มองโลกผ่านเลนส์ประสบการณ์ของ ‘กูรูอสังหาฯ’
ภาพสะท้อนการเติบโตของประเทศส่วนหนึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อใดก็ตามที่สภาพเศรษฐกิจเติบโต ปริมาณเงินสะพัดในอุตสาหกรรมการก่อสร้างทั้งใหญ่น้อยย่อมกระจายไปยังธุรกิจภาคส่วนต่างๆ ทั้งธุรกิจเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ที่ดิน เหล็กเส้น วัสดุก่อสร้าง แรงงาน ฯลฯ แต่เรามิอาจมองข้ามก้าวกระโดดจากการพัฒนาอย่างไม่มีขีดจำกัด สิ่งที่ให้คุณประโยชน์ย่อมสร้างโทษแสนสาหัส
ผลอันเกิดจาก Subprime Loan ฟองสบู่แตกในธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพเป็นวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งครองอิทธิพลเกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ทำให้นานาประเทศซึ่งเป็นปริมณฑลทางอำนาจ ต้องทบทวนนโยบายทางเศรษฐกิจของตนท่ามกลางความหวาดหวั่นจากแรงกระพือของคลื่นยักษ์ที่พร้อมถาโถมเข้าทำลาย ขณะที่ต้นกำเนิดเองต้องระดมสรรพกำลังเพื่อป้องกันการล้มครืน
กว่า 2 ทศวรรษของการคร่ำหวอดในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียล เอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เป็นหนึ่งในผู้ชำนาญการซึ่งทำงานไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังบริการวิชาการแก่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค ร่วมให้ความมั่นใจและเสนอภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไทยด้วยวิสัยทัศน์ผ่านเลนส์แว่นตาหนาเตอะ และประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน
“ผมตั้ง AREA เมื่ออายุ 33 ปี จากเพื่อนร่วมงานจำนวน 5 คนจนขณะนี้มี 150 คน ที่ทำกิจการของตนเองได้ก็เพราะความมั่นใจว่าจะสามารถขายบริการความรู้ทางการวิจัยให้เป็นเงินได้ ความมั่นใจดังกล่าวเกิดจากทักษะการสำรวจวิจัยภาคสนามที่ผมเคยทำมาตั้งแต่สมัยเป็นลูกจ้าง ผมเคยสำรวจพบชุมชนแออัดจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย รวมถึงการสำรวจโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เป็นต้นครับ”
ดุษฎีบัณฑิตด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พร้อม 2 ประกาศนียบัตรบัณฑิตด้านที่อยู่อาศัยจากมหาวิทยาลัยคาธอลิกลูแวง เบลเยียม และด้านการประเมินค่าทรัพย์สินจากสถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์น ชายวัย 50 ปีผู้นี้เคยเป็นผู้ค้นพบชุมชนแออัด 1,020 แห่ง ในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งมากกว่าที่ทางราชการไทยเคยทำการสำรวจ
นอกจากนี้ยังสำรวจชุมชนแออัดทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์อื่น เป็นคนแรกในประเทศไทยที่สร้างแบบจำลองการประเมินค่าทรัพย์สินในปี พ.ศ. 2533 และเคยเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนาม ด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน
“แม้ผมจะจบปริญญาเอกด้านที่ดิน-ที่อยู่อาศัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และเคยบรรยายตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก แต่ก็ไม่ได้ใช้สถานะความเป็นอาจารย์มารับทั้งเงินทั้งกล่อง แต่อาศัยการบริหารทีมงานมาทำงานให้ได้คุณภาพ จน AREA ได้เป็นบริษัทจรรยาบรรณดีเด่นของหอการค้าไทย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก UN Global Compact (วิสาหกิจเพื่อความโปร่งใส) และเมื่อปลายปี พ.ศ. 2550 ยังได้รับเกียรติบัตรจากการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโครงการเฉลิมพระเกียรติ “๘๐ พรรษา ปวงประชาเป็นสุขศาส์น” อีกด้วย”
