ขอถวายความอาลัยแด่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์

ถวายอำลา ธ ล่วงแล้ว แสงสุรีย์

ผองไทยทั่วพุทธธานี ร่ำไห้

นิพพานัง ปรมัง สุขัง คือสัจจังเว

ไตรลักษณ์บ่ห่อนเว้น องค์สังฆราชา

คณะผู้บริหารและพนักงาน ไฮคลาสมีเดียกรุ๊ป

ขอถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระสังฆราช

๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖

สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์ ประดิษฐานพระศพ ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม เวลา 20.28 น. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9 เรื่องพระอาการประชวรของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความว่า

วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้วเมื่อเวลา 19.30 น. วันนี้ (24 ต.ค.) สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งชุดไว้ทุกข์แสดงความอาลัยเป็นเวลา 15 วัน ส่วนสถานที่ราชการลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 3 วัน สำหรับประชาชนที่ต้องการไปร่วมพิธีถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระรูป สามารถไปได้ที่อาคารมนุษยนาควิทยาทาน ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2532  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“เจริญ คชวัตร” เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2456  เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่

ทั้งนี้ เมื่อพระชันษาย่าง 14 ปี พระองค์ถือบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเทวสังฆาราม  ต่อมาทรงย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดเสน่หา อ.เมือง จ.นครปฐม 2 พรรษา ก่อนจะทรงย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งพระองค์ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

จากนั้น พ.ศ.2476 ทรงกลับไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระครูอดุลยสมณกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูนิวิฐสมาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พอถึงช่วงออกพรรษา ทรงกลับมาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง เพื่อญัตติเป็นธรรมยุต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระรัตนธัชมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า สุวฑฺฒโน อันมีความหมายว่า ผู้เจริญปรีชายิ่งในอุดมปาพจน์

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวชและประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระญาณสังวรทรงรับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด และต่อมาได้ทรงเป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา พระมงคลวิเสสกถาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปี พ.ศ.2507 โดยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยลำดับ เมื่อพระชันษา 34 ปี ทรงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระโสภณคณาภรณ์

พระชันษา 39 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม พระชันษา 42 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม พระชันษา 43 ปี เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่พระธรรมคุณาภรณ์ พระชันษา 48 ปี ทรงเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พระสาสนโสภณ พระชันษา 59 ปี ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร

กระทั่ง พ.ศ.2532 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระองค์แรกที่ใช้พระนามเดิม และทรงให้ถือเป็นแบบธรรมเนียมตราในกฎมหาเถรสมาคมสืบมา

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ พ.ศ.2543 ปัจจุบัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ประชวรด้วยโรคชราภาพ ตามพระอายุขัย ซึ่งแทรกซ้อนตามมาด้วยเบาหวาน ไต เป็นต้น และได้ประทับรักษาอาการพระประชวรอยู่ที่ชั้น 6 ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในระยะแรกที่เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลเมื่อราว 10  ปีก่อน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เสด็จกลับมาที่วัดเป็นครั้งคราว แต่ระยะหลังนี้ไม่สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากคณะแพทย์เห็นว่าต้องได้รับการรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ ปัจจุบันไม่สามารถสนทนาได้ เพราะเจาะพระศอ พุทธศาสนิกชนที่ประสงค์เข้าเฝ้าเยี่ยมพระองค์ที่โรงพยาบาลสามารถทำได้ แต่ต้องติดตามวันที่โรงพยาบาลอนุญาตให้เข้าเฝ้า โดยติดตามข่าวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารสามัคคีพยาบาล

ทั้งนี้วันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี ในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

หลังจากนั้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มีแถลงการณ์เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกมาเป็นระยะๆ จนกระทั้งมีแถลงการณ์ฉบับที่ 9 ดังกล่าว

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  ทรงปฏิบัติบำเพ็ญต่อพระศาสนา ประชาชน และชาติบ้านเมืองเป็นอเนกประการ ซึ่งจะขอยกมาพอสังเขป ดังนี้

