ผู้คุมบังเหียนพลังงานไฟฟ้าของเมืองไทย
เรียกได้ว่าใหม่ถอดด้ามจริงๆ สำหรับผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 10 สมบัติ ศานติจารี ที่มาพร้อมกับการจับตามองของสังคมในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์การหลักด้านพลังงานของประเทศที่จะต้องฝ่าอุปสรรคแห่งความไม่เข้าใจในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
12 วันหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการไฮคลาสบุกไปถึงห้องทำงานเดิมที่ใช้เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้อดีตรองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเราเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่เข้าพบปะหลังปฏิบัติหน้าที่ใหม่ เพราะยังไม่ได้โยกย้ายไปยังห้องประจำตำแหน่งจึงได้พบเห็นบรรยากาศการทำงานเดิมก่อนที่จะอาสาเข้ามารับหน้าที่อันหนักอึ้ง
ผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่คนนี้เป็นผู้ว่าการคนแรกจากวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกเป็น “เกษตรศาสตร์ปราดเปรื่อง” รุ่น 4 เมื่อเร็วๆ นี้ แถมยังเป็นศิษย์เก่าเทพศิรินทร์ ‘ลูกแม่รำเพย’ คนที่สองถัดจากพลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้
ด้วยความมุมานะอย่างแรงกล้าทำให้หลังสำเร็จปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (เครื่องกล)จาก Lamar University มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ในปี 2518 ปีรุ่งขึ้นในวันที่ 2 มกราคม 2519 วิศวกรหนุ่ม
ท่านนี้ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวจนถึงปัจจุบัน
“สมัยเรียนปริญญาตรีผมมาดูงานที่นี่ (กฟผ.) ตอนอยู่ปี 3 เห็นเขากำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ใหญ่มาก ผมไม่เคยเห็นอะไรใหญ่อย่างนี้มาก่อน ตั้งแต่เรียนจบปริญญาโทมาผมก็ทำงานที่นี่ที่เดียว ประจำอยู่โรงไฟฟ้าและหลายๆ สายงาน ความรู้ทางด้านไฟฟ้าคิดว่าคงแน่นเพราะว่าเราทำมาตั้งแต่เล็กโตมาด้วยลำแข้งเราจึงรู้หมด ซึ่งในช่วงสรรหาเราได้เตรียมความพร้อมของเรา และทีมงานก็ช่วยกันด้วย เนื่องจากเราอยู่มานานทำงานด้วยจิตใจที่เหมือนเป็นเจ้าของรัก กฟผ. ทุ่มเทมาตั้งแต่เล็ก และยังปฏิบัติอย่างนั้นอยู่สม่ำเสมอทำงานด้วยใจจริงๆ ไม่มีภารกิจอื่น”
“ผมทำแต่งาน กฟผ. กอปรกับผมได้เคยบริหารงานโรงไฟฟ้าเรามีผู้ใต้บังคับบัญชาเยอะ เราได้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ในการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาสำคัญมาก เราต้องติดต่อสร้างสัมพันธ์กับสังคมภายนอก เช่น จะต้องสัมผัสกับหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น ได้เรียนรู้ในการทำความเข้าใจ สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และพึ่งพาในสิ่งที่ต้องช่วยเหลือกันและกัน”
“ได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ การบริหารงานโรงไฟฟ้า จำเป็นต้องดูแลมวลชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า และเราก็เห็นปัญหาว่ามวลชนหรือชุมชนนี้สำคัญมากต่ออนาคตของ กฟผ. กอปรกับปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับประชาชนและชุมชนมากขึ้นในการหวงแหนชีวิตของเขา การที่เราเสนอวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างตรงกับความต้องการขององค์กรพอดี คิดว่าน่าจะเป็นเพราะว่าผมมีความรู้เรื่องการอยู่ร่วมกันกับชุมชน”
