กัปตัน ศรัณย์พล ผุลละศิริ

Dreams Come True

เป็นธรรมดาที่ความฝันของเด็กผู้ชายนอกเหนือจากเป็นทหาร, ตำรวจ, แพทย์ ย่อมมีอาชีพนักบินติดโผความนิยมอันดับต้นๆ และสำหรับเด็กน้อยผู้มีพื้นฐานจากคุณพ่อเป็นทหารอากาศ ถูกหล่อหลอมจนเติบใหญ่และเข้าเรียนในพื้นที่เขตทหารอากาศมาโดยตลอด เขาเลือกเรียนในสิ่งที่หวังและก้าวเดินตามความฝันในสิ่งที่ฝัน ถึงวันนี้นอกเหนือจากนามบัตร ศรัณย์พล ผุลละศิริ ซึ่งระบุตำแหน่งกัปตันแล้ว เขายังควบตำแหน่งทางสังคมคือ นายกสมาคมนักบินไทย เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งภารกิจ

“ความฝันกับความเป็นจริงอาจจะไม่สอดคล้องกัน การเรียนหนังสือผมเรียนตามความสามารถ ซึ่งทางด้านช่างวิศวกรรมเราก็ชอบ ส่วนทางด้านการบินเนื่องจากนักบินนั้นปีหนึ่งๆ เปิดรับน้อย ความคาดหวังว่าเราจะสอบได้มันค่อนข้างยาก ดังนั้นแม้ผมฝันอยากเป็นนักบินแต่ในขณะเดียวกันวิชาที่ผมเลือกเรียนหากไม่ได้เป็นนักบินก็ยังสามารถเป็นวิชาชีพได้เช่นกัน”

‘กัปตันแตงโม’ แห่ง บมจ.การบินไทย ย้อนรำลึกวันวานของการตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนนายร้อยตำรวจ สอบเป็นนักบินกองบินตำรวจรับราชการตามความต้องการของคุณพ่อแล้วลาออกมาสอบนักบินพาณิชย์เมื่อมีโอกาส หรือจะเรียนวิศวกรรมศาสตร์ตามบัญชาของคุณแม่ แต่เมื่อมิอาจละทิ้งอาชีพนักบินพาณิชย์ที่ตนฝันใฝ่ และในที่สุดการตัดสินใจของเขาก็เป็นไปดังคำโบราณ “บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” หลังจบมศ.5 แม้ว่าสอบติดทั้งสองแห่งแต่เสียงคุณแม่มีพลังมากกว่าจึงเข้าเรียนในภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานเป็นหนึ่งในทีมงานวิศวกรก่อสร้างสะพานพระรามเก้าก่อนจะสอบชิงทุนบริษัทการบินไทยและเข้าเรียน ณ ศูนย์ฝึกการบินพลเรือน กระทั่งนั่งเก้าอี้นักบินฝึกหัดประจำอากาศยานของการบินไทยเมื่อ 21 ปีที่แล้ว ด้วยเที่ยวบินแรกซึ่งตราตรึงในความทรงจำไม่ลืม คือ กรุงเทพฯ – ฮ่องกง และ ฮ่องกง – ภูเก็ต

“จากเครื่องบินใบพัดขนาดเล็กของศูนย์ฝึกการบินพลเรือน สู่เครื่องบินพาณิชย์ของการบินไทย เริ่มต้นด้วยแอร์บัส AB4 นำผู้โดยสารไปยังฮ่องกงจำได้ว่าตื่นเต้นมาก แถมบินเข้าไปในเมฆซึ่งมีฝนเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นประจุไฟฟ้าสถิตในหมู่เมฆที่กระจกห้องนักบินเสมือนเรามองไฟลูกแก้วของหมอดู ตอนนั้นตื่นเต้นมากเพราะไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ตอนหลังมีประสบการณ์แล้วก็กลายเป็นเรื่องปกติ ผมเป็นนักบินฝึกหัดกระทั่งสอบผ่านเป็นนักบินผู้ช่วยที่สาม และนักบินผู้ช่วยที่สอง (Co-pilot) ควบคุมเครื่องบินแบบ DC 10 ก่อนก้าวไปสู่เครื่องบินจัมโบ้ โบอิ้ง 747 แล้วจึงเป็นนักบินที่หนึ่ง (กัปตัน) แอร์บัส A 330 โดยในปัจจุบันเป็นนักบินที่หนึ่ง แอร์บัส A 340 ซึ่งรุ่นนี้สามารถบินตรงในเส้นทาง กรุงเทพฯ – ลอสแองเจลลิส”

