ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง
ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ใน การเมืองนอกพงศาวดารรัชกาลที่ 5 ( เสด็จประพาสยุโรป ) ถึงชะตากรรมของช้างไทยที่ส่งไปบรรณาการแด่จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส พร้อมภาพวาดลายเส้นจุดจบของช้างไทยซึ่งถูกทหารฝรั่งเศสใช้ปืนยาวยิงเข้าที่ส่วนหัว ซึ่งนำมาจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฝรั่งเศสในยุคสิ้นรัชสมัยนโปเลียนที่ 3 โดยเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ชะตากรรมช้างไทยในต่างแดน สอดรับกับภารกิจการเรียกร้องให้ระงับการส่งช้างไทยไปต่างประเทศในระดับรัฐบาลในช่วงเวลานี้
น้อยคนนักที่บอกว่ารักช้างเป็นห่วงช้างแล้วจะทุ่มเทกำลังกายกำลังความสามารถให้กับการทำงานเพื่ออนุรักษ์ช้าง บ้างบอกว่าช้างเป็นสัญลักษณ์ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของเรามาแต่โบราณกาล ถึงเวลาที่เราจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ช้างเพื่อไม่ให้ลดจำนวนลง แต่ลิ้นไม่มีกระดูก การกระทำต่างหากที่พิสูจน์คำพูดและปณิธาณของคนที่บอกว่ารักช้างได้ดีว่าเป็นความจริง แต่สำหรับโซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง ทุกครั้งที่มีข่าวคราวเกี่ยวกับช้างสัตว์ใหญ่ซึ่งมิอาจร้องขอความเห็นใจจากมนุษย์ จะมีชื่อของโซไรดา นักอนุรักษ์ช้างปรากฏอยู่แทบทุกครั้ง ส่งผลให้เธอได้รับรางวัล สตรีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเด่น ในงานมอบรางวัลสตรีดีเด่นในปี 2548
“ สถานการณ์ของช้างไทยอยู่ในขั้นวิกฤตมาก ตอนนี้ยิ่งวิกฤตมากขึ้น นึกว่าจะดีขึ้นแต่มันก็ไม่ดี เพราะว่ายังมีการเอื้อให้มีการส่งช้างออกไปต่างแดน ต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมูลนิธิเพื่อนช้างก็ชี้ให้เห็นว่าลูกช้างบางส่วนนั้นไม่ใช่ช้างบ้าน และช้างบ้านที่เกิดนั้นแน่นอนมันเกิดที่บ้าน แต่ก็ไม่ได้มากพอชนิดที่เรียกว่ายั้วเยี้ย ขอโทษนะคะต้องใช้คำนี้ เต็มไปหมดเลย เราถามว่ามาจากไหน พอถามหาแม่ช้างก็บอกว่าตายบ้าง หาตัวไม่ได้บ้าง อันนี้เป็นประเด็นที่สงสัยมานานไม่ใช่เพิ่งจะเกิด
“ และเราก็ค้านเรื่องการสวมตั๋ว เป็นประเด็นที่พูดอยู่เสมอตั้งแต่ปี 2536 ขอให้มีการขึ้นทะเบียนช้างใหม่ทั้งประเทศ และการตรวจตั๋วรูปพรรณช้างให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพราะว่าช้างย่างเข้าปีที่ 8 ถึงจะมีตั๋วรุปพรรณ หรือใครจะไปจดก่อนก็ได้กฎหมายไม่ห้าม แต่ว่ามันทำให้เอื้อกับช้างเล็กๆ นั้นออกจากป่ามาไม่จำเป็นต้องมีตั๋ว เดินทางไปนู่นไปนี่แล้วก็บอกว่าจะไปหาแม่บ้าง หรืออะไรก็ตามแต่ มันทำให้คนที่จ้องจะทำสิ่งเหล่านี้ทำได้ ก็น่าจะหยุดช่องทางเหล่านั้นซะ ก็ดีใจว่าทางภาครัฐจะปรับปรุงการขึ้นทะเบียนช้าง ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณภาครัฐที่อยากจะให้เป็นผลในเร็ววัน ”
“ ถูกพยายามฆ่าหลายครั้ง ไม่ใช่แค่ปองร้าย แต่ลงมือเลย สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นตัวบั่นทอนให้หยุดหรือชะลอ เพราะตัวเองทำงานแข่งกับเวลาอย่างมาก สุขภาพของตัวเองก็ไม่ดีมาตั้งแต่เกิด นอกจากแข่งกับตัวเองแล้วก็คือแข่งกับโอกาสที่ช้างจะตาย ถ้าเราเร็วกว่านั้นอีก 5 วินาทีช้างอาจจะรอด หรือว่าทำไมเขามาปิดกั้นโอกาสของเราที่จะไปช่วยช้างทำให้เราช่วยไม่ได้ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก ฉะนั้นการที่จะฆ่าให้ตายนั้นง่ายมาก ไม่ได้กลัว ไม่กลัว ไม่ใช่ว่าประมาทนะคะ ได้รับคำเตือนอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องมีคนดูแลความปลอดภัยบ้างสุดแท้แต่โอกาสจะเอื้อ ”
