ว่าที่มิคาอิล ชูมัคเกอร์เมืองไทย
การที่จะก้าวไปสู่จุดสูงสุดในฐานะนักแข่งฟอร์มูล่าวันนั้นมิได้ไกลเกินฝันสำหรับหนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน ผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด บ๊อบบี้-ชวกิจ บุย หรือในชื่อเดิม โรเบิร์ต ทาดาชิ บุย ก่อนได้รับพระราชทานชื่อ ชวกิจ อันมีความหมายว่า “กิจการที่รวดเร็ว” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ปัจจุบันหนุ่มบ๊อบบี้ในวัย 24 ปี เป็นลูกชายเพียงคนเดียวของ โรเบิร์ต จอร์จ และฟูมิโกะ บุย แต่แทนที่จะมุ่งมั่นเพื่อเข้าสานต่อกิจการบริษัท RGB ARCHITECTS ที่คุณพ่อสร้างไว้อย่างมั่นคงดังเช่นทายาทในหลายครอบครัว เขากลับเดินตามความฝันซึ่งคุณพ่อเป็นผู้จุดประกายมาตั้งแต่เด็กให้สำเร็จด้วยการเป็นนักแข่ง F1 แห่งทีมเรโนลด์
“ความชอบนี้มาจากคุณพ่อเพราะท่านชอบเปิดดูการแข่งขันรถยนต์ทางโทรทัศน์ มาเริ่มจริงๆ จังๆ สำหรับฟอร์มูล่าวันเมื่อตอนเรียนมัธยม ผมไม่พลาดเลยจะต้องตามดูทุกการแข่งขัน กระทั่งจบมัธยมก็ได้ไปที่ประเทศอังกฤษ ลองเข้าคอร์สโรงเรียนขับรถแข่งเหมือนเป็นการกระชับความสัมพันธ์พ่อ-ลูกหลังเรียนจบมัธยมเราสองคนก็ชวนกันไปทำกิจกรรมสนุกๆ กันและตั้งแต่เข้าคอร์สนั้นทำให้ติดไปเลยเพราะผมรักสิ่งนี้มาก”
ครั้งหนึ่งเด็ก 3 ขวบขี่คอพ่อชมการแข่งรถที่สนามพีระเซอร์กิตฯ เป็นเสมือนเชื้อเพลิงคอยเติมจนเต็มถัง
“ประสบการณ์โดยตรงกับฟอร์มูล่าวันครั้งแรกที่ผมได้ดูข้างสนามนั้นเมื่อปี 1999 ที่มาเลเซียและเป็นปีแรกที่มีแข่งขันในเอเชียโดยผมอยู่ห่างจากสนามเป็นกิโลฯ แต่เมื่อได้ยินเสียงจากไกลๆ จนใกล้เข้ามาเสียงรถที่ดังนั้นมันเร้าใจมาก ได้เจอของจริงมันขนลุกขึ้นมาเลยล่ะครับ”
จากคนดูข้างสนามแปรสภาพมาสู่นักแข่งหลังพวงมาลัยท่ามกลางเสียงเชียร์ คู่แข่ง ทิวธง และเส้นชัย
“ใจหนึ่งก็อยากเป็นนักแข่ง แต่มันก็แค่ความฝันของเด็กผู้ชาย ยิ่งหลังจากได้ลิ้มลองคอร์สรถแข่งก็ยิ่งเพิ่มความอยากมากขึ้น แต่ก็ต้องกลับไปเรียนต่อปริญญาตรีที่แคลิฟอร์เนีย ด้าน International Business เพราะหลังจบวันที่ 5 ของการเรียนแข่งรถผมบอกคุณพ่อว่าอยากเป็นนักแข่งรถ คุณพ่อตบหัวเลย บ้าเหรอ กลับไปเรียนเดี๋ยวนี้!