“วันที่สอบติดนักบินทั้งแม่และพ่อก็ดีใจกับผม ในชีวิตหากเราได้ทำสิ่งที่เรารัก เราจะมีความสุข ผมได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ทำงานในสิ่งที่อยากทำคือเป็นนักบิน นี่แหละผมถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว”

เมื่อมองลงไปให้ลึกถึงเบื้องหลังบุคลิกสง่างามภายใต้เครื่องแบบนักบินคือความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารนับร้อยชีวิตที่ไว้วางใจให้เขาเป็นผู้นำพาไปสู่จุดหมาย การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ประสบการณ์ซึ่งสั่งสมมานานปี การประสานงานอย่างเป็นระบบ และการตัดสินใจที่อยู่บนหลักการของความถูกต้อง คือสิ่งที่นักบินทุกคนยึดถือสูงสุด

“เหตุการณ์ท้าทายและภูมิใจคือเมื่อครั้งบินแอร์บัส A 330 เครื่องบินสองเครื่องยนต์เราบินในย่านเอเชีย ครั้งนั้นเครื่องขึ้นจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ไทเป ขณะที่เครื่องจะลงสนามบินเมื่อกางล้อออกปรากฏว่าเครื่องสั่นทั้งลำ เสียงดังสนั่น ล้อไม่กางดูจากเครื่องวัดในห้องนักบินแจ้งว่า 1 ใน 3 ล้อไม่กาง ไฮดรอลิคแตกอีก 1 ระบบเช่นกัน ผมบินวนพร้อมกับแจ้งให้หอบังคับการบินดูล้อ แก้ไขปัญหาและสามารถนำเครื่องกลับมาลงได้อย่างปลอดภัยพร้อมผู้โดยสารเต็มลำ นี่คือเที่ยวบินที่ผมภูมิใจมากที่สุด”

“ผมจริงจังกับงาน ไม่เครียดเลย ต้องมีอารมณ์ดี นอกเวลางานด้วยความที่ผมเป็นคนสนุกสนานร่าเริง ก็ยิ่งอารมณ์ดี โดยในเที่ยวบินกัปตันเป็นหัวหน้านักบินและเป็นหัวหน้าใหญ่ของลูกเรือ หากเป็นเครื่องบินแบบสองเครื่องยนต์โดยปกติมีนักบินสองคน คือ กัปตันและนักบินผู้ช่วยที่สอง แต่ถ้าเป็นเที่ยวบินระยะยาวเช่นไปยุโรปเราใช้นักบินถึงสี่คน อย่างน้อยก็มีกัปตันหนึ่งคนที่เหลือเป็นนักบินผู้ช่วยสามคนได้ หรือบางเที่ยวบินที่ไปอเมริกาจะมีกัปตันสองคน ผู้ช่วยนักบินสองคน ทั้งนี้สายการบังคับบัญชาของนักบินทุกคนจะขึ้นอยู่กับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ”

