สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส

ใต้ปีกฝันของพญาอินทรี

พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว อมตะวาจาของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจได้เป็นอย่างดีสำหรับคนทุกเพศทุกวัยในการเริ่มต้นลงมือทำหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งหากช้าเพียงหนึ่งก้าวอาจจะพลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย และความฝันที่จะโบยบินไปสู่จุดหมายจะไม่มีทางเป็นจริง
สำหรับในกรณีของธุรกิจศิลปะบันเทิงอย่าง อาร์เอส จำกัด (มหาชน) องค์กรที่ยืนหยัดคู่สังคมไทยมายาวนาน (พอๆ กับนิตยสารไฮคลาส) จากธุรกิจตู้เพลงและอัดเพลงจากแผ่นเสียงลงเทปภายใต้ตราดอกกุหลาบ ก่อนจะจัดตั้งเป็นบริษัทอย่างเต็มตัวด้วยเงินลงทุน 5 หมื่นบาทในนาม “Rose Sound” ซึ่งถือได้ว่าเป็นปฐมบทของอาณาจักรอาร์เอสที่โตวันโตคืน สามารถยืนหยัดต่อกระแสลมซึ่งบ่อยครั้งที่ทวีความรุนแรงเป็นพายุโหม สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดสำหรับสถาบันบันเทิงย่านลาดพร้าวคือการที่คณะผู้นำตระหนักและรู้จักปรับปรุงอยู่เสมอโดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตจนกลายเป็นเครื่องบั่นทอนความก้าวหน้าของส่วนรวม

ภายใต้การบัญชาการจากศูนย์กลาง ณ หมู่ตึกเชษฐโชติศักดิ์ ในซอยลาดพร้าว 15 ด้วยร่มเงาจากวงปีกบวกสายตาเฉียบคมดั่งพญาอินทรี เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส บุรุษวัย 46 รอบโคจรของโลกที่มีต่อดวงอาทิตย์ ณ วันนี้ด้วยความภาคภูมิใจที่เร่งเปลี่ยนแปลงทุกด้านขององค์กรซึ่งเจ้าตัวใช้คำว่า “ถ่ายเลือด” จากการตัดสินใจเมื่อ 3 ปีก่อน จึงส่งผลให้บรรเทาความบาดเจ็บจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสผู้บริโภคอันเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี พิสูจน์แนวคิดที่ว่าเดิมทีผู้ผลิตเทปผีซีดีเถื่อนเป็นขโมย แต่อนาคตนั้นน่าเป็นห่วงว่าเทคโนโลยีจะทำให้ลูกค้านั้นกลายเป็นโจรเสียเอง
เช่นเดียวกับการเปรียบเปรยในเชิงการเมือง ธุรกิจนั้นไม่ได้ต่างจากกันมากนัก จากยุคที่อุปมาว่าผู้นำเป็นดั่งนายท้ายเรือนำพายานนาวาสู่ฝั่งฝัน สู่ยุคปัจจุบันเป็นโชเฟอร์ผู้ขับผ่านถนนสายอุปสรรคหวากหนาม กำลังก้าวสู่การเป็นกัปตันเครื่องบินเหินเวหาลัดฟ้าไปสู่เป้าหมายในเวลาอันรวดเร็วและปลอดภัย ด้วยสายตาจากมุมบนชนิดเบิร์ดอายวิว ผู้ชายอย่างสุรชัยย่อมไม่ธรรมดา ทั้งรูปแบบวิธีการอันหมายรวมถึงแนวคิด ความฝันที่ตกผลึกเป็นเป้าหมายที่เรียกว่าความสำเร็จจากการลงมือทำ

ไฮคลาส : เส้นทางที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันอายุ 46 ปี คุณพอใจกับก้าวย่างที่ตนเองกำหนดเพียงใด
จริงๆ เดินเลยจุดที่เราคาดหวังมาแล้ว ไม่ได้คาดว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้ ตอนแรกนั้นแค่คิดว่าได้มีงานทำ ครอบครัวดี มีรายได้ดี

ไฮคลาส : ตอนเด็กๆ ด.ช.สุรชัย ฝันอยากเป็นอะไร
ไม่มี ผมเป็นเด็กที่โตมาในครอบครัวที่ไม่ค่อยมีสตางค์แต่ก็ไม่ถึงกับว่าจนมาก ด้วยความที่เป็นลูกคนกลางก็จะเป็นเด็กที่ไม่ค่อยเรียกร้องอะไร หากถามว่าอยากได้อะไรไหม ก็ไม่มี คิดอย่างเดียวคืออยากรวย

ไฮคลาส : วิธีที่ทำให้คนที่เริ่มจากพื้นฐานทั่วไปมาถึงจุดที่เรียกว่า “รวย” ต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง
อันหนึ่งที่สำคัญคือเรามีความฝัน คนเราต้องมีความฝัน ของผมไม่ได้ฝันอยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่ แต่ความฝันของผมคืออยากมีชีวิตที่ดี เมื่อมีชีวิตที่ดีก็ต้องมีฐานะที่ดี พอมีฐานะดีแล้วค่อยฝันว่าอยากจะเป็นโน่นอยากจะเป็นนี่ได้  คนเราต้องมีฝัน แต่ความฝันของผมไม่ได้ชัดเจนขนาดที่ว่าจะเป็นหมออย่างนั้น ตอนนั้นฝันแค่อยากมีเงิน อยากรวย อยากมีธุรกิจของตัวเอง

ไฮคลาส : เริ่มฝันจริงๆ ตอนอายุเท่าไหร่
ผมเริ่มทำงานตอนอายุ 18-19 ปี จบมัธยมปลายก็ทำงานแล้ว พอเริ่มทำงานได้สัก 4-5 ปี จาก Rose Sound มาเป็น Rs sound ประมาณปี 2525-2526 ตอนนั้นฝันอยากให้เป็นค่ายเพลงที่ประสบความสำเร็จ

ไฮคลาส : ณ ตอนนั้นธุรกิจประเภทนี้มีอนาคตสดใสขนาดไหน
ธุรกิจเพลงตอนที่ผมเข้ามาทำใหม่ๆ มันยังเป็นของใหม่อยู่ ตอนนั้นยังไม่มีระบบ ไม่มีกติกา ยังไม่มีคำว่า “ค่ายเพลง” มีแต่พวกร้านแผ่นเสียงแถวสะพานเหล็กอัดเพลงลูกกรุงกัน แล้วเราก็เอาเพลงจากแผ่นเสียงมาอักใส่เทปอีกทีหนึ่ง
พอกฎหมายลิขสิทธิ์เกิดขึ้น (2522) สิ่งที่เราเคยทำอยู่ก็กลายเป็นของผิดกฎหมาย เราก็ต้องเลือก เราก็เปิด Rs sound มาทำเพลงเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นของค่ายเพลง มีศิลปินเอง หาศิลปินเอง ทำโปรโมชั่นเอง จุดนั้นก็เริ่มฝันแล้วว่าเมื่ออาร์เอสใหญ่ขึ้นก็จะมีศิลปินเยอะๆ มีลูกค้าเยอะๆ มียอดขายเยอะๆ คิดอย่างนี้ ฝันไปเป็นช่วงๆ เพราะตอนนั้นเราก็คิดเป็นแค่ค่ายเพลง พอทำถึงจุดจุดหนึ่ง เราก็ขยายจากทำเพลงอย่างเดียวมาโปรโมทด้วย ทำการตลาดด้วย และเริ่มคิดว่าจะต้องทำให้ครบวงจร
จากเดิมต้องการที่จะโตในแนวดิ่ง เมื่อถึงจุดหนึ่งเราอยากจะโตในแนวนอน มันก็แล้วแต่แต่ละช่วง พอถึงจุดหนึ่งเราเริ่มมีศิลปินในมือเยอะขึ้น เริ่มจัดคอนเสิร์ตก็อยากทำบริษัทคอนเสิร์ตด้วย ก็เริ่มคิดและทำได้มากขึ้น พอมีศิลปินดังจึงไปเล่นละครเล่นหนัง ทำให้เราอยากเปิดบริษัททำละครทำภาพยนตร์ เป้าหมายของบริษัทก็จะเป็นไปตามโอกาสของธุรกิจที่เราทำอยู่แล้วมันเห็นโอกาส พอเห็นโอกาสก็เริ่มตั้งเป้าว่าจะไปตรงนั้นได้

ไฮคลาส : ประสบการณ์กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมานำมาใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างไรบ้าง
ประสบการณ์มันสอนและให้ประโยชน์ในเรื่องของความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่ทำให้อาร์เอสอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ในขณะที่บางค่ายเขาอยู่กันไม่ได้ คือความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือองค์กรให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงรอบตัวเรา อันนี้สำคัญ ตรงนี้ทำให้อาร์เอสอยู่ได้ และผมเอามาจัดการกับองค์กรของอาร์เอสในช่วงเวลาที่ผ่านมา 20 กว่าปี

