วีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

นิตยสารไฮคลาสเคยได้รับเกียรติจาก วีระ โรจน์พจนรัตน์ ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม แสดงทรรศนะ และเปิดเผยเส้นทางชีวิตจากสถาปนิกรุ่นบุกเบิก ผู้สร้างแผนแม่บทพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยให้เลื่องชื่อทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จากผลงานการทุ่มเทที่ผ่านมาจำนวนมากนั้นไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเขาคือ นักบริหาร ‘ลูกหม้อระดับหัวกะทิ’ ผู้มากด้วยฝีมือคนหนึ่งของกระทรวงวัฒนธรรม กระทั่งในวันนี้หลังจากรับตำแหน่งปลัดกระทรวง คมความคิดของวีระ โรจน์พจนรัตน์ ได้แปรนโยบายจากรัฐบาล ออกเป็นผลงานอันหลากหลาย ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญทั้งในเชิงคุณค่าและมูลค่าของวัฒนธรรมไทย ภายใต้การขับเคลื่อนของผู้บริหารสูงสุดในส่วนข้าราชการประจำท่านนี้ ซึ่งปรากฏภาพที่ชัดเจนถึงบทบาทของวัฒนธรรมที่มีผลโดยตรงต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจของชาติ

ไฮคลาส : อยากให้บอกเล่าถึงพันธกิจหลักของกระทรวงวัฒนธรรม และแผนงานที่สำคัญในปี ๒๕๕๓ นี้ว่ามีอะไรบ้าง และมีที่มาที่ไปอย่างไร
ลำดับแรก ขอกล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่าด้วยผลจากยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคโลกไร้พรมแดน ที่การสื่อสารเป็นไปอย่างเสรีไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสื่อประเภทต่างๆ ซึ่งต้องยอมรับว่า มีทั้งสื่อด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะสื่อด้านลบที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน จึงนำมาซึ่งผลกระทบอย่างรุนแรงในสังคม วัฒนธรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเข้ามาเยียวยาสังคมในปัจจุบัน
อีกทั้งงานด้านวัฒนธรรม มีมุมมองและขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น งานวัฒนธรรมมิใช่เพียงแค่การดูแลโบราณสถาน งานพิพิธภัณฑ์ หรือการรำฟ้อนแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดมิติใหม่ๆ ของงานด้านวัฒนธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เช่น ภาพยนตร์ แอนิเมชั่นการ์ตูน เกม เป็นต้น

นอกจากนี้ วัฒนธรรมยังมีบทบาทมากขึ้นในสังคมโลก กล่าวคือ วัฒนธรรมเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ (culture based development) ซึ่งประเทศต่างๆ พยายามใช้ข้อได้เปรียบจากความร่ำรวยและต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดและสร้างสรรค์เป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศด้วย
เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญของวัฒนธรรมจากประเด็นหลักข้างต้นแล้ว ทำให้ประเทศไทยต้องมีหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่บริหารจัดการงานด้านวัฒนธรรม ซึ่งก็คือ กระทรวงวัฒนธรรมในปัจจุบัน
กระทรวงวัฒนธรรมมีพันธกิจหลัก ก็คือ การดูแลงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ด้านศาสนา กระทรวงฯ มีกรมการศาสนา หน่วยงานในสังกัดที่ดูแลทุกศาสนา โดยการส่งเสริม การเผยแพร่หลักธรรม คำสอนของทุกศาสนาเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต  สำหรับงานด้านศิลปะ และวัฒนธรรมซึ่งประกอบด้วยภารกิจหลัก ๔ ด้าน คือ ๑) ด้านศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมมีหน้าที่ดูแลการเผยแผ่และการรณรงค์ให้ใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการศาสนา ๒) ด้านมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น งานด้านสถาปัตยกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ การแสดงนาฏศิลป์ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมศิลปากร ๓) ด้านวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย มีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติดูแล ๔) งานด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นงานศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ เราก็มีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ทำหน้าที่ส่งเสริมดูแลอยู่

