ปนัดดา เจณณวาสิน

P1080221-2

การเดินทางของเพชร การเดินทางของชีวิต

ในเมื่อธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้มีเพศชายและเพศหญิง เคยคิดกันเล่นๆ ไหมว่ามันอาจหมายความถึงธรรมชาติได้แบ่งแยกมาแล้ว ให้มนุษย์เพศชายและหญิงมีภาระหน้าที่ซึ่งต้องรับผิดชอบแตกต่างกัน แน่นอนอย่างที่ทราบ เพศชายมีสรีระและภาวะจิตใจที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับหน้าที่อันหนักหน่วง ขณะเพศหญิงมีสรีระบอบบาง หากแต่ชดเชยด้วยสมองและอุปนิสัยความมีระเบียบ เพื่อรองรับหน้าที่ที่อาจไม่ใหญ่เท่าผู้ชาย แต่ต้องอาศัยความละเอียดถี่ถ้วน มองในมุมนี้ เป็นไปได้ไหม ว่านี่คือสิ่งที่ธรรมชาติกำหนด หรือฟ้าลิขิตมาแล้ว

แต่ในปัจจุบัน สถานะของฟ้าในฐานผู้กำหนดให้เพศชายต้องทำอย่างนี้ เพศหญิงต้องทำอย่างนั้น ได้สั่นคลอนและโยกไหว ก็ในเมื่อศักดิ์และสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์หาได้วัดกันที่ความเป็นชายหรือหญิง หากวัดคุณค่ากันที่เจตนาและการกระทำ จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่ ณ วันนี้กรอบการแบ่งหน้าที่ระหว่างชาย-หญิงจะพร่าเลือนและปรับเปลี่ยนโดยมีเจตนาและความตั้งใจเป็นตัวแปร กำหนดให้มนุษย์คนหนึ่งพึง ‘เลือก’ ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อประกาศถึงศักยภาพและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตน แม้ ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่ง’ นั้น จะแลดูหนักเกินเพศของตนก็ตาม

กระนั้น หากใช้ตรรกะที่ธรรมชาติเป็นผู้กำหนดหน้าที่ของเพศ เมื่อพูดถึงรถกระบะหรือปิกอัพ เชื่อว่าคนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ต้องมีภาพของผู้ชายร่างบึกบึนกล้ามเป็นมัดๆ กำลังทุ่มแรงกายแรงใจบังคับเจ้ารถที่ถูกเปรียบเสมือน ‘ม้าป่า’ นี้ตะลุยผ่าโคลนโผนทะยานไปข้างหน้า ในมิติความเป็นรถกระบะอย่างเดียวก็คิดกันขนาดนี้แล้ว มิพักต้องพูดถึงผู้ที่มีหน้าที่บังคับบัญชาในบริษัทรถกระบะยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ที่มีสถานะเป็นอุตสาหกรรมหนัก ต้องใช้ความสามารถและแรงกายแรงใจอย่างสูงในการบริหารและทำการตลาด เชื่อแน่ว่าคนร้อยทั้งร้อยต้องนึกภาพผู้นำระดับสูงเช่นนี้เป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากผู้ชาย

แต่เธอคนนี้เป็นผู้หญิง…ผู้หญิงร่างเล็กเสียด้วย

เธอชื่อ ปนัดดา เจณณวาสิน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด และ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท อีซูซุโอเปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด หญิงแกร่งผู้ก้าวเข้ามารับภาระหน้าที่ที่พิจารณาแล้วช่างหนักหนาสาหัสเกินเธอจะรับมือ แต่แล้วอย่างไร ในเมื่อตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมา คนทั่วประเทศได้ประจักษ์ และยากจะปฏิเสธว่า ‘อีซูซุ’ ไม่ใช่ยี่ห้อรถกระบะชั้นนำในเมืองไทย และภายใต้การนำของผู้หญิงร่างเล็กคนนี้ อีซูซุกำลังบินไปผงาดง้ำทั่วโลก

อะไรที่ทำให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอตัดสินใจเข้ามารับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงนี้? คือคำถามที่หลายคนอยากรู้ แต่มีอีกคำถามที่น่าสนใจกว่า คืออะไรทำให้เธอแกร่งอย่างนี้? คุณปนัดดาอมยิ้ม แล้วออกตัวอย่างไม่ปิดบัง

“ชีวิตดิฉันอาจจะไม่มีอะไรหวือหวาอย่างที่คุณคาดหวังนะคะ ดิฉันเกิดมาในครอบครัวทหาร คุณพ่อเป็นทหารเรือและคุณแม่เป็นแม่บ้าน มีพี่น้อง 4 คนโดยดิฉันเป็นลูกคนโต ตามมาด้วยน้องสาว 2 คน และน้องชายคนเล็กสุด การเกิดมาในครอบครัวทหารทำให้เราถูกอบรมมาเหมือนกันหมดค่ะ คือการมีวินัย ความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

“ดิฉันเรียนโรงเรียนคริสต์ตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ ก่อนจะมาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วก็ไปต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้นเขาให้เข้าไปเรียนก่อน แล้วค่อยไปเลือกคณะจากผลสอบของปี 1 ซึ่งดิฉันตั้งใจว่าจะเรียนเอกภาษาอังกฤษ เพราะเป็นสิ่งที่ดิฉันชอบมากและถนัดมาตั้งแต่เด็กๆ (ดวงตาเป็นประกาย) ก็ตั้งใจจะเลือกคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ เท่านั้นแหละค่ะ คุณพ่อเรียกมาคุยทันทีเลย

“แม้คุณพ่อจะเป็นทหาร แต่คุณพ่อก็ไม่บังคับลูกนะคะ จะพยายามใช้เหตุผลมากกว่า ตั้งแต่เกิดมาคุณพ่อไม่เคยตีดิฉันเลย แต่ใช้การดุและว่ากันด้วยเหตุผลตั้งแต่ตัวเล็กๆ อย่างเช่นเวลาคุณพ่อลงโทษน้องชาย ที่แน่นอนว่าเป็นคนเล็ก ก็อาจจะมีดื้อบ้าง คุณพ่อก็ลงโทษโดยให้ยืนกางแขนอยู่เฉยๆ ไม่ตีค่ะ แต่ให้ยืนจนกว่าจะบอกให้เอาแขนลงได้นั่นแหละ (หัวเราะ)

“สำหรับตอนนั้นของดิฉันก็เช่นกันค่ะ ท่านคุยด้วยเหตุผล คือคุณพ่อไม่เห็นด้วยที่จะเรียนเอกภาษาอังกฤษ อธิบายว่าไม่จำเป็น เพราะภาษาอังกฤษมันน่าจะเป็นความรู้พิเศษ เป็นวิชาเสริมมากกว่าจะเป็นวิชาหลักที่เราเรียน ถ้าสมมติต่อไปภายภาคหน้าดิฉันจบเอกภาษาอังกฤษแล้วดิฉันพูดภาษาอังกฤษเก่งก็จะไม่มีใครชื่นชมดิฉัน เพราะว่าเราเรียนเอกภาษาอังกฤษ มันก็ต้องทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าสมมติว่าดิฉันเรียนวิชาอื่นแล้วพูดภาษาอังกฤษได้อย่างที่ดิฉันพูดได้อยู่ในขณะนั้น ทุกคนก็จะบอกว่าคนนี้พูดภาษาอังกฤษเก่งมากเลย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนเอกภาษาอังกฤษ

“คุณพ่อต้องการให้ดิฉันเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิชาเอกบัญชีค่ะ เพราะคุณพ่อเชื่อว่าการทำธุรกิจในอนาคตนั้นความรู้ทางบัญชีจะเป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์ต่อดิฉันมาก ซึ่งดิฉันไม่ชอบเลย (เสียงต่ำ) มันยากและน่าเบื่อ มีแต่ตัวเลข แต่คุณพ่อก็บอกว่า แล้ววันหนึ่งจะเข้าใจว่าทำไมพ่อถึงบอกแบบนี้ ซึ่งมาถึงตอนนี้ ดิฉันเข้าใจมากเลยค่ะ (เสียงแจ่มใส) ตอนที่เป็นผู้บริหารแล้วมันจำเป็นมาก มันต้องมี Sense ของความเป็นนักบัญชีอยู่ในสายเลือด ซึ่งปัจจุบันดิฉันมี Sense มากๆ เลย (ยิ้ม)”

มีคนพูดไว้ว่า เพียงแค่ลงมือทำฝันของตนให้เป็นจริงก็ยากแล้ว แต่การต้องทำในสิ่งที่ตนไม่ได้รักชอบให้สำเร็จลุล่วงนั้นย่อมยากและทรมานใจกว่าหลายเท่า หากจะนับตรงจุดนี้ บวกกับความเคร่งครัดในครอบครัวแบบทหารด้วยแล้ว นี่เองหรือเปล่าที่เป็นฐานของความเข้มแข็งทางจิตใจของผู้หญิงคนนี้ กระนั้น ที่ชัดเจนและแน่นอนยิ่งกว่า ก็คือการเลือกเรียนตามที่คุณพ่อให้เหตุผลไว้นี้เอง ได้ทำให้วงโคจรชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อปนัดดา หมุนไปเฉี่ยวกับธุรกิจหนักที่แม้ผู้ชายก็ต้องแอบถอนหายใจ

“มันเป็นช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยปี 4 ค่ะ ตอนเรียนธรรมศาสตร์ดิฉันไม่เคยคิดจะทำงานในบริษัทญี่ปุ่นมาก่อนเลย เรียกได้ว่าญี่ปุ่นไม่เคยอยู่ในความคิดของดิฉันแม้แต่น้อย ด้วยความที่ดิฉันเคยเรียนภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัวกับอาจารย์อเมริกันทุกวันเสาร์สมัยอยู่มัธยมต้น ทำให้ดิฉันชอบภาษาอังกฤษมาก (ลากเสียง) อย่างที่บอกนั่นแหละค่ะ และคิดว่าจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ไม่เคยมีความคิดเลยว่าจะไปเรียนต่อญี่ปุ่น และไม่เคยนึกถึงอะไรที่เป็นญี่ปุ่นเลยตั้งแต่เล็ก

“สำหรับเอกบัญชีที่ดิฉันเรียนนั้น พอขึ้นปี 4 ก็จะต้องเรียนวิชาบังคับค่ะ คือ การตลาด การเงิน ในวิชาการตลาดอาจารย์ได้มอบหมายให้นักศึกษาแต่ละคนไปทำรายงานเกี่ยวกับบริษัทนั้นบริษัทนี้ ดิฉันได้บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ซึ่งตอนนั้นดิฉันไม่รู้จัก เพราะไม่ได้สนใจด้านธุรกิจรถยนต์ แต่ก็รู้จักรถยนต์อีซูซุนะคะ เพราะเห็นวิ่งอยู่ตามท้องถนน (หัวเราะ) แต่ดิฉันไม่รู้จักบริษัทเขา อาจารย์ให้ทำรายงานก็มาที่บริษัทนี้ แล้วก็ประทับใจมากค่ะ เพราะเจ้าหน้าที่เขาให้ข้อมูลดีมาก ดิฉันจึงรู้สึกว่าบริษัทนี้ดีเลิศประเสริฐศรีเหลือเกิน (หัวเราะ)

“ดิฉันมาสัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ในขณะนั้นรถอีซูซุขายดีจนไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่มีโฆษณา ไม่มีบิลบอร์ด ทีวีหนังสือพิมพ์ก็ไม่ต้องลงโฆษณาเพราะขายดีมากๆ และสวัสดิการพนักงานเขาก็ดีมาก จึงรู้สึกว่า เออ…บริษัทนี้ดีนะ แต่ไม่คิดว่าจะทำงานกับเขา

“กระทั่งผ่านพ้นไปจนเทอมที่ 2 ของปี 4 บริษัท ตรีเพชรอีซูซุ เขาก็ไปติดประกาศรับสมัครงานที่คณะบัญชี ระบุว่าต้องการนักศึกษาชายอายุไม่เกิน 25 ปี คะแนนเฉลี่ย GPA ต้องไม่ต่ำกว่า 2.7 ณ ขณะนั้นดิฉันแน่ใจอยู่แล้วว่าตัวเองต้องได้เกียรตินิยมแน่นอน เมื่อเห็นประกาศฉบับนั้นแล้วจึงอารมณ์เสียมาก เพราะเพื่อนก็รู้ว่าเราถูกมอบหมายให้ไปทำรายงานบริษัทนี้ เพื่อนยังชี้ให้ดูเลยว่า ‘นี่ไงบริษัทที่นายไปสัมภาษณ์ เขาไม่รับผู้หญิง เขาอยากได้แต่ผู้ชาย’ ”
ซึ่งนี่เองคือสิ่งที่ผู้หญิงคนนี้รับไม่ได้อย่างยิ่ง คุณปนัดดาบอกว่าไม่ได้โมโห แต่เป็นความหงุดหงิดใจที่ดลให้กล้าทำในสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครทำกัน

“จริงๆ ไม่ได้อยากทำงานกับเขานะคะ แต่เอ๊ะ! ทำไมถึงไม่รับผู้หญิง ดิฉันจึงโทรศัพท์เข้าไป ได้คุยกับคนญี่ปุ่นที่เป็นผู้จัดการทั่วไป ซึ่งตอนนั้นเขารับผิดชอบฝ่ายบัญชี การเงิน และธุรการ ดิฉันบอกเขาว่า‘เคยมาทำรายงานที่บริษัทของคุณแล้วฉันประทับใจในบริษัทของคุณมาก แต่วันนี้ฉันรู้สึกผิดหวังมากที่บริษัทของคุณมีการแบ่งแยกทางเพศ ทำไมคุณถึงเลือกแต่ผู้ชายอย่างเดียว ฉันได้คะแนนดีกว่าที่คุณกำหนดไว้อีกนะ และดีกว่าบรรดาผู้ชายเกรดต่ำๆ ที่คุณอยากจะได้เสียอีก และถ้าคุณให้โอกาสฉัน รับรองคุณจะไม่มีวันผิดหวังเลย ฉันทำได้ดีกว่าแน่นอน’ (หัวเราะ) แต่ตอนหลังก็ได้รู้ค่ะว่าทำไมเขาถึงเจาะจงรับแต่ผู้ชาย ตอนนี้ที่เป็นผู้บริหารก็รู้ว่าบางกรณีก็ต้องการผู้ชายสำหรับงานบางอย่าง แต่ตอนนั้นเราเป็นเด็ก ก็ไม่ได้คิดอะไร ตอนนั้นเขาบอกว่าปิดรับสมัครไปแล้ว แต่คงเพราะที่เราพูดไปกระมังคะ เขาก็เลยเรียกดิฉันไปสอบข้อเขียน ข้อสอบยากมากเลย มีตัวเลข มีให้แปลอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด และพอผ่านข้อเขียนเขาก็เรียกสัมภาษณ์ พอสัมภาษณ์เสร็จเขาก็ให้เลือกว่า ณ ขณะนั้นอยากทำงานฝ่ายอะไร เขาบอกว่ามีฝ่ายขายกับบัญชี ดิฉันเลือกบัญชีเพราะเราก็เรียนเอกบัญชี เขาก็บอกว่าตามใจ สรุปว่าได้เข้าทำงานค่ะ (ยิ้ม)”
ฟังดูแล้ว ผู้หญิงคนนี้มีความมั่นใจในตัวเองอย่างยิ่ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเกิดจากฐานความมีวินัย ความเข้มแข็งในจิตใจ และความมุ่งมั่นที่ทำให้เธอผ่านชีวิตการเรียนอันหนักหนาสาหัสมาได้ในระดับเกียรตินิยม กระนั้น หากใครสักคนเคยพูดไว้ว่า ชีวิตการเรียนกับชีวิตการทำงานมันต่างกันคนละขั้ว คุณปนัดดาก็คงเป็นคนหนึ่งที่ใครคนนั้นหมายถึง และหากใครหลายคนอาจต้องปรับเปลี่ยนชีวิตตนใหม่เมื่อเข้าทำงาน คุณปนัดดาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ถูกละเว้น แต่มากกว่านั้น นอกจาก ตรีเพชรอีซูซุ จะทำให้เธอต้องเปลี่ยนรูปแบบชีวิตแล้ว ยังมอบความตั้งใจชิ้นใหม่ให้แก่เธอด้วย