“ เชื่อไหมคะไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองทำงานประสบความสำเร็จ ยังคิดอยู่ว่าเดินมาไม่กี่ก้าวและไม่รู้อีกตั้งเท่าไหร่ยังไปไม่ถึงไหน ไกลมาก มีท่านหนึ่งท่านบอกไว้เมื่อไม่นานี้เอง คุณเสริมคุณนั่นเอง บอกว่า คุณโซ อย่าคิด อย่ามองว่าคุณโซไม่ได้ทำอะไร ต้องมองว่าคุณโซทำอะไรมาแล้วบ้าง ตรงนั้นทำให้ฉุกคิดนะคะว่าที่ทำมามันทำมาแล้วจริงๆ เพราะตัวเองมองไปข้างหน้าโดยลืมมองว่าตนเองทำอะไรมาแล้วบ้าง
“ ก็มีคนเตือนสติว่าให้มองย้อน ฉะนั้นจริงๆ แล้วตั้งแต่ตั้งมูลนิธิมาเมื่อปี 2536 เอาเอกสารเก่าๆ มาอ่านอยู่เรื่อยๆ นะคะ เพื่อเรียกพลังใจกลับมา บางทีดูๆ เทปเดิมและคอยดูว่าสัญญาอะไรไว้ได้ทำสิ่งเหล่านั้นหรือ ได้คำตอบว่าทำ ทำแล้วครบไหม ? ครบ แต่บางเรื่องมันอาจจะทำได้ดีกว่านั้นแน่นอนเพราะถ้าแปรมันเป็นอย่างอื่น
“ ฉะนั้นถามว่าประสบความสำเร็จไหม ไม่คิดว่าเป็นการประสบความสำเร็จ แต่ต้องขอบคุณสื่อมวลชนอย่างมาก ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของโซไรดาเองไปยังคนไทย เพราะตัวเองมีโอกาสสื่อตรงน้อยมาก อาจจะเจอบ้าง แต่ก็ไม่สามารถจะคุยพร้อมกันทุกคน ได้เหมือนกับที่ประชาชนได้มีโอกาสดูจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งเผยแพร่ออกไปยังประเทศต่างๆ ฉะนั้นรางวัลที่มีผู้ให้ดิฉันก็เรียนว่าไม่ใช่ของตัวเอง เพราะทำงานคนเดียวไม่ได้ ก็บอกลูกน้องบอกทุกคนว่ารางวัลนี้ไม่ใช่ของครูคนเดียว แต่เป็นของพวกเราทุกคน และจริงๆ ก็คือของประชาชนทุกคนที่บริจาคให้เราทำงานได้ ”
“ บางทีเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งประชาชนท่านก็เดินมามาขอจับมือ และบอกว่าเป็นกำลังใจให้ แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ พอเห็นเราก็แกจำได้ มาบอกว่าคุณป้าขา โม่ตาลาเป็นยังไงบ้างคะ เราก็ถามว่าหนูจำได้เหรอคะ เด็กตอบว่าได้ค่ะ บางคนไม่เท่านั้นเจอในงานนิทรรศการ แกมาแตะที่แขน เป็นเด็กผู้ชาย และถามว่าอาจารย์เหนื่อยไหมครับ เด็กคนนั้นอายุประมาณสัก 7-8 ขวบเอง เชื่อไหมคะน้ำตาแทบร่วง ว่าเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมาแตะและถามว่าอาจารย์เหนื่อยไหมครับ ซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน อันนี้ก็เป็นการเพิ่มพลังใจ แต่หมอประจำตัวท่านก็เตือนอยู่ตลอดว่าใจสู้ก็ดีอยู่ แต่ร่างกายไม่ไหว หนูต้องพักให้มาก ก็เกิดความเครียดค่อนข้างสูงเพราะว่าทำงานไม่ทัน อุปสรรคมาก ก็ท้อนะคะ ”
“ ต้องเรียนว่าน้อยใจกับหน่วยงานของรัฐในภาพรวมนะคะ บางส่วนนั้นบางท่านไม่สามารถแสดงตัวว่าท่านเห็นด้วยกับสิ่งที่มูลนิธิเพื่อนช้างได้นำเสนอไว้ การแก้ไข หรือวิธีป้องกัน ฯลฯ อันนี้ก็ต้องขอบคุณที่ท่านเมตตาอยู่ลึกๆ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่สามารถแสดงออกได้ อาจจะลำบากนะคะ ก็ยังเชื่ออยู่ว่าภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องท่านคงทราบอยู่ว่าสิ่งที่มูลนิธิเพื่อนช้างนำเสนอผลงานทั้งหลายทั้งปวงก็เพื่อผลประโยชน์ต่อช้าง ต่อสังคมไทย และต่อประเทศชาติ ไม่ให้ใครเขามาประณามว่าเราว่าคนไทยป่าเถื่อนอย่างที่เขาว่าอยู่ ”