ไฮคลาส : มีคนพูดว่าคุณเป็นคนไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง แสวงหาอยู่เสมอ ไม่ยึดติดกับอดีตที่สวยหรู
อันนี้จำเป็น เพราะว่าคนส่วนใหญ่เวลาทำอะไรสำเร็จแล้ว ความสำเร็จมันหอมหวน เราก็จะภูมิใจแล้วก็ยึดติดกับมัน สุดท้ายพอเจออะไรที่แตกต่างจากที่เราเคยสัมผัสมันก็จะไม่ยอมรับ คนที่อยู่กับความสำเร็จมากๆ หรือนานๆ จะมีข้อเสียอยู่ข้อหนึ่งคือ มักจะติดหล่มตัวเอง ติดกับดักตัวเอง คือฉันเก่ง ฉันประสบความสำเร็จในตัวเอง ถามว่าเป็นธรรมชาติไหม มันก็เป็นธรรมชาติ ผมเองก็เป็น ถึงต้องกระตุกตัวเองเรื่อยๆ

ไฮคลาส : ตอนที่เริ่มธุรกิจคุณอายุประมาณ 20 ปี มันคิดได้เร็วขนาดนั้นเลยหรือ
ต้องยอมรับว่าตอนผมทำงานมาถึงอายุ 28-29 ปี เพื่อนผมยังสนุกสนานอยู่ มาหาที่ออฟฟิศมานั่งคุยกัน ชวนกันไปเที่ยว คือคิดคนละอย่างไม่ชอบ ตอนเด็กเพื่อนมาหาชวนไปเล่นสนุ้กผมก็ไป ไปถึงก็ไปนั่งที่โต๊ะเขา ก็เล่นกันไปเล่นกันจนถึงเช้า ถามว่าสนุกไหม สนุก แต่ผมเบื่อ เสียเวลาเดินรอบโต๊ะทั้งคืน เราก็ถามว่าเขาเดินทำไม เดินเพื่อที่จะให้ลูกเหล่านี้มันลงไปในรูเหรอ? ไม่ได้ไม่ชอบ แต่มีเรื่องอื่นที่ต้องทำและน่าทำมากกว่า
แต่บอกได้เลยว่าผมไม่ใช่เด็กดีนะ เป็นเด็กเกเร เรียนจบมัธยมก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะเรียนไม่ค่อยดี สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 17 ปี เที่ยว กินเหล้า ก็ครบหมด มาเลิกทุกอย่างตอนอายุ 24 ปี ที่จะแต่งงานตอนอายุ 25 ปี คือเป็นคนชอบวางแผน ตอนเด็กๆ เรียนจบมศ.5 ผมก็เดินเข้าไปบอกพ่อแม่ว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว

ไฮคลาส : แล้วพ่อแม่ว่าอย่างไร
เขาตามใจเพราะว่าเป็นเด็กที่เรียนไม่ดี มาช่วยพี่ชายทำงาน เขาก็ปล่อยให้ทำเพราะเขาก็เห็นเราตั้งใจทำงาน ไม่ค่อยเกเร พอเริ่มทำงานพี่ชายเขาก็ปล่อยเพราะเราเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ พอถึงช่วงคบแฟนก็ตั้งเป้าชีวิตเอาไว้แล้ว คบได้ 4-5 ปี พอ 25 ปีจะแต่งงาน ก็ตั้งเป้าล่วงหน้า 1 ปีว่าผมจะเลิกทุกอย่าง
เมื่อก่อนตอนวัยรุ่นทำเป็นกิจวัตรเลย ทำงานคนใกล้ตัวผมก็จะรู้ว่าผมทำงานหลังเที่ยงถึงสองทุ่ม ในยุคดิสโก้กำลังฮิต 4 ทุ่มก็จะออกไปหาแสงสี กลับมาอีกทีประมาณตีสี่แล้วนอน ก็จะเป็นกิจวัตรอย่างนี้ ตื่นอีกที 11 โมง กินข้าวเสร็จแล้วก็ไปทำงาน ยังไงก็ไม่เสียงาน แต่จะเที่ยวด้วย แล้วก็มาเลิกตอนจะแต่งงาน

ไฮคลาส : ความเปลี่ยนแปลงหลังจากลาขาดจากสิ่งเหล่านั้น
มันดีกว่า ดีแน่นอน แต่มันยากหน่อยเวลาจะเปลี่ยน สุดท้ายผมว่ามันไม่มีอะไร ปัญหามันอยู่ที่ตัวเรา

ไฮคลาส : แต่ก่อนนักเลงหรือเปล่า
ไม่เป็น ป.1–ป.7 เป็นเด็กหน้าห้อง เป็นเด็กเหนียมๆ เชยๆ มาเกเรจริงๆ ตอน มศ.2-มศ.4 พอเปลี่ยนโรงเรียนแล้วมันเลยเปลี่ยนสังคมด้วย เพื่อนมีส่วนมาก จากเด็กที่ไม่เอาอ่าวเลย ซื่อๆ ตัวเล็กๆ แต่พอไปอยู่ในสังคมอีกแบบก็เกเรสุดๆ เลย ตอนก่อนเขาชอบตีกันก็ไป แต่ผมไม่ได้ตีกับเขา วิ่งหนี เวลาไปโรงเรียนก็พกเหล็กฟุตอันหนึ่ง (ไม้บรรทัดเหล็ก) วงเวียนในกระเป๋า มีเข็มขัดหัวเหล็กที่เป็นผ้าร่ม การเรียนช่วง ป.1-ป.7 จะอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ ตอนอยู่มัธยมไม่เคยทำคะแนนได้เกิน 54 เปอร์เซ็นต์

ไฮคลาส : ส่วนใหญ่คนในครอบครัวที่รู้เรื่องราวของคุณคือใคร
ก็จะรู้คนละส่วน ไม่มีใครรู้ทั้งหมด ช่วงมัธยมปลายคุณพ่อคุณแม่ไม่เคยได้เซ็นสมุดพก เพราะเซ็นเอง

ไฮคลาส : รู้สึกอย่างไร
ไม่ได้คิดอะไรเลย ผมไม่มีความทรงจำวัยเด็ก มองกลับไปก็เฉยๆ ผมแค่เกเรแต่ไม่ได้สุดขั้ว แต่ก็ไม่ใช่เด็กเรียนดี มีชีวิตที่ดี มันก็กลางๆ มองกลับไปก็เฉยๆ

ไฮคลาส : เป็นเพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง
แล้วอีกอย่างหนึ่งคือผมชอบไปสุดๆ กับเพื่อน แต่พอสุดๆ จริงๆ ผมก็ไม่ไป สูบบุหรี่ก็สูบ แต่พอเขาชวนไปเล่นกัญชาก็ไม่เอา เที่ยวกันสนุกๆ กินเหล้านิดหน่อย พอถึงจุดจุดหนึ่งตอนนั้นวันเสาร์เขานัดกันไปพัทยาทั้งกลุ่ม เอาเหล้าเอากัญชาไป เราก็ไม่ไปแล้ว คือมันเหมือนทำแล้วก็จะกลัว อีกอย่างทำอะไรก็กลัวที่บ้านจะรู้ด้วย เพราะฉะนั้นจะยังไง 5 ทุ่มก็ต้องกลับบ้าน เพราะไม่ถึงขนาดต้องหนีออกจากบ้านหรือไม่กลับบ้านเลย

ไฮคลาส : ในฐานะที่ทำธุรกิจเพลง ตัวคุณเองเป็นคนชอบเพลงด้วยหรือเปล่า
ชอบ ก็ฟังเพลงยุค 60 จริงๆ ชอบเพลงร็อค อันนี้เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ก่อนที่จะมาทำงานผมช่วยพี่ชายอยู่ พี่ชาย (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์) เป็นคนเริ่มธุรกิจนี้ แล้วเป็นคนทำเรื่องเพลง ก็เลยทำให้เราชอบเพลงไปโดยปริยาย
และผมโตมาแถวโคลีเซียม คือหนังที่เข้าฉายโคลีเซียมทุกเรื่องผมดูไม่เคยขาดแม้แต่เรื่องเดียว บางเรื่องดูเป็นสิบรอบเพราะว่ามุดดู โตมากับหนัง โตมากับเพลง เข้ามาทำก็ยิ่งชอบ เหมือนได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ชอบดูหนัง ฟังเพลง เพลงก็ฟังเพลงไทย เพลงลูกทุ่ง ฟังหมด แต่พอฟังแล้วก็ชอบเพลงสากล

ไฮคลาส : แล้วเพลงร็อคในยุคนั้นชอบวงอะไร
ชอบหมด ยุค 60-70 ชอบหมด แต่ฟังหลายอย่าง เช่น สกอร์เปี้ยน, เรนโบว์, ดิอีเกิ้ล ก็ชอบ ชอบเยอะ