“เริ่มงานเขาก็ให้หัดทำบัญชีพื้นฐานเลยนะ ซึ่งก็ค่อยๆ ค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบเลยงานแบบนี้ (เน้นเสียง) เพราะดิฉันไม่ชอบงานเอกสาร บัญชีเป็นงานมีคุณค่านะคะ แต่เป็นงานประมวลผลข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตซึ่งไม่ถูกกับลักษณะนิสัยของดิฉัน ดิฉันไม่ใช่คนที่เรียบร้อยและอดทนนั่ง! (เน้นเสียง) ทำอะไรทุกอย่างอยู่บนโต๊ะอย่างเดียว ดิฉันเริ่มรู้สึกว่า ตายแล้ว! มันไม่ใช่สิ่งที่ฉันอยากทำ

“กอปรทั้ง ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ เองเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอร์เรชั่นประเทศญี่ปุ่น ที่เป็น General Trading Company หรือบริษัทการค้าสารพัด ขายตั้งแต่ไก่ KFC จนถึงโรงงานไฟฟ้ามีหมด ทำทั้งถ่านหิน เหมืองแร่ก็มี ซึ่งผู้บังคับบัญชาของตรีเพชรฯ ในตอนนั้นส่วนใหญ่ก็มาจากบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอร์เรชั่น รวมทั้งผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบัญชีที่ดิฉันเป็นลูกน้องอยู่ด้วย เวลาคนญี่ปุ่นเจอกันก็จะพูดภาษาญี่ปุ่นแน่นอนอยู่แล้ว เหมือนดิฉันเจอคุณก็พูดเป็นภาษาไทย และหากมีฝรั่งนั่งอยู่ ถ้าไม่เป็นการเสียมารยาทเกินไปดิฉันจะพูดกับคุณเป็นภาษาไทยและหันไปพูดกับฝรั่งเป็นภาษาอังกฤษ กรณีนี้ก็เหมือนกัน เวลาประชุมกันก็พูดเป็นภาษาญี่ปุ่นและหันมาพูดกับดิฉันเป็นภาษาอังกฤษ ดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าเขาพูดอะไรกัน อึดอัดมาก อยากรู้ว่าพูดอะไรนะ ทำไมฉันถึงไม่เข้าใจ เอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ แต่บางชิ้นก็เป็นภาษาญี่ปุ่น

“ตรีเพชรอีซูซุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตดิฉันค่ะ คือทำให้ความตั้งใจที่จะไปเรียนปริญญาโทที่อเมริกาถูกล้มเลิกไป นึกถึงคำพูดของพ่อขึ้นมาเลย เพราะเราก็เข้าใจภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นที่เขาพูดกันเลย ดิฉันจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ตั้งใจแล้วว่าเราจะเลือกประเทศญี่ปุ่น และอีกอย่างก็คือไม่ชอบงานบัญชีที่ทำอยู่ ดิฉันจึงจำเป็นต้องหาทางเปลี่ยนงานโดยด่วน (หัวเราะ)”

เมื่อนั้นเอง บททดสอบความแกร่งและความมุ่งมั่นก็มาเยือนเธออีกคำรบหนึ่ง
“ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นเป็นทุนที่ให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดก็จริง แต่ก็เป็นทุนที่ให้เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่าง 2 ประเทศ ฉะนั้นบุคคลที่เขาคัดเลือกให้ได้รับทุนทั้งปริญญาตรี โท และเอก ยังไม่เคยมีใครมาจากภาคเอกชนเลย ดิฉันก็ไปสมัคร แต่เขาไม่มีสาขาบัญชี สาขาบริหารธุรกิจเลย มีสาขาเดียวคือเศรษฐศาสตร์ ดิฉันจึงต้องสมัครสอบวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งดิฉันก็ทำได้ ผ่านข้อเขียน เมื่อถึงการสอบสัมภาษณ์ก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นมาสัมภาษณ์ เขาก็พูดดีนะคะ ถามอย่างอื่นนิดหน่อย แล้วก็ถามว่า ‘คุณให้เหตุผลมาสิว่าเพราะอะไรเราถึงต้องให้ทุนกับคุณซึ่งเป็นคนที่ทำงานบริษัทเอกชน ไม่ได้เป็นอาจารย์ หรือข้าราชการ’ นี่คือคำถามเดียวที่จะชี้ว่าเราจะได้ทุนหรือเปล่า ดิฉันก็ตอบเขาไป ซึ่งยังจำได้ดีจนทุกวันนี้ว่า ‘ทุนนี้เป็นทุนเพื่อให้ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นใช่รึเปล่า เป็นทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยใช่หรือไม่’ เขาบอกว่า‘ใช่’ ดิฉันก็เลยถามว่า

“ ‘ประเทศญี่ปุ่น (ประมาณปี ค.ศ. 1980 ญี่ปุ่นเป็น Economic Superpower) เป็นอภิมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ดิฉันไม่เห็นรู้เลยว่ากระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นมีบทบาทอะไร ดิฉันรู้จักมิตซูบิชิคอร์ปอร์เรชั่น รู้จักบริษัทเนชั่นแนล รู้จักกล้องถ่ายรูป Nikon ไม่เห็นรู้จักคุณเลย ดิฉันรู้จักโซนี่ ไม่รู้เลยว่าคุณทำอะไร กระทรวงมหาดไทยทำอะไร กระทรวงกลาโหมคุณมีรึเปล่าก็ไม่รู้’ …จริงๆ มันไม่มีดิฉันก็รู้แหละ (หัวเราะ)

“ ‘เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะภาคเอกชนของคุณต่างหากที่ทำให้ประเทศของคุณกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่ภาครัฐบาล แล้วทำไมคุณถึงไม่อยากให้ไทยมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทำไมคุณถึงได้ให้ทุนกับข้าราชการ กับอาจารย์ในภาคของรัฐเท่านั้น เพราะอะไร คุณก็รู้ดีว่าระบบราชการทุกประเทศเหมือนกันหมด คือมีขั้นตอนยุ่งยาก ไม่น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควร ทำไมคุณถึงไม่ใจกว้างให้เราอย่างประเทศของคุณ คุณน่าจะให้ภาคเอกชนบ้าง ดูสิว่าคุณจะได้อะไรจากฉันถ้าคุณให้ฉันไปเรียน

