THE DANCE MASTER

pichet-klunchuen

พิเชษฐ์ กลั่นชื่น…แสงเทียนเริงระบำ แห่งรัตติกาลศิลป์

สิ่งที่ผมทำมันอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร มันเหมือนกับการเปิดแสงสว่างในที่มืดให้คนได้เห็น”

กระแสวัฒนธรรมใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย กำลังเปลี่ยนแปลงและกลืนกลายวัฒนธรรมดั้งเดิม สังคมและวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกขณะจิต ไม่มีเหตุผลที่จะตัดสินคุณค่าสูงต่ำระหว่างของเก่ากับของใหม่ ของในกับของนอก ไม่มีสิ่งใดแท้หรือเทียม แม้แต่สิ่งจอมปลอมที่สุดก็ยังบอกเล่าความจริงของตนเองอย่างสง่าผ่าเผย ไม่มีใครจะสามารถแช่แข็งวัฒนธรรมเดิมๆ เอาไว้ได้ แต่หากยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน และรู้จักรากฐานของวัฒนธรรมดีพอ วัฒนธรรมนั้นย่อมไม่มีทางสูญหายไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังผสมผสานความจริงแห่งยุคสมัยไว้ได้อย่างงามวิจิตร คงคุณค่าด้วยอัตลักษณ์ ยากที่ใครจะเลียนแบบ…แน่นอน เรากำลังพูดถึง โขนร่วมสมัย ของ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ศิลปะการแสดงร่วมสมัยที่ยังคงมีชีวิตและเลือดเนื้อกระโดดโลดเต้นตามจังหวะทำนองแห่งปัจจุบันมายา

พิเชษฐ์ กลั่นชื่น เป็นศิลปินสาขาศิลปการแสดงร่วมสมัย ที่หลายคนพึงใจจะเรียกขานเขาว่า ‘นักรำไทย’ ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไกลทั่วโลก มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับสากล เขาได้เข้าร่วมแสดงงานในเทศกาลเต้นในระดับนานาชาติในหลายประเทศทั้งเอเชีย อเมริกาและยุโรปอย่างต่อเนื่องในฐานะศิลปินนักเต้นจากประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 พิเชษฐ์ ได้เปิดสถาบันการเต้น Pichet Klunchun Dance Company ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานศิลปะการเต้นและสร้างนักเต้นอาชีพ โดยเน้นการฝึกฝนทางด้านรำไทยเป็นพื้นฐาน

แม้อายุอานามและสังขารของเขาจะยังหนุ่มแน่น แต่ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ได้รับการยกย่องในฐานะศิลปินชั้นครู ใครๆเรียกขานเขาว่า อาจารย์ และด้วยแรงกล่าวขวัญว่า ผลงานของเขากำลังกลายเป็นตำนานที่มีชีวิต เราจึงได้ฤกษ์บุก ‘โรงละครช้าง’ เยี่ยมเยือนถิ่นศิลปินนักรำไทยผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค ผู้ประกาศชัดเจนว่า ณ วันนี้ เขาคือศิลปินมืออาชีพ เลี้ยงชีพด้วยการทำงานศิลปะการแสดงเป็นหลัก มิได้รับจ๊อบเสริมเป็นครูอาจารย์คอยสั่งสอนใคร

 

คำว่าร่วมสมัยในทรรศนะของคุณ

จุดเริ่มของงานร่วมสมัย เกิดขึ้นประมาณสามสิบปีมาแล้ว หมายถึงงานศิลปะที่สะท้อนหรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นตัวเราในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าถามว่าโขนร่วมสมัยเกิดขึ้นเมื่อไร ที่จริงแล้วโขนร่วมสมัยไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาของผม มันเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ทุกคนไม่ได้ยอมรับว่ามันเป็นงานร่วมสมัย ยกตัวอย่างงานโขนสมัยก่อนที่เป็นประเพณี เราจะเล่นกัน มีเสียงพากย์ มีออกกราว ตรวจพล หลังจากนั้นผมคิดว่าสิบยี่สิบปีที่ผ่านมาโขนมันถูกตัดให้สั้นลง อย่างเช่นออกกราว ตรวจพล ครั้งละยี่สิบนาที ถูกตัดให้เหลือห้านาทีหรือสิบนาที นั่นมันเป็นร่วมสมัยแล้วนะ มันตอบโจทย์ของสังคม คือสังคมมีเวลาน้อย งานศิลปะเลยถูกตัดทอนเวลาให้น้อยลง อันที่สองคือ เมื่อไหร่คุณเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการปักเครื่อง เสื้อผ้า มันก็เป็นร่วมสมัยแล้ว ผมจึงบอกได้ว่า โขนร่วมสมัยนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้เกิดที่ผม มันเกิดตั้งแต่ที่กรมศิลปากรเป็นคนเปลี่ยนแปลงมันแล้ว แต่ว่าไม่มีใครเคยเข้าใจ

