วิธีเอาตัวรอดในวิกฤตปี 2557
ดูมาดูไป ก็เป็นที่น่าหวั่นใจแล้วว่า ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ถังแตก แต่ประชาชนคนไทยที่ไม่ระมัดระวังการใช้ชีวิตก็มีสิทธิ์ถังแตกได้เช่นกันในอีกปีแห่งความวุ่นวาย 2557 นี้ และเนื่องจากมีคนมาปรึกษาอีชั้นมากมายว่า จะปรับตัวอย่างไรกันดีเพื่อรับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเศรษฐกิจถดถอยก็ไม่รู้ซินะ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรง และค่าเงินบาทไทยที่มีโอกาสอ่อนตัวด้อยค่าจนต้องเอามาพับนกพับกบเล่น การลงทุนในประเทศจะลดน้อยลง การว่างงานจะมากขึ้น การจับจ่ายจะฝืดเคือง ข้าวของแพงขึ้น แถมยังขายไม่ค่อยออกเพราะคนไม่มีสตางค์ใช้ แบงค์ไม่ยอมปล่อยกู้ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากก็ลดลงเรื่อยๆ หุ้นตก แม้แต่การซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ดูจะไม่น่าไว้วางใจว่า รัฐบาลถังแตกจะมีเงินจ่ายต้นจ่ายดอกไหม ส่วนภาษีเราก็ต้องเสียเยอะแยะ แต่รัฐเอาไปใช้สุรุ่ยสุร่าย โกงบ้างอะไรบ้าง เงินประกันสังคมที่หักเราไปทุกเดือน ท้ายที่สุดแล้วจะได้คืนไหม ฯลฯ ทุกสิ่งที่ว่ามานี้ มองไม่ออกจริงๆว่าใครจะช่วยใครได้ เราต้องช่วยตัวเอง และต้องขออภัยรัฐบาลด้วยนะคะ หากวิธีการช่วยตัวเองของประชาชนผู้สิ้นหวังอย่างเราๆ จะทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งถดถอยลงไปอีก เพราะเรามุ่งประหยัด ไม่นิยมประชานิยมเก๊ๆที่อัดเงินหนี้สูญเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุเรศๆ ด้วยการแจกเงินให้ไปจับจ่ายหัวละสองพัน แจกเงินให้ไปซื้อรถซื้อบ้าน หรือแจกเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน ถ้ารัฐบาลเอาเงินภาษีของเราไปทำบ้าแบบนั้น หน้าที่ของเราคือ พยายามจ่ายภาษีให้น้อยที่สุด ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นเหนือนลูกบอลหิมะที่ยิ่งหมุนกลิ้งตกลงมาจากยอดเขาสู่ที่ต่ำ ก็ยิ่งก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ และมีอำนาจทำลายล้างมากขึ้นเรื่อยๆ ใครอยู่บนเส้นทางก็ต้องโดนดูดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน และพากันกลิ้งต่ำลงไปอีก วิธีของเราก็คือ หลบออกมาให้พ้นเส้นทาง ไม่ต้องไปต้าน และไม่ต้องกลิ้งตามมันไป
และจากการสัมภาษณ์คนที่ประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีทั้งหลาย มาลงใน www.HiClassSociety.com เราก็ได้เคล็ดลับดีๆจากเหล่าคนรวยตัวจริงหลายท่าน มาแบ่งปัน ให้อ่านง่ายๆ ด้วยวิธีพึ่งตัวเองดังนี้
- ประหยัดค่าเดินทาง ทั้งค่ารถ ค่าดูแลรักษา และค่าน้ำมัน ด้วยการขี่จักรยานหรือใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากที่สุด
สมมุติคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท มีรถหนึ่งคัน ต้องเสียค่าซ่อมบำรุงและค่าภาษีรวมประกันต่างๆปีละ 24,000 บาท ค่าน้ำมัน เดือนละ 4,000 บาท หรือปีละ 48,000 บาท ค่าทางด่วนไป-กลับวันละ 100 บาท หรือปีละประมาณ 20,000 บาท รวมทุกรายการคือ 92000 บาท/ปี นั่นหมายถึง คุณมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเกี่ยวกับการเดินทางคิดเป็น 38% ของเงินเดือน ถ้าคุณขี่จักรยาน หรือนั่งรถเมล์ฟรีได้ ก็จะประหยัดไปได้มาก
- ประหยัดค่าอาหาร ด้วยการ ปรุงอาหารกินเอง และปลูกพืชผักกินเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งไม่ใช่ช่วยแค่เป็นการประหยัดเงิน แต่ยังทำให้เราได้กินพืชผักปลอดสารพิษ อีกทั้งยังเป็นงานอดิเรกที่น่าสนุกเพลิดเพลิน ได้เรียนรู้และใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น
