ธุรกิจ – ราชา – อาณาจักร

dzhovanni-lanfranko-pohorony

ครั้งหนึ่งดิฉันเคยต้องตอบคำถามน่ารักๆจากเด็กคนหนึ่งว่า “ทำอย่างไรมนุษย์คนหนึ่งถึงจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน? ”

ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าเป็นคำถามกลางๆ จะว่าตอบง่ายก็ง่าย จะว่าตอบยากก็ยาก

 

แนวความคิดเรื่องพระมหากษัตริย์มีพัฒนาการมาตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันเป็นสังคม ซึ่งกำหนดย้อนหลังได้คร่าวๆสักเมื่อ 4,500 – 4,000 ปีที่แล้ว ตามธรรมชาตินั้นมนุษย์มีความเป็นปัจเจกอยู่ในกมลสันดาน ต่างก็มีความคิดและแนวทางของตนเอง ครั้งอยู่คนเดียวก็คงไม่เป็นไร แต่การจะต้องมารวมกลุ่มอยู่ด้วยกันจึงเป็นปัญหามาก จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีใครสักคนหนึ่งทำหน้าที่ชี้นำ

 

ดังนั้นในเบื้องต้น ผู้ที่แข็งแรงที่สุดจึงเป็นผู้นำ เพราะคนอื่นๆก็สู้ไม่ได้และให้ความเคารพยำเกรง แต่เมื่อนานวันเข้า สิ่งที่เรียกว่า ‘ปัญญา’ เริ่มมีอิทธิพลต่อระบบความคิดของคนในสังคม ‘แรง’ อย่างเดียวไม่สามารถเป็นผู้นำได้ ดังนั้นนีระยะนี้หัวหน้าของสังคมก็อาจเป็นนักบวชหรือผู้ทรงวิทยาคม

 

จากหัวหน้ากลุ่ม ก็พัฒนาเป็นหัวหน้าเผ่า, เป็นเจ้าบ้าน, เจ้าเมือง จนกระทั่งพัฒนาเป็นเจ้าแผ่นดินในที่สุด

 

หลังจากนั้นจะด้วยปัญญา, พละกำลังหรือเหตุผลใดก็ตามแต่ ผู้จะเป็นพระมหากษัตริย์ได้ก็ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ‘บารมี’

 

ซึ่ง ‘บารมี’ นี้มักเกิดขึ้นจากส่วนประกอบสองสิ่งคือ ‘อำนาจ’ และ ‘ทรัพย์ศฤงคาร’

 

หรือหากจะว่ากันโดยจริงแล้ว บ่อยครั้งหรืออาจจะทุกครั้งเลยก็ได้ที่ ‘อำนาจ’ มาจาก ‘ทรัพย์ศฤงคาร’

EyWwB5WU57MYnKOvjxP7KfSulCbzyd7eiByhJbzz6SyN1LsFt4oGwI

ดังนั้นไม่เป็นการแปลกเลยที่แม้แต่พระมหากษัตริย์เองก็ทรงประกอบธุรกิจเพื่อ ‘สร้างรายได้’ ให้กับพระองค์เอง อันเป็ยการรักษาพระราชอำนาจและพระเกียรติยศไว้ให้สมบูรณ์แบบที่สุด

 

นับตั้งแต่โบราณ แนวความคิดเรื่องกษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินกลายเป็นแนวความคิดหลักในการสร้างสรรค์พระราชทรัพย์ให้กับราชสำนัก โดยนัยของการเป็นเจ้าของผืนแผ่นดิน พระองค์จึงทรงมีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักร รวมถึงทรัพยากรทั้งหลาย พระราชสิทธิ์อันนี้ยังรวมไปถึงอำนาจในการพระราชทานหรือทรงเรียกคืนที่ดินแก่ผู้ที่ทรงเห็นชอบในจำนวนเท่าใดก็ได้อีกด้วย

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งช้างป่าเป็นสินค้าออก ซึ่งว่ากันว่าแต่ละปีมีจำนวนมหาศาลซึ่งทำให้พระราชสำนักของพระองค์มีความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง ช้างป่าเหล่านั้นเป็นสัตว์ที่สงวนไว้สำหรับการค้าของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ประชาชนรวมถึงขุนนางข้าราชการไม่มีสิทธิ์ในการค้าช้างกับต่างชาติ ซึ่งกฎหมายนี้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระคลังสินค้า

 

ความขัดแย้งระหว่างอยุธยากับเนเธอร์แลนด์ เป็นสาเหตุสำคัญให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปเมืองละโว้ก็จริงอยู่ ทว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้แถบนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้การตัดสินพระทัยครั้งสำคัญนี้ง่ายขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าป่าอันอุดมสมบูรณ์บริเวรนั้นเป็นที่อยู่ของฝูงช้างป่า การที่เสด็จฯไปประทับที่นั่นทำให้ทรงสามารถบังคับบัญชาการจับช้างได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการสะสมพระราชทรัพย์ไว้ใช้ในการบำรุงราชสำนักและแผ่นดิน

