ควันหลง คู่กรรม เวอร์ชั่น 2556

Nadej006

“คู่กรรม” กระชากอารมณ์ผู้คนทุกคนที่ได้อ่าน หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 47 ปีก่อน จนถูกสร้างเป็นละครเวที ละครโทรทัศน์ เป็นภาพยนตร์มากมายหลายต่อหลายครั้งและประสบความสำเร็จเกือบทุกครั้ง คู่กรรมคืองานเขียนโบว์แดงของทม ยันตี คู่กรรมเป็นภาพสะท้อนของโลกทัศน์ และความรู้สึกนึกคิดของของเด็กสาวคนหนึ่งชื่ออังศุมาลินซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้อ่านทุกคนรักอังศุมาลินเพราะเธอเป็นเด็กดี เรียนเก่ง เป็นผู้ใหญ่เกินตัว มีความคิดความอ่านฉลาดหลักแหลมแต่กลับมีปมขัดแย้งมากมายในชีวิต จึงทำให้เธอเป็นคนที่น่าสนใจและน่าติดตาม

อังศุมาลินโหยหาความรักจากพ่อซึ่งทิ้งแม่ของเธอไปมีภรรยาใหม่ ทำให้เด็กผู้หญิงอายุ 20 ปี ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีแต่แม่และยาย ครอบครัวของเธอต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางภยันตราย ความขาดแคลนและเงินเฟ้ออย่างมโหฬารในยุคสงครามโลก สำหรับเธอญี่ปุ่นคือผู้รุกราน มาย่ำยีบ้านเมืองของเธอ อังศุมาลินเกลียดชังคนญี่ปุ่น ทหารญี่ปุ่นชื่อโกโบริ จึงเป็นปมขัดแย้งในชีวิตของเธอ การรักคนญี่ปุ่นก็เหมือนทรยศต่อประเทศชาติและต่อตนเอง อังศุมาลินอยากจะเกลียดชายคนนี้และตั้งใจว่าจะเกลียดแต่ในที่สุดเธอก็รักเขา

Nadej004

วันที่เธอถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องแต่งงานกับโกโบริ อังศุมาลินไม่รู้ว่าตัวเองดีใจหรือเสียใจ ไม่รู้ว่าตนควรจะรู้สึกอย่างไร ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองเป็นความรักบนความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง ท่ามกลางความเกลียดชังของคนทั้งสองชนชาติ อังศุมาลินยอมรับกับตัวเองว่าเธอรักทหารญี่ปุ่นคนนี้ ในวันที่เขาได้ตายจากเธอไป ข้อคิดที่ได้คือเรามักมองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีจนเมื่อเราได้สูญเสียสิ่งนั้นไป ภาพยนตร์คู่กรรม 2556 เหมือนฝันร้ายของแฟนคลับคู่กรรมทั้งประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆจะรุดหน้าไปมากและหน้าตานักแสดงสามารถดึงดูดผู้ชมจำนวนมหาศาลได้ แต่ถึงกระนั้นผู้สร้างยังประเมินความคิดคนไทยต่ำต้อยเกินไป อาจถึงขั้นดูถูกสติปัญญา

Nadej003

ความล้มเหลวที่สุดของเวอร์ชั่นนี้คือบทภาพยนตร์ จุดอ่อนเดิมๆของภาพยนตร์ไทยที่คิดน้อย เน้นผู้แสดงว่าหน่าตาดีที่ผ่านม่ดหมอมานับร้อยครั้ง เน้นการประชาสัมพันธ์ เน้นภาพสวยแต่บทอ่อน ซึ่งผู้ชมดูแล้วเพลียสุดๆ เปิดฉากมาก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว เรื่องราวในยุคสงครามโลก เป็นแผลเป็น ถือเป็นความชอกช้ำที่ลืมไม่ลงของคนทั้งโลก แต่ผู้สร้างคงไม่คิดอะไรเปิดฉากด้วยการ์ตูนและเพลงน่ารักๆสไตล์ญี่ปุ่น เรื่องบางเรื่องสามารถทำให้น่ารักได้ แล้วแต่มุมมองและการตีความ สำหรับเรื่องบางเรื่องเป็นต้นว่าสงครามโลก ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ญาติเสีย ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้ขำไม่ออก ไม่ทราบว่าโปรดิวเซอร์เกิดในยุคใด เคยอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์บ้างหรือไม่ ทำไมภาพยนตร์จึงออกมาดูปัญญาอ่อน กล่าวโดยสรุปว่าเปิดฉากมาทำอารมณ์ของหนังเสียตั้งแต่นาทีแรก