“AREA ให้บริการที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินไทย ที่มีฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในภาคสนามของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการ กลต. สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินทุกแห่ง ต่างรับรองรายงานการประเมินค่าทรัพย์สินของ AREA
“และจากประสบการณ์โดยตรงในภาคสนาม ผนวกกับความรู้ตามหลักมาตรฐานสากล AREA ยังได้ตั้งโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ในฐานะแขนงย่อยของ AREA ด้านวิชาการ เพื่อจัดอบรม-สัมมนาด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยได้มีผู้ผ่านการอบรมจากโรงเรียนแห่งนี้ประมาณ 3,000 คนแล้ว
“ทุกวันนี้ นอกจากการสำรวจ วิจัย และประเมินค่าทรัพย์สินทุกประเภท ทั้งอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร ตรวจสอบอาคาร และมูลค่ากิจการทั่วประเทศ ยังให้บริการไปถึงประเทศในอินโดจีน นอกจากนั้นยังมีคณะผู้สนใจศึกษาและดูงานจากทั้งในกลุ่มประชาชาติอาเซียน มองโกเลีย แอฟริกา ฯลฯ มาให้ทางโรงเรียนจัดการศึกษาให้อีกด้วย”
“จุดขายสำคัญก็คือความเป็นกลางทางวิชาชีพ ยึดมั่นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งว่าเราจะไม่ทำงานนายหน้า ไม่พัฒนาที่ดินเอง ซึ่งต่างจากบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่ทำทุกอย่างโดยไม่ใส่ใจประโยชน์ทับซ้อน อาจกล่าวได้ว่าองค์กรของเราเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ไทยที่แข่งขันได้ในระดับสากล
“AREA ยังได้มาตรฐานสากลตั้งแต่ปี 2543 โดยเป็นที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่ได้รับการรับรอง ISO 9001 ทั้งระบบในประเทศไทย เราสร้างชื่อด้วยการรับผิดชอบทั้งต่อผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้าและชุมชนสังคมโดยรอบโดยไม่เอาเปรียบ เราขึ้นเงินเดือนพนักงานปีละ 2 ครั้ง จ่ายโบนัสทุกปีไม่เคยขาดตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เรายังจัดสวัสดิการให้ดีกว่ามาตรฐานแรงงานทั่วไป”
ไม่เพียงแต่นำความรู้มาใช้เลี้ยงชีพในเชิงองค์กรเอกชน แต่ในด้านของสังคมยังจัดสรรเวลาเพื่อส่วนรวม
“ผมได้ออกทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เพราะเล็งเห็นว่าเราทำมาหากินในวิชาชีพนี้ จึงต้องแทนคุณ มูลนิธินี้ถือคติ ‘Knowledge is not private property : ความรู้ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร’ เราพิมพ์วารสารแจก 6,000 ฉบับทุกๆ 2 เดือน นอกจากนี้ยังจัดเสวนารายเดือนเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน โดยผู้สนใจเสียค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับความรู้ความเข้าใจที่ได้รับ
“อีกทั้งจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้เรื่องการประเมินค่าทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ในเว็บไซต์ รวมทั้งเอกสารประกอบการเสวนาต่างๆ ก็สามารถดูได้ฟรีแม้จะไม่ได้เข้าลงทะเบียนก็ตาม ในเชิงการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจ มูลนิธิฯ ยังจัดประกวดเรียงความชิงโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลอีกด้วย
“นอกจากนี้ผมยังเป็นกรรมการหอการค้าไทยสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติและสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ เป็นต้น”
พูดถึงด้านที่อยู่อาศัยของประเทศไทยในวันนี้ จากด้านที่สวยหรูซึ่งถูกฉาบทาด้วยความมั่งคั่งในเชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลับมีซอกหลืบจำนวนมากที่ประจานการพัฒนาอย่างไร้ประสิทธิภาพของผู้นำสังคม ภาพที่เห็นจึงควรมองให้ครบมิติ