 

เล่ากันว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดพระราชทานช้างป่าเป็นของบรรณาการไปถวายพระเจ้าแผ่นดินต่างเมือง อันมีพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เป็นอาทิ

 

ไม่เพียงแต่ช้างป่า ของป่าหายากจำพวกแร่ธาตุ, สมุนไพร, ไม้หอมหรือสัตว์หายากก็ถือเป็นพระราชสิทธิ์ของพระองค์ ประชาชนหรือข้าราชการไม่มีสิทธิ์ค้าขาย ทำได้แต่เพียงหามามอบให้หลวงเป็น ‘ส่วย’ แทนตัวเพื่อแลกกับการไม่ต้องมาใช้แรงงานให้กับรัฐตามหลักของระบบการปกครองเวลานั้น

 

แนวความคิดเรื่อง ‘พระเจ้าแผ่นดิน’ นี้เป็นต้นกำเนิดของระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่ในสยามแต่ใช้กันเป็นที่แพร่หลายทั่วทั้งโลก พระมหากษัตริย์ทรงค้ากำไรจากที่ดินในพระราชอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งผลตอบแทนไม่ได้กลับมาในรูปแบบของเม็ดเงินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความจงรักภักดี, การยอมรับ, ความเข้มแข็งของพระราชอำนาจและกำลังคน

 

กษัตริย์ทรงแบ่งที่ดินในพระราชอาณาจักรของพระองค์พระราชทานแก่ผู้ที่ทรงเห็นสมควรเพื่อใช้ในการก่อผลประโยชน์ ผู้ได้รับพระราชทานสามารถนำที่ดินนั้นไปใช้สอยเพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ทุกวิธี ยกเว้นนำไปซื้อขาย ในยุโรประบบฟิวดัลเริ่มต้นจากพระมหากษัตริย์(Lord) พระราชทานที่ดินให้แก่ขุนนาง (Vassal) โดยมีพันธะสัญญาว่าขุนนางจะภักดีและเป็นกำลังปกป้องกษัตริย์ ส่วนกษัตริย์จะให้ความคุ้มครองแก่ขุนนาง ที่ดินที่พระราชทานนี้ขุนนางอาจนำไปให้เช่าต่อก็ได้ โดยผู้เช่าซึ่งเรียกว่า เสรีชน (Vallian) อาจเคยเป็นผู้ที่ทำประโยชน์บนที่ดินนั้นมาก่อนก็ได้ แต่เขาไม่มีสิทธิ์ในที่ดินนั้น ด้วยที่ดินทั่วทั้งพระราชอาณาจักรเป็นสิทธิของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เสรีชนไม่ได้ถูกผุกติดกับที่ดินสามารถโยกย้ายถิ่นฐาน ขอเช่าหรือเลิกเช้าที่ดินได้ตามความปรารถนา แต่มีคนอีกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าทาสติดที่ดิน (Serf) ซึ่งอาจเป็นเชลยหรือทาส มีหน้าที่ประจำอยู่บนที่ดินของขุนนางเพื่อทำงาน ทาสติดที่ดินไม่สามารถโยกย้ายถิ่นฐานหรือเลิกล้มภาระของตนต่อขุนนางได้ นอกจากเสียชีวิต และแม้ว่าเจ้าของที่ดินนั้นๆจะเปลี่ยนคนไป ทาสติดที่ดินก็จะต้องทำงานอยู่บนที่ดินเดิมของตน

 

ในสยาม ระบอบศักดินาสวามิภักดิ์มีขึ้นตั้งแต่โบราณและถือเป็นกฎหมายมาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นเจ้าของที่ดินพระราชทานที่ดินให้กับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง ตลอดจนประชาราษฎร์ลดลหั่นกันไปตามฐานะ โดยใช้ตัวเลขเป็นเครื่องหมาย หมายความว่าบุคคลนั้นๆมีสิทธิทำกินบนที่ดินจำนวนเท่ากับตัวเลขนั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มักไม่มีใครทำกินบนที่ดินตามตัวเลขนั้น อาทิ กฎมณเฑียรบาลกรุงศรีอยุธยากำหนด พระอัยการไว้ว่า พระมหาอุปราชศักดินา 100,000 ซึ่งหมายความว่าพระมหาอุปราชสามารถทำกินบนที่ดินได้สูงถึง 100,000 ไร่ โดยที่ผลประโยชน์เป็นขององค์พระมหาอุปราชเองทั้งหมด ทว่าในความเป็นจริงพระมหาอุปราชก็ไม่สามารถทำกินบนที่ดินมากถึง 100,000 ไร่ได้

