พล.ต.ท. ภาณุ เกิดลาภผล ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

cover-cop

พล.ต.ท. ภาณุ เกิดลาภผล เกียรติยศแห่งตำรวจไทย

ต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า ไม่บ่อยครั้งนักที่ พล.ต.ท. ภาณุ เกิดลาภผล จะเปิดโอกาสให้สื่อต่างๆเข้าสัมภาษณ์เนื่องจากภาระงานล้นมือในแต่ละวัน อีกทั้งต้องการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างทั่วถึง จึงเลือกที่จะทำเพื่อส่วนรวมให้ได้รับความสะดวก สบายกายและใจให้มากที่สุด แม้ว่าในวันนี้ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ยังมีผลงานให้ปวงชนชาวไทยได้ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้มีนโยบายรองรับการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AEC) รองรับอยู่ด้วยเช่นกัน ภารกิจที่ว่าคือการต้องเกี่ยวข้องโดยตรงของการเข้า-ออกประเทศไทยของผู้คน สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีการดำเนินการและเตรียมความพร้อม โดยมีเป้าหมายคือ Ready for ASEAN

หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลการจราจร ก็ได้รับฉายาว่า “กูรูจราจร” กูรูผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและแก้ปัญหาด้านการจราจร เพื่อให้ผู้สัญจรบนถนนได้รับความรวดเร็วสะดวกสบายในการใช้ถนน ปลอดภัย ไม่สูญเสียคุณภาพชีวิต

“ผมออกจากบ้านตี 5 ส่งลูกเสร็จก็ทำงานบนถนนตรวจลูกน้องตรวจรถ แล้วก็กลับมาบชน.ดูเอกสาร หาอะไรทานรองท้องง่าย เจ็ดโมงเช้าขึ้น ฮ. ไปดูจราจร ไม่อยากให้รถติด เด็กต้องไปเคารพธงชาติทันเป็นการฝึกวินัย พ่อแม่ส่งลูกแล้วก็ต้องไปทำงานทันด้วย ลูกผมเองก็ต้องตื่นเช้าตามผมด้วย(หัวเราะ) 16.30 น. บางวันก็ต้องขึ้น ฮ.ไปดูงานจราจรตอนบ่ายอีก กว่าจะถึงบ้านก็ดึกแล้ว จะได้นอนก็ 5 ทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว” พล.ต.ท.ภาณุ กล่าว

Hi-Class : ทุ่มเทกับงานจราจร เรียกได้ว่ากุมบังเหียน บก.จร. อย่างเหนียวแน่นร่วม 20 ปี

“แม้แรกเริ่มงานจราจรไม่ใช่งานที่ชอบหรือถนัด ก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ แต่เมื่อได้ศึกษาดูงานด้านการจราจรจากต่างประเทศประกอบกับได้ความรู้เพิ่มเติมจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา สบ.10 และ พล.ต.ท.มนตรี จำรูญ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์จากสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดูแลงานจราจรทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านการจราจร…

พ.ศ.2546 ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผบช.น. ดูแลการจราจร จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “กูรูจราจร” ได้ทำงานสำคัญระดับประเทศเช่น APEC, ฉลองครบ 60 ปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ, ฯลฯ จากนั้นได้ย้ายไปอยู่โคราช(ผบช.ภ.3) 1 ปี แล้วกลับมา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง”

กว่า 2 ทศวรรษที่รองฯภาณุได้ทุ่มเทให้กับงานจราจรอีกทั้งเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ในการดูแลประชาชนให้มีความเป็นระเบียบวินัยและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจ เป็นต้นว่า กล้องวงจรปิดจับความเร็ว, กล้องจับฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red-lined camera), กล้องตรวจจับความเร็วระบบเลเซอร์อินฟาเรดคุณภาพสูงที่สามารถตรวจจับผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถถ่ายภาพนิ่งและภาพวีดีโอได้นาน 6 ชั่วโมง มีระบบโปรมแกรมคอมพิวเตอร์รองรับการจัดส่งเอกสาร นอกจากนี้ยังสามารถใช้ติดรถเคลื่อนที่ได้อีกด้วย

Hi-Class : อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน

“…สิ่งเหล่านี้ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ในการลดความเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุ ทั้งนี้การดำเนินการจับกุมจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ลักษณะซึ่งหน้าและส่งหมายเรียกไปที่บ้านทำให้การฝ่าฝืนไฟจราจรลงลดลงอย่างเห็นได้ชัด จุดตั้งกล้องตรวจจับได้เลือกเส้นทางพื้นราบตามสถิตติการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเสียชีวิตและการแข่งขันรถในทางสาธารณะเป็นหลัก…