“ ‘1. คือ เมื่อกลับมาอาจจะเป็นข้าราชการหรืออาจารย์ก็ได้ มันก็ตรงตามวัตถุประสงค์ดั้งเดิมลึกๆ ของคุณ ที่คุณไม่ได้ประกาศว่าคุณอยากจะให้พวกนี้
“ ‘2. ดิฉันอาจจะทำงานบริษัทเดิมก็ได้ เพราะอีซูซุเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น คุณมีแต่ได้กับได้
“ ‘3. ดิฉันอาจจะไม่ทำงานกับอีซูซุ แต่อาจจะทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งถ้าดิฉันไปเรียนมาจากญี่ปุ่น แล้วจะไปทำธุรกิจกับประเทศอื่นทำไมในเมื่อพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ก็ต้องทำธุรกิจกับญี่ปุ่น ไม่เห็นจะมีอะไรเสียเลย มีแต่ได้กับได้ทั้งนั้น ทำไมคุณถึงไม่ลองกับฉันก่อนล่ะ’

“เพราะคำตอบนี้เองที่ทำให้ดิฉันได้ทุนในที่สุด คนที่สัมภาษณ์เขาบอกดิฉันในงานเลี้ยงแสดงความยินดีว่า คุณเป็นคนที่ตอบได้ดีมาก และเขารู้สึกว่าดิฉันพูดจากใจจริง (ยิ้ม)”

แม้จะผ่านพ้นการสมัครสอบมาได้ แต่ปัญหาก็ใช่จะหมดไป

“เมื่อได้ทุน ดิฉันก็เข้าไปบอกกับผู้จัดการทั่วไปที่เป็นคนญี่ปุ่นตามจริงว่า ดิฉันได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแล้วนะ และดิฉันก็จะลาออก เขาก็ถามว่าทำไมถึงจะลาออก ดิฉันบอกว่าเมื่อกลับมาจะไม่ทำงานอีกแล้ว บัญชีไม่เหมาะกับชีวิตฉันเลย เขาบอกดิฉันว่า‘ถ้าหากบริษัทให้คุณลาไป แล้วคุณกลับมาค่อยตัดสินใจอีกทีว่าจะทำอะไรต่อไปล่ะ’ดิฉันจึงถามว่า‘ลาไปได้เหรอ’ เขาบอกว่า‘ลาได้ และจะจ่ายเงินเดือนให้ด้วย 5 ปี’ ตอนนั้นดิฉันก็รู้แล้วว่าถ้ารับคำ เขาต้องจับเซ็นสัญญาแน่ๆ เพราะเรารับสตางค์เขาโดยไม่ได้ทำงานเขา เมื่อรู้ว่าต้องเซ็นสัญญาก็ไม่เอา ไว้ตัดสินใจตอนกลับมาดีกว่า

“เขาจึงพาดิฉันไปพบท่านประธานบริษัทในขณะนั้น ตอนนั้นดิฉันยังเด็กมากนะคะ อายุยังไม่ถึง 23 เลย ท่านประธานฯ บอกว่าเขาจะเลือกมหาวิทยาลัยให้ดิฉัน ชื่อ Hitotsubashi Universityเกิดมาก็ไม่เคยได้ยินเหมือนกัน แต่เขาบอกว่า‘Hitotsubashi University เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดทางด้านเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจ แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นก็เข้าไม่ได้ คุณควรจะเรียนที่นี่’ พร้อมกับถามว่า ‘ปนัดดาจะไม่เซ็นสัญญากับบริษัทใช่หรือไม่’ ดิฉันก็บอกว่า ‘ขอไม่เซ็นได้รึเปล่า’ เขาบอกว่า‘ได้ คนไทยเป็นคนที่กตัญญูรู้คุณคน นี่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อคุณบอกว่าคุณจะกลับมา เราคิดว่าคุณจะรักษาคำพูดใช่หรือไม่’ เจออย่างนี้ดิฉันก็พูดไม่ออกค่ะ แต่ในที่สุดก็บอกว่า‘ถูกต้อง จะรักษาคำพูด จะกลับมา’ แต่ในขณะนั้นก็คิดว่าจะไม่ทำไปตลอด ซึ่งเขาก็รู้ แต่ก็ย้ำว่า‘กลับมาคุณจะมาทำที่นี่ใช่หรือไม่’ ดิฉันตอบย้ำว่า‘ใช่’ ก็โอเค ไปได้โดยไม่ต้องเซ็นสัญญา”
และแม้จะต้องไปอยู่ต่างแดน แต่เธอก็ยังไม่ทิ้งความเก่ง กระนั้น ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น

“ไปอยู่ที่โอซาก้าก่อนเพื่อเรียนภาษา 6 เดือน ภาษาญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้เรื่องนะคะ (หัวเราะ) เพราะอยู่กับนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งหมด เป็น Foreign Student House หอพักนักเรียนต่างชาติที่ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น มีแต่ฝรั่งมังค่า เอเชีย แอฟริกันทั้งหลายแหล่อยู่ด้วยกันหมด ฉะนั้นเจอกันก็พูดแต่ภาษาอังกฤษ ไปโรงเรียนพูดภาษาญี่ปุ่น แต่เลิกเรียนก็ไม่พูด แล้วมันจะจำได้ไหมล่ะ (หัวเราะ)

“จนกระทั่งได้พบกับศาสตราจารย์ Masatoshi Yoshino ที่สอนการค้าระหว่างประเทศที่ Hitotsubashi University ดิฉันไปพบท่านเพื่อขอคำปรึกษาเรื่องจะเรียนต่อที่ Hitotsubashi University อาจารย์ก็หน้าตาท่าทางใจดีอยู่หรอกค่ะ แต่เขาไม่พูดอังกฤษด้วยเลย เขาพูดคำแรกว่า‘ผมเกลียดภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นคุณต้องพยายามพูดภาษาญี่ปุ่น’ ดิฉันก็ถามไปว่าอาจารย์สอนการค้าระหว่างประเทศไม่ใช่หรือ แล้วทำไมอาจารย์ถึงเกลียดภาษาอังกฤษล่ะ เขาตอบว่า ‘การค้าระหว่างประเทศแบบญี่ปุ่น! เข้าใจไหม ถ้าต้องการพูดภาษาอังกฤษทำไมไม่เลือกสอบทุนไปเรียนอเมริกา มาทำไมประเทศญี่ปุ่น’ เงียบเลยสิ เขาก็บอกให้ดิฉันไปพยายามเรียนภาษาญี่ปุ่นมา เพราะว่าที่ Hitotsubashi University จะไม่พูดภาษาอังกฤษเลย

“ดิฉันจึงกลับมาตั้งหน้าตั้งตาเรียนจนสอบได้ที่ 1 ของทั้งรุ่นค่ะ และได้รับเลือกให้เป็นคนกล่าวสุนทรพจน์แทนนักเรียนต่างชาติทั้งหมดนับ 100 คน ดิฉันก็หวังสูงมากเลย อยากให้อาจารย์เข้าใจว่าดิฉันซาบซึ้งเพียงใดที่ท่านเหล่านี้กรุณาสอนฉัน แต่ด้วยความรู้ความสามารถภาษาญี่ปุ่นเพียง 6 เดือนจึงไม่สามารถจะพูดยากๆ อย่างที่เราคิดได้ อยากพูดอะไรจึงเขียนเป็นภาษาอังกฤษไว้ แล้วก็ให้นักศึกษาที่มาเป็นโอเปอเรเตอร์ที่หอพักซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นช่วยแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นให้ ซึ่งพอได้อ่านเขาก็บอกว่าทำไมเขียนยากแบบนี้ล่ะ (หัวเราะ)