“หลังจากทำตามคำแนะนำของคุณพ่อแล้วจึงกลับมาฝึกงานด้านการตลาดที่บริษัท บีเอ็มดับเบิลยูฯ ผมมีเส้นทางการฝึกงานที่ดีมาก จากเด็กถ่ายเอกสารมาเป็นนักแข่งรถ (หัวเราะ) ผมตั้งใจฝึกงานด้านการตลาด ประกอบกับพี่ที่ทำงานเขารู้ว่าผมรักรถมาก จึงแนะนำว่าจะมีการชิงทุนของบริษัทเป็นนักแข่งรถสำหรับคนเอเชียจึงมาปรึกษาคุณพ่อและชวนไปด้วยกัน คิดตอนแรกว่ายังไงก็คงไม่ได้ คิดเอาสนุกมากกว่า แค่หาโอกาสไปขับรถอีกสักทีหนึ่ง แต่เผลอได้มานี่ทุนมายุ่งเลย แทนที่จะดีใจกลับเครียดแทน เพราะทุนนั้นเขามีขีดจำกัดของอายุ ถ้าไม่รับทุนก็ต้องกลับไปเรียนต่อ โดยท้ายที่สุดผมก็เลือกรับทุนจากบีเอ็มฯ มาเป็นนักแข่งรถอาชีพเมื่อปี 2004”
ในฐานะนักแข่งรถฟอร์มูล่าวันดาวรุ่งคนแรกของไทย ด้วยความสามารถด้านการแข่งรถจากการเป็น 1 ใน 25 นักแข่งที่ได้ทุนจากบีเอ็มดับเบิลยู สปอร์ต และเป็น 1 ใน 5 คนของนักแข่งบีเอ็มดับเบิลยูเอเชี่ยนสกอร์ลาร์ชิพ สิ่งที่พิสูจน์ความสามารถของบ๊อบบี้ครั้งแรกคือได้ครองตำแหน่งดาวรุ่งปี 2004 ต่อมาก็ร่วมทีมมาริทัลเรสซิ่งจนสามารถคว้าชัยชนะจากฟอร์มูล่าซัพพอร์ต, คว้าอันดับที่ 2 ในรายการฟอร์มูล่าบีเอ็มดับเบิลยู เวิลด์ ไฟนอล 2006 พร้อมกับได้ที่ 2 จากสนามแข่งในจีน ล่าสุดสนามที่ปักกิ่งคว้าแชมป์ได้ที่ 1 ในรุ่นนักแข่งเอเชียในรายการฟอร์มูล่า เรโนลด์ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจคือได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันรถล้อเปิดในสนามบาเลย์ โดยมีเคล็ดลับเพิ่มความมั่นใจด้วยการพกพระเครื่องติดตัวทุกครั้ง
ปีที่ผ่านมาด้วยความที่เขาภูมิใจในความเป็นคนไทยรถแข่งของเขาจึงได้ทำสีเหลืองทั้งคันพร้อมติดตราสัญลักษณ์ธงชาติไทย เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเพื่อประกาศก้องให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศไทย ความหวังสูงสุดของบ๊อบบี้ก็คือ อยากให้ธงชาติไทยและได้ยินเสียงเพลงชาติไทย ก้องอยู่ในสนามแข่งรถทั่วโลก
และถือเป็นประวัติศาสตร์ไทยเลยก็ว่าได้ที่บ๊อบบี้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักกีฬาฟอร์มูล่าทีมชาติในนามประเทศไทย โดยถือเป็นคนแรกของประเทศไทยเลยทีเดียว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (รยสท.) และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้การสนับสนุน
“ผมอยากให้พวกเขาเห็นว่ากีฬานี้เป็นกีฬาที่มันมีอะไรมากกว่าที่คนๆ หนึ่งขับวนอยู่ในสนามเป็นชั่วโมง มีหลายอย่างที่ทำประโยชน์ให้กับชาติได้ไม่เพียงแค่บริษัทที่สนับสนุนการแข่งขันเท่านั้น และอยากให้คนอื่นรู้จักผมในนามของนักแข่งสัญชาติไทย ตัวแทนคนไทย เป้าหมายของผมคือการทำให้ A1 ประสบความสำเร็จสูงสุดและผมก็อยากจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งส่วนเล็กๆ ที่จะช่วยผลักดันมันขึ้นมา”
“เมื่อทีม A1 สัญชาติไทยสำเร็จ เมื่อทีมคงตัวแล้วก็อยากจะขอออกไปอยู่เบื้องหลัง และถ้าสวรรค์ทรงโปรดก็อาจจะได้กลับไปอยู่ในทีม F1 ซึ่งการตั้งทีมแข่งในนามประเทศไทยนั้นในส่วนของนักแข่งเรามีคนมีฝีมือเยอะ เพียงแต่ว่าเราขาดโอกาสและการสนับสนุนเท่านั้นเอง”
