แด่ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย (๑ เมษายน ๒๔๘๑ – ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๒)

ข้าพเจ้าแรกพบขวัญดี รักพงษ์ ที่สำนักงาน สปอ. (SEATO) ถนนราชดำเนิน เมื่อข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาจากอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เวลานั้นขวัญดีทำงานอยู่ที่นั่น หลังจากจบมาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณจันทร์แจ่ม บุนนาค ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ใหญ่อยู่ที่นั่น เป็นคนแนะนำให้เรารู้จักกัน ทั้งยังเคยชวนให้ไปกินอาหารกลางวันด้วยกันอีกด้วย เราถูกอัธยาศัยกัน ดังเรามีผลงานทางด้านแปลหนังสือร่วมกันเล่มหนึ่ง ซึ่งมอบให้สำนักพิมพ์ก้าวหน้าจัดพิมพ์จำหน่าย

ต่อมา ขวัญดีได้รับทุนให้ไปทำปริญญาเอก ทางด้านวรรณคดีไทย ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ณ School of Oriental and African Studies ที่ข้าพเจ้าเคยสอนอยู่ และ Stuart Simmonds ซึ่งเป็นผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ของเธอ ก็เคยเป็นเพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้ามาก่อน

ตอนนั้น ข้าพเจ้าไปอังกฤษค่อนข้างบ่อย ไปลอนดอนทีไร ก็มักได้พบขวัญดี มีโอกาสได้คุยกันอย่างถูกคอ และเคยไปกินอาหารจีนด้วยกัน

ครั้นขวัญดีกลับมาเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโอกาสอะไร ที่เธอจะช่วยข้าพเจ้าได้ เธอมักเต็มใจทำให้เสมอ ไม่ว่าจะรายการอภิปรายให้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป หรือมูลนิธิโกมลคีมทอง ยังงานห้ารอบนักษัตรของข้าพเจ้านั้น เธอก็เขียนให้ในหนังสือซึ่งจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานนั้น (ลอดลายผ้าม่วง) และงานที่ศิษยานุศิษย์จัดให้ ตอนข้าพเจ้าอายุครบหกรอบนักษัตร ขวัญดีก็มาร่วมดำเนินรายการอภิปรายให้ ที่สยามสมาคม

คราวหนึ่ง เสมสิกขาลัยจัดทัศนศึกษาชุมชนเก่าๆ แถวถนนบำรุงเมือง-เฟื่องนคร โดยเชิญคุณศิริชัย นฤมิตรเรขการ มาเป็นผู้นำเดิน เพราะพ่อแม่คุณศิริชัย เคยมีนิวาสสถานอยู่แถวนั้น ขวัญดีมาร่วมเดินด้วย เธอยืนยันว่าสำนักงานตุลยภาคพจนกิจ ของเทียนวรรณ คือที่ที่สำนักพิมพ์เคล็ดไทยอยู่ในบัดนี้ โดยที่สำนักไทยเขษมก็อยู่ติดๆ กันนั้น หากเรายังไม่ได้สอบสวนให้แม่นยำต่อมา

เมื่อข้าพเจ้าได้รับรางวัลศรีบูรพาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นั้น ก็เข้าใจว่าขวัญดีจะเป็นตัวตั้งตัวตีที่เสนอชื่อข้าพเจ้า เพราะช่วงนั้นเธอเป็นกรรมการตัดสินรางวัลดังกล่าวรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ทั้งๆ ที่เธอไม่เคยบอกข้าพเจ้าในเรื่องนี้ และที่กรรมการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเธอ ก็เพราะตอนนั้นข้าพเจ้าต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่สุจินดา คราประยูร หาเรื่องเอากับข้าพเจ้าอยู่ด้วย และแต่นั้นมา ท่านประธานกรรมการกองทุนศรีบูรพา ก็ดูจะมีทัศนะในทางบวกเกี่ยวกับข้าพเจ้ามากขึ้น ทั้งๆ ที่ท่านเคยหมั่นไส้ข้าพเจ้ามาก่อน

ขวัญดี เคารพนับถือสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งเคยมีนามสกุลว่ารักพงษ์ หากชื่อสกุลซ้ำกันอย่างเป็นการบังเอิญเท่านั้น แต่ขวัญดีก็เรียกท่านสมณะว่าหลวงพี่อย่างสนิทปาก ดังเธอและสามีของเธอก็เรียกข้าพเจ้าว่าพี่เช่นกัน

