ส่วนหนึ่งของคำบอกเล่าถึงปัญหาที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง มักจะประสบกับลูกหลานของตนเอง คือลูกเรียนไม่เก่ง พยายามเร่งก็ไม่ทันเพื่อน ขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าตนเองทำไม่ได้ ไม่อยากไปโรงเรียน แท้ที่จริงแล้วขึ้นกับปัจจัยต่างๆด้วยกันหลายปัจจัย ในวันนี้ได้รับเกีรยติจาก รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ ที่มาอธิบายถึงพฤติกรรมเด็กที่เรียนไม่เก่งนี้ว่ามีมูลเหตุจากอะไรและควรจะรับมืออย่างไรในฐานะผู้ที่เป็นพ่อแม่
ปัญหาการเรียนหรือการรับรู้ของเด็กในชั้นเรียนแล้วขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของปัญหา ความกังวลของพ่อแม่ ปัญหาสุขภาพกายหรือปัญหาอารมณ์หรือพฤติกรรมที่พบร่วมด้วย ส่วนใหญ่เด็กมาพบแพทย์ที่อายุน้อยเมื่อเด็กมีพัฒนาการช้าหลายด้าน พ่อแม่มีความกังวลสูง มีญาติหรือคนในครอบครัวมีปัญหาการเรียน หรือเด็กมีปัญหาทั้งทางอารมณ์และพฤติกรรมร่วมด้วย หรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น คลอดก่อนกำหนด มีโรคประจำตัวอื่น เป็นต้น ปัญหาการเรียนของเด็กเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวเด็กเองและสภาพแวดล้อมการอบรมเลี้ยงดูทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนซึ่งหากเกิดจากหลายปัจจัยผสมผสานกันระหว่างเด็ก ครอบครัวและโรงเรียน จะยิ่งทำให้ปัญหาการเรียนแย่ลง เช่น เด็กมีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์อยู่กับครอบครัวที่ยากจนและพ่อแม่หย่าร้าง รวมทั้งเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีคุณภาพ จะยิ่งทำให้การแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ในทางกลับกัน ถ้าเด็กมีความบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน เช่น มีปัญหาเรื่องคำนวณหรือการเขียน แต่สติปัญญาฉลาด ไม่มีปัญหาทางอารมณ์ ปรับตัวได้ดี มีฐานะดี ถ้าหากได้รับการศึกษาที่เหมาะสมจะช่วยแก้ปัญหาการเรียนให้ดีขึ้นได้
ปัญหาการเรียนที่เกิดจากตัวเด็ก
ความผิดปกติทางเชาวน์ปัญญา
เด็กมีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์มากๆ มักจะได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่วัยทารกหรือวัยก่อนเรียน ส่วนเด็กที่สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ไม่มาก มักได้รับการวินิจฉัยช้ากว่าคือเมื่อเด็กเริ่มเรียนชั้นอนุบาลหรือประถมต้น จะเรียนไม่ทันเพื่อนหรือสอบตกซ้ำชั้น แต่ก็จะสามารถเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 4-6 ได้ ถ้าได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม
ประสาทการรับรู้ผิดปกติ
เด็กที่หูตึงหรือหูหนวกจะมีปัญหาการสื่อสารและการพูด ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ เด็กจะมีปัญหาด้านการอ่าน คำนวณ รวมทั้งอาจมีปัญหาการปรับตัวและปัญหาพฤติกรรมตามมา ส่วนเด็กที่มีการมองเห็นผิดปกติ เช่น ตาสั้น ตาเอียง หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็ก เด็กที่มีปัญหาการมองเห็นอย่างมาก เช่น ตาบอด จะมีพัฒนาการล่าช้าในหลายๆ ด้าน ทั้งการเคลื่อนไหว การพูดและการใช้ภาษา การเล่นและการเข้าสังคม
ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง
ประมาณ 1 ใน 4 ถึง 2 ใน 3 ของเด็กที่เจ็บป่วย เรื้อรังจะมีปัญหาการเรียนร่วมด้วย จากหลายปัจจัย เช่น
โรคที่เป็นอยู่อาจมีผลกระทบต่อสมองโดยตรง เช่น โรคลมชัก หรือมีความพิการของสมอง ทำให้มีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ หรือความเจ็บปวดที่ได้รับจากโรค อาจรบกวนสมาธิในการเรียน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีโมฟิเลีย มีเลือดออกในข้อบ่อยๆ จะจำกัดการเคลื่อนไหวและมีความเจ็บปวดทรมานขณะเคลื่อนไหว ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ขาดเรียนบ่อย ส่งผลให้ความคาดหวังของครูและผู้ปกครองลดลง ยาที่ใช้ เช่น ยากันชัก ยาลดน้ำมูก อาจทำให้เซื่องซึมหรือง่วงนอน ยากันชักบางตัว (เช่น ฟีโนบาร์บิทาล) อาจทำให้สมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง ยาบางตัวอาจทำให้อ่อนเพลีย (เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง)
