ดิฉันเชื่อว่าไม่มีมนุษย์ผู้เปี่ยมไปด้วยสัมมาสติคนใดกล้าปฏิเสธคุณค่าและความงามของศิลปะได้หรอกนะคะ สุนทรียะของผลงานที่รังสรรค์ขึ้นจากความคิดอันแยบคายของมนุษย์นี้นอกจากประโลมจิตใจมนุษย์ด้วยกันอย่างได้ผลแล้ว ยังสร้างประโยชน์มากมายต่อสังคม จนอาจกล่าวได้ว่า ‘ศิลปะคือเครื่องมือสร้างอารยธรรม’ก็น่าจะไม่ผิดนัก
แม้ว่าศิลปะจะสามารถรังสรรค์อารยธรรม สร้างบ้านแปงเมือง ส่อแสดงถึงอิทธิพลและแสนยานุภาพได้แต่โดยส่วนตัวแล้วดิฉันมองว่าศิลปะจะมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อสามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ หากปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ 1 คน คุณค่าก็เพิ่มมา 1 ขั้น หากเพิ่มเป็นมนุษย์ 100 คนคุณค่าก็ย่อมผันแปรมากขึ้นเป็นร้อยเท่าทวีคูณ หรือจะให้พูดให้ตรงกับใจก็คงต้องพูดว่า “ศิลปะสร้างคน คนสร้างอารยธรรมและอารยธรรมนั่นเองที่สร้างสรรค์ศิลปะ”
แต่การที่ผลงานศิลปะสักชิ้นหนึ่งจะปะทะสังสรรค์กับมนุษย์ได้นั้น พื้นที่(Space) เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากงานๆนั้นอยู่ในพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง ยากต่อการ ‘เสพ’ แล้ว งานนั้นก็มีค่าไม่ต่างจากจากก้อนกรวดก้อนหินเท่าใดนัก ดังนั้นในบริบทของงานศิลปะจึงต้องมีเรื่องของพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอไป
ในกาลก่อนศิลปะเป็นของสูง ซึ่งปุถุชนปั้นแต่งขึ้นเพื่อเป็นกำนัลแด่ทวยเทพ ดังนั้นพื้นที่แรกของงานศิลปะก็คือ ‘ศาสนสถาน’ นับย้อนไปตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรามักได้ชื่นชมผลงานสุดบรรเจิดของบรรพบุรุษทั้งในรูปของภาพเขียนสี, ประติมากรรมหรือสถาปัตยกรรม ในบริเวณที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ผนังถ้ำ, เพิงหิน, หรือลานกว้างกลางชุมชน เป็นต้น
เมื่อวัฒนธรรมเจริญเติบโตขึ้นจนมนุษย์พัฒนาฝีมือตัวเองกระทั่งสร้างสิ่งก่อสร้างที่วิจิตรพิสดารได้ ศาสนสถานเป็นกลุ่มอาคารชนิดแรกๆที่บรรพชนของเราทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้าง โดยไม่ลืมประดับประดาด้วยศิลปกรรมสุดแสนวิลิศมาหรา เพื่อบำบวงแด่เทพยดาผู้เป็นที่นับถือ
ใครๆก็อยากเอาอกเอาใจเทพเจ้าใช่ไหมคะ? ดิฉันเองก็ไม่แน่ใจว่าทวยเทพเองท่านหลงไหลได้ปลื้มใน ‘บรรณาการ’ เหมือนคนบางกลุ่มหรือเปล่า แต่แน่ใจได้ว่า ‘คน’ เรานี่ล่ะคะที่พอใจจะ ‘ติดสินบน’ ทวยเทพ โดยผ่าน ‘บรรณาการ’ ที่ดีที่สุดที่จะหาได้ นอกจากข้าวปลาอาหารและชีวิตแล้ว งานศิลปะก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่นิยมนำไปพลีแด่เทพเจ้า ด้วยเห็นว่าเป็นของสวยงามเหมาะสมกับเทวบารมีและสร้างสรรค์ขึ้นโดยความตั้งอกตั้งใจ แต่ครั้งจะนำขึ้นไปถวายแด่เทวดาโดยตรงก็เกินความสามารถของมนุษย์เดินดิน ดังนั้นเทวสถานซึ่งเปรียบเหมือนวิมานบนพื้นโลกของเทพเจ้าจึงเป็นจุดหมายที่นึกถึง
นอกจากความงดงามมลังเมลืองในการสร้างสรรค์เทวสถานแล้ว ยิ่งนานวันเข้าศิลปกรรมซึ่งผู้ศรัทธานำมาถวายแด่เทพก็ยิ่งมากขึ้นๆ ถึงตอนนี้มิไยเทวดาจะทอดพระเนตรเห็นของบัตรพลีพวกนี้หรือไม่ ? และพระองค์จะพอพระทัยข้าวของบรรเจิดเหล่านี้มากเพียงไร? ที่แน่ๆมนุษย์ตาดำที่ดั้นด้นไปเข้าเฝ้าพระองค์ท่านในเทวสถานนี่ล่ะค่ะที่ได้รับความอิ่มเอมจากสุนทรียรสของศิลปกรรม
