จักรกฤต เบเนเดทตี้ กรรมการผู้จัดการ บ.อตาเลเซีย อิเล็คโทร และ บ.อิตาเลเซีย เทรดดิ้ง (ประเทศไทย)

บทบาทกรรมการผู้จัดการแห่งอิตาเลเซียซึ่งดูแล 2 ธุรกิจสำคัญในเครือ คือ บ.อิตาเลเซีย อิเล็คโทร และ บ.อิตาเลเซีย เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) ทำให้หนุ่มแม็กซ์-จักรกฤต เบเนเดทตี้ ค่อนข้างหมกตัวอยู่กับงานมาตลอด 9 ปี อันเนื่องด้วยภารกิจที่ต้องรับช่วงต่อกะทันหันภายหลังการเสียชีวิตของคุณพ่อ อโดโฟ่ แต่ในอีกมุมหนึ่งชายวัย 32 ยังจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าความสำเร็จจากรุ่นบุกเบิกโดยคุณปู่ โอเทลโล่ ที่ตกทอดมาถึงเขาจะต้องพัฒนาและก้าวไกลสมกับการเป็นรุ่นที่3 ของอิตาเลเซีย “อิตาเลเซียคือ อิตาลี+เอเซีย คุณปู่ผมมาจากอิตาลีคุณย่าเป็นคนไทยจึงนำเข้าสินค้าที่เมืองไทยยังไม่มี ยุคแรกนำเข้าชนิดที่เรียกว่าไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ต่อมาเน้นเครื่องไฟฟ้าจากอิตาลีและปรับเปลี่ยนมาตลอดโดยดูจากความต้องการของลูกค้า”

เมื่อเป็นธุรกิจซึ่งครอบครัวเขาจึงซึมซับมาโดยตลอด ได้เห็นคุณพ่อทำงานอย่างตั้งใจจึงเกิดแรงผลักดันให้เดินตาม โดยเรียนด้านการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ แล้วไปต่อปริญญาโทสาขาเดิม ที่ Thunderbird School of Global Management ด้วยค่านิยมสมัยนั้นบัณฑิตทางด้านนี้ต่างก็อยากทำงานในธุรกิจขนาดใหญ่อาทิ P & G, Berli Jucker ตั้งเป้าว่าเมื่อเก่งก็จะนำความรู้มาพัฒนาบริษัทของครอบครัว แต่เมื่อการณ์ไม่เป็นเช่นนั้นเขาจึงกระโจนลงมาก่อนเวลา

“ในตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมกลับมาปี 1999 บรรยากาศยังหดหู่ ผมก็เพิ่งอายุ 23 แต่ข้อดีก็คือว่ามันต่ำสุดแล้วทำอย่างไรก็มีแต่ดีขึ้น ท้าทายแต่เราก็ค่อยๆ ทำ รู้สึกว่าแต่ละวัน แต่ละปี แต่ละเดือน ก็คือการเรียนรู้ ถึงวันนี้ทำงานไปก็เรียนรู้เสมอ สิ่งที่ทำถูกและสิ่งที่ตัดสินใจผิดเป็นบทเรียนแต่มันก็สอนเราทำให้เราก้าวต่อไปได้ เกือบทศวรรษที่ผ่านมาเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่น่าสนใจและผมก็ติดตามว่าอีกหนึ่งหรือสองทศวรรษจะเป็นอย่างไรกันต่อ”
“ถ้าไม่ได้มาทำตรงนี้ก็คงเสียใจ เรื่องท้อหรืออ่อนแรงไม่มี มีแต่ยิ่งทำก็ยิ่งสนุก ธุรกิจของผมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า หรือกับเครือข่ายของเรามันสำคัญ สุดท้ายเราพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว”

“ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของสินค้าคือไวน์ 40-50 แบรนด์ ส่วนอื่นคือผลิตภัณฑ์อาหารและอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงแรมเช่น เครื่องแก้ว เครื่องครัว อุปกรณ์จัดเลี้ยง แม้แต่ฟลอร์เต้นรำ รวมกันประมาณ 100-150 แบรนด์ การกิน การอยู่ มันก็คือส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ที่มีทั้งสินค้าและการบริการคู่กันไป ถึงตอนนี้ลูกค้าคาดหวังให้เรานั่งคิดแผนการตลาดให้เขา เหมือนกับเป็นที่ปรึกษาการตลาด ผมไม่รู้ว่าอีก3 ปี 5 ปีจะเป็นเช่นไรแต่เราต้องพัฒนาให้มากกว่าความคาดหวังของเขา นี่คือความท้าทายของธุรกิจนี้”เส้นทางธุรกิจของชายผู้นี้เห็นได้ชัดว่าความกล้าเผชิญหน้าและแก้ไขคือกลไกสำคัญในนำพาองค์กรไปสู่ฝั่งฝัน
“ถ้าเราไม่ได้ผ่านการผิดพลาดในอดีตก็จะไม่รู้แล้วเราอาจไปทำพลาดเมื่ออายุมากขึ้น ทุกอย่างที่ผ่านมามันมีค่าทั้งสิ้น หากสามารถเปลี่ยนแปลงอดีตเป็นบทเรียนทั้งดีและไม่ดีต่างมีคุณค่าเสมอ”

Text : วสิน ทับวงษ์     Photo : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...