กำลังจะสิ้นสุดซัมเมอร์แล้ว แต่อากาศเมืองไทยเราก็ดูเหมือนจะไม่มีทีท่าจะหมดลมร้อน วันนี้ Fashion Knowledge จึงได้แรงบันดาลใจจากสีสันสดใสของซัมเมอร์มาเขียนเรื่องเครื่องประดับ “นวรัตน์” หรือที่เราคุ้นหูกันว่า “พลอยนพเก้า” ที่มีความเชื่อว่าสามารถป้องกันสิ่งเร้นลับในทางไม่ดีได้ต่างๆนานา ถ้าจะบอกว่าไม่ได้เป็นของไทยแท้แต่โบราณจะเชื่อกันหรือไม่ ด้วยชื่อที่ฟังดูออกจะเป็นไทยเสียเต็มประดาแต่เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เป็นของไทย
เมื่อ 957 ปีก่อนพุทธกาล เป็นช่วงที่ศาสนาพราหมณ์ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอารยันในชมพูทวีป(ลุ่มแม่น้ำสินธุ*)ซึ่งมีชนชาวดราวิเดียน(Dravidian)เป็นชนพื้นเมือง นับถือเทพเจ้าหลายองค์ ชาวอารยันได้คุกคามชาวดราวิเดียนจนสามารถตั้งถิ่นฐานได้สำเร็จ ต่อมาในสมัยหลังพุทธกาลจึงเปลี่ยนเป็นศาสนาฮินดูและมีหลักคำสอนหลายอย่างเปลี่ยนไป จึงถือได้ว่าเป็นศาสนาโบราณที่สุดของโลกที่ยังมีการนับถือกันอยู่และที่แปลกกว่าศาสนาคือคือไม่มีศาสดา
ชาวอารยันเป็นชนชาติอินโด-ยูโรเปียน(Indo-European) ซึ่งนักประวัติศาสตร์จัดเข้าไว้ในพวกเดียวกับกรีกและเปอร์เซีย คนเหล่านี้มีความเชื่อมาแต่เดิมว่า “สรรพสิ่งในโลกนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระพรหม ในภายหลังจึงเกิดมีเทพเจ้าหลายองค์เข้าควบคุมสิ่งเหล่านั้น ชาวอารยันได้พัฒนาความรู้ในเรื่องเทพเจ้ามากขึ้น ได้มีการจัดลำดับหมู่เทพและถือว่าความเป็นไปในชีวิตขึ้นกับอำนาจของเทวะ สกลจักรวาลย่อมอยาในอำนาจเทวดา ทั้งสิ่งดีและสิ่งร้ายล้วนแต่เทวะเป็นผู้บันดาล จึงต้องมีพิธีบวงสรวงสังเวยเพื่อให้เทพเจ้าพอพระทัย ในคัมภีร์พระเวทกล่าวว่าในจักรวาลมีสุริยะเทพเป็นเทพประจำดวงอาทิตย์ ผู้ใดบูชาสุริยะเทพในทุกเช้าจะได้รับพลังอันมหาศาล มีความรุ่งเรือง ทำนองเดียวกันนี้ดาวพระเคราะห์อื่นๆก็มีเทพเป็นผู้รักษาดาวนั้นๆอยู่ ชาวอารยันได้คิดค้นสัญลักษณ์แทนเทพองค์ต่างๆในจักรวาลจึงนำไปเชื่อมโยงกับอัญมณีซึ่งถือเป็นของสูงในสมัยนั้น โดยถือหลักดังนี้
- ทับทิม (Ruby) เป็นสัญลักษณ์แห่งสุริยะเทพ (Sun)
- ไข่มุก (pearl) เป็นสัญลักษณ์แทนพระจันทร์ (Moon)
- ปะการัง (Red coral) เป็นสัญลักษณ์แห่งพระมังคละ (Mangala, Mars, พระอังคาร)
- มรกต (Emerald) สัญลักษณ์แห่งดาวพระพุธ (Mercury)
- บุษราคัมและ/หรือสเปซซาไทต์ (Yellow sapphire and/or Spessatite) เป็นสัญลักษณ์แห่งดาวพฤหัส(Jupiter)
- เพชร (Diamond) เป๊นสัญลักษณ์แห่งดาวศุกร์ ( Shukra, Venus)
- ไพลิน (Blue sapphire) เป็นสัญลักษณ์ของดาวเสาร์ (Shani, Saturn)
- เฮสโซไนต์ (Hessonite) เป็นสัญลักษณ์ของพระจันทร์ข้างขึ้น ( Rahu, the ascending node of the Moon)
- ไพฑูรย์ (Cat’s eye Chrysoberyl) เป็นสัญลักษณ์ของพระจันทร์ข้างแรม(Ketu, the descending node of the Moon)
ทั้งหมดนี้รวมกันเรียกว่า “นวรัตนา” เป็นอัญมณีที่ทรงพลังอำนาจมหาศาลเพราะรวมทั้งจักรวาลเข้าไว้ด้วยกันและมีทวยเทพสถิตอยู่ประจำอัญมณีแต่ละชนิด สามารถป้องกันภยันตรายจากมนต์ดำและปีศาจร้ายทั้งปวง เป็นไปเพื่อความสิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง ถือเป็นเครื่องประดับคู่บารมี ผู้ที่ครอบครองต้องเป็นผู้ที่มากล้นด้วยวาสนา บารมี ลาภ ยศ นั่นคือชนชั้นวรรณะกษัตริย์* เราจึงเห็นภาพของมหาราชาและมหารานีสวมแหวนประดับด้วยพลอยนวรัตน์ที่นิ้วชี้ทั้งสองข้างเพื่อเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความถึงพร้อมและอำนาจอย่างล้นพ้น
อย่างไรก็ตามชาวไทยเรามักคุ้นชินกับเครื่องประดับพลอยนวรัตน์นี้ (บ้างเรียกว่าพลอยนพเก้า) กับรูปแบบที่แลดูแล้วจะเป็นไทยแท้ เป็นต้นว่าดอกพิกุล ทรงกระทุ่ม กนก หรือแม้แต่ทับทรวงของเจ้านายขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ในวรรณคดีไทยบางเรื่องในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นก็มีบทประพันธ์เกี่ยวกับพลอยนวรัตน์ว่า