“พอถึงวันรับประกาศนียบัตร ดิฉันก็ขึ้นไปในฐานะตัวแทนนักเรียนต่างชาติ กล่าวสุนทรพจน์ในงาน อาจารย์ปรบมือกันใหญ่เลย อาจารย์ชอบมาก แต่เพื่อนดิฉันไม่มีใครเข้าใจเลย นักเรียนต่างชาติเขาเรียนไม่ถึง (หัวเราะ) มันไม่เข้าใจเลย แต่อาจารย์เข้าใจ แล้วหลังจากนั้นก็สอบติด ได้ไปเรียนที่ Hitotsubashi สมความปรารถนาค่ะ แล้วก็จบได้ในที่สุด”
ซึ่งเธอก็บอกว่ากว่าจะจบออกมาได้ ต้องอุทิศเวลาของชีวิตและตั้งใจกว่าคนอื่นหลายเท่า

“ดิฉันพยายามมากเหลือเกินค่ะ คนอื่นเขาดูหนังสือ 1 ชั่วโมงแต่ดิฉันต้องดู 3 ชั่วโมง เรียกได้ว่าเหนื่อยมากกว่าจะจบปริญญาโทได้ ดิฉันสอบได้ A รวดเลยนะคะ เพราะปริญญาโทต่ำกว่า B ไม่ได้ เมื่อต้องเขียนวิทยานิพนธ์ อาจารย์ก็ให้นักศึกษาปริญญาโทเหมือนกันมาช่วยดูแลตอนเขียน เมื่อทำเสร็จต้องสอบ Defend Thesis สอบปากเปล่าเพื่อป้องกันวิทยานิพนธ์ตัวเอง เขาให้เอาหนังสือเข้าไปได้หมดเลย มีคณะกรรมการนั่งเป็นรูปตัวยู ดิฉันต้องนั่งตรงปากตัวยู ดิฉันก็คิด ถ้ายอมเปิดหนังสือต้องเจ๊งแน่ๆ อยู่แล้ว ไม่มีทางเลยถ้าใครบอกให้เอาหนังสือเข้าไปได้ ดิฉันจึงเอาเข้าไปแต่ Dictionary เผื่อกรณีที่เกิดพูดไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) สุดท้ายวิทยานิพนธ์ที่เขียนไปก็ได้ A และ Oral Examination ก็ได้ A หมด อาจารย์ Yoshino เขาคงคิดว่าดิฉันเก่งขึ้นแล้ว จึงชวนเรียนปริญญาเอกต่อ ซึ่งตอนนั้นดิฉันก็ทำงานพิเศษอยู่ที่ NHK เป็น Radio Japan คล้ายๆ BBC หรือ Voice of America ส่งกระจายเสียงไปประเทศอื่นๆ ดิฉันก็ไปเป็นผู้ประกาศคนไทย ได้เงินเยอะมาก…(ลากเสียง) ด้วยเหตุผล 2 อย่างนี้ ดิฉันจึงแจ้งกลับมายังบริษัทว่าจะเรียนอีก ซึ่งประธานคนที่อนุญาตให้ดิฉันไป เขาได้กลับไปเป็นกรรมการบอร์ดของมิตซูบิชิคอร์ปอร์เรชั่นแล้ว เขาบอกดิฉันว่าไม่ต้องเรียน เพราะตรีเพชรอีซูซุไม่ได้ต้องการดอกเตอร์ บอกให้ดิฉันรักษาคำพูด ให้กลับ! แต่ดิฉันก็ยังไม่วายนะคะ ขอฝึกงานที่นั่นอีก 1 ปี ซึ่งเขาก็โอเค

“พอจบก็กลับมาเมืองไทย เงียบเลยค่ะ มาถึงเขาให้เงินเดือนอัตราเดียวกับในเมืองไทย ซึ่งดิฉันก็ต้องกัดฟันรักษาสัญญาสุภาพสตรีที่ให้ไว้ (เน้นคำพูด) ได้เงินเดือน 10,000 บาทในปี 1985 หักภาษีแล้วเหลือ 9,000 กว่าบาท โถ…อยู่ญี่ปุ่นได้เงินมหาศาลเลย สมัยนั้น 100 เยนเท่ากับ 10 บาท อยู่ญี่ปุ่นได้เงินเดือนจากบริษัทประมาณ 18,000 บาท บวกกับที่ได้จาก NHK อาทิตย์ละ 60,000 เยน เดือนละ 240,000 เยนเท่ากับได้เดือนละ 24,000 บาท บวก 18,000 บาท เท่ากับได้เงินเดือนที่นั่น 42,000 บาท แล้วต้องมารับเงินเดือน 9,000 บาท”

แม้จะฟังชวนเสียกำลังใจอย่างที่สุด แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเพชร แม้จะหล่นอยู่ในโคลนตม แสงจรัสก็ยังมิสิ้นประกาย

“แต่หลังจากนั้น 6 เดือนเขาก็ให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 50% และเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปอีก 3 ตำแหน่งเลย เพราะเขาเห็นว่าดิฉันทำงานดี และอธิบายว่าที่ตอนแรกต้องให้แบบนั้นเพราะว่าดิฉันไปเรียนหนังสือมาอย่างเดียว มีความรู้ด้านวิชาการเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้ดีกว่าคนที่อยู่กับบริษัทถึง 5 ปี จะวัดได้อย่างไรว่าประสบการณ์ 5 ปีของการทำงานที่ตรีเพชรฯ กับการไปเรียนเมืองนอกมันควรจะได้เท่ากันหรือสูงกว่า จึงต้องให้เท่ากับคนอื่นที่ไม่ได้ไปเรียนต่อ จนกว่าดิฉันจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่ามีความสามารถเหมาะสมที่จะได้รับเงินมากขึ้นแล้วนั่นแหละ ซึ่งตอนนั้นเขาซื้อใจดิฉันได้เลยค่ะ ดิฉันจึงทำงานกับเขามาจนถึงวันนี้ มันเป็นเรื่องของ Give & Take บริษัทเขาดีกับดิฉันมาก ดิฉันก็ต้องดีกับบริษัทตอบด้วย ดิฉันก็อยู่มาตั้งแต่ปี 1985 จนเป็นรองประธานฯ ณ วันนี้ก็ 20 กว่าปีผ่านไป

“วัฒนธรรมองค์กรของตรีเพชรฯ ไม่ได้เป็นไทยหรือญี่ปุ่นโดดๆ นะคะ แต่เป็นการผสมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาปรับเงินเดือนเลื่อนตำแหน่งเขาไม่ได้ดูเพศ ตอนนี้ดิฉันเป็นบอร์ดเองก็ได้รู้ เขาดูพนักงานทั้งบริษัทค่ะ และไม่สนใจเลยว่าคนนั้นอายุเท่าไหร่และเพศอะไร ดูที่ความสามารถเป็นหลัก ที่นี่ทำงานกันเป็นทีม ทุกคนจะถูกถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรแบบเดียวกัน”