และในทางกลับกัน ถ้าเราพูดถึงศิลปะที่เป็นประเพณีหรือคลาสสิคก็หมายความว่ามันต้องเหมือนเดิม ปัจจุบันจึงไม่มีคำว่าศิลปะที่เป็นแบบประเพณีอีก  สงกรานต์มันก็ไม่เป็นประเพณีดั้งเดิม มันไม่มีอะไรเป็นของเดิมอีกแล้ว ทุกอย่างมันเป็นร่วมสมัยหมด เราใช้ปืนฉีดน้ำแล้ว เราสาดน้ำปิดถนนกันแล้ว คำว่าประเพณีจริงๆไม่มี ตั้งแต่สิบยี่สิบปีที่ผ่านมามันไม่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่โพสโมเดิรน์ด้วย เพราะมันตอบกติกาของสังคมมาเรื่อยๆ

คนมักจะบอกว่า งานผมเป็นงานโขนร่วมสมัย เพราะว่าผมปรับโขนให้เป็นอย่างอื่น ผมไม่ใส่เสื้อผ้าชุดโขน ไม่จริงนะครับ ของผมก็ถือเป็นกติกานึง แต่ว่าที่กรมศิลป์เปลี่ยนแปลงมานั่นร่วมสมัยไปแล้ว เห็นไหมครับ อย่างโขนสมเด็จที่เล่นอยู่ทุกคนบอกว่าเป็นโขนแบบประเพณี  ซึ่งไม่จริงนะครับ โขนแบบประเพณีต้องไม่มีเลเซอร์นะ โขนแบบประเพณีไม่มีสลิงนะ โขนแบบประเพณีไม่มีฉากหมุนได้ไปมานะ ไม่มีดรายไอซ์ ไม่มีสโมคนะ อย่างนี้จะเรียกว่าอะไร เค้ากลับใช้คำว่าพัฒนาเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจง่ายขึ้น แล้วให้เกิดจินตนาการที่เป็นสมัยใหม่หรือทำให้มันสมัยใหม่มากขึ้น เหล่านี้คือการตอบโจทย์ทางสังคม งานร่วมสมัยก็คือสะท้อนความเป็นเราและความเป็นคุณ ในสังคมปัจจุบันนี้ สังคมไม่มีเวลา สังคมต้องการความรวดเร็ว สังคมต้องมีเทคโนโลยีเข้ามา มีสิ่งของเข้ามาให้ใช้ อิเลคโทรนิคส์ต่างๆก็เอามาใช้ในโขน เพราะฉะนั้นโขนต่างๆในปัจจุบันนี้เป็นโขนร่วมสมัยทั้งสิ้นไม่ใช่แค่ของผมคนเดียว

ไทยเราเป็นประเทศร่วมสมัย เราไม่มีอะไรที่ปักหลักของเราจริงๆ ศิลปะของเราพัฒนาเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับสังคมเราที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอด เราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่รัชกาลที่4 ด้วยซ้ำไป หรือก่อนหน้านั้นเราก็ปรับแล้ว เราก็เอาลายจีนมาไว้ในลายจิตรกรรมฝาผนัง อย่างหุ่นละครเล็ก เราก็พัฒนามาจากจีน พัฒนามาจากหุ่นของพม่าที่เป็นหุ่นน้ำ  มันรับอิทธิพลภายนอกมานานแล้ว แต่ว่าการรับอิทธิพลนั้นมาสร้างเป็นวัฒนธรรมของเราเอง มันก็ยังเป็นของเราอยู่ เมื่อไหร่มันถูกปรับถูกเปลี่ยนใหม่ ถูกทำให้เกิดอะไรต่างๆขึ้น มันจะเป็นร่วมสมัย อย่างเช่น ถ้าเรากลับไปมองที่หุ่นอาจารย์จักรพันธุ์ หุ่นอาจารย์จักร์พันธุ์ไม่เปลี่ยนวิธีการเชิด ไม่เปลี่ยนวิธีการเล่น คือยังเล่นยาวๆ ยังเชิดยาวๆ ทำทุกอย่างเหมือนเดิม ปักเครื่องสวยเหมือนเดิม ถือว่าเป็นแบบประเพณีเหมือนเดิม แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณไปตัดมันซะ เปลี่ยนแปลงมัน โขนนั้นก็จะกลายเป็นงานร่วมสมัยทันที