นอกจากสารพัดกล้องแล้ว เราจะเห็น “หุ่นจ่าเฉยอัจฉริยะ” ซึ่งเมื่อครั้งเปิดตัวใหม่ๆสร้างความฮือฮาให้กับผู้ใช่รถใช่ถนนว่ายังไมได้ทำผิดอะไรเลย ตำรวจมาวันทยหัตถ์ให้ที่หน้าต่างรถเสียแล้ว ซึ่งหุ่นจ่าเฉยนี้คือหุ่นจำลองตำรวจจราจรติดกล้องวงจรปิดและกล้องเรดาร์ตรวจจับความเร็ว จัดสร้างขึ้นครึ่งตัวและเต็มตัวเท่าคนจริงเป็นชายหนุ่มสวมเครื่องแบบตำรวจจราจร โดยมีทั้งที่อยู่ในท่าวันทยหัตถ์อย่างตำรวจ มีใบหน้ายิ้มแย้มและท่ายืนตรงมีใบหน้าเคร่งขรึม สำหรับป้องปรามผู้ขับขี่รถไม่ให้กระทำผิดและเพื่อลดอุบัติเหตุ ซึ่งก็ได้รับผลที่ดีตามคาด”

คนไทยอาจมีนิสัยชอบฝ่าฝืนอยู่ในโครโมโซม ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ แต่เข้าเอาจริงพี่ๆตำรวจจราจรนี่ก็แปลก แทนที่จะยืนอยู่ตรงป้ายห้ามกลับรถ พวกพี่ๆกลับไปแอบซุ่มโป่งตามพุ่มไม้ แต่ทันทีที่มีคนฝืนกฎ คุณตำรวจก็จะกระโจนออกมาจากที่ซ่อนฉับพลัน พลางโบกรถให้หยุด แต่ถ้าพี่ๆตำรวจจราจรยืนให้เห็นแบบโต้งๆ ถามว่าแล้วใครมันจะกล้าทำผิดกฎ แต่ก็เข้าใจว่าการยืนหัวโด่อยู่ตรงนั้นมันทั้งร้อนทั้งเมื่อย ว่าแล้วก็เลยทำตัวลับๆล่อๆแอบไปซุ่มโป่งตามพุ่มไม้ราวกับพวกถ้ำมองดีกว่า จ่าเฉยจึงถือกำเนิดมาเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

Hi-Class : เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติหน้าที่ เพราะมีจ่าเฉยยืนอยู่แล้ว ชอบแอบอยู่หลังจ่าเฉยและหากินกับประชาชนโดยการรีดไถ

“จุดด้อยของตำรวจไทยคืออะไรรู้หรือเปล่า?…ปัญหาเงินเดือนน้อย ค่าตอบแทนซึ่งแต่ละคนได้รับน้อยมาก เมื่อเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์แล้วน่าใจหาย เงินเดือนเขาสูงกว่าเราเยอะ ปัจจุบันตำรวจไทยเราถูกเลี้ยงแบบให้กินพอคนเดียว ไม่ได้เผื่อแผ่ถึงลูกเมียหรือสมาชิกในครอบครัว ยิ่งเป็นชั้นผู้น้อยยิ่งแล้วใหญ่ ลองคำนวณดู เปิดเทอมทีต้องจ่ายกัน 2-3 หมื่น เงินเดือนตำรวจปัจจุบันจะพออะไร

…ตำรวจไทยหรือผู้หมวดจบใหม่เงินเดือนเจ็ดพันบาท ลองคิดดู อยู่ กทม. อยู่ได้ไหม? ถ้าไม่มีแฟลตนี่ตายเลย แล้วถ้าเกิดเขาไปมีเมียมีลูกล่ะยิ่งไปกันใหญ่ เขาก็เลยต้องทำทุกทางเพราะมันจำเป็น…หลักวิธีการง่ายๆหากต้องการให้ตำรวจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพคือต้องมีผลตอบแทนที่พอเพียงให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่ขัดสนแต่ปัจจุบันไม่ใช่ หากให้เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของตำรวจไทยกับตำรวจในประเทศแถบเพื่อนบ้าน ตำรวจไทยกินขาดเพราะมีความสามารถเฉพาะตัวสูง การคลี่คลายคดีทุกคดีใช้ฝีมือล้วนๆเพราะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาตำรวจไทยมีเทคโนโลยีให้ใช้น้อย ต้องทำงานท่ามกลางสภาวะปากกัดตีนถีบเพราะได้รับค่าตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบโดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย”

Hi-Class : แบบนี้แล้ว มีโอกาสที่ตำรวจจบใหม่จะได้ลืมตาอ้าปากกับเขาได้บ้างไหม

“ 6-7 ปีแรกหลังจบถือว่าสาหัสเอาการ เร็วๆนี้ก็เพิ่งใช้วิธีเลื่อนขั้นตำรวจชั้นประทวนที่มีวุฒิปริญญาตรีเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรติดยศ “ร.ต.ต.” จะได้มีเงินเดือนสูงขึ้น แต่ก็ติดปัญหาอีก เนื่องจาก “ผู้หมวดใหม่” เหล่านี้ไม่อยากทำงานเสี่ยงๆโดยเฉพาะงานด้านสายตรวจ ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามหาทางแก้อยู่เป็นระยะ แต่ติดปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีบุคลากรรวมกันกว่า 2 แสนคนทั่วประเทศ จะขยับเขยื้อนทำการใดโดยเฉพาะเรื่องเงินๆทองๆต้องใช้งบประมาณมหาศาล เลยต้องคิดหลายตลบ”