ด้วยเหตุนี้ ทั้งวัฒนธรรมแบบไทยที่มีความอ่อนน้อม และวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีความนบนอบ เมื่อมาผสมผสานกัน ก็ยิ่งทำให้บุคลากรมีความอ่อนน้อมและนบนอบยิ่งขึ้น ซึ่งคุณลักษณะนี้ก็มีให้เห็นอยู่ในตัวผู้หญิงที่ชื่อปนัดดา ที่เธอบอกว่าได้รับการสั่งสอนมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ พร้อมกันนั้น เธอก็ถ่ายทอดสู่ผู้ใต้บังคับบัญชาอีกต่อหนึ่ง

“ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทยมีคำคำหนึ่งที่เหมือนกัน เราเรียกว่า Humber form คือถ่อมตัวให้ต่ำลง และ Honorific form คือยกคนอื่นให้สูงขึ้น ญี่ปุ่นจะคล้ายๆ ไทยคือเวลาพูดกับคนอื่นเราจะยกย่องเขา จำได้ว่าเคยเรียน Plain form หรือฟอร์มธรรมดาภาษาญี่ปุ่น อาจารย์ถามในห้องเรียนว่า ‘เข้าใจรึเปล่าปนัดดา?’ ดิฉันก็บอกว่า ‘รู้แล้ว’ ตอนนั้นกำลังฝึกคำว่า ‘รู้แล้ว’ อยู่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้องบอกว่า ‘เข้าใจค่ะอาจารย์’ แต่ด้วยความที่เรากำลังฝึกคำนั้นอยู่จึงพูดออกไปอย่างนั้น จำได้เลยว่าอาจารย์ทำเสียงสูงเลย
‘คุณหมายความว่า เข้าใจแล้วค่ะอาจารย์ ใช่หรือไม่?!’ หลังจบชั่วโมงก็ถูกอาจารย์เรียกไปถามว่า‘ปนัดดาทำไมถึงพูดแบบนี้ ได้ยินมาตั้งหลายทีแล้ว’ ดิฉันก็บอกว่ากำลังเรียน Plain form กำลังฝึกหัด อาจารย์บอกว่าไม่ต้องหัด จำไว้อย่างเดียว ไม่ต้องหัดพูด ดิฉันก็ถามอาจารย์ว่ามันไม่แปลกเหรอ เพราะว่าในชีวิตประจำวันเขาก็พูดกันแบบนี้ อาจารย์ตอบว่า

“ ‘คุณไม่ได้อยู่ญี่ปุ่น คุณต้องกลับไปเมืองไทย และเมื่อไปทำงานกับคนของมิตซูบิชิคอร์ปอร์เรชั่นที่ทำงานอยู่ที่ตรีเพชรอีซูซุ พวกเขาจะเป็นเจ้านายคุณในระยะแรก คุณจำเป็นจะต้องพูดกับเขาว่า รับประทาน ไปบอกว่า กิน ไม่ได้ แต่ต่อไปเมื่อปนัดดามีตำแหน่งสูงขึ้น มีลูกน้องเป็นคนญี่ปุ่น ทำงานกับคนญี่ปุ่นที่อายุน้อยกว่า คุณก็พูดว่า กิน ได้แล้วละตอนนั้น แต่หากคุณพูดกับลูกน้องว่า ทานข้าวรึยังคะ? เขาจะรู้สึกดีมากเลยว่าเจ้านายให้เกียรติ ไม่มีใครรังเกียจหรอกที่เราพูดเพราะ แต่เวลาเราใช้คำพูดที่ไม่ถูกกาลเทศะมันทำให้เราแย่มาก คุณค่าเราไม่เหลือเลยในสายตาคนอื่นเขา และคุณก็ไม่ใช่เจ้าของภาษา คุณไม่สามารถกดปิด-เปิดเป็นสวิตช์ไฟได้ เพราะฉะนั้นไม่ให้พูด’ “

กระนั้น คนที่อ่อนน้อมเพียงอย่างเดียวก็หาใช่จะทำประโยชน์ให้บริษัทได้สูงสุด คุณปนัดดาบอกว่ามีอีกหลายคุณลักษณะที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำงาน ซึ่งเธอเองก็ได้รับการสอนสั่งจากผู้ใหญ่และจำมั่นตลอดมา

“เรื่องของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์คือคุณสมบัติที่ต้องมีค่ะ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร งานบัญชีก็ต้องมีความคิดริเริ่มว่าทำบัญชีอย่างไรเจ้านายถึงจะอ่านงบฯ ของคุณเข้าใจ

“ต่อมาคือ Devotion คุณต้องเสียสละมากในการทำงานให้กับบริษัท คุณต้องทุ่มเทเพื่อองค์กร ผู้บังคับบัญชาสอนดิฉัน โดยให้คิดว่าตรีเพชรอีซูซุเป็นบริษัทของดิฉันเอง ทุกคนเป็นเจ้าของบริษัทหมด ฉะนั้น เวลาทำงานต้องคิดว่า ถ้าเป็นเงินในกระเป๋าคุณ คุณจะจ่ายไหม? ถ้าคิดว่าเงินบริษัทจ่ายเลยไม่เป็นไร แต่เงินฉันคิดก่อน อย่างนี้ไม่ต้องมาทำ เขาบอกดิฉันแบบนี้

“เหมือนที่คุณพ่อสอนตอนเข้าทำงานใหม่ๆ ก่อนไปญี่ปุ่น จำได้ว่าตอนนั้นกลับไปบอกพ่อว่า เบื่อมากเลยงานบัญชี คุณพ่อบอกให้ถามตัวเองว่า‘ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จะจ่ายเงินเดือนให้กับปนัดดาเท่ากับที่ดิฉันได้รับอยู่หรือไม่’ ถ้าดิฉันตอบว่าจ่าย ก็ให้ประพฤติตัวอย่างนี้ต่อไป แต่ถ้าดิฉันตอบว่าเรื่องอะไรจะจ่าย ทำงานไม่คุ้มสตางค์เลย วันๆ หนึ่งเดินไปเดินมาไม่เห็นได้ทำอะไร อย่าได้ทำแบบนั้น!

“สำหรับตัวดิฉันในทุกวันนี้ ครึ่งหนึ่งในชีวิตที่เป็นแบบนี้ก็จากพ่อแม่ที่สอนมาแต่เด็ก อีกครึ่งหนึ่งก็มาจากผู้บริหารตรีเพชรอีซูซุ 3 คน คือ ประธานคนปัจจุบันของตรีเพชรอีซูซุ มร.โชกิ เป็นผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดที่สุด มร.นาเบชิมา ตอนนี้เป็นรองประธานมิตซูบิชิคอร์ปอร์เรชั่นที่โตเกียว และ มร.ชินทานี อดีตประธานตรีเพชรอีซูซุ ตอนนี้เป็นรองประธานบริหารของอีซูซุมอเตอร์ประเทศญี่ปุ่น”