ในสายวงการนาฏศิลป์ คนในวงการนี้เขารับรู้กันอยู่ว่าโขนเป็นอะไรที่ร่วมสมัยมาตั้งนานแล้ว แต่คนในกรมศิลปากรเองหรือคนที่อยู่ในวงการเองกลับมองว่าเขาอนุรักษ์อยู่ อันนี้ผมขอเถียง เพียงแต่ว่าของผมมันชี้ชัด มันชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่าของคนอื่น หนึ่งผมไม่ใช่คนที่มาจากกรมศิลปากร  สองผมไม่ใส่ชุดโขน สามผมมีประเด็นที่พูดอยู่ในการแสดงโขนของผม มันทำให้ผมดูเหมือนกับว่าเป็นผู้นำทางด้านโขนร่วมสมัย ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ ผมตามพัฒนาการของสังคมไทยมาเรื่อยๆเท่านั้นเอง ผมไม่เอาเสื้อผ้า ไม่เอาศีรษะ ของผมไม่เอาอะไรเลย ผมเอาแต่ร่างกายกับการเคลื่อนไหวไว้เท่านั้นเอง ประเทศไทยเป็นประเทศร่วมสมัย แต่เราดันบอกว่าเราเป็นประเพณี ผมถามว่ามีอะไรที่เป็นวัฒนธรรมแล้วมันไม่เคยเปลี่ยนแปลงบ้างในสังคมไทย…ไม่มีเลย ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด ลอยกระทงก็เปลี่ยน เราปรับเปลี่ยนทุกอย่างตามความเหมาะสมหมด บางที่ในกรุงเทพยังมีเวียนเทียนตอนยังไม่มืดค่ำเลยครับ มันต้องเปลี่ยน เพราะมันตอบโจทย์สังคม

พื้นที่ทางวัฒนธรรมของบ้านเรามีมากน้อยเพียงใดในสายตาคุณ

ตัวพื้นที่ทางวัฒนธรรมมันเพิ่มขึ้น แต่ตัวงานศิลปวัฒนธรรมเองไม่ได้เพิ่มขึ้นครับ มันยังคงอยู่ในกลุ่มเล็กๆเหมือนเดิม ต้องกลับไปมองในเรื่องของการเคลื่อนตัวในปี 2000 ที่มันเข้าสู่ช่วง Globalization การสื่อสารที่มันไร้พรมแดนไป อันนั้นก่อนเป็นอันดับที่หนึ่ง พอโลกมันเริ่มเปิดกระจ่างสว่างขึ้นก็เริ่มการแข่งขัน ซึ่งไม่ได้แข่งขันเฉพาะในเรื่องธุรกิจ มันแข่งกันทุกเรื่องเพราะว่ามันเกี่ยวโยงกัน ตัวศิลปะเองก็ต้องแข่งขัน เมื่อมีศิลปะเกิดแข่งขันกันขึ้นมันจึงเกิดหน่วยงานของรัฐ จึงเกิดระบบต่างๆเพื่อที่จะทำให้มันครบองค์ประกอบ เหมือนที่คนอื่นเค้ามี ทำไมมีกระทรวงวัฒนธรรม มีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเกิดขึ้น ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะที่อื่นมันเกิดแล้ว ที่อื่นมันไปแล้ว เคลื่อนตัวแล้ว ในยุโรปมันสามสิบกว่าปีมาแล้ว