“ต่างชาติอยากให้มีการแข่งขันในเมืองไทย เขามักถามผมบ่อยๆ ว่าเมื่อไหร่จะมาเมืองไทย เมื่อไหร่เราจะจัดการแข่งขัน ซึ่งผมเองก็หวังว่าเมืองไทยจะได้เป็นสนามแข่งอีกสนามหนึ่ง ซึ่งเราพยายามจะสร้างทีม A1 ที่ต่างจาก F1 ก็คือแทนที่จะเป็นทีมแข่งขันแต่ A1 คือทีมชาติ ซึ่ง ณ บัดนี้มีอยู่ 22 ประเทศทั่วโลก ผมหวังว่าอีกไม่นานถ้าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ถ้าหากได้รับความกรุณาและความเมตตาจากพวกเขาในปี 2008 ก็น่าจะมีทีม A1 ของไทยเกิดขึ้น เมื่อเรามีทีมแล้วภายในปี 2010 น่าจะมีการแข่งขันในเมืองไทยเกิดขึ้น
“แต่นั่นก็คือเราจะต้องมีสนามแข่งรถมาตรฐานโลก ซึ่งมาเลเซีย จีน หรือประเทศเล็กๆ อย่างบาห์เรนจึงทุ่มเงินมหาศาลเพื่อสนาม เพราะผลประโยชน์มันไม่ใช่เกิดขึ้นกับสปอนเซอร์หรือหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ผลประโยชน์มันครอบคลุมไปถึงชื่อเสียงของชาติว่าประเทศนั้นมีศักยภาพพร้อมที่จะรองรับงานระดับโลก เห็นได้จากบาห์เรนเป็นที่รู้จักของโลก หรือสนามเซปังของมาเลเซียจากเดิมที่มีคนรู้จัก 5% ของประชากรยุโรป แต่หลังจากจัด F1 คนยุโรปรู้จักมากขึ้นถึง 95%”
ตอนนี้ชูมัคเกอร์เมืองไทยมีภารกิจรออยู่ข้างหน้าเหนือคำว่าชัยชนะ คือมุ่งมั่นสร้างทีมชาติไทยสู่ระดับโลกเพื่อร่วมแข่งในสนาม A1 อันยิ่งใหญ่ ก่อนเข้าสู่สุดยอดระดับโลกคือ F1 ซึ่งความใฝ่ฝันในสนามแข่ง 12 แห่ง ใน 11 ประเทศ กับคู่แข่งระดับพระกาฬ 23 ชาติ ทำให้มีภาระหนักในการหาทุนปีละ 5 ล้านดอลล่าร์ เพื่อก่อตั้งทีมในนาม THAILAND แต่เขาก็จะมุ่งมั่นสร้างเด็กไทยเป็นนักแข่งระดับโลกให้ได้ นี่คือบทพิสูจน์อีกก้าวของเขา
“เราไม่รู้ว่าวันหนึ่งตื่นมาเดินข้ามถนนอาจจะถูกรถเมล์ชน หรือตกมอเตอร์ไซค์ ฉะนั้นเราใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและเต็มที่จะดีกว่า เพราะความเสี่ยงและอันตรายมีอยู่รอบตัว เมื่อถึงเวลานั้นขึ้นมาจริงๆ เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพื่อไม่ให้เราเสียใจว่าทำไมเราถึงหยุดยั้งการก้าวเดินของเราเพราะความกลัวนิดๆ หน่อยๆ
“ตอนนี้ผมจริงจังกับมันมาก เป็นความฝันของเราเมื่อได้มาแล้วต้องตั้งใจและยอมเสียสละส่วนอื่นของชีวิตไปด้วย เมื่อมันมาถึงตักเราแล้วถือว่าเป็นลิขิต ไม่ว่าเราจะห่างจากมันแค่ไหน แต่ท้ายสุดเราก็กลับมาอยู่ในจุดนี้ จากวันที่ผมไปดูแข่งรถที่พัทยาตอน 3 ขวบแล้วนิตยสารกินรีถ่ายรูปเอาไปลงจนถึงวันที่ผมได้รับทุนฯ ผมว่าแม้เราพยายามห่างมากเท่าไหร่ แต่มันก็วนกลับมาหาเราเหมือนวงกลมที่ต้องมาบรรจบกัน
“ถึงตอนนี้ของการแข่งขันผมอยู่ในลำดับที่ 7 ในระดับนานาชาติ แต่ในเอเชียน่าเสียดายที่ไม่ได้ที่ 1 แต่อยู่ในลำดับ 2 นักแข่งหลายๆ คนของ F1 มีขีดความสามารถที่จะเป็นชูมัคเกอร์ทุกคน แต่อยู่ที่โอกาสแลความเฮงมีหลายสิ่งมาประกอบ ท้ายสุดเราต้องทำใจว่าหลายอย่างอยู่เหนือความควบคุมของเรา เราต้องพยายามดีที่สุด ทำใจว่าเราเต็มที่แล้ว ที่เหลือผลจะออกมาอย่างไรนั้นเราไปบังคับไม่ได้”