ในวัฒนธรรมกรีก นิยมสร้างศาสนสถานบนเนินเขาซึ่งมักตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งเรียกว่า อโครโปลิส(Acropolis) โดยสมมุติว่าเป็นโอลิมปัส (Olympus) ยอดเขาซึ่งมหาเทพซีอุส (Zeus) อยู่ และใช้ศาสนสถานแห่งนั้นๆเป็นทั้งวัดและป้อมปราการใจกลางเมืองไปพร้อมๆกัน ฉะนั้นการจะขึ้นไปบูชาเทพเจ้าบนอโครโปลิสจึงต้องปีนบันได้ที่สร้างลัดเลาะไปตามเนินเขา ในเวลาต่อมาจึงมีการสร้างหลังคาคลุมบันไดทางเดินเหล่านั้น โดยเรียกว่าแกลเลอรี (Gallery) หรือ แกลเลอเรีย (Galleria) แม้เมื่อล่วงเข้าสู่ยุคโรมันซึ่งไม่นิยมสร้างศาสนสถานบนอโครโปลิสแล้ว แต่ธรรมเนียมการสร้างแกลเลอรีก็ยังติดมากับองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมอยู่ โดยเปลี่ยนรูปแบบมาเป็ฯระเบียงยาวที่ล้อมรอบศาสนสถาน โดยมักมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมและวงกลมทำให้สามารถเดินติดต่อถึงกันได้
แกลเลอรีเหล่านี้เองที่เป็นที่ตั้งศิลปวัตถุที่มีผู้นำมาถวายทวยเทพ และบ่อยครั้งหลังจากสักการะในวิหารแล้วที่ศาสนิกชนจะเดินวนชื่นชมของล้ำค่าเหล่านั้น จนเกิดเป็นคตินิยมในการชมงานศิลปะ
ที่เล่ามายืดยาวทั้งหมดนี้จึงสรุปง่ายๆว่าแกลเลอรี่หรือที่ศัพท์บัญญัติไทยเรียกอย่างไพเราะว่า ‘หอศิลป์’ นั้นมีกำเนิดมาจากระเบียงทางเดิน (Terrace) ในศาสนสถานกรีกนั่นเอง
มาถึงตรงนี้ทำให้นึกเชื่อมโยงได้ว่า อันที่จริงแล้ว หอศิลป์ (Gallery) กับ พิพิธภัณฑ์ (Museum) มีกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน คือเทวสถานกรีก เพราะจากที่เล่ามาข้างต้นคุณก็คงจะเห็นแล้วว่าศาสนสถานนั้นเองที่เป็นแหล่งเก็บทั้งศิลปวัตถุและโบราณวัตถุของแผ่นดิน ฉะนั้นในยุคแรกภาพพจน์ของหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์จึงกินความหมายอย่างเดียวกัน เพิ่งจะแยกจากกันอย่างค่อนข้างเด็ดขาดในระยะหลังนี่เอง
คำว่า ‘Museum’ ในภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจากคำภาษาลาตินว่า ‘museums หรือ musea’ ซึ่งมีต้นเค้ามาจากภาษากรีกว่า ‘???????? (Mouseion)’ อีกทีหนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นเป็นชื่อของสถานที่, อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อุทิศให้กับเหล่าเทพีแห่งศิลปวัทยาการทั้ง 9(Muse หรือ Muses ในรูปพหูพจน์) โดยเชื่อกันว่า Ptolemy I Soter ซึ่งครองนครอเล็กซานเดรียในปี 280 ก่อนคริสตสมภพคือคนแรกที่ใช้คำนี้เรียกสถานที่นั้นๆ
ไหนๆก็เอ่ยถึงเทพีแห่งศิลปวิทยาการทั้ง 9 แล้ว ก็ขออนุญาตเล่าต่อให้จบเลยนะคะ ตามเทวนิยายกรีกกำเนิดและความเป็นมาของหมูเทพธิดานี้ไม่ปรากฎ ทราบแต่ว่าพวกนางมีด้วยกัน 9 องค์ แต่ละองค์อุปถัมภ์องค์ความรู้แตกต่างกัน ซึ่งล้วนเป็นศิลปศาสตร์ที่จำเป็นต่อการสร้างบ้านแปงเมืองอย่างยิ่ง คือ
เคลโอ (Clio) เทพธิดาแห่งประวัติศาสตร์
ยูเทอร์เพ (Euterpe) เทพธิดาแห่งการดนตรี
เธไลอา (Thalia) เทพธิดาแห่งละครสุขนาฏกรรม
เมลพอมินี (Melpomene) เทพธิดาแห่งละครโศกนาฏกรรม
