มรณานุสสติ

แด่พี่ดา

พลเรือเอกจินดา ไชยอุดม เป็นพี่เขยของข้าพเจ้า ที่สนิทสนมดังกับเป็นพี่ชายแท้ๆ แม้ท่านจะเป็นทหาร แต่ก็มีหัวใจเป็นผู้ใฝ่รู้ ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบแปล และสนใจในทางพุทธศาสนาเป็นพิเศษ งานแปลของท่านที่ปรากฏออกมาเป็นภาษาไทยแล้วก็มีเช่น กรรมและการเกิดใหม่ และ สนทนาธรรมสำหรับคนสมัยใหม่ ก่อนตายจากไป ท่านได้แปล The Universe in a Single Atom (จักรวาลในหนึ่งอะตอม) ขององค์ทะไลลามะ หากไปซ้ำกับที่สดใส ขันติวรพงษ์ทำไว้แล้ว ก็เลยต้องงด ทั้งๆ ที่แปลไปได้มากแล้ว แต่ท่านก็ไม่เสียใจ บอกว่าฝึกแปลไว้ ไม่เสียเวลาเปล่า

แม้พี่ดาจะไม่ได้เขียนหนังสือเป็นเล่ม แต่ก็ชอบเขียนบทความและโคลงกลอนทางการเมืองร่วมสมัย ส่งไปลงพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์เนืองๆ

ข้าพเจ้ารู้จักท่านแต่ท่านยังเป็นนักเรียนนายเรือ รุ่นเดียวกับพี่ชาย ซึ่งตายเสียแต่เมื่อยังเป็นเพียง ร.อ. สมัคร ศิวรักษ์ พี่สมัครกับพี่ดาและพี่สุรพล แสงโชติ เป็นเพื่อนรักที่สนิทกันทั้งสามคน มักมานอนค้างอ้างแรมที่บ้านข้าพเจ้าและบ้านแม่แนบ ศิวรักษ์ ซึ่งเป็นป้าสะไภ้ของข้าพเจ้า หากข้าพเจ้ารักดังมารดาบังเกิดเกล้า และเรียกท่านว่าแม่อย่างสนิทใจ พี่ดารักใคร่ชอบพอดับเจ๊ตุ๊ (สุนทรี ศิวรักษ์) น้องสาวพี่สมัคร แต่เมื่อเป็นนักเรียนมาด้วยกัน แล้วต่อมาก็แต่งงานกัน และอยู่กินด้วยกันชนิดผัวเดียวเมียเดียวที่ควรแก่การเอาเยี่ยง ทั้งคู่ซื่อสัตย์ต่อกันและกัน รักใคร่และเข้าใจกัน โดยที่พี่ดาก็เจริญหน้าที่ในทางราชการจนได้ไปเป็นทูตทหารเรืออยู่อังกฤษ แล้วได้เป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งนับว่าเป็นตำแหน่งสุดท้ายในการรับราชการก่อนเกษียณอายุ แต่ตำแหน่งหน้าที่ ที่พอใจที่สุดเห็นจะได้แก่การเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ

พี่ดาไม่ได้หลงยศ หลงอำนาจ และซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน โดยมีความเอื้ออารีกับเพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชาอีกด้วย

ในวงญาติ พี่ดาก็มีความเป็นกันเองกับพี่ป้าน้าอาและน้องๆ ทั้งของตนเอง ตลอดจนญาติข้างเมีย ซึ่งก็สนิทสนมกันดังอยู่ครัวเรือนเดียวกันฉะนั้น ก่อนแต่งงานกับเจ๊ตุ๊ พี่ดาลาราชการออกบรรพชาอุปสมบท ๑ พรรษา ที่วัดทองธรรมชาติ และพี่ดาเคารพพระอุปัชฌาย์มาก ดังขอให้พระคุณท่านตั้งชื่อลูกสาวคนโตให้ว่าขวัญเรือน พระคุณเจ้ารูปนี้ ก็เป็นพระมหาเถระที่ทรงไว้ซึ่งสมณสารูปอย่างควรแก่การกราบไหว้บูชายิ่งนัก โดยที่วัดทองธรรมชาตินั้นควบคู่ไปกับวัดทองนพคุณ ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันว่าวัดทองบนกับวัดทองล่าง เจ้าอาวาสในสองอารามนี้ก็สมัครสมานสามัคคีกันอย่างไม่แก่งแย่งแข่งดีกันเลย

