ฝนตกชุ่มฉ่ำสร้างความเย็นกายเย็นใจให้กับผู้คนทั่วบ้านทั่วเมืองที่ไม่ต้องตากแดดร้อนๆกัน ยิ่งช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาฯแถลงว่าพายุดีเปรสชั่นเข้าทะเลอันดามัน ทำให้กรุงเทพฯฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน บางส่วนของกรุงเทพฯชาวบ้านได้นำเรือพายออกมาสัญจรกันอย่างเอิกเริก สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฯของ มรว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ที่นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน
ฝนตั้งเค้ามาคราใด ไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศก็จะรวมตัวกันอย่างหนาแน่นสู่ชั้นบรรยากาศควบแน่นตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งเมื่อฝนตกลงมาแล้วแน่นอนว่าความชื้นในอากาศย่อมมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ คุณสามารถสังเกตเห็นฝ้าตามกระจกรถยนต์ กระจกตามอาคาร ซึ่งทราบหรือไม่ว่าความชื้นนี้เองเป็นตัวก่อให้เกิด “เชื้อรา” หากเราไม่ทราบเราก็ได้สูดเอาเชื้อราเข้าไปในร่างกายจนอาจเกิดอันตรายได้ เชื้อราที่ว่านี้หลายท่านคงคุ้นหน้าคุ้นตาตามขนมปัง ซ้ำร้ายบางท่านคิดว่าไม่เป็นไรตัดส่วนที่เป็นออกแล้วก็ทานได้ อันที่จริงแล้วผิดมหันต์ เพราะการที่จะเห็นเป็นจุดๆดวงๆของรานั้นคือเชื้อราได้แผ่ขยายสัดส่วนกระจายเต็มสิ่งของนั้นๆแล้วจึงผุดเป็นดอกขึ้นมา เสมือนกับเราปลูกต้นไม้จากเมล็ดที่เริ่มแยกออกเพียงใบเลี้ยงจากนั้นค่อยโตขึ้นพัฒนากิ่งก้านสาขาจนออกดอกสมบูรณ์ฉันใดฉันนั้น ดังนั้นคุณจึงรับประทานสปอร์ของเชื้อรา(เต็มขั้น)เข้าไปในร่างกายและอย่าคิดว่าน้ำย่อยในกะเพาะอาหารจะย่อยสลายได้ ซึ่งไม่จริง!!! ในเชื้อราบางชนิดนั้นความร้อนที่อุณหภูมิสูงๆ(มากกว่า 273 องศาเซลเซียส)ก็ยังไม่ตาย ฉะนั้นแล้วเลี่ยงได้เป็นดี อย่าเข้าทำนองเสียดายของมิฉะนั้นแล้วโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคร้ายที่อาจคร่าชีวิตโดยไม่รู้ตัว นอกจากในสภาวะอากาศชื้นแล้วสปอร์ของเชื้อราบางชนิดสามารถอยู่ได้ในที่แห้ง กรดสูง บางชนิดยังทนความร้อนสูง(เชื้อราในถั่วลิสง) แม้แต่การกินอาหารหรือยาที่มีการปนเปื้อนของสปอร์เชื้อราหรือมีเชื้อรา คุณก็มีโอกาสติดเชื้อราในสมองได้
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ(Meningitis) เกิดจากการติดเชื้อคริปโตค็อกคัส (crypto-coccus) และแบคทีเรียซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ เชื้อวัณโรค (ทีบี) และเชื้อเมนิงโกค็อกคัส (meningococcus) ซึ่งเป็นสาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีชื่อเรียกว่า “ไข้กาฬหลังแอ่น” นอกจากนี้ยังพบในเชื้อไวรัสและพยาธิ ที่พบบ่อยในบ้านเราก็คือพยาธิแองจิโอสตรองไจลัส (angiostrongylus cantonensis) ซึ่งอยู่ในหอยโข่งพบมากทางภาคกลางและภาคอีสานซึ่งคนอิสานมักนำมาบริโภคเป็นอาหาร
ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักมีอาการไข้ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนมากและคอแข็ง(คอแอ่นไปข้างหลังและก้มไม่ลง) ผู้ป่วยมักจะบ่นปวดทั่วศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีการเคลื่อนไหวของศีรษ (เช่น ก้มศีรษะ) ซึ่งมักจะปวดติดต่อกันหลายวัน กินยาแก้ปวดไม่ทุเลา ส่วนอาการไข้ อาจมีลักษณะไข้สูงตลอดเวลาหรือไข้เป็นพักๆ ถ้าเกิดจากพยาธิอาจมีไข้ต่ำๆหรือไม่มีไข้ก็ได้ ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย สับสน ซึมลงเรื่อย ๆจนกระทั่งหมดสติ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการกลัวแสง เห็นภาพซ้อน กลืนลำบาก แขนขาเป็นอัมพาตหรือชักติดต่อกันนาน ๆ
ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อาการอาจไม่ค่อยชัดเจน อาจมีไข้ กระสับกระส่าย ร้องไห้เสียงแหลม อาเจียน ชัก กระหม่อมหน้าโป่งตึง อาจไม่มีอาการคอแข็ง(ก้มคอไม่ลง)
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส อาจมีผื่นแดงจ้ำเขียวขึ้นตามผิวหนังร่วมกับอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน หลังแอ่น คอแอ่นคอแข็ง ชาวบ้านเรียกว่า “ไข้กาฬหลังแอ่น” (แปลว่า ไข้ออกผื่นร่วมกับหลังแอ่นหรือคอแอ่น) โรคนี้อาจพบระบาดได้
ในรายที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา มักมีอาการไข้ต่ำๆอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนนำมาก่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ ต่อมาจึงมีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนรุนแรง คอแข็งและอาจมีอาการชักร่วมด้วย มักพบในผู้ที่ป่วยเป็นโรคเอดส์
การวินิจฉัยโรคนี้ให้แน่ชัดต้องอาศัยการตรวจพิเศษต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ “การเจาะหลัง” โดยแพทย์จะใช้เข็มและอุปกรณ์เฉพาะทำการเจาะหลัง นำน้ำไขหลังไปตรวจหาเชื้อและสารเคมีเพื่อแยกแยะสาเหตุ ในกรณีที่สงสัยมีโรคอื่นร่วมด้วย(เช่น เอดส์ วัณโรคปอด)ก็อาจทำการเอกซเรย์ ตรวจเลือดและอื่นๆร่วมด้วย
การดูแลตนเอง
ผู้ป่วยที่มีอาการชักทุกคน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามี ไข้สูง ซึม หมดสติ คอแข็งร่วมด้วย ยกเว้นเด็ก(อายุ 6 เดือน ถึง 5 ขวบ) ที่เคยมีประวัติชักจากไข้มาก่อนและคราวนี้ก็มีอาการชักจากไข้คล้ายๆกัน ก่อนพบแพทย์ก็อาจให้การปฐมพยาบาล กินยาลดไข้และยากันชักตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่พบ ถ้าเกิดจากเชื้อวัณโรคจะให้ยาฆ่าเชื้อวัณโรค นาน 6-9 เดือน ถ้าเกิดจากเชื้อราจะให้ยาฆ่าเชื้อรา ถ้าเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งไม่มียารักษาจำเพาะจะให้การรักษาตามอาการซึ่งมักจะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อน
อาจมีผลแทรกซ้อนทางสมองตามมา เช่น แขนขาเป็นอัมพาต หูหนวก ตาเหล่ ปากเบี้ยว โรคลมชัก(ลมบ้าหมู) สมองพิการ ปัญญาอ่อน ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) เป็นต้น
การดำเนินโรค
ถ้าเป็นไม่รุนแรง และได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม มักจะหายขาดได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หรือเป็นแรมเดือน แต่ถ้าเป็นรุนแรง หรือได้รับการรักษาช้าไป อาจตายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองอย่างถาวรได้
การป้องกัน
- ป้องกันไม่ให้เป็นวัณโรค โดยการฉีดวัคซีน บีซีจีตั้งแต่แรกเกิด
- ป้องกันไม่ให้เป็นโรคพยาธิแองจิโอสตรองไจลัส โดยการไม่กินหอยโข่งดิบ
- ถ้าเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือไซนัสอักเสบ ควรรักษาอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เป็น เรื้อรังจนเชื้อเข้าสมอง
- ในกรณีที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น ควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการกินยาปฏิชีวนะ ได้แก่ ไรแฟมพิซิน
Reference : เชื้อรา – หมอชาวบ้าน