ศศิธร พงศธร

กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)

ทราบกันดีแล้วว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในบ้านเมือง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เมื่อธนาคารน้องใหม่อย่าง ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด(มหาชน) ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมของการเมือง ซึ่งส่อเค้าว่ากำลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในเมืองไทย

จุดยืนและวิสัยทัศน์ของธนาคารที่หมายจะก้าวไปพร้อมความมั่นคงแห่งนี้ถูกถ่ายทอดผ่านถ้อยคำของของผู้บริหารหญิง ศศิธร พงศธร กรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ

“ ย้อนกลับไปปี 2547 จากการที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศเกี่ยวกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นของเรา ซึ่งก็คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมที่กลุ่มบริษัทจะได้ขยายการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงได้ให้ บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดยกลุ่มบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ขอซื้อกิจการบริษัทเงินทุน บุคคลัภย์ เพื่อรวมกิจการ และยกสถานภาพขึ้นมาเป็นธนาคาร โดยใช้ชื่อว่า ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) หรือ LH BANK ที่พร้อมเสนอบริการทุกรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกใหม่

ข้อดีของการใช้ชื่อ LH Bank ก็คือมันมีความหมาย ไม่ต้องแปล แน่นอนมันมาจากผู้ถือหุ้น คือ LAND & HOUSE ซึ่งทุกคนรู้จักดีอยู่แล้วว่าเป็นบริษัทเอกชนที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ

ความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในผลงานที่ทาง LAND & HOUSE มีส่วนช่วยอย่างมากให้ธนาคารได้รับการยอมรับและมีความคาดหวังที่ดี รวมทั้งฝ่ายจัดการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้รับการยอมรับ ด้วยการบริหารงานอย่างมืออาชีพ

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย ได้วางแผนที่จะก้าวไปสู่การเป็นธนาคารระดับ Universal Bank ซึ่งหมายถึง ต้องมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเราจะมีพัฒนาการอย่างเป็นขั้นตอน โดยคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการไปสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบได้ ภายในเวลา 3-4 ปี และแม้ว่าในภายหน้าเราจะเติบโตขึ้นเป็น Universal Bank แล้ว แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจว่าเราจะต้องมีสินทรัพย์เป็นหลายแสนๆล้านบาท เมื่อถึงจุดหนึ่งซึ่งมันมั่นคงและมีศักยภาพเพียงพอแล้ว เราก็จะรักษาระดับสินทรัพย์ที่ประมาณแสนล้านบาท

สำหรับเรื่องการให้บริการด้านต่างๆ ของเรานั้น ใครก็ตามที่ได้เข้ามาสัมผัสบริการของ LH BANK ก็จะเห็นได้เลยว่า ทุกอย่างที่เราลงทุนไป ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการเช่าตู้นิรภัย ( Deposit Box) หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ เราไม่ได้ลงทุนไปเพียงเพื่อจะเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยอย่างเดียวแน่นอน เพียงแต่ทุกอย่างเราวางขั้นตอนไว้หมดแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์

การเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยมีข้อจำกัดในการทำธุรกรรมด้านสินเชื่อ คำว่ารายย่อย หมายความว่า ทางการได้จำกัดขนาดของการทำธุรกรรมด้านเงินกู้ ให้อยู่ในระดับ SMEs คือ ให้เงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่มีขนาดของสินทรัพย์ถาวรสุทธิ ที่ไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีบุคลากรในสังกัด ไม่เกิน 200 ราย เท่านั้น เราจะให้เงินกู้กับลูกค้าที่มีขนาดของสินทรัพย์และบุคลากรในระดับที่สูงกว่านี้ไม่ได้

เพื่อให้เป็น NITCH BANK และโดยลักษณะของใบอนุญาตที่เป็น “ เพื่อรายย่อย ” ธนาคารจึงวางนโยบายไว้อย่างชัดเจนว่า 60% ของสินเชื่อของเรา จะเป็นสินเชื่อเพื่อการเคหะ แต่ว่าสินเชื่อเพื่อการเคหะของเรา ไม่ได้อนุมัติเฉพาะในโครงการ LAND & HOUSE เท่านั้น เพราะเราต้องการสร้างการยอมรับและอยากให้ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ มาเป็นพันธมิตรกับเรา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการมีบ้าน เราถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของคนที่ต้องการที่อยู่อาศัย เราก็จะใช้ความเข้าใจนั้นมาสร้างบริการของเรา

