซึ่งก็คงเป็นเช่นเดียวกับชาวกฟผ.อีกหลายๆ คนที่ใช้ความรักในงาน รักในองค์กร ฝ่าฟันอุปสรรค พร้อมสร้างความสว่างไสวให้กับประเทศไทยเสมอมา

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-270 ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

+++++++++++++++++++++++++

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...