ลำดับที่สอง พอการสื่อสารง่ายขึ้น การศึกษาเริ่มกว้างขึ้น มันมีคนที่ไปเรียนข้างนอกในสายศิลปะ จึงมองเห็นว่าตลาดศิลปะข้างนอกขยายตัว คนที่เรียนศิลปะเองสามารถมีที่มีทางมากขึ้น ถ้าไม่ทำที่นี่ก็ไปทำข้างนอกแทนได้ ในส่วนของคนเรียนจึงมีเพิ่มมากขึ้น การศึกษาในประเทศไทยออกนอกระบบ การออกนอกระบบมีส่วนให้สาขาวิชาเปิดตัวและขยายตัว เพราะว่าต้องการเด็กที่จะเข้ามาศึกษาวิชาในสาขาวิชานี้ อาจารย์ที่สอนอยู่ก็ถูกเร่งรัดโดยผู้บริหารว่าจะต้องมีจำนวนเด็กเท่าไหร่ในสาขาวิชานี้ ไม่งั้นเธอไม่สามารถจะซื้ออุปกรณ์ได้ เธอไม่สามารถจะสร้างตึกใหม่ได้ ทุกอย่างมันเป็นกลไกของมัน เป็นกลไกที่ไม่ใช่กลไกที่เป็นตัวศิลปะจริงๆ แต่มันเป็นการเติบโตไปตามกระแส ตามหลักการที่รัฐบาลวางเอาไว้ แต่กลไกของงานศิลปะจริงๆ คือถามว่า วันนี้เรามีสังคมของคนศิลปะเพิ่มขึ้นไหมในช่วงห้าปีสิบปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่มี เห็นไหม ถามว่าหนังสือที่เป็นศิลปะจริงๆเกิดขึ้นบ้างไหม ก็ยังไม่มี เห็นไหม มันยังอยู่ไม่ได้ มันก็ยังไม่ชัดเจน มีอะไรบางอย่างที่อยู่ระหว่างสองสิ่งไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งหนังสือของกระทรวงวัฒนธรรมที่เป็นร่วมสมัย ทำขึ้นมามันก็เริ่มออกมาตอนแรกเดือนนึงครั้งนึง หลังจากนั้นมันเริ่มหายไปเห็นไหม สามสี่เดือนมาที แล้วก็หายไป เพราะว่าคนที่บริโภคหรือเสพมันไม่มี ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในชีวิตในการทำงานศิลปะก็ยังไม่มีอย่างเป็นรูปธรรม

ในสาขาวิชาอื่น มันมักจะเป็นสาขาที่มีอยู่เดิมแล้ว  คือ จิตรกรรม ประติมากรรม อันนี้แน่นอนมีเยอะมาก แต่ว่าในสายของของผม Dance และ Theatre ไม่ต้องพูดถึงเลยนะ…ไม่มีเลย ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จหรือเห็นว่าเป็นรูปธรรม ในขณะที่เรานึกชื่อศิลปินในสาขาอื่นได้ ถามว่าในสายโรงละคร เราจะนึกชื่อใคร เราไม่มี เพราะสาขาวิชานี้หรืออาชีพนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นี่คือกลไกหลายส่วนที่ทำให้มันถูกพัฒนา แต่การพัฒนาของมันไม่ได้พัฒนาไปที่ตัวเนื้อของงานหรือสังคมของคนดู มันไปพัฒนาที่รูปแบบและวิธีการมากกว่า

เรามีตึกหอศิลป์กรุงเทพ แต่เวลาเราเข้าไปในหอศิลป์กรุงเทพ ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นหอศิลป์หรือร้านค้า หรือเป็นห้างด้วยในเวลาเดียวกัน ผมคิดว่าวัตถุประสงค์เขาต้องการอย่างนั้น อันที่สองคือในนั้นไม่มีโรงละคร พื้นที่สำหรับเธียเตอร์ก็ไม่มีอีกเหมือนกัน มันเป็นห้องเปล่าๆ แล้วก็ปูพรม ซึ่งเราทำอะไรอย่างนี้ไม่ได้

ผมสรุปง่ายๆ หอศิลป์กรุงเทพ ผมไม่สามารถที่จะทำฉากได้ ตอกตะปูได้ ไม่สามารถที่จะรื้อได้ อย่างนี้สรุปได้เลยว่าศิลปะยังไม่มีวันเติบโต แค่ผมจะเอาตะปูไปตอกตัวนึง หรือว่าจะปรับมันเพื่อทำฉาก ผมยังทำไม่ได้ ถามว่าผมจะสร้างงานยังไงในพื้นที่นี้ พอผมพูดอย่างนี้ผมกระโดดข้ามเลยว่าทำไมต้องมีโรงละครอยู่ที่บ้าน

 

คุณมองว่าคนทำงานศิลปะในประเทศนี้อยู่ยาก

ถ้าถามพื้นๆเลยว่า คนที่จะทำศิลปะเป็นอาชีพในประเทศนี้อยู่ได้ไหม คำตอบคือ อยู่ไม่ได้นะ ไม่ใช่อยู่ยาก ตั้งแต่เริ่มต้นมาในประเทศนี้แต่ไหนแต่ไร คนที่สร้างงานศิลปะไม่ได้สร้างงานขึ้นมาเพื่อประกอบอาชีพ มันสร้างงานขึ้นเพื่อสนับสนุนราชสำนัก สร้างงานเพื่อสนับสนุนพุทธศาสนา มันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นเขาไม่เคยทำอาชีพนี้ ไม่เคยมีใครทำอาชีพศิลปินจริงๆ แม้กระทั่งคนที่เป็นศิลปินใหญ่บ้านเรา ยุคก่อนที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นศิลปินนะ เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย น้อยคนมากที่เรามีศิลปินที่ไม่สอนแล้วเขียนภาพเหมือนแวนโก๊ะห์เหมือนปีกัสโซแล้วขาย สรุปว่าคนทำอาชีพศิลปะในบ้านเราอยู่ไม่ได้ครับ ทุกคนจำเป็นต้องมีอีกอาชีพนึงสำรองไว้ ทุกคนเป็นอาจารย์ มันจึงทำให้เราเรียกคนที่ทำงานศิลปะบ้านเราว่าอาจารย์หมด เห็นรึเปล่าเราเรียกทุกคนว่าอาจารย์ แต่ปิกัสโซไม่มีใครเรียกว่าอาจารย์นะ เค้าก็เรียกปกติ ศิลปินคนอื่นเขาก็เรียกเป็นชื่อไป แล้วใครที่เป็นอาจารย์จริงๆ เขาถึงเรียกเป็นอาจารย์ แต่บ้านเราไม่เคยรู้ว่าอาชีพศิลปินเป็นยังไง แต่ว่าคนนั้นจะต้องประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ไปด้วย