Hi-Class : ในวันนี้บทบาทได้เปลี่ยนไปจากกูรูจราจร เป็น ผบช.สตม. อะไรเป็นสิ่งที่น่าหนักใจ

“ปัญหายาเสพย์ติด แรงงานเถื่อน ผู้ร้ายข้ามแดน ยังคงมีอยู่ ซึ่งได้ดำเนินการปราบปรามอย่างเคร่งครัดแล้ว เพราะขณะนี้เราก็เตรียมตัวสู่ AEC เรายิ่งต้องควบคุมในประเทศเราให้ดีเด็ดขาดเพื่อให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ในประเทศไทยนับล้านคน เกินกว่าครึ่งอยู่อย่างผิดกฎหมาย โดยจำนวนไม่น้อยหลบหนีเข้าเมือง อีกไม่น้อยอยู่เกินกำหนดและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต บางรายหนีคดี บางรายเข้ามาตั้งตัวเป็นมาเฟียในบางจังหวัด เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร ตาก เป็นต้น คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องอยู่อย่างหวาดผวา เกรงเป็นอันตรายเพราะหันไปทางไหนก็เจอแต่ต่างด้าว ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมายาวนานจนเรื้อรัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความหย่อนยานหละหลวม เห็นแก่ได้เห็นแก่ตัวจนหลงลืมผลกระทบต่อประเทศชาติของคนบางกลุ่มบางจำพวกที่มีคุณลักษณะพิเศษ “ปากขยับได้ แม้ท้องอิ่ม” ปัญหาเหล่านี้ผมจะจัดการให้หายไป”

panu2

Hi-Class : วิสัยทัศน์ใหม่ของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ประเทศไทย

“เราต้องมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยี ปัจจุบันเรามีอัตรากำลังพล 4,200 กว่าคน ซึ่งถือว่าน้อยจึงเป็นเหตุผลที่เราเน้นเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้คนน้อยลงและ ตม.เองก็มีการวิเคราะห์โครงสร้างใหม่เพื่อรองรับอาเซียนโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นนโยบายข้อที่สองที่เราจะทำเพื่อรองรับอาเซียน โครงสร้างที่จะมีการปรับอย่างเช่น กองสืบของเราควรจะเป็น 7 กอง (จาก 4 กอง)เพื่อรองรับการควบคุมกำกับดูแลคนต่างชาติที่มาทำความผิดในประเทศไทย ฯลฯ กองสืบต้องขยายมากขึ้น ศูนย์เทคโนโลยี เดิมมีรองผู้การอยู่ก็ขยายเป็นกองบังคับการ มีผู้บังคับการเป็นหัวหน้าเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่จะต้องดูแลอีกเยอะ

ศูนย์ฝึกอบรมเรามี Immigration Academy ตำรวจทุกคนจะเข้ามาสู่ ตม. ต้องมาผ่านกระบวนการนี้ เพราะวิชา ตม.ไม่มีสอนที่ไหน วิชาการดูพาสปอร์ต ดูท่าทางคน ฯลฯ เรามีศูนย์นี้อยู่ที่ดอนเมือง เดิมทีมีแค่ผู้กำกับเป็นหัวหน้าก็ต้องขยายให้เป็นรองผู้การเพื่อให้มีกองกำกับดูแลมากขึ้น รวมทั้งตำรวจ ตม.ตามหัวเมืองต่างๆเดิมทีเมื่อคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในบ้านเรา กระบวนการดูแลเขาว่าอยู่อย่างไร ทำผิดหรือไม่ ขบวนการนี้คนตรวจสอบน้อย เราใช้ตำรวจท้องที่เข้ามาช่วยในการตรวจสอบแต่ทักษะเขาไม่มี ตม.หัวเมืองควรจะมีหน่วยหนึ่งที่เรียกว่ากองกำกับการบริการคนต่างด้าว หรือ บคด. กองกำกับที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน เดิมทีมีอยู่ 6-7 คน ดูแล 10 กว่าจังหวัด เราก็ขยายให้เป็นกองกำกับ มีกำลังคนเพิ่มขึ้นเพื่อจะคอยกำกับดูแลคนต่างชาติที่เข้ามา ไม่ว่าเข้ามาเที่ยว มาพักอาศัย ใช้ชีวิตบั้นปลาย มาประกอบอาชีพ ทุกวันนี้ดูเหมือนไม่มีใครไปดู เข้าประเทศบางทีมาฝังตัว มาทำผิด เราก็ต้องเพิ่มหน่วยงานนี้ขึ้นมา การขยายโครงสร้างเพิ่มขึ้นนี้เป็นเรื่องที่ทำไปแล้ว ผ่านขั้นตอนของ ตม.ไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดิมคาดการณ์ว่าเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาน่าจะผ่านขั้นตอนแต่ยังล่าช้าอยู่