งานทางสันติอโศกนั้น ขวัญดีช่วยเหลือเกื้อกูลด้านภาษาอังกฤษอย่างเต็มใจและอย่างทะมัดทะแมง งานล่าสุดที่เราประกอบกรณียกิจร่วมกันนั้น ที่จังหวัดหนองคาย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นการเปิดประชุมระดับสากลที่ว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness ขวัญดีเป็นล่าม แปลให้สมณะโพธิรักษ์อย่างสดๆ และอย่างฉับไว แต่ขวัญดีไม่เห็นด้วยที่ญาติธรรมทุ่มเงินมากไปกับการมีช่องโทรทัศน์ของตัวเอง แม้เธอจะคิดต่างออกไป แต่เธอก็ยังเคารพนับถือหลวงพี่ของเธอ และสมณะในขบวนการสันติอโศกอย่างไม่เสื่อมคลาย โดยที่เธอมีวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและบริโภคอาหารมังสวิรัติโดยตลอด

ขวัญดีเคารพอังคาร กัลยาณพงศ์ โดยเฉพาะก็งานกวีนิพนธ์ของเขา และรวมถึงงานจิตรกรรมอันเป็นเลิศของเขาอีกด้วย เมื่อมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป จัดงานการแสดงศิลปกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ วังท่าพระ ระหว่างวันที่ ๙–๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ นั้น ขวัญดีเป็นแม่งานคนสำคัญ เริ่มแต่วางแผนงานในขั้นต้น ติดต่อกวี คีตศิลปี ฯลฯ จากหลายแวดวง บางคนเป็นบุคคลชั้นครูที่สำคัญนัก แต่ทุกคนก็มาร่วมงานอย่างเต็มใจ เพราะขวัญดีประสานงานกับท่านนั้นๆ อย่างแนบเนียน และอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน โดยที่เธอรักและเข้าซึ้งถึงศิลปะในแขนงต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างดี เธอเป็นที่รักใคร่ไว้ใจของทุกๆ ท่านที่มาร่วมงาน จนงานคราวนั้นได้รับความสำเร็จเกิดคาด

น่าเสียดายที่ในงานนั้นเอง เธอเริ่มเจ็บป่วยและหนักลงทุกที แต่เธอก็ข่มใจมาร่วมงาน แม้วันสุดท้ายที่เราพาศิลปิน และคนที่ทำงานให้กับเราอย่างอยู่หลังฉาก ไปเลี้ยงที่ร้านแฮมล้อก ถนนพระอาทิตย์ เธอก็ยังไปร่วมด้วย แม้ห้ามก็ไม่ฟัง

นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอได้อยู่ร่วมกับคนที่รักงานศิลปอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ข้าพเจ้าไปเยี่ยม เธอก็ยังพูดคุยด้วยดี มีสติสัมปชัญญะและอารมณ์ขัน แม้ความทุกข์จะครอบงำเธอทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่เธอก็พยายามข่มไว้ด้วยอำนาจของพุทธธรรม แต่แล้วโรคาพาธก็เบียดเบียนเธอจนหลงลืม แล้วเลยไม่รับรู้อะไรๆ และแล้วเธอก็จากไปในที่สุด เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ กำหนดปลงศพเธอ ณ วันที่ ๑ เมษายน อันเป็นวันคล้ายวันเกิดเธอ

ในช่วงชีวิตของเธอ เธอเผชิญมาทั้งทางบวกและทางลบของโลกธรรม คือสุขและทุกข์ สรรเสริญและนินทา ยศและเสื่อมยศ ลาภและเสื่อมลาภ ดูเหมือนเธอจะเข้าใจโลกธรรม แม้จะไม่รู้เท่าทันทั้งหมด ก็ดูจะทำใจได้ และเธออุทิศตนเพื่อผลงานอย่างเต็มที่ ทั้งทางด้านการสอน การวิจัย และการผลิตหนังสือดีๆ ออกมาอย่างน่าชื่นชม นามปากกาว่า จันทน์กะพ้อนั้น ดูจะเหมาะสมกับตัวเธอยิ่งนัก ยิ่งเล่มล่าสุดของเธอ (แว้งที่รัก) ในนามปากกาว่า ชบาบาน ที่นำมาแจกในงานศพคราวนี้ด้วยแล้ว ถือได้ว่าเป็น master piece ชิ้นหนึ่งของเธอเอาเลยทีเดียว

ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือขวัญดีมีกัลยาณมิตรค่อนข้างมาก ในหลายวงการ ทั้งคนที่แก่กว่าเธอ ร่วมรุ่นกับเธอ และรุ่นเยาว์ๆ ลงมา แทบทุกคนแลเห็นคุณูปการของเธอ ที่มีไมตรีจิตมิตรภาพอย่างโอบอ้อมอารีกับทุกๆ คน ทั้งทางคำพูดและการกระทำ

เชื่อว่าเธอจักเป็นผู้ที่ไปดี ดังที่เธอเป็นผู้ที่มาดี และบำเพ็ญกรณียกิจอย่างดีมาแทบตลอดชีวิตของเธอ

ส. ศิวรักษ์

 

 

Related contents:

You may also like...