ตอนนี้เห็นบริษัทผู้ผลิตสื่อทั้งหลายต่างก็ตื่นตัวกันเรื่องทีวีดิจิตอล มีการแย่งตัวผู้ผลิตมือฉมัง ซื้อตัวทีมขายข้ามค่ายแบบที่ประมูลราคาค่าตัวกันไม่อั้น มีผู้ผลิตน้องใหม่ที่กำลังจะกระโดดตามกันเข้ามาเป็นทิวแถว แม้แต่คนทำคอนเท้นต์หนังสือและทำเว็บรายเล็กๆ อย่างเราก็ยังอุตส่าห์มีคนให้เกียรติมาทาบทามไปร่วมทีมอยู่ไม่ขาดสาย
ซึ่งมองจากสายตาคนนอกวงแล้ว ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เป้าหมายรายได้ทางธุรกิจของคนทำทีวียุคหน้านี้จะสดใสหรือเปล่า เพราะรายได้ของคนทำทีวีแบบเดิมๆนั้นมาจากเม็ดเงินโฆษณาจากสินค้าและบริการต่างๆ
ยิ่งในยุคหลังๆ เจ้าของสินค้าที่เคยเป็นลูกค้าโฆษณาของรายการทีวีก็พากันมาตั้งช่องเปิดรายการของตัวเองเป็นล่ำเป็นสัน แถมบางเจ้ายังขายโฆษณากับสินค้าอื่นได้อีกด้วย แทนที่จะเป็นแหล่งรายได้กลับกลายเป็นคู่แข่ง คนที่ดูเหมือนจะรวยได้อาจเป็นเจ้าของช่องที่ขายเวลาให้คนมาเช่าผลิตรายการ แต่หวาดเสียวแทนเจ้าของรายการที่ต้องหาเงินกันเลือดตากระเด็น เพราะนอกจากส่วนแบ่งเค้กเม็ดเงินค่าโฆษณาจะก้อนเล็กลง ตัวแบ่งมากขึ้นแล้ว คนดูก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นได้มากนักในเร็วๆนี้ การจัดเรตติ้งต่างๆก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะวัดกันตรงไหน แต่คนที่จะได้ประโยชน์แน่ๆก็น่าจะเป็นประชาชนผู้บริโภค ที่จะได้มีตัวเลือกในการบริโภคข่าวสารข้อมูลกว้างและหลากหลายขึ้น และน่าจะเป็นช่องทางสำหรับประชาชนหรือ SME ในการนำเสนอข้อมูลไปสู่สาธารณะมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทีวีดิจิตอลคงจะไม่แพงเท่าฟรีทีวีอย่างแต่ก่อน
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารข้อมูลที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะปัจจุบันคนเรามีช่องทางรับข่าวสารมากมายเหลือเกิน เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการติดตามข่าวสารทั้งจากสื่อกระแสหลัก สื่อนอกบ้าน สื่อโซเชียลมีเดีย ไหนจะแอปพลิเคชั่นสารพัดบนสมาร์ทโฟน ดูหนังฟังเพลงจากยูทูป เล่นเกม ดูหุ้น เช็คผลบอล แชท ถ่ายเซลฟี่ แชร์ คอมเมนต์ ฯลฯ กระทั่งเวลาจะกินจะนอนหรือจะทำมาหากินจริงๆก็แทบจะไม่พอ นึกไม่ออกเลยว่า จะเอาเวลาและสมาธิที่ไหนไปตามดูทีวีดิจิตอลที่กำลังจะมีเพิ่มขึ้นอีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันรายการในอนาคตอันใกล้นี้
ด้วยปริมาณสื่อที่ดูดกินเวลาในชีวิตของคนเราไปมหาศาลและไม่มีแนวโน้มว่าจะน้อยลงนี้ ทำให้เกิดปัญหาความตึงเครียด ภาวะเร่งรีบ ทำอะไรไม่ค่อยจะทัน พลาดนั่นลืมนี่เกิดขึ้นอย่างมากมาย แม้ผู้คนรุ่นใหม่จะพัฒนาความสามารถในการทำอะไรให้ได้หลายๆสิ่งพร้อมกันแบบที่ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่าเป็นมนุษย์แบบ multitask แล้วก็ยังเหมือนเวลาจะไม่พอ หลายคนคิดไปว่า เวลาในหนึ่งวันน่าจะมีมากกว่า 24 ชั่วโมง จะได้ทำอะไรให้ครบถ้วน ทั้งสิ่งที่อยากทำและสิ่งที่ต้องทำ
แต่ปัญหาคือ…เราจะไปขอเวลาเพิ่มจากใครล่ะ
คงจะดีไม่น้อย หากระบบเวลาและปฏิทินของโลกยุคใหม่ เปลี่ยนให้หนึ่งวันมีสัก 36 ชั่วโมง พูดง่ายๆคือรวบเอาสามวันมารวมแล้วแบ่งเป็นสองวันซะ จำนวนชั่วโมงในแต่ละปีก็จะเพิ่มขึ้น เปลี่ยนปฏิทินโลกเสียใหม่ ขยายวันออกไป และเพิ่มจำนวนชั่วโมงในแต่ละวันให้มากขึ้น ตัวเลขอายุของคนเราก็จะเคลื่อนที่ช้าลง ซึ่งก็น่าจะสอดรับกับอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนยุคนี้ ที่มีแนวโน้มจะแก่ช้าลง ตายช้าลง ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น ร่างกายของคนอายุ 60 ปีแต่เดิมเคยผ่านการใช้งานมา 525,600 ชั่วโมง (21900 วัน X 24 ชั่วโมง) มาในยุคนี้ ถ้าเห็นว่ายังแข็งแรงอยู่ ก็น่าจะให้ทำงานต่อไปได้ ตัวเลขคนตกงานก็จะน้อยลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะช้าลง รัฐก็จะมีเวลาเก็บภาษีได้มากขึ้น มีเวลากิน เวลานอน เวลาดูทีวี คุยกับเพื่อนฝูง ไปท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น