“เพชรดีมณีแดง เขียวใสแสงมรกต
เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก
สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์”
ขุนช้างขุนแผน
เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ชาวไทยเราได้มีการนำภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต เข้ามาใช้ปะปนกับภาษาไทยเราและเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เราอาจนำเอาวัฒนธรรมพลอยนวรัตน์เข้ามาด้วย หรืออาจเป็นของบรรณาการที่เมืองขึ้นทั้งหลายนำมาถวายแด่พระมหากษัตริย์ไทยเรา
ปัจจุบันนี้คนไทยเรายังมีความนิยมเลื่อมใส นับถือพลอยนวรัตน์นี้อย่างไม่เสื่อมคลายว่าเป็นเครื่องประดับคู่บารมี มีความเป็นสิริมงคล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบูชาพระพุทธรูปตลอดจนเครื่องทรงของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง พลอยนวรัตน์นี้ยังสามารถพบเห็นได้จากเครื่องราชูปโภคในพระราชพิธีสำคัญ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของพระราชวงศ์ นอกจากนี้แล้วอาจมีคนไทยบางส่วนที่ได้รับสมบัติเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ บ้างก็เป็นของกำนัลตอบแทนผู้มีน้ำใจช่วยเหลือยามที่เคยตกทุกข์ได้ยาก หรือเป็นของหมั้น มาถึงบรรทัดนี้คุณผู้อ่านคงทราบถึงเรื่องราวของพลอยนวรัตน์นี้อย่างเห็นแจ้งแทงตลอด จึงขอทิ้งท้ายด้วยคำประพันธ์ที่สื่อความหมายอันวิเศษของพลอยแต่ละชนิดให้อัศจรรย์ใจ
“เพชรยิ่งใหญ่ไพรีไม่มีกล้ำ ทับทิมนำอายุยืนเพิ่มพูนผล
อุดมลาภยศศักดิ์ประจักษ์ผล มรกตกันภัยผ่องเล็บงา
บุษราคัมฉาบเสน่ห์ไม่เสแสร้ง โกเมนแจ้งแคล้วพาลภัยใจสุขา
ไพลินย้ำความร่ำรวยช่วยนำพา มุกดาหารเสน่หาน่าเมียงมอง
อันเพทายช่วยกันโทษที่โฉดเขลา ไพฑูรย์เล่ากันฟอนไฟภัยทั้งผอง
ดลบันดาลให้เทวามาคุ้มครอง สบสนองแจ้งแห่งนพรัตนา”
ของเก่า
Story : Porsche Kittisak K
************************************************************************************************************************
*แม่น้ำสินธุ : ชาวต่างชาติเรียกเพี้ยนเป็น “อินดุส” แล้วกลายเป็น “อินเดีย” ในที่สุด (กิตติ วัฒนะมหาตม์ : ตรีเทวปกรณ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ : 2546)
*วรรณะกษัตริย์ : เมื่อชาวอารยันได้ปกครองคนพื้นเมืองคือชาวดราวิเดียนแล้ว ต้องการควบคุมคนพื้นเมืองให้เป็นทาสตลอดไป อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดการปะปนทางเชื้อชาติและสงวนอาชีพสำคัญๆไว้เฉพาะพวกตน จึงคิดระบบวรรณะ(Caste system)ขึ้น โดยให้ 3 วรรณะแรก คือ พราหมณ์ กษัตริย์ และไวศยะ(พ่อค้า)เป็นของชาวอารยัน ส่วนอีกวรรณะหนึ่งคือ ศูทร เป็นของพวกชนพื้นเมืองเดิม ถือเป็นวรรณะทาส การแต่งงานข้ามวรรณะจะทำให้บุตรที่เกิดมาถูกสังคมรังเกียจด้วยประเพณีที่รุนแรงมาก เรียกว่า จัณฑาล (กิตติ วัฒนะมหาตม์ : ตรีเทวปกรณ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ : 2546)
************************************************************************************************************************
Thanks to image from :
http://yogabazar.com/images/ka003.jpg
http://www.milleniumjewels.com/stone/rudraksha/spiritual-navratan-1.jpg
http://www.planetarygems.com/images/navaratna%20new%20with%20gallery%20BKK%20APRIL08.jpg
http://3.bp.blogspot.com/-rhCWPoxO03Y/TuYZdvxI1fI/AAAAAAAAE-I/92wTvNM_dXU/s320/navaratna-nine-navagraha-gemstones-hindu-astrology.jpg
Thanks to information from :
กิตติ วัฒนะมหาตม์ : ตรีเทวปกรณ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ : 2546
http://www.squidoo.com/navaratna-jewelry#module158286238
http://tamaradesign.com/2012/03/1214/
http://megha-agrawal.hubpages.com/hub/Why-wear-Navaratna-Jewelry