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เรากำลังทำคือ การยกฐานะด่านต่างๆเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้เป็นพัฒนาด่านที่เป็นประตูการค้า AEC จำนวน 8 ด่าน คือที่ แม่สอด (จว.ตาก) เชียงของ(เชียงราย) หนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี สระแก้ว สะเดา (จว.สงขลา) ปาดังเบซาร์ เพราะฉะนั้นคนที่ดูแลด่านตรงนี้ต้องเป็นผู้กำกับที่ต้องมีกำลังพลมากพอสมควรเพราะจะเป็นด่านการค้าที่มีรถเข้าออกเยอะ ทั้งบรรทุกคน บรรทุกของ ผมและท่านรองได้ไปคุยเรื่องนี้กับศุลกากร เพราะต้องทำงานร่วมกัน ได้มีการดีไซน์ด่านให้สอดคล้องกัน ว่าเข้ามาประเทศแล้วเจอ ตม. แล้วเจอศุลกากร เหมือนสนามบินเข้ามาก็ต้องเจอใครก่อน ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ได้คุยกับอธิบดีศุลกากรท่านรับปากในเรื่องของการทำด่านร่วมกัน ท่านยกตัวอย่างด่านสะเดาที่จะเกิดขึ้นใหม่ จะเป็นด่านในอุดมคติ ท่านจะให้เราเข้าไปร่วมดีไซน์แบบ นี่คือ ตัวด่านที่ต้องพัฒนา นอกจากนั้นจะมีการยกระดับด่านถาวรเพิ่มอีก 3 ด่าน

 

การเพิ่มเทคโนโลยี การปรับโครงสร้างการทำงานต่างๆ ทำให้เราต้องพัฒนาคนให้เหมาะสมโดยมีโรงเรียนซึ่งคงจะเน้นการฝึกคนในเรื่องทักษะวิชาชีพด้านภาษาและทักษะทางด้านเทคโนโลยี เรื่องภาษา คนที่จะเข้ามา ตม. พื้นฐานภาษาอังกฤษต้องผ่านการทดสอบ เราเปิดโอกาสให้ตำรวจทั่วประเทศเข้าสู่ระบบกึ่งๆจะเสรี ถ้าต้นสังกัดไม่ขัดข้องแต่มีข้อแม้เดียวคือต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษจากเราก่อน นอกจากนั้นในบางด่าน เช่น ด่านแม่สอด ที่จะให้เขาเอาครูพม่ามาสอนนายด่าน ทางด่านมาเลเซีย ปาดัง เบซาร์ จะมีคนมาเลเซียที่พูดภาษาไทยได้มาสอนการสื่อสารพื้นฐาน”

 

Hi-Class : Campaign “Ready for ASEAN” ของท่านคืออะไรครับ ?

“นโยบายหนึ่งของเราในการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเป็นหน่วยแรกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องทำเรื่องพวกนี้เพราะเมื่อมีการเปิดเสรีแน่นอนว่าจะต้องมีการหลั่งไหลของพลเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนสิบประเทศก็จะมากขึ้น ประกอบกับไทยเราเหมือนเป็นศูนย์กลางอาเซียน เรามีพรมแดนทางบกติดกับ 4 ประเทศ คือมาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา มีทางอากาศติดต่อกับทุกประเทศเพราะเราเป็นศูนย์กลางคมนาคมด้วย ดังนั้นความพร้อมของเราต้องสูงกว่าหน่วยงานอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากข้อจำกัดในเรื่องกำลังพลของเราและการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในหลายเรื่อง ไม่ว่าการท่องเที่ยว การแพทย์ การคมนาคม ฯลฯ เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามาประเทศไทยไม่ใช่พี่น้องอาเซียนอย่างเดียวแต่เป็นพี่น้องจากทั่วโลกที่จะเยอะมากๆ ผมจึงให้นโยบายที่จะเน้นใน 3 หัวข้อหลัก เรื่องแรกคือ เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ ตม.ในด่านทุกด่าน เข้าทางไหน ออกทางไหน ตม. ต้องรู้หมด เข้าเมื่อไร ตอนนี้ทางอากาศเราพร้อม ปีที่แล้วที่ด่านสุวรรณภูมิคนเข้ามา 47 ล้านคน ส่วนด่านชายแดนเรามี 40 กว่าด่าน แต่ระบบของการเชื่อมข้อมูลเรายังมีไม่ครบ บางด่านคนเข้ามา ขับรถเข้ากรุงเทพฯ ขึ้นเครื่องบิน สนาม-บินยังไม่รู้เลย เพราะระบบยังไม่เชื่อมกัน เพราะฉะนั้นเราจึงพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี สำหรับระบบที่เราใช้ดูแลการเข้าของคนในด่านต่างๆทุกวันนี้มีสองระบบคือ PISCES บวก PIBICS

 