การเปลี่ยนเวลาในปฏิทิน เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของการใช้เวลาในชีวิต หรือการบริโภคสื่อที่มากมหาศาล ฟังดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่เพ้อเจ้อเหลวไหล และบางคนที่เคยคิดจะเปลี่ยนปฏิทินโลกก็โดนฆ่าตายไปเยอะแล้ว ล่าสุดถ้าจำไม่ผิดก็คือ…ซัดดัม ฮุสเซ็น แต่ที่จริงแล้ว การแบ่งเวลาของโลกนี้ด้วยปฏิทินมีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ
มนุษย์รู้จักสร้างปฏิทินก่อนการประดิษฐ์ตัวอักษรเสียอีก โดยใช้ข้อมูลดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือในการกำหนดช่วงเวลา โดยอ้างอิงกับสิ่งที่เห็นบนท้องฟ้าได้แก่ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และแม้กระทั่งดาวฤกษ์ มีการใช้ก้อนหินขนาดใหญ่เรียงตัวกันเป็นสัญลักษณ์ เช่น กองหินลึกลับ สโตนจ์เฮ้นจ์ (Stonehenge) ที่ประเทศอังกฤษ และ กองหินประหลาด เมดิซีน วีล (Medicine wheel) บนยอดของเทือกภูเขาบิ๊กฮอน ในรัฐไวโอมิ่ง สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนักวิชาการยังยอมรับว่ามึนตึ๊บเพราะไม่สามารถฟันธงว่าปฏิมากรรมเหล่านั้นมีอายุเก่าแก่ขนาดไหนและใครเป็นคนสร้างขึ้นมา เราเพียงแต่รู้ว่ามันเป็นปฏิทินที่ใช้ข้อมูลดาราศาสตร์อิงกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์
การเปลี่ยนวันเวลาหรือทำเวลาสร้างปฏิทินขึ้นใหม่นั้นมีการทำอยู่ตลอดโดยชนชั้นนำแทบทั้งโลก ตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมีย อียิปต์ โรมัน โดยเฉพาะชาวโรมันขี้หงุดหงิดนั้น มีการขยับวันในปฏิทินใหม่ โดยอำนาจของจอมจักรพรรดิ จูเลียส ซีซาร์ และใช้ปฏิทินนั้นแพร่หลายกันมาทั่งยุโรป พอมาถึงยุคที่ศาสนจักรเรื่องอำนาจ ก็มีการปรับปฏิทินอีก กลายเป็นปฏิทิน Gregorian ที่สืบทอดมาจนเป็นปฏิทินสากลของโลกยุคนี้
ส่วนปฏิทินเวลาในบ้านเราเป็นอิทธิพลจากชาวฮินดูในชมพูทวีป คือ ปฏิทินมหาศักราช (Saka calendar) ก็ใช้กันทั่วทั้งอินเดีย ลังกา ขอม และแน่นอนว่ามาไกลถึงไทย ต่อมาก็มีการใช้ ปฏิทินพุทธศักราช กำเนิดโดยนักปราชญ์ทางพุทธศาสนา ซึ่งกำหนดเอาปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นปี พ.ศ.1 โดยเริ่มนับ แรม 1 ค่ำ เดือน 6 ถัดจากวันนิพพาน ก็พัฒนามาเป็นแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
แต่ไม่ว่ารูปแบบปฏิทินจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ก็ยังไม่มีใครทะลึ่งขยายเวลา 1 วันที่เคยมี 24 ชั่วโมง ให้กลายเป็นอย่างอื่น
ใครที่เสนอไอเดียนี้ออกมาแบบเป็นจริงเป็นจังในช่วงนี้ อาจโดนหาว่าบ้า หรืออาจโดนปองร้ายจนตายอย่างน่าเศร้าเหมือนกาลิเลโอ แต่ก็ไม่แน่นะ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะคนยุคนี้หรือยุคไหนๆ ก็พร้อมเปลี่ยนความคิดไปตามอะไรที่เขาอยากเชื่อ จริงไม่จริงนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เช่น วันดีคืนดีองค์การนาซ่าอาจจะประกาศว่า ความจริงปีหนึ่งควรจะมี 500 วัน หรือ หนึ่งวันควรมี 36 ชั่วโมง เพราะค้นพบข้อเท็จจริงบางอย่างจากการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ บลาห์ บลาห์ บลาห์….
เมื่อนั้น เราก็อาจจะมีเวลาเหลือมากขึ้นในหนึ่งวันสำหรับการคิดฟุ้งซ่าน กินข้าวหมูแดง แชร์รูป กดสมาร์ทโฟน และแบ่งเวลานิดหน่อยให้กับการกะพริบตาดูทีวีดิจิตอลที่จะมีช่องใหม่มากมายยิ่งกว่าจำนวนดวงดาวบนท้องฟ้าก็เป็นได้ … ฮา ฮา
EDITOR’S TALK by : Wannasiri Srivarathanabul
Editor@HiclassSociety.com