คุณคงไม่เคยใส่ใจคิดคำนวณแบบจริงจังว่า การซื้ออาหารนอกบ้านกินบ่อยๆ รวมถึงการสังสรรค์วันเงินเดือนออกนั้น ทำให้คุณมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกินโดยเฉลี่ยประมาณวันละ 300 บาท หรือปีละ 109,500 บาท ซึ่งถ้าคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท คุณมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเกี่ยวกับการกินคิดเป็น 45% ของเงินเดือน แต่ถ้าคุณทำอาหารกินเอง รวมถึงปลูกผักสวนครัวบางอย่างกินเองบ้าง คุณสามารถลดค่ากินอาหารนอกบ้านได้มากกว่าครึ่งเลยทีเดียว แถมยังประหยัดค่าดูแลสุขภาพทางอ้อมด้วย
- ประหยัดค่ารักษาพยาบาล ด้วยการหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ทั้งกายและใจ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้เรามีสุขภาพกายใจที่ดีแล้ว ยังทำให้เรามีรูปร่างหน้าตาและบุคลิกที่ดีขึ้น ใส้เสื้อผ้าอะไรก็ดูดี มีความมั่นใจในตัวเอง
- ประหยัดค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ใช้อย่างระมัดระวัง ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรเปิดแอร์ การอาบน้ำก็หาภาชนะมาตักอาบจะดีกว่าการเปิดก๊อกรอให้น้ำอุ่น เพราะน้ำต้องไหลทิ้งไปเยอะ น้ำทิ้งจากครัวเรือนที่ไม่มีสารพิษเจือปน เช่น น้ำล้างจาน หรือน้ำสุดท้ายจากการซักผ้า ก็ต่อท่อหรือทำบ่อพักไว้รดต้นไม้ ส่วนค่าโทรศัพท์นั้นก็เปลี่ยนมาใช้แอปส์ที่เขาให้โทรฟรี เช่น line หรืออะไรต่างๆที่ไม่ต้องเสียเงินแทน
- ลดการบริโภคทรัพยากรและสิ่งของเครื่องใช้ทุกประเภทอย่างฟุ่มเฟือย อะไรที่ยังใช้ได้ก็นำกลับมาใช้ใหม่ และเรียนรู้การรีไซเคิลสิ่งของต่างๆ ให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด นอกจากจะช่วยประหยัดเงินของเราแล้ว ยังช่วยลดขยะให้กับโลกใบนี้ด้วย
- ลดการช้อปปิ้งซื้อของใหม่ๆ มาแต่งตัวให้น้อยลง แต่มุ่งพัฒนาบุคลิกภาพและรสนิยมที่ทำให้ตัวเองดูดี ได้โดยไม่ต้องพึ่งเสื้อผ้ามากนัก และหาความคิดสร้างสรรค์มาทำให้การแต่งตัวสนุกและดูดีโดยไม่ต้องใช้เงินเยอะ ถ้าจำเป็นต้องซื้อของใช้สำหรับแต่งตัว แนะนำให้ซื้อแต่ของคุณภาพดีที่ใช้ได้นาน ดูดีมีคุณค่า และหากไม่อยากใช้แล้วก็ยังขายต่อได้ ถ้าต้องเลือกระหว่างของก๊อปเกรดต่ำ กับแบรนด์เนมคุณภาพดีแต่มือสอง ในราคาใกล้เคียงกัน การเลือกซื้อของมือสองเกรดดี บอกให้รู้ว่าคุณเป็นคนมีรสนิยม แต่อย่าบ้าแบรนด์ซื้อของแพงโดยไม่ดูคุณภาพ จะตัดสินใจซื้ออะไร ให้เลือกที่คุณภาพสำคัญที่สุด
- เสียภาษีให้น้อยที่สุด -เพราะรัฐเอาไปทำบ้าบออะไรก็ไม่รู้ นอกจากภาษีที่หักโดยตรงจากรายรับของเราแล้ว เรายังเสียภาษีในรูปของการจับจ่าย ก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ยิ่งช้อปมากก็ยิ่งเสียภาษีมาก พูดง่ายๆก็คือ พยายามอย่าหาเรื่องเสียเงินเลยถ้าไม่จำเป็น เพราะค่าใช้จ่ายนั้นบวกภาษีมาด้วยเสียเป็นส่วนใหญ่ เอาเป็นว่า ถ้าคุณมีค่าใช้จ่ายปีละ 1 ล้่านบาท คุณต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งแฝงมาตั้ง 70,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมภาษีที่คุณโดนหัก ณ ที่จ่ายเวลารับเงิน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คุณต้องยื่นเสียทุกปีอีกมากมาย