ข้าพเจ้าเองก็มีกำพืดฝ่ายบิดามาจากบ้านหน้าวัดทองบน แล้วย้ายมาอยู่กับฝ่ายมารดาทางวัดทองล่าง และบวชเรียนที่วัดนี้ แต่เจ้าคุณอาจารย์พระภัทรมุนีก็ให้พระนวกะในอาณัติของท่านไปเรียนกรรมฐานกับท่านที่วัดทองบนเสมอมา จนท่านมรณภาพจากไป ในสมณศักดิ์ พระมงคลทิพยมุนี (เซ็ก พรฺหมฺสโร) โดยที่พระคุณท่านรับราชการพิเศษทางด้านการจับด้ายสายสิญจ์ สำหรับงานพระราชพิธีในวังหลวงตลอดมา

พี่ดามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย คล้ายๆ กับเป็นพระสมถะ เช่นท่านเจ้าคุณอุปัชฌาย์ พูดน้อย คิดมาก อ่านมาก และค้นคว้าหาความรู้ ไม่แต่ในทางวิชาการทางโลก หากรวมถึงเจาะลึกลงไปในพระไตรปิฎกอีกด้วย

พี่ดาให้ความเมตตาปราณีกับข้าพเจ้าเป็นพิเศษ ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกันเนืองๆ การจากไปของพี่ดา จึงนับว่าน่าเสียดาย แม้ว่าท่านจะไม่ใช่คนเด่นคนดัง แต่ก็เป็นคนดีที่สาธุชนควรรู้จัก ในขณะที่บ้านนี้เมืองนี้ มีแต่คนกึ่งดิบกึ่งดี หน้าไหว้หลังหลอก ที่สวมหัวโขนอันจอมปลอมกันอยู่มาก หากรู้จักคนที่มีความเป็นมนุษย์ที่แท้เช่นนี้ นับว่าเป็นมงคล

-๒-

แด่นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

ในวงการสาธารณสุขของไทยเรานั้น อาจแบ่งแพทย์ออกได้เป็นสองฝ่ายอย่างกว้างๆ คือฝ่ายทุนนิยมและสังคมนิยม

ฝ่ายแรก ใช้การแพทย์เพื่อเพิ่มอัครฐานให้ตนเอง ไม่ว่าจะเปิดคลีนิกส่วนตัวหรือร่วมอยู่ในกิจการโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งรับใช้บรรษัทข้ามชาติ และเดินตามแนวทางของเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ไปได้ด้วยกันกับยาอย่างใหม่ๆ และเครื่องยนต์กลไกทางการแพทย์ ซึ่งให้ประโยชน์กับคนรวยในระยะสั้น โดยมีผลกระทบตามมาในระยะยาวเพียงใด ไม่ใช่ประเด็น ส่วนคนจนย่อมยากที่จะได้รับการเหลียวแลจากแพทย์พวกนี้ หรือโรงพยาบาลเหล่านี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับแพทย์บางคน ซึ่งแม้จะอยู่ในทางฝ่ายทุนนิยม แต่ก็มีจิตใจในทางกุศล และเอื้ออาทรคนไข้อย่างเห็นกับความเป็นมนุษย์ ยิ่งกว่าเห็นกับเงินตราและอัครฐานต่างๆ แม้แพทย์เช่นนี้จะมีไม่มากนักในค่ายฝ่ายทุนนิยมก็ตาม โดยที่ส่วนมากไม่เห็นโทษของระบบทุน หรือการหาความร่ำรวยจากความเจ็บไข้ได้ป่วยเอาเลยด้วยซ้ำ ยิ่งที่จะให้แพทย์พวกนี้เห็นโทษของระบบการแพทย์ตะวันตกกระแสหลักด้วยแล้ว ย่อมยากที่จะเป็นไปได้ อนึ่งแพทย์พวกนี้ บางคนก็แสวงหาพุทธธรรมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งดูจะเป็น Escapism ยิ่งกว่า Buddhism เพราะจิตสำนึกด้านความยุติธรรมเพื่อสังคม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ยิ่งจะให้เข้าใจถึงโครงสร้างทางสังคมอันรุนแรงและอยุติธรรมด้วยแล้ว ดูจะปราศจากจิตสำนึกเอาเลย