ผู้ว่าฯ คนล่าสุดย้อนอดีตพร้อมเผยกลยุทธ์ที่ทำให้ชนะใจกรรมการสรรหาฯ และสานต่อเป็นนโยบายต่อไป
“ผมมองว่านี่คือยุทธศาสตร์ของเราเลยล่ะ อันดับหนึ่ง คือ ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน กฟผ.มีความรู้ความสามารถทางด้านโรงไฟฟ้ามามากมายถือว่าไม่แพ้ใครในการบริหารจัดการ เราทำได้ดี แต่สิ่งที่จะทำให้ กฟผ. ของเรายั่งยืน อนาคตของรุ่นหลังก็คือการที่เราจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้ตามแผน เพราะถ้า กฟผ. สามารถสร้างได้สำเร็จ จะทำให้ภารกิจหลักในการดูแลพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคของประเทศมีความมั่นคง องค์การ กฟผ. มีการเติบโต ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ก็มีความมั่นใจ นี่คือยุทธศาสตร์ที่เราต้องทำให้ได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างตรง”
จากการติดตามสถานการณ์ระหว่างการสรรหาฯ ปรากฏว่าเว็บไซต์คนรัก กฟผ. ได้วิเคราะห์ลายเซ็นของผู้ลงสมัครชิงตำแหน่ง 4 คนที่เปิดเผยชื่อจากผู้สมัคร 7 คน (อีก 3 คนเป็นผู้สมัครจากภายนอก กฟผ.) ในส่วนของคุณสมบัติฯ นั้น จากการวิเคราะห์ลายเซ็น เรียกได้ว่านอนมาเลยทีเดียว คือ ลักษณะใกล้ชิดกับบริวารลูกน้อง ไม่ถือตน ชอบทำงานเป็นทีม ไม่ชอบสั่งการบ้าน วิถีชีวิตมีจังหวะเป็นช่วงๆ อยู่ในแวดวงในความรู้เดียวจนสามารถแตกฉานในความรู้นั้นๆ เชี่ยวชาญหาคนเทียบได้ยาก มีความทะเยอทะยาน แสดงถึงกระแสชื่นชมจากคนภายในองค์การมีอยู่สูง
“การปกครองในลักษณะสำคัญก็คือการให้ความเป็นธรรม และมีการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับผู้ปฏิบัติงาน อันนี้ผมคิดว่าผมทำได้เต็มที่ เพราะผมก็ค่อนข้างจะดูแลหมดในโรงไฟฟ้า ใหญ่แค่ไหนก็ต้องดูแล แล้วก็สื่อกับลูกน้องไปว่า ถ้าต้องการให้ได้งานที่ดี สิ่งแรกก็คือ เราต้องดูแลเขาให้เหมาะสม มีความเป็นธรรม มีการพูดคุยกัน เจอปัญหาเราก็ต้องจัดการกับปัญหาไม่ให้มันลุกลามไปมากกว่านี้จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น
“เมื่อทำงานต้องมุ่งมั่น จึงจะมีความสุข ได้รับคำชื่นชม ผมมักจะสื่อกับลูกน้อง หากพวกเราให้ความสำคัญกับความรู้สึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน ทุกอย่างจะดีไปหมด เราจะเห็นประโยชน์ร่วมกัน ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เขามีรายได้ที่พอรับได้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว แต่ที่มากไปกว่านั้น เราสร้างบรรยากาศให้น่าอยู่และมีความสุข พวกเขาก็มีความสุขไปกับงานด้วย”
โดยเขาพร้อมที่จะนำเอาประสบการณ์ทั้งความรู้ความสามารถบวกการเป็น ‘ลูกหม้อ’ ขององค์กรที่สั่งสมมากว่า 31 ปี ประยุกต์ใช้กับการนำพาองค์กรสำคัญของชาติไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนประเทศตามเป้าหมาย
“สิ่งที่เราเรียนรู้ในไทยก็คือ ในวัฒนธรรมไทยๆ ต้องมีพวก แต่ไม่ใช่เป็นเพื่อนในทางที่ไม่ดีนะ เป็นเพื่อนมิตร เวลาเราต้องการคำแนะนำเราก็จะได้คำแนะนำที่ดีๆ สั้นขึ้นเร็วขึ้น มันมีความสำคัญมากในภาคราชการที่เรามีสายสัมพันธ์ก็มีวิธีที่ผูกมิตรที่ดี เขาก็มีประสบการณ์ของเขา เราก็มีประสบการณ์ของเรา เราก็มาประยุกต์ว่าหน่วยงานไหนต้องใช้อะไรที่เราเรียนรู้กันมา พอคุยกันแล้ว เราก็รู้แล้วว่าวัฒนธรรมขององค์กรอื่นๆ นั้นเป็นอย่างไร”