“ประสบการณ์มีส่วนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเราบินมานานจะรู้ว่าการเรียนรู้เรื่องการบินไม่สิ้นสุด มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การแก้ปัญหาก็ได้จากประสบการณ์ที่เราสั่งสมที่เราเจอมาในอดีต ผู้ทำการบินเครื่องบินพาณิชย์เราบินกันด้วยตำรา บินกันด้วยหนังสือ หากใครมีความรู้ดี แม่นตำรา บวกประสบการณ์จะช่วยในการตัดสินใจได้อย่างมาก”
โดยส่วนตัวเขาเป็นคนเชื่อมั่นในการคิดดีทำดีแล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ซึ่งนำมาใช้กับอาชีพนักบินพาณิชย์และในชีวิตส่วนตัว

“เวลาบินผมไม่ได้อาราธนาพระองค์ใดเลย ตอนเกิดเหตุล้อเครื่องบินไม่กางพอลงพื้นสำเร็จมีคนถามว่าห้อยพระอะไร แล้วถามว่ากัปตันกลัวไหมตอนนั้นคิดอะไรอยู่ บอกตรงๆ ตอนนั้นผมทำตามตำรา ตามขั้นตอน และดึงประสบการณ์ทุกอย่างมาใช้ แต่ด้วยความเป็นคนไทยจึงคิดอยู่ว่าก่อนเครื่องจะแตะพื้นด้วยความที่ผมจบจุฬาฯ ผมก็อธิษฐานว่าเสด็จพ่อฯ ช่วยลูกด้วยนะ ลูกทำดีที่สุดแล้ว และบอกแม่ย่านางของเครื่องว่าลูกทำดีที่สุดแล้วนะ เท่านี้จริงๆ แล้วก็นำเครื่องลง”
จากความเชื่อมั่นในการคิด-พูด-ทำ ‘ดี’ จึงเป็นเกราะคุ้มภัย พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้จากหลายฝ่ายเมื่อกระโดดลงสมัครเป็นนายกสมาคมนักบินไทย หลังจากได้รับเลือกแล้ว จึงได้ดำเนินสร้างสรรค์ทั้งในภาคส่วนองค์กรที่รับผิดชอบและก้าวไกลด้วยความมุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นประเทศผ่านเวทีการประชุมนักบินโลกซึ่งสมาคมนักบินไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

“ผมสมัครเป็นนายกสมาคมนักบินไทย ด้วยความตั้งใจทำงานสมาคมฯ มาช่วยเหลือสังคม มาสร้างความเป็นปึกแผ่นให้นักบินไทย ที่มาของสมาคมนักบินไทยก่อตั้งมาประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว แต่เนื่องจากเมื่อเริ่มก่อตั้งมีสายการบินใหญ่เพียงสายการบินเดียวคือการบินไทย สมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นนักบินการบินไทย เวลาผ่านไปมีสายการบินอื่นก่อตั้งขึ้นมาและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีนักบินสายการบินอื่นบางส่วนเท่านั้นที่มาเป็นสมาชิกสมาคม เมื่อผมสมัครเป็นนายกสมาคมจึงคิดว่าอยากจะรวบรวมเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันมาอยู่ในที่เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยล่าสุดได้ชักชวนสายการบินนกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ มาร่วมกันซึ่งเขาตอบรับอย่างดี สมาคมของเราเป็นสมาชิกสมาคมนักบินโลก (International Federation of Air Line Pilots’ Associations : IFALPA) มีสมาชิกประมาณ 100 ประเทศ เป็นองค์กรซึ่งให้ความรู้แลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการซึ่งกันและกันสำหรับนักบิน

“บทบาทของสมาคมนักบินไทยกับสมาคมนักบินโลก เราร่วมมือกันทางด้านวิชาการมาหลายปี และเป็นไปได้ด้วยดีมาก การประชุมนักบินโลกจะจัดขึ้นทุกๆ สองปี สำหรับครั้งหน้าเราจึงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักบินโลกที่ประเทศไทย โดยเสนอจัดการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี ค.ศ. 2011 และในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักบินโลกเหมือนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคือจะมีชาติอื่นเข้าแข่งขัน ตอนนี้มีไทย เกาหลีใต้ และไซปรัส ซึ่งการจัดการประชุมที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่าง 20-24 มีนาคม ค.ศ. 2009 ที่โอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ พร้อมกับตัดสินว่าครั้งต่อไปใครจะได้เป็นเจ้าภาพ โดยเมื่อสิบปีก่อนเราเคยจัดประชุมนักบินโลกเมื่อปี ค.ศ. 1999 ที่พัทยา ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สองที่เราเสนอตัวจัดประชุม

