สิบรอบนักษัตร เสฐียรโกเศศ

 เสฐียรโกเศศ เป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน (ยง) ซึ่งเมื่อท่านอายุครบ ๘๐ ปี ณ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ ได้บังเกิดมีมูลนิธิที่ตั้งชื่อขึ้นตามนามปากกานี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยนักเขียน (ทั้งที่เขียนรูปและเขียนหนังสือ) ให้แสวงหาความเป็นเลิศในทางอัจฉริยภาพ อย่างไม่จำต้องไกล่เกลี่ยกับสภาพเศรษฐกิจทางสังคม หาไม่นักเขียนจะกลายไปเป็นพาณิชยศิลปินไปเสีย เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจบังคับ พร้อมกันนี้มูลนิธิดังกล่าวก็ต้องการอุดหนุนนักเขียนที่ตกยาก เพราะแก่ชราหรือพยาธิครอบงำ โดยสร้างสรรค์นฤมิตรกรรมอีกไม่ได้แล้ว

เสฐียรโกเศศมักผลิตงานทางวรรณศิลป์ควบคู่ไปกับนาคะประทีป ซึ่งเป็นนามปากกาของพระสารประเสริฐ (ตรี) และนามปากกาของทั้งสองท่านนี้ก็คือนามสกุลของท่านนั้นเอง หากต่อมาท่านแรกต้องเปลี่ยนนามสกุลตามราชทินนามของท่าน เพราะท่านรับราชการอยู่ ณ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เปลี่ยนนามสกุลของตนจากขีตะสังคะ มาตั้งนามสกุลใหม่ตามราชทินนาม ทั้งๆ ที่ท่านสั่งให้เลิกบรรดาศักดิ์ขุนหลวงพระ พระยาทั้งหมดแล้วก็ตาม

มูลนิธิที่เอ่ยถึงแต่แรก ต่อมาจึงขยายชื่อออกเป็นมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อรักษานามปากกาของทั้งสองปูชนียบุคคลนี้ไว้ และมูลนิธินี้ได้ประกอบกรณียกิจกว้างไกลออกไปจากวัตถุประสงค์เดิมเป็นอันมาก หากร่วมอยู่ในบริบทของการศึกษา แต่เป็นการศึกษานอกกระแสหลัก โดยเน้นหนักไปในทางศีล (คือเพื่อให้เกิดความเป็นปกติส่วนตนและส่วนรวม) สมาธิ (คือ ให้ฝึกหัวใจมาประสานกับหัวสมอง เพื่อให้แต่ละคนรู้จักตนเองและสังคม นอกเหนือการถูกครอบงำโดยลัทธิและอุดมการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะทุนนิยม บริโภคนิยม หรือสังคมนิยม) เพื่อพยายามให้เข้าถึงปัญญา คือความรู้อย่างเป็นองค์รวมที่ลดความเห็นแก่ตัวลงไป โดยไม่รู้เป็นเสี่ยงๆ อย่างที่การศึกษากระแสหลักทางตะวันตกครอบงำเราอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนกระแสหลักด้วย

กิจการงานของมูลนิธินี้ในรอบ ๔๐ ปีมานี้ มีอะไรบ้าง ผู้สนใจอาจแสวงหาข้อมูลได้จาก www.sulak-sivaraksa.org, www.sivaraksa.com, www.semsikkha.org   และเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น มองจากจุดยืนเบื้องล่าง, ๓๕ ปี มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, สารเพื่อนเสม, ปาจารยสาร, Seeds of Peace