สำหรับแพทย์ผู้อยู่ฝ่ายสังคมนิยมนั้น มักจะไม่สนใจในการสร้างอัครฐานให้ตนเอง ไม่แสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ จากระบอบราชการหรืออื่นใด อุทิศตนเพื่อคนไข้อย่างเต็มกำลัง ทั้งทางร่างกาย ความคิดและจิตใจ ถึงจะตั้งคลีนิกส่วนตัว ก็ไม่ได้หวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง หากตั้งใจอนุเคราะห์คนไข้เป็นประการสำคัญ แต่พวกที่อยู่ฝ่ายสังคมนิยมปลอมก็มีอยู่ และผู้ที่เข้าซึ้งถึงความเป็นสังคมนิยมที่แท้ย่อมแลเห็นได้ถึงโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม ว่าเป็นสังคมที่เอื้อประโยชน์กับคนรวยและคนมีอำนาจยิ่งกว่าผู้ยากไร้ แม้โรงพยาบาลของรัฐ ก็รับใช้ชนชั้นบนยิ่งกว่าชนชั้นล่างเป็นไหนๆ

นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นคนในประเภทหลังนี้ แม้จะอยู่ในระบอบราชการ แต่ก็ทรงความสัตย์ซื่อสุจริตไว้ได้ อย่างควรแก่การเอาเยี่ยง ทั้งยังต่อสู้กับอธรรมในระบบราชการ ตลอดจนบรรษัทยาที่ฉ้อฉล อย่างอาจหาญ พร้อมๆ กับคุณูปการในการสร้างสรรระบบดังกล่าวเพื่อประโยชน์สุขของสาธารณชน สมกับชื่อกระทรวงสาธารณสุข

และไม่เพียงอุทิศตนในทางเยียวยารักษาโรค หากมองเห็นคุณค่าของการป้องกันโรคอีกด้วย ยิ่งการริเริ่มทางด้าน ๓๐ บาทรักษาทุกโรคด้วยแล้ว นับเป็นดำริชอบ ที่จะช่วยผลักดันให้สังคมไทยได้เดินไปสู่รัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง น่าเสียดายที่นักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจ แปรดำริชอบให้กลายไปเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างน่าเศร้าสลดใจ

จะอย่างไรก็ตาม นายแพทย์สงวนไม่แต่เป็นผู้ที่มีดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) หากเป็นผู้ที่มีความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) เป็นข้อต้น คือเป็นผู้ที่ต้องการลดความเห็นแก่ตัวเพื่ออุทิศอะไรๆ ให้ผู้อื่นและสรรพสัตว์อย่างแท้จริง ตามมาด้วยองค์ของพระอริยทั้งหมด คือเจรจาชอบ (สัมมาวาจา) กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) และเลี้ยงชีพชอบ (สัมมาอาชีวะ) ในสมัยนี้ มีพวกมิจฉาชีพมาก แม้ในแวดวงนักการเมือง นักธุรกิจการค้า รวมทั้งแพทย์ ฯลฯ โดยที่นายแพทย์สงวน มีความเพียรชอบ (สมัมมาวายามะ) มาเกือบจะตลอดชีวิตเลยทีเดียว ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาจนอายุเข้าเขตปัจฉิมวัย

ในช่วงปลายของชีวิต ที่นายแพทย์สงวน ต้องต่อสู้กับพยาธิอันร้ายแรงนั้น ขอให้เขามีความระลึกชอบ (สัมมาสติ) คือทบทวนถึงคุณความดีที่ได้กระทำมาจนแทบตลอดชีพ นี่จะเป็นนิสัยปัจจัยให้เขาเข้าได้ถึงการตั้งจิตไว้ชอบ (สัมมาสมาธิ) อันจะช่วยให้เขาละโลกนี้ไปในทางของความสว่างอย่างสงบ และสะอาด สมกับคุณธรรมความดีที่เขาบำเพ็ญตลอดมา

ส. ศิวรักษ์

Related contents:

You may also like...