“หากดูภาพรวมแล้ว ประเทศไทยนี้มีความก้าวหน้ามากด้านที่อยู่อาศัย ชุมชนแออัดลดน้อยลง ประชาชนมีบ้านที่น่าอยู่มากขึ้น ภาคเอกชนจัดการเองได้หมด และชาวบ้านก็สามารถซื้อบ้านได้ในตลาดเปิดโดยรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุนเช่นสิงคโปร์ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีบ้านและที่ดินของตนเอง แต่สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครสัดส่วนการถือครองบ้านและที่ดินอาจมีเพียงครึ่งเดียว แต่ก็เป็นเพราะแรงงานอพยพผู้มีอายุและรายได้น้อย ยังไม่คิดถึงการมีบ้าน ยังเหมาะที่จะหาบ้านเช่า ซึ่งมีอยู่มากมายเพียงพอ
“การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดที่ผิดทางมาโดยตลอดก็คือ การให้เปล่า การสร้างแฟลตให้ชาวบ้านชุมชนแออัดโดยไม่มีมาตรการป้องกันที่ดี ปล่อยให้ชาวบ้านเซ้งต่อในราคาแพง แล้วกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนแออัดใหม่ การแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดจึงควรมองและทำอย่างบูรณาการ เน้นการจัดสร้างที่อยู่อาศัยตามความจำเป็นทั้งบ้านเช่าและบ้านที่เป็นเจ้าของ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินการแทนที่ให้ภาครัฐรับภาระ”
“อสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจครับ ถ้าเศรษฐกิจดี อสังหาริมทรัพย์ก็จะดีตาม เช่นในยุคฟองสบู่ไทยแตกปี 2540 เราก็คิดกันว่าจีนคงจะแย่ไปด้วย แต่ความจริงเศรษฐกิจจีนเติบโตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่อง อสังหาริมทรัพย์จึงยังเติบโตไม่หยุด
“ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดว่าจะใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นตัวกระตุ้นซึ่งเป็นความเข้าใจผิด จึงทำให้เกิดบ้านเอื้ออาทรขึ้นมา ถ้ามองสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ราคาบ้านก็ชะลอตามไปด้วย ส่วนในภูมิภาคเอเชียกลับเติบโตคึกคักทั้งจีน เวียดนาม และเขมร เป็นต้น”
“แต่เมื่อย้อนกลับมามองในเมืองไทย ประเทศไทยของเรามีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบทรงๆ กล่าวคือเศรษฐกิจบ้านเราไม่คึกคักเท่ากุมพูชาที่คล้ายสมัยน้าชาติ (พ.ศ. 2530) หรือเวียดนาม การพัฒนาจึงคล้ายกับญี่ปุ่นที่อสังหาริมทรัพย์อื่นเกิดน้อย เนื่องจากมีการลงทุนน้อย ส่วนมากมักเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัย เพราะยังไงก็ยังต้องมีคนเกิดหรือย้ายเข้าเมืองเพิ่มขึ้น
“อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปีนี้ 2551 เศรษฐกิจอาจฟื้นคืนเพราะผ่านยุครัฐบาลทหาร ซึ่งมีผลต่อภาพพจน์ประเทศไทยที่เสียหายไปแล้ว ดูเหมือนคนไทยจะคาดหวังจากรัฐบาลใหม่นี้ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจะถูกกระตุ้นได้หรือไม่ ส่วนหนึ่งก็คงขึ้นอยู่กับนโยบายและฝีมือของรัฐบาล ถ้าเศรษฐกิจดี รับรองว่าอสังหาริมทรัพย์จะพุ่งกระฉูดแน่”
“แน่นอนว่าการเมืองย่อมมีผลกระทบต่ออสังหาริมทรัพย์ เช่น 50 ปีก่อน ราคาที่ดินที่แพงที่สุดในกรุงย่างกุ้ง กรุงเทพมหานคร กรุงพนมเปญและนครโฮจิมินห์ อาจพอๆ กัน แต่หลังสงครามเวียดนาม ราคาที่ดินไทยก็อาจสูงกว่า เพราะไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง
“ในประเทศเผด็จการจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ ทำให้เขาไม่มาลงทุน ประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย แต่สิ่งที่พึงเข้าใจก็คือการลงทุนจากต่างประเทศนั้นหมายถึงในด้านการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติหรือการอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ไม่ใช่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยคนต่างชาติ ซึ่งมีมูลค่าเทียบแล้วเพียงกระจิริดแค่กระผีกริ้น ”