 

คนทำงานศิลปะยังมีทางที่จะประกอบอาชีพเป็นศิลปินไหม

มีทางครับ ยังมีคนบางกลุ่มที่ประกอบอาชีพทำงานศิลปะ แต่เราไม่เรียกว่าเขาว่าเป็นศิลปิน อย่างเช่นคนที่วาดรูปขาย อยู่ตามหาดป่าตอง ภูเก็ต ตามทะเล เห็นไหมครับคนพวกนั้นไม่ทำอย่างอื่น วาดรูปขายอย่างเดียว แต่เราไม่เรียกคนพวกนั้นว่าเป็นศิลปิน เพราะเรารู้สึกว่ารูปพวกนั้นไม่มีคุณค่าอะไร หรือมันไม่ได้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเทคนิคอะไร หรือว่าบางครั้งเป็นรูปที่ก็อปปี้จากศิลปินดังๆ แล้ววาดอีกทีนึง เราไม่นิยามคนพวกนี้ว่าเป็นศิลปิน แต่คนพวกนี้ประกอบอาชีพทำงานศิลปะจริงๆร้อยเปอร์เซนต์ สิ่งที่เรามอง เรามองอะไรก็ไม่รู้นะในสังคมนี้ มันหามุมไม่เจอ พอผมบอกว่าผมไม่สอนนะที่นี่ ทุกคนตกใจว่าทำไมผมไม่สอน เพราะว่าที่ไหนๆก็แล้วแต่ 250 ปีในรัตนโกสินทร์มา ใครที่เป็นนาฎศิลป์ไทยจะต้องสอนลูกศิษย์ ผมบอกว่าผมไม่สอน นี่มันเป็นบริษัท ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ ผมบอกว่าเอาง่ายๆเลย คุณลองเข้าไปทำงานที่แกรมมี่หรือเข้าไปทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับสถาปัตย์ซักที่เค้าสอนคุณไหมล่ะ เค้าไม่สอนถูกไหม คุณเข้าไปทำงานเลย แต่เค้าจะบอกคุณเองถ้าคุณทำไม่ถูก แต่ไม่ใช่มานั่งสอนว่า ท่าที่ 1 เป็นยังไง ท่าที่ 2 เป็นยังไง อันนั้นมันคือโรงเรียนทั้งหมด

สิ่งที่ผมทำอยู่มันไม่เคยมีมาก่อน แต่ทุกคนยังคิดว่าที่นี่เป็นโรงเรียนอยู่ ผมบอกว่าไม่ใช่…ที่นี่เป็นบริษัท ไม่รับคนที่ไม่เป็น ผมรับคนที่เป็นแล้วและเก่งแล้ว แค่นี้คนยังงงเป็นไก่ตาแตกเลย เพราะว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาในประเทศนี้ ถ้าสมมติว่าคุณอยากเรียน คุณไปเรียนที่ไหนมาก่อนก็ได้ อย่างเช่นไปเรียนที่กรมศิลปากรมาก่อน แล้วพอเรียนจบแล้วมาออดิชั่นที่นี่เพื่อเป็นนักเต้น แต่คุณต้องเป็นมาก่อน

 