และก็เป็น 3 คนนี้อีกเช่นกัน ที่สอนให้คุณปนัดดารู้จักและยอมรับการทำงานเป็นทีม

“เขาสอนให้ดิฉันรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีม ตรีเพชรอีซูซุมีวัฒนธรรมองค์กรคือการทำงานเป็นทีมเวิร์ค ตอนกลับมาใหม่ๆ บริษัทจะเปิดตัวรถปิกอัพตอนครึ่งแบบสเปซแคปซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย ยังจำได้เลยว่าตอนนั้นอยู่ในห้องประชุมเล็กๆ ท่านประธานโชกิบอกดิฉันว่า ปนัดดาก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ไปออกแบบแบบสอบถามเพื่อทำวิจัยตลาด ซึ่งมันเล็กนิดเดียวในโครงการยักษ์ใหญ่ แต่ดิฉันไม่รู้สึกเลยว่ามันเล็ก กลับภูมิใจมากเลยที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการยักษ์ใหญ่ที่จะชี้อนาคตของบริษัท การเปิดตัวรถสเปซแคปทำให้ตรีเพชรอีซูซุรุ่งเรืองมาจนถึงตอนนี้ เป็นรถที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยแม้กระทั่งในปัจจุบัน และรถยี่ห้ออื่นๆ ก็ตามมาทีหลัง ดิฉันภูมิใจมาก ณ ขณะนั้นก็รู้นะว่ามันเล็ก ถ้าเปรียบบริษัทเป็นรถยนต์ดิฉันก็เป็นน็อต แต่ดิฉันภูมิใจเหลือเกินที่เป็นน็อต และก็รู้ว่าแม้น็อตจะหลุดไปก็ไม่เป็นไร เครื่องอาจจะหลวมเล็กน้อยแต่ก็ไม่ถึงกับสะดุด แต่ดิฉันก็จะต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด และถ้ามีน้องใหม่เข้ามาดิฉันก็ต้องสอนน้อง กระจายงานให้น้องเป็นน็อตแทน และดิฉันก็จะเลื่อนไปเป็นตัวอื่นที่ใหญ่กว่านั้น

“ฉะนั้นดิฉันจะไม่ยอมและไม่เคยคิดว่าตัวเองหวงงาน ไม่สนใจหรอกที่จะเก็บไว้ทำคนเดียว ดิฉันเองก็อยากจะทำงานที่ท้าทายซึ่งยากกว่า ท่านประธานฯ เองก็สอนให้เราฝึกฝนงานน้องๆ เขาบอกว่าเราจะไม่มีทางเป็นใหญ่ได้เลยถ้าเราไม่เอางานของเราให้คนเล็กทำ เราหวงงานไม่ให้คนเล็กทำ ไม่เคยสอนให้คนเล็กรู้เลยแล้วเราจะเป็นใหญ่ได้อย่างไร อีกอย่างเขาสอนด้วยว่าถ้าคนเล็กทำงานไม่ดีเราก็ไม่ดีด้วย ไม่ใช่อีโก้ ให้คนอื่นรู้ว่าถ้าปนัดดาทำแล้วไม่เจ๊ง แต่น้องทำเจ๊งอย่างนี้ไม่ได้ น้องเจ๊งดิฉันก็ต้องรับผิดชอบ

“ดิฉันถูกฝึกให้มีวินัยในชีวิตจากคุณพ่อ แต่วินัยในการทำงานดิฉันได้จากผู้บริหาร และดิฉันก็สอนลูกน้องเหมือนกัน นี่คือการส่งต่อจากรุ่นของดิฉันไปสู่รุ่นของลูกน้อง บางทีงานการตลาดเป็นงานที่ต้องใช้เวลาทำมาก บางทีต้องทำหลังเวลางาน ดึกดื่นเราก็ต้องนั่งทำ จะเปิดตัวรถก็ต้องทำ ตีสองเราก็ต้องอยู่ หกโมงก็ต้องมาทำงาน ทำแบบนี้ไม่ใช่วันเดียวแต่ทำติดๆ กันเป็นอาทิตย์”
แม้จะเน้นเรื่องการทำงานเป็นทีม แต่หากทีมปราศจากผู้นำที่ดีและมีความสามารถแล้ว ก็ยากที่ทีมจะทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งถึง ณ ตรงนี้ ย่อมชัดเจนว่า ผู้หญิงที่ชื่อปนัดดาคือผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ด้วยคุณสมบัติหลากหลาย ทั้งความมีวินัย ตั้งใจมุ่งมั่น มั่นใจในตัวเอง ใจกว้าง และอ่อนน้อม ทำให้ทีมทำงานออกมาได้ประสบผลสำเร็จ แต่ก็นั่นเอง เมื่อเปรยถ้อยนี้ให้คุณปนัดดาฟัง ต่อมความอ่อมน้อมในตัวเธอก็ทำงาน

“ต้องยอมรับค่ะว่าดิฉันมีผู้บังคับบัญชาที่ดีมากและมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีมากด้วย มันไม่ใช่ความสำเร็จของดิฉันคนเดียว ดิฉันจะยืนอยู่ในจุดนี้ไม่ได้เลยถ้าลูกน้องทำงานเจ๊ง เป็นไปไม่ได้ ใครเขาจะเห็นผลงานของดิฉันถ้ามีแต่ลูกน้องโง่ๆ ไม่มีทางที่ดิฉันจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ผู้ใต้บังคับบัญชาของดิฉันดีมาก เขาทำงานให้กลายเป็นผลงานของดิฉัน เป็นผลงานรวมกันหมด สุดท้ายผู้บังคับบัญชาก็มอง แล้วบอกว่าโอเค ผลงานดีเด่น ซึ่งจริงๆ ความดีเด่นนั้นไม่ใช่ของดิฉันคนเดียว แต่เป็นของพวกเขา

“เป็นโชคดีค่ะที่ตรีเพชรอีซูซุมีคนเก่งเยอะ เจ้านายทั้ง 3 คนบอกกับดิฉันเสมอว่า ความสำเร็จในอดีตและปัจจุบันไม่การันตีความสำเร็จในอนาคต ไม่ได้แปลว่าสิ่งที่เราทำมาเสมอในอดีต ถึงขณะนี้มันจะต้องถูกต้องและเป็นไปได้อย่างเดียวกันในอนาคต คุณจะต้องคอยติดตามสถานการณ์และคิดใหม่ๆ อยู่เสมอ

บางทีเราถูกกลยุทธ์ Copy ลอกแบบ ทุกอย่างที่เราคิดมาถูกบริษัทคู่แข่งทั้งหลายแหล่ลอกไป เช่น การแข่งรถประหยัดน้ำมัน เราเน้นอยู่คนเดียวมาจนตอนนี้ประหยัดน้ำมันหมดทุกคน เราก็ต้องพยายามฉีกรูปแบบออกไป พยายามคิดใหม่ๆ มีน้องเคยบ่นว่าสักวันหนึ่งเราจะจนแต้มรึเปล่า เพราะเราต้องคิดใหม่ตลอดและถูกลอกแบบตลอดเวลา ดิฉันก็เลยบอกว่าสมองคนเรามันไม่น่าจะมีขอบเขตนะ ก็อดทนแล้วกัน พยายามฉีกนิดฉีกหน่อย ใช้สมองของเราต่อไป”

กระนั้น แม้จะรับผิดชอบภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงไม่น้อยหน้าบุรุษเพศ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเธอก็คือผู้หญิงคนหนึ่ง เราจึงสงสัยว่าเธอเคยร้องไห้บ้างหรือเปล่า

“ที่นี่ไม่มีการแบ่งแยกเรื่องเพศค่ะ ดิฉันจำได้ดีเลย เมื่อสมัยที่ดิฉันยังเป็นพนักงานธรรมดาๆ แล้วท่านประธานฯ ที่ตอนนั้นเป็นผู้จัดการ ท่านบอกดิฉันว่าคุณพูดได้ทุกอย่าง ผมยินดีที่จะคุยกับคุณ โต้เถียงกัน 3 ชั่วโมงก็ได้ แต่ห้ามร้องไห้ ถ้าร้องไห้ทุกอย่างจบ เพราะถือว่าคุณเป็นผู้หญิง เอาน้ำตามาเอาชนะ ถ้าร้องไห้ จบ! ไม่มีการพูดอีก (หัวเราะ)