“ทางสมาคมฯ ได้ประสานงานไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งราชการและเอกชน ได้รับความร่วมมือที่ดีมากจาก ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โสภณ ซารัมย์, ท่านประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ท่านปลัดกระทรวงคมนาคม สุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งการบินไทย เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ในการจัดประชุมครั้งนี้

“ถ้าเราได้จัดมันจะมีข้อดีจากการที่ประเทศเรามีปัญหาในประเทศมานาน ยิ่งการปิดสนามบินความเชื่อมั่นจากต่างชาติในเรื่องการบินลดลง การที่เราได้จัดการประชุมโดยให้นักบินทั้งโลกเดินทางมาที่บ้านเราจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศทั้งประเทศเราเองและเรื่องการบิน ประโยชน์ลำดับถัดมาคือนักบินที่มาร่วมประชุมและผู้สื่อข่าวมากว่า 500 คนจะมาประเทศเรา ตามมาด้วยประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ระยะเวลาเสนอการจัดประชุมอยู่ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ประชุมเสร็จก็ได้เที่ยวกันต่อ เราวางแผนทุกอย่างและเตรียมการไว้พร้อมแล้วสำหรับการเสนอตัวต่อที่ประชุมในเดือนมีนาคม โดยในระหว่างวันที่ 20-24 ในจำนวนสามชาติที่เสนอตัว จะได้ชาติละหนึ่งวันในการนำเสนอ ของเราเตรียมการแสดงและวีดิทัศน์เชิญชวน พร้อมกับจัดห้องจัดเลี้ยงอาหารไทยเพื่อโน้มน้าวให้เขาเลือกเรา สิ่งนี้ผมตั้งความหวังเอาไว้สูงมากว่าเราน่าจะได้แน่

“การจัดการประชุมนั้นทางสมาคมนักบินโลกจะออกค่าใช้จ่ายเอง ทั้งค่าห้องประชุม ค่าที่พัก ดังนั้นถ้าหากเราถูกกว่าก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญแต่ถูกแล้วยังจะต้องดีด้วย โดยประธานสมาคมนักบินโลกได้มาสำรวจเชียงใหม่แล้ว เขาพอใจสถานที่ การไปเชียงใหม่เราได้นำเสนอวัฒนธรรมนี่คือแรงดึงดูดสำคัญ สำหรับคู่แข่งกรณีเกาหลีใต้ เราได้เปรียบเพราะค่าใช้จ่ายในบ้านเรานั้นถูกกว่า สำหรับไซปรัสการเดินทางลำบาก ในแง่การคมนาคมอย่างไรก็ตามมาไทยหรือไปเกาหลีใต้สะดวกว่าไปไซปรัส ถ้ารวมทุกอย่างแล้วประเทศไทยได้เปรียย บวกกับอัธยาศัยของคนไทยนี่คือข้อได้เปรียบที่ชาติอื่นสู้เราไม่ได้

“งานนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย และจะเศรษฐกิจดีหรือไม่เขาก็ต้องจัดทุกสองปี ขณะที่ผลดีจากการจัดประชุมคือจะนำเม็ดเงินเข้ามาบ้านเราเยอะมาก โดยอย่างน้อยที่เขาอยู่เมืองไทยคือหนึ่งสัปดาห์พร้อมกับคณะสื่อมวลชนจากทั่วโลก สมาคมจึงพยายามขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานซึ่งน่าดีใจที่ทุกหน่วยงานให้การสนับสนุนด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) เป็นปีดี คือ การเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพราะในปีนั้นจะทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา สิ่งสำคัญอีกหนึ่งวาระคือ ครบรอบ 100 ปีที่ ‘นางสาวสยาม’ เครื่องบินลำแรกแตะพื้นดินประเทศไทย จากสองเหตุการณ์นี้เมื่อเราติดต่อขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ จึงให้ความร่วมมือสนับสนุนเต็มที่ ทั่วโลกจับตามองและเราก็ได้เฉลิมฉลองในวาระมหามงคล โดยส่วนตัวผมมั่นใจมากว่าเราจะได้รับเลือกให้จัดประชุมนักบินโลกในครั้งถัดไป เพราะเราพร้อมทุกด้านทั้งสถานที่ ผู้คน เหลือภารกิจในขณะที่จัดกิจกรรมว่าทำอย่างไรให้เขาประทับใจสูงสุด กลับไปแล้วยังพูดถึงประเทศไทย”

“ภาพลักษณ์เมืองไทยในสายตาชาวโลกนั้น ตอนนี้ไม่มีใครพูดเรื่องเดิมแล้วนะเพราะมีเรื่องอื่นให้พูดแทน การที่เราอยู่เมืองไทยเรามีปัญหาก็นึกว่ามันใหญ่มาก…ซึ่งก็ใหญ่นะ แต่เมื่อผ่านไปสถานการณ์โลกเกิดขึ้นตามมาอย่างเช่น อิสราเอลถล่มฮามาส ฯ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใหม่มากลบเขาก็ยังพูดไม่จบ เรียกได้ว่าตอนนี้จบไปแล้วสำหรับบ้านเรามันก็เป็นอดีตวันคืนผ่านไปเขาก็เลิกพูดถึงไปพูดในสิ่งใหม่ ในส่วนตัวผมคิดว่าประเทศไทยจะกลับมาเหมือนเดิม ความเชื่อมั่นจากต่างชาติจะกลับมา”

“งานของสมาคมนักบินไทย เราเตรียมงานกันมาหลายเดือนและต่อเนื่อง เรามีคณะทำงานที่ติดต่อประสานงานแม้ว่าคนนี้ไม่อยู่อีกคนก็ประสานงานไม่ขาดตอน เราจะมีการจัดประชุมเรื่อยๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าของงาน”

“อุปสรรคนั้นเป็นเรื่องปกติของการทำงาน บางครั้งเราคิดสิ่งหนึ่งขึ้นมามีบางคนบอกว่า “ไม่สำเร็จหรอก” นั่นยังไม่ได้ทำเลย แต่การทำนั้นถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคและไม่สำเร็จเราก็ไม่เสียอะไรกลับได้ประสบการณ์ชีวิตเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต การทำงานใดก็ตามถึงแม้จะไม่สำเร็จก็ไม่ใช่ความล้มเหลว สั่งสมบทเรียนไปเรื่อยๆ ถามกลับไปว่าตั้งแต่โตมามีใครไหมที่ทำสำเร็จทุกอย่าง ฉะนั้นความไม่สำเร็จหรืออุปสรรคไม่ใช่ปัญหาของการทำงาน ไม่กลัวอุปสรรค ไม่กลัวปัญหา เราแก้ไปเรื่อยๆ”

ส่วนหนึ่งของการก้าวเข้ามาในตำแหน่งนายกสมาคมนักบินไทย คือการปรับโฉมและนำพาให้คนทั่วไปรับรู้ภารกิจว่าองค์กรดำเนินการอะไร พร้อมกับทำงานเพื่อสังคมทั้งในระดับจุลภาคและมหภาคนอกเหนือจากงานในแวดวงของนักบินเท่านั้น