“สำหรับ กฟผ. นั้น มีการบริหารตัวองค์การเองอยู่แล้ว ตามแผนวิสาหกิจ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะดำเนินไปตามระบบ ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ การเติบโตอย่างต่อเนื่อง การสร้างโรงไฟฟ้าในปัจจุบันมีความยากขึ้น ทำอย่างไรจึงจะสามารถดำเนินการได้ เมื่อมาวิเคราะห์ปัจจัยที่ยอมรับจากสังคมเป็นสำคัญ เราก็ต้องมีกระบวนการและยุทธศาสตร์ สร้างความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนี้ ทางด้านเงินทุน ถ้าเราได้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ระบบไฟฟ้าก็มีความมั่นคง สนองความต้องการของประเทศชาติได้เป็นอย่างดี และ กฟผ. ก็มีความมั่นคง เป็นรัฐวิสาหกิจไทยที่ดี
“เราต้องตระหนักในการทำความเข้าใจกับประชาชน ในอนาคตปัจจัยกดดันมีมากขึ้น เราต้องอาศัยหน่วยงานภาคอื่นๆ มาช่วยด้วย เช่น ภาคคณาจารย์ ภาคผู้นำความคิด ผมก็จะเริ่มยุทธศาสตร์ใหม่และรีบเดินตามยุทธศาสตร์นั้น เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาหลายปี และทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องหาทางเลือก หากทำไม่ได้อย่างที่วางแผนไว้ เราจะทำอย่างไรให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม และมีความมั่นคงในระบบ”
“ตอนนี้ คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2004 ที่อนุมัติ ให้ กฟผ. ก่อสร้างแล้ว 4 โรง และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2007 จะมีอีก 16 โรง จนถึงปี 2563 แต่เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรง ถ่านหิน 4 โรง ที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะได้รับความเห็นชอบได้ง่ายซึ่งต้นทุนก็จะแพงอีก เราจึงต้องหาส่วนที่มีต้นทุนต่ำในเทคโนโลยีปัจจุบัน คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นิวเคลียร์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลตั้งขึ้นไว้และมีส่วนร่วมที่สำคัญในการขับเคลื่อน”
“ถ่านหินเป็นตัวสำคัญ ถ้าเราสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้ได้ เฉลี่ยค่าไฟก็จะต่ำ โดยภาพรวมส่วนใหญ่ของประชาชนมองภาพลบของโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น สร้างและควบคุมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถลดมลภาวะได้ดีมากกว่าเดิม เหนือกว่ามาตรฐานสากล
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากการสร้างโรงฟ้าถ่านหินไม่ได้รับความเห็นชอบ ทาง กฟผ.ได้เตรียมแผนสำรองด้วยการหาช่องทางอื่น”
“เพื่อนบ้านเราก็มีการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ถ้าเราสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ มีโอกาสที่จะซื้อไฟฟ้าเพิ่ม รัฐบาลก็ให้เราตั้งบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีลักษณะคล้ายกับ บริษัท ปตท.สผ. (ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม) โดยจะไปลงทุนในต่างประเทศ เราซื้อไฟฟ้าจากลาวกว่า 7,000 เมกะวัตต์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ในแต่ละปีเรามีการปรับแผนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ถ้าเติบโตน้อย ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็จะลดลงไป”
“รัฐบาลจะต้องตัดสินในปี 2553 ตามแผนของคณะกรรมการศึกษาโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ภายใน 3 ปี แต่เชื่อว่าจะต้องมีกระแสต่อต้าน ในอดีตผลกระทบจากนิวเคลียร์เหตุการณ์อย่างเชอร์โนบิลมันกว้างมากและเกิดสิ่งที่ร้ายแรง แต่สมัยนี้เทคโนโลยีทันสมัยมาก อุบัติเหตุเช่นนั้นคงเกิดขึ้นยาก ถ้าเราไม่สร้างเราก็เสียโอกาส แต่ก็ยังมีเวลาตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร”