- ไม่ว่าคุณจะมีรายรับเท่าใด พึงใช้จ่ายให้น้อยกว่าเงินที่หาได้เสมอ เพื่อจะมีเงินออม และรักษาทรัพย์สินเงินทองที่มีให้ปลอดภัยที่สุด โดยไม่ให้ค่าลดไปกับเงินเฟ้อ ด้วยการนำไปลงทุนในช่องทางที่มีผลตอบแทนน่าสนใจ – แต่ไม่เสี่ยงจนเกินไป ช่วงเวลาวิกฤตมักเป็นเวลาที่ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ต่างๆรวมถึงกองทุนทั้งหลายดูน่ากลัว ใครๆก็ถอนเงินออกจากตลาดในช่วงนี้ แต่การกอดเงินสดหรือฝากแบงค์ก็ไม่ใช่สิ่งดีที่สุด ทางที่ดีจึงควรแบ่งเงินสดเพื่อรักษาสภาพคล่องเอาไว้ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็กระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย เช่น ที่ดิน (หากได้ทำเลดีและราคาดี) หรืออาจจะเก็บเป็นทองเอาไว้บ้าง แม้ราคาทองจะมีแนวโน้มไม่ดีนัก แต่ก็ยังพอพึ่งได้ ส่วนการซื้อหุ้นนั้น ขอให้เลือกบริษัทที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปได้ในระยะยาว โดยไม่หวั่นไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจ ในช่วงนี้อาจได้ซื้อหุ้นปันผลดีในราคาไม่สูง มีปันผลให้กินมากกว่าเงินฝากแม้ราคาอาจไม่ขึ้นหวือหวา รวมถึงแลกเงินสกุลสำคัญๆเก็บเผื่อไว้บ้าง เผื่อเงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากต่างชาติอาจไม่สนใจมาลงทุนกับเรา ก็ยังพอมีเงินสกุลแข็งๆรองก้นกระเป๋าไว้กันความเสี่ยง ทางที่ดีควรควบคุมตัวเองให้มีเงินออมทุกเดือน ซึ่งหมายถึง ต้องมีรายรับมากกว่ารายจ่ายเสมอ ซึ่งวิธีัที่จะควบคุมได้คือการทำแผนและทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมถึงบัญชีการออม และบัญชีการลงทุน โดยกำหนดเป้าหมายผลตอบแทนและวางแผนงบประมาณการใช้จ่ายที่ชัดเจน
- ให้เวลากับครอบครัว ใส่ใจกับการสร้างความสุขในบ้านให้มากขึ้น – เพราะความสุขในบ้านนั้น ทำให้เรามีพลังใจที่เข้มแข็ง และมีสติที่มั่นคง แม้โลกภายนอกจะแย่ เศรษฐกิจไม่ดีอาจทำให้รายได้น้อยลง ทำธุรกิจขาดทุน หรือตกงาน แต่ถ้าบ้านมีความสุข เราก็ยังพอมีกำลังใจสู้ชีวิตต่อไปได้ และที่สำคัญ ความสุขที่บ้านไม่ต้องเสียเงินเยอะ ไม่เหมือนออกไปเดินห้าง ไปกินข้าวนอกบ้าน หรือไปอาบอบนวด เพียงแค่สตาร์ทรถออกไปก็เสียเงินแล้ว
- อุทิศตัวเองช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสบ้าง – ช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้ชีวิตช้าๆลงหน่อย และหันมองคนอื่นและสังคมรอบข้างบ้างว่า ยังมีคนที่เขาลำบากกว่าเราอีกเยอะ ใช้เวลาที่เหลือไปแบ่งปันทำประโยชน์ให้สังคมบ้าง เพราะนอกจากคุณจะได้ทำสิ่งดีๆเพื่อคนอื่นแล้ว คุณยังจะได้เจอคนดีๆที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้มองเห็นโอกาสในวิกฤตได้มากขึ้น การที่เราไม่ได้รวยขึ้น ไม่ได้แปลว่าเราจะยากจนลง ในชีวิตของเรายังมีหลายสิ่งที่แบ่งปัน หรือช่วยเ้หลือคนอื่นให้มีความสุขมากขึ้นได้ ไม่้ว่าจะเป็นสิ่งของที่เหลือใช้ แรงงาน ความรู้ หรือแม้แต่มิตรภาพและกำลังใจ ซึ่งไม่ได้ต้องเสียเป็นเงิน แต่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใดในยามที่ขาดแคลน
- ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มากที่สุด – ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภาษา เทคโนโลยี ธุรกิจ ศิลปะ รวมถึงงานช่าง และความรู้ด้านการเกษตรแบบครัวเรือนที่ช่วยให้เราพึ่งพาตัวเองได้ พยายามเปิดหูเปิดตาศึกษาหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาตัวเองทั้งร่ายกายและจิตใจ โดยเฉพาะการกระตุ้นสมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ด้วยการศึกษาศิลปะแขนงต่างๆ โดยไม่จำเป็นว่าเราจะต้องมีพื้นฐานการเรียนด้านศิลปะมาก่อน เช่น การวาดภาพ ดนตรี การออกแบบ การเขียน ทำอาหาร จัดดอกไม้ ออกแบบเสื้อผ้า ฯลฯ อีกทั้งยังทำให้จิตใจมีความสุข สงบ ไม่ต่างกับการไปนั่งสมาธิหรือสวดภาวนาเลยทีเดียว เพราะความรู้และความคิดสร้างสรรค์ บวกกับจิตที่สงบมีสมาธิ คือบ่อเกิดของปัญญา จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของสมองในการคิดหาช่องทางดีๆในการสร้างความสำเร็จ ให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้อย่างปลอดภัย
EDITOR’S TALK by : Wannasiri Srivarathanabul
Editor@HiclassSociety.com