“ผมเป็นคนชอบสังคมเพื่อนฝูง ชอบเล่นกีฬา พบปะผู้คน นี่คือนิสัยของผม ทุกวันหยุดที่ผมไม่บินผมทำงานให้กับสมาคมนักบินไทยทุกวัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำภารกิจต่างๆ ได้ง่าย ทุ่มเทได้เต็มที่ บ่อยครั้งที่อยู่สมาคมฯ ตั้งแต่เช้าไปจนดึก สมาคมคือการสังสรรค์พบปะผู้คนหลีกเลี่ยงงานเลี้ยงไม่พ้น รวมถึงกีฬาถ้าไม่ได้ลงสนามเองก็ไปเชียร์แล้วก็สังสรรค์ทำให้มีเพื่อนฝูงเยอะ เมื่อตอนหนุ่มๆ อาจเป็นคนเนื้อหอม แต่พออายุมากขึ้นก็ลดลงไปตามวัย ไม่ใช่เค้าโครงที่เอาไปทำละครนะ (หัวเราะ) ในละครเป็นเพียงหนึ่งในแสนเขาแต่งเติมให้มีสีสัน ของจริงไม่ดุเดือดขนาดนั้น เผอิญเขาหยิบมาทำเป็นละครซึ่งในชีวิตจริงของนักบินและลูกเรือไม่ใช่ขนาดนั้น นั่นเป็นกรณีพิเศษเท่านั้นเอง”

“แม้ว่าสามคมนักบินไทยก่อตั้งมานานแต่ที่ผ่านมาสมาคมไม่ค่อยได้เปิดตัวเองกับสังคมภายนอกเท่าที่ควร ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักสมาคมนักบินไทย ในส่วนนโยบายที่ผมเข้ามาบริหารจึงอยากเปิดตัวสมาคมให้คนทั่วไปรู้จัก โดยการบริหารสมาคมแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนบริหารคือ บริหารองค์กรก็คือสมาคมเอง ส่วนที่สองคือ บริหารสมาชิก และส่วนที่สามคือ งานด้านสังคม ซึ่งงานด้านสังคมนี่แหละจะเป็นส่วนที่ทำให้สังคมรู้จักสมาคมนักบินไทยมากขึ้น งานทางด้านสังคมที่สมาคมนักบินไทยจะทำคือเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในประเทศ จะทำในส่วนซึ่งสายการบินทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ จะทำในเชิงปฏิบัติการเชิงวิชาการใน 5 ประเด็นหลักของปีนี้ คือ