ระบบ PISCES เราก็ใช้คุมสนามบิน เดิมใช้ใน 5 สนามบิน ด่านชายแดนอีก 5 ด่าน ตอนหลังระบบ PISCES ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะคุมหลักๆ คือที่สุวรรณภูมิ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีระบบ PIBICS ช่วยสนับสนุนดูแลตามสนามบินนานาชาติ และด่านชายแดนทั้งหมด ด่านทางน้ำจะมีการใช้ PIBICS แต่ยังไม่สมบูรณ์ เหลืออีก 22 ด่าน คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้จะเสร็จสมบูรณ์ ด่านทุกด่านที่เป็นด่านพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านจะมีระบบ PIBICS ที่เชื่อมออนไลน์ถึงกัน เช่นใครที่เข้ามุกดาหาร มาขึ้นสุวรรณภูมิต้องรู้ทันที ว่าคนนี้เข้ามาทางด่านมุกดาหาร มาเมื่อ 5 ชั่วโมง เป็นการเพิ่มระบบเข้าไปให้ครอบคลุม เดิมทีมีเฉพาะบางด่าน อย่างไรก็ตามทั้งสองระบบที่กล่าวมานี้เหมือนกัน เพียงแต่การดำเนินการเป็นคนละบริษัท เราพยายามทำให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ แต่ระบบ PISCES ซึ่งใช้ที่สนามบินก็ยังมีความจำเป็นอยู่ ซึ่งเราจะมีการนำทั้งสองระบบให้เชื่อมออนไลน์กัน ปรับข้อมูลให้ทันสมัยเข้าหากัน เมื่อเราพัฒนาระบบ PIBICS ครอบคลุมในเดือนสิงหาคมทุกด่านของประเทศไทย เพื่อรองรับคนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในบ้านเรา เราจำเป็นต้องขยายคลังข้อมูลของเรา เพราะคลังข้อมูลของเราไม่น่าจะพอแล้ว ในปี 2558 เฉพาะสนามบินอย่างเดียวก็ 60 ล้าน ชายแดนอีกไม่รู้เท่าไร ก็จำเป็นต้องขยายคลังข้อมูล PIBICS เฟส 3 ก็จะครอบคลุมได้อีก 5 ปี ซึ่งเราก็กำลังเร่งดำเนินการ ปีหน้าก็น่าจะจบเช่นกัน

 

นอกจากระบบรองรับการเข้าเมืองหลักๆแล้ว เรายังมีการพัฒนาเทคโนโลยีย่อยอื่นๆ เช่น ที่จะรองรับตามด่านชายแดนคือระบบ Finger Print ใช้งบประมาณอีก 300 กว่าล้าน โดยเน้นด่านทางบก ทุกวันนี้เราใช้เอกสารแต่ยังไม่สมบูรณ์ ใช้พาสปอร์ตชั่วคราว หนังสือเดินทางชั่วคราว หรือระบบผ่านแดนชั่วคราว ไปเช้าเย็นกลับ เข้ามา 7 วันแล้วออกไป พวกนี้เยอะ และไม่ได้ผ่านระบบของ ตม. แต่ผ่านกระทรวงมหาดไทยที่เรียก Border Pass เราจึงต้องมีระบบพิมพ์มือเข้ามาประกอบ ให้รู้เข้ามาอย่างไร เข้ามาแล้วออกไปหรือไม่ แต่ทุกวันนี้ยังไม่มี เราจะพัฒนาให้เสร็จก่อนปี 2558 เช่นกัน

 

บางด่านที่มีคนเข้าออกเยอะๆเราก็มีการใช้บัตร Smart Card สำหรับคนที่เข้าออกทุกวัน เพื่อทำฐานข้อมูลเบื้องต้น พิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายรูป รูดการ์ด ตอนนี้ทดลองทำที่ด่านอรัญประเทศ ที่จะทำต่อไปคือ ที่ด่านแม่สอด ด่านหนองคาย คือ ในด่านใหญ่ๆ จะใช้แบบนี้ทั้งหมด รวมทั้งได้ประสานกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ อยากให้คนไทยที่เดินทางบ่อยๆ นอกจากมีพาสปอร์ตแล้ว น่าจะมีการ์ดอีกใบ ที่มีข้อมูลเหมือนในพาสปอร์ต เพื่อสะดวกในการใช้ Auto Gate ซึ่งสนามบินในต่างประเทศคนที่เป็นพลเมืองของเขาจะมี Automatic Channel ซึ่งใช้การ์ดรูด บ้านเราใช้พาสปอร์ต แปะแล้ว เข้าไปพิมพ์มือ ไม่ต้องผ่านเจ้า-หน้าที่ ทุกวันนี้ Auto Gate มีเฉพาะสุวรรณภูมิ เรากำลังจะขยายไปสนามบินนานาชาติ อย่างเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงราย เราตั้งงบประมาณแล้ว รวมถึงด่านชายแดน เช่น อรัญประเทศ ที่มีคนไทยข้ามไปวันละ 2,000-3,000 คน บางทีถึง 4,000 คน ก็ควรจะได้รับการบริการ Auto Gate ด้วยเช่นกัน เพื่อลดความคับคั่ง เมื่อตอนที่ท่านนายกฯ ไปตรวจเราก็ถือโอกาสเสนองบประมาณตรงนี้ไปด้วย ประมาณ 37 ล้าน เฉพาะที่ด่านอรัญฯ เพราะที่สระแก้ว จะใช้งบของจังหวัดทำ Auto Gate สำหรับการเข้า-ออกของคนไทย