ว่าจำเพาะท่านเสฐียรโกเศศนั้นเล่า แม้ท่านจะจากโลกนี้ไปแต่อายุ ๘๐ เศษๆ นั้นแล้ว มูลนิธิที่ว่านี้ได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทย จัดงานฉลองศตวรรษชาตกาลของท่านเป็นงานใหญ่ในระดับชาติมาแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๑ นั้นแล้ว โดย UNESCO ได้ประกาศรับรองอัจฉริยภาพของท่านและความเป็นปูชนียบุคคลของท่านด้วย งานฉลองรอบร้อยปีเกิดของท่าน จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และตามจังหวัดต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งยังมีการแสดงนิทรรศการถึงชีวิตและผลงานของท่านอีกด้วย ไม่จำเพาะแต่ภายในประเทศ หากรวมถึงนานาประเทศ ทั้งที่ยุโรป สหรัฐ และอีกหลายประเทศในเอเชีย ตั้งแต่รัสเซีย มองโกเลีย จรดจีน อินเดีย  อินโดจีน และญี่ปุ่น โดยที่ผลงานของท่านก็มีแปลออกมาเป็นภาษาต่างๆ ค่อนข้างมาก
งานฉลอง ๑๐๐ ปี ท่านเสฐียรโกเศศจัดข้ามปีไปจบลง ณ งานวันเกิดครบร้อยของท่านนาคะประทีป ซึ่งแก่อ่อนกว่ากันประมาณหนึ่งปี หากท่านนาคะประทีปบุญน้อย อายุน้อย ตายจากไปแต่ยังไม่เข้าเขตชราภาพ และท่านมีบทบาทแต่ในทางภาษาไทยและภาษาบาลี ไม่กว้างขวางออกไปในทางการบริหารงานในสาขาวิชาต่างๆ เช่นท่านเสฐียรโกเศศ ซึ่งเป็นสดมภ์หลักท่านแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากรและราชบัณฑิตยสถานอีกด้วย และในฐานะอธิบดีกรมศิลปากร ท่านเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างศิลปะอย่างเก่าของไทยกับอย่างใหม่จากสากล ให้ต่อเนื่องกันอย่างน่าทึ่ง เพราะก่อนหน้านั้น ศิลปวัฒนธรรมของเราถูกกรมศิลปากรนี้แล ได้ปู้ยี้ปู้ยำมาอย่างน่าอเนจอนาถ ในนามของคำว่าชาตินิยม หรือการนิยมผู้นำอย่างใหม่ซึ่งเป็นเผด็จการ

ความวิเศษมหัศจรรย์ของท่านเสฐียรโกเศศนั้น คือความแนบเนียนในการบริหารงาน ท่านไม่มุ่งเอาเด่นหรือเน้นที่ความสำเร็จระยะสั้น หากรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว และไม่แสวงหาอะไรๆ เพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง โดยที่ท่านพร้อมจะยกย่องผู้ใต้บังคับบัญชาและมิตรสหายอย่างเต็มใจและจริงใจ โดยไม่อิจฉาริษยา  ว่าท่านนั้นๆ คนนั้นๆ จะมีความเป็นเลิศยิ่งไปกว่าท่าน

ในกรณีของนาคะประทีป ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรที่ใกล้ชิดกับท่านอย่างที่สุดนั้น ท่านยกย่องอยู่ตลอดเวลาว่าสำนวนภาษาไทยลึกซึ้งยิ่งกว่าท่านมากนัก และอะไรที่เป็นความวิเศษมหัศจรรย์ของท่านผู้นั้น ท่านนำมาพรรณนาและให้อรรถาธิบาย ขยายความอย่างน่าสนใจ ส่วนข้อบกพร่องของท่านผู้นั้น ท่านไม่ได้ปิดบัง แต่เอ่ยถึงไว้อย่างผ่านๆ ไปเท่านั้น เพื่อเตือนผู้อ่าน รู้ว่ามนุษย์ย่อมมีทั้งด้านหน้าด้านหลังด้วยกันทั้งนั้น

ผู้บังคับบัญชาของท่านที่กรมศุลกากรนั้น ท่านก็ยกย่องเชิดชูทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (อธิบดี ซึ่งเนตรบอด) หรือ Mr. William Nunn และ Mr. Norman Maxwell พร้อมๆ กันนั้น ท่านก็เอื้ออาทรกับเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างควรแก่การสำเหนียกเป็นที่ยิ่ง โดยที่ตัวท่านเอง ทำตัวเป็นตัวอย่างแก่ทุกๆ คน ทางด้านความซื่อสัตย์ วิริยะ อุตสาหะ และความสันโดษ ถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาคนใด ใคร่แสวงหาความรู้ ท่านจะอุทิศตนสอนให้ แม้จะในทางวิชาการซึ่งต้องห้ามในสมัยราชาธิปไตย เช่น เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น ความข้อนี้นายบุญชนะ อัตถากร นำมากล่าวไว้ให้ปรากฏอย่างน่าสนใจ