“ถามว่าเคยร้องไห้ไหม เคยค่ะ เพราะปกติดิฉันเป็นคนใจอ่อนมาก เวลาดูหนังเศร้าสงสารตัวละครมากๆ ก็ร้องไห้ แต่ดิฉันไม่ร้องไห้เรื่องงานเพราะถูกสอนมาว่าห้ามร้องไห้ เข้าไปเสนอความคิดหรือเสนองาน ถ้าร้องทุกอย่างจบ ดิฉันก็จะไม่ร้องถ้าถูกตำหนิหรือคัดค้าน แต่พยายามอธิบายต่อไปเรื่อยๆ ว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่สะสมและเรียนรู้มาค่ะ”

กับภาระหน้าที่ที่ใครต่อใครบอกว่าหนักหนาสาหัสเกินกำลังผู้หญิง แต่ 20 กว่าปีที่ผ่านมากระทั่งถึงทุกวันนี้ ปนัดดา เจณณวาสิน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากมุ่งมั่นตั้งใจเสียอย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถทำในสิ่งที่ใครต่อใครคิดว่าไม่น่าทำได้สำเร็จ ให้สำเร็จได้อย่างงดงาม ความสามารถและความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอการันตีด้วยรางวัล “นักบริหารดีเด่น ปี 2548 สาขาธุรกิจยานยนต์” รวมทั้งฉายา “หญิงเหล็กแห่งวงการยานยนต์” ที่ผู้ชื่นชมอยู่รอบข้างพร้อมใจมอบให้เธอ หญิงเหล็กน้ำใจงามคนนี้ ผู้ประกาศชัดถึงความพร่าเลือนและสั่นคลอนของสถานะของฟ้าในฐานผู้กำหนดและแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างชาย-หญิง ก็ในเมื่อศักดิ์และสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์หาได้วัดกันที่ความเป็นชายหรือหญิง หากวัดคุณค่ากันที่เจตนาและการกระทำ ปนัดดา เจณณวาสิน ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว ว่าแน่แค่ไหน

กระนั้น ปรัชญาที่ว่า ไม่เคยมีใครในโลกที่สมบูรณ์พร้อมทุกสิ่ง ก็ยังใช้ได้ตลอดแม้ในทุกวันนี้ ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ณ ปัจจุบันอาจทำให้ปนัดดามีสถานะดั่งเพชรที่มีแต่คนชื่นชมว่างาม ว่ามีคุณค่า แต่เมื่อถามเธอถึงสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ตั้งใจ เธอบอกว่าคือลูกทั้ง 2 คน

“ดิฉันอาจจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนะคะ คนอาจจะเห็นว่าดิฉันเก่งมาก เป็นผู้หญิงเก่ง เป็นหญิงเหล็กเหมือนกับที่หนังสือพิมพ์ชอบเรียกดิฉันโดยเฉพาะสายรถยนต์ แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันทำหน้าที่ได้ไม่ดีคือการเป็นแม่ที่ดีของลูก ดิฉันน่าจะมีเวลามากกว่านี้ในการทำหน้าที่เป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นเรื่องหนึ่งที่ดิฉันเสียใจลึกๆ แต่เผอิญดิฉันโชคดีที่ลูกเป็นเด็กที่ดีมาก ดิฉันว่าดิฉันเป็นหนี้บุญคุณที่เขาเกิดมาเป็นลูก (หัวเราะ) เขาไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณที่ดิฉันเป็นแม่ของเขา แต่ดิฉันต่างหากเป็นหนี้บุญคุณที่มีเขาเป็นลูก

“ลูกสาวดิฉันทั้ง 2 คนเป็นเด็กดีทั้งคู่ค่ะ มีความรับผิดชอบสูงมากและเรียนหนังสือเก่งทั้งคู่เลย ทำให้ดิฉันไม่ต้องมีภาระใดทั้งสิ้น เพียงแต่ถ้าดิฉันมีเวลามากกว่านี้และจัดสรรให้เขาได้มากกว่านี้ เขาก็น่าจะเก่งมากกว่านี้เยอะเลย เป็นเรื่องเดียวที่ทำไม่ค่อยได้

“ดิฉันกลับบ้านเย็นทุกวัน ลูกก็ถามว่าทำไมแม่ต้องกลับมาบ้านพร้อมจันทร์เจ้าทุกวันเลย ดิฉันเจ็บปวดมากเลยค่ะ เขาคงเห็นว่าแม่ข้างบ้านกลับบ้านก่อน แต่แม่เราต้องรอพระจันทร์ขึ้นถึงจะกลับมา ดิฉันก็บอกว่าต้องทำงานเพื่อจะหาเงินมาให้เขาใช้ มาให้เรียนหนังสือ ให้เขาไปเที่ยว ฯลฯ

“บางทีกลับไปถึงบ้านตีสองแล้วเพราะงานเสร็จดึก ดิฉันเห็นการบ้านลูกวางอยู่ เป็นคุณจะให้ทำอย่างไร จะบอกว่าไม่ตรวจเหรอ ก็ต้องตรวจ ทำต่อไปถึงตีสามแล้วค่อยนอนเพราะเป็นความผิดของดิฉันเองที่ควรจะต้องกลับมาตั้งแต่ 6 โมงเย็น เพราะฉะนั้นต้องรับผิดชอบ บางครั้งรู้สึกเลยว่าจะหมอบอยู่แล้ว แต่เขาเป็นลูกของดิฉัน จึงจำเป็นต้องทำเพื่อให้ชีวิตของเขาที่จะอยู่เป็นลูกของดิฉันและสามีดิฉันเป็นช่วงชีวิตที่สวยงาม เวลาที่เขาโตขึ้นอาจจะมีอุปสรรคมากมายทั้งการงาน ครอบครัว อะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีอุปสรรคเขาก็อาจจะนึกถึงชีวิตในอดีตซึ่งตอนนั้นดิฉันอาจจะไม่อยู่แล้ว ดิฉันบอกเขาว่า‘แล้วหนูจะรู้สึกว่าหนูโชคดีที่ได้เกิดเป็นลูกของพ่อกับแม่ แล้วช่วงชีวิตที่หนูอยู่กับพ่อกับแม่นั้นมีแต่ความสวยงาม หนูมีแต่ความสุข เป็นกำลังใจให้เราต่อสู้กับอุปสรรคได้เพราะว่าเรามีชีวิตที่ดีมาแล้ว’

“ตอนนี้ลูกเป็นทรัพย์สมบัติที่มีค่าเหลือเกินสำหรับดิฉัน มากกว่าแก้วแหวนเงินทอง ดิฉันเห็นเขาแล้วก็ภูมิใจมากๆ บางทีเขาหลับแล้วก็ไปดูเขา และจริงๆ ก็นึกทุกครั้งเลยว่าแม่โชคดีเหลือเกินที่หนูเกิดมาเป็นลูกแม่ คิดอย่างนั้นและก็จะจูบเขาทุกครั้งตอนเขาหลับ”

อาจเป็นธรรมดาของเพชร ที่กว่าจะสะท้อนแสงเจิดจรัสรัศมี ต้องผ่านการเจียระไนรอบแล้วรอบเล่า จนสูญเสียเศษเสี้ยวบางส่วนของตนไป บางทีนี่ก็อาจเป็นสิ่งที่เพชรอย่างปนัดดาต้องประสบพบพาน…

หรืออาจเป็นเพียงบททดสอบอีกครั้งของเพชร ที่ต้องผ่านพบแดดร้อน สายฝน และลมหนาว ไปสู่ความแกร่งและงามอย่างสมบูรณ์เท่าที่โลกพึงจะให้สมบูรณ์ได้

Related contents:

You may also like...