“นักเขียนต้องเป็นคนที่ “มีอะไร หรือรู้อะไร” มากกว่าคนปรกติ”
ภาณุ ตรัยเวช ชื่อจริงสกุลจริงของนักเขียนหนุ่มที่พุ่งแรงที่สุดในเวลานี้ ด้วยวัยเพียง 28 ปี ภาณุเป็นนักเขียนที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ถึง 2 สมัย จากนวนิยายเรื่อง “เด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์” ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประเภทนิยาย ในปี พ.ศ. 2549 และจากผลงานรวมเรื่องสั้น “วรรณกรรมตกสระ” ที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประเภทรวมเรื่องสั้น ในปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา
นอกเหนือไปจากงานเขียนที่คว้ารางวัลต่างๆ มากมายแล้ว ภาณุยังเป็นนักเรียนและนักกิจกรรมระดับหัวกะทิคนหนึ่ง เห็นได้จากที่เขาเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันวิชาพิสิกส์โอลิมปิกถึง 3 สมัย, สอบได้อันดับ 1 ทุนเล่าเรียนหลวงสายวิทยาศาสตร์ ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, เป็นนักแซกโซโฟน, นักเต้นลีลาศ รวมไปถึงชนะการแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ในหัวข้อ “แฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมเยาวชน” ในปี 2549 ฯ
ปัจจุบัน ภาณุศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก วิชาอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์ อยู่ที่ University of California at Los Angeles สหรัฐอเมริกา และยังคงส่งผลงานการเขียนกลับมาตีพิมพ์ในเมืองไทย ให้แฟนๆ ได้อ่านอยู่อย่างสม่ำเสมอ
อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน
เพราะชอบเล่าเรื่องครับ ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก แล้วคิดต่อไปเองว่า ถ้าเราเป็นคนเขียน เราจะเปลี่ยนตอนจบไหม หรือจะเขียนเพิ่มเติมต่อไปอย่างไรดี ตอนนี้ก็ยังติดนิสัยนั้นอยู่ แม้ว่าจะเปลี่ยนมาสร้างเรื่องราว สร้างตัวละครของเราเองตั้งแต่ต้นจนจบ (แทนที่จะหยิบตัวละครของคนอื่นมาต่อเติมเหมือนสมัยเด็กๆ)
คุณลักษณะของนักเขียนที่ดี และต้นแบบในการเขียนหนังสือของคุณ
ต้องอ่านเยอะ ต้องรู้เยอะ สำหรับผม นักเขียนคือผู้ให้การศึกษา ดังนั้นนักเขียนต้องเป็นคนที่ “มีอะไร หรือรู้อะไร” มากกว่าคนปรกติ ในแง่นี้ ผมถึงชื่นชมนักเขียนฝรั่ง ที่นอกจากจะเป็นนักเขียนแล้ว ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย (ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่ชื่นชมนักเขียนไทยที่เป็นนักเขียนอาชีพนะครับ)
วิธีการทำงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณเริ่มที่ไหน และจบลงที่ไหน
ส่วนใหญ่ก็มาจากตัวละคร แนวเรื่อง ฉากสถานที่ หรือว่าประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องการจะเล่าหรือสื่อ แล้วค่อยคิดส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มเติม จนกว่าจะสมบูรณ์ จะไม่เริ่มต้นเขียนจนกว่าจะมั่นใจว่ามีวัตถุดิบเพียงพอให้จบเรื่องได้แน่ๆ ซึ่งพอเขียนไปเรื่อยๆ แล้ว โครงเรื่องหรือองค์ประกอบเหล่านี้ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป จริงๆ ก็คือ งานเขียนที่อยู่ในหัวเรา พอจับลงกระดาษ จะแตกต่างจากที่คิดไว้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนไม่น้อย ผมเลยมองว่า วิธีเขียนของตัวเองประกอบด้วยสองกระบวนการ หนึ่งคือมุ่งไปข้างหน้า เขียนให้จบให้ได้ และสองคือปรับแก้ที่เขียนไปแล้วอยู่เรื่อยๆ
ปณิธานสูงสุดในฐานะนักเขียน
ไม่มีแฮะ ผมชอบเขียนหนังสือหลายๆ แนว ตอนนี้นิยายนักสืบก็ใกล้จะเสร็จแล้ว คิดไว้ว่าสักวันอยากเขียนนิยายกำลังภายใน
สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี
ต้องอ่านสนุก หยิบขึ้นมาแล้ววางไม่ลง วรรณกรรมไม่เหมือนภาพยนตร์ที่ผู้เสพสามารถนั่งดูไปได้เรื่อยๆ จะน่าเบื่อบ้าง ไร้แก่นสารบ้างก็ไม่เป็นไร หนังสือคือสิ่งที่ต้อง “อ่าน” มันเรียกร้องบางอย่างจากผู้เสพ ดังนั้นถ้าพลังงานที่ผู้อ่านใช้มากกว่าสิ่งที่เขาหรือเธอได้รับ ผมคิดว่ามันเป็นการเอาเปรียบคนอ่านเกินไป
วิถีชีวิตของคุณทุกวันนี้เป็นเช่นไร เขียนหนังสือช่วงไหนเป็นหลัก
