วินทร์ เลียววาริณ

นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2540

จาก นวนิยาย “ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ” และ ปี 2542 จากรวมเรื่องสั้น “ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ” อะไรที่ทำให้คุณเริ่มเป็นนักเขียน และอะไรที่ทำให้คุณยังเป็นนักเขียน หากตอบแบบนักจิตวิทยา บางทีสิ่งที่ทำให้เป็นนักเขียนอาจเกิดจากการอ่านหนังสือมากมายในวัยเด็กก็ได้ ทำให้เป็นคนชอบจินตนาการเพ้อฝัน และเลยจับปากกาในที่สุด แต่มันอาจกลับกันก็ได้ ผมอาจเป็นคนที่ชอบเพ้อฝันมาก่อน เลยทำให้ชอบอ่านหนังสือ และจับปากกาในที่สุด ทั้งที่แต่ไหนแต่ไร ไม่เคยคิดจะเขียน หรือเชื่อว่าตัวเองเขียนได้ มันเหมือนสัญชาตญาณมากกว่า คืออยู่ดีๆ วันหนึ่งก็หยิบปากกาขึ้นมาเขียนเลย แปลกเหมือนกันสิ่งที่ทำให้ยังเป็นนักเขียนอยู่ทุกวันนี้ก็คงโชคดีที่ไฟจินตนาการกองนี้ยังไม่ดับ ยังอยากระบายความคิดความเห็นความรู้สึกภายในออกมาในรูปของวรรณกรรม เว่อร์ไปไหมหากบอกว่าวันไหนไม่ได้เขียนเหมือนชีวิตขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง

คำว่า “นักเขียน” ในทัศนะของคุณต้องมีคุณลักษณะอย่างไร และใครคือ “ต้นแบบ” ในการเขียนหนังสือของคุณ
ผมว่านักเขียนก็คือคนเขียน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดี หรือคนที่เสียสละเพื่อสังคม หน้าที่ของนักเขียนก็คือเขียนเป็นหลัก ไม่ใช่พูดเป็นหลัก คุณสมบัติของนักเขียนไม่ได้วัดกันที่ความประพฤติ แต่อยู่ที่ผลงาน
อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่า นักเขียนที่ดีน่าจะมีคุณสมบัติของการมองโลกอย่างลึกซึ้ง ไกลกว่าคนทั่วไปบ้าง อ่อนโยน มีความโรแมนติก (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องรักใคร่) เข้าใจโลกและชีวิต ผมว่าเราสามารถที่จะสัมผัสแตะต้องตัวตนของนักเขียนได้จากงานที่ดีของเขา

สำหรับผม งานเขียนทุกชิ้นเป็นครูของผมทั้งนั้น เรียนรู้ทั้งจุดที่ดีและไม่ดี ผมถืองานเก่าๆ ที่อ่านเป็นบทเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานที่สังคมบอกว่าห่วยขนาดไหน

ปณิธานสูงสุดในฐานะ “นักเขียน” ของคุณคืออะไร และถึงวันนี้คุณทำได้สมปณิธานที่คุณตั้งไว้หรือยังผมไม่ใช่คนมักใหญ่ใฝ่สูงอะไร วันแรกที่จับปากกาเขียนหนังสือ แค่รู้ว่าเรื่องสั้นที่เขียนได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารสักฉบับก็ดีใจมากแล้ว ดังนั้นเมื่อมองตัวเองในวันนี้ ก็นับว่ามาไกลเกินปณิธานไปหลายกิโลฯแล้ว
ความจริงหากสามารถตั้งปณิธานอีกสักข้อ ก็อยากจะเขียนหนังสือดีๆ ได้จนวันตาย โดยที่ยังไม่หมดความอยากในการเขียน เหมือนอา ‘ รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ หากผมสามารถหัวใจวายตายคาต้นฉบับขณะทำงานอยู่ ก็ถือว่าสมใจยิ่งนัก!

ในทัศนะของคุณ สิ่งสำคัญที่สุดที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งพึงมี คืออะไร และทำไม
วรรณกรรมเป็นศิลปะชนิดหนึ่ง และศิลปะเป็นเรื่องนานาจิตตัง แต่ละคนมองมันไม่เหมือนกัน การติดตราว่าวรรณกรรมชิ้นหนึ่งดีกว่าอีกชิ้นหนึ่ง ก็เป็นเพียงมุมมองส่วนตัวของคนมองเท่านั้น

สมัยเด็กๆ ผมอ่านหนังสือหลายเล่มแล้ว ‘ อิน ‘ กับมันมากๆ รู้สึกว่านั่นเป็นหนังสือที่วิเศษที่สุดในโลก เมื่อโตขึ้นมีโอกาสอ่านเล่มเดิมนั้นอีกหน กลับรู้สึกว่ามันแย่มากๆ จนนึกเสียใจที่ไปอ่านมันซ้ำ เพราะหากไม่อ่านอีกรอบ ผมคงมีความรู้สึกที่ดีกับมันไปตลอด จะบอกว่าคุณค่าของมันเปลี่ยนไปหรือ ก็ไม่น่าใช่ มันเหมือนกับว่าในวัยหนึ่งเราอาจต้องการวิตามินบางตัวมากกว่า เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจไม่ต้องการวิตามินตัวนั้นมากเหมือนเดิม คุณค่าของวรรณกรรมจึงอาจขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของคน

ผมมองว่าหนังสือที่ดีน่าจะเป็นหนังสือที่ทำให้เราดีขึ้น พัฒนาขึ้น ฉลาดขึ้น พูดง่ายๆ คือเป็นอะไรบางอย่างที่ ‘ อัพเกรด ‘ เรา มุมมองนี้อาจเชยมากก็ได้ เพราะบทบาทของหนังสืออาจเป็นเพื่อความบันเทิงแบบ ‘ แดกด่วน ‘ ไปวันๆ ก็ได้ แต่ผมยังเชื่อว่าวรรณกรรมที่ดีสามารถเปลี่ยนคนได้ ( ไม่ว่าคนเขียนจะตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม) และถ้ามีคนที่ถูกเปลี่ยนมากพอ สังคมก็อาจเปลี่ยนได้เช่นกัน ทว่าปรากฏการณ์นี้คงลดน้อยไปเรื่อยๆ เพราะจำนวนคนอ่านที่มีคุณภาพลดน้อยลงไปทุกวัน

ณ วันนี้ คุณมอง ” วงการวรรณกรรมไทย” เป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับ ” วงการวรรณกรรมต่างประเทศ”
บอกได้อย่างเดียวว่า เรายังขาดความหลากหลาย ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเช่น หากคุณอยากอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ของนักเขียนไทยสักเล่ม คงต้องหากันนานมากๆ เพราะมองไปไหน ก็ไม่ค่อยเจอเลย เช่นเดียวกับงานนิยายนักสืบ นิยายปรัชญา งานอัตชีวประวัติ และอีกหลายตระกูล ที่มีน้อยมากเมื่อเทียบกับงานบางแนว
พูดง่ายๆ คือ ตลาดบ้านเราที่ดูเหมือนจะมีหนังสือเยอะ ยังมีพื้นที่ว่างให้นักเขียนเข้ามาอีกมาก

ที่ทางและทิศทางของ “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ของไทย ณ วันนี้ ในทัศนะของคุณเป็นอย่างไร
ที่ทางคงไม่ดีเท่าที่ควร ผมคงบ่นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่ายอดตีพิมพ์หนังสือวรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักเขียนบ้านเราจะเขยิบขึ้นไปถึงห้าหมื่นเล่มต่อครั้ง!

ทิศทางก็คงไม่สดใสเท่าไร ผมคงบ่นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าท่านนายกฯจะแนะนำให้คนในชาติอ่านวรรณกรรมสร้างสรรค์นอกเหนือจากหนังสือฮาวทู!

ขอรายนามนักเขียนคนโปรด 5 คน และวรรณกรรมชิ้นโปรด 5 เล่ม (มาก/น้อยกว่านี้ก็ไม่ว่ากัน)
กิมย้ง , โก้วเล้ง , เฮสเส , มูราคามิ , ไอแซค อสิมอฟ , อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ค , คาร์ล ซาแกน , มนัส จรรยงค์ , ไม้เมืองเดิม , ยาขอบ , เรียมเอง , อาจินต์ ปัญจพรรค์ , ‘ รงค์ วงษ์สวรรค์ , พนมเทียน , ชาติ กอบจิตติ , กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และอีกหลายท่าน

วรรณกรรมชิ้นโปรดเท่าที่นึกออกทันทีก็มี : สิทธารัตถะ , ฤทธิ์มีดสั้น , กระบี่เย้ยยุทธจักร , 2001 : A Space Odyssey, เสเพลบอยชาวไร่ เอาไปห้าเรื่องก่อนก็แล้วกัน

การที่วรรณกรรมชิ้นหนึ่งจะได้ชื่อว่า “ห่วยแตก” นั้น คุณคิดว่ามีเหตุผลมาจากอะไร
ผมเชื่อว่า เราวัดคุณค่าของอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ หน้าตา ได้ทั้งนั้น แต่ละคนย่อมมองคุณค่าต่างกัน อาหารที่มีวิตามินมากอาจจะดีสำหรับคนหนึ่ง แต่แสลงท้องของอีกคนหนึ่ง หรืออาจดีสำหรับคนหนึ่งในบางช่วงเวลาเท่านั้น

คุณค่าของงานวรรณกรรมอยู่ที่มุมมองของคนเสพ ดังนั้นการติดตรา “ดีเลิศ” หรือ ” ห่วยแตก” คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ และไม่ควรวัดคุณค่าของงานจากคนเขียนด้วย เพราะนักเขียนรางวัลโนเบลก็สามารถผลิตงานห่วยแตกได้

อย่างไรก็ตาม โลกเราก็มีหนังสือที่ ‘ ห่วยแตก ‘ อยู่มาก ในความเห็นส่วนตัวของผม งาน ‘ ห่วยแตก ‘ คืองานที่ ‘ ดาวน์เกรด ‘ เรา อ่านแล้วทำให้เราต่ำลง แย่ลง พูดง่ายๆ คือเป็นอาหารที่กินแล้วทำให้ร่างกายเป็นพิษ รวนไปทั้งระบบ

อีกจุดหนึ่งคือคนบางคนอาจมีภูมิต้านทานในการกินอาหารที่เป็นพิษได้ดีกว่าคนอื่นๆ คนที่อ่านหนังสือมากพอ และหลากหลายพอ ก็อาจพัฒนา ‘ ภูมิต้านทาน ‘ ทำให้แยกแยะออกว่าเล่มไหนดีไม่ดีอย่างไร
ปราชญ์กรีกกล่าวว่า ” You are what you eat.” การอ่านก็เช่นกัน ” You are what you read.”

Related contents:

You may also like...