ไฮคลาส : ความอยากเป็นศิลปินเองมีแฝงอยู่ในใจบ้างไหม
ไม่รู้ ไม่ชอบ ถึงวันนี้ยังไม่เคยจับไมค์ร้องคาราโอเกะเลย ดูหนังก็ปีหนึ่งเข้าโรงหนังไม่เกิน 5 ครั้ง ถ้าไม่ใช่ดูหนังตัวเอง คือดูหนังที่เราชอบจริงๆ ปีหนึ่งไม่เกิน 5 ครั้ง เพราะเฮียดูหนังไม่ค่อยเหมือนคนอื่น

ไฮคลาส : เป็นภาพยนตร์ประเภทไหน
ผมชอบดูหนังพวกสืบสวนสอบสวนแต่ไม่ใช่แนวไซไฟ หนังที่น่าติดตามดูแล้วทำให้คิด แล้วหนังพวกนี้เข้าเมืองไทยอย่างมากก็แค่อาทิตย์เดียว หนังไทยก็ดูเป็นงาน ดูว่าคนดูเขาดูหนังเราแล้วเขาหัวเราะไหม เป็นการเช็ครสนิยมคนดู บางทีช็อตที่เราหัวเราะแต่ทำไมคนดูไม่หัวเราะ บางทีช็อตธรรมดาแต่คนดูหัวเราะ เราก็สงสัย

ไฮคลาส : ความชอบและมุมมองด้านนี้เอามาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
ได้ประโยชน์เยอะ ช่วงที่ผมทำเพลงใหม่ๆ ตอน 23-24 ปี ทำเพลงเอง เวลาผมดู คีรีบูน เพลงนี้เพราะมาก ผมเชียร์เพลงนี้ มันไม่มีการรีเสิร์ช คือสมัยก่อนยังไม่มีระบบ ภาษาเราเรียกว่า “มวยวัด” ผมโชคดีที่อายุน้อย แล้วเราก็ทำเพลงให้คนในวัยเดียวกันฟัง เหมือนกับว่าเราฟังแล้วเราชอบ เด็กกลุ่มเดียวกับเราฟังก็น่าจะชอบ ฟังเพลงของแจ้ (ดนุพล แก้วกาญจน์) เราชอบเพลงนี้ แล้วมันก็ฮิตจริงๆ บรั่นดี ฟรุ๊ตตี้ ก็เหมือนเราเป็นผู้บริโภค
เหมือนเราทำหนังเรื่องโลกทั้งใบให้นายคนเดียว ถ้าจำได้มันจะฉีกหนังรุ่นนั้นออกไป หนังไทยรุ่นนั้นกระโปรงบานขาสั้น มันเหมือนหนังกึ่งละคร สมัยก่อนจะเป็นหนังกึ่งละคร ไฟว์สตาร์ เอเทน จะเป็นหนังแนวนี้ หนุ่ม-สันติสุข, แซม-ยุรนันท์ จะเป็นหนังกึ่งละคร เอาบทประพันธ์มาทำกัน พอเรามาทำต้องมีทีมงาน เราก็เอาคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหนัง เอาครีเอทีฟมิวสิคมาทำก็จะได้หนังอีกแบบหนึ่ง หนังที่วัยรุ่นดูก็ฉีกวงการได้

ไฮคลาส : คุณมีวิธีดูคนอย่างไรว่าคนนี้จะรุ่งคนนี้จะดับ
ช่วงแรกๆ เป็นการใช้ความรู้สึก แต่ช่วงหลังๆ ใช้ประสบการณ์

ไฮคลาส : แหล่งที่ประสบพบเจอบุคคลเหล่านั้น
มีทั้งเดินหาเอาเอง มีทั้งมีแมวมองเข้าไปทาบทาม ยุคแรกๆ ไม่มีก็ต้องหาเอง หลังๆ มีเด็กอยากเป็นนักร้องก็เดินเข้ามาหาเอง ตกเย็นว่างๆ ตอนทุ่มหนึ่งผมชอบเดินดูตามห้องซ้อมดนตรี เด็กสมัยก่อนจับกลุ่มกัน ไม่ไปไหนนอกจากไปห้องซ้อมดนตรี บางทีเขาก็เดินมาชนเราเองจะเป็นลักษณะนี้
หลายๆ วงเล่นในผับ ประกอบกับการที่เราชอบเที่ยวผับ เราเห็นวงนี้เล่นเราก็ไปดู คีรีบูน ซิกเซ้นท์ อันนี้เล่นในห้องซ้อม ก็จะมาต่างกัน มีบางกลุ่มที่เดินเข้ามาหาเอง

ไฮคลาส : อาร์เอสก็เป็นเหมือนกับโรงเรียน มีวิธีปกครองลูกน้องอย่างไร คุณเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือว่าอาจารย์ฝ่ายปกครอง
ช่วงต้นๆ องค์กรเล็ก ผมก็ลงไปคุยเอง โดยเฉพาะศิลปินจะดูแลเอง ศิลปินเขาจะรักผมเหมือนพ่อ กลัวผมเหมือนพ่อ กลัวด้วยรักด้วย ตอนนั้นจะปกครองแบบคนในครอบครัว เพราะไม่ใช่เรื่องงานอย่างเดียว เรื่องความประพฤติด้วย จะมีแฟนเราก็ถามจะคบจริงหรือเปล่า เราก็จะแนะนำทุกเรื่อง มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
พอถึงวันนี้มันก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง โลกก็เปลี่ยนไปด้วย เด็กวัยรุ่นก็เปลี่ยนไปด้วย เดี๋ยวนี้ศิลปินจะมีแฟนก็ปล่อยเลย ก็เป็นเรื่องธรรมดา โลกเปลี่ยนไปแล้ว สังคมยอมรับแล้ว การปกครองเฮียก็ถอยออกมา ไม่ได้เข้าไปคุมเองแล้ว

ไฮคลาส : ที่ผ่านมาเราต้องทำงานกับคนหมู่มาก ต้องใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ แล้วคุณใช้พระเดชบ่อยมากแค่ไหน
ก็แล้วแต่สถานการณ์ มันบอกตายตัวไม่ได้

ไฮคลาส : ในยุคนั้นมีเสียงบ่นจากผู้ปกครองว่าเต้นกินรำกินเป็นอาชีพที่ไม่ยั่งยืน ในฐานะผู้ที่ทำธุรกิจด้านนี้เราต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างไร
ในมุมของคนทำธุรกิจผมว่าไม่เกี่ยว แต่ในมุมของคนที่เป็นศิลปินเองน่ะมีผล ช่วงแรกๆ ก็คิดว่าเป็นดาราเป็นนักร้องมันจะยั่งยืนเหรอ ช่วงแรกๆ ที่เฮียทำช่วง 10 ปีแรก คนมาทำเพลงต้องชอบจริงๆ พ่อแม่ต้องเข้าใจจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว นี่คือมุมมองของการเป็นดารานักแสดง ไม่ใช่มุมมองของนักธุรกิจ เพราะถ้ามุมมองของนักธุรกิจถือว่าเป็นธุรกิจที่ดีในยุคนั้น กำไรดี
มันก็เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่ามีภาพไม่ค่อยมั่นคง ก็อย่างที่เฮียบอกมันมี 2 มุม มุมของเราเราทำธุรกิจ แล้วนี่เป็นธุรกิจที่ดี กำไรดี น่าสนใจ เป็นธุรกิจที่เมืองไทยยังไม่มีการปักหลักที่ชัดเจน มันก็น่าสนใจ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอยู่ในวงการมันก็ต้องต่อสู้กับเรื่องนี้ สุดท้ายมาเจอกันที่ว่า อาชีพนี้มันเป็นอาชีพได้ สร้างรายได้ได้ สร้างชื่อเสียงได้ มันสร้างความมั่นคงให้กับเขาได้ คนก็จะยอมรับว่านี่มันคืออาชีพ 1 อาชีพ แล้วสุดท้ายมันก็พิสูจน์แล้ว เวลาที่เราทำรีเสิร์ชปรากฏว่ามันเป็นอาชีพที่เด็กอยากเข้ามามากที่สุด อาชีพที่เด็กใฝ่ฝันอยากเข้ามาคือวงการบันเทิงแล้วพ่อแม่สนับสนุน

ไฮคลาส : สัดส่วนกำไรของอดีตกับปัจจุบัน
คงเทียบไม่ได้ เพราะว่า ณ วันนี้อาร์เอสไม่ได้ทำธุรกิจเพลง 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เรามาเทียบกันไม่ได้ ในตอนนั้นเราทำธุรกิจเพลง 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วค่อยๆ ขยายไปทำอย่างอื่น แต่ว่าสุดท้ายเพลงก็ยังเป็นส่วนใหญ่ของบริษัท 80-90% แต่นับวันนี้มันไม่ใช่ เพราะวันนี้เรามีธุรกิจในกลุ่ม 9 ธุรกิจ เพลงยังเป็นธุรกิจที่สำคัญของอาร์เอส แต่ว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจากเปอร์เซ็นต์มันแค่ 20% เท่านั้น