ส่วนใหญ่เขียนตอนกลางคืน ผมชอบพูดเล่นๆ กับเพื่อนว่า กลางวันผมทำ “งัย” (งาน + วิจัย) ส่วนกลางคืนผมทำ “เงียน” (งาน + เขียน)
คุณเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ได้เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ถึง 2 ปี ได้รางวัลทางวรรณกรรมต่างๆ มากมาย ถึงตรงนี้คนในวงวรรณกรรมล้วนจับตามองว่าคุณจะเป็นอนาคตของวงวรรณกรรมไทย แต่สำหรับคุณเอง มองตัวเองในวันนี้อย่างไร
รู้สึกว่าตัวเองพุ่งเร็วเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ยังไปไม่ถึงที่สุดเสียที มีบางอารมณ์เหมือนกันที่อยากกลับไปนับหนึ่งใหม่ แต่บางอารมณ์ก็อดภูมิใจไม่ได้ที่ตะเกียกตะกายมาถึงทุกวันนี้ อยาก “พอเพียง” กับความสำเร็จของตัวเอง แต่ก็มีบางทีที่อยากให้คนหันมาฟัง มาอ่านเรามากขึ้น
มองวงการวรรณกรรมไทย
ผมว่าอีกปีสองปีนี้ วรรณกรรมไทยจะน่าสนใจมาก ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ทำลายขนบและความเชื่อหลายอย่างในสังคม นักเขียนและคนวรรณกรรม “จำเป็นต้อง” ปรับวิธีคิด และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น (ไม่ใช่เอะอะก็มุ่งเน้นแต่คำตอบเหมือนที่ผ่านมา) ถ้าเราสามารถทำเช่นนั้นได้ ผมว่ามันจะเกิดมิติใหม่ทางวรรณกรรม
มีคนในวงวรรณกรรมมากมายเหลือเกินที่พูดถึงความแตกต่างด้านวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยกับคนต่างประเทศ ในฐานะที่คุณกำลังศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ จึงอยากจะขอให้ช่วยเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพวัฒนธรรมการอ่านของคนต่างประเทศกับคนไทยสักหน่อย
เล่าอะไรให้ฟังขำๆ แล้วกัน ผมเคยบอกอาจารย์ผมที่อเมริกาว่าเรียนจบแล้วอยากเป็นนักเขียนอาชีพ ถามเขาว่าคิดอ่านประการใด เขาถามผมกลับว่าอยากเป็นนักเขียนในเมืองไทยหรือในอเมริกา พอผมตอบว่าเมืองไทย เขาครุ่นคิดสักพักแล้วพูดว่า “ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวัฒนธรรมการอ่านในเมืองไทยเป็นอย่างไร คนไทยอ่านหนังสือน้อยแบบคนที่นี่หรือเปล่า…”
“รางวัล” จำเป็นไหมต่อวงการวรรณกรรม และสภาพการณ์ที่มีการประกวดรางวัลผุดขึ้นมากมายในปัจจุบัน มันสื่อถึงอะไร
ผมว่าจำเป็น และดีนะที่มีรางวัลผุดขึ้นมากมาย ตอนนี้ทุกรางวัลก็พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละสถาบันตระหนักถึงบทบาทที่ตนมีต่อแวดวงวรรณกรม ซึ่งผมว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี แต่จะดีกว่านี้ ถ้าเรามีรางวัลเฉพาะทางมากขึ้น เช่น ประกวดเฉพาะหนังสือสำหรับเด็ก เรื่องแนววิทยาศาสตร์ สืบสวนสอบสวน หรืองาน genre แบบอื่น
ณ วันนี้สำหรับคุณ การเขียนหนังสือเปรียบได้กับอะไร
ไม่ต้องเปรียบเลยครับ ตอนนี้การเขียนหนังสือคือ “งานอดิเรก” ของผม และผมก็คิดว่ามันคงเป็นเช่นนี้ไปอีกพักใหญ่ ผมภูมิใจกับคำว่า “งานอดิเรก” นะ เพราะมันหมายถึงการทำด้วยใจรัก และถ้ามันไม่ดีจริงๆ เราคงไม่เสียเวลาทำมันหรอก (ไม่เหมือนงานประจำที่เราทำไปวันๆ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง)
คำแนะนำถึงนักอยากเขียน ว่าต้องเริ่มต้นที่จุดไหน และพัฒนาตัวเองอย่างไร
สั้นๆ “อ่านหนังสือเยอะๆ”
รายชื่อนักเขียนคนโปรด และรายชื่อหนังสือเล่มโปรด
ไทย – คุณวาณิช จรุงกิจอนันนต์ (ซอยเดียวกัน), คุณชาติ กอบจิตติ (คำพิพากษา), อาจารย์มนัส จรรยงค์ (รวมเรื่องสั้นทั้งหลายแหล่ของแก), อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมชย์ (ไผ่แดง) และคุณดำรงค์ อารีกุล (รวมเรื่องสั้นชุด กอดลมไว้อย่าให้หงอย)
สากล – Kundera, Milan (The Unbearable Lightness of Being); Eco, Umberto (The Name of the Rose); Murdoch, Iris (The Sea, the Sea); Dostoevsky, Fydor (The Idiot) และโกวเล้ง (ฤทธิ์มีดสั้น)
**โปรย**
“กลางวันผมทำ “งัย” (งาน + วิจัย) ส่วนกลางคืนผมทำ “เงียน” (งาน + เขียน)”
“ผมว่าอีกปีสองปีนี้ วรรณกรรมไทยจะน่าสนใจมาก ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ทำลายขนบและความเชื่อหลายอย่างในสังคม นักเขียนและคนวรรณกรรม “จำเป็นต้อง” ปรับวิธีคิด และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
“ตอนนี้การเขียนหนังสือคือ “งานอดิเรก” ของผม”