“1) ดึงการจัดประชุมสมาคมนักบินโลกมาเมืองไทยให้ได้ ดังที่ได้อธิบายรายละเอียดมาแล้วข้างต้น
“2) ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโรงเรียนการบินของอาเซียนและของเอเชียในอนาคต เพราะเรามีความพร้อมทุกด้านทั้งทางด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถบินได้ทั้งปี ยุโรปกับอเมริกาหน้าหนาวหิมะตกบินไม่ได้ และเรามีความพร้อมจากราคาถูกกว่า สิ่งที่จะทำคือทำให้มาตรฐานของเราสูงเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ เพื่อเกิดความเชื่อถือของผู้จะมาเรียนครูการบินของเราไม่ด้อยกว่าใคร และอาจไปถึงขั้นเปิดศูนย์วิทยบริการกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ นักเรียนต่างชาติมาเข้าโรงเรียนการบินที่บ้านเรามีอยู่
“3) เข้าไปศึกษาเรื่องเครือข่ายโลจิสติก (Logistic Network) การขนส่งทางอากาศโดยใช้เครื่องบินขนาดเล็กขนาดกลาง ซึ่งเรามีสนามบินจังหวัดต่างๆ เยอะมาก ปัจจุบันมีทั้งใช้งานและไม่ได้ใช้งานเยอะมาก โดยเราต้องเข้าไปศึกษาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรามีระบบสาธารณูปโภคที่ส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศคือ ถนน-รถไฟ-เครื่องบิน แต่เครื่องบินนั้นลงแต่เมืองใหญ่ การที่จะให้อุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจพัฒนาไปในท้องถิ่นที่ยังไม่เจริญ สิ่งที่เราทำได้คือเครื่องบินขนาดเล็ก ไอเดียนี้มาจากเจ้าของบริษัท FedEx เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการขนส่งทางอากาศ จบมาทำสายการบินส่งสินค้าท่ามกลางคำสบประมาทว่าจะต้องเจ๊งเพราะมีแต่คนส่งรถไฟทั้งนั้นค่าขนส่งทางเครื่องบินแพง แต่ผ่าไนป 30 ปี FedEx เติบโตมีเครื่องบินจำนวนมาก สำหรับเมืองไทยหลังการวิจัยศึกษาถ้าเป็นไปได้จะส่งเสริมการผลิตของไทยได้มาก แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่ได้ล้มเหลว เพราะแม้ว่าศึกษาแล้วเป็นไปไม่ได้เป็นการช่วยผู้ลงทุนดีกว่าปล่อยให้ผู้ลงทุนขาดทุนเพราะไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ การทำตอนนี้ดีมาก เนื่องจากว่าทุกอย่างตกต่ำหมด ศึกษาเอาไว้ก่อนเมื่อเศรษฐกิจดีเมื่อไหร่มีผู้ลงทุนก็สามารถทำได้เลย
“4) คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เรากำลังจะร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเร็วๆ นี้ ในอนาคตเครื่องบินที่จะบินเข้าสหภาพยุโรปจะมีเรื่องของคาร์บอนเครดิตเข้ามาเกี่ยวข้อง และ
“5) ให้การศึกษาแก่เยาวชนเกี่ยวกับวิชาชีพนักบิน ที่ผ่านมาสมาคมได้จัดเสวนาวิชาชีพนักบิน คือจัดตามหอประชุมมหาวิทยาลัย โดยมีผู้ที่จบการศึกษาแล้วเข้าฟัง โดยเราแนะนำว่าอาชีพนักบินเป็นอย่างไร ได้ผลดี ทำให้คนสนใจรู้จักอาชีพนี้มากยิ่งขึ้น แต่นโยบายต่อไปเราจะเข้าไปสู่เด็กมัธยมปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กเลย เพราะต่างประเทศเด็ก 15 ขวบบินเครื่องบินกันสบายเหมือนขับรถยนต์ แต่บ้านเรานั้นไม่ใช่ เราเป็นเด็กมาก่อน ขาดโอกาสการเข้าถึงข้อมูล ถ้าถามเด็กตอนนี้ก็ยังคงเข้าใจว่าเป็นทหารอากาศเรียนนายเรืออากาศถึงจะเป็นนักบินได้ แต่มีทางอื่นเยอะแยะเราจะเข้าไปจัดกิจกรรมเริ่มจากปีนี้อย่างน้อยสองครั้งถ้าดีก็จะขยายต่อ”

แผนงานดังกล่าวของสมาคมฯ มีเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนสายธุรกิจว่าครบเครื่องและน่าจะเป็นแผนงานที่หน่วยงานราชการซึ่งรวบรวมนักคิด-นักวิชาการผู้ทรงภูมินำเสนอเพื่อประเทศชาติมากกว่าจะมาจากบุคลากรในวิชาชีพนักบิน แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากมีจุดเริ่มต้นผลสัมฤทธิ์ย่อมตามมาวันหนึ่งจุดเล็กๆ เหล่านี้อาจก่อตัวเป็นผลงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ไม่จำกัดว่าจะต้องพึ่งพาแต่เพียงผู้ที่อยู่ในแวดวงนั้นๆ เสมอไป หากมีใจรักและตั้งใจจริงความสำเร็จที่ตั้งเป้าเอาไว้ไม่ไกลเกินเอื้อม

