ประดิษฐ ปราสาททอง

Art Connection

“สาระของละครไม่ใช่การคงผลงานของตัวเองไว้นาน100 ปี แต่อยู่ ณ เวลาที่ศิลปินกำลังทำการแสดงต่อหน้าผู้ชม ว่าก่อให้เกิดการขับเคลื่อนพุทธิปัญญา และความอิ่มเอมใจกับผู้ชมอย่างไรบ้าง”

ทันทีที่ก้าวผ่านประตูเข้ามาสู่ ‘มะขามป้อมสตูดิโอ’ พร้อมคำขอโทษขอโพยยกใหญ่ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ.2547 ประดิษฐ ปราสาททอง ก็ยื่นห่อขนมหวานรูปร่างน่ารักของฝากจากญี่ปุ่นมาให้ นัยว่าไถ่โทษที่มาสาย (กว่าเวลานัดไม่ถึง 5 นาที)

บุคลิกกระฉับกระเฉง สดใส สุภาพทว่าเฉียบขาดเมื่อออกคำสั่งเด็กๆในสตูดิโอนั้น ล้วนฉายให้เห็นความเป็นศิลปินขนานแท้และนักจัดการศิลปะมือฉมังของเขา ทำให้การสนทนาครั้งนี้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เราเริ่มการสนทนาด้วยการค้นหาความหมายของความ ‘ร่วมสมัย’ ในแง่มุมของละครเวที

“ผมไม่ได้ยึดติดกับรูปร่าง แต่ให้ความสำคัญกับสาร ว่าเขากำลังพูดอะไรกับใครอยู่ หากเขามีสารที่ก่อให้เกิดการแตกหน่อต่อยอดทางความคิดหรือก่อให้เกิดความอิ่มเอมเอมทางอารมณ์ ผมก็มองว่านั่นคือความร่วมสมัย บางคนบอกว่าลิเกมันล้าสมัยไปแล้ว แต่ผมมองว่าหากลิเกยังพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน เช่น นำเสนอเรื่องราวของปัญหาสังคมที่คนปัจจุบันเผชิญอยู่ คนดูรับรู้ได้ว่านี่คือสิ่งที่เขาพบอยู่ทุกวัน เขาจะแก้ไขได้อย่างไร อันนั้นล่ะร่วมสมัย…

ผมเปิดกว้างให้ทุกสิ่งทุกอย่างมาผสมกัน พยายามจะใช้สื่อหลากหลายรูปแบบมาเชื่อมโยงกัน ทั้งเชื่อมเนื้อหา กลุ่มคนดู และสังคมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นการแสดงของผมถึงแม้มันจะเป็นโขน เป็นลิเก แต่คุณจะเห็นความร่วมสมัยอยู่ในนั้น

…ผมมองว่าศิลปะการละครมีเกิด ตั้งมั่น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นสาระของละครไม่ใช่การคงผลงานของตัวเองไว้นาน100 ปี แต่มันอยู่ ณ เวลาที่ศิลปินกำลังทำการแสดงต่อหน้าผู้ชม ว่าก่อให้เกิดการขับเคลื่อนพุทธิปัญญา และความอิ่มเอมใจกับผู้ชมอย่างไรบ้าง ข้อเสียคือเราไม่สามารถเก็บรักษาคุณค่าเหล่านั้นไว้ได้ เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะลบเลือนไปตามกาลเวลา “
ในฐานะผู้นำเครือข่ายละครกรุงเทพ ผู้จัดงาน “เทศกาลละครกรุงเทพ” เทศกาลซึ่งเปิดโลกของละครเวทีเข้าสู่การรับรู้และสนใจของสังคม ประดิษฐแสดงทัศนะเกี่ยวกับชีวิตวงการมายาหน้าม่านไว้อย่างน่าสนใจ

“…ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมถือว่าวงการละครเติบโตขึ้นมาก แต่เราก็ต้องยอมรับว่าละครเวทีไม่ใช่สื่อของมวลชน มันเป็นศิลปะเฉพาะกลุ่ม คือเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบ สร้าง และเสพศิลปะประเภทเดียวกัน

…ปัญหาคือคนชอบเอาละครไปเปรียบเทียบกับสื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ ซึ่งมันเทียบกันไม่ได้ ละครป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์โดยไร้เทคโนโลยีใดๆกั้น เพราะฉะนั้นละครเวีจึงมีอานุภาพในเชิงลึก แต่ว่าด้อยอานุภาพในเชิงกว้าง ในขณะที่โทรทัศน์ไปได้ในวงกว้าง แต่มีข้อจำกัดของเวลาและการปะทะสังสรรค์โดยตรง มันจึงสื่อสารได้ไม่ลึกเท่าเรา”
ต้องยอมรับกันว่า สังคมปัจจุบันวัดคุณภาพของละครแต่ละเรื่องที่โปรดักชั่นและการประชาสัมพันธ์

“ผมไม่ตำหนิผู้สร้างหรือผู้ชมเหล่านั้นเลย แต่คงต้องขอตำหนิสื่อที่เสนอข้อมูลด้านเดียว ที่จริงมันต้องมีการละพื้นที่เอาไว้ให้กับศิลปะทางเลือกซึ่งหมายถึงศิลปะที่ไม่ใช่งานกระแสหลักของสังคมบ้าง ผมวิงวอนอยู่เสมอว่าหากสื่อมวลชนละพื้นที่ไว้ให้สื่อทางเลือกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้วงการศิลปะเราพัฒนาไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง และซึมลึกไปสู่จิตวิญญาณของสังคมได้ ให้เขารู้ว่าโลกนี้ก็ยังมีงานศิลปะแบบที่เขาไม่เคยรู้ไม่เคยชม และน่ารู้ น่าชม อยู่อีก ในขณะที่สื่อก็จะได้ประโยชน์เพราะเท่ากับคุณเสนอเนื้อข่าวที่หลากหลาย

”ผมมองว่าศิลปะมันมีชั้นในตัวของมันเอง และผู้เสพก็แบ่งชั้นการเสพของตนตามชั้นของศิลปะ นั่นเป็นคำตอบบางคนไม่ไปดูลิเกตามตลาด เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเขา และหลายคนก็ไม่อยากไปโรงละครเพราะเมื่อเข้าไปแล้ว ทำให้เขาถูกข่มด้วยความอลังการของสถานที่ ทำให้เขาดูต่ำต้อย ดูยากจน แต่ผมก็ยังเชื่อว่าสังคมหรือแม้กระทั่งวงการศิลปะจะเดินไปข้างหน้าได้ ก็ต่อเมื่อชนชั้นทั้งหลายมองเห็น รับรู้ และยอมรับซึ่งกันและกันเสียก่อน” ประดิษฐกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

Related contents:

You may also like...