ใครที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟสดเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ขอพาคุณไปท่องเที่ยวชมการปลูกกาแฟอราบิก้า-วานิลลาในขณะที่ยังเป็นต้นกาแฟ กว่าจะมาเป็นเมล็ดกาแฟที่เราดื่มกันหอมๆเข้มๆนั้นยังมีอีกหลากหลายกระบวนการที่เราไม่เคยทราบ สถานที่ที่กล่าวถึงนี้นอกจากจะเรียกได้ว่าเป็นงานส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรแล้ว ยังเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้เที่ยวชมอีกด้วย
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความร่วมมือในการปลูก การผลิตพืชและเลี้ยงสัตว์ให้ได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดและการจัดการในรูปแบบของสหกรณ์ที่มีบทบาทในการทำงานร่วมกันและพัฒนาในทุกๆด้านไปพร้อมกันโดยผลผลิตที่ส่งผ่านมูลนิธิโครงการหลวง งานพัฒนาและส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกพืช จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ พืชเครื่องดื่ม (กาแฟอราบิก้า) ไม้ผล(พลับ) ไม้ดอกไม้ประดับ(เฟินหนัง) กล้วยไม้(ซิมบิเดี้ยม) ดอกไม้แห้ง(กูดดอยและเฟินนาคราช) และด้านการเลี้ยงสัตว์ 1 ชนิด คือ กระต่าย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห่งนี้ ทรงทราบถึงความเดือดร้อน ที่อาชีพทำสวนเมี่ยงของราษฎรตกต่ำลง จึงทรงมีพระเมตตาพระราชทานค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท สำหรับกรสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงบนพื้นที่ 60 ไร่ ในเขตหมู่บ้านปางบง ตำบลเทพสมเด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านในเขตความรับผิดชอบจำนวน 10 หมู่บ้านที่เป็นคนพื้นเมืองและชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 650 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่มีความลาดชันประมาณ 30 % เป็นป่าดิบเขา มีแม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำกวง แม่น้ำแม่หวาน แม่น้ำแม่ตอน จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอมและกาแฟแก่เกษตรกรในพื้นที่ โครงการหลวงป่าเมี่ยงได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จนสามารถดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมพร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป
Credit : royalprojectthailand