 

เรื่องของเทคโนโลยีเราต้องทำให้ได้ เพราะกำลังคนของเรารับไม่ไหว ระบบคีย์การ์ดเป็นระบบที่ต้องทำให้เสร็จก่อน งบประมาณตั้งแล้ว และดำเนินการแล้วบางส่วน คิดว่าทั้งหมดไม่ว่า Finger print, Auto Gate และระบบ PIBICS ครบทุกด่าน รวมทั้งฐานข้อมูลต่างๆ ต้องเสร็จก่อน ใช้งบประมาณเป็นพันล้าน ถามว่าเงินมีไหม เงินที่จะนำมาใช้นอกจากจะเป็นการสนับสนุนจากรัฐบาล เราก็ใช้เงินค่าธรรมเนียม ซึ่ง ตม.จัดเก็บส่งกระทรวงการคลัง ปีที่แล้ว 4,600 กว่าล้าน ตอนนี้ทำข้อตกลงกับกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางเพื่อของบประมาณส่วนหนึ่งมาซื้อระบบ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาระบบ PIBICS เฟส 2-3 ก็ใช้เงินก้อนนี้ ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณ”

 

Hi-Class : เทคโนโลยี กำลังคน สถานที่ กฎหมาย ท่านคิดว่าอะไรจะเป็นปัญหามากที่สุด

“เรื่องกฎหมายนี่คงช้าที่สุด เพราะต้องผ่านกระบวนการ ตอนที่ผมคุมเรื่องจราจรผมเคยขอแก้กฎหมาย พรบ.จราจร มาตราหนึ่งประมาณ 2 ปีกว่า อย่างอื่นผมไม่ห่วง เรื่องสถานที่คุยกับศุลกากร น่าจะเสร็จได้พอดี แต่กฎหมายนี่ผมยังห่วง อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรืองของการพัฒนาใน 4 เรื่องให้ทันประเทศอื่น ที่เป็นรูปร่างมากสุดก็คือเทคโนโลยี สถานที่ก็คุยกับศุลกากรแล้ว กฎหมายก็มีคณะกรรมการดำเนินการกันอยู่ ปรับโครงสร้างก็คิดว่าน่าจะเสร็จในปีนี้ เป้าหมายคือพร้อมก่อน พร้อมให้เร็วที่สุด เราไม่ได้มองเฉพาะอาเซียนอย่างเดียว แต่ต้องมองทั้งโลก ซึ่งทุกอย่างต้องผ่าน ตม.หมด เราก็จะต้องรับตรงนี้ให้ได้ ก็คิดว่าไม่ว่าจะอยู่ปีเดียวหรือสองปีก็ต้องทำให้เสร็จให้รองรับได้ไม่ตามหลัง”

panu3

 

Hi-Class : ปัญหายอดฮิตติดหูจากโทรทัศน์คือ “ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่กฎหมาย”

“ประเทศเพื่อนบ้านเราปัญหาส่วนใหญ่คือระบบการทำหนังสือเดินทางยังไม่ค่อยทันสมัย ความทั่วถึงยังไม่มี อีกทั้งราคาแพง ที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นปัญหาในการข้ามอาเซียน คนที่เดินทางมันมีทุกระดับ แต่ระดับล่างเยอะ การทำหนังสือเดินทางเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะแพง อย่างแรงงานทุกวันนี้ทำไมถึงมีแรงงานนอกระบบเยอะ เพราะค่าทำพาสปอร์ตชั่วคราวเล่มละ 500 บาท แต่ไปทำทางลาว กับกัมพูชา แพงกว่าเราเท่าตัว อาจต้องเสียเป็นหมื่น ทุกวันนี้ทางพม่าจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่า การทำเอกสารแสดงตน พาสปอร์ตชั่วคราวถูก มาเสียให้กระทรวงแรงงานทำ Bio data, Working Permit ค่าธรรมเนียมให้ ตม. เบ็ดเสร็จของพม่าไม่น่าจะเกิน 5-6 พันบาท

 

ในเรื่องนี้เรามีการคุยกับกระทรวงแรงงานเพราะเป็นหน่วยหลักในเรื่องของแรงงาน ตอนนี้มีการเปิด One Stop Service จำนวน 12 ศูนย์ คือ ในศูนย์มีเจ้าหน้าที่ทูตออกหนังสือเดินทางชั่วคราว มีการทำ Bio data มีการออก Working Permit โดยกระทรวงแรงงาน ขบวนการของ ตม.คือ Stamp ให้อยู่ 2 ปี เพื่อทำงาน ทั้ง 12 ศูนย์เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องได้ใช้บริการตรงนี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน เขาเปิดมาตั้งแต่เดือนธันวาคม สิ้นสุด 13 เมษายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีแรงงานที่ตกค้างมาแสดงตนไม่ครบ ตอนนี้ก็มีการขยายเวลาไป 120 วัน นับตั้งแต่ 13 เมษายน ตอนนี้การบริการนี้จะมีที่ แม่สอด เชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ระยอง สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวน 12 ศูนย์ เมื่อครบ 120 วันแล้วก็จะปิด ซึ่งความเห็นของผมจริงๆ ศูนย์น่าจะมีการดำเนินการต่อ เพราะความต้องการมันยังมี บางทีนายจ้างที่เปิดใหม่เขาก็อยากได้แรงงานอีก จะเอาจากไหน ศูนย์นี้ควรจะมีกึ่งๆที่กรมแรงงานเพื่อรองรับต่อจาก 120 วันแล้ว ก็เป็นเรื่องของกระทรวงแรงงาน