เทอร์พซิคาเร (Terpsichore) เทพธิดาแห่งการระบำ
เอราโท (Erato) เทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจทางกวีนิพนธ์
โพลิฮิมนิอา (Polyhymnia) หรือโพลิมนิอา (Polymnia) เทพธิดาแห่งดนตรีศาสนาและบทสวด
ยูเรนิอา (Urania) เทพธิดาแห่งดาราศาสตร์
คาไลอะเพ (Calliope) เทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจทางโคลงมหากาพย์
นอกจากศาสตร์ทั้ง 9 แล้วพวกนางอุปถัมภ์ความทรงจำของมนุษย์ด้วย และเมื่ออยู่ด้วยกันก็มักร้องรำทำเพลงกันเป็นอาจิณ เชื่อกันว่าเทพธิดาทั้ง 9 ขับลำนำไพเราะเป็นเลิศ จนอสูรกายครึ่งสตรีครึ่งนกซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทรและชอบร้องเพลงไพเราะล่อชาวประมงให้โดดน้ำลงมาเป็นอาหารของพวกนางต้องออกมาท้าแข่งขัน ผลปรากฎว่าเหล่าไซเรนต้องพ่ายให้มิวส์ จนถูกถอนขนปีกมาทำเป็นมงกุฎ ดทษฐานที่ล่วงเกินเทพเจ้า
แต่ขึ้นชื่อว่าความโอหังแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นพรสวรรค์ของมนุษย์ค่ะ เล่ากันว่ามีชายนักขับลำนำชื่อ ธามิริส (Thamyris) ซึ่งหลงว่าตนขับลำนำได้ไพเราะหาใดเปรียบถึงขั้นท้าเทวีมิวส์มาแข่งกัน แน่นอนว่มนุษย์หรือจะสู้ฤทธิ์เทวดาได้ ผลคือเขาแพ้และถูกสาปให้ตาบอดและสูญเสียความทรงจำทั้งหมด รวมถึงความสามารถในการขับลำนำด้วย ซึ่งในส่วนนี้ดิฉันสมน้ำหน้าเป็นอย่างยิ่ง
เล่ากัน (อีก)ว่ามิวส์เป็นผู้ผูกปริศนาสฟิงซ์(The Riddle of the Sphinx) ซึ่งเฝ้าทางเข้าเมืองธีบิส(Thebes)ว่า “อะไรเอ่ยตอนเข้าเดินสี่ขา กลางวันเดินสามขา ตอนเย็นเดินสามขา?” ใครตอบไม่ได้ก็ตกเป็นอาหารของนาง ปรากฎว่าเอดิปุส (Oedipus)สามารถไขคำตอบได้ว่าคือ ‘มนุษย์’ ผลคือนางสฟิงซ์ต้องโหม่งโลกตายไปเพราะเจ็บใจ
โดยทั่วไปแล้วเชื่อว่ามิวส์มีทั้งหมด 9 นาง แต่นักเขียนกรีกชื่อเพาเซนิอัส(Paosenius) อ้างว่ามีเพียง 3 ได้แก่ เมเลเท (Melete) ความเอาใจใส่และการฝึกฝน, เนเม (Mneme) ความทรงจำ และเอะเอเด (Aoede)บทเพลง
จบเรื่องเทวีแห่งศิลปวิทยาการเท่านี้ และกลับมาสู่เรื่องของเราต่อ
การแบ่งแยกระหว่าง Museum กับ Gallery อาจมีขึ้นในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 แต่แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังเกิดความสับสนระหว่างประโยชน์ใช้สอยของ สถานที่ทั้งสองแห่งอยู่ ในหลายกรณ๊จัดว่า Gallery เป็นรูปแบบหนึ่งของ Musuem เรียกว่า Art Museum หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ โดยจำกัดความหอศิลป์ว่า “สถานที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะทั้งถาวรและหมุนเวียน โดยอาจมีการพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ได้”
ที่น่าสนใจก็คือประวัติศาสตร์หอศิลป์ในเอเชียและโดยเฉพาะประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นคล้ายกับของกรีกมาก คือเริ่มต้นจากระเบียงคดรอบศาสนสถาน ทั้งนี้ดิฉันสันนิษฐานว่าเป็นเพราะคตินิยมในการถวายสิ่งของแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์และความรักในศิลปกรรมของเราและเขามีความคล้านคลึงกันมาก ทุกวันนี้เรายังได้เห็นจิตรกรรมงามๆประดับประดาอยู่ในผนังอาคารและผนังระเบียงคดของวัดสำคัญๆทั่วประเทศ และหากมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่าระเบียงคดหรือ Gallery นี่เองเคยเป็นที่ตั้งของศิลปวัตถุ-โบราณวัตถุก่อนที่จะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์
ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3แห่งกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาฯให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ สร้างสรรค์และขยับขยายศาสนสถานและศาสนวัตถุมากมาย โดยเหตุที่วัดนี้เป็นวัดใหญ่ มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทยบวกกับอาคารอีกหลายหลัง ดังนั้นระเบียงคดซึ่งมีแผนผังเฉพาะตัวจึงมีขนาดใหญ่และความยาวมาก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆอาทิ จารึกเรื่องตำรายวด, ตำรายา, บทโคลง, ฉันทลักษณ์, องค์ความรู้ทางดาราศาสตร์, โหราศาสตร์, ประวัติศาสตร์,วรรณคดี,ภูมิศาสตร์ประกอบจิตรกรรมและประติมากรรมอธิบายองค์ความรู้ต่างๆ นี่อาจเป็นต้นเค้าของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งสยาม
เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯและพระอนุชาธิราชเสวยราชสมบัติแทนเป็นพระเจ้าอย่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งอาจนับได้ว่าทรงเป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ริเริ่มการจัดตั้งหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ ด้วยทรงพระกรุณาให้สร้างอาคารรูปทรงยุโรปไว้ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ในพระบรมหาราชวัง พระราชทานนามว่า ‘พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์’ โปรดฯให้ใช้เป็นที่เก็บสิ่งของและบรรณาการที่มิตรประเทศและพระสหายส่งมาถวายและเปิดให้แขกเมืองได้ชมเมื่อมาเยี่ยมเยียน
ปี พ.ศ.2405 กราฟ ออยเลนบูร์ก(Graf Eulenburg) ราชทูตแห่งปรัสเซียเดินทางมาเยือนสยาม ในการเข้าเฝ้าถวายพระราชสานส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2405 เขาได้เขียนบันทึกเล่าว่า
“…จากนั้นได้รับเชิญไปยังพระที่นั่งในบริเวณพระบรมมหาราชวังซึ่งสร้างแบบยุโรป ทางปีกด้านข้างตึกมีป้าย Royal Museum และมีข้อความว่า Protect this museum และ Respect this ordinance บันไดซึ่งนำขึ้นสู่พระที่นั่งนั้นกว้างและมีสองระดับ
…พื้นห้องปูพรมสีแดง ฝาผนังและเพดานประดับไม้ บนโต๊ะและตู้รอบๆมีหุ่นจำลองภาพท้องฟ้าและดาวนพเคราะห์ พร้อมทั้งเครื่องมือฟิสกส์ ดาราศาสตร์และลูกโลกตั้งอยู่ ”
อย่างไรก็ตามอีก 5 ปีต่อมาเมื่อเรือตรีดุ๊ก เดอ ปองทิเอเวรอ เชื่อพระวงศ์แห่งกษัตริย์ฝรั่งเศเดินทางผ่านมายังประเทศสยาม และได้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ เขาได้บันทึกไว้เกี่ยวกับ Collection ส่วนพระองค์ของกษัตริย์สยามตอนหนึ่งว่า