“กฟผ. มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ซึ่งก็คือ รัฐบาล นั่นเอง แต่โครงสร้างปัจจุบัน กระทรวงพลังงานก็ได้กำหนดทิศทางไว้แล้ว โดยตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2007 (2550-2564) ซึ่งแผนนี้ผ่านการเห็นชอบของ ครม. เราคงยึดแผนนี้เป็นหลัก อาจจะมีอุปสรรคบางในช่วงแรกๆในการผลิตไฟให้ได้ตามแผน เราก็ต้องหาแหล่งอื่นๆ ไว้ เช่น เตรียมซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น มีโครงการประหยัดไฟ เช่น โครงการหลอดผอม หลอดตะเกียบเบอร์ 5 เป็นต้น แผน PDP 2007 อาจจะมีการปรับเปลี่ยน แต่คงไม่เปลี่ยนไปมากนัก เพราะผ่านการตัดสินมาจากคณะกรรมการหลายท่าน และเรามีการหาทางเลือกเตรียมไว้”
ความเปลี่ยนแปลงที่พอจะเห็นได้ชัดสำหรับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในชีวิตนั่นคือภาระที่เพิ่มมากขึ้นแต่ไม่ทำให้ร้อยยิ้มและโลกทัศน์นั้นขุ่นมัวไปตามความกดดันจากการทำงาน แต่ยังเป็น สมบัติ ศานติจารี คนเดิม
“ผมเติบโตมาจากหมู่บ้านบ้านปูนที่บางยี่ขันในสมัยเด็กนั้นกึ่งๆ จะเป็นต่างจังหวัดด้วยซ้ำมีผู้นำชุมชน แล้วพ่อแม่ของผมก็นับถือพวกเขา จำได้ว่าพ่อแม่ยากลำบากมาแต่ตัวจากเมืองจีนแม่ผมเห็นเขาทำบุญใส่บาตรตอนเช้าแม่ผมก็ใส่บาตร ผมก็เรียนรู้ว่า การใส่บาตรคือการสร้างกุศล ซึ่งผมรู้สึกว่าเพื่อนที่มีชีวิตสุขสบายขณะที่เราเหนื่อยเพราะคุณพ่อคุณแม่เขาทำบุญมาก ผมก็ใส่บาตรตามท่านจนกระทั่งบัดนี้ถ้าผมว่างจะใส่บาตรหน้า กฟผ.ทุกวัน เพราะผมมาทำงานแต่เช้า ซึ่งผมก็นำลูกไปใส่บาตร อยู่ในศีล 5 ก็ดีเพราะเราไม่มีเวลาไปทำกรรมฐาน ผมไม่ใส่เงินเพราะผมทำบุญตามแม่ ไหว้พระก็ต้องไหว้มังสวิรัติเพื่อชีวิตผู้อื่นไม่ต้องสูญเสียเพราะเรา”
“ที่ผมอยากเรียนวิศวะเพราะสมัยเด็กๆ ที่บ้านผมขายมอเตอร์ไซค์ซ่อมเอง ชอบทำมอเตอร์ไซค์ ก่อนหน้านั้นตอนผมเรียนที่เทพศิรินทร์ผมไม่ใช่คนเรียนเก่ง อยู่ห้องระดับกลางๆ เพื่อนผมเกเรทั้งนั้นแม้ไม่ได้อยู่ห้องคิงแต่ก็มีเพื่อนห้องคิง ซึ่งในรุ่นผมเด็กห้องคิงเก่งมากๆ ติดที่ 4 ของประเทศ แต่แปลกที่ไม่มีใครดังๆ เหมือนรุ่นอื่นนะ เพื่อนบางคนเป็นหมอ โดดเด่นสุดก็เป็นรองปลัดกระทรวง แต่ด้วยความที่เทพศิรินทร์เน้นเรื่องความรักและความสามัคคีในหมู่คณะมากมีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องทำให้หล่อหลอมเราได้ทำให้เราสนิทกันช่วยเหลือมาจนถึงทุกวันนี้”
“ผมจะทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ กิจกรรมคณะก็ทำเยอะ อยู่บ้านผมก็ทำงานช่วยพ่อแม่ เมื่อก่อนช่วยพ่อซ่อมมอเตอร์ไซค์ ผมเป็นลูกคนค้าขาย พ่อแม่มีลูก 3 คน เราเป็นคนเล็ก เราก็เรียนรู้ความยากลำบากจากสิ่งเหล่านี้ ผมจึงเข้ากับลูกน้องง่าย กินข้าวหลุมกับลูกน้องก็ทำมาแล้ว เพราะผมเรียนรู้มาอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กๆ”
“ซึ่งผมเลี้ยงลูกคล้ายกับที่พ่อสอน ทุกๆ เช้าผมจะเป็นคนส่งลูกไปโรงเรียนตั้งแต่เล็กจนเข้ามหาวิทยาลัยครับ เราก็คุยเรื่องต่างๆ ให้เขาฟัง ให้เขาได้รู้ได้เห็น ซึ่งการเอาใจใส่นี้ก็ทำให้พวกเขาเรียนดี ลูกชาย 2 คน ลูกสาว 2 คน มาทางสายวิศวกรรมเหมือนพ่อ 2 คน คนน้องเรียนบัญชี เพราะเราอบรมมาตั้งแต่เล็กจึงทำให้เขาเป็นคนดี รักเรียน เมื่อตอนผมเด็กก็ชอบเรียน สมัยผมเรียนพ่อแม่ไม่เคยสอนเราโดยตรง เมื่ออยากเรียนก็ต้องทำงานไปด้วย ผมเรียนรู้ด้วยตนเองและต้องช่วยพ่อแม่ขายของ พอไปขายมอเตอร์ไซค์ผมก็ช่วยจนซ่อมเป็นเอง ซึ่งจริงๆ ผมก็อยากจะเป็นช่าง พอมาเรียนแล้วได้เห็นโรงไฟฟ้าก็ยิ่งชอบ”
