ศาสตร์ศิลป์แห่งคุณค่า ที่ราคาไม่เกี่ยวข้อง
ใครหลายคนเลือกสะสมของบางสิ่งโดยเน้นที่ปริมาณ บ้างเน้นที่มูลค่า ราคาค่างวด หรือมูลค่าเพิ่มของสิ่งนั้นยามเวลาผ่านไป แต่สำหรับพี่ต้น ชญาศักดิ์ ปิยะมาวดี ผู้ช่วยรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กูรูนาฬิกาคนหนึ่งของเมืองไทย การสะสมนาฬิกาของเขาก้าวพ้นไปจากวัตถุประสงค์ฉาบฉวยเหล่านั้น
“นาฬิกาสำหรับผมอย่าเรียกว่าเป็นของสะสมเลยครับ เป็นของที่เรียกว่าผมชื่นชมชื่นชอบดีกว่า เพราะขึ้นชื่อว่าการสะสมเราต้องมีเยอะๆ แต่แบรนด์ในปัจจุบันมีเยอะมากจนเราไม่มีปัจจัยเรื่องเงินไปซื้อทุกแบรนด์ เอาเป็นว่าเราชื่นชอบความเป็นศาสตร์มากกว่า เรื่องของกลไก ชิ้นส่วนต่างๆ ที่สามารถนำมารวมตัวกันแล้วบอกเวลาเราได้ เป็นความอัจฉริยะของมนุษย์เมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่เขาทำยังไงถึงเอากลไกมาทำเป็นตัวบอกเวลา บอกข้างขึ้นข้างแรม บอกเวลากลางวันกลางคืน ให้ความเที่ยงตรงในเรื่องเวลาแก่เราได้
“นี่คือเสน่ห์ของนาฬิกาเลยครับ ตอนแรกเราอาจไม่ได้มองส่วนนี้ แต่พอเราเรียนรู้และศึกษามาเรื่อยๆ เราจึงรู้ว่าทำไมมันถึงหายาก ทำไมถึงทำยาก กว่าจะออกมาเป็นนาฬิกาสักเรือนหนึ่ง ผมจึงมองนาฬิกาเป็นเหมือนศิลปะชิ้นหนึ่ง งานนาฬิกาผมมองว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ก็คือชิ้นส่วนเล็กๆ หรือกลไกต่างๆ ที่นำมาสอดประสานกันแล้วสามารถบอกเวลาเราได้ ในขณะเดียวกัน ศิลปะก็มีอยู่ในนาฬิกา เช่น นาฬิกาประเภทหลังเปลือยที่เปิดมาแล้วเห็นกลไกภายใน คนต้องมานั่งขัด นั่งฝน จนกระทั่งทำออกมาแล้วด้านหลังสวยกว่าด้านหน้า นั่นคือศิลปะ ผมไม่ได้มองความ Mass ของมันเป็นหลัก แต่มองในแง่ศิลปะที่เหมือนมาสเตอร์พีชชิ้นหนึ่ง
“ผมเริ่มเก็บนาฬิกามาตั้งแต่ปี 1992 ครับ ก็ 16 ปีมาแล้ว ผมเลือกเก็บตามความชอบ จึงไม่ได้มีมากมายหลายเรือน นาฬิกาในโลกมีมากมายหลายหลากให้เราเลือกครับ การเลือกของผมขึ้นอยู่กับว่าเราใส่ไปไหน วาระไหน แต่โดยส่วนตัวแล้ว นาฬิกาสปอร์ตจะเหมาะกับสไตล์ผมมากที่สุด
“อยากจะบอกว่านาฬิกาทุกเรือนต้องลองใส่ครับ ต้องอยู่กับตัวเรา นั่นละมันจะบ่งบอกความเป็นตัวเราได้ดีมาก นาฬิกาในแคตตาล็อคถ่ายมามันสวยหมดแหละ แต่ลองใส่บนข้อมือแล้วสวยหรือเปล่า บางเรือนในแคตตาล็อคสวย พอใส่จริงๆ ไม่เหมาะกับเรา ก็ไม่ได้ เพราะเส้นขน ข้อมือ หรือว่ารูปทรงแขนมีผลหมดเลยในการเลือกใส่นาฬิกา”
เพราะเขาเก็บนาฬิกาเพราะความชื่นชอบหลงใหล หาใช่ด้วยเหตุใดอื่น
“ปัจจุบันเสน่ห์ของนาฬิกาได้ลดลงไป ด้วยความสามารถของเครื่องจักร ด้วยความสามารถของเม็ดเงินที่ลงทุนเพื่อผลิตออกมาให้เป็น Mass ซึ่งไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ทุกอย่างเป็นแฮนด์เมดหมด”
รวมไปถึงผู้ซื้อเอง ที่เริ่มมองการเก็บสะสมนาฬิกาด้วยดวงตาของนักธุรกิจ