ภาวะทางอารมณ์ผิดปกติ
ปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กมีปัญหาการเรียนหรืออาจเป็นผลตามมาจากการที่เด็กมี ปัญหาการเรียนอยู่ก่อนแล้วก็ได้ ประมาณร้อยละ 30-80 ของเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์จะมีปัญหาทางด้านการเรียนร่วมด้วย
ถ้าเด็กมีปัญหาพฤติกรรมที่แสดงออกชัดเจน เช่น ก้าวร้าว ต่อต้านหรือรบกวนการเรียนการสอนของครูและเพื่อนในชั้น มักจะถูกส่งมาปรึกษาแพทย์เร็วกว่าเด็กที่มีปัญหาอารมณ์ที่เก็บกดไว้ภายใน เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า เพราะฉะนั้นการประเมินเด็กที่มาด้วยปัญหาการเรียนจะต้องประเมินปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ด้วยเสมอ
การเรียนรู้ด้อย
คำว่าการเรียนรู้ด้อย(Learning disability หรือ LD) หมายถึงภาวะที่เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้ อันเนื่องมาจากการทำงานของสมองผิดปกติ ทำให้เรียนไม่ได้เต็มที่ตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยอาจแสดงออกถึงความบกพร่องเรื่องการฟัง คิด อ่าน พูด เขียน หรือคำนวณ ซึ่งการเรียนรู้ด้อยเหล่านี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อนหรือปัญหาทางอารมณ์ (คนตาบอด หูหนวกหรือปัญญาอ่อน อาจมีสภาวะการเรียนรู้ด้อยร่วมด้วยได้)โดยผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะต่ำกว่าระดับสติปัญญา หรือศักยภาพที่มีอยู่อย่างน้อย 2 ปีหรือมากกว่า ส่วนใหญ่จะไม่รู้สาเหตุของการเรียนรู้ด้อย แต่พบได้เพิ่มมากขึ้นในครอบครัวที่เคยมีเด็กการเรียนรู้ด้อย รวมถึงเด็กที่มีประวัติแม่ใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ เด็กคลอดก่อนกำหนด ขาดออกซิเจนหรือสมองมีการทำงานผิดปกติ จากการติดเชื้อ อุบัติเหตุหรือได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว ถึงแม้การวินิจฉัยปัญหาการเรียนรู้ด้อยจะทำในเด็กที่เข้าเรียนแล้ว แต่เด็กวัยก่อนเรียนอาจมีลักษณะของเด็กที่การเรียนรู้ด้อยให้สังเกตเห็น เช่น เป็นเด็กเลี้ยงยาก หรือซนมากผิดปกติ สมาธิสั้น ไม่ทำตามคำสั่ง เข้ากับเพื่อนไม่ได้หรือมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า คือพูดช้า พูดไม่ชัด เรียนรู้คำใหม่ๆได้ช้า เลือกใช้คำไม่เหมาะสม มีปัญหาการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเลข ตัวอักษรและเวลา เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้นอาจมีปัญหาการเรียนรู้ด้อย จึงต้องเฝ้าระวัง สังเกต ติดตามและหาทางช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ
สมาธิสั้น
สมาธิสั้นเป็นปัญหาทางพฤติกรรมที่พบได้ บ่อยของเด็กวัยเรียน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง การวินิจฉัยนั้นแยกเด็กออกเป็น 2 กลุ่มคือ ขาดสมาธิ และซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ทำก่อนคิด เด็กบางคนมีปัญหาขาดสมาธิอย่างเดียว บางคนปัญหาส่วนใหญ่คือซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่นและเด็กบางคนมีทั้งขาดสมาธิและซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่นร่วมกัน มักพบว่ามีอาการก่อนอายุ 7 ขวบ และต้องมีอาการอยู่อย่างน้อย 6 เดือน โดยอาการเหล่านี้ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็กวัยเดียวกัน พบได้เกือบตลอดเวลาทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นมักมีปัญหาพฤติกรรมอื่นร่วมด้วย เช่น ปัญหาการเรียน การพูด และการใช้ภาษา ปัญหาการปรับตัวเข้าสังคม ต่อต้าน ไม่ร่วมมือ ชอบทำผิดระเบียบ เครียด กังวล เป็นต้น การรักษาใช้การปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนร่วมไปกับการใช้ยาในผู้ป่วยบางราย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวได้ เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ลดปัญหาการเรียนและปัญหาพฤติกรรมที่เกิดจากสมาธิสั้นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