นอกจากนั้น กระทรวงฯ มีสถาบันการศึกษาที่สอนด้าน นาฏศิลป์ ดนตรี ศิลปะ ในระดับปริญญาตรี ได้แก่ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ แล้วยังมีองค์การมหาชน ๒ แห่ง คือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย การส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายของกลุ่มคนต่างๆ ในประเทศไทยที่มีมรดกทางวัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และภูมิปัญญาอันเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีความแตกต่าง และหอภาพยนตร์ ซึ่งมีหน้าที่เก็บเรื่องราวข้อมูล และเป็นองค์ความรู้ในเรื่องของภาพยนตร์สำหรับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งองค์การมหาชนที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
สำหรับพันธกิจหลัก ในปี ๒๕๕๓ นี้ มีงานที่กระทรวงฯ ต้องดำเนินงานอย่างเนื่องและให้เกิดผลเป็นรูปธรรมแก่ประชาชนมากที่สุด คือ

การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมมีแหล่งเรียนรู้มากมายและจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในการค้นคว้า ศึกษาหาความรู้ เช่น โบราณสถาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ (Asian Cultural Gateway) ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะมีแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระดับโลก เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณกว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการจัดซื้อที่ดินแล้วจำนวน ๓๕ ไร่ ติดกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
การส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย เป็นการปลูกฝัง ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนมีการดำเนินชีวิตที่มีวิถีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ และจัดระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย รวมทั้งสนับสนุนบทบาทและการมีส่วนร่วมของสถาบันทางสังคม และเน้นการส่งเสริมกิจกรรมการเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

การดำเนินงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรามีคณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ ที่มีท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายธีระ  สลักเพชร) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อประเภทต่างๆ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน ร่วมกำหนดนโยบายในการขจัดสื่อที่ไม่เหมาะสม เพื่อพื้นที่สื่อดีและสร้างสรรค์แก่เยาวชน ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงกฎหมายด้านสื่อให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังมีสายด่วนวัฒนธรรม ๑๗๖๕ ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องราว ร้องทุกข์ รวมทั้งข้อเสนอแนะด้านวัฒนธรรมสำหรับประชาชน ซึ่งดำเนินการตลอด ๒๔ ชั่วโมง
การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชน รัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ร่วมเป็นรองประธานฯ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมอื่นๆ เช่น โครงการวัฒนธรรมสัญจรที่กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับมูลนิธิเผยแผ่ศาสนาและพัฒนาคุณภาพชีวิต และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยเป็นการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้นำกิจกรรมในมิติทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างหลากหลายไปร่วมจัดงาน โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมสู่เยาวชนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมสู่เยาวชนพิการ และผู้ด้อยโอกาส โครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน โครงการเด็กไทยรักษ์วัฒนธรรมไทย ฯลฯ

การส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕ กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานต้นน้ำ จึงทำหน้าที่ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรม โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการในการต่อยอดการวิจัย และการพัฒนา ซึ่งกระบวนการนี้ ผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาจะได้พัฒนาสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมร่วมกับผู้ประกอบการอันจะนำไปสู่ฐานรายได้ใหม่ของประเทศ และเกิดเป็นผลลัพธ์ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ  การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการสร้างความสุขอย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์  ซึ่งสร้างรายได้ปีละกว่า ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท แอนิเมชั่น และเกม มูลค่ากว่า ๔,๐๐๐ ล้านบาท โดยในปัจจุบัน กระทรวงฯ ดูแลพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติมีการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๔) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาสื่อดังกล่าว โดยได้ศึกษารูปแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จ อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี เกาหลี เป็นต้น

การใช้มิติทางวัฒนธรรมแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุน ฟื้นฟูการสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในประเทศ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นกลไกขับเคลื่อน ตลอดจนการส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งการรับฟังและการสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนในท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหา โครงการที่กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการอยู่ คือ โครงการวัฒนธรรมสายใยชุมชน โครงการชุมชนตัวอย่างวัฒนธรรมสันติวิธี