และผลจากการเมืองก็นำมาซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนจากการวางผังสาธารณูปโภค ถนน การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้าง
โครงข่ายสาธารณะเป็นการพัฒนาบนความไม่สมดุล
“ผมเคยพิสูจน์มาแล้วว่า บริเวณใดที่มีรถไฟฟ้าผ่าน ราคาที่ดินจะเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าบริเวณอื่นที่ไม่มีรถไฟฟ้า ดังนั้นการลงทุนในสาธารณูปโภคจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่ายอย่างแน่นอน แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการจริงค่อนข้างช้า เป็นการปล่อยโอกาสดีๆ ของประชาชนให้หลุดลอยไป ทุกวันนี้โครงการอาคารชุดริมรถไฟฟ้าจึงได้รับความนิยมสูงสุด และยังเติบโตต่อเนื่อง”
“ประเทศไทยมีคนจนอยู่ 10% หรือประมาณ 6 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมีไม่กี่แสนคนเท่านั้น ประชากรในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ไม่ได้ยากจน มียากจนเพียงราวหนึ่งในสี่ ส่วนมากรายได้พอสมควร แถมยังมีบ้านเป็นของตนเอง (บนที่ดินเช่าหรือบุกรุก) ซึ่งปล่อยเช่าได้ด้วย
“อย่างไรก็ตาม คนจนในชนบทก็ยังมีโอกาส เพราะสภาวะในชนบทเป็นแบบพออยู่พอกิน (Subsistence Economy) เช่น แม้ไม่มีเงินก็สามารถจับสัตว์หรือปลูกสวนครัวไว้กินเองได้ ไม่เหมือนชนบทในแอฟริกาซึ่งแห้งแล้งเป็นทะเลทรายจริงๆ”
วิธีการมองโลกของดร.โสภณ ทำให้ในทุกอิริยาบถที่เราได้พบนั้นมีแต่รอยแย้มสรวลและมุมมองที่ดี อันส่งผลไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งรอบข้าง
“อุปสรรคเกิดขึ้นได้เพราะความไม่รู้ ดังนั้นจะข้ามอุปสรรคได้ก็ต้องทำให้เกิดการรู้แจ้ง การศึกษาวิจัยจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ และทรัพยากรสำคัญของการบริหารก็คือข้อมูล เราจะบริหารหรือตัดสินใจด้วยลางสังหรณ์ไม่ได้”
“แน่นอนว่าทุกคนก็ต้องเคยมีอารมณ์ มีความท้อแท้บ้าง แต่ต้องไม่ท้อนาน และให้เกิดความฮึกเหิม ในสมัยเรียนหนังสือระดับมหาวิทยาลัย มีเพลงเพื่อชีวิตดีๆ อยู่เพลงหนึ่งที่สอนให้เราไม่ย่อท้อ โดยมีเนื้อหาท่อนหนึ่งว่า “สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จนชัยได้มา” เป็นต้น
“อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญคือตัวเรา นี่คือสาเหตุที่คนมักสอนให้เราชนะใจตัวเอง คนเรามักสงสารตัวเอง หรือ ‘ขี้เกียจ’ ไม่ชอบการทำงานหนัก โดยเฉพาะการสำรวจภาคสนามที่ต้อง ‘หลั่งเหงื่อโทรมกาย’ บ้าง ดังนั้นถ้าเราพยายามเข้มงวด เอาชนะตัวเองได้ อุปสรรคภายนอกอื่นๆ ก็กลายเป็นเรื่องเล็ก”
“พื้นฐานผมเป็นคนจีน พ่อแม่สอนให้ทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหน พระเครื่อง พระบูชา หรือจตุคามรามเทพก็มีผู้ใจดีมอบให้เป็นประจำ แต่ไม่ได้ห้อยคอ
“ที่พึ่งทางใจสำคัญของผมคือ อาม่า (คุณยาย) ที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็ก ท่านเสียไปแล้วเมื่อ 12 ปีก่อน ขณะอายุ 91 ปี ท่านเป็นผู้ที่เป็นแบบอย่างของผู้ทำงานหนัก ขยัน และใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา ผมได้รับธาตุทรหดจากคุณยายนี่แหละ ผมเชื่อว่าสิ่งที่คอยคุ้มครองผมก็คือความกตัญญู ไม่ว่าจะเป็นคุณยาย บุพการี ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ นายจ้างหรือแม้แต่ลูกจ้าง ที่ AREA ผมจะต้องเดินไปอวยพรวันเกิดถึงโต๊ะของเพื่อนร่วมงานเสมอ ผมจะพยายามตอบแทนผู้มีคุณ และไม่เคยไปหักหลังทางธุรกิจกับใคร”
