จากเพจใกล้หมอฟันที่เปิดให้ความรู้ทางด้านทันตกรรมกับประชาชนโดยทั่วไปทาง social media ผู้ที่มีข้อสงสัยเรื่องสุขภาพฟันสาฝากคำถามได้ ทำให้มีผู้ติดตามอย่างล้นหลาม ยอดผู้เข้าชมสูงถล่มทลาย ด้วยจิตอาสาที่มีต่อสาธารณะทำให้วันนี้อยากใคร่รู้จักชีวิตของทันตแพทย์ กฤษณะ พลอยบุษย์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมอนะ” มารู้จักเขากันให้มากขึ้นพร้อมทำความเข้าใจสุขภาพฟันของเรากันอย่างถูกต้อง สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกฝันอยากเป็นทันตแพทย์ ในบทความนี้มีแรงบันดาลใจแห่งความฝันซ่อนอยู่…
หากคุณยังจำเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี พ.ศ. 2554 ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทยเป็นวงกว้าง ทุกคนต่างติดตามข่าวและเฝ้าระวังกันอย่างตกประหม่า ทุกชีวิตไม่เว้นแม้แต่สัตว์หลายพันตัวต่างเผชิญกับฝันร้ายโดยทั่วกัน ตลอดจนคลินิกหรือโรงพยาบาลหลายแห่งต้องหยุดทำการ ในวิกฤตนี้เองทำให้ “หมอนะ” เกิดความคิดว่า “เอ… ถ้าตอนนี้มีคนปวดฟัน เค้าจะทำอย่างไร? เพราะไปหาหมอก็ไม่ได้ …” จิตใจที่ห่วงใยประชาชนจึงทำให้หมอนะตัดสินใจเปิด Page “ใกล้หมอฟัน” ทาง Facebook ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2554 โดยหัวข้อแรกตั้งไว้ว่า “มานั่งๆคิดว่า สังคมออนไลน์ก็ไปไกลมากแล้ว แต่ถ้าใครมีหมอฟันประจำตัวไว้คอยปรึกษาก็จะดี เพียงแค่คลิกเข้ามาพิมพ์ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆก็จะได้คำตอบคร่าวๆเพื่อแก้ปัญหาไป อีกอย่างคือผมเป็นคนที่ออนไลน์เฟสบุคบ่อยๆ เลยอยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมบ้างครับ ยังไงๆก็ช่วยแชร์ไปให้คนที่ไม่ทราบได้รู้ด้วยนะครับ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญประโยชน์ ^^!”
นอกจากจะคอยตอบปัญหาเรื่องฟันแล้ว เพจใกล้หมอฟัน ยังให้ความรู้เพื่อให้คนติดตามแล้วสนุกกับสาระรวมไปถึงได้ติดตามชีวิตประจำวันของหมอนะไม่ว่าจะเป็นบทความสนุกๆเกี่ยวกับชีวิต เพราะเขายังเชื่อว่าคนไทยไม่ชอบอะไรที่เป็นสาระเครียดๆ สาระย่อมมากับความบันเทิงถึงจะสนุกน่าติดตาม โดยหมอนะมีเจตนารมณ์ว่า
“การเปิดเพจแบบไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Non-Commercial ก็เป็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของผมอีกข้อหนึ่ง คือ ไม่มีการบอกคนในเพจว่าผมทำงานที่ไหน ไม่มีการบอกราคา ไม่มีการแนะนำคุณหมอหรือสถานบริการใดๆทั้งสิ้น เพื่อให้การให้ข้อมูลของผม เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงไปทางธุรกิจใดๆทั้งสิ้นครับ เพื่อให้ผู้อ่าน วางใจ ไว้ใจ ใกล้หมอฟัน แบบสนิทใจและกล้าที่จะไปหาหมอฟันครับ”