 

ดังนั้นในทางปฏิบัติตัวเลขในศักดินาเป็นเพียงเครื่องกำหนดยศฐาบรรดาศักดิ์เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงสิทธิในที่ดิน

 

กล่าวได้ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณทุกชาติ ทุกวัฒนธรรมทรงทำการค้าเป็นกิจการสำคัญเพื่อหารายได้บำรุงรัฐ ซึ่งในความหมายเวลานั้น รัฐก็คือองค์ประมุขนั่นเอง โดยทรงดำเนินกิจการผ่านหน่วยงานที่เรียกว่า ‘พระคลังสินค้า’

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักการค้าขายเป็นอย่างยิ่ง ทรงจัดเรือกำปั่นไปทำการค้ากับจีนเป็นการส่วนพระองค์ตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

 

แม้เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับพระบรมราชโองการจากพระราชบิดาให้ทรงว่าราชการต่างพระองค์ ก็ทรงให้ความสำคัญกับการค้าอย่างมาก ทรงทะนุบำรุงกงอเรือขนส่งสินค้าและพระคลังสินค้าเป็นอย่างดี จนสมเด็จพระราชบิดาทรงสัพยอกพระราชโอรสพระองค์นี้ว่า ‘เจ้าสัว’

 

ไม่แปลกเลยที่เมื่อรัชกาลของพระองค์มาถึง การค้าเจริญรุดหน้ามาก ในสมัยรัชการที่ 1 มีเรือสำเภาหลวงจากสยามติดต่อค้าขายกับจีน 2 ลำ คือเรือหูสงและเรือทรงพระราชสาส์น ต่อมาใชนรัชกาลที่ 2 เรือสำเภาหลวงได้แก่เรือมาลาพระนครและเรือเหราข้ามสมุทร ทั้งนี้ไม่นับรวมเรือสำเภาของเจ้านายและข้าราชการและเอกชน ซึ่งมักเป็นชาวจีน อีกประมาณ 80 ลำ บุคคลเหล่านี้ล้วนได้รับพระราชทานสัมปทานการค้าจากพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น โดยมีการหักผลกำไรตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ไม่รวมเรือที่ไปค้าขายกับอินโดนีเซีย, มะละกา, สิงคโปร์และเวียดนาม โดยรวมๆแล้วรัฐได้รับผลกำไรจากการทำการค้าและให้สัมปทานการค้าเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เองทำให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งกำลังเข้ามาเปิดสถานีการค้าในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่พอใจ และบังคับให้สยามทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ โดยมุ่งประเด็นหลักไปที่การทำลายสิทธิพิเศษในการทำการค้าของกษัตริย์สยาม ผ่านพระคลังสินค้า

King_Nangklao

ความจำเป็นในการปรับตัวในการทำการค้านี้เองที่ทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงพระดำริว่าเรือสำเภาเริ่มไม่เหมาะแก่ยุคสมัยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้สยามทำเรือกำปั่น ซึ่งหมายถึงเรือแบบตะวันตกที่แข็งแรง ทนทาน ทรงพระราชปรารภว่าเรือสำเภากำลังจะหมดไปเด็กๆในภายหน้าจะไม่ได้เห็น จึงโปรดให้สร้างเรือสำเภาจำลองขึ้น ณ วัดยานนาวา เป็นอนุสรณ์

 

เล่ากันว่ารัชกาลที่ 3 ทรงมีเงินจากการค้าส่วนพระองค์มากมาย ไม่นับเงินที่เป็นส่วนของแผ่นดิน ทรงนำเงินเหล่านั้นซึ่งเป็นโลหะใส่ไว้ในถุงแดง แบ่งเป็นถุงละ 10 ชั่ง ตีตราปิดปากถุง ใส่กำปั่นใหญ่ไว้ในห้องใกล้ห้องบรรทม ไม่ได้พระราชทานให้ใครหรือแม้แต่ใช้สอยส่วนพระองค์ รับสั่งแต่เพียงว่า “เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง” เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ดังที่เคยมีพระดำรัสว่า”การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”

 