“โบราณท่านว่า “จงทำดีแต่อย่าเด่น” แต่โดยที่ผมทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือทำธุรกิจที่แข่งขันได้กับต่างชาติ และเป็น
“แหล่งข่าว” สำคัญของสื่อสารมวลชนต่างๆ จึงมีความโดดเด่น และอาจเป็นที่หมั่นไส้ได้บ้าง เรื่องอย่างนี้ผมถือเป็นธรรมดา เราต้องแน่วแน่ที่จะทำดีต่อไป แม้จะไม่ต้องการให้เด่น จะท้อถอยง่ายๆ ไม่ได้ ในโลกนี้มีคนบอกว่าตนเองอยากทำความดีมากมาย แต่พอทำได้สักพักก็ทนแรงเสียดทานไม่ได้ นั่นไม่ใช่ผมที่ได้รับธาตุทรหดจากคุณยาย”
สำหรับชายผู้นี้ เราอาจจะไม่ได้เจอตัวตามสถานที่ที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรสิงสถิต ซึ่งอาจเป็นเพราะชีวิตที่ไม่เหมือนใคร
“ส่วนมากผมไม่ได้ไปไหน เช้า กลางวัน และเย็นก็มักรับประทานอาหารกับครอบครัว เพราะบ้านกับที่ทำงานอยู่ใกล้กันมาก โดยส่วนตัวแล้วผมก็ไม่ค่อยชอบสังสรรค์ ผมตีกอล์ฟไม่เป็น และธุรกิจของผมก็ไม่ได้ใหญ่โตถึงขนาดต้องลงทุนไปเจรจากันในสนามกอล์ฟ ผมไม่ดื่มเหล้า เบียร์ หรือไวน์ เพราะรู้สึกไม่ชอบรสขม แต่ผมก็พอจินตนาการได้ว่า หากผ่านรสขมนี้ได้จะมีความรื่นรมย์รออยู่ ผมสามารถช่วยตัวเองในการผ่อนคลายได้โดยไม่ต้องพึ่งเหล้า
“ผมคิดว่าเราจะดูแลคนรอบข้างได้ เราต้องไม่กลุ้มใจ แต่ก่อนผมชอบสูบบุหรี่แต่ก็เลิกมาได้ 9 ปีแล้ว เพราะนึกได้ว่าที่สูบตอนแรกเมื่อหลายสิบปีก่อนก็เพราะอกหัก ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหลมาก เพราะตอนนี้ทั้งผมและแฟนสมัยเด็กๆ ต่างก็มีครอบครัวกันไปแล้ว ทุกวันนี้ผมไม่มีหนี้ ผมไม่เคยไปกู้เงินธนาคารทำธุรกิจ จึงไม่มีเรื่องความไม่มั่นคงของธุรกิจมาทำให้กลุ้มจนไม่มีเวลาดูแลครอบครัว”
“ยามว่างผมชอบดูเว็บไซต์ต่างๆ ได้ความรู้ดี แม้แต่เว็บฯ Mthai หรือ Sanook ผมก็เข้าไปเป็นสมาชิก เว็บฯ เหล่านี้ยังมีภาพหรือคลิปสวยๆ ให้ดูผ่อนคลายได้ด้วย ถ้าอยู่บนเครื่องบินผมชอบเอาหนังสือไปอ่าน ส่วนมากเป็นหนังสือธรรมะ ผมไม่เคยบวชเรียนดอกครับ แต่คงเป็นเพราะอายุมากขึ้น ก็เลยมีคนเอาหนังสือประเภทนี้มาให้เรื่อย จะปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ก็ถือว่าไม่ให้เกียรติคนให้ เลยเอามาตะลุยอ่านยามว่าง
“หรือถ้ามีเวลามากจริงๆ ไม่มีอะไรทำจริงผมก็ชอบนอน ปกติผมนอนก่อนสี่ทุ่มและตื่นตีสี่มาทำงาน แต่ถ้ามีเวลาในวันหยุดสบายๆ ตอนกลางวันผมก็นอนๆ ตื่นๆ เพื่อให้คลายเมื่อยจากการตรากตรำลงไปบ้าง”
อีกหนึ่งกระแสทัศน์จากโลกหลังเลนส์ของ ‘กูรูอสังหาฯ’ คงจะเป็นเครื่องชี้บอกถึงทางออกที่หลายคนรู้สึกว่าตีบตัน อย่าเพิ่งกลัวการล้มพังของกองแฮมเบอร์เกอร์เพราะเรายังมีข้าวเหนียวหมูปิ้ง น้ำพริกผักจิ้ม และอีกหลากหลายเมนูอิ่มไวประหยัดเงินเช่นเดียวกับช่องทางเศรษฐกิจนั่นเอง
คำว่า กระผีก หรือ กะผีก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายว่า “มาตราตวง มีพิกัดเท่ากับ 1 ภาค คือ 1 ใน 4 ของกระเพาะ” กระเพาะในที่นี้คือภาชนะสานสำหรับตวงข้าวในสมัยก่อน และยังหมายถึง 1 ใน 4 ส่วนของของที่ตวงด้วยภาชนะอื่นด้วย ในปัจจุบัน คำว่า กระผีก ใช้หมายถึงมีจำนวนน้อยหรือมีอยู่เล็กน้อย เช่น ข้าวของมีแค่กระผีกเดียว ขนไปเที่ยวเดียวก็หมด กระผีก อาจใช้ร่วมกับคำว่า ริ้น เขียนด้วย ร เรือ ซึ่งหมายถึงแมลงขนาดเล็ก เป็น กระผีกริ้น (อ่านว่า กฺระ-ผีก-ริ้น) แปลตรงตัวว่า กระผีกของตัวริ้นหรือ 1 ใน 4 ของตัวริ้น เป็นคำกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่า เล็กมาก, น้อยมาก, เช่น ขนมมีแค่กระผีกริ้น กินคำเดียวก็หมด. ที่เท่ากระผีกริ้น จะสร้างบ้านได้อย่างไร