ไฮคลาส : มองตัวเองกับคู่แข่งที่เติบโตมาด้วยกัน?
ในอดีตธุรกิจเพลงแข่งกันหนัก แล้วก็มีหลายค่ายแข่งกัน ผลของคู่แข่งส่งผลถึงเรา เราส่งผลถึงคู่แข่ง เราเรียกว่าการแข่งขันแบบประจันหน้า พูดง่ายๆ ความสำเร็จของเราส่งผลกระทบถึงคู่แข่ง ความสำเร็จของคู่แข่งส่งผลกระทบถึงเรา เพราะว่าทุกคนแย่งเค้กก้อนเดียวกัน แต่ผมว่า 10 ปีหลังการแข่งขันมันเปลี่ยนแปลงไป จนถึงวันนี้การแข่งขันมันเปลี่ยนโฉมไปโดยสิ้นเชิง
ทุกวันนี้ธุรกิจอย่างเราแข่งกับเทคโนโลยี แข่งกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ผลสำเร็จของเราไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคู่แข่ง ผลล้มเหลวของเราไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคู่แข่ง คู่แข่งประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวไม่ได้ส่งผลกระทบถึงเรา เราจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จอยู่ที่เราต่อสู้กับเทคโนโลยีหรือจับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้หรือเปล่า ถ้าเราจับไม่ได้ พฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีจะทำลายเรา ถ้าเราจับได้เราก็จะได้ประโยชน์

ไฮคลาส : เพราะฉะนั้นเราสร้างกระแสก่อนที่เราจะต้องเป็นฝ่ายตามพฤติกรรมหรือเปล่า
คืออย่างนี้ เรื่องวิสัยทัศน์ต้องไปให้ทัน ต้องมองให้ออกว่าเทรนด์จะไปยังไง แต่เวลาทำจริงต้องไปก่อนไหม ไม่จำเป็น เรื่องบางเรื่องไปเร็วเกินไปก็ไม่ดี เรื่องบางเรื่องไปประมาณนี้ ตามนิดหนึ่งอาจจะดีกว่า

ไฮคลาส : ช่วงที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จำเป็นจะต้องเปลี่ยน
จำเป็นต้องเปลี่ยน วันนี้ก็พิสูจน์แล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนวันนี้อาร์เอสจะลำบากมาก อาจจะถึงอยู่ไม่ได้ ทุกวันนี้คนที่ทำธุรกิจเพลงแบบเดิมๆ คือยังพึ่งพาอาศัยแบบผลิตเยอะๆ วันนี้กำลังตาย ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย เป็นทั่วโลก คือธุรกิจเพลงมันอยู่ได้ คอนเทนต์เพลงยังเป็นเพลงที่ผู้บริโภคอยากฟัง แต่วิธีการบริโภคมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

ไฮคลาส : ในยุคหนึ่งอาร์เอสมีเปลี่ยนปกเพิ่มเพลงพิเศษ ตอนนี้ยุทธวิธีนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร
ความคิดมันเปลี่ยนไปหมดเลย ตอนนั้นเราคิดอย่างนั้นเพราะเราขายเป็นซีดี ทุกอย่างคิดบนแพทเทิร์นแบบนั้น เพราะฉะนั้นเราจะขายซีดี ในหลักการตลาดอัลบั้มนี้ปั้มซีดีไปแล้วจะสามารถนำมาปั๊มอีกทีหนึ่งได้ เราก็หาเหตุ หาผล หาประเด็นขึ้นมาทำ วันนี้มันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราเปลี่ยนไปหลายอย่าง เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง

ไฮคลาส : พอถึงยุคที่คนไม่ซื้อเพลงฟัง คุณมีวิธีอย่างไร
จริงๆ มันส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปี 2545 เริ่มมีคนพูดถึง mp3 เข้ามา แต่เราก็ยังเฉยๆ เพราะยอดซีดีก็ยังสูงอยู่ mp3 ยังเป็นแค่ของใหม่ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะได้รับความนิยมหรือเปล่า มีคนมาบอกว่า mp3 แผ่นหนึ่งจุได้เป็นร้อยๆ เพลงเลย เราก็เฉย วิธีบริโภคก็ยังลำบากอยู่ คนยังเลือกที่จะฟังซีดีกับเทปอยู่ ยอดขายก็ยังดีอยู่
ผมเป็นคนที่ชอบเที่ยวต่างประเทศ ปีหนึ่งต้องไปไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง พาลูกไปทุกที ช่วงปี 2544-2545 ไปญี่ปุ่นบ่อยมาก ก็จะพาลูกชายไปซื้อเครื่องไฟฟ้า ก็มีอยู่ปีหนึ่งไปซื้อเครื่องเล่นซีดีหาไม่ได้ มันกลายเป็นสินค้าที่วางไว้ข้างล่างแล้ว กลายเป็นลดราคา แล้วมันมีสินค้าประเภทคล้ายๆ กล่องไม้ขีด (เครื่องเล่น mp3) ราคา 2,000 บาท ลูกชายก็ตกใจ ดีใจ ตื่นเต้นมาก จุเพลงได้เป็นพันเลย แล้วเบามาก ก็เลยซื้อกันคนละเครื่อง อยู่บนเครื่องบินก็คิดแล้วว่ามันมาแน่
มุมมองผมตอนนั้นคิดว่าอย่างไรก็ตามมันมาแน่ ตัดเรื่องที่เราเป็นเจ้าของอาร์เอสก่อน ถ้าเราเป็นผู้บริโภค คุณจะซื้อไหม ไม่มีเหตุผลที่คุณจะไม่ซื้อ เมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคซื้อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดแน่นอน พอกลับมาก็ต้องรีบเตรียมตัว

ไฮคลาส : เครียดไหมในอารมณ์นั้น
จริงๆ เวลากังวลมันก็กังวล แต่เรามาเปลี่ยนแปลงองค์กร องค์กรมันใหญ่ เปลี่ยนช่วง 3 ปี คือปี 2547-2549 เป็น 3 ปีที่เหนื่อยที่สุดในชีวิตทำงาน เหนื่อยมาก เวลาให้สัมภาษณ์ถามว่าเปลี่ยนอะไร ก็พูดเป็นเรื่องๆ ไป ทำจริงๆ เปลี่ยนเยอะจริงๆ ที่เปลี่ยนเยอะเพราะเปลี่ยนคนในองค์กรด้วย มีเรื่องป่วนเยอะ เพราะเกี่ยวข้องกับคน พนักงานอาร์เอสมีการถ่ายเลือดออกไป 400 กว่าคน แล้วก็มีเข้ามา 300-400 คน คือต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ต้องเปลี่ยนวิธีคิด
ผมกลับมาขายโรงงานทิ้ง ในขณะที่คนนอกมองว่า อาร์เอสจะเจ๊งแล้วเหรอ อยู่ๆ มาขายโรงงานทิ้ง การขายโรงงานทิ้งไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำ แต่เราจ้างเขาผลิต ผมมองแล้วว่าไม่มีเหตุผลที่เราจะเก็บโรงงานไว้ ปรับอัลบั้มเพลง 10 เพลงเหลือ 5 เพลงพอ คือเรากำลังมองว่าทุกอย่างผู้บริโภคเป็นคนกำหนด ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อเพลงเป็นแผ่นอีกต่อไป เพราะผู้บริโภคซื้อเพลงเป็นเพลง ก็ไม่มีเหตุผลว่าจะทำ 10 เพลงอีกต่อไป
เดี๋ยวนี้มันก็ชัดมากเลย เวลาดาวน์โหลดเราดาวน์โหลดเป็นเพลง คือเราคิดก่อนว่าจะต้องเป็นแบบนี้แน่ๆ แล้วก็มาปรับองค์กรเรา มันคล้ายๆ กับเรื่องของกล้องดิจิตอล ในฐานะผู้บริโภคผมตื่นเต้นมาก มันทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ ถ่ายได้เป็นร้อยรูปเลย ไม่ชอบก็ลบทิ้งแล้วถ่ายใหม่ สะดวกนะ เสร็จปุ๊ปถอดซิมไปล้าง แล้วก็นำกลับมาถ่ายได้อีก หรือจะเก็บไว้ถ่ายคราวหน้าก็ได้ ถ้าผมเป็นบริษัทฟิล์มผมต้องบอกตัวเองแล้วว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เพราะมันโลกเปลี่ยนแน่
ในอดีตมีคนเคยพูดว่า “คนที่ใหญ่และแข็งแรงที่สุดคือคนที่จะอยู่ได้” แต่วันนี้ไม่ใช่ “คนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงคือคนที่จะอยู่ได้ในโลก” ใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญ ถ้าใหญ่แล้วไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงก็อยู่ไม่ได้ คือทฤษฎีมันถูกล้างทิ้งเลย เราทำธุรกิจมาผมมีความเชื่ออย่างนั้นตลอด เพราะฉะนั้นอาร์เอสก็ไปทางนั้น ขนาดคือเรื่องที่สำคัญที่สุด ต้องแข็งแรง ต้องใหญ่ ต้องมีธุรกิจหลากหลาย มีเครือข่าย พอถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างมันเปลี่ยน โลกมันเปลี่ยน ความใหญ่จึงเป็นเรื่องลำดับหลังๆ