จุดกำเนิดของโรงละครช้าง

ที่นี่มันสร้างตัวมาทีละขั้นตอน หนึ่งมันเริ่มจากที่ว่าไม่มีคนทำอาชีพนี้จริงๆ สองผมเคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยมาก่อน พอผมสอนเสร็จแล้ว ก็พยายามที่จะผลักดันให้เด็กไปเป็นศิลปินหรือไปเป็นคนทำงานศิลปะ ไปรำไทย แต่สุดท้ายมันก็ไม่มีใครทำ ผมก็เลยมาตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีคนทำ เพราะว่ามันไม่รู้จะไปทำที่ไหน ถามว่าจบนาฎศิลป์ไทยมา ถ้าไม่ไปเป็นข้าราชการ ไม่เป็นครูแล้วจะไปที่ไหน ไม่มีที่ครับ ไม่มีที่ให้ประกอบอาชีพได้จริงๆ มันทำให้ผมรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้น ผมน่าจะออก เพราะผมไม่ได้ตั้งอกตั้งใจไปเป็นข้าราชการจริงๆแล้วผมก็ออก ผมก็พิสูจน์ว่าถ้าสมมติไม่เป็นข้าราชการ ผมไม่เปิดสอน ผมจะเป็นศิลปินได้ไหม เหมือนกับที่อาจารย์ถวัลย์เป็น เพราะว่าอาจารย์ถวัลย์ก็ไม่สอน อาจารย์ก็วาดรูปทำโน่นนั่นนี่ไป มันจึงเกิดที่นี่ขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับสาขาวิชาทางด้านนาฏศิลป์ ว่ามีอีกหนทางหนึ่งที่คุณไม่ต้องประกอบอาชีพข้าราชการก็ได้ถ้าคุณยังรักที่จะรำไทยอยู่ รักที่จะเป็นศิลปินทางด้านนาฏศิลป์จริงๆ คุณสามารถประกอบอาชีพได้เอง มันจึงเริ่มที่ผมเข้าไปทำงานคอมพานีที่เมืองนอก หลังจากนั้นผมก็เริ่มสร้างงานที่เป็นงานโซโลของผมเอง จากนั้นผมก็เริ่มที่จะมองหาเพื่อนร่วมทาง ผมจึงเริ่มที่จะออดิชั่นนักเต้นเข้ามา พอนักเต้นเข้ามาทำงาน ผมก็มองว่าถ้าอย่างนั้นมันเริ่มเป็นรูปธรรมแล้ว สร้างโรงละครของตัวเองซะ เพื่อที่เราจะได้เล่นในที่ของเรา ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าที่อื่น ซึ่งมักมีเวลาให้ซ้อมแค่สามวัน เพราะว่าโรงละครทั้งหลายแหล่ในประเทศไทย มันไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อ Performance มันสร้างขึ้นมาเพื่อสัมมนาแล้วก็ประชุม เพราะฉะนั้นผมสร้างของผมเอง มีนักเต้นของผมเอง แล้วก็จะทำให้มันเป็นรูปธรรมคือทำให้มันเป็นรูปแบบบริษัท ส่วนที่ผมสร้างงานเองก็ทำมา 13 ปีแล้ว ส่วนโรงละครเริ่มต้นปีนี้เป็นปีที่ 6 และส่วนคอมพานีเริ่มต้นปีที่ 2 ที่มีนักเต้นอย่างเป็นรูปธรรม

 

ที่มาของชื่อโรงละครช้าง

มาจากชื่อบุคคลที่ให้พื้นที่ผมทำโรงละครเมื่อห้าปีที่แล้ว สมัยก่อนผมไปขออาศัย หรือไม่ก็ไปเช่าที่คนอื่นเล่น ศูนย์วัฒนธรรมบ้าง บ้านคนโน้นบ้าง สนามนั่นนี่ เพราะสมัยก่อนไม่มีอะไรเลย ไม่มีเงิน ไม่มีนั่นไม่มีนี่ มีน้าผู้หญิงคนหนึ่งชอบตามมาดูผมเล่นตามสถานที่ต่างๆ แล้ววันหนึ่งแกก็เดินมาบอกผมว่า น้าตามดูหนูมาตั้งหลายครั้ง น้ามีตึกแถวว่างๆที่นึง ฝั่งตรงข้ามกับสถานทูตอังกฤษ เพลินจิต หนูอยากได้ไหม น้าให้ยืม เป็นตึกทาวน์เฮาส์ใหญ่มาก ผมบอกอยากได้ ตอนนั้นผมไม่รู้จะไปทำงานที่ไหน ไม่มีที่ก็เลย ขึ้นไปใช้เป็นตึกสี่ชั้น แต่บนชั้นสี่มีบ้านเรือนไทยอยู่ ซึ่งผมมารู้ทีหลังว่าแฟนคุณน้าผู้หญิงเขาเป็นอาร์ทติส ออกแบบผลิตภัณฑ์ ผมเลยขออนุญาตทำโรงละครที่นั่น แล้วก็เอาชื่อแฟนคุณน้าผู้หญิงตั้งเป็นโรงละคร เพื่อระลึกถึงบุญคุณตลอดเวลาว่าเขาให้โอกาสเรา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่คนเรียกชื่อโรงละครนี้ เรียกชื่อนี้ เราต้องนึกถึงคนที่มีบุญคุณกับเรา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องรีบทำคืออะไร