“หลักคิดในการทำงานก็คือทำให้ดีที่สุด ผมทำงานมาตั้งแต่เด็กจนโต งานในตำแหน่งที่ได้รับก็คือทำงานนั้นให้ดีที่สุด”
แม้พื้นที่ที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้พบเห็นอย่างขั้วโลกเหนือและสนามแม่เหล็กของโลกไม่สามารถบ่งบอกทิศเหนือ-ใต้ แต่เขายังนำพาอากาศยานล่องผ่านนับครั้งไม่ถ้วน เป็นคำบอกเล่าซึ่งตอบโจทย์ได้ว่าความฝันและความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นเครื่องนำทางไปสู่ความสำเร็จได้ ด้วยการบังคับจากหนึ่งสมองและสองมือ

“อาชีพนักบินเป็นอาชีพที่สนุก เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ท้าทาย ถ้าได้เป็นแล้วจะรู้สึกว่าพร้อมเลยนะ มันครบเครื่องของผู้ชายคนหนึ่ง ได้ท่องเที่ยวหาประสบการณ์ชีวิต เมืองที่เราเคยอยากไปก็ได้ไป ผมเชื่อว่าเป็นอาชีพที่เด็กผู้ชายหลายคนใฝ่ฝัน”

ในชีวิตหากเราได้ทำสิ่งที่เรารัก เราจะมีความสุข ผมได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ทำงานในสิ่งที่อยากทำคือเป็นนักบิน นี่แหละผมถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว

ขณะที่เครื่องจะลงสนามบินเมื่อกางล้อออกปรากฏว่าเครื่องสั่นทั้งลำ เสียงดังสนั่น ล้อไม่กางดูจากเครื่องวัดในห้องนักบินแจ้งว่า 1 ใน 3 ล้อไม่กาง ไฮดรอลิคแตกอีก 1 ระบบเช่นกัน ผมบินวนพร้อมกับแจ้งให้หอบังคับการบินดูล้อ แก้ไขปัญหาและสามารถนำเครื่องกลับมาลงได้อย่างปลอดภัยพร้อมผู้โดยสารเต็มลำ นี่คือเที่ยวบินที่ผมภูมิใจมากที่สุด

ประสบการณ์มีส่วนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเราบินมานานจะรู้ว่าการเรียนรู้เรื่องการบินไม่สิ้นสุด มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การแก้ปัญหาก็ได้จากประสบการณ์ที่เราสั่งสมที่เราเจอมาในอดีต

บางครั้งเราคิดสิ่งหนึ่งขึ้นมามีบางคนบอกว่า “ไม่สำเร็จหรอก” นั่นยังไม่ได้ทำเลย แต่การทำนั้นถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคและไม่สำเร็จเราก็ไม่เสียอะไรกลับได้ประสบการณ์ชีวิตเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต

เมื่อตอนหนุ่มๆ อาจเป็นคนเนื้อหอม แต่พออายุมากขึ้นก็ลดลงไปตามวัย ไม่ใช่เค้าโครงที่เอาไปทำละครนะ (หัวเราะ) ในละครเป็นเพียงหนึ่งในแสนเขาแต่งเติมให้มีสีสัน ของจริงไม่ดุเดือดขนาดนั้น เผอิญเขาหยิบมาทำเป็นละครซึ่งในชีวิตจริงของนักบินและลูกเรือไม่ใช่ขนาดนั้น

งานทางด้านสังคมที่สมาคมนักบินไทยจะทำคือเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบิน ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในประเทศ จะทำในส่วนซึ่งสายการบินทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำ

อาชีพนักบินเป็นอาชีพที่สนุก เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ท้าทาย ถ้าได้เป็นแล้วจะรู้สึกว่าพร้อมเลยนะ มันครบเครื่องของผู้ชายคนหนึ่ง ผมเชื่อว่าเป็นอาชีพที่เด็กผู้ชายหลายคนใฝ่ฝัน

Related contents:

You may also like...