ไฮคลาส : ภารกิจหลักของปลัดกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้พันธกิจที่กล่าวมาคืออะไร
ปลัดกระทรวงถือเป็นผู้บริหารสูงสุดในฝ่ายข้าราชการประจำในกระทรวง ภารกิจสำคัญ คือ การบริหารจัดการงาน และการขับเคลื่อนงานของกระทรวงฯ ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งการกำหนดนโยบาย การวางแผน การติดตาม การกำกับดูแลให้งานต่างๆ เป็นไปตามแผนงาน และงบประมาณ ทั้งนี้ ต้องอาศัยการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความราบรื่น
ขณะเดียวกัน ปลัดกระทรวงต้องรับนโยบายจากรัฐบาล และรัฐมนตรีมาขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ด้วยการแปลงนโยบายมาสู่แผนปฏิบัติการที่เกิดจากการบูรณาการจากทุกภาคส่วนที่เป็นภาคีสำคัญของการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม ต้องกำกับติดตามการดำเนินงานให้ภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นไปตามแผนโดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดีงามบนพื้นฐานวัฒนธรรม นำไปสู่สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (green and happiness society)

ไฮคลาส : ประสบการณ์ที่ผ่านมาของท่าน ทั้งจากภูมิหลังส่วนตัว การศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน คิดว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้กับงานในตำแหน่งสูงสุดสำหรับข้าราชการประจำของกระทรวงวัฒนธรรม ณ ช่วงเวลานี้ได้ดีเพียงใด
ตัวผมเองเกิดและเติบโตในต่างจังหวัด เป็นคนจังหวัดพิจิตร จึงได้เห็นวิถีชีวิตท้องถิ่นซึ่งเป็นชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ และเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ารับราชการและไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นเวลาอีก ๕ ปี ดังนั้น จึงมีโอกาสเรียนรู้การทำงานร่วมกับจังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน และโดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบและรักการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมศิลปากร ซึ่งเป็นตำแหน่งเสมือนแม่บ้านที่ต้องบริหารจัดการทรัพยากรในหน่วยงาน จึงได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้สามารถนำเอาทฤษฎีและกรณีศึกษา มาใช้ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษา อบรม ดูงาน ประชุมในต่างประเทศหลายครั้ง มากกว่า ๓๕ ประเทศ ตลอดจนการรับราชการในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทั้งนักวิชาการ นักบริหาร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานได้เรียนรู้จากสิ่งถูกและผิด นับเป็นการเห็นโลกกว้างและสั่งสมประสบการณ์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เหล่านี้จึงทำให้มีมุมมองทั้งในแง่ของชุมชนท้องถิ่น ชุมชนเมือง ความหลากหลาย และความเป็นสากล อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำประสบการณ์ต่างๆ เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานด้านวัฒนธรรมในสังคมในยุคปัจจุบัน

ไฮคลาส : ความจำเป็นหรือภารกิจเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ
ภารกิจประการแรกที่ผมคิดว่าเป็นภารกิจที่เร่งด่วนและมีความสำคัญมาก คือ ทำอย่างไรให้วัฒนธรรมเป็นเรื่องของทุกคน ทำอย่างไรที่ให้คนในสังคมช่วยกันรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง แต่มีความเป็นพลวัต มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ซึ่งเมื่อเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างแล้ว จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดและทางสังคม หากแต่จะเป็นการเรียนรู้เข้าใจร่วมกันที่จะรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีงาม และปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่สำคัญคือ ต้องเข้าใจว่า วัฒนธรรมเป็นของทุกคน ทุกคนต้องรักและภาคภูมิใจ ร่วมกันอนุรักษ์และสืบสาน กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเพียงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมเท่านั้น กระทรวงฯ จึงพยายามสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนให้ร่วมขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม จึงเป็นที่มาของนโยบายการขยายเครือข่ายทางวัฒนธรรม เช่น สภาวัฒนธรรม การขยายงานด้านวัฒนธรรมจากจังหวัด ลงไปยังอำเภอ และตำบล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนเข้าใจงานวัฒนธรรม และร่วมทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรม
ภารกิจที่เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน คือ การผลักดันโครงการวัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับประชาชน และยังเป็นการสนับสนุน รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย ซึ่งในหลายประเทศได้ใช้วัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้
และการผลักดันโครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ (Asian cultural gateway) ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับประชาชนคนไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
เหล่านี้เป็นการวางรากฐานที่สำคัญและต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนของกระทรวงวัฒนธรรม

ไฮคลาส : ท่านวางวิสัยทัศน์และกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรที่ดูแลวัฒนธรรมชาติในฐานะปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเอาไว้อย่างไร
ผมเห็นว่างานราชการเป็นงานที่อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก งานทุกงานจึงต้องกำหนด จุดมุ่งหมายที่ชัดเจน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนให้มากที่สุด ดังนั้น การบริหารจัดการในเรื่องคน เงิน และทรัพยากรจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ผมถือว่าคนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่น การวางบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน การสร้างขวัญและกำลังใจเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงมีการสนับสนุนให้มีการจัดหลักสูตรการบริหารจัดการทางวัฒนธรรมในระดับปริญญาโท ซึ่งขณะนี้ได้ส่งข้าราชการเข้าเรียนหลักสูตรการจัดการทางวัฒนธรรม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการมาแล้ว ๕ รุ่น ๆ ละ ๓๐ คน และได้ลงนามความร่วมมือเพิ่มเติมอีก ๓ รุ่น พร้อมทั้งมีแผนที่จะขยายการศึกษาให้ถึงระดับปริญญาเอกด้วย
นอกจากนี้ได้ปรับโครงสร้างกรอบอัตรากำลัง เพื่อรองรับงานวัฒนธรรมในภูมิภาค โดยผลักดันให้ข้าราชการมีความก้าวหน้าในการรับราชการอย่างเต็มที่ ซึ่งขณะนี้หัวหน้าหน่วยงานในระดับภูมิภาค (วัฒนธรรมจังหวัด) ได้ปรับระดับเป็นผู้อำนวยการระดับสูง (ระดับ ๙ เดิม) แล้ว

