มาซาโกะ ฮิราตะ

Director Bangkok City Ballet

ท่วงท่าอันอ่อนช้อยงดงามทว่าทรงพลังของการแสดงบัลเลต์ ทำให้มาซาโกะ ฮิราตะ Director Bangkok City Ballet หลงใหลจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่จุดประกายความเป็นครูให้รุ่งโรจน์ขึ้นในใจ และตอนนี้เธอก็ได้ถ่ายทอดความรักในศิลปะแขนงนี้ในเมืองไทยมากว่า 10 ปีแล้ว

“ดิฉันเริ่มเรียนบัลเลต์ ตอนอายุ 7 ขวบ ตอนแรกไม่ได้สนใจบัลเลต์เป็นพิเศษ แต่เห็นเพื่อนเรียนจึงอยากเรียนด้วยเพื่อที่จะได้ใช้เวลาว่างร่วมกัน จะว่าเป็นความโชคดีของคนใน Generation ของดิฉันก็ได้ ที่สมัยนั้นเศรษฐกิจในญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู ความนิยมที่เด็กผู้หญิงและผู้ชายจะเรียนบัลเลต์และเปียโนจึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง”

แต่เมื่อยิ่งเรียนก็ยิ่งหลงเสน่ห์ เธอจึงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางแห่งศิลปะการแสดงอันงดงามนี้ต่อไป ด้วยการตัดสินใจเข้าเรียนบัลเลต์จาก Tachibana Ballet Academy สถาบันบัลเลต์ที่มีชื่อเสียง ภายใต้การดูแลจาก Asami Maki Ballet Company

“ปี 1989 ดิฉันย้ายตามสามี ซึ่งเป็นนักธุรกิจเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ในเวลานั้นมีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาทำธุรกิจที่นี่และมีความต้องการให้ลูกๆได้เรียนบัลเลต์ เพื่อนๆบางคนที่ทราบว่าดิฉันจบทางด้านบัลเลต์มา ก็มาขอร้องให้ช่วยสอน แรกๆก็สอนเฉยๆ พอนานเข้าจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงเปิดเป็นสถาบันสอนบัลเลต์ ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1996

นักเรียนส่วนมากที่นี่เป็นนักเรียนญี่ปุ่น มีคนไทยบ้าง ดิฉันชอบสอนคนไทยนะคะ คนไทยมีสรีระที่เหมาะกับการเรียนบัลเลต์ และมีสมาธิในการเรียน แต่ถ้าเทียบจำนวนนักเรียนไทยที่มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนอย่างจริงจัง ถึงขนาดเป็นนักบัลเลริน่าอย่างคนญี่ปุ่น ก็คงต้องตอบว่าคนไทยยังไม่จริงจังถึงขั้นนั้น อาจเป็นเพราะบัลเลต์เป็นเรื่องใหม่และในประเทศไทยมีงานแสดงให้ดูน้อย เด็กไทยจึงขาดแรงบันดาลใจผลักดันให้เขาเป็นนักบัลเลต์อาชีพ และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจก็เป็นได้

อันที่จริงบัลเลต์ก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลดีต่อร่างกาย แต่ก็ต้องเต้นให้ถูกหลัก ซึ่งดิฉันจะให้ความสำคัญตรงจุดนี้มาก เพราะไม่อยากให้นักเรียนบาดเจ็บหรือมีสุขภาพไม่ดีเมื่อมีอายุมากขึ้น เนื่องจากฝืนใช้ร่างกายอย่างหักโหมและไม่ถูกวิธี เพียงเพื่อที่จะเต้นบัลเลต์ได้ดีที่สุดแค่ในช่วงหนึ่งของชีวิต แต่กลับต้องมาเจ็บตัวหลังจากนั้น

นอกจากนี้การเรียนบัลเลต์ยังทำให้เด็กๆได้เรียนรู้มารยาทและการเข้าสังคมด้วย เช่น เมื่ออยู่กับเพื่อนหรือเวลาเจอผู้ใหญ่ควรทำตัวอย่างไร เมื่อมาเรียนจะต้องตรงต่อเวลา เมื่ออยู่ในห้องเรียนต้องตั้งใจเรียน และรับผิดชอบต่อตัวเองและคนอื่นในการมาซ้อมแสดง เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ครูทุกคนของที่นี่พยายามสอดแทรกเข้าไปในการเรียนการสอน

ตามความเห็นของดิฉัน ถึงแม้ว่าในขณะนี้คนญี่ปุ่นเข้าถึงบัลเลต์ได้มากกว่าคนไทยก็จริง แต่ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นับว่าคนไทยให้ความสนใจบัลเลต์มากขึ้น และยังเปิดกว้างยอมรับอะไรใหม่ๆได้ง่ายกว่า แต่ปัญหาคือ ในเมืองไทยยังมีโรงละครน้อยและค่าเช่าแพง ในขณะที่ญี่ปุ่นนั้นจะมีโรงละครทุกเขตอำเภอ ดังนั้นหากโรงละครใดไม่ว่าง ก็ยังคงมีโรงละครอื่นๆรองรับการแสดงได้ รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนวงการศิลปการแสดงเป็นอย่างมาก แม้แต่ค่าเช่าโรงละครก็ลดหย่อนให้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาช่วยกันสร้างงานศิลปะ

สิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จอันสูงสุด คือการได้เห็นนักเรียนของเราเจริญเติบโตขึ้น พร้อมกับมีความสุขในการเต้นบัลเลต์และเต้นได้อย่างถูกวิธี หากพวกเขาสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นนักบัลเลริน่าหรือเป็นครูได้ ก็จะดีมาก แต่สิ่งที่น่าปลื้มที่สุดคือ การที่จะได้เห็นประเทศไทยมีคณะการบัลเลต์ประจำชาติเป็นของตัวเอง และจัดการแสดงขึ้นอย่างจริงจัง หากมีนักเรียนจากบางกอกซิตี้บัลเลต์เพียงสักคนได้ร่วมแสดงและเต้นได้ดีในการแสดงนั้น แค่นี้คนเป็นครูได้ดูก็คงมีความสุขมากแล้ว” มาซาโกะกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

Related contents:

You may also like...