เราแพลนปีต่อปี จะไม่ทำอะไรปัจจุบันทันด่วน เราจะมีงานอยู่สองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือคอมพานีมีงานอยู่ 5 ชิ้น จากที่ผ่านมา ทำเสร็จแล้วนะ แล้ว 5 ชิ้น มันจะออนทัวร์อยู่ที่เมืองนอก เราก็ออกไปเล่น นี่คืองานอันที่หนึ่งที่เราทำปกติ อันที่สองคือเราจะมีโปรดักชั่นที่โรงละคร อันนี้เราจะวางไว้เลยว่าปีนึงทำกี่ชิ้น อย่างปีนี้เราจะทำสองชิ้น เราก็จะซ้อมอย่างน้อยหกเดือนแล้วก็เล่น แล้วที่เมืองนอกก็คือเรารู้ล่วงหน้าก่อนหนึ่งปีว่าเราจะไปที่ไหน อย่างเช่นตอนนี้งานที่คอมพานีจะไปหมดเอาเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ที่เรารู้ว่าจะไปไหนบ้าง นี่คือเมืองนอกทั้งหมด สวิส ฮอลแลนด์ เยอรมัน นอร์เวย์ ออสเตรีย เขมร อินโด อะไรอย่างนี้ แล้วก็มาไทยแล้วกลับไปเยอรมันใหม่ นี่คือสิ่งที่คอมพานีทำ คือสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย แล้วก็ไม่มีใครเคยรู้ว่าเราทำอะไร แล้วก็ไม่มีใครเข้าใจว่าเราทำอะไร แม้แต่พ่อแม่เด็กที่อยู่ที่นี่ก็ไม่มีใครเข้าใจว่าลูกตัวเองทำอะไร เพราะมันไม่เคยมีมาก่อน

คอมพานีกับผมมีงานอยู่ที่เมืองนอก 90% ที่ผ่านมา มีปีนี้ ปีหน้าที่เราคุยกันไว้ เราจะกลับมาให้ความสำคัญกับพื้นที่ในเมืองไทยมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับคนในสังคมไทยมากขึ้น มีเพอร์ฟอร์แมนมากขึ้น ที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำงานกับที่เมืองไทยเลย…น้อยมาก นอกจากเราเอางานที่ไปเล่นที่เมืองนอกกลับมาเล่นที่เมืองไทยเอง แต่ไม่เคยสร้างงานเพื่อที่จะเริ่มต้นที่นี่เลย อย่างเช่นเมื่อปีที่แล้วเราเล่นที่สิงค์โปร์ เดือนหน้าเราจะไปสวิส ไปนอร์เวย์ แต่งานชิ้นนี้ยังไม่เคยกลับมาเล่นที่เมืองไทย สามปีต่อจากนี้ไปเราวางแผนลำดับที่หนึ่งคือ เราจะทำโปรดักชั่นให้คนไทยดู สองเราจะสร้างโรงละครใหม่ขึ้นอีกโรงที่ใหญ่กว่าเดิม เป็นคอมพานีที่ใหญ่ขึ้นสำหรับเรา

 