ไฮคลาส : มุมมองต่อโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) ของประเทศไทย
ขออนุญาตเล่าถึงความเป็นมาสั้นๆ ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ว่า เป็นแนวคิดที่รัฐบาลนำมาปรับใช้เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตใหม่ของประเทศ โดยกำหนดให้การพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแผนงานหนึ่งภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕
เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักเชื่อมโยงรากฐานทางวัฒนธรรมกับเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคมและเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ ทั้งนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีจุดแข็งที่สามารถนำมาพัฒนาเพิ่มขีดความได้เปรียบในการแข่งขัน ประกอบด้วย ๑) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ๒) มีประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดอยู่ในสภาพที่ดี โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลก ๓ แห่งในประเทศไทย ๓) มีความประณีตละเอียดอ่อนในการสร้างสรรค์ผลงานที่ฝีมือเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงระดับโลก ๔) มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดจำนวนมากและหลากหลาย
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยได้มีการจำแนกประเภทออกเป็น ๔ กลุ่มหลัก ได้แก่
๑) กลุ่มการสืบทอดวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรม เช่น แหล่งประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว งานฝีมือ งานหัตถกรรม
๒) ศิลปะ เช่น ศิลปะการแสดงต่างๆ และทัศนศิลป์
๓) สื่อ เช่น ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ การพิมพ์ การกระจายเสียง
๔) งานสร้างสรรค์ เช่น การออกแบบ แฟชั่น สถาปัตยกรรม ดนตรี ซอฟท์แวร์
เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์แม้จะมีการพูดถึงกันมานานแล้ว และมีหลายประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ให้มีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าจะนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดอย่างไร ที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำสื่อต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สปอตโทรทัศน์ สปอตวิทยุ เว็บไซต์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ว่ามีกระบวนการดำเนินงานอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในระดับต้นน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อมูล ระดับกลางน้ำเป็นเรื่องของการผลิตและการสร้างสรรค์ ระดับปลายน้ำเป็นเรื่องของการให้บริการและการตลาด กระทรวงต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างความเข้าใจ ขณะเดียวกันกระทรวงวัฒนธรรมได้จัดโครงการนำร่องในหลายจังหวัด เพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่าจะได้ประโยชน์อะไร และมีส่วนร่วมอย่างไร จังหวัดที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ อยุธยา ลพบุรี ขอนแก่น และสุโขทัย
ในส่วนของรัฐบาล กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ของรัฐบาล โดยกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “จากทุนทางวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” และกำหนดยุทธศาสตร์ “การนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” กระทรวงวัฒนธรรมมีการเสนอแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ ๒ ประกอบด้วย แผนส่งเสริมและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา แผนส่งเสริมเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม และแผนงานด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อและซอฟท์แวร์ ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติวงเงินงบประมาณจำนวน ๖๑๒ ล้านบาทให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินโครงการ ดังนี้
๑) โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกโลกอยุธยาในสภาวะเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกที่สำคัญของประเทศให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักทางวัฒนธรรม และนำรายได้เข้าสู่ประเทศตามนโยบายของรัฐบาล
๒) โครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งอารยธรรมล้านนาเป็นมรดกโลก โดยพัฒนาแหล่งอารยธรรมล้านนาให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานมรดกโลก พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมล้านนาและพัฒนาโครงการความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
๓) โครงการฟื้นฟูคูเมือง กำแพงสุโขทัย ซึ่งเป็นการฟื้นฟูระบบชลประทานในการเก็บกักน้ำในช่วงหน้าแล้งและป้องกันน้ำท่วมในช่วงน้ำมาก ทั้งเป็นการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ คูเมือง กำแพงเมืองสุโขทัย ซึ่งมีความสำคัญด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ
๔) โครงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นการเพิ่มศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวและเรียนรู้ และสร้างคุณค่าความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกของท้องถิ่นและของโลก
๕) โครงการลานบุญ ลานปัญญา ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดวัดที่มีความพร้อมและมีศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ให้มีศักยภาพ รองรับศาสนพิธี และการจัดกิจกรรมทางสังคม
๖) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้กับผู้ประกอบการ มีฐานข้อมูลเชิงวัฒนธรรมที่ดีเพื่อใช้ในการสร้างวีดิทัศน์เชิงสร้างสรรค์ และมีเกมที่ดีสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน
๗) โครงการเทศกาลศิลปวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม และเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ตั้งจุดมุ่งหมายว่าจะดำเนินโครงการต่างๆ ที่กำหนดให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทย อันจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชนท้องถิ่นเข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นที่ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย และนำมาซึ่งเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สังคมและวัฒนธรรมมีความเข้มแข็ง และที่สำคัญประชาชนคนไทยมีความสุขถ้วนหน้า