หากกล่าวกันตามตรงแล้วคนไข้จะได้รับการป้อนความรู้ทางทันตกรรมแบบเฉพาะหน้า ทันตแพทย์จะพูดใต้ผ้าปิดปากข้างหูเราเมื่อเราไปพบเพื่อทำการรักษาต่างๆ ตรงนั้นนะคะ เป็นแบบนี้นะคะ ต้องดูแลแบบนี้ ไม่เช่นนั้นอันตรายนะคะ ความรู้ทางด้านทันตกรรมซึ่งถือเป็นสุขภาพช่องปากอย่างหนึ่งซึ่งถูกละเลยจากสังคมไทย หากเปรียบกับโรคอื่นๆที่มีการป่าวประกาศให้ความรู้อย่างโจ๋งครึ่มไมว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ นิตยสาร วารสาร ฯลฯ ทัศนคติของคนไทยกับหมอฟันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่คิดเพียงว่า ปวดฟันไปพบหมอฟันเพื่อถอนแล้วใส่ฟันปลอม การไปหาหมอฟันตอนไม่ปวดนั้นไม่จำเป็น สุดท้ายลงเอยที่แก่ตัวไปต้องใส่ฟันปลอม หากคุณกำลังเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความคิดเช่นนี้อยู่ ขอให้เปลี่ยนความเข้าใจใหม่ในบัดนี้ เพราะหากเราดูแลตัวเองดีร่วมกับไปตรวจฟันทุก 6 เดือน คุณก็จะมีฟันครบตลอดทั้งชีวิต ไม่ต้องถอน ไม่ต้องใส่ฟันปลอม สิ่งแรกที่คุณผู้อ่านจะต้องศึกษาและปฏิบัติตามนั่นคือ “การแปรงฟันแบบขยับปัด” นำเสนอในรูปแบบคลิปวิดิโอจัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้แปรงฟันอย่างถูกวิธี มีตัวอย่างที่เห็นจริง(หมอนะสาธิตแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ชมด้วยตนเอง) ก็จะทำให้คนที่รู้สึกว่าไม่ถนัด ได้มีความพยายามเพิ่มมากขึ้น เพราะหมอทำให้ดูได้ คนไข้ก็คงไม่ยากที่จะใช้
เรียกได้ว่าเป็น “จิตอาสา” ที่มีต่อสังคมไทย เพื่อให้คนทั่วไปได้ติดตามสาระทางทันตกรรม ตอบปัญหา ข้อสงสัยอย่างคร่าวๆ(เพราะไม่ได้รับการตรวจหรือวิฉิจฉัยใดๆ) และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหมอฟันและคนไข้
ในวันนี้มียอดผู้ติดตามถึง 36,XXX เรียกว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีคนไข้ให้กำลังใจและมาขอคำปรึกษาตลอดเวลา ทำให้หมอนะตื่นตัวและกระตือรือร้นที่จะเสาะหาเรื่องราวทางทันตกรรมมานำเสนอให้กับผู้อ่าน นอกจากนี้แล้วหมอนะให้ความสำคัญกับการตอบทุกคำถาม ข้อสงสัยที่ผู้อ่านทุกคนทิ้งคำถามไว้ โดยให้เหตุผลว่า “เมื่อได้รับความไว้วางใจมากขึ้น เราก็ต้องทำงานหนักขึ้นให้สมกับความไว้วางใจครับ แต่ถึงจะหนักอย่างไรเราก็ต้องทำให้ดีที่สุดต่อไปเพื่อให้คนไทย ไม่กลัวหมอฟัน และให้เห็นความสำคัญของฟันมากขึ้นๆ เพราะการดูแลตั้งแต่ต้นจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสำคัญที่สุดสำหรับการดูแลสุขภาพครับ” ด้วยเหตุนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นจิตอาสาที่มีต่อประชาชนโดยทั่วกัน