ยิ่งเมื่อท่านย้ายมาอยู่ที่กรมศิลปากรด้วยแล้ว ผู้ร่วมงานล้วนเชี่ยวชาญในทางศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ อย่างที่ท่านไม่มีภูมิหลังมาก่อน  แล้วท่านก็ได้เรียนรู้จากท่านนั้นๆ และให้กำลังใจให้ท่านนั้นๆ ได้แม่นยำและแสดงออกในศิลปวิทยาตามสาขาแห่งตนยิ่งๆ ขึ้น ไม่แต่ให้กำลังใจ หากหาทางอุดหนุนอุ้มชูในทิศทางต่างๆ อย่างปิดทองหลังพระ ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี พระเจนดุริยางค์ หรือนายธนิต อยู่โพธิ์ รวมไปถึงมหาสิลา วีรวงส์ จากประเทศลาว ท่านผู้นี้มีงานอมตะขณะรับราชการอยู่กรมศิลปากรในเรื่อง ชำระและจัดพิมพ์เรื่อง ท้าวฮุ่งหรือท้าวเจือง อันอมตะ ซึ่งมีท่านเสฐียรโกเศศเป็นพลังทางด้านหลังฉากอย่างสำคัญ

ก็การที่ท่านโอนไปรับราชการอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องถือว่าความจำเป็นบังคับ โดยท่านไม่เคยกล่าวไว้ตรงๆ เลยว่า อธิบดีอิจฉาท่าน และนายกรัฐมนตรีก็เป็นเผด็จการ หากท่านใช้กุศโลบาย รักษาตัวรอดไว้ได้ และยังใช้ความยืดหยุ่นอย่างพอดีๆ อีกด้วย
นายกรัฐมนตรีอ้างว่าพระเจ้าวิเทหราช ในมโหสถชาดกนั้น มีปุโรหิตถึง ๔ ท่าน ตัวนายกฯ มี ๔ ซึ่งได้แก่ ยง เถียร เพียร นวล คือพระยาอนุมานราชธน (ยง) หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร) พระราชธรรมนิเทศ (เพียร) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล) ข้อเท็จจริงที่ว่านี้ท่านเสฐียรโกเศศไม่ยอมรับตรงๆ แต่ท่านก็สนิทสนมกับอีก ๓ คนนั้น โดยที่บัดนี้ไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงของบุคคลนั้นๆ กันแล้ว อนึ่ง ต้องถือได้ว่าท่านเสฐียรโกเศศ มีอุปการคุณกับนายกรัฐมนตรีเป็นพิเศษ  ที่สามารถโยงใยให้เขามาเห็นคุณูปการของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังอนุมัติให้ตีพิมพ์ นิทานโบราณคดี แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์ท่าน ทั้งๆ ที่นายกฯ เคยเกลียดชังพระองค์ท่านมาเป็นอย่างยิ่ง
ยิ่งกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วยแล้ว ท่านเสฐียรโกเศศ มีหนังสือกราบทูลขอพระราชทานความรู้แขนงต่างๆ ทางไทยวิทยา โดยเฉพาะก็ในทางศิลปกรรม และเรื่องอันเนื่องด้วยราชสำนัก จนสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงยกย่องให้ท่านเป็น เพื่อนนักเรียน และแล้วจดหมายกับลายพระหัตถ์ที่ได้ตอบกันนี้กลายเป็น บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ในทางไทยคดีศึกษาอย่างวิเศษสุดเอาเลยก็ว่าได้