บางคนเรียกว่าเด็กอัจฉริยะ เด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีพรสวรรค์พิเศษ คือเด็กที่มีความสามารถมากกว่าเด็กวัยเดียวกัน มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ โดยเด็กอาจจะมีพรสวรรค์พิเศษด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน เช่น คณิตศาสตร์ ภาษา กีฬา ดนตรี หรือการเป็นผู้นำ เด็กที่มีความสามารถพิเศษพบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของเด็ก ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความสามารถ พิเศษของเด็ก เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตนเองและมีความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนรู้ เพราะเด็กที่มีพรสวรรค์ พิเศษจะรู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้น เข้าใจบทเรียนได้รวดเร็วและประยุกต์ใช้ความรู้ที่เรียนมาได้ต่างจากเพื่อน และอาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายชั้นเรียนและระบบการเรียนการสอนจนกลายเป็น เด็กที่มีปัญหาการเรียนและปัญหาพฤติกรรม
ปัญหาการเรียนที่เกิดนอกตัวเด็ก
ปัญหาครอบครัวและสังคม
ปัญหาภายในครอบครัวที่พบได้บ่อยๆ คือความขัดแย้งภายในครอบครัว พ่อแม่แยกกันอยู่ หย่าร้าง มีการกระทำทารุณต่อเด็ก ทอดทิ้งปล่อยปละละเลย หรือพ่อแม่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ส่วนปัญหาทางสังคม เช่น ฐานะยากจน พ่อแม่ตกงาน ติดยาเสพติด ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เพราะเครียดกังวลกับปัญหาภายในครอบครัว อาจซึมเศร้า ก้าวร้าว ต่อต้าน หรือมีปัญหาพฤติกรรมอื่นตามมา นอกจากนี้ความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีมากเกินไปหรือการละเลยไม่เอาใจใส่และไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ล้วนส่งผลต่อการเรียนของเด็กทั้งสิ้น
ปัญหาที่โรงเรียน
การจัดการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก หลักสูตรของโรงเรียนที่เข้มงวดเร่งรัดมากเกินไป หรือปล่อยปละละเลย
อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน สื่อต่างๆไม่ได้คุณภาพหรือไม่เหมาะสม คุณภาพของครู ความสามารถและเทคนิคของ ครูผู้สอนในการสร้างแรงจูงใจในการเรียน รวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียน จำนวนนักเรียนที่มากเกินไปในแต่ละห้อง อัตราส่วนของครูและนักเรียนไม่เหมาะสม เช่น ครู 1 คน ต่อเด็กนักเรียน 60-70 คน กฎระเบียบและวิธีการลงโทษเมื่อเด็กทำผิด การให้คำชมเชยและให้กำลังใจเมื่อเด็กมีความพยายาม หรือทำได้สำเร็จ มีส่วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักเรียน อาจเป็นแรงเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อการเรียนของเด็กด้วยเช่นกัน เช่น เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนเพราะถูกเพื่อนแกล้งหรือล้อเลียนบ่อยๆ เป็นต้น
ขอขอบคุณความรู้จาก รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
Thanks to image from : http://cdn.smosh.com/sites/default/files/bloguploads/stupid-career-videogametester.jpg
https://www.google.com/search?q=Argue+dad+mom&hl=en&gl=th&biw=1093&bih=447&sei=phITUsj_FquhiAeywYDoAQ&tbm=isch#facrc=_&imgdii=UyPi6e5Xolj8xM%3A%3BZruYVpvdtbnRiM%3BUyPi6e5Xolj8xM%3A&imgrc=UyPi6e5Xolj8xM%3A%3BbwZ7XWI2TfA6nM%3Bhttp%253A%252F%252Fdontwannahearit.com%252Fwp-content%252Fuploads%252F2007%252F08%252Fcouple-arguing_pq_757492.jpg%3Bhttp%253A%252F%252Fdontwannahearit.com%252Fcategory%252Fanger%252F%253Fcat%253D29%3B300%3B298