เราพยายามจะออกไปสร้างพันธมิตรกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งก็ขอเรียนตรง ๆ ว่า ในช่วงแรกก็มีความกังวลกันอยู่เหมือนกันว่า เราจะเป็นมืออาชีพไหม จะเกิดปัญหาตามมาไหม แต่ถึงวันนี้เราสบายใจขึ้นแล้ว เพราะมีการตอบรับกลับมา มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งมีพันธมิตรนอกโครงการหลายแห่งส่งลูกค้ามาให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องของอสังหาริมทรัพย์ ถือกันว่าเป็นดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในบ้านเรา ธนาคารและสถาบัน การเงินส่วนใหญ่ จะมีสินเชื่อเพื่อการเคหะไม่มาก อาจจะไม่เกิน 10% เพราะยังไม่มีสถาบันการเงินที่มาทำตรงนี้เป็นเรื่องเป็นราว เราเอง แม้จะเล็กมาก…แต่ว่าสินเชื่อของเราประมาณ 60% เป็นสินเชื่อเพื่อการเคหะ มันอาจจะบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจในบ้านเมืองเราได้ แม้ว่า 60% ของเรามันจะเทียบไม่ได้กับ 10% ของธนาคารอื่นๆก็ตาม แต่หากเปรียบเทียบแล้วมันก็สะท้อนดัชนีเศรษฐกิจออกมาได้อย่างไม่คลุมเครือ

เราไม่คอยหวั่นไหวในเรื่อง การแข่งขันสินเชื่อเคหะ เราให้วงเงินสนับสนุนแก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน เราไม่ได้ให้กับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องเข้าใจว่าอัตราการเจริญเติบโตของประชากรจะมีความสัมพันธ์กับดัชนีความต้องการที่อยู่อาศัย ในแต่ละช่วงชีวิตจะมีความต้องการที่ผันแปรไปตามสภาพแวดล้อม เช่นวันหนึ่งคุณอยู่คอนโดมิเนียม อยู่ห้องเช่าได้ แต่ต่อมาเมื่อคุณเริ่มมีมากขึ้น คุณอาจจะต้องการบ้านสักหลัง ต่อมาบ้านหลังเล็กๆเริ่มไม่พอ ต้องขยับขยายออกไป ซึ่งมันสอดคล้องกับวัฒนธรรมการอุปถัมภ์ค้ำชูของเราด้วย

ในส่วนที่เป็นบริการด้านเงินฝาก เราก็มีบริการด้านเงินฝากได้เหมือนกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ ทุกประการ ความต่างก็คือ เราทำธุรกรรมที่เป็นเงินตราต่างประเทศไม่ได้ ยกเว้นบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

เรื่อง ATM เราทราบว่ามีประโยชน์ต่อลูกค้าของเราอย่างมาก ATM ของเราที่มีอยู่ในเวลานี้ ให้บริการโดยธนาคารกรุงไทย คือ ATM ของ LH BANK สามารถใช้กับตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทยทุกแห่งทั่วประเทศ แม้ว่าสาขาของเราจะยังขยายไปไม่ถึงพื้นที่นั้นก็ตาม

เรื่องเร่งด่วนสำหรับเราตอนนี้ก็คือ การทำให้คนรู้จัก LH BANK ยอมรับ แล้วก็ไว้ใจเข้ามาใช้บริการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 เมื่อเราเปิดธนาคาร เรามีเงินฝากประมาณ 5,500 ล้านบาท ครึ่งปีผ่านมา เรามีเงินฝากถึงประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่เดิมสินเชื่อเรามี 3,000-4,000 ล้านบาท ถึงวันนี้เราก็มีประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เราก็จะพยายามสร้างความไว้วางใจให้มากที่สุด และดำเนินการเปิดสาขาให้ทันเพื่อการบริการที่เข้าถึง

แผนงานการขยายสาขาของเราภายในสิ้นปีนี้ เราจะเปิดให้ครบ 6 สาขา ในปีหน้าอีก 39 สาขา เท่ากับภายในปีหน้าเราจะมีสาขาประมาณ 45 สาขา ซึ่งจะมากขึ้นเรื่อยๆด้วย

สาขาของธนาคารเราแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ Full Branch หมายถึงสาขาที่สามารถให้บริการครบวงจรทั้งเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งเราตั้งใจจะเปิดที่เชียงใหม่ และตั้งใจว่าจะขยายสาขาไปในปริมณฑลของ กรุงเทพฯ และที่เราเปิดไปแล้วได้แก่ ที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ในปีหน้าเราก็จะเปิดสาขาแบบ Full Branch อีก 8 สาขา จาก 39 สาขา ที่เหลือเป็น Sub Branch และ Mini Branch ซึ่งคือสาขาย่อยของ Full Branch อีกที่หนึ่ง ในต่างจังหวัดเราก็มีโครงการเปิดสาขาที่ภูเก็ต ระยอง ชลบุรี พัทยา และอีก 1-2 จังหวัดในภาคอีสาน ”

ความช่ำชองในการบริหารธุรกิจของศศิธร เกิดขึ้นได้ด้วยการสั่งสมประสบการณ์โดยแท้ แม้จะไม่ได้สำเร็จการศึกษามาทางด้านนี้ก็ตาม

“ จริงๆดิฉันจบมาทางด้านวิศวกรรมเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ว่าเรียนปริญญาโททางด้านบริหาร แล้วเข้ามาทำงานอยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม จำกัด (มหาชน) เป็นเวลาถึง 16 ปี หลังจากนั้นก็ไปเป็น CFO อยู่ที่ The Cogeneration Public Company Limited และมารับตำแหน่ง Director and SVP ที่ United Advisory company Limited และก็มาเป็น Director and President ที่ United Securities Public Company Limited จากนั้นจึงมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินทุน บุคคลัภย์ จำกัด (มหาชน) กระทั่ง คุณรัตน์ พานิชพันธ์ ซึ่งคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีตั้งแต่ทำงานอยู่ที่ธนสยามก็ชวนให้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย

ประสบการณ์ที่ผ่านมามันสะท้อนความเข้าใจในการทำงานอย่างมาก เช่นตอนที่ทำงานที่ธนสยามนั้น ความคล่องตัวมันสูงมาก แต่ก็มีความเป็นระบบเยอะมากเช่นกัน ตอนที่ผันตัวเองมาอยู่ที่ CoCo ก็ได้มาสัมผัสกับการทำงานกับผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินถึง 7 สถาบัน มันเป็นช่วงเวลาการทำงานที่สอนให้เรารู้ถึงการเปลี่ยนบทบาทจากเจ้าหนี้มาเป็นลูกหนี้ เพราะหลังวิกฤตเศรษฐกิจใหม่ๆ ทุกคนมีปัญหา แล้วเจ้าหนี้ก็เป็นสถาบันการเงินต่างชาติถึง 11 สถาบัน มันก็เป็นช่วงเวลาการทำงานที่สอนให้เรารู้ว่าพอเราเป็นผู้บริหารที่ต้องแก้ไขปัญหาทางการเงินกับเจ้าหนี้ต่างชาติ มุมมองเขาคืออะไร ความคาดหวังเขาคืออะไร วิธีการทำงานเป็นอย่างไร เขาจะประเมินคุณในระดับสูงสุดอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นการบริหารคนต้องใช้ศิลปะสูงมาก แต่ไม่น่าหนักใจ การทำงานกับคนมากๆทำให้เข้าใจความคิดของสาธารณะ ในขณะเดียวกันการทำงานกับต่างชาติก็สอนให้เราทำงานแบบมืออาชีพ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ดิฉันคิดอยู่เสมอว่า ตำแหน่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ ฉะนั้นจึงไม่เคยยึดติด แต่หน้าที่คือสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นเรื่องที่แบ่งแยกเราออกไปตามบทบาท ฉะนั้นแม้ดิฉันจะอยู่กับทุกๆคนอย่างพี่กับน้อง แต่เราต้องเล่นไปตามบท ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด

การเรียนสายวิทย์มาทำให้ดิฉันพบวิธีแก้ปัญหาที่ดี คือเราต้องมองตามสูตร รู้จักตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ดิฉันเชื่อว่าในการทำงานเราต้องมีความอดทน มุ่งมั่น มีหลักการ จริยธรรม และความยืดหยุ่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่ได้มาพร้อมกัน แต่มันจะมากับพัฒนาการเรา แรกๆเราต้องอดทนทำงาน มุ่งมั่น เมื่อตำแหน่งสูงขึ้นต้องสร้างผลงานก็ควรเล่นตามกติกา ยึดจริยธรรม และเมื่อเป็นนายก็ต้องรู้จักยืดหยุ่น ” ศศิธร ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจ

Related contents:

You may also like...