ถึงวันนี้ได้ทำสิ่งที่อยากทำครบถ้วนหรือยัง

ยังไม่ครบ ถ้าเมื่อไหร่คนที่เรียกตัวเองว่าศิลปินบอกว่าทำทุกอย่างครบถ้วนแล้ว…จบกัน ไม่ครบครับ มีเรื่องอีกตั้งเยอะที่ยังไม่ได้ทำ เรื่องสุดท้ายที่อยากทำ ผมบอกมาตลอดเวลาว่าอยากมีคณะโขนของตัวเอง เป็นแบบประเพณี ที่เล่นแบบไม่ตัดต่อเลย เล่นสามสี่ชั่วโมง คนดูนั่งกับพื้นเหมือนสมัยโบราณ ใครอยากดูก็ดู อยากกลับบ้านก็กลับ ศิลปินก็เพอร์ฟอร์มไป ผมอยากได้สิ่งนี้กลับคืนมา นี่คือความฝันอันสุดท้ายที่ผมอยากมี อันที่สองผมอยากเปิดโรงเรียน เมื่อผมแก่มากๆผมจะเปิดโรงเรียนเพื่อสอน เมื่อเวลานั้นก็ไปเรียนกับผมได้ ถามว่าทำไมต้องเปิดโรงเรียน มันเป็นอย่างนี้ เป็นวัฏจักร ถามว่าเมื่อคนในคอมพานีเป็นนักเต้น นักเต้นมันก็จะมีอายุของมัน มาถึงวัยนึงนักเต้นพวกนี้จะทำอะไรได้ สิ่งที่เราวางแผนไว้ก็คือเราจะเปิดโรงเรียน เปิดโรงเรียนเสร็จนักเต้นเหล่านี้แหละครับคือคนที่จะไปสอนเด็กเหล่านั้น ซึ่งมันพิเศษเพราะว่าคนพวกนี้เต้นเป็นจริงๆ มีประสบการณ์จริงมากกว่าแค่คนที่รู้แล้วมาสอน เพราะฉะนั้นนักเต้นในคอมพานีผมก็จะย้ายไปเป็นครูผู้สอน นี่คือสิ่งที่วางแผนชัดเจน ให้เวลาเป็นตัวกำหนด ตอนนี้เราทำสิ่งที่ทำได้ไปก่อน เช่นตอนนี้หนึ่งคือคอมพานี สองคือโปรดักชั่นกับคนไทย เน้นที่ตัวคอมพานีกับโรงละครเป็นหลักในช่วงเวลานี้ หลังจากนั้นโรงละคร เป็นสิบปีต่อจากนี้นะถึงจะเริ่มต้น ผมอาจจะบอกว่าผมเป็นคนที่มีความรอบคอบหลายอย่างอยู่ก็คือ ตอนนี้นักเต้นของเราไปเรียนปริญญาโท บางคนไปเรียนปริญญาเอกแล้ว เพื่อที่จะเขียนหลักสูตรของเราเอง ในบริษัทมีบุคลากรประมาณ 8 คน ผมว่ากำลังดี

 

คุณมีงานอดิเรกไหม

งานผมกับงานอดิเรกเป็นสิ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่ชอบ เพราะฉะนั้นผมไม่ต้องทำเพราะหน้าที่ ผมทำเพราะผมรักมัน ผมมีความสุข แล้วผมก็รีแลกซ์

สิ่งที่ผมทำมันอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไร มันเหมือนกับการเปิดแสงสว่างในที่มืดให้คนได้เห็น วันนั้นผมมองกลับไปเมื่อครั้งผมเรียนทางด้านนาฎศิลป์แล้วผมจบมา ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่วันนี้มันเหมือนกับคนๆนึงที่สามารถประกอบอาชีพได้ สามารถมีโรงละครได้ สามารถมีอนาคตได้ ผมว่ามันเป็นการจุดประกายให้คนต่อไปได้มีความฝัน ได้มีความหวังถึงวันต่อไปในอนาคตข้างหน้า ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ผมทำ แต่ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรและจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้วยในสิ่งที่ผมทำ เพราะว่าสิ่งใดที่มันเกิดมันคงเป็นเช่นนั้นอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ผมทำมันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มันไม่มีวันที่จะไปทำให้สิ่งเดิมนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งเดิมมันอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือล่มสลายไปก็เพราะตัวมันเอง ถ้าตัวมันเองไม่ปกป้องตัวมันเอง ตัวมันไม่ดีพอมันก็จะหมดไปเองโดยอัตโนมัติ เราต้องยอมรับว่า มนุษย์ สังคม ทุกสิ่งทุกอย่างมันพัฒนาไปเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด อะไรก็ตามที่พัฒนาแล้วเลวร้ายมันจะจบตัวมันเอง ณ เวลานั้น

                พิเชษฐ์ กลั่นชื่น เป็นคนหนึ่งในแวดงวงศิลปวัฒนธรรมที่มองเห็นวัฒนธรรมตามความเป็นจริงด้วยความเข้าใจลึกซึ้ง ในฐานะสิ่งหนึ่งที่เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ มีเกิด มีเสื่อม มีดับสูญ เช่นเดียวกับทุกสรรพสิ่งในโลก ซึ่งรอวันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีเพียงคุณค่าที่ยั่งยืนเท่านั้นที่จะกำหนดอายุขัยและลมหายใจว่าจะสั้นยาว หรือหมดสิ้นลงเมื่อใด และด้วยสายตาที่เข้าใจอย่างถ่องแท้นี้เอง ทำให้เขาร่ายรำอยู่กับความเป็นจริง สรรค์สร้างความงามไปตามลีลาศิลปะที่เขาหลงใหล และทุ่มเทจิตวิญญาณให้อย่างเต็มเปี่ยมทั้งในเวทีแห่งโลกและเวทีชีวิตอย่างไม่เคยอ่อนล้า

Related contents:

You may also like...