ซึ่งการทั้งหมดก็เป็นจริงตามที่ทรงคาดการณ์ แต่ที่น่าสนใจก็คือไม่เพียงแต่เรื่องฝรั่งจะเป็นใหญ่เท่านั้นที่ทรงพยากรณ์ไว้ได้อย่างแม่นยำ แม้แต่เงินถุงแดงซึ่งไม่ทรงใช้สอยหรือพระราชทานพระราชโอรส พระราชธิดาพระองค์ใดเลย ตามที่ควรจะเป็น ทว่ากลับพระราชทานให้เก็บไว้ใช้ไถ่บ้านไถ่เมืองตามที่ได้เล่ามาแล้วนั้น ปรากฎว่าหลังจากสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2397 เงินนี้มีอยู่จำนวนมหาศาลและตลอดรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงแตะต้องเลย ยังอยู่เป็นจำนวนครบทั้งสิ้น 30,000 ชั่งเท่าเดิม(ประมาณ 2,400,000 บาท) กระทั่งปี พ.ศ.2431 หรือ ร.ศ.112 สยามในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดกรณีพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงกับฝรั่งเศส ด้วยเวลานั้นสยามยังถือกรรมสิทธิ์ในเมืองไลซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองของแคว้นสิบสิงจุไทอยู่ ในขณะที่จีนก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนนี้ แต่ที่แย่ที่สุดคือมหาอำนาจตะวันตกอย่างฝรั่งเศสก้เข้ามาอ้างสิทธิเหนือเมืองไลเช่นกัน จึงเกิดการเจรจาเพื่อการรังวัดแบ่งเขต ทว่าระหว่างนั้นสยามกับฝรั่งเศสมีเรื่องวิวาทกันอยู่เสมอเพราะฝรั่งเศสกล่าวหาว่าสยามรุกล้ำแผ่นดินเขมรซึ่งอยู่ใต้อาณัติฝรั่งเศสอยู่บ่อยครั้ง

 

จนกระทั่งปี พ.ศ.2436 เกิดกรณีพระยอดเมืองขวางต่อสู้กับฝรั่งเศสซึ่งพยายามจะขับไล่คนไทยออกจากแขวงคำม่วน ฝ่ายฝรั่งเศสพ่ายแพ้นายทหารเสียชีวิต 1 นาย ทหารญวน 20 นาย ส่วนฝ่ายไทยเสียชีวิตประมาณ 5 -6 ราย

 

รัฐบาลฝรั่งเศสโกรธไทยมากจึงส่งเรือรบโครเมต์กับเรือลังกองสตองแล่นรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำไทย สมทบกับเรือลูตังซึ่งเข้ามาทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ.2435 แล้ว ด้วยเจตนาจะยึดครองสยามให้ได้

 

แต่เมื่อเรือรบฝรั่งเศสสองลำเข้ามาในน่านน้ำสยามบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า เรืออรรคเรศของไทยจึงยิงเพื่อรักษาอธิปไตยเหนือน่านน้ำจมลง ปรากฎว่ารัฐบาลฝรั่งเศสโกรธมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าฝรั่งเศสเป็นชาติมหาอำนาจ ไม่คุ้มเลยหากสยามจะต่อกรด้วย จึงทรงดำเนินนโยบายเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนมาก จึงเกิดการเจรจาและตกลงกันว่าให้สยามชดใช้ค่าเสียหายแก่ฝรั่งเศสเป็นเงิน 3 ล้านบาท และไทยต้องสละสิทธิในดินแดนฝรั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน ซึ่งยึดไว้นานถึง 10 ปี

 

เวลานั้นเงิน 3 ล้านบาทไม่ใช่เงินจำนวนน้อยๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ต้องโปรดฯให้เปิดถุงแดงนำเงินที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยพระราชทานไว้ให้ ‘ไถ่บ้านไถ่เมือง’ มาใช้ ส่วนที่เหลือก็ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และพระราชทรัพย์ของเจ้านาย ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในมาสมทบโดยเสด็จด้วย

เล่ากันว่าบรรดาเจ้านายฝ่ายในซึ่งประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังเวลานั้น ต่างก็ขนเงินทองที่ทรงมีอยู่มาถวายพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ซึ่งทรงชุบเลี้ยงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างพระมารดามาแต่ทรงพระเยาว์นั้น ทรงขนทองคำที่ทรงเก็บรักษาไว้ใต้ถุนตำหนักใส่รถลากมาถวาย ทองเหล่านั้นมีน้ำหนักมาก จนล้อรถลากซึ่งเป็นเหล็กและไม้ครูดบนแผ่นหินบุทางเดินในวังหลวงเป็นรอยลึก ปรากฎให้เห็นจนกระทั่งปัจจุบัน

 

จะเห็นได้ว่ากษัตริย์ไม่ได้ทรง ‘นั่งกินนอนกิน’ สุขสบายเลย นอกจากการปกครองบ้านเมือง อำนวยสุขแก่พสกนิกรของพระองค์แล้ว การสร้างรายได้ให้กับประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงทรงดำเนินธุรกิจอยู่ตลอดเวลา และต่างก็ทรงเป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รอบด้านและไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์เป็นที่ตั้ง

 

การไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนพระองค์นี่เอง ที่ทำให้ทรงเป็นนักธุรกิจที่ดี

 

และเป็นผู้นำที่ดี

———
ผู้เขียน: สรรพสิทธิ์ เอี่ยมสุดใจ

Related contents:

You may also like...