 

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ตม. ก็คือพวกที่ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน ตอนนี้ที่เดินเข้ามาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเห็นว่ามีคนมารอกันตั้งแต่เช้า ตรงนี้จะเป็นพี่น้อง 3 สัญชาติที่ทำงานในกทม.ทุกคนต้องมารายงานตัวที่นี่ เราก็บอกว่าอยู่ตรงนี้มันไม่ค่อยมีระเบียบและเป็นภาระกับผู้ประกอบการด้วย ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 เราเปิดศูนย์แบบนี้ให้แรงงานสามสัญชาติที่ต้องรายงานตัวทุก 90 วันมาใช้บริการได้ที่บิ๊กซี ราษฎร์บูรณะ ( เปิด-ปิดพร้อมห้าง และเปิดอีกหนึ่งศูนย์ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว เปิด-ปิดพร้อมห้างเช่นกัน ที่สำนักงานฯเราก็จะปิด ส่วนสัญชาติอื่น เขาไปทำที่ศูนย์ราชการก็สะดวกอยู่แล้ว ผู้ประกอบการจะได้ไม่ต้องเสียเวลา สามารถทำงานตอนกลางวัน ตอนเย็นก็ไปรายงานตัว”

 

Hi-Class : เรียกได้ว่ามีอะไรให้ต้องคิดหนักไม่แพ้งานจราจร

“การมารับตำแหน่งนี้เป็นช่วงประจวบเหมาะกับจังหวะที่ต้องเปลี่ยนทั้งเรื่องของการเปิดเสรีอาเซียนและความต้องการของแรงงานในการขยายตัวทางด้านของเศรษฐกิจ อย่างปัญหาเรื่องแรงงานเท่าที่ผมดูส่วนใหญ่เกิดจากการทำเอกสาร เคยคุยกับแรงงานว่าทำไมไม่ระบุว่าขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การทำ Bio data, Working Permit ฯลฯ เสียค่าใช้จ่ายรวมแล้วเท่าไร เพราะตอนนี้เสียค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ซึ่งก็มีการโทษว่าตม. เพราะฉะนั้นในความเห็น ศูนย์ที่ให้บริการแบบครบวงจรแบบนี้ควรมีต่อไป อาจจะเป็นกึ่งๆ เพื่อให้แรงงานพม่า ลาว หรือกัมพูชาได้รับความสะดวก ผู้ประกอบการก็ไม่เป็นภาระมาก ก็จะเป็นรายได้เข้าประเทศที่ถูกต้อง เป็นแรงงานที่ถูกต้อง นายจ้างก็สบายใจ ผมเชื่อว่าเขายินดีจะจ่าย เป็นข้อเสนอที่นอกเหนือจากหน้าที่ แต่ก็เป็นข้อเสนอจากสิ่งที่เราได้สัมผัส”

 

Hi-Class : เป้าหมายที่สูงสุดของท่านในขณะนี้กับการเปิดประเทศสู่อาเซียน

“ถ้าให้ครอบคลุมในทุกด้านผมว่าอยากได้เจ้าหน้าที่ประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่งเราเพิ่มเป็น 4,200 คน ก็เพิ่งได้ในยุคนี้ คือตม.นั้นมีสองบทบาท คือ บทบาทเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจ จับยาเสพติด จับผู้ร้ายได้เหมือนกัน สอง บทบาทเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง บทบาทนี้เมื่อเข้าสู่อาเซียนจะมีความสำคัญมาก กำลังเราไม่พอ บางงานเราถึงละเลย เช่น มาตรา 38 เรียกได้ว่าหายไปเลย ไม่มีการติดตามดำเนินการเลย พอเริ่มมีกำลังเราก็เริ่มทำ เปิดหน้างานใหม่ รวมทั้งบางด่านพอเริ่มมีกำลัง เราก็เปิดด่านตั้งตรวจสอบการสกัดกั้น”

 