มีคำถามจากผู้อ่าน www.hiclasssociety.com ฝากมาถึงคุณหมอนะ (หลังจากที่เผยแพร่บทความสุขภาพฟันให้ทางในคอลัมน์ Health tips) ว่า “ตามคลินิก(จัดฟัน) ชอบให้คนไข้ไปนั่งรอนานหลายชั่วโมง เมื่อถึงคิวแล้วทำไม่ถึง 10 นาที แต่เก็บค่ารักษาแพงๆทุกครั้ง แบบนี้เรียกว่าเลี้ยงไข้หรือไม่? และสมควรหรือไม่? การกระทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ? เข้าข่ายเก็บค่ารักษาเกินความจริง ผิดต่อจรรยาบรรณแพทย์หรือไม่?” คุณหมอนะอธิบายว่า…
“เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนมากครับ แต่ผมขออธิบายว่า ไม่มีอะไรที่ทำแล้วไม่มีต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางตรง หรือทางอ้อม รวมไปถึงการจัดฟันซึ่งต้องใช้เวลานาน พบคุณหมอจัดฟันเดือนละครั้ง จนกว่าจะเสร็จ ดังนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นการเลี้ยงไข้เลยครับ คิดว่าการจัดฟันต้องใช้เวลาและมีต้นทุนทั้งวัสดุ และต้นทุนเรื่องของเวลาและอื่นๆอีกมากมาย แต่สิ่งที่ผมอยากจะฝากก็คือ การเลือกคุณหมอเฉพาะทางจัดฟันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งนอกจากจะรับฟังหรือแนะนำจากคนใกล้ตัว คุณต้องจัดฟันกับคุณหมอเฉพาะทางจัดฟัน สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ http://www.thaiortho.org/?page_id=140 ครับ ส่วนการไปนั่งรอคุณหมอจัดฟันนานๆนั้น เป็นเรื่องของการจัดการเวลาหรือการจัดการนัดคนไข้ของแต่ละสถานบริการครับ ดังนั้นก็ลองสอบถามเพื่อนที่เคยจัดฟันหรือคนใกล้ตัวถึงปัญหาการจัดการดังกล่าวว่าแต่ละที่มีหรือไม่ คุณก็จะได้พบคุณหมอเฉพาะทางจัดฟัน ราคาเหมาะสมและไม่ต้องรอนานเวลาไปพบคุณหมอจัดฟันครับ”
สืบเนื่องจากคำถามของคุณผู้อ่าน ทีมงาน Hi-Class จึงอดที่จะถามไม่ได้ว่ามองเรื่องการแพทย์กับ business อย่างไร ซึ่งหมอนะอธิบายว่า “การแพทย์ กับ Business ก็เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ค่อนข้างมองในเชิงลบ แต่หากเรามองตามแต่ละมุมมองคือหากคุณมองถึงการแพทย์ก็ต้องมองว่า ถูกต้องตามมาตรฐานการรักษาหรือไม่ มีจรรยาบรรณหรือไม่ เพราะสุดท้ายการแพทย์ก็เป็นวิชาชีพ การทำงานต้องขึ้นกับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น แต่หากคุณมองถึงธุรกิจก็ต้องมองถึงกำไร แต่กำไรที่ได้มาก็ต้องมีคุณธรรมทางธุรกิจเช่นกัน ใช่ไหมครับ คือ ซื่อตรง ไม่ค้ากำไรเกินควร และรับผิดชอบกับสิ่งที่ดำเนินการ หากจะรวมทั้งสองคำเข้าด้วยกัน ก็ต้องทั้งหมดตามที่กล่าวมา ซึ่งไม่ยากเลย และไปด้วยกันได้ทั้งการแพทย์และธุรกิจ แต่สุดท้ายก็มีกฎระเบียบ ข้อบังคับมากมาย ที่ช่วยให้ประชาชนทั่วไป ไม่เสียประโยชน์กับธุรกิจที่เกี่ยวกับการแพทย์แน่นอนครับ”