ไฮคลาส : รายละเอียดที่ได้ทำในช่วง 3 ปีหลัง
อย่างแรกคือจัดการกับคน นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดสำคัญที่สุด คือเปลี่ยนองค์กร ธุรกิจอาร์เอสสำคัญที่สุดคือคน เพราะเราสร้างงานจากสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย เพราะว่าคนของอาร์เอสที่มีอยู่กว่า 1 พันคนส่วนใหญ่มาจากการเป็นผู้ผลิต เรียกว่า production base 90% ในองค์กรเรามาจากมือ production สิ่งที่ผมบอกว่าจะต้องเปลี่ยนจาก production base เป็น marketing base นั่นคือจะรองรับโลกดิจิตอล สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือคนในอาร์เอสต้องหายไปมากกว่าครึ่ง แล้วก็รับการตลาด รับครีเอทีฟพวกกลยุทธ์เข้ามา แล้วก็ผสมผสาน
สิ่งนี้ถ้าทำสำเร็จมันจะตอบ 2 เรื่อง 1. องค์กรของเราก็จะมีคนที่สอดรับกับการทำธุรกิจในโลกสมัยใหม่ ซึ่งต้องการความคิดสร้างสรรค์ มากกว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านวิธีคิดมากกว่าเรื่องครีเอทีฟ ผลิตเก่ง ทำเก่ง ประดิษฐ์เก่ง ถ้าทำสำเร็จองค์กรเราจะมีคนแบบนี้เข้ามาเยอะ จะเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรแบบใช้เวลา shortcut เพราะการจะเปลี่ยนองค์กรเราจะเปลี่ยนไม่ได้ถ้าคนที่เราเอาเข้ามาใหม่ถูกคนส่วนใหญ่กลืนกิน
จากเดิมวัฒนธรรมองค์กรเมื่อก่อนอะไรๆ ก็ เฮียฮ้อ…ทุกอย่างคือเฮียหมด ถ้าเราจะเปลี่ยนก็ต้องเอาคนใหม่เข้ามาจะได้ค่อยๆ จาง เรื่องที่ต้องทำอีกอย่างคือเรื่องบริหารจัดการ ผมก็ต้องนั่งแล้วก็หาผู้บริหารแถวสองมานั่งแบ่งบทบาทไป เพื่อจะให้ลด ไม่ใช่ทุกอย่างมาพึ่งพาเฮียมากเกินไป มันก็จะตอบสิ่งที่ผมต้องการคือเปลี่ยนพฤติกรรมองค์กรด้วย
แล้วข้อที่ 2. ก็คือ Business Model อันนี้คือจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะว่าองค์กรอาร์เอสของเราพึ่งรายได้จากเพลง 80% เราเริ่มเห็นแล้วว่าถ้ามันเปลี่ยนแปลงไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ธุรกิจเพลงอาร์เอสจะอยู่อย่างไร ก็เริ่มเปลี่ยน คือ ลดการพึ่งพา ธุรกิจเพลงยังมีความสำคัญ ไม่ได้ลดความสำคัญ ลดการพึ่งพาจากการขายแผ่นซีดี เทปคลาสเซ็ทให้น้อยลง
อาร์เอสเป็นคนแรกที่เลิกผลิตเทปคลาสเซ็ท ตอนนี้บางบริษัทยังทำอยู่เลย แต่เราเป็นคนแรกที่ประกาศทำอัลบั้มที่เราเรียกว่าอีพีขาย 4-5 เพลง แรกๆ ทำคนก็หัวเราะ แฟนเพลงบางกลุ่มก็ว่าเราหน้าเลือด! มันไม่ใช่หน้าเลือด เราลดราคาลง มันดีทุกฝ่าย แทนที่คุณจะใช้เงิน 180-190 บาท ซื้อแผ่นหนึ่งมี 10 เพลงทั้งๆ ที่คุณอยากได้แค่ 2 เพลง ผมเองก็ต้องมีต้นทุนเยอะ ทำมิวสิควิดีโอเยอะ ขายก็ขายแค่ 2 เพลง แต่มี 8-9 เพลงใส่ให้มันเต็ม วันนี้เราลดต้นทุน เราทำราคาขายต่ำลงก็จ่ายเงินน้อยลง ได้เพลงที่คุณต้องการจริงๆ สุดท้ายโมเดลนี้ก็ได้การยอมรับจริง ตอนนี้ข้างนอกก็ทำตามกัน เมืองนอกก็เป็นอย่างนี้ แล้ววันนี้ยิ่งชัดใหญ่เลย พอดิจิตอลมันมา 4-5 เพลงไม่สำคัญ เดี๋ยวนี้ออกทีละเพลง ศิลปินอาร์เอสต่อไปนี้ออกทีละเพลง ออกมายังไม่ต้องขายแผ่นก็ได้ ออกมาคุณชอบไปดาวน์โหลด ผมขายเป็นเพลง ผู้บริโภคก็ซื้อเป็นเพลง

ไฮคลาส : โมเดลที่ว่าคือเป็น Entertainment network แล้ว ณ เวลานี้อาร์เอสขายอะไร
ธุรกิจอาร์เอสมันเยอะ คำนิยามของอาร์เอสตอนนี้เราเรียกว่า The Entertainment Network เครือข่ายความบันเทิง แบ่งเป็น 2 ข้างใหญ่ๆ ข้างหนึ่งคือเรื่องของมีเดีย คือเราเป็นผู้ให้บริการบริหารสื่อ อันนี้เรียกว่าเป็นสะพาน ธุรกิจฟากนี้เป็นสะพานเป็นถนน ตัวเชื่อมระหว่างเรากับผู้บริโภค สื่อมีกี่ประเภทเราพยายามทำให้ครบทุกอัน นี่คือถนน
อีกข้างหนึ่งเราทำคอนเทนต์เป็นรถ เรามีสื่ออะไรบ้างที่ไปถึงผู้บริโภค เรามีทีวี วิทยุ  สิ่งพิมพ์ ออนไลน์บิสซิเนส อินสโทรมีเดียในห้าง เรามีอยู่ 5 สื่อ เราคิดว่าครอบคลุมแล้ว เด็กวัยรุ่นเจอเราที่สื่อทีวี วิทยุ แม่บ้าน พ่อบ้านเจอเราที่ทีวี หนังสือพิมพ์  เจอที่โมเดิร์นเทรด เราคิดว่าสื่อที่เรามีทั้ง 5 สื่อนี้เชี่ยมโยงถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม อันนี้คือธุรกิจของเรา
อีกข้างหนึ่งคือ คอนเทนต์เปรียบเทียบนี่คือถนน  อีกฟากคือรถ เรามีรถทุกประเภท เปรียบเทียบคือเรามีทั้งเพลงวัยรุ่น เพลงผู้ใหญ่ หลากหลายเซกเมนต์ ลูกทุ่งเราก็มี ถ้าไม่ใช่เพลง เราก็มีหนัง เรามีรายการทีวี เรามีละคร สุดท้ายวันนี้เรามีกีฬา
และถ้าจะเปรียบเทียบว่าอาร์เอสขายอะไร ก็ต้องตอบว่าอาร์เอสขายคอนเทนต์ เป็นคอนเทนต์ที่หลากหลาย เพียงแต่ว่าไม่ใช่แค่ขาย อาร์เอสมีสะพาน มีสื่อที่เอาคอนเทนต์ของเราไปสู่ผู้บริโภคด้วย ทั้งไปเองแล้วก็เชื่ยมโยงกับพาร์ทเนอร์ของเราที่เป็นเน็ทเวิร์คไปด้วยกัน ถ้าถามว่าอาร์เอสขายอะไรก็ต้องตอบว่าเราเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์โดยที่เรามีสื่อที่ไปถึงผู้บริโภคด้วยในตัว