“เครื่องตกแต่งห้องเป็นแบบตะวันออก ประดับด้วยอัญมณีมีค่าและเครื่องประดับอื่นๆ พระพุทธรุปประดับเพชร เคียงข้างกับสิ่งของกำนัล(ผลิตภัณฑ์จากปารีส) จากประมุขของประเทศต่างๆในยุโรป แล้วก็เก้าอี้กำมะหยี่จากอูเทรชท์ซึ่งเอนได้(เก้าอี้สำหรับคนเจ็บ) วางใต้เบญจาเงินของขุนนางผู้ใหญ่ในตุรกี เครื่องหมายเครื่องอิสริยาภรณ์ ลา เลจิออง ดอนเนอร์ ในกรอบเหนือภาพวาดสี(แบบถูกๆ)เป็นรูปทหารช่าง ก้อนพลอยมีค่าในสภาพธรรมชาติในจานจากร้านขายเพชรพลอยถูกๆ ที่โอแวร์น สถาปัตยกรรมและงานไม้งดงามแบบหาดูไม่ได้แถวบ้านเรา และสิ่งละอันพันละน้อยจากงานตามหมู่บ้าน รู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นลักษณะพิเศษของแถบตะวันออกอย่างแท้จริง คือการผสมผสานกันระหว่างอัญมณีท้องถิ่นที่สวยงามที่สุดกับสิ่งของไร้ค่าจากยุโรป ซึ่งความไม่รู้ทำให้ผู้เป็นเจ้าของเข้าใจว่าเป็นศิลปวัตถุ
…ตู้ที่อยู่ใกล้ที่สุดก็ทำให้เราต้องหัวเราะแล้ว เพราะมีสิ่งของประดิษฐ์ด้วยงาช้างแบบที่สวยมาก หยกอันมีค่าเป็นพันๆแฟรงค์ ขวดน้ำมันโคลา น้ำหอมและถ้วยกระเบื้องเคลือบขนาดเท่าแตงโมขอบหน้าและหูมั่นคงสักโหลหนึ่ง นัยว่าชาวฝรั่งเศสฉลาดแกมโกงคนหนึ่งได้ขายเครื่องใช้ในบ้านอันน่าเกลียดนี้ให้แก่พระเจ้าแผ่นดินอย่างกับว่าเป็ฯเครื่องใช้สำหรับโต๊ะอาหาร”
อย่างไรก็ดี พระโอรสของพระองค์คือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงแสดงให้ชาวโลกได้เห็นแล้วว่าทรงมีรสนิยมในศิลปวัตถุและโบราณวัตถุมากเพียงไร สิ่งของที่ทรงซื้อหาเก็บไว้ส่วนพระองค์และพระราชทานไปยังสถานที่และบุคคลต่างๆมีมากมายล้วนงดงามเลอค่า
นอกจากนี้การที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงดปรดการถ่ายภาพเป็นการส่วนพระองค์ การเป็ฯแฟชั่น ‘เห่อกล้อง’ ขึ้นในสยาม กระทั่งในงานฉลองวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ.2447 จึงทรงพระกรุณาฯให้จัดการ ‘ประชันรูป’ ขึ้นและโปรดฯให้จัดแสดงรูปทั้งที่ได้รับพระราชทานรางวัลและไม่ได้รับพระราชทานรางวัลขึ้นภายในวัด นี่อาจเป็นนิทรรศการภาพถ่ายครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยก็เป็นได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2417 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุ 21 พรรษา ทรงพระกรุณาฯให้จัดงานนิทรรศการแสดงข้าวของเครื่องใช้ซึ่งสมควรทัศนา อาทิ งานศิลปกรรมฝีมือช่างหลวงแขนงต่างๆ, พระพุทธรุปโบราณ, งานช้างฯ โดยมีสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับผิดชอบ เรียกว่า‘งานเอกซฮิบิเชน’ ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมด้วย หลังจากนี้ไปงานด้าน พิพิธภัณฑ์ (ซึ่งผนวกรวมงานด้านหอศิลป์เข้าไปด้วย) ก็เจริญก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน
ปี พ.ศ.2520 การเปิดตัวของ ‘หอศิลป์แห่งชาติ (National Gallery)’ ณ ถนนเจ้าฟ้า ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการหอศิลป์ในประเทศไทยและสถานที่แห่งนี้ก็เกลายเป็ฯแรงบันดาลใจให้หอศิลป์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากมายเปิดตัวขึ้นตามมา
ดังที่ดิฉันกล่าวไว้แล้วข้างต้น งานศิลปะจะไม่มีค่าใดใดเลยถ้าไม่มีพื้นที่หรือโอกาสปฏิสัมพันธ์กับสังคม แต่ในขณะเดียวกันสังคมเองก็ต้องไม่ละทิ้งคุณค่าของศิลปะด้วย ทั้งสองอย่างนี้ต่างต้องเกาะเกี่ยวพึ่งพาเพื่อก้าวสู่อนาคตที่สดใสด้วยกัน
Text: สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