ในด้านการพระศาสนา คือ การสั่งสอนพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต พระองค์ได้ทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ นับแต่ประทานพระโอวาทสั่งสอนพระภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ในฐานะพระอุปัชฌาย์ ทั้งในพรรษกาล และนอกพรรษกาลตลอดปีโดยมิได้ว่างเว้น จนกระทั่งพระชราพาธมาขัดขวาง จึงได้ทรงยับยั้งอยู่ในสุขวิหารธรรม ทั้งได้ประทานพระธรรมเทศนาประจำวันธรรมสวนะในวันเดือนเพ็ญและวันเดือนดับ ประทานธรรมกถาในการฝึกปฏิบัติอบรมจิต หรือที่เรียกกันว่า สอนกรรมฐาน แก่สาธุชนทั่วไปเป็นประจำทุกวันพระและหลังวันพระด้วยความใส่พระทัยตลอดมา

ในฐานะองค์ประมุขแห่งสังฆมณฑล ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระศาสนกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งระอุด้วยชีวิตภัยในสงบเย็นด้วยธรรมานุภาพเป็นประเดิม ต่อแต่นั้นก็ได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระศาสนกิจและเยี่ยมเยียนพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรเป็นประจำทุกปี มิได้ว่างเว้น อันเป็นโอกาสให้ได้ทรงทราบสภาพการณ์ของคณะสงฆ์และบ้านเมืองทั้งในทางวัฒนะและหายนะ ซึ่งเป็นทางให้ทรงพระดำริในอันที่จะทรงอนุเคราะห์ สงเคราะห์แก่พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตตลอดถึงประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นนั้นๆ

ในด้านการประกาศเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระองค์ก็ทรงพระดำริริเริ่มกิจการในอันที่จะทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปยังนานาประเทศ เพื่ออำนวยสันติสุขแก่ชาวโลก เริ่มแต่ทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เสด็จไปดูการพระศาสนาและการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย อันเป็นเหตุให้ทรงดำเนินงานพระธรรมทูตต่างประเทศ และสร้างวัดพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศต่างๆ เป็นครั้งแรก

ในด้านการส่งเสริมการศึกษา ทรงเป็นผู้ร่วมดำริและผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก นั่นคือ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย  ซึ่งต่อมาเรียกว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งได้เป็นอาจารย์รุ่นแรก รวมถึงทรงพระดำริส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏมาหาวิทยาลัยขยายการศึกษาในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งประทานทุนการศึกษาแก่พระภิกษุให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในต่างประเทศ

ในด้านสาธารณูปการ ได้ทรงก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ 2 หลัง อาคารเรียนโรงเรียนวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี อาคารเรียนโรงเรียนญาณสังวร จังหวัดยโสธร โรงเรียนสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งได้ประทานทุนการศึกษาแก่เด็กเรียนดีแต่ยากจนเป็นจำนวนมาก

ในด้านสาธารณสุขและสาธารณกุศล เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงอำนวยการก่อสร้างตึก ภปร ตึกวชิรญาณวงศ์ และตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ทรงอำนวยการสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต พร้อมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช ณ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โปรดให้สร้างโรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี

ส่วนพุทธสถานอื่นๆ ได้ทรงอำนวยการสร้างวัดพุทธวิมุติวนาราม (วัดพุมุด) อำเภอไทรโยค วัดรัชดาภิเษก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี วัดวังพุไทร จังหวัดเพชรบุรี วัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี วัดล้านนาญาณสังวราราม จังหวัดเชียงใหม่ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย รวมทั้งโปรดให้แกะสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ณ เขาชีจรรย์ จังหวัดชลบุรี

อนึ่ง ด้วยพระบารมีธรรมของเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงปกแผ่ไปยังศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า ทำให้คณะศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต ต่างพากันคิดสนองพระเดชพระคุณโดยการร่วมมือร่วมใจกันสร้างสิ่งอนุสรณ์อันเป็นถาวรวัตถุ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่สาธารณชน ถวายใน พระนาม “ญสส” ในโอกาสและในสถานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วัดนาควัชรโสภณ จังหวัดกำแพงเพชร

โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โรงเรียนสมเด็จพระญาณสังวร จังหวัดยโสธร พิพิธภัณฑ์สถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ หอพระประวัติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จังหวัดกาญจนบุรี หอเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร วัดถาวรวราราม จังหวัดกาญจนบุรี

สิ่งก่อสร้างเหล่านี้และสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์อีกมากมายล้วนสะท้อนพระคุณธรรมอันมากหลายให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ที่ปวงชนพึงเรียนรู้สัมผัสได้และเป็นที่ประจักษ์แก่ใจของคนทั้งหลายตลอดไป

Related contents:

You may also like...