ไฮคลาส : เป็นทั้งเครื่องมือและผลิตภัณฑ์ในตัวเดียวกัน
ใช่ มีเดียมันมองได้หลายมิติ 1. เป็นเครื่องมือในการพาคอนเทนต์ไปถึงผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็คือผลิตภัณฑ์ที่เราจะไปทำประโยชน์กับมันโดยตรง เป็นหลายมิติคอนเทนต์ก็เหมือนกัน เป็นเหมือนสินค้าที่เราวิ่งผ่านสื่อไปหาลูกค้า ลูกค้าเรามี 2 กลุ่ม ลูกค้าปลายทางคือผู้บริโภค ลูกค้าอีกกลุ่มเรียกว่าเป็นพาร์ทเนอร์ ลูกค้าเหล่านี้ไม่ได้ซื้อคอนเทนต์เรา แต่ทำงานกับคอนเทนต์เราเพื่อการตลาด เพราะฉะนั้นลูกค้าตรงนี้ก็จะหลากหลาย จะไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่เดินซื้อแผ่นไปฟัง

ไฮคลาส : ขออนุญาตถามว่าเมื่อเรียนแค่นี้ ทำไมจึงเก่งได้ขนาดนี้
ผมมีความเชื่อแล้วก็สอนลูกแบบนี้ บอกก่อนว่าเรื่องเรียนสำคัญ มีภูมิคือมีต้นทุน เราเรียนอะไรมาเรามีแต้มต่อ ผมบอกว่าความรู้ไม่ได้หาจากที่โรงเรียนได้ที่เดียว แล้วก็จะสอนเด็กศิลปินสอนลูกชาย ถ้าเอาใกล้ตัวสุด ลูกชายผม 2 คน ตั้งแต่เด็กจนโตลูกผมไม่เคยให้เรียนพิเศษแม้แต่ 1 นาที

ไฮคลาส : แล้วลูกมาขอเรียนพิเศษแบบที่เพื่อนๆ เขาเรียนกันไหม
เด็กจะมาขอเรียนได้ยังไง มีแต่พ่อแม่บังคับให้เรียน แต่เขาโชคดีเพราะผมไม่บังคับ ในขณะเดียวกันผมสงสารเด็กที่เรียนพิเศษด้วย ลูกผมเรียนสาธิตเกษตร เรียนอยู่ 3-4 ปี โรงเรียนดีมาก ผมไม่ได้โทษโรงเรียน แต่ผมโทษระบบการศึกษาของประเทศ ผมเห็นลูกแบกกระเป๋าไปโรงเรียน หนังสือเยอะมาก เรียนมันทุกวิชา แล้วยังไม่พอ เพื่อนเขาต้องเรียนพิเศษอีกเสาร์-อาทิตย์ แทนที่เด็กจะได้เล่นกีฬาหรืออยู่กับพ่อแม่ก็ต้องไปเรียนพิเศษอีก
กิจกรรมพิเศษตอนนั้นผมจำได้ว่าลูกชายคนเล็กเอาถั่วงอกมาปลูกที่บ้าน สุดท้ายเด็กก็ไม่ได้ทำหรอก แจ๋วที่บ้านเป็นคนทำแล้วให้นักเรียนไปส่ง มันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ ใครๆ ก็รู้ ครูก็รู้ สั่งเป็นการบ้านเด็กไม่ได้ทำหรอก คนรับใช้ทำหรือคุณพ่อคุณแม่ทำให้ แต่เด็กเป็นคนเอาไปส่ง เราเห็นว่ามันยังเป็นแบบนี้เหรอ ทำไมนะ…ผมก็คิดว่าลูกผมคงไม่ส่งให้เรียนจบออกมาแล้วปลูกถั่วงอกขายมั้ง จะให้ความรู้อย่างไร รู้สึกว่าระบบการศึกษาเมืองไทยมีปัญหา
ผมไม่เคยให้ลูกเรียนพิเศษ ไม่เคยบอกลูกว่าต้องเรียนให้ได้เกรดดีๆ ถึงวันนี้เขาอายุ 19 กับ 16 แล้ว ก็ไม่เคยให้เรียนพิเศษ ผมตัดสินใจส่งลูกไปเรียนออสเตรเลีย คนโตอายุ 13 อีกคนอายุ 9 ขวบ ส่งไปเลย ไปเมืองนอกเขาเรียนกันวันละ 3 ชั่วโมง ที่เหลือให้เล่นกีฬา เด็กมีคุณภาพกว่า ผมกำลังจะบอกว่าความรู้ไม่ได้หาได้จากโรงเรียน เด็กเรียนเก่งไม่ได้บอกว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต

ไฮคลาส : ในฐานะที่คุณอยู่ตรงนี้และรับผิดชอบโดยตรง มาถึงในยุคนี้ สื่อรวมถึงเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทั้งหลายที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็กมีผลในการสร้างสังคมเพียงใด
ผมมองว่าเราต้องเชื่อว่าถ้าเราอยากได้อะไรอย่างหนึ่ง เราต้องยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันมีสองด้าน อินเตอร์เน็ตคือแหล่งความรู้มโหฬาร แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ควบคุมสิ่งที่มากับอินเตอร์เน็ตไม่ได้ ประเทศไทยจะประกาศห้ามใช้อินเตอร์เน็ต ห้ามเด็กเล่นเกม ผมว่าวิธีแก้มันผิด สำหรับผมวิธีแก้ที่ง่ายที่สุดมันต้องแก้จากเรา เราเป็นพ่อเป็นแม่เราต้องให้ภูมิคุ้มกันลูก ผมให้ภูมิคุ้มกันลูกชายผมแล้ว ผมปล่อยให้เขาท่องโลกอินเตอร์เน็ต ผมไม่กลัว เขาจะได้ความรู้จากอินเตอร์เน็ต ในขณะเดียวกันเป็นไปได้ไหมว่าเขาอาจจะเจอเว็บโป๊ต่างๆ เจอไปเลยลูก เพราะเราเชื่อว่าลูกเรามีภูมิ จะทำอย่างไรถ้าหากกลัวว่าในอากาศมีเชื้อโรคแล้วจะห้ามไม่ให้ลูกออกจากบ้านเหรอ ผมถามแค่นี้ สังคมไทยห้ามเล่นเกม ผมน่ะซื้อเกมให้ลูกเล่น ตะบี้ตะบันให้เล่นไม่เคยห้ามเวลาด้วย แล้ววันนี้เขาก็เลิกเล่นเกมแล้ว

ไฮคลาส : ในฐานะที่เป็นผู้ผลิต ทุกวันนี้เอ็นเตอร์เทนเมนต์มันเหมือนอากาศรอบตัวเรา คุณใส่อะไรไปในอากาศรอบตัวเราบ้าง
มันมี 2 มุม คือเราใส่ให้ใครเท่านั้นเอง ความรับผิดชอบมีอยู่ทุกคน แต่ว่ามุมมองต่างกัน อาร์เอสเราเป็นคนทำงานเรื่องสื่อ เราต้องมีความรับผิดชอบ แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืนยันว่าเราต้องมีวิจารณญาณว่าสื่อนี้เราสื่อกับใคร เหมาะสมกับใคร เราก็จะสื่อสิ่งนั้นให้กับเขา และในขณะเดียวกันผู้บริโภค สังคมจะเป็นตัวตรวจสอบเรา

ไฮคลาส : ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นแค่สิ่งที่ขาย?
ผมตอบว่าไม่มีสิ่งที่ดี ไม่มี วัดด้วยอะไร…ผมพูดตลอดเวลา มีแค่ชอบกับไม่ชอบ ในโลกนี้ไม่มีดีกับไม่ดี

ไฮคลาส : การอยู่ในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งระดับประเทศขนาดนี้ ส่วนผสมคงไม่ได้อยู่ในสายธุรกิจอย่างเดียว จะต้องมีสิ่งใดมาสนับสนุนบ้าง เช่น การเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในทุกด้านของสังคม
โดยทั่วไปทุกๆ เรื่องมีผลกระทบต่อองค์กรแน่ เพราะว่าธุรกิจมันใหญ่และเกี่ยวข้องกับคนเยอะ และมีหลายๆ กลุ่ม เมื่อการเมืองมันไปกระทบกับประชาชน กระทบกระเป๋าของเขา ก็ย่อมกระทบกับเรา หนีไม่พ้น แต่ถามว่าส่วนตัวผมไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ติดตาม สนใจ สนใจนี่ก็มีความหมายว่าสนใจแบบคนนอก ติดตามดูแบบคนไทยทั่วไป ไม่ได้มีความคิดว่าอยากเข้าไปสัมผัส

ไฮคลาส : คุณมีอาการอย่างที่กรมสุขภาพจิตเคยประกาศไว้ว่าคนไทย 25% ป่วยด้วยโรคจากข่าวสารการเมือง
ไม่มี ผมไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีพวกนั้น