ความผิดพลาดที่ยอมรับไม่ได้ในเวอร์ชั่นนี้คือบทบาทของอังศุมาลิน อย่างที่เรียนให้ทราบในช่วงแรก เสน่ห์ของเรื่องนี้อยู่ที่ปมความขัดแย้ง ผู้สร้างจะเน้นณเดชน์ จะขายณเดชน์นั้นเป็นเรื่องของการตลาด ณเดชน์ทำการบ้านมาอย่างดีเรื่องการพูดภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่น ทำได้ดีที่สุดแล้วเท่าที่บทภาพยนต์อำนวยแต่เอาให้ชัดว่าจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของใคร? ทม ยันตี เล่าเรื่องผ่านสายตาของอังศุมาลินจึงบรรยายความคิด ความรู้สึกของอังศุมาลินอย่างชัดเจน ถ้าคู่กรรม 2556 นี้จะขาย ณเดชน์ก็ควรจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของโกโบริ ว่าเขารู้สึกอย่างไร คิดอะไร ทำไม่ถึงไปรักผู้หญิงคนนี้ได้ นิยายทุกเรื่องจะน่าติดตามเมื่อมีปมขัดแย้ง โกโบริมีปมอะไร ควรสื่อให้ชัดเพื่อให้น่าติดตาม แต่สิ่งที่ทำคือขายความน่ารักของณเดชน์ โกโบริในเวอร์ชั่นนี้จึงดูเป็นเด็กหนุ่มญี่ปุ่นมาซ่อมเรือในเมืองไทย มีความน่ารัก สนุกสนาน ร่าเริง ตลก แต่ขาดความลึกไม่มีที่มาที่ไป รักผู้หญิงแต่ผู้หญิงไม่รักก็เลยเสียใจ

Nadej005

บทที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาดคืออังศุมาลิน แต่เวอร์ชั่นนี้ข่างตื้นเขินเสียยิ่งกระไร จากเด็กสาวที่ฉลาด มีความคิดอ่าน มีปมด้อยเรื่องพ่อ มีความขัดแย้งภายใน ต้องแต่งงานกับศัตรูของชาติพ่ายแพ้ให้กับความรัก กลายเป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาดี อาศัยอยู่บ้านริมคลอง ทำหน้างอตลอดเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุ พูดจาห้วนๆกับทุกคนรวมทั้งแม่ตัวเอง ไม่มีบทใดที่แสดงว่าเธอเป็นคนฉลาด ไม่มีฉากใดที่อธิบายว่าในที่สุดเธอรักโกโบริได้อย่างไร อังศุมาลินในเวอร์ชั่นนี้จึงแบนราวกระด้ง ไม่มีความลึก ไม่น่าสนใจดูแล้วเหมือนเด็กออติสติกหรือเด็กมีปัญหาทางบ้านไม่ค่อยได้รับการอบรมมารยาท

คู่กรรม 2556 เป็นเพียงหยิบเอาเหตุการณ์ในนิยายมาถ่ายๆแล้วนำเอาเรียงกันโดยขาดอารมณ์ต่อเนื่อง ฉากแต่ละฉากควรจะอธิบายหรือสร้างอารมณ์ซึ่งกันและกัน แต่ครั้งนี้บัตรเข้าชมราคาหลายพันบาทแต่ไม่ต่างกับเด็กมัธยมต้นเล่นละครหน้าชั้นเรียนแต่มีทุนมากเลยมีเงินถึงจ้างณเดชน์และสร้างฉากออกมาดูดี ที่เลวร้ายมหาศาลคือดนตรีประกอบซึ่งน่ารำคาญเป็นอย่างยิ่ง ดนตรีประกอบภาพยนตร์ควรช่วยเสริมอารมณ์ของบท ดนตรีประกอบที่ดีจะสร้างอารมณ์ร่วมแด่ผู้ชม โดยผู้ชมจะได้ยินโดยไม่รู้ตัวเพราะดนตรีจะกลมกลืนไปกับบท มิใช่เป็นการโพล่งขึ้นมาเสมือนใครจุดพลุขึ้นในโรงภาพยนตร์

คาดว่าผู้ที่ได้ชมคู่กรรมเวอร์ชั่นนี้ ก็บ่นว่าเป็นกรรมที่หลงกลการตลาดมาดูเอง โดยไม่ได้อะไรกลับบ้านเลย ไม่ได้เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์และไม่ได้เห็นความเป็นกุลสตรีของหญิงไทยในอดีต อังศุมาลินในเวอร์ชั่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กผุ้หญิงในวัยเรียนของสมัยปัจจุบัน

เสียความรู้สึก จริงเอย……

http://f.ptcdn.info/231/002/000/1360874967-Untitled-o.jpg
http://www.leotech.co.th/blog/wp-content/uploads/1105.jpg
http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2013/04/02/336441/hr1667/630.jpg

Related contents:

You may also like...