ท้ายที่สุดนี้สิ่งที่คุณหมอนะฝากถึงผู้อ่านทุกคนคือ “หมอ(ฟัน)ที่ดีมีเยอะครับในสังคม คุณอย่ากลัวที่จะไปหาหมอฟัน เพียงแต่การพูดคุย บอกเล่าถึงความต้องการของคุณ หรือปัญหาของคุณเป็นสิ่งสำคัญ ผมยังเชื่ออยู่เสมอว่า “หมอฟัน” ที่ดี มีในสังคมมากมาย เพียงแต่คุณหมอส่วนใหญ่ ไม่ได้ออกสื่อให้คุณได้พบได้เจอแค่นั้นเอง อย่าไปพบคุณหมอเฉพาะตอนมีปัญหา ให้ตรวจฟันทุกๆ 6 เดือน และดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ไม่มีใครรักเราเท่ารักตัวเองและไม่มีใครทราบหรอกครับว่าเวลาไม่มีฟันมันทรมานแค่ไหน”
อย่างไรก็ตามเพจใกล้หมอฟัน มีอะไรใหม่ๆให้ผู้ติดตามชม เช่น การมิตติ้ง สอนแปรงฟันใช้ไหมขัดฟันและทำสาธารณประโยชน์ให้สังคมมากขึ้น รอคอยติดตามให้กำลังใจด้วยนะครับ
หลังจากทราบเรื่องผลงานและเรื่องราวทางวงการแพทย์แล้ว รู้จักหมอนะให้มากขึ้นว่าอะไรส่งผลให้มาเรียนทันตแพทย์ ซึ่งหมอนะออกตัวว่า “เราอยากจะทำงานอะไร อยากจะเป็นอะไร ต้องเข้าใจถึงอาชีพนั้นๆและเข้าใจตัวเอง สมัยผมอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 6 ผมเลือกเรียนคณะทันตแพทย์เพราะผมไม่ชอบอยู่เวรแบบหมอ ผมชอบทำงานแล้วเย็นกลับบ้าน ไม่มีใครโทรตาม (สรุปคือไม่เสียสละพอที่จะเรียนแพทย์) จึงเลือกเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เนื่องจากสอบโควตาได้
ตอนเรียนผมก็ทั้งเรียนทั้งทำกิจกรรม คือเป็นเด็กตื่นตัว ชอบทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยมัธยมแล้ว และได้รับเลือกเป็น นายกสโมสรนักศึกษาคณะทันตแพทย์ ด้วยเช่นกัน ตอนเรียนก็ได้ทำกิจกรรมมมากมาย เช่น ประธานค่ายมหิดล ประธานกิจกรรม PSU-MU-NUS GAME เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับคณะทันตแพทย์ที่มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ สอนให้ผมได้เป็นผมจนทุกวันนี้ครับ
พอเรียนจบผมก็เลือกใช้ทุนที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อตอบรับเจตนารมณ์ของผู้ให้ทุนการศึกษาผมคือทุนการศึกษาชวนชื่น โกมารกุล ยั่งยืน โดยการเสียสละให้กับชุมชนส่วนรวมเพื่อสุขภาพที่ดี จึงเลือกที่นี่ครับ ซึ่งถ้าถามว่ากลัวไหม ก็ตอบว่ากลัวครับ แต่เราต้องทำ และต้องอยู่ให้ได้อย่างมีความสุขด้วยครับ
หลังจากออกจากราชการมาทำงานเอกชน ผมก็ยังโหยหาการทำประโยชน์ให้กับสังคมอยู่ จึงเกิดเป็น “เพจใกล้หมอฟัน” จนถึงวันนี้ครับ สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็นเด็กๆแล้วอยากเก่งประสบความสำเร็จแบบคุณหมอนะ คุณหมอบอกว่าหากน้องๆอยากเป็นหมอฟัน ไม่ยากครับ ตั้งใจเรียนและศึกษาตัวเองว่า ชอบงานที่ต้องอาศัย หัตถการและวิทยาศาสตร์ทั้งสองอย่างหรือไม่ ถ้าชอบขีดๆเขียนๆปั้นๆแต่งๆและมีความรู้เก่งวิทยาศาสตร์ ไม่ยากที่น้องจะชอบวิชาชีพนี้ครับ แต่อย่าลืมนะครับ เราคือหมอฟัน งานของเราเพื่อทำให้คนทั่วไปมีสุขภาพดี ทำดีให้กับตัวเองและทำให้วิชาชีพทันตแพทย์เป็นวิชาชีพทรงเกียรติต่อไปในอนาคตนะครับ”
Story : Porsche Kittisak K