ไฮคลาส : ทำไมถึงไปเรียนต่อปริญญาตรีทั้งๆ ที่ก็ไม่เห็นจะจำเป็นเลย เพราะคุณทำอะไรก็ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องมีปริญญา 
หลังจากจบมัธยมปลายมาได้สัก 5-6 ปี พอมีเวลาว่างก็ไปเรียนภาษาอังกฤษอยู่ 2-3 ปี แปลกอยู่อย่าง เมื่อตอนที่เรียนหนังสือผมเป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเลย พอช่วงว่างๆ ที่ไปเรียนภาษาอังกฤษแล้ว ผมเริ่มชอบอ่านหนังสือ อ่านๆๆๆ พออ่านแล้วชอบเพราะสนุก ก็เริ่มเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนชอบอ่านหนังสือ และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ กลายเป็นหนอนหนังสือ ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าอ่านหนังสือเยอะได้ความรู้ ผมจะสนใจอ่านทุกเรื่องที่เราสนใจ หากช่วงนั้นสนใจเรื่องการตลาดก็จะมุ่งอ่านแต่หนังสือการตลาด จะไม่อ่านอยู่อย่างเดียวก็คือพวกหนังสือแปล นิยาย เพราะผมคิดว่ามันไม่ได้อะไรกับตัวเอง เพราะฉะนั้นอ่านทุกเรื่อง อ่านทุกประเภท จนกระทั่งเมื่อ 5 ปีที่แล้วจึงไปเรียนรัฐศาสตร์ (ม.รามคำแหง)
มีคนถามว่า “เฮียไปเรียนทำไม ทำไมไม่เรียนการตลาด” ผมก็บอกว่าผมไม่ต้องเรียนเพราะผมเชื่อว่าการตลาดผมแตกฉาน เราอยู่กับมันเราได้ปฏิบัติ แต่ว่าการไปเรียนรัฐศาสตร์นั้นมี 2 เหตุผล เหตุผลหนึ่งคือมีอาจารย์มาชวน แล้วก็คิดว่ามันคือโอกาสนะถ้าเราจะมีปริญญาตรีไว้สักใบ เผื่อในอนาคตไม่แน่อาจจะต้องใช้ ก็ยังไม่รู้

ไฮคลาส : ไปสมัครเป็นสว.  
(หัวเราะ) ไม่รู้ อันที่สองก็คือเรื่องของรัฐศาสตร์มันน่าสนใจนะ เพราะเราสนใจการเมือง ก็ลองไปดูซิว่าเป็นยังไง เมื่อเข้าไปเรียนก็เหมือนกับเราได้ความรู้เพิ่มเติมจากสิ่งที่เราคิดว่ายังไม่ได้ เมื่อสักครู่ที่คุณถามว่าเรียนทำไมทั้งๆ ที่มาถึงจุดนี้ แต่สิ่งที่ผมไปเรียนมันคือสิ่งที่ผมยังไม่ได้สัมผัส ทฤษฎีการเมือง เช่น ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง มันเป็นเรื่องอีกโลกหนึ่งที่เรายังไม่เคยสัมผัส ผมอยู่ในโลกของธุรกิจ โลกบริหารจัดการ โลกการตลาด เมื่อได้ไปเรียนรู้ก็เออ…ได้ความรู้อีกแบบ

ไฮคลาส : มีเคล็ดลับความสำเร็จอย่างไรบ้าง เพราะทุกวันนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในเรื่องงาน เรื่องครอบครัว การพัฒนาตนเอง
ผมมีวินัยในการใช้ชีวิต เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวก็ได้ อย่างที่บอกว่าพอจะแต่งงานตอนอายุ 25 ก็เลิกตอนอายุ 24 คนเขาก็ไม่เชื่อ พี่สาวน้องสาวน้องชายไม่เชื่อ จะเลิกได้ยังไงขนาดนี้ แต่พอ 24 ก็เลิก ผมเลิกสูบบุหรี่ จากเคยสูบบุหรี่มากสุดวันละ 2 ซองกว่าต่อวัน สูบจนมือสั่น (ทำท่าให้ดู) ไปหาหมอหมอก็ยังสั่น แต่ผมก็เลิก เหล้าก็เลิกดื่ม เลิกเที่ยวกลางคืนเลิกจริงๆ
ตั้งแต่แต่งงานอายุ 25 ผมไม่เคยทำเรื่องพวกนี้อีกเลย ไม่เคยทำ เราตั้งเป้าหมายไว้เลยว่าจะทำอะไร จะสร้างครอบครัวอย่างไร จะมีลูกกี่คน คนโตจะให้ชื่ออะไร ผมจะคิดไว้หมดจดไว้ก่อนเลยว่าจะมีลูกปีนี้ อยากได้ลูกปีนี้ ผมเป็นคนชอบเที่ยวเมืองนอก แต่งงานใหม่ก็พากันไปเที่ยวทุกปี พอจะมีลูกปีนี้ก็จะหยุด กำหนดว่าจะหยุดกี่ปี พอลูกเริ่มโตก็เที่ยวกันใหม่ ผมเป็นคนวางแผนชีวิตและมีวินัย มันเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกัน จากการที่เรามีวินัย เราวางแผนชีวิต ได้ครอบครัวก็ดี ครอบครัวจะดีหรือไม่ดีผมให้ 90% อยู่ที่ผู้ชาย เมื่อครอบครัวดีทำงานก็ไม่มีเรื่องมารกสมอง
ชีวิตก็มีแค่นี้ ตื่นเช้ามาทำงาน อยู่กับงานเสร็จก็อยู่กับครอบครัว บ้านผมอยู่ที่นี่ พี่น้องย้ายออกไปหมดแล้ว เขาก็ถามว่า “เฮียทำไมไม่แยกออกไป” ก็ผมไม่อยากออก บางคนบอกว่าแล้วอย่างนี้จะไม่เครียดเหรอ ผมว่าเกี่ยวกับการที่เราตัดได้หรือไม่ได้ อยู่ที่เราปิดสวิตช์ในสมองได้รึเปล่า บางคนบ้านอยู่ตั้งไกล แบกงานกลับไปด้วยก็นอนไม่หลับ ผมก็คิดว่าอยู่นี่แหละเรามีความสุข ประหยัด ผมมีกำไรวันละ 2 ชั่วโมง มาทำงานเร็วกว่าคนอื่นได้ตั้งชั่วโมงหนึ่ง กลับได้ช้ากว่าคนอื่นก็ชั่วโมงหนึ่ง ในขณะที่ครอบครัวได้เต็มๆ ผมคิดอย่างนี้ ชีวิตก็อยู่กับการทำงาน อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องทำอะไรมาก พอครอบครัวดีมันก็ทำให้เราทำงานได้โดยไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไรมาก มีวินัยก็จบ การที่เราอยู่ในวงการบันเทิงมีสิ่งล่อตาล่อใจเยอะแยะ ถ้าเราไม่ยุ่งซะก็จบ

ไฮคลาส : คุณปิดสวิตช์ตัวเองจากงานตอนกี่ทุ่ม
ไม่ได้คิดเป็นเวลาขนาดนั้น แต่ผมเป็นคนที่โชคดีตรงที่ว่า ถ้าผมอยากจะคิดก็จะเอาไปคิดด้วย ถ้าไม่อยากคิดก็หยุดมัน

ไฮคลาส : จากจุดที่คุณยืนอยู่นี้ ทำนายว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือก้าวกระโดดอะไรในธุรกิจที่ทำอยู่บ้าง
ต้องบอกตรงๆ ว่าช่วงนี้อุตสาหกรรมบันเทิงยังอยู่ในช่วงที่เปลี่ยนแปลง ยังไม่ถึงที่สุด และเราเองก็ยังไม่รู้ว่าเปลี่ยนแปลงไปถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นอย่างไร เรากำลังเดินไปสู่สิ่งที่เรายังไม่รู้ ไม่มีใครบอกได้ ว่าโลกดิจิตอลจริงๆ แล้วการดาวน์โหลดเพลงมันจะครอบคลุมอย่างไร เว็บไซต์มันจะให้บริการเพลงทำอย่างไร เพลงมันจะยังมีอยู่ในโลกนี้ตลอดชีวิตจนกว่าโลกจะสิ้น แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเพลงไปถึงผู้บริโภคมันจะไปด้วยวิธีไหน อย่างไรที่มันจะอยู่ได้ ลงตัว สมดุล ผมว่าเรากำลังเดินไปสู่สิ่งที่มันยังไม่นิ่ง ในขณะที่เราไม่รู้ว่าข้างหน้าที่จะนิ่งนั้นเป็นอย่างไร แต่เรารู้องค์กรเราเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราจึงปรับให้เราสอดคล้องเพื่อเดินไปกับการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่นิ่งดีกว่า การที่เราทำก็คือทำให้อาร์เอสพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและเดินต่อไป