“เมื่อมาทำงาน ด้วยความที่ผมเป็นคนมีความรับผิดชอบ เราจะทำให้มันสำเร็จในงานที่ได้รับมอบหมาย เราก็ไม่ได้คิดคนเดียว เราก็หารือกับลูกน้อง แล้ววิธีหนึ่งที่ดีสำหรับผมคือ ผมจะมี Coffee Morning กับลูกน้อง ขณะเดียวกัน เราก็เอาข่าวมาแจ้งให้ทราบ กระทั่งผมอยู่ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ผมก็ยังทำกิจกรรมนี้บ้างแต่ก็น้อยลงไป ซึ่งการพูดคุยกับลูกน้องถามไถ่สารทุกข์สุกดิบทำให้งานนั้นราบรื่น”
“นอกจากดูแลคนอื่นแล้ว โดยส่วนตัวผมก็ดูแลตัวเอง โดยการออกกำลังเดินบนสายพาน 40 นาทีเป็นประจำ ก็ช่วยได้นะครับ ผมมาทำงานเร็วแต่บางครั้งก็ทำงานเลิกค่ำ เหล้าสุราเมรัยผมไม่ยุ่ง กินอาหารให้ครบห้าหมู่เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก หลังๆ มานี้ก็ตีกอล์ฟบ้าง”
เห็นได้ชัดถึงฝีมือเพราะมีถ้วยรางวัล 1ST Hole in one Suwan Golf & Country Club N0.6 Hole, 159 Yard เมื่อ 23 ธันวาคม 2549 การันตีว่าฝีมือและพละกำลังนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าฟิตเสมอ เมื่อร่างกายพร้อม จิตใจพร้อม จึงทำให้พร้อมก้าวต่อไปเมื่อได้รับความไว้วางใจตามมติคณะรัฐมนตรี 16 ตุลาคม 2550 เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามนัยมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2511
“การที่เราทุ่มเททำงานด้วยความจริงใจ มันจะช่วยให้เราได้รับการยอมรับ แต่ต้องสม่ำเสมอ ดีใจที่ผู้บังคับบัญชาก็สนับสนุน ผมก็ดีใจมาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนมากมาย โทรมาหา โทรมายินดี เราก็ดีใจ”
“เกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่างานเยอะขึ้นเพราะเราต้องออกไปพบกับหน่วยงานข้างนอก เราก็ต้องเรียนรู้มากขึ้นด้วย การทำงานนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน กระทรวงก็ต้องช่วยเหลือ กิจกรรมเพื่อสังคมเราต้องทำอย่างมาก อย่าง CSR เราเน้นทำเพื่อคืนกำไรให้กับสังคม ส่วนใหญ่ก็สิ่งแวดล้อมและการศึกษา เช่น โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ กว่า 300,000 ไร่ โครงการคืนช้างสู่ป่า ซึ่ง กฟผ. จะร่วมกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ สนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ เพราะช้างนั้นหายากขึ้น หากมีการนำไปเลี้ยงและให้ดูแลตัวเองให้ได้ขั้นต่อไปก็นำไปปล่อยป่า โดยเริ่มจากป่าที่ จ.ลพบุรี มีการทำพื้นที่กั้นเป็นแนวรั้วเพื่อไม่ให้ช้างออกนอกบริเวณไปทำลายไร่ของชาวบ้าน โดยจะเป็นรั้วที่ใช้ไฟฟ้าความถี่ต่ำจากพลังงานแสงอาทิตย์”
ภายใต้การนำของผู้ว่าการฯ คนที่ 10 ผู้ดูแลพลังงานไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาประเทศกับระยะเวลาการบริหารงานอีก 2 ปีเศษก่อนเกษียณอายุการทำงาน เราน่าจะได้เห็นผลสัมฤทธิ์จากโครงการเพื่อรองรับการพัฒนาและโครงการเพื่อสังคมอีกหลายโครงการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจนถึงวันนั้น รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่ระคนอยู่เสมอจากบุคลิกของการเป็นผู้นำที่ใกล้ชิดกับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างท่าน … สมบัติ ศานติจารี จะไม่ห่างหายไปจากความกดดันที่เตรียมถาโถมเข้ามา …