Hi-Class : ภาระงานหนักหนาเอาการ สมาชิกในครอบครัวมีความเห็นว่าอย่างไร

โชคดีที่ภรรยา(นางทัดดาว เกิดลาภผล)เข้าใจและเสริมกันมาโดยตลอด ซาบซึ้งถึงน้ำอดน้ำทนของภรรยาที่เลี้ยงลูกชายสองคนโตจนเรียนมหาวิทยาลัย(ดนุ และ ดนิษฐ์ เกิดลาภผล) เป็นแม่ที่ดีของลูก ผมเลยทำงานได้อย่างหมดห่วง สิ่งที่เป็นความประทับใจในภรรยาคือมีความรักให้กันมาตั้งแต่เริ่มสร้างครอบครัวด้วยกัน ต่างคนต่างทำงานเก็บหอมรอมริบช่วยกันสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบไปทีละขั้น เมื่อมีลูกผมก็ให้เธอเป็นแม่บ้านเต็มตัวจะได้ไม่เหนื่อยมาก ผมส่งลูกตอนเช้าเย็นเธอไปรับกลับ

 

Hi-Class : อะไรที่ทำให้เป็นครอบครัว “เกิดลาภผล” อบอุ่นและรักใคร่อยู่ร่วมกันมายาวนาน

“ความหนักแน่นและเชื่อมั่นในกันและกัน เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันอยู่แล้วว่าบุคคลในเครื่องแบบมีผู้คนมากหน้าหลายตามาเกี่ยวข้อง คุณทัดดาวเปรียบเสมือนน้ำนิ่ง เป็นคนใจเย็น เชื่อมั่นและให้เกียรติกันเสมอ เธอเป็นคนสบายๆ เรียบง่าย ไม่เคยขัดขวางเรื่องการทำงาน มาเช้ากลับมืดหรือเสาร์-อาทิตย์ออกจากบ้านไม่เคยบ่น ถ้ารู้ว่ามาทำงานนี่ให้เต็มที่เลย ผมก็สามารถทุ่มเทกับงานได้เต็มที่ ยิ่งตอนทำงานจราจรนี่แทบไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย”

Hi-Class : การแบ่งเวลาให้กับครอบครัวในแบบฉบับ ผบช.สตม.

“มีเพียงวันเดียว วันอาทิตย์กลายเป็นวันครอบครัวโดยปริยายที่ทุกคนในบ้านได้อยู่พร้อมหน้า ทำกิจกรรมร่วมกันภายในบ้าน ผมร่วมกับภรรยาในการตกแต่งบ้านกันเองให้เป็นบ้านสไตล์รีสอร์ท “บ้านเกิดลาภผล” มีเนื้อที่ 284 ตารางวา ตั้งอยู่ชานเมืองย่านบางแค ตกแต่งกำแพงด้วยไม้เนื้อดีขัดมันเสริมด้วยหินกาบสีน้ำตาลอ่อน ส่วนตัวบ้านทำด้วยไม้สไตล์โมเดิร์น มีต้นไม้ไทยโบราณนานาพันธุ์ที่โอบล้อม สร้างความร่มรื่นให้กับบ้าน ชอบกลิ่นหอมของ ไม้ไทยโบราณ โดยเฉพาะจำปา จำปี เพราะภรรยาก็ชอบเช่นกัน อีกทั้งพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดจึงทำให้มีความผูกพันกับต้นไม้ วันว่างมักจะขลุกอยู่ในสวน ตัดแต่งกิ่งไม้บ้าง พรวนดินใส่ปุ๋ยบ้าง โดยไม่ต้องศึกษามากนัก เพราะซึมซับมาตั้งแต่เด็ก นอกจากต้นจำปา จำปี ที่ชอบเป็นพิเศษแล้ว ยังชอบต้นกล้วยหมูสัง เพราะเป็นไม้พันธุ์เลื้อยเนื้อแข็งประจำท้องถิ่นทางภาคตะวันออก และบ้านที่จังหวัดระยอง ได้ปลูกไว้ในสมัยเด็กๆ จึงทำให้สามารถระลึกถึงบ้านเกิดได้ ว่างๆก็จะมานั่งดูปลา ชอบปลาคาร์ฟเพราะเป็นปลาที่อดทน เชื่องช้า มีสีสันสวยงาม ดูไม่น่าเบื่อ มูลค่าของปลาจะเพิ่มตามขนาดตัว ซึ่งปกติเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์ ก่อนหน้านี้เคยเลี้ยงนกในกรง แต่รู้สึกว่าเหมือนเป็นการทรมาน จึงหันมาเลี้ยงปลาคาร์ฟ สร้างบ่อ 27 ตัน ให้กว้างเพื่อปลาจะได้มีเนื้อที่ในการแหวกว่ายอย่างอิสระ”

 

Hi-Class : คำจำกัดความของ “ครอบครัวเกิดลาภผล”

“พ่อบ้านดูแลหน้าที่หลักของครอบครัวเรื่องต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่าย หาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครับครัว แม่บ้านก็ดูแลลูกเรื่องต่างๆ การเรียน พยายามหาเวลาอยู่ด้วยเสาร์,อาทิตย์หากิจกรรมทำร่วมกัน อยู่ไปนานๆเสมือนเพื่อนที่ดีต่อกัน เข้าใจกัน ปรับทุกข์ผูกมิตรกันจะอยู่กันไปจนกระทั่งจากกัน”

Story : Kittisak Kandisakunanont    Photo : Kasem Jiramongkolrat

 

 

Related contents:

You may also like...