ไฮคลาส : แสดงว่าสิ่งสำคัญที่ค้นพบคือการยอมรับว่าตัวเราไม่รู้อยู่ตลอดเวลา
ใช่ สิ่งนั้นจำเป็น แต่มันไม่ต่างนะ คนที่คิดว่าตัวเองฉลาดแล้วคือคนที่โง่ ในเชิงธุรกิจบางอย่างมันเห็นชัดๆ ว่าอีก 2-3 ปีน่าจะเป็นแบบนี้ เราก็เห็นแต่เราก็ทำ บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงนั้นจะไปจบอย่างไร แต่เราพร้อมจะเปลี่ยนตลอด นี่คือในส่วนขององค์กร แต่ในหมู่ของคนบริหารหรือคนทำธุรกิจ สิ่งที่สำคัญก็คือต้องคิดว่าตัวเองไม่ได้เก่ง ไม่ได้รู้ สิ่งนี้สำคัญ และเวลาทำงานกับเพื่อนร่วมงานเยอะๆ ก็ต้องยอมรับว่าบางทีเขาก็ได้ความรู้จากผมไป และปฏิเสธไม่ได้ว่าผมก็ได้ความรู้จากลูกน้องเพื่อนร่วมงานเยอะ มันคือการแลกเปลี่ยน ถ่ายเทความรู้ซึ่งกันและกัน

ไฮคลาส : ตอนนี้อาร์เอสอยู่เบอร์ไหนในประเทศ
ไม่มีเบอร์ วันนี้โลกแม่งเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิงเลย ธุรกิจเพลงมันไม่ใช่ธุรกิจทั้งหมดของอาร์เอสแล้ว เมื่อก่อนวัดชัดเพราะว่ายอดขายซีดีเป็นตัวกำหนด เช่น คุณมีซีดีที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 70% วันนี้ซีดีไม่ได้บอกเลย บางเบอร์ผมไม่ได้ขายซีดีสักแผ่น ถามว่าเจ๊งเหรอเฮีย ผมบอกเลยว่าไม่เจ๊ง! โอ้โหเบอร์นี้กำไรเยอะเลย มันก็มี บางอัลบั้มออกมาไม่ได้ขายซีดีเลย แล้วอยู่ได้ไงขายแค่ 2 หมื่นแผ่น เจ๊งเหรอไม่เจ๊ง ก็ดาวน์โหลดเละเทะเลย นี่ไงกำไร เพราะฉะนั้นซีดีมันไม่ใช่ดัชนีชี้วัดอีกต่อไป แต่พวกเรายังไม่เข้าใจ เวลามองเราชอบมองภาพเดิมๆ
ก่อนหน้านี้คนเขาชอบถาม พอมีคนมาถามผมแล้วผมเป็นคนพูดตรงๆ พอพูดออกไปนักวิจารณ์บางคนก็ว่าผม หาว่าผมไปฝืน ผมก็บอกว่าไม่ใช่ เขาบอกว่าหนังเรื่องนี้ดี หนังเรื่องนี้ไม่ดี หนังเรื่องนั้นของคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี เพลงนั้นดีไม่ดี ผมบอกไม่ใช่ มีชอบกับไม่ชอบ ถูกมั้ยครับ ผมไม่ชอบดูหนังเจมส์บอนด์ ให้ผมเอาปากกาเขียนผมก็เขียนว่าหนังมันห่วย! แต่ว่าผมไม่ใช่มาตรวัด เพียงแต่ว่าคุณมีปากกาเขียน มีหน้าที่ที่ต้องเขียนคุณก็แสดงออกไป เราก็อ่านด้วยความเชื่อ เพียงแต่เชื่อว่านี่คือความเห็นของคุณ ไม่ใช่มาตรฐานที่ไปกำหนดอะไรต่างๆ

ไฮคลาส : วิธีการคลายเครียดของคุณ?
ส่วนใหญ่อยู่บ้านนอน ถ้าเครียดก็นอน คุยเล่นกับครอบครัวก็หายเครียดจากงาน ตอนนี้ลูกก็กลับมาแล้ว ตอนที่ลูกอยู่เมืองนอกเราก็กลับมาเป็นหนุ่มสาวสองคน ก็แค่นั้นเอง เดินเล่นเที่ยว แล้วผมเป็นคนใช้ชีวิตเรียบง่าย ผมไม่เดินช้อปปิ้ง ไม่ซื้อของ ไม่ค่อยมีเครื่องประดับ

ไฮคลาส : ปัจจุบันเริ่มมีหลานๆ เข้ามาช่วย ทำให้เบาแรงไปได้เยอะไหม
มันไม่ใช่เรื่องว่าใครมาช่วยแล้วเบา มันอยู่ที่การจัดวางโครงสร้างขององค์กร เราก็แบ่งธุรกิจไป ธุรกิจนี้ผู้บริหารท่านนี้ดูแล ท่านนั้นดูแล ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นคนในตระกูลเราดูแล หลานคนนี้เก่ง เหมาะสมทำเรื่องนี้ได้ไหม ถ้าทำได้ เอ้า…ทำ

ไฮคลาส : คุณตั้งเป้าว่าจะไปมีความสุขกับปลาคาร์พอย่างที่เฮียจั๊ว (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร) ในวัยเท่าใด
ไม่มี เพราะผมไม่ได้เล่นปลาคาร์พ (หัวเราะ) พูดไปแล้วก็จะไม่เชื่อว่าผมไม่มีงานอดิเรก คนมักถามว่าเฮียฮ้อเล่นรถรึเปล่า ไม่ได้เล่น เล่นพระมั้ย ก็ไม่ได้เล่น กอล์ฟนั่นผมก็เล่นเป็นกีฬา

ไฮคลาส : ตอนที่เล่นสนุ้กเกอร์นั้นเดินรอบโต๊ะ แต่ตอนเล่นกอล์ฟเดินทั่วสนาม
ต่างกันไง ผมบอกในช่วงเวลานั้นต่างกัน ผมไม่ได้บอกว่าสนุ้กไม่ดี เพื่อนผมเล่นก็ปล่อยเขาเล่นไป ผมกลับ ผมบอกกับเพื่อน ณ เวลานั้นว่า กูมีเรื่องที่จะต้องทำมากกว่ามาเดินข้ามคืนอย่างนี้ ทีนี้เรื่องตีกอล์ฟถ้าให้ผมมาตีกอล์ฟเมื่อ 3 ปีที่แล้วไม่ได้ พอทุกอย่างมันนิ่งผมมีเวลาก็เริ่มตีกอล์ฟ ผมว่าสิ่งบางสิ่งมันเหมาะในช่วงเวลาหนึ่ง

ไฮคลาส : คุณเคยบอกว่าชอบสตีฟ จ๊อบ กับ ริชาร์ด เบนสัน สองคนนี้ให้ข้อคิดอะไรแก่คุณ
ชอบหลายคน แต่ว่าชอบสตีฟ จ๊อบ เพราะว่าเขาเป็นคนที่เปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา ที่เขามีวันนี้เพราะจุดเด่นของเขาคือการอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ดี เหมือนกับเป็นสุดยอดมนุษย์ ผมชอบคนนี้จากมุมนี้ ส่วนริชาร์ด เบนสัน เป็นคนที่เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ไม่มีจริงๆ จนวันนี้ทำธุรกิจเวอร์จิ้นไปทั่วโลก กระทั่งเครื่องบิน เขาทำสารพัด สองคนนี้จะเป็นคนที่เราชื่นชม แต่ผมชื่นชมคนเยอะ ผมเป็นคนชอบอ่านประวัติคนที่ประสบความสำเร็จและชื่นชมคนเก่ง

ไฮคลาส : นอกจากที่เราได้คุยได้ถามมานี้ มีส่วนใดที่ยังไม่ได้พูดถึงและคุณคิดว่าไม่ควรจะผ่านเลยไป
เราคิดว่าวันนี้อาร์เอสในภาพใหม่ซึ่งคนอาจจะยังติดภาพเดิมๆ ของเรา ก็ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนภาพเดิมของเรา มันต้องใช้เวลา อยากบอกว่ามันจะชัดขึ้นเรื่อยๆ อาร์เอสในวันนี้เราไม่ใช่มีแค่นี้ แต่เราเป็น Entertainment Network ธุรกิจในกลุ่มของเรามี 9 กลุ่ม เราเชื่อว่าวันนี้ในแง่ของการทำธุรกิจ อาร์เอสนั้นกระจายความเสี่ยง เราไม่ได้พึ่งพารายได้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป นี่คือภาคการลุงทุน
ภาคการดำเนินธุรกิจ 9 กลุ่มธุรกิจของอาร์เอส เราเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่แข็งแรง ที่สำคัญคือเมื่อทำงานร่วมกันมันจะเกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้ดีมาก ผมเชื่อว่าเรามาถูกทาง และหลังจากที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเองมาพอสมควร ปีนี้ก็จะเป็นปีที่เราจะเดินไปเก็บเกี่ยวหาความสำเร็จจากสิ่งที่เราลงทุนลงแรงไป

Text : วสิน ทับวงษ์, กิตติยา อยู่ยืนยง
Photo : สรวิชญ์ หอมสุวรรณ

 

 

profiler01

Related contents:

You may also like...