ที่ว่ามานี้ โดยไม่ต้องเอ่ยถึงผลงานอันอมตะต่างๆ ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นหิโตปเทศ  กามนิต และลัทธิของเพื่อน ฯลฯ ซึ่งร่วมกับท่านนาคะประทีป แม้เมื่อท่านผู้ร่วมนามปากกาหาชีวิตไม่แล้ว ท่านก็ยังผลิตงานเช่น ชุดประเพณีไทย ไว้อย่างสำคัญยิ่ง เพราะท่านเก็บข้อมูลจากวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของไทย ซึ่งกำลังจะปลาสนาการไป ไม่ว่าจะการแต่งงาน ปลูกเรือน แม้จนชีวิตชาวนา และชาววัด ทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยทำนา หรือเคยบวชเรียน แต่ท่านก็พรรณนาได้อย่างแม่นยำ และน่าอ่าน เพราะท่านเก็บข้อมูลอย่างตั้งใจ สำหรับการเขียนเรื่อง ลัทธิของเพื่อน ซึ่งท่านใช้เอกสารที่เป็นสิ่งตีพิมพ์ทั้งไทยและอังกฤษ พร้อมๆ กับเรียนรู้จากผู้นำลัทธิศาสนานั้นๆ โดยตรง  อย่างตั้งใจด้วย และด้วยใจอันเป็นกลาง
ทางด้านชีวิตครอบครัวนั้นเล่า ท่านก็เคารพบิดามารดา ครูอาจารย์ และท่านบำรุงลูก หลานและน้องๆ อย่างสมกับความเป็นสัตบุรุษ โดยมีชีวิตอย่างอดออม หากไม่แร้นแค้น และเต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมกันนี้ ก็ต้องเอ่ยไว้ด้วยว่า ท่านมีภรรยาคนเดียว ในสมัยที่ขุนนาง ข้าราชการ มีอนุภรรยากันแทบทั้งนั้น และภรรยาของท่านก็เป็นคู่ชีวิตของท่าน อย่างควรแก่การยกย่องและเชิดชู

ท่านเข้าใจประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ อย่างรู้เท่าทัน ท่านไม่ขัดขืนสมัยนิยม และก็ไม่เป็นทาสกับการตื่นตูมตามความทันสมัยต่างๆ กล่าวสั้นๆ ได้ว่า วิถีชีวิตของท่านควรแก่การเรียนรู้ เพื่อเป็นประโยชน์กับชาวเราและอนุชนคนรุ่นต่อไป ให้เป็นแบบอย่างในทางความเป็นมงคลสำหรับทุกๆ คนที่หวังความสุขสวัสดีในทางที่เป็นกุศลสมาจาร โดยไม่ไปหลงเดินตามคนใหญ่คนโตของยุคสมัย ซึ่งมักเป็นของปลอม

พร้อมๆ กันนั้นงานเขียน งานแปลของท่าน ไม่ว่าที่ร่วมกับท่านนาคะประทีปหรือไม่ก็ตาม แม้บางชิ้นจะล่วงยุคสมัยไปแล้ว แต่ส่วนมากยังควรแก่การอ่าน เพื่อความรู้ และความงามในทางภาษา ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าหาความจริงได้ โดยเฉพาะก็ในด้านการรู้จักวัฒนธรรมของเราและบรรพชนของเรา ซึ่งโยงใยไปทางภารตวิทยา และจีนวิทยาอีกด้วย
แม้ท่านเสฐียรโกเศศจะจากเราไปกว่า ๔๐ ปี แล้ว เนื่องในโอกาสวันเกิดท่านครบ ๑๐ รอบนักษัตร ณ วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ นี้ น่าที่พวกเราจะช่วยกันหาทางรู้จักท่านและงานของท่านด้วยการเอาอย่างวิถีชีวิตของท่าน และแม้เราจะผลิตวรรณศิลป์ไม่ได้เท่าท่าน ก็ควรลิ้มรสรสวรรณกรรมนั้นๆ กันให้ยิ่งๆ ขึ้น อย่าให้เสียทีที่เกิดมาเป็นคนที่รู้ภาษาไทย

Related contents:

You may also like...