“ผมเข้าใจกรอบมุมมองของนักลงทุน บางคนไม่มีความรู้เรื่องนาฬิกาเลย แต่ซื้อนาฬิกาเพื่อเก็งกำไร คือพูดถึงประโยชน์ของนาฬิกา ผมอยากให้มองที่วัตถุประสงค์ของมันเป็นหลักก่อน คือนาฬิกามีไว้บอกเวลา ไม่อยากให้ไปมองว่าซื้อมาแล้วขายต่อได้กำไรหรือเปล่า ขายต่อจะขาดทุนไหม ผมเจอคำถามพวกนี้บ่อยมาก ซื้ออะไรดี ซื้ออะไรไม่ขาดทุน ซื้ออะไรกำไร ผมบอก ถ้าผมรู้นะ ผมซื้อเองแล้ว ผมไม่บอกคุณหรอก (หัวเราะ) จริงไหม คือถ้าผมรู้ว่ารุ่นนี้มันขึ้นแน่ๆ 200-300% ผมจะปล่อยให้มันหลุดไปถึงคุณเหรอ ผมก็กว้านซื้อเก็บเหมือนหุ้น แล้ววันหนึ่งก็เอามาขายต่อ ผมไม่อยากให้มองในมุมนั้น เพราะการมองมุมนั้นเราจะไม่มีความสุขกับมันเลย”
เพราะถึงที่สุดแล้ว มูลค่าที่ชัดเจนและมีความหมายที่สุดของนาฬิกา ก็คือคุณค่าทางจิตใจ
“มุมมองมันมีมากมายให้เลือกมองครับ อย่างบางคนเก็บอย่างไม่ได้สนใจว่าจะต้องขายต่อ บางคนเก็บเพื่อเป็นมรดกลูก คุณค่าของมันก็อยู่ ณ ช่วงเวลานั้นๆ มากกว่า ว่าเราได้มาจากใคร เราหามันมาได้ยังไง ความยากง่ายของมัน มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราไปขายต่อตลาดมือ 2 แล้วเราได้กำไรเท่าไหร่ ต่อให้เป็นนาฬิกาเรือนละ 300 แต่คุณพ่อให้มา ผมก็เชื่อว่าคุณค่ามันอยู่ตรงนั้น ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป”
Scoop
Patek Philippe
เขียนถึงนาฬิกามาก็เยอะครับ แต่ไม่เคยได้เขียนถึงนาฬิกายี่ห้อชั้นนำของโลกเลย วันนี้อากาศโปร่งๆ จึงแวะไปหาข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาแบรนด์หรูของโลกมาฝากกัน Patek Philippe ครับ
Patek Philippe เป็นบริษัทผลิตนาฬิกาที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1839 ที่เมืองเจนีวา โดย Antoine Norbert de Patek ชาวโปรแลนด์ ร่วมกับช่างทำนาฬิกาชาวฝรั่งเศส Francois Czapek ตั้งบริษัท Patek, Czapek & Cie. ผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงออกสู่ตลาดในอัตราปีละประมาณ 200 เรือน ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1844 Czapek จะขอแยกตัวออกไป พร้อมๆ กับที่ Patek ก็ได้พบช่างทำนาฬิกาอีกคน ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อบริษัทจนถึงปัจจุบัน คือ Jean-Adrien Philippe ผู้มีพรสวรรค์ในการคิดค้นระบบต่างๆ ของนาฬิกา เช่น ระบบไขลานและตั้งเวลาของนาฬิกาโดยใช้เม็ดมะยมแทนกุญแจ
ในปี 1932 บริษัท Patek Philippe ถูกซื้อกิจการโดยตระกูล Charles & Jean Stern แต่ยังคงนโยบายเดิม คือ Patek Philippe จะไม่เป็นนาฬิกาแฟชั่น แต่เน้นคุณภาพความเป็นเลิศ ดังที่เราๆ สามารถเห็นได้จากคำโฆษณาที่ว่า “คุณไม่อาจครอบครอง Patek Philippe ได้โดยสิ้นเชิง คุณเป็นเพียงผู้เก็บรักษา Patek Philippe ไว้สำหรับชนรุ่นหลัง”
ด้วยคุณภาพที่สูง ทำให้นาฬิกา Patek Philippe มีราคาค่างวดที่สูงตามไปด้วย ราคาเฉลี่ยของยี่ห้อนี้มักไม่ต่ำกว่าระดับล้านบาท แต่นั่นก็คงสมน้ำสมเนื้อ เพราะคุณจะได้นาฬิกาชั้นสูงที่ไม่ได้ผลิตตามระบบอุตสาหกรรม หากแต่ผ่านความละเอียดประณีตทุกขั้นตอนมาไว้ในครอบครอง ประณีตแค่ไหนไม่รู้ รู้เพียงว่าหากต้องการเป็นเจ้าของนาฬิกา Patek Philippe คุณต้องสั่งซื้อ และคอยไม่น้อยกว่า 9 เดือนจึงจะได้รับนาฬิกา
ด้วยเอกลักษณะดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจ หากในบรรดานาฬิกาที่แพงที่สุดในโลก จะมี Patek Philippe ครองอันดับอยู่ไม่เว้นวาย
สนใจมีไว้สักเรือนไหมครับ…