ไฮคลาส : เมื่อย้อนกลับไปจากจุดเริ่มต้นก้าวเดินในวิชาชีพนี้ คุณคิดว่ามุมมองของวันนี้ในตำแหน่งปลัดกระทรวงทำให้โลกทัศน์ของคุณเปลี่ยนไปเพียงใด
ณ อดีตเมื่อเริ่มต้นทำงาน เราก็นำความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาเป็นหลักในการทำงาน มีแผนงาน และกรอบการทำงานที่เราต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนั้น ทั้งเป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ โดยมีผู้บังคับบัญชาคอยกำกับดูแล และให้คำแนะนำเป็นพี่เลี้ยง
ซึ่งที่ผ่านมา ผมได้สั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน การเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค ตลอดจนการได้รับโอกาสพบปะผู้คน และทำงานกับคนที่หลากหลาย การที่ได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้มีโอกาสพบบุคคลที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำศาสนา ผู้นำประเทศ ศิลปินระดับโลกดาราภาพยนตร์ นักร้อง นักแสดง นักวิชาการ การได้เห็นความเป็นจริงของโลกที่มีความแตกต่างและหลากหลาย
จนมาถึง ณ วันนี้ ที่ได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นผู้นำ เราจึงต้องนำพาองค์กรให้เจริญก้าวหน้า การที่โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำองค์กรไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงหรือผู้นำองค์กรอื่นๆ ต้องสามารถนำการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยภายนอกดังกล่าวเหล่านั้นเข้ามาผสมสานในการบริหารและวางแผน อีกทั้งต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะสามารถคาดการณ์ความเป็นไปใน ๕ ปี ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปีข้างหน้าว่าจะมีประเด็นใดที่จะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ทำอย่างไรที่จะให้มีการบูรณาการวัฒนธรรมกับเรื่องต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น มีการคาดการณ์ในเรื่องของการขาดแคลนน้ำและพลังงานในอนาคต เราจึงต้องพิจารณาว่า วัฒนธรรมมีความเกี่ยวข้องกับน้ำและพลังงานอย่างไร และจะรณรงค์สร้างจิตสำนึกค่านิยมให้กับประชาชนอย่างไร เช่น ในเรื่องของความประหยัดหรือรูปแบบการดำเนินชีวิต หรือประเด็นด้านสังคมในอนาคต วัฒนธรรมจะมีส่วนร่วมในด้านใด เป็นต้น ทั้งนี้ ในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากเรื่องวิสัยทัศน์แล้ว การบูรณาการในระดับต่างๆ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

ไฮคลาส : ภาพกระทรวงวัฒนธรรมในอุดมคติสำหรับอนาคตอีก ๑๐ ปีข้างหน้า
สังคมไทย ณ วันนี้ ผมไม่รู้ว่ามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สังคมที่มีแต่ความแตกแยก แบ่งสีแบ่งพวกเด็กและเยาวชนยึดติดกับระบบทุนนิยม มีค่านิยมว่าโกงได้ไม่เป็นไร แต่ขอให้มีผลงาน
กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงรวมถึงข้าราชการในทุกระดับ ตระหนักว่าภารกิจหลาย ๆ เรื่องมีความสำคัญ แต่เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญมากที่สุด ผมคิดอยู่ตลอดที่จะวางแผนว่าจะดำเนินงานอย่างไรที่จะใช้มิติวัฒนธรรมมาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมต้องไม่โดดเดี่ยวในการขับเคลื่อนงาน มีการร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชน เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
กระทรวงวัฒนธรรมต้องเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญ เป็นกระทรวงเกรดเอ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพราะกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้ทำงานเฉพาะด้านสังคมอย่างเดียว จะทำงานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติด้วย พร้อมทั้งผลักดันภาพลักษณ์ของประเทศให้มีความสง่างามในเวทีโลก

ไฮคลาส : วิธีการแก้ไขอุปสรรคในการทำงาน
มองโลกด้วยความเป็นจริง เข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา แก้ไขปัญหาด้วยสติและปัญญา บางปัญหาไม่ต้องทำอะไรจะผ่อนคลายไปตามกาลเวลา ที่สำคัญพยายามอย่าให้เกิดปัญหา แต่เมื่อเกิดปัญหา ถึงแม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ ต้องรีบแก้ไขก่อนจะเป็นปัญหาใหญ่ บางปัญหาต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาด โดยอยู่บนความถูกต้อง การแก้ปัญหาเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องคน เนื่องจากการทำงานมีแนวทางและมีกฎระเบียบอยู่แล้ว

ไฮคลาส : ปรัชญาที่นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จดังเป้าหมาย
ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องมีความรอบรู้ในงาน มีวิธีการบริหารจัดการ มีภาวะผู้นำพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น สิ่งที่สำคัญ คือ ทรัพยากรที่มีอยู่ในกระทรวง คือ ผู้ร่วมงาน ผมจะให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กรเป็นลำดับแรก โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นและช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่บุคลากรอยู่ตลอด รวมทั้งมีการส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถ รักองค์กร เชื่อมั่นว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และยังต้องใช้คนให้เหมาะกับความสามารถและความถนัด จึงจะทำให้องค์กรเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้
 
ไฮคลาส : ปรัชญาที่นำพาชีวิตมาสู่ความสำเร็จ
ผมเชื่อในเรื่องกรรมดี กรรมชั่ว ดังนั้น จึงใช้ชีวิตที่ยึดมั่นอยู่ในการทำความดี รู้จักการให้ สร้างความสุขจากการให้ ผมคิดว่าการให้มีความสุขกว่าการที่จะรับ นอกจากนี้ การทำงานต้องทำด้วยใจ ต้องตั้งใจ ขยัน อดทน เรื่องงานต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัวเสมอ สิ่งที่ทำให้เราเป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชาและคนรอบข้างก็คือ ต้องยุติธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ยึดมั่นในกฎกติกาการทำงาน สามารถเป็นที่พึ่งให้กับทุกคนได้
ผมดำรงชีวิตทุกวันนี้ ไม่ได้มีชีวิตเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่มีชีวิตเพื่อคนอื่นๆ และไม่ได้คิดว่าจะมีชีวิตในภพนี้ภพเดียว แต่ต้องคิดถึงชีวิตในภพหน้าด้วย

ไฮคลาส : จุดยืนต่อการทำงานในบทบาท-ตำแหน่งอันท้าทายนี้
ต้องเป็นผู้นำในเรื่องความถูกต้อง สุจริต ยุติธรรม ความโปร่งใส และยึดมั่นในประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

ไฮคลาส : จัดสรรเวลาในการทำงาน ดูแลตนเองอย่างไรจากภารกิจ/หน้าที่ประจำ
จัดลำดับความสำคัญของงาน ต้องดำเนินงานให้แล้วเสร็จในแต่ละวัน จะไม่นำงานกลับไปทำที่บ้านเด็ดขาด ผมมีระเบียบวินัยเรื่องการดูแลสุขภาพ ดังนั้นจะจัดเวลาออกกำลังสม่ำเสมอ และส่งเสริมให้ข้าราชการออกกำลังด้วย ที่กระทรวงได้ทำห้องออกกำลังที่มีอุปกรณ์ทันสมัยมาก อุปกรณ์ฟิตเนสของกระทรวงฯ ดีกว่าในโรงแรมดังๆ เสียอีก

ไฮคลาส : หลังเสร็จสิ้นภารกิจราชการแล้วกิจกรรมใดในยามว่างที่ไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไป
ส่วนใหญ่จะใช้เวลาอ่านหนังสือ ส่วนมากจะเป็นสารคดี นิยายอิงประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะฟังเพลง ดูภาพยนตร์จากดีวีดีบ้าง

ชีวิตราชการนั้น จะว่าง่ายก็คงไม่ใช่ แต่หากจะมองว่ายากก็คงไม่เชิง เพราะในสายตาของคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคมาสู่ตำแหน่งสูงสุดจนได้รับความไว้วางใจให้เป็นข้าราชการระดับผู้นำ ที่มีหน้าที่ประเทศชาติไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองนั้น ย่อมไม่มีสิ่งใดยากเกินความสามารถ และวีระ โรจน์พจน์รัตน์ ก็ได้พิสูจน์ความจริงข้อนี้ให้ประจักษ์แล้